Wearable Gadget ที่มาแรงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า Activity Tracker ที่เป็นอุปกรณ์วัดความแอคทีฟของผู้สวมใส่ จำนวนก้าวที่เดิน รวมไปถึงอัตราการเต้นของหัวใจ GPS เพื่อติดตามขณะออกกำลังกาย คอยเตือนให้ลุกเดินเมื่อนั่งนานๆ บางรุ่นเป็นโทรศัพท์ในตัว
ตอนนั้นใครจะคิดว่าอุปกรณ์แบบเดียวกันนี้จะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในสัตว์ โดยยัดมันเข้าไปไว้ใต้ผิวหนังเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายของมันเพื่อป้องกันก่อนที่โรคจะเกิดขึ้นจริงๆ และถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ใบริษัทสตาร์ทอัพ Livestock Labs อยากนำเทคโนโลยีชิ้นนี้กลับมาใช้ต่อกับมนุษย์ในอนาคตอีกด้วย
ในเมือง Wellsville รัฐ Utah ประเทศอเมริกา มีน้องวัวสามตัวที่เป็นไซบอร์กเดินแอบแฝงตัวอยู่เงียบๆโดยไม่มีใครรู้ มองด้วยสายตาคงแยกไม่ออกหรอกว่ามันคือตัวไหน เพราะมันก็เดินเล่น กินหญ้า ดื่มน้ำเหมือนกับน้องวัวตัวอื่นๆ บางครั้งเวลาพวกมันคันก็เดินเอาหลังไปถูแปรงที่ห้อยเอาไว้ วัวปกติก็ทำแบบเดียวกัน แต่พวกมันแค่เกาให้สาแก่ใจแล้วก็เดินจากไป ส่วนวัวไซบอร์กระหว่างที่ถูนั้นจะถ่ายโอนข้อมูลที่เก็บมาระหว่างวันไปด้วยในเวลาเดียวกัน
อุปกรณ์ติดตามที่อยู่ในตัวพวกมันนั้นจะใช้สัญญาณบลูทูธพลังงานต่ำเพื่อสื่อสารกับเสารับข้อมูลที่อยู่ใกล้ๆว่าความถี่ในการเคี้ยวหญ้าของวัวตัวนั้นเป็นยังไง อุณหภูมิในร่างกายปกติดีรึเปล่า และข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในฟาร์มแต่ละวัน
วัวไซบอร์กสามตัวนี้เป็นกลุ่มแรกของสัตว์ที่ได้ทดลองฝังอุปกรณ์ที่เรียกว่า “EmbediVet” ไว้ใต้ผิวหนัง เจ้าเซ็นเซอร์ตัวนี้ถูกผลิตโดยบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Livestock Labs วัวเหล่านี้ก็ใช้ชีวิตตามปกติทั่วไป แค่ในระหว่างนั้นมันก็จะคอยเก็บข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นในการฝึกเครือข่ายสมองกลที่อยู่เบื้องหลัง โดยหวังว่าวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ AI แบบนี้จะช่วยแจ้งเกษตกรผู้เลี้ยงว่าสัตว์เหล่านี้กินอยู่เป็นอย่างไรบ้าง มีอาการผิดปกติรึเปล่า ป่วย ตัวร้อน หรือกำลังจะคลอดลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องคอยตรวจสอบดูทุกวันอยู่แล้วในการทำงาน แต่เมื่อจำนวนของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้เยอะขึ้นทำให้การดูแลให้ทั่วถึงเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
จะว่าไปการฝัง RFID (Radio frequency identification) และตัวติดตามต่างๆ ได้ถูกใช้ในการทำปศุสัตว์มานานแล้ว แต่โดยปกติมันเอาไว้ใช้แค่จำแนกสัตว์ชนิดต่างๆ ออกจากกัน ส่วนตัวติดตามที่คอยเก็บข้อมูลสิ่งที่พวกมันทำก็ถูกใส่ไว้ในปลอกคอเพื่อดูข้อมูลการกิน การเคี้ยวและอาการป่วยต่างๆ แต่ Livestock Labs อ้างว่า หลังจาก EmbediVet ถูกฝังเข้าไปใต้ผิวหนังแล้ว (ตอนนี้ใช้การผ่าตัดโดยฉีดยาชาเฉพาะจุด) จะไม่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของสัตว์ตัวนั้น และในระยะยาวมีโอกาสที่จะเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ได้มากกว่า
สิ่งที่น่าสนใจคือเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้มีการทดลองในมนุษย์มาก่อนที่จะเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนังของน้องวัวเหล่านี้ซะอีก และผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ตัวนี้หวังว่าสุดท้ายแล้วมันจะถูกนำกลับมาใช้กับมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากผลทดลองกับน้องวัวเป็นที่น่าพอใจแล้วนั้นแหละ
Tim Cannon, CEO ของ Livestock Labs ในตอนแรกเขาไม่ได้คิดจะสร้างอุปกรณ์ที่เป็นเหมือน activity tracker สำหรับสัตว์ สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ คือใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้เพื่อแฮ็คตัวเขาเอง หรือใครก็ตามทีสนใจอยากจะทำสิ่งที่คล้ายกัน เพราะ Cannon นอกจากจะเป็นนักพัฒนาซอฟแวร์แล้ว เขายังเป็น ‘biohacker’ หรือนักแฮ็คร่างกายตัวยงอีกด้วย โดย biohacker มักจะคอยอัพเกรดร่างกายตัวเองด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ นักเขียนอย่างโตมร ศุขปรีชาเคยอธิบายเอาไว้ว่า
“พูดให้ง่ายที่สุด มันก็คือการ ‘แฮ็ค’ ร่างกายของมนุษย์เรานี่แหละครับ แบบเดียวกับที่เกิดการแฮ็คคอมพิวเตอร์หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งหมายถึงการเข้าไป ‘รบกวน’ การทำงานต่างๆ ของร่างกาย โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ร่างกายของเราทำงานได้แข็งแรงขึ้น เร็วขึ้น และดีขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการผลักดันให้มนุษย์ ขึ้นสู่อีกระดับของความเป็นมนุษย์ เป็นการเปลี่ยนรูปแปลงร่างศักยภาพของมนุษย์ให้กลายเป็นอภิมนุษย์”
Cannon เริ่มกระโดดเข้าสู่วงการอภิมนุษย์ในช่วงปี 2010 หลังจากที่ดูวีดีโอของนักแฮ็คร่างกายชาวสก็อตชื่อ Lepht Anonym พูดถึงประสบการณ์ของตัวเองเกี่ยวกับความรู้สึกอันแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นกับเธอหลังจากที่ฝังแม่เหล็กเข้าที่ปลายนิ้วของตัวเอง หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้ทดลองฝังแม่เหล็กในนิ้วของตัวเอง และก่อตั้งบริษัท Grindhouse Wetware สตาร์ทอัพเกี่ยวกับ biohacking ในเมือง Pittsburgh โดยโฟกัสเรื่องการออกแบบดีไซน์และประดิษฐ์อุปกรณ์อิเล็กโทรนิคที่ฝังในร่างกายมนุษย์โดยเฉพาะ
หลายปีที่ Grindhouse Cannon และทีมของเขาได้สร้างเซ็นเซอร์มากมาย หนึ่งในนั้นเรียกว่า Circadia โดยมีระบบวัดอุณหภูมิและไฟ LED ที่สามารถลอดผ่านชั้นผิวหนังขึ้นมาได้ (ได้แรงบันดาลใจมาจาก Iron Man รึเปล่านะ) Cannon บอกว่าเขาพัฒนา Circadia ขึ้นมาเพื่อใช้มันเก็บข้อมูลและป้อนให้กับ AI เพื่อคาดการณ์อาการป่วยก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ในปี 2013 หลังจากที่พัฒนามาแล้วหนึ่งปีและสูญเงินไปกว่า $2000 เหรียญ ก็ได้ทดลองฝัง Circadia เข้ากับแขนของตัวเองในที่สุด เขาบอกว่า
“ตอนที่เราทำนั้นเราพยายามที่จะท้าทายทั้งวงการแพทย์และเทคโนโลยี พยายามที่จะบอกว่า ‘ดูนี่ ถ้าพวกที่งี่เง่าในห้องใต้ถุนบ้านสามารถทำได้ขณะที่กำลังดูดปุ๊นและฟังเพลงของ Wu Tang แลัวปัญหามันคืออะไรล่ะ? (ทำไมยังไม่มีคนทำสักที)”
ปัญหาคือนอกจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่หลงไหลการแฮ็คร่างกายตัวเองและคนที่ให้ความสนใจเพราะรู้สึกสงสัย ซึ่งคนส่วนมากไม่ได้สนใจกับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์เหล่านี้เข้าไปในร่างกายตัวเองเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้ถูกแนะนำโดยแพทย์ และที่สำคัญคือไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตด้วยซ้ำ
แต่ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ดูไม่มีประโยชน์กับธุรกิจหนึ่ง ถ้าปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าก็อาจสร้างผลกระทบได้เป็นอย่างมาก Grindhouse พยายามขายอุปกรณ์ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง แต่มันไม่ติดตลาดและทำเงินเป็นกอบเป็นกำไม่ได้ซะที มันไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนกระเป๋าตุงที่ไหนได้เลย Cannon และทีมของเขาต้องหาเงินมาลงทุนด้วยการทำงานอื่นๆ เสริมไปด้วย ต่อมาภายหลังพวกเขายังต้องมาปวดหัวกับกฏหมายข้อบังคับที่เคร่งครัดในการนำอุปกรณ์ที่ไม่ได้มีความจำเป็นทางการแพทย์ฝังลงไปในร่างกายมนุษย์ Cannon บอกว่าถนนสู่ความสำเร็จของพวกเขานั้นต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีและใช้เงินทุนอีกหลายล้านดอลล่า
แต่ก็เหมือนโชคชะตาไม่ได้โหดร้ายกับ Cannon และทีม Grindhouse เท่าไหร่นัก เมื่อช่วงต้นปี 2107 นักแฮ็คร่างกายชาวออสเตรเลียชื่อ Meow-Ludo Disco Gama Meow-Meow (เป็นชื่อที่น่าสนใจไม่น้อยเลย) ได้ติดต่อเขาและเสนอไอเดียหนึ่งที่น่าจะช่วยพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้ บริษัทในซิดนีย์ชื่อ Cicada Innovations กำลังจะเปิดโปรแกรมเพื่อสนับสนุนการสร้างบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านเกษตรกรรมอาหาร เพราะ Cicada เป็นเจ้าใหญ่แห่งวงการปศุสัตว์ที่มีจำนวนสัตว์ประเภท Cattle (วัวควาย) มากกว่า 25.5 ล้านตัวเลยทีเดียว
ฉะนั้นตอนที่ Cannon ได้ยินเกี่ยวกับโอกาสครั้งนี้ หลอดไฟบนหัวก็ติด ‘ปิ๊ง’ แล้วคิดว่า “ถ้านำเจ้าอุปกรณ์นี้ไปใส่ในวัวแทนมนุษย์ล่ะ?” เขาให้สัมภาษณ์ว่า “เอ่อ มันเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว” และนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินใหม่ของเขากับสตาร์ทอัพชื่อ Livestock Labs และเมื่อนำเสนอให้กับ Cicada ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ช่วงเดือนกันยายนหลังจากนั้นเขาย้ายมาอยู่ซิดนีย์และสร้างทีมใหม่อีกครั้งเพื่อปรับแต่งเซ็นเซอร์ Circadia ใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง แต่คราวนี้เพื่อใช้มันกับสัตว์ในฟาร์มแทนมนุษย์
หลังจากนั้นไม่กี่เดือน Livestock Labs ก็สร้าง EmbediVet สำหรับทดลองในน้องวัวได้สำเร็จ เจ้าแผ่นเซ็นเซอร์แบนๆ ถูกเคลือบด้วยเรซินแบบใส โดยใช้เทคโนโลยี ARM processor (ไมโครโปรเซสเซอร์ ที่ถูกออกแบบเป็นหน่วยประมวลผล สามารถลดจำนวนคำสั่ง ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการประมวลที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว) บลูทูธ ตัวรับส่งคลื่นวิทยุระยะไกล ตัววัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความเร่งการเคลื่อนที่ของวัตถุ (accelerometer) เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ตัววัดออกซิเจนในเลือด และตัววัดกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่าง โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ทรงกลมคล้ายกับเหรียญห้าบาท จากการประเมินของบริษัทน่าจะใช้ได้ประมาณ 3 ปี
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา Kerry Rood ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาสัตวแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Utah State University ได้ทดลองฝัง EmbediVet เซ็นเซอร์ไว้ใต้ผิวหนังของวัวสามตัวที่ฟาร์มของมหาวิทยาลัย สองตัวที่ด้านล่างของกรามซ้ายและอีกตัวหนึ่งที่ตรงกลางระหว่างซี่โครงทั้งสอง เหตุผลที่ทำแบบนี้เพราะในเมื่อมันเป็นการทดลองครั้งแรกเลยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าต้องใส่ตรงไหน และถ้าเราต้องการจะวัดอัตราการเคี้ยวเอื้องและสำรอกสองจุดนี้ดูสมเหตุสมผลแล้ว (แต่สุดท้ายก็อาจจะต้องย้ายที่ถ้าผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง) อย่างที่บอกไปเบื้องต้นว่าพวกมันจะถูกฉีดยาชาและกรีดหนังชั้นนอกให้เปิดออกแล้วฝังเซนเซอร์ตัวนี้ลงไป เสร็จแล้วก็เย็บแผลเป็นอันเสร็จเรียบร้อย โดยหนึ่งเดือนให้หลังพวกมันยังคงใช้ชีวิตได้อย่างปกติดี
Rood แสดงความคิดเห็นว่าอุปกรณ์ในลักษณะนี้สามารถติดตามความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายได้ละเอียดกว่าที่เป็นปลอกคอหรือที่รัดข้อเท้า โดยเฉพาะเมื่อเราต้องการติดตามค่าของตัววัดอื่นๆ อย่างอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงโรคและอาการเจ็บป่วยของสัตว์เหล่านี้ได้อย่างดี เซนเซอร์ที่อยู่ด้านนอกจะไม่แม่นยำเพราะผิวหนังที่ค่อนข้างหนา Cannon ใช้ข้อมูลเหล่านี้มาใส่ในซอฟแวร์ที่เขาสร้างขึ้น โดยสุดท้ายแล้วเป้าหมายของเขาคือให้เกษตกรสามารถเช็คสถานะของสัตว์ในการดูแลได้จากสมาร์ทโฟน มีการแจ้งเตือนหากมีอะไรที่ดูผิดปกติ และแน่นอนว่าต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อฝึก AI ให้ตอบสนองได้อย่างถูกต้องด้วย
Rood แสดงความคิดเห็นต่อว่า “ในฐานะสัตวแพทย์ ถ้ามีหนทางที่ผมจะสามารถตรวจสอบโรคของสัตว์ อาการผิดปกติที่รบกวนพวกมัน ยิ่งเร็วมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้ผมมีเวลาต่อกรกับปัญหาและดูแลสัตว์เหล่านี้ให้ดีขึ้นด้วย”
นอกจากการทดลองโดย Rood แล้ว Livestock Labs ยังได้เริ่มทดลองที่มหาวิทยา Charles Sturt University และ University of New England ที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียทั้งคู่ และยังมีในฟาร์มอื่นๆ ที่เขาไม่สามารถบอกชื่อได้อีกด้วย โดยภายในมีนาคมหน้า Cannon คาดว่าจะปล่อยการทดลองแบบเบต้าให้กับสาธารณะ เพราะจากที่เขาเล่าให้ฟังคือมีความต้องการของตลาดเยอะมาก และสิ่งที่พวกเขาสร้างนั้นน่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าที่คาดเอาไว้มาก (มีอีกบริษัทหนึ่งในเกาหลีชื่อ LiveCare ที่มีเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันก็เริ่มทำการทดลองแล้วเช่นเดียวกัน)
แม้ว่าประโยชน์ของสิ่งประดิษฐ์นี้จะมีค่อนข้างเยอะ แต่ก็ยังมีข้อควรระวังอยู่หลายปัจจัย อย่างแรกเลยคือสัตว์เหล่านี้ทั้งตัวใหญ่และชอบเดินถูตัวไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง (อย่างเช่นเวลาคัน) เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ถูกฝังใต้ผิวหนังพวกมันก็ต้องถึกทนและไม่เสียหายง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือเอาใส่ไว้ตรงไหนก็ควรจะอยู่ตรงนั้น อย่าลืมว่าสัตว์เหล่านี้สุดท้ายแล้วจะถูกนำไปเป็นอาหารของมนุษย์ ถ้ามันหลุดไปอยู่ในจานข้าวคงเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อบริษัทอย่างแน่นอน สุดท้ายต้องคำนึงถึงต้นทุนต่อการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ถ้าราคาสูงเกินไป แม้ว่าจะสะดวกแค่ไหน เกษตกรที่รายได้กำไรไม่มากอยู่แล้วคงไม่ให้ความสนใจเท่าไหร่
ในเวลานี้ Livestock Labs ได้รับเงินทุนประมาณ 2 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชิ้นนี้ โดยตอนนี้สิ่งที่พวกเขาต้องคอยเฝ้าจับตาดูเป็นพิเศษคือเซ็นเซอร์เหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแปลกๆ ที่ไม่คาดคิดตามมาในภายหลังให้กับวัวไซบอร์ก Cannon พูดติดตลกว่า “พวกมันอาจจะอยากทำลายล้างมนุษยชาติก็ได้ แต่เราก็เฝ้าดูอยู่ตลอด”
แต่ไม่ว่ายังไงก็ตามที Cannon ยังคงไม่ละทิ้งความพยายามที่เป็นเป้าหมายแรกก่อนจะเริ่ม Livestock Labs เพราะอย่าลืมว่าเขายังคงเป็น biohacker ที่อยากสร้างอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคเพื่อฝังในร่างกายของมนุษย์ ไม่ใช่แค่น้องวัวในฟาร์ม เขาหวังว่าวันหนึ่งบริษัทของเขาจะทำให้คนรู้สึกสบายใจและไม่ต่อต้านการฝังสิ่งต่างๆ ในร่างกายอีกต่อไป อยากใช้เซ็นเซอร์ที่เขาสร้างขึ้นในมนุษย์และแตกบริษัทออกไปเพื่อผลิตเซนเซอร์ใหม่ๆ สำหรับมนุษย์โดยเฉพาะด้วย
แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับนะว่า “บางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะมากเกินไปสำหรับมนุษย์โดยทั่วไปก็ได้” ซึ่งน่าจะเป็นความคิดที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกัน