ไม่ว่าชีวิตของเราจะดีแค่ไหน มีความสุขมากเท่าใด ลึกๆ หลายคนอาจเคยจินตนาการถึงการสูญหายไปจากชีวิตนี้ที่เรามี อยากเดินหนีไป อยากแกล้งตายให้จบ ๆ ไป เพื่อไปเริ่มชีวิตใหม่ แต่เชื่อเถอะว่าการแกล้งตายไม่ง่ายเลย
คำเตือน: บทความนี้ไม่ได้มีความตั้งใจกระตุ้น ชักจูง จูงใจ ชี้ช่องทางให้ผู้อ่านแกล้งตาย หรือหนีหายไป บทความเกิดจากความสงสัยว่ามีใครทำจริง ๆ ไหม และถ้าเกิดทำจริงๆ จะวุ่นวายแค่ไหน ถ้าขี้เกียจอ่าน สรุปให้เลยก็ได้ว่าวุ่นวายและใช้ความพยายามมากจนอย่าคิดจะทำจริงเลย
ชีวิตคนเราต่างมีภาระอันหนักอึ้ง ชีวิตวุ่นวาย มีความเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย มีหน้าที่อันหลีกหนีไม่ได้ มีคนที่ไม่อยากพบ มี notification ที่ไม่อยากอ่าน มีงานที่รออยู่ ฯลฯ บางครั้งก็รู้สึกอยากล้มกระดาน อยากจะหนีหายไปจากโลกของเรา อยากลองเป็นคนอื่น ทิ้งตัวตนสลัดคราบปัจจุบัน ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
‘การแกล้งตาย’ (faked death/Psuedocide) เกิดมาตั้งแต่นานนมคู่กับมนุษย์ เรื่องราวการแกล้งตายของหลายคนถูกเปิดโปงจนโด่งดังเมื่อทำไม่สำเร็จ และหากแผนการแสร้งตายที่วางไว้อย่างชาญฉลาดนี้สำเร็จดี ก็จะเป็นความสำเร็จที่จะไม่มีใครในโลกได้รับรู้ เพราะได้หายไปหรือได้สถานะการตายสำเร็จ จึงเป็นความสำเร็จที่เงียบงัน โด่งดังเมื่อถูกจับได้
ส่องดูสาเหตุจูงใจให้คนแกล้งตาย
คนเราจะแกล้งตายไปทำไม เมื่ออ่านดูจึงพบแรงจูงใจหลักๆ ไม่กี่อย่าง ดังนี้
หนีความผิด – การหนีจากคดีความอาญาเป็นเหตุจูงใจที่ชัดเจนที่สุด เพราะคดีจะจบสิ้นไปเมื่อผู้ต้องหาเสียชีวิต เมื่อทำผิดพลาดครั้งใหญ่ลงเอยด้วยการโดนจับ หรือขึ้นโรงขึ้นศาลใหญ่โต การแกล้งตายยังเป็นวิธีฮิตสำหรับการหนีหนี้สินที่เราไม่มีปัญญาหามาคืน หรือล้มกระดานเริ่มใหม่ หากเราล้มละลาย ประกอบธุรกิจไม่สำเร็จ คนตายไม่ต้องชดใช้หนี้สิน
อยากได้เงิน – เราพบพล็อตนี้บ่อยครั้งในเรื่องแต่งและก็มีคนทำจริงเยอะมาก หากเรามีประกันชีวิตราคาแพง (ซึ่งอาจได้เงินเยอะกว่าเราทำมาหากินกันทั้งชีวิต) เราอาจคิดว่าการแกล้งตายเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีเหยื่อ (เพราะคนที่ตายคือเราเอง) คงไม่มีใครสนใจ แต่บริษัทประกันชีวิตย่อมสนใจเป็นพิเศษ อาจจ้างคนเพื่อสืบว่าเราตายจริงหรือเปล่า เพราะหากเราทำงานได้เงินเดือนไม่มาก แต่สมัครประกันชีวิตราคาแพงหลาย ๆ เจ้าพร้อม ๆ กัน ย่อมน่าสงสัยและถูกสืบสวนอย่างเข้มข้น
ความรัก – เชกสเปียร์เขียนเรื่องจูเลียตแกล้งตายเพื่อได้หนีไปอยู่กับชายที่รัก แต่โรมิโอนั้นแสนซื่อตายตามไป โศกนาฏกรรมเช่นนี้เคยเกิดขึ้นจริงในปี 1935 New York Times ลงข่าวน่าเศร้า ตำรวจคนหนึ่งทะเลาะกับเมีย จากนั้นเขาแสร้งยิงปืนเข้ากำแพง และนอนลง เอาซอสมะเขือเทศมาทาตัวเพื่อขู่ให้เมียตกใจ อนิจจา เมียของเขาตกใจมาก เธอหยิบปืนนั้นมายิงตัวตายทันที เป็นการแกล้งตายที่ได้ผลลัพธ์น่าเศร้า
ในปี 2015 ในประเทศเยอรมนี มีผู้หญิงคนหนึ่งใช้กลวิธีแกล้งตายโดยการใช้ซอสมะเขือเทศ (ketchup) มาราดตัวให้เหมือนเลือด ส่งรูปนั้นไปให้ชู้รักที่พบผ่านออนไลน์ให้เขาเข้าใจว่าเธอตายแล้ว จะได้ไม่ส่งรูปฉาวไปให้สามีของเธอ เขาจึงแจ้งตำรวจซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบก็รู้ได้อย่างรวดเร็วว่าไม่ได้ตายจริงๆ
ความรักเป็นแรงจูงใจสำคัญและบางครั้งก็ผลักดันให้คนทำสิ่งที่ไม่เข้าท่าเท่าไหร่ นอกจากการแกล้งตายเพื่อให้ได้อยู่กับคนรักแล้ว อาจจะแกล้งตายเพื่อหนีจากครอบครัวเก่าไปสร้างครอบครัวใหม่ (aka ชู้) เพราะความตายไม่อาจทำร้ายจิตใจคู่ชีวิตเท่าหนีหายไป จะได้ตัดใจเลิกตามหา คนบางคนยอมทุกทางมากกว่าจะเผชิญหน้าด้วยการขอหย่าตรงๆ หรือขอเลิกรากันตรงๆ
นอกจากนี้คนยังต้องการสูญหายเพื่อหนีจากคู่ชีวิตที่ทำร้ายร่างกาย หรือหนีจาก stalker อันตรายที่คุกคามชีวิตและจิตใจจนเกินทนไหว น่าเห็นใจ เพราะต้องยอมแกล้งตายให้เขาเชื่อจะได้ไม่ตามไปหลอกหลอนอีกในชีวิตใหม่ที่จะสร้างขึ้นหลังการแกล้งตาย
เช็คเรตติ้ง – เป็นการแกล้งตายที่ดูจะเหตุผลเบาบางน่าหัวเราะที่สุด แต่ก็เคยมีคนทำจริง ๆ นะ… Timothy Dexter ผู้ประกอบการชาวอเมริกันที่โด่งดังเรื่องนิสัยประหลาด จากศตวรรษที่ 18 เขาเชื่อมั่นในตัวเองมากจนแต่งตั้งให้ตัวเองเป็น Lord และมีแผนธุรกิจแปลกๆ เนื่องจากไม่ได้รับการศึกษา วันดีคืนดีเขาก็แกล้งตายเพื่ออยากรู้ว่าสาธารณชนคิดอย่างไรกับเขา ปรากฏว่ามีคนมางานศพถึง 3,000 คน มีการเลี้ยงไวน์อย่างดี (น่าจะเยอะมากๆ หากเทียบกับประชากรในสมัยนั้น) เมื่อพบว่ามีคนเศร้าโศกเสียใจ เขาก็ออกมาต้อนรับยินดีพร้อมรอยยิ้มในงานศพตัวเอง
ในอีกมุมหนึ่งของโลกร่วมสมัย ในปี 2007 Amir Vehabovic ชาวบอสเนีย ได้แกล้งตายเพื่อดูว่ามีใครบ้างที่มางานศพ ปรากฏคือ มีแค่แม่ของเขาคนเดียว ซึ่งตัวเขา (ที่ยังไม่ตาย) แอบดูงานศพตัวเองในพุ่มไม้ เขาโมโหมากจนส่งจดหมายหาเพื่อนฝูงว่า “อุตส่าห์เสียเงินปลอมใบมรณบัตรตั้งแพง ทำไมไม่มีใครใส่ใจจะมางานศพของเขาเลย”
How to แกล้งตายหรือหายไป
ผู้เขียนได้รวบรวม Tips จากหนังสือ Playing Dead: A Journey Through the World of Death Fraud และจาก wikiHow
โดยวิธีการหายตัวไร้ร่องรอยหรือแกล้งตาย สรุปได้ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 การสูญหาย (disappear)
การสูญหายคือการที่เราออกจากชีวิตของตัวเองไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยไว้ ไม่ว่าจะหลักฐานว่าเราย้ายไปที่ไหน ไปกับใคร หรือหลักฐานทางดิจิทัลที่อาจเป็นเบาะแสให้ติดตามเราพบได้
ทุกๆ ปี มีผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมจำนวนมาก สับสนและเดินออกจากบ้านตัวเองหายไป และทุกๆปีก็มีคนหายมากมาย (ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่) มีขบวนการค้ามนุษย์อยู่จริงๆ
เห็นดังนี้ เราอาจจะคิดว่าวันดีคืนดี หากเราแค่เดินออกจากบ้านไปก็คงไม่มีใครหาพบ แต่จริงๆแล้ว ถ้าเราแกล้งหายไปโดยตั้งใจ เพราะมีสาเหตุบางอย่างจูงใจ เป็นไปได้ว่าจะมีคนออกตามหาเรา
ก่อนจะสูญหายเราต้องสร้างหลักฐานปลอมเพื่อชวนให้คนที่ติดตามเราคิดว่าเราไปที่อื่น เช่น เรากำลังจะย้ายไปจังหวัด A เราอาจพยายามทิ้งร่องรอยว่าเราได้ติดต่อค้นหาที่อยู่ในอีกจังหวัดหนึ่ง ให้เขาเข้าใจว่าเราไปไม่ไกล หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะเพราะอาจมีกล้องที่จับภาพเราได้ หรือมีคนจำเราได้ บางครั้งอาจต้องเตรียมตัวเป็นปี
การสูญหายนั้นต้องใช้เวลา 5 ปีถึงจะสามารถกลายบุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลา ยกเว้นว่าจะอยู่ในเรืออับปาง อยู่ในเหตุสงคราม ก็จะลดระยะเวลาให้หาย 2 ปี
เมื่อเกิดเหตุโศกนาฏกรรม จึงมีผู้ไม่ประสงค์ดีมาแอบอ้างเนียนสร้างความตายปลอมๆ เช่น เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ตึกเวิลด์เทรดถล่ม มีคนจำนวนหนึ่งกุเรื่องทั้งตัวเองตาย หรือกุว่าญาติจริงหรือญาติที่สร้างขึ้นเป็นเหยื่อในเหตุการณ์วันนั้น เพื่อเรี่ยรายเงินบริจาคจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์ก็เตรียมตัวรับเหตุการณ์เหล่านี้ระดับหนึ่งและจับได้ไม่ยาก เช่น ชายคนหนึ่งยืนยันว่า มีลูกชายอยู่ในตึกที่ถล่ม ทั้งที่ลูกชายคนนี้ไม่มีอยู่จริง ใช้รูปตนเองตอนวัยรุ่นมาสร้างบุคคลสมมตินี้ขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินบริจาค
ทางเลือกที่ 2 การแกล้งตาย (faked death)
การแกล้งตายนั้นจริงๆ ไม่ผิดกฎหมายทางตรง แต่การกระทำช่วยให้แกล้งตายที่สำเร็จอาจผิดกฎหมายทางอ้อมหลายอย่าง เช่น ปลอมแปลงเอกสาร การหลอกลวงเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ
Frank Ahearn ผู้เขียนหนังสือเรื่อง How To Disappear: Erase Your Digital Foorprint and Vanish Without A Trace เขาเชี่ยวชาญด้านการหายตัวโดยไม่ทิ้งเบาะแส ให้ความเห็นว่า “การสูญหายนั้นต่างจากการแกล้งตายมาก และทำได้ง่ายกว่าการแกล้งตาย”
การแกล้งตายนั้นเป็นวิธีฮิตสำหรับคนที่ใจร้อน ไม่ว่าจะอยากได้เงินประกันชีวิตไวๆ (ถ้าในหนังเรื่อง Gone Girl คืออยากเอาคืนสามีที่มีชู้เพราะแค้นหนัก) คนอาจเลือกวิธีแกล้งตายเพื่อทำให้ได้มาซึ่งใบมรณบัตรเพื่อเงิน หนีคดี หรือทำให้คนที่รักได้ตัดใจง่ายมากกว่าพะว้าพะวงค้นหาคนที่หายสาบสูญเป็นแรมปีแต่ไม่พบ
“การหายไปทำให้คุณเป็นนิรันดร์ ถ้าคุณหายไป คนจะพูดถึงคุณตลอดไป” Frank Ahearn กล่าว
ทุกวันนี้ คนยังพยายามค้นหาเบาะแสเครื่องบินของ Amelia Earhart นักบินหญิงที่บินเดี่ยวหายไปในแถบทะเลแปซิฟิกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 1937 เพื่อไขปริศนาว่าเธอหายไปไหน (เธอแกล้งตาย สูญหาย หรือว่าเครื่องบินตกกันแน่)
การแกล้งตายมี 2 ขั้นตอนหลัก คือ 1. การสร้างสถานการณ์เสมือนว่าเราเสียชีวิต 2. การหาเอกสารทางการยืนยันว่าเราตายแล้วทางกฎหมาย
ด่านแรกของความยากในการแกล้งตายคือ ‘ศพ’ เพราะหากตัวเราไม่ได้ตายจริง เราจะมีร่างกายหรือหลักฐานใดไปยืนยันว่าเราตายไปแล้ว
คนแกล้งตายมือสมัครเล่นและคนส่วนใหญ่ที่โดนจับได้ มักจะเลือก ‘การจมนํ้า’ พวกเขาอาจจะไปทะเลหรือไปว่ายนํ้าสถานที่ใดที่หนึ่งและสูญหายไป ทิ้งหลักฐานไว้นิดๆ หน่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นจดหมายลาตาย รองเท้า คนที่เลือกแกล้งตายวิธีนีัคิดว่า ร่างหายจะไปในแหล่งนํ้าธรรมชาติอันกว้างใหญ่ จริงๆแล้ว ส่วนมากคนที่จมนํ้าตาย ร่างจะลอยขึ้นมาตามธรรมชาติ น้อยครั้งที่จะหาศพไม่พบไม่ได้เป็นไปตามที่เรามโน
บางคนเลือกบินไปประเทศโลกที่สาม และสามารถหาศพไร้ญาติได้ในราคาถูก ที่สามารถใช้เงินติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐได้ง่ายดายเพื่อปลอมแปลงเอกสารมรณบัตร (คุ้นๆ ไหมเหมือนประเทศแถวนี้) หรืออาจให้คนรู้จักที่ร่วมโกงกับเรามาชี้ศพว่าเป็นเราจริงๆ วิธีนี้ สิ่งสำคัญมากคือการมีเส้นสายท้องถิ่น คนที่เลือกวิธีนี้จึงมักเป็นคนที่คุ้นเคยกับประเทศนี้ เช่น คนฟิลิปปินส์สัญชาติอเมริกากลับมาตุภูมิแหล่งกำเนิดเพื่อแกล้งตาย อย่างไรก็ดี หากบริษัทประกันไม่เชื่อแผนของเราก็อาจส่งคนมาสืบ อาจถึงขั้นขออนุญาตหขุดหลุมศพเพื่อตรวจ DNA ศพว่าตรงไหม บางครั้งก็พบโลงว่างเปล่า
ทางเลือกนี้น่าสนใจ เพราะพวกเราคนไทยก็หน้าตาคล้ายๆ ชาวปินอย ถึงฟิลิปปินส์จะอยู่ไม่ไกล ค่าเครื่องบินไม่เท่าไหร่ และค่าครองชีพไม่แพง แต่เราต้องลงทุนขนาดนี้เลยหรือ
Steven Rambam นักสืบการตายที่มีพิรุธมือฉมัง ลูกค้าหลักของเขาคือบริษัทประกันภัยที่อยากรู้ว่าการตายที่น่าสงสัยนั้นมีการจัดฉากหรือไม่ Rambam เชี่ยชาญมากและมักจะจับไต๋คนที่แกล้งตายได้เสมอ เมื่อเขาจับคนเหล่านี้ได้ เขามักกล่าวเสมอว่า
“ถ้าคุณใช้ความพยายาม เงิน และความทุ่มเทในชีวิตคุณเพื่อจะเป็นประชากรที่ถูกกฎหมาย คุณน่าจะหาเงินได้พอๆ กับเงินประกันที่คุณหวังฟัน”
อีกความยากของการแกล้งตายและสร้างชีวิตใหม่คืออาจต้องมีคนช่วยเหลือให้ราบรื่นสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพคอยช่วยเหลือ หรือว่าคนใกล้ตัวที่ยินยอมพร้อมใจจะเล่นเกมนี้กับเราด้วย (ผู้เขียนลองถามคุณแม่ของผู้เขียนแล้วว่า จะยอมช่วยเหลือไหม แม่ตอบโดยไวว่า “ไม่!”)
How to มีชีวิตใหม่หลังการสูญหายหรือการตาย (ที่ไม่สบายเลย)
การแกล้งตายหรือสูญหายไม่ง่ายเลยอย่าคิดว่าลวงโลกสำเร็จแล้วชีวิตจะได้อิสรภาพที่ตามหา เพราะหลังจากทำสำเร็จแล้ว ชีวิตหลังจากนั้นก็ยากพอกัน ต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับชีวิตใหม่ที่ไม่มีอะไรเลย จะลำบากขนาดไหน
เตรียมเงินให้พร้อม – การแกล้งตายทำให้เราไม่สามารถใช้ชื่อเสียงหรือตัวตนเดิมของเราในการทำมาหากินได้ เราต้องสละชื่อของเรา วุฒิการศึกษา ประวัติที่เรามี ประสบการณ์ และเราต้องมีเงินสด เพราะคนตายไปแล้วจะมีบัญชีในธนาคารที่เคลื่อนไหวไม่ได้เลย ต้องสละทั้ง ATM และบัตรเครดิต (ตอนที่ Kurt Cobain หายตัวไปก่อนจะพบเป็นศพ นักสืบก็พบเบาะแสว่าเขากลับไป Seattle จาก log ของบัตรเครดิตนี่แหละ)
เปลี่ยนหน้าตาและการแต่งตัว – เราอาจต้องเปลี่ยนตัวเองให้ได้มากที่สุดให้คนจำเราไม่ได้ อาจจะลดนํ้าหนัก พรางตัว แต่งตัวแบบใหม่ เพื่อให้คนไม่เชื่อมโยงเราคนใหม่กับคนเดิมได้ หากเราเป็นคนดังหรือคนที่คนหมู่มากรู้จัก เราก็จะมีชีวิตใหม่ได้ยากเพราะชาวบ้านอาจจะจำเราได้ เราต้องยอมเปลี่ยนสีผม หรือบางคนอาจถึงขั้นไปทำศัลยกรรมใบหน้าให้เปลี่ยนแปลง (แต่อาจต้องเสี่ยงกับศัลยกรรมเถื่อน กับคลินิกที่ไม่สนว่าลูกค้าคือใครหรือตรวจสอบเอกสารปลอมไม่ได้)
เปลี่ยนชื่อ – ถ้าเป็นชาวต่างชาติ ข้อแนะนำคือเราควรจะเปลี่ยนแต่นามสกุล แต่ชื่อเรียกเราควรเป็นชื่อเดิม เพื่อให้เราคุ้นเคย ยามคนเรียกเรา แต่หากเป็นคนไทยก็อาจจะเก็บชื่อเล่นของเราไว้ แต่ชื่อนามสกุลก็เปลี่ยนได้ บางครั้งการเปลี่ยนชื่อก็อาจหมายถึงการปลอมแปลงเอกสาร สร้างบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ตปลอมมายืนยันตัวตนของเรา (ซึ่งผิดกฎหมาย) หรือนำเอา identity ของคนอื่นมาสวมแทน ซึ่งเป็นการขโมยชีวิตของเขามาใช้
เปลี่ยนที่อยู่ – แน่นอนว่าเราต้องเปลี่ยนที่อยู่ เราไม่สามารถอยู่อาศัยที่เดิมได้อีกต่อไป หากเราหนีไปชนบท มโนว่าหนีจากผู้คนจะปลอดภัย จริงๆ แล้วสังคมชนบทคนท้องถิ่นมักรู้จักกันหมด หากเราเข้าไปอยู่ใหม่ ก็อาจเป็นที่สงสัยซุบซิบคนแถวนั้น พยายามขุดค้นหรือไต่ถามว่าเรามาจากไหน เราต้องเตรียมเรื่องราวชีวิตเวอร์ชั่นใหม่ของเราไว้เผื่อคนถามไถ่ แต่ยิ่งพูดกับคนมาก ก็ยิ่งไม่เนียน เสี่ยงต่อการถูกจับได้ แต่การไปอยู่ในเขตเมืองที่คนเยอะ แม้คนในเมืองไม่ค่อยถามหรือทำความรู้จักกัน แต่เราก็อาจถูกเก็บภาพโดยกล้องวงจรปิดต่างๆตามตึกหรือที่สาธารณะ (ถ้ามันใช้งานได้จริง)
อื่นๆ – เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหลายๆ อย่างไปเลย เช่น เราต้องสละเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตามตัวเราได้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ มือถือ การจับจ่ายใช้สอย ไม่สามารถบินไปไหนมาไหนได้เหมือนเดิม เพราะสายการบินอาจตรวจสอบตัวตนของเราได้ ไม่ทิ้งรอยนิ้วมือ เราไม่สามารถพูดคุยหรือไลน์หาเพื่อนได้ เราต้องทำตัวให้เป็นความลับและมีคนรู้แผนการณ์นี้ของเราน้อยที่สุด เราไม่อาจล็อกอินใช้อีเมลเดิมได้อีกเลย หรือเราอาจต้องเตรียมสร้างบริษัทมาเพื่อจ่ายเงินแทนเรา หรือก่อนจะหายตัวหรือตาย เราอาจต้องทิ้งการอัปเดต social media ไปเลยเป็นเวลายาวนานให้คนลืมเราไปได้มากที่สุด อิสรภาพจากตัวตนเก่าที่เราโหยหาอาจจะกักขังให้เราลำบากกว่าเดิมเสียอีก
คุ้มไหมกับชีวิตใหม่ที่ได้มาหลังความตาย(ปลอมๆ)
ชีวิตใหม่ที่ได้มาแลกกับอะไรหลายๆ สิ่ง มาดูกันว่าการแกล้งตาย ทำให้เราเสียอะไรไปบ้าง
เสียความสัมพันธ์ – ไม่ว่าชีวิตจะแย่แค่ไหน ไม่มีใครที่เข้าใจ ชีวิตน่าจะยากมากถ้าเราต้องละทิ้งความสัมพันธ์ ญาติ เพื่อนทุกคนที่เรามี เพื่อไปเริ่มชีวิตใหม่ที่ไม่มีใครเหลือเลย (ยกเว้นเราจะไปสร้างชีวิตใหม่เตรียมไว้แล้ว) คนที่รักเราเขาจะเสียใจแค่ไหนถ้าเราตายจากไป หรือรู้ว่าเราหนีหายแกล้งตายเพื่อไม่พบเจอกับเขาอีก
เสียเงิน – เราต้องมีเงินเตรียมไว้พอสมควรสำหรับการเริ่มชีวิตใหม่ เราอาจจะหาเงินไม่ได้เหมือนเดิม เราต้องเตรียมเงินไว้เยอะพอสมควร แม้การแกล้งตายอาจทำให้เราได้เงินประกันชีวิต แต่เงินนั้นก็จะตกเป็นของคนในครอบครัวที่เราทิ้งไว้ หากเขาสมรู้ร่วมคิดกับการตายปลอมๆ ของเรา เขาก็เป็นคนถือเงินนั้นอยู่ดีตามกฎหมาย
เสียความสะดวกสบาย – เราต้องเสียความสบายใจ ถูกขังอยู่ในโลกกว้างใหญ่ที่ต้องหวาดระแวงตลอดเวลา เสียชีวิตการเล่นอินเทอร์เน็ตอย่างสบายใจ เดินไปไหนมาไหนได้ตามใจ เราต้องจากบ้าน ทิ้งรถ และสิ่งของใดใดที่มีคุณค่าและความหมายกับเราเพราะอาจโดนจับได้
เสียหน้าถ้ามีคนจับได้ – ถ้าเราถูกจับได้ก็จะต้องเป็นข่าวให้อับอาย เมื่อถูกจับได้ อาจทำให้ทั้งชีวิตเก่าและใหม่พังทลาย สูญเสียชื่อเสียง และเสี่ยงติดคุกได้
ในกรณีของคดีแกล้งตายที่โด่งดัง Canoe Man หรือ John Darwin ชายวัยสูงอายุผู้แกล้งตายด้วยการหายไปจากชายหาด แสร้งทำเหมือนเรือแคนูอับปาง ในปี 2002 เพื่อนำเงินประกันชีวิตมาหมุนไม่ให้อสังหาฯ โดนยึด เขาแอบอ้างตัวตนของคนที่เกิดปีเดียวกัน (ซึ่งตายตั้งแต่วัยทารก) จนทำให้มีพาสปอร์ต ผ่านไป 5 ปี เขาซื้อบ้านใหม่ที่ปานามา เขาเลือกที่จะมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ โดยแกล้งเป็นชายความจำเสื่อม เมื่อถูกสืบค้นจนพบว่าเขาแกล้งตาย เขาติดคุกสามปีและถูกยึดทรัพย์ทั้งหมด และคนทั้งประเทศอังกฤษก็ได้รู้จักเขาว่าเป็นผู้ชายที่แกล้งตาย เป็นข่าวที่ดังที่สุดของประเทศอังกฤษในปี 2007 ภรรยาของเขาสมรู้ร่วมคิดด้วย เขาหลอกโลกสำเร็จ รวมถึงลูกชายสองคนของตัวเองก็เชื่อว่าพ่อไปตายไปแล้ว
สรุปคือ เราอาจแกล้งตายเพื่อปลดแอกตัวเองคนเดิม หรือชีวิตเดิม เพื่อต้องการอิสรภาพ แต่ชีวิตหลังความตายไม่ง่ายเลย เพราะเราจะกลายเป็นคนผิดกฎหมาย ต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ไปตลอดชีวิต และไม่สามารถทำการใหญ่โต ทำอะไรได้โจ่งแจ้ง ต้องระวังไม่ให้เป็นที่รู้จัก ไม่ให้คนจดจำหน้าตาได้ ต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัย หน้าตา การแต่งตัว และพฤติกรรมเดิมๆ ระมัดระวังการถูกเก็บข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐาน ไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้า ไม่เล่าความลับให้ใครฟัง ระวังไม่ให้ถูกเก็บภาพ กลัวพบเจอคนรู้จักที่อาจจำชีวิตเก่าของเราได้ คิดดูว่ามันจะเหนื่อยล้าขนาดไหน
แกล้งตายไม่ง่ายเหมือนในนิยาย ยากขนาดนี้มีชีวิตอยู่ต่อไปน่ะดีแล้ว
Tim Kreider กล่าวในหนังสือ We Learn Nothing ว่า
“The problem is, we only get one chance at this, with no do-overs. Life is an unrepeatable experiment with no control…”
“ชีวิตคือการทดลองที่ทำซํ้าไม่ได้โดยไม่มีตัวแปรควบคุม ปัญหาก็คือ เรามีโอกาสเพียงครั้งเดียว ไม่มีการทำซํ้า“
บางครั้งทางเลือกและการตัดสินใจที่ที่ผิดพลาดก็พาให้ชีวิตพังและล้มเหลวเกินจะยอมรับไหว ไม่สามารถกด skip หรือเล่นใหม่ได้ เราเลือกเกิดเป็นคนอื่นไม่ได้ เมื่ออยากเริ่มชีวิตใหม่ โดยไม่รู้ว่าชีวิตหน้ามีจริงไหม หรือตายแล้วไปไหน อยากแกล้งตายให้จบๆ ไปเพื่อชีวิตใหม่ที่เราออกแบบได้ (ภายใต้ข้อจำกัดมากมายที่กล่าวมา)
ความตายของจูเลียตแห่ง Romeo and Juliet ที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมรักแสนเศร้าโรแมนติกที่ถูกเล่นซํ้าไม่รู้จบ เราได้รู้จัก Kafka Kawamura หนุ่มวัยรุ่นที่หนีหายออกจากบ้านตลอดกาลจากนิยาย Kafka On The Shore และการสูญหายนับครั้งไม่ถ้วนของตัวละครในนิยายของ Haruki Murakami การหายตัวทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ปริศนา ความสงสัย แต่เลียนแบบได้โคตรยากในชีวิตจริง
ก่อนจะแกล้งตาย (เชื่อว่าไม่น่าจะมีใครคิดทำจริงๆ) ลองพิจารณาดูก่อนว่ามีทางเลือกอื่นๆ ในชีวิตอีกบ้างไหมที่จะแก้ปัญหาชีวิตที่มีได้ หากเบื่อก็ลองหาอะไรใหม่ๆ ทำ หรือไปท่องเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศ อยากลองเล่นเป็นคนอื่นก็อาจจะลองไปเรียนการแสดง โดยไม่ต้องลำบากทำตัวสูญหายหรือแกล้งตาย เพราะมันเป็นการหนีปัญหาเก่าไปสู่ปัญหาใหม่ที่อาจยุ่งยากและเปลืองพลังงานพอกัน ไม่ได้เรียบง่าย โรแมนติก เหมือนในนวนิยายที่เราได้อ่านกัน
การเสแสร้งแกล้งว่าตายหรือหนีหายในชีวิตจริงมีกระบวนการซับซ้อนและวุ่นวาย หากไม่มีแรงจูงใจมากพอ เราก็คงต้องขอเลือกที่จะดำรงชีวิตอยู่กันต่อไป ยอมรับและพอใจในสิ่งที่เรามี หรือค่อยๆ ปรับชีวิตนี้ให้เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ การแกล้งตายคงเป็นได้เพียงพล็อตแฟนตาซีให้หนีจากชีวิตจริงชั่วคราว
อ้างอิงข้อมูลจาก
This is Criminal: EPISODE 61: VANISH
http://thisiscriminal.com/episode-61-vanish-2-17-2017/
How to Disappear Completely
http://www.wikihow.com/Disappear-Completely
How to Fake Your Own Death
http://www.wikihow.com/Fake-Your-Own-Death
John Darwin canoe disappearance
https://www.theguardian.com/uk/canoe
Playing Dead: A Journey Through the World of Death Fraud – Elizabeth Greenwood
https://www.amazon.com/Playing-Dead-Journey-Through-World/dp/1476739331