ใช่! โลกเราทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อะไรๆ ก็ออโต้ อะไรๆ ก็สมาร์ท อะไรๆ ก็ AI และอาจเพราะใครขยับตัวตามทันได้เร็ว ก็เหมือนว่าจะได้เปรียบมากกว่า
เดี๋ยวนี้เราเลยเริ่มเห็นคอร์สที่สอนเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมหรือวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มขึ้นอาชีพในสายงานนี้ก็ดูจะเนื้อหอม เป็นที่ต้องการจากหลากหลายองค์กร จนเรียกได้ว่า ‘ขาดตลาด’ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คืออาชีพ ‘โปรแกรมเมอร์’
The MATTER ได้มีโอกาสสนทนากับ ‘คุณ อภัยชนม์ พันธุ์โอภาส’ นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย เกี่ยวกับสถานการณ์และบทบาทของโปรแกรมเมอร์ไทย ที่บอกกันว่าขาดตลาดตั้งแต่สมัยเริ่มต้นไทยแลนด์ 4.0 ตอนนี้สถานการณ์เป็นยังไงบ้าง? โปรแกรมเมอร์แบบไหนที่เป็นที่ต้องการ? แล้วสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยมีบทบาทอย่างไร? รวมถึงภาพกว้างๆ ว่าในยุค 4.0 ในยุค AI และต่อไปในอนาคตข้างหน้า โปรแกรมเมอร์ไทยจะเป็นจะอยู่ยังไง?
The MATTER : สถานการณ์โปรแกรมเมอร์ของไทยตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ปัญหาขาดแคลนโปรแกรมเมอร์ยังมีอยู่ไหม
คุณอภัยชนม์ : ผมลองค้นข้อมูลตัวเลขที่ไม่เป็นทางการจากบริษัทจัดหางาน มีความต้องการบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีกว่าแสนคน แต่โปรแกรมเมอร์มีประมาณ 5 หมื่นกว่าคนเอง ตัวเลขที่ต่างกันเกินครึ่ง ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าคนไม่พอ จริงๆ ปัญหาขาดแคลนโปรแกรมเมอร์หรือบุคลากรด้านเทคโนโลยีมีมานานหลายปีแล้ว มีหลายองค์กร หน่วยงาน รวมถึงทางสมาคมฯ ก็ได้พยายามหาแนวทางแก้ปัญหานี้ แต่ดูจากแนวโน้มก็เหมือนกับว่า ปัญหานี้จะยิ่งเพิ่มช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการสร้างบุคลากร ข้อมูลจาก สกอ. บอกว่าภาคการศึกษาเปิดรับเด็กเข้าเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเฉลี่ยต่อปีละประมาณ 2 หมื่นคน แต่มีความสามารถพร้อมทำงานทันทีหลังจากเรียนจบประมาณ 2 พันคน ซึ่งคิดเป็น 10% เท่านั้น
The MATTER : คำว่า ‘ไม่พร้อมทำงาน’ หมายความว่ายังไง
คุณอภัยชนม์ : หมายถึงว่าไม่มีทักษะหรือความรู้แบบที่ผู้จ้างต้องการ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเนื้อหาที่เรียนมาไม่ทันสมัยพอ เนื่องจากความรู้ด้านเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันไม่สามารถอัพเดตความรู้ได้ทันกับเทคโนโลยีที่ภาคอุตสาหกรรมใช้ แล้วถ้าตัวเด็กเองก็ไม่ขวนขวายหาความรู้เพิ่ม ก็จะทำให้เด็กที่เรียนจบมาไม่มีคุณสมบัติเพียงพอเข้าทำงาน หลายๆ ที่อาจารย์ผู้สอนก็อาจจะไม่มีประสบการณ์ทำงานจริงมาก่อน ก็อาจจะแนะนำได้ไม่ตรงจุด แต่ปัจจุบันสถานศึกษาหลายแห่งก็แก้ปัญหานี้ ด้วยการเชิญบุคลากรที่มีประสบการณ์ไปสอนหรือไม่ก็ส่งอาจารย์ไปฝึกฝนอัพเดตความรู้
อีกอย่างหนึ่งที่ผมได้ข้อมูลระหว่างที่ผมเดินทางไปสอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ที่น่าตกใจคือเด็กที่เรียนคณะวิศวกรรมหรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จบมาแล้วตั้งใจจะเป็นโปรแกรมเมอร์เพียง 5% เท่านั้น เหตุผลที่ได้ยินมาคือ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานสายนี้ ไม่มีคนแนะแนวตั้งแต่ระดับมัธยม เรียนตามเพื่อน มีคนบอกว่าจบคอมฯ มาไม่ตกงาน ที่บ้านให้เรียนเพื่อนำความรู้กลับไปช่วยที่บ้าน หลายคนเรียนแล้วไม่ชอบก็สายไปเสียแล้ว
The MATTER : คิดว่าแนวทางการแก้ปัญหาด้านบุคลากรควรเป็นยังไง
คุณอภัยชนม์ : การจะแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านใดๆ ก็ตาม ผมเชื่อว่าต้องสร้างการรับรู้ให้ได้ในระดับประเทศ รับรู้จนเป็นเรื่องปกติ วิธีการนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณคนในสายอาชีพนั้นๆ ได้แน่นอน อย่างเช่นการที่คนเข้าใจแวดวงดนตรีและรู้จักดุริยางคศิลป์มากขึ้นจากภาพยนตร์เรื่อง Season Change ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ดังนั้นการจะเพิ่มบุคลากรด้านโปรแกรมเมอร์ในไทย ก็อาจต้องอาศัยการสร้างสื่อ โฆษณา ภาพยนตร์ และข่าวสารที่เกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์ ให้คนรับรู้จนเข้าใจและรู้สึกเป็นเรื่องปกติ
การให้เด็กเรียนเขียนโค้ดตั้งแต่ประถมแบบในต่างประเทศก็อาจจะดี แต่ไม่ได้เรียนหักโหมเอาเป็นเอาตายนะ เป็นการสอนวิธีการและกระบวนการคิดมากกว่า โดยส่วนใหญ่ก็จะพาเล่นเกม ให้เขาสนุกเหมาะกับวัย ผมเคยไปสอนเด็ก ชั้น ป. 4-5 เอาแพลตฟอร์มอย่าง code.org หรือ codecombat.com ไปใช้ เป็นเกมฝึกลำดับความคิดในแต่ละด่าน ว่าจะต้องทำอย่างไรจะเดินทางไปถึงเป้าหมายโดยไม่เจออุปสรรคหรือสิ่งกีดขวาง เด็กสนุก มีความสุข ตั้งใจเรียนมาก ที่น่าทึ่งคือ เขาสามารถเล่นผ่านไปไกลได้กว่าผู้ใหญ่ และสามารถมาอธิบายได้ว่าเขาเล่นผ่านได้ยังไง
แล้วผมคิดว่าก็ควรมีแนะแนวอาชีพในเนื้อหาที่เรียนตั้งแต่มัธยม หากสามารถแนะนำได้ว่าวิชาไหน เรียนไปแล้วสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง มั่นใจมากว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก เกิดการวางแผนเรียนต่อเพื่อประกอบอาชีพมากขึ้น ในวิชาคณิตศาตร์ และวิทยาศาสตร์ ก็มีเนื้อหาที่ต้องใช้เขียนโปรแกรมเยอะมาก อย่างเช่น ตรรกศาสตร์ จริง เท็จ และ หรือ มันใช้เยอะมากในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรม
จริงๆ เชื่อไหมว่าทุกคนเขียนโค้ด เขียนโปรแกรมทุกวัน อย่างพรุ่งนี้เรานัดดูหนังกับแฟน เราก็วางแผนว่าจะดูเรื่องอะไร วางแผนการซื้อตั๋ว จะตื่นกี่โมง เลือกเสื้อผ้าชุดไหน เดินทางด้วยอะไร ออกจากบ้านกี่โมง ถึงแล้วจะโทรหากี่โมง พฤติกรรมที่เราทำนี้ก็คือชุดคำสั่งที่เราป้อนเข้าไปเก็บไว้ในสมองที่เป็นส่วนของหน่วยความจำ สั่งการให้เราทำนั่นทำนี่ เป็นการคิดอย่างมีระบบ แนวคิดของคอมพิวเตอร์ก็มาจากกระบวนการแบบนี้ โปรแกรมเมอร์ก็คือคนที่เขียนชุดคำสั่งเพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่ต้องการ
The MATTER : แล้วทางสมาคมฯ มีบทบาทสนับสนุนวงการโปรแกรมเมอร์ไทยอย่างไรบ้าง
คุณอภัยชนม์ : ในระยะสั้น เรามีโครงการที่จัดขึ้นเพื่อแชร์ความรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘Code Mania’ ที่กำลังจะจัดเป็นครั้งที่ 6 ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ในงานจะมีสปีกเกอร์หลายคนมาแชร์ความรู้ด้านต่างๆ มีโปรแกรมเมอร์ตั้งแต่หน้าใหม่ไปจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญมารวมตัวกัน แล้วก็มีผู้ประกอบการที่อยากจะหาโปรแกรมเมอร์ด้วย
งาน ‘Code Chew Chew’ ก็เป็นงานแชร์ความรู้หลังเลิกงานในบรรยากาศเป็นกันเอง เหมาะสำหรับนักพูดมือใหม่ ที่อยากแชร์ความรู้แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในเวทีใหญ่ๆ หรืองานประเภท Hackathon แข่งเขียนโค้ด ก็จะมีเด็กๆ สนใจมาร่วมงานเยอะ มีโครงการ ‘Unlocked Coding’ ที่จัดอบรมเขียนโปรแกรมให้มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หน่วยงานต่างๆที่สนใจ และมีเฟซบุ๊กกลุ่มสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย เป็นศุนย์กลางในการ ถามตอบปัญหา ประกาศข่าวสาร และแชร์ความรู้กัน
ผมคิดว่าสิ่งที่ได้จากการจัดงานเหล่านี้ ทำให้สังคมโปรแกรมเมอร์เกิดการตื่นตัว และมีกลุ่มของคนรุ่นใหม่กลุ่มอื่นๆ เกิดขึ้น ช่วงหลังๆ ทางสมาคมฯ ก็เริ่มลดบทบาทในการจัดงานเหล่านี้ลง แต่เปลี่ยนไปสนับสนุนกลุ่มอื่นๆ แทน
ในระยะยาวขึ้นมาหน่อย ทางสมาคมฯ จะจัดอบรมเพื่อบ่มเพาะสร้างโปรแกรมเมอร์มืออาชีพในระยะเวลา 3 เดือน โครงการนี้จะเน้นผู้เรียนที่มีประสบการณ์การเขียนโปรแกรมบ้าง แต่อาจจะยังไม่เคยพัฒนาจริงมาก่อน หรือเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่แล้ว แล้วอยากเปลี่ยนเทคโนโลยีและสายงาน ซึ่งเนื้อหาที่จัดอบรมเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันและอนาคตอีกหลายปี โดยวิทยากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานจริง โครงการนี้ยังมีตำแหน่งงานรองรับจากผู้ประกอบการที่เขัาร่วมโครงการด้วย เราก็หวังว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณโปรแกรมเมอร์ที่มีคุณภาพระดับกลางเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น
The MATTER : ถ้าเทียบกับต่างประเทศ โปรแกรมเมอร์ไทยอยู่จุดไหนในเวทีโลก
คุณอภัยชนม์ : เขาจะมีจัดอันดับอยู่แล้วทุกปี ของไทยก็จะอยู่ที่ประมาณเกือบร้อย จริงๆ ประเทศเรามีโปรแกรมเมอร์เก่งๆ นะครับ องค์กรระดับโลกอย่างเฟซบุ๊กหรือกูเกิ้ลก็มีคนไทยที่เข้าไปทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ ในนั้น แต่เทียบกับต่างประเทศก็อาจจะน้อยกว่า ผมมองว่าภาพรวมแล้วโปรแกรมเมอร์ไทยยังติดเรื่องของภาษาอังกฤษกับเรื่องการทำงานเป็นทีม ที่ส่วนใหญ่จะเห็นผลงานแบบเดี่ยวๆ มากกว่า อีกอย่างคือเรื่องของ Career Path ที่ทำให้โปรแกรมเมอร์ไทยเลือกที่จะไปทำงานให้บริษัทต่างประเทศ เพราะบ้านเราอาจจะยังไม่ได้หารายได้หลักด้วยเทคโนโลยีหรือซอฟต์แวร์ เรายังซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศอยู่
The MATTER : แต่ประเทศไทยก็ประกาศตัวว่ากำลังจะก้าวไปสู่การเป็น Thailand 4.0 แล้วในสายตานายกฯ สมาคมโปรแกรมเมอร์ ประเทศไทยพร้อมกับการเป็นประเทศไทย 4.0 ไหม?
คุณอภัยชนม์ : ต้องถามว่า คำว่าพร้อมนี่คาดหวังอะไร ในระยะเวลาเท่าไหร่ ตอนนี้เราน่าจะอยู่ในระยะเริ่มต้นที่จะเรียนรู้และปรับไปเป็นอัตโนมัติอยู่ สภาอุตสาหกรรมเคยแชร์โร้ดแมปมา ประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2 จุดกว่าๆ เท่านั้น ผมว่าเราเพิ่งเริ่มมากกว่า ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ
เรื่องความเชื่อมโยงของข้อมูลก็ยังเป็นประเด็น อย่างเช่นข้อมูลสุขภาพของเรา ก็ยังถูกเก็บแยกไว้หลายองค์กร หลายหน่วยงาน แต่ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันกัน หรือแค่ภายในหน่วยงานเดียว บางครั้งก็ยังไม่มีความเชื่อมโยงเลย ถ้าจะพูดถึง 4.0 ที่ทุกหน่วยงานเชื่อมโยงกันได้หมด ข้อมูลแลกเปลี่ยนถึงกันหมดก็น่าจะยังอีกไกล
The MATTER : คิดยังไงกับความก้าวหน้าอันรวดเร็วของ AI ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีบทบาทหรือโอกาสยังไงบ้าง
คุณอภัยชนม์ : AI จะเป็นที่ต้องการมากใน 3-5 ปีข้างหน้าแน่นอนครับ เพราะช่วยให้ภาคธุรกิจลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้น ตอนนี้ก็มีระบบประกันภัยและธนาคารดิจิทัล ทำธุรกรรมได้บนเว็บและแอปพลิเคชั่นในมือถือแล้ว อย่างด้านการแพทย์ที่ AI จะมาช่วยวินิจฉัยโรคและหาวิธีการรักษาได้แม่นยำขึ้น หรือด้านการเกษตรก็อาศัย AI ช่วยประมวลผลข้อมูล วินิจฉัย ผลผลิตการเกษตรจากข้อมูลที่จัดเก็บ ว่าควรให้ปุ๋ย รดน้ำอัติโนมัติ ปรับแสง ด้วยปริมาณที่เหมาะสมเท่าไร
เมื่อ AI เข้ามาเต็มรูปแบบ ก็จะส่งผลให้หลายๆ อาชีพถูกลดบทบาทลง จริงๆ ตอนนี้บางเทคโนโลยีก็พร้อมใช้งานแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง เพราะเกิดแรงต้านจากคนที่ต้องสูญเสียอาชีพเดิม แต่ในอนาคตยังไงก็เกิดความเปลี่ยนแปลงแน่นอน จะช้าหรือเร็วแค่ไหนก็ขึ้นอยู่ว่าสังคมจะปรับตัวไปทางไหน
ผมคิดว่าอาชีพที่น่าจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นก็คือโปรแกรมเมอร์ที่มีความรู้ด้าน AI ซึ่งจะต้องมีความรู้ด้าน คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ การจัดการ การวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงความรู้เชิงลึกในแต่ละธุรกิจเพื่อการนำไปใช้ด้วย 3-5 ปีนี้จึงน่าจะเป็นช่วงของการพัฒนา ใครชิงพื้นที่ ฟอร์มทีม และจัดหาทรัพยากรสำหรับเรื่องนี้ได้ก่อน ก็จะได้เปรียบ
ส่วนการนำมาใช้ในภาครัฐเชื่อว่าจะยังขยับได้ช้ากว่าเอกชน จากอุปสรรคในเรื่องกฎระเบียบ การทำงาน การขอข้อมูลข้ามระหว่างแผนก อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาด้าน AI ก็ยังมีหลายเรื่อง หลักๆ ก็คือการจัดเก็บข้อมูล ความรู้เฉพาะทางในสายงานต่างๆ ความรู้ของนักวิเคราะห์ข้อมูล และความสามารถของนักพัฒนา AI
ในประเทศไทยก็มีองค์กรใหญ่ คลังสินค้ายักษ์ใหญ่บางแห่ง ได้เริ่มพัฒนาระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ ใช้หุ่นยนต์และ AI แบบต่างประเทศแล้ว ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ในการพัฒนาจนสามารถใช้งานได้จริงเต็มรูปแบบ
The MATTER : อนาคตสัก 3-5 ปีข้างหน้า คิดว่าสถานการณ์ของโปรแกรมเมอร์ไทยจะเป็นยังไง
คุณอภัยชนม์ : ผมคิดว่าอาชีพโปรแกรมเมอร์จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นอีกอย่างแน่นอน เพราะใน 3-5 ปี ข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาโครงการมากมาย ซึ่งปริมาณคนและผู้เชี่ยวชาญยังมีไม่พอ คิดว่าปัญหาขาดแคลนโปรแกรมเมอร์ก็จะยังมีอยู่ต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีหลายองค์กรพยายามปั้นโปรแกรมเมอร์มากขึ้นก็ตาม
แต่เราจะเริ่มเห็นหลายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นจากปัญหา อย่างภาคเอกชนจะไม่รอการแก้ปัญหาจากภาคการศึกษา องค์กรใหญ่ๆจะลงทุนในการสร้างสถาบันวิชาชีพด้านโปรแกรมเมอร์ขึ้นมา เพื่อผลิตบุคลากรเข้ามาทำงานในองค์กรตนเอง หรืออาจจะเป็นหลักสูตรความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน
ภาคเอกชนอาจจะเริ่มสนใจวุฒิการศึกษาน้อยลง เมื่อก่อนอาจจะเคร่งครัดกับวุฒิขั้นต่ำ แต่เราก็เห็นว่าเริ่มมีหลายองค์กรเปลี่ยนวิธีคิด หาวิธีทดสอบและวัดประสิทธิผลในการทำงานของตัวเอง หากผ่านกระบวนการที่ทดสอบได้ว่าบุคคลนั้นมีความสามารถ องค์กรก็พร้อมจะว่าจ้าง ซึ่งเด็ก 17-18 ปีหลายคนก็เริ่มทำงานได้แล้ว
คนที่ไม่ได้จบตรงสาย จบอักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ บริหารธุรกิจ หรือนิเทศศาสตร์มา หากเรียนรู้ก็เขียนโค้ดได้และน่าจะทำได้ดีด้วย เพราะจริงๆ แล้ว สาขาเหล่านี้มักจะได้ฝึกฝนการคิดที่เป็นลำดับและจินตนาการอยู่เสมอ เพียงแค่หากอยากจะต่อยอดยกระดับไปในระดับที่สูงขึ้น ก็ต้องเรียนรู้คณิตศาตร์ วิทยาศาสตร์ และสถิติ ในขั้นสูงขึ้นไป
อนาคตจะเกิดการยอมรับคนมีฝีมือมากขึ้น มองข้ามวุฒิหรือสาขาที่เรียนมา คนที่ไม่ได้จบวิศวกรรมหรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ก็อาจเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งได้