โลกใบนี้ของเรามีเรื่องสั้นยาวมากมายยิ่งกว่าจำนวนประชากรที่มีหลายพันล้าน เช่นเดียวกับหนัง 5 แสนกว่าเรื่องและซีรีส์เกินกว่า 500 เรื่องทั่วโลกที่ทั้งสร้างมาจากเรื่องจริงและเป็นเรื่องแต่งที่ต่างก็ถูกผลิตขึ้น เพื่อถ่ายทอดความคิด สะท้อนอะไรบางอย่าง และสร้างความบันเทิงให้กับประชากรเหล่านั้น ซึ่งหากจะบอกว่า เรื่องราวที่ควรค่าแก่การถูกนำมาบอกเล่านั้นต้องมีความน่าสนใจและมีแนวทางของตัวเองที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร ซีรีส์ Love, Death + Robots ของ Netflix เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่มีมีองค์ประกอบเหล่านั้นอยู่ครบถ้วนทีเดียว
Love Death + Robots (เลิฟ เดธ แอนด์ โรบอท) มาจากแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากการปะทะชนกันของ เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) (ผู้กำกับ Fight Club,Gone Girl, Se7en) กับ Tim Miller (ผู้กำกับ Deadpool) สองผู้สร้างและผู้กำกับฝีมือฉกาจที่ทุกคนรู้จักกันดี
ผลลัพธ์ของแรงกระเพื่อมคืออนิเมชั่นซีรีส์ที่ขายดีที่สุดเรื่องหนึ่งของ Netflix บอกเล่าเรื่องราวไซไฟ/แฟนตาซีเกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ, เลือด, ความหวาดกลัว, สัญชาติญาณการเอาชีวิตรอด ,ความตาย หุ่นยนต์, เทคโนโลยีกับความน่ากลัวของมัน, วิวัฒนาการ, โลกอนาคต, ความเสื่อมถอย (ทั้งวัตถุและใจคน) และอีกมากมาย ผ่านลายเส้นที่แตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง อีกทั้งยังเล่ามันอย่างเปลือยชัด โจ่งแจ้งทั้งด้านภาพ ภาษา เนื้อหา ด้วยความเป็นเรต R โดยบางเรื่องของ Love Death + Robots เป็นเรื่องที่ดัดแปลงจากนิยายเรื่องสั้นมาสู่ภาพ ในขณะที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่
ซีซั่นแรกมี 18 ตอน ซีซั่น 2 มี 8 ตอน และซีซั่น 3 ที่ถูกอนุมัติล่วงหน้าไว้แล้ว และจะกลับมาอีกครั้งภายในปีหน้า
จะพูดถึงซีรีส์เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของมันก่อน เมื่อปี ค.ศ.2008 เดิมทีสองคนนี้มีความตั้งใจที่จะสร้างหนังไม่ก็ซีรีส์ภาคต่อภาพยนตร์อนิเมชั่นชื่อ Heavy Metal (ค.ศ.1981) หนังประเภท anthology ที่บอกเล่าเรื่องราวไซไฟแฟนตาซีหลากรส หลากอารมณ์ เป็นเรื่องสั้น เนื้อหาจบในตอน และประกอบไปด้วย 8 เรื่องราวกับ 1 ปัจฉิมบท และหลังจากที่ตามหาสตูดิโอที่สนใจให้ทุนสนับสนุนในการสร้างอยู่พักใหญ่ ในท้ายที่สุดก็มาลงเอยที่ Netflix
ทำให้หากจะบอกว่า Love Death + Robots เป็นภาคต่อทางจิตวิญญาณของ Heavy Metal ก็คงไม่ผิดนัก
“สาเหตุที่ผมชอบ Heavy Metal ก็เพราะว่าผมชอบเรื่องสั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และการที่มันเป็น anthology (เนื้อหาแตกต่างกันใน 1 เรื่อง) ทำให้มันเป็นอะไรที่น่าหยิบไปทำมาก ผมกับ David พยายามอยู่เป็นปีๆ ก่อนที่สุดท้าย Netflix จะพูดกับเราว่า ‘ฟังดูน่าสนใจดีนะ งั้นนี่คือเงินทุน พวกคุณรับไปและเอามันไปสร้างสิ่งที่ยอดเยี่ยมให้เราที’ ” Tim Miller บอกกับ IGN
อีกทั้งยังเล่าอีกด้วยว่า ที่ซีรีส์ออกมาได้แบบนี้ เพราะเป็นความใจป้ำ กล้าได้ กล้าเสีย กล้าเสี่ยงของ Netflix (อย่างที่เราเห็นๆ กัน) Netflix เป็นองค์กรที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ในขณะที่เจ้าอื่นอาจมองว่านี่เป็นความเสี่ยง Netflix มองว่ามันเป็นโอกาสที่จะได้ทำอะไรใหม่ๆ ทั้งที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าจะเวิร์กหรือไม่ และใช้ทุนเยอะซะด้วย แต่เพราะพวกเขาฟังแล้วชอบ พวกเขาจึงอนุมัติให้ลุยให้รู้แล้วรู้รอดกันไป
จึงกำเนิดเกิดมาเป็น Love Death + Robots ซีรีส์ตัวชูโรงเรื่องนึงของ Netflix ที่เปิดมุมมองและดึงชวนผู้ชมจากทุกมุมโลก หันมาสนใจงานอนิเมชั่นมากขึ้น
ตามหลักการของการเล่าเรื่องทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เรื่องเล่า นิยาย เรื่องสั้น เพลง ดนตรี ข่าว แม้กระทั่งภาพวาดหรือเซ็ตภาพถ่าย ต้องการสิ่งที่เรียกว่า ‘ธีม’ เพื่อกำหนดรูปแบบของงานสร้างสรรค์นั้นๆ แล้วสื่อสารมันออกมาให้ชัด ไม่หลุดประเด็น นั่นทำให้ Love, Death + Robots ที่แม้จะเป็นซีรีส์จบในตอน และแต่ละตอนนั้นมีความหลากหลายทั้งภาพและเนื้อหาราวลูกเด้งหรือลูกอมหลากสีในตู้กดตามห้างสรรพสินค้า เป็นซีรีส์ที่มีความชัดเจน จากการที่มีธีมใหญ่ครอบอยู่อีกที นั่นก็คือ ความรัก ความตาย และหุ่นยนต์
หลายคนคงรู้สึกหลงใหลสนใจในซีรีส์เรื่องนี้ตั้งแต่เห็นตัวอย่างและแม้จะยังไม่ได้ดู นั่นก็เพราะเพราะชื่อ ‘Love, Death + Robots’ ที่สรุปสิ่งที่จะนำเสนอต่อผู้ชมด้วยตัวมันเองอย่างสมบูรณ์แบบ
Love กับ Death ความรักกับความตาย เป็นสิ่งที่เป็นสัจธรรม และแสดงถึงความเป็น ‘สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ชีวะ (bio species)’ ที่มีเกิด มีเจริญเติบโต และมีดับ มีสูญสลาย ราวกับถูกกำหนดมาแล้วให้มีแค่นี้และสร้างวงจรใหม่ต่อได้ด้วยการสืบพันธุ์เท่านั้น ไม่สามารถยืดอายุจากตัวมันเองอย่างฝืนธรรมชาติได้ (อย่างน้อยๆ ก็ในปัจจุบัน อนาคตก็ไม่แน่)
ในขณะที่ Robots นั้น คือ ‘จักรกล’ แสดงถึงอีกขั้นของวิวัฒนาการและการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่วงจรยาวกว่าของเรา พวกมันสามารถซ่อม ปรับอะไหล่ เปลี่ยนแหล่งพลังงาน ตั้งโปรแกรม ใส่ข้อมูล กระทั่งถ่ายเทตัวตน และทำอย่างอื่นได้อีกมากมายที่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ธรรมชาติสร้างมาแบบเราทำไม่ได้
หรือก็คือ Robots แสดงถึงปลายสุดของสายพานวิวัฒนาการนั่นเอง ประวัติศาสตร์พวกเรามนุษย์ทำได้เพียงแค่เดินไปถึงจุดจุดหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นยุคนี้ที่นับเป็นปลายทางสุดท้ายของพวกเราแล้ว และยุคใหม่กำลังจะเริ่มต้นโดยหุ่นยนต์ แดนดรอยด์ กับปัญญาประดิษฐ์ และการตั้งคำถามว่าพวกมันจะพัฒนาไปได้ไกลขนาดไหน และโลกเราจะเป็นยังไงเมื่อหุ่นยนต์เดินทางไปไกลถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว แต่เราอยู่ที่เดิม แย่กว่านั้นคือกำลังถอยหลังซะด้วย
ฉะนั้นหากให้สรุปชัดเจนถึง Love, Death + Robots อยากให้จินตนาการตามว่า มีเส้นเชือกยาวๆ หนึ่งเส้น ด้านซ้ายสุดมีคำว่า ‘มนุษย์’ อยู่ (ความรักกับความตายเองก็อยู่ในคำคำนี้เช่นกัน) ส่วนในอีกด้านหรือขวาสุด มีคำว่า ‘หุ่นยนต์’
นั่นคือแนวทางของซีรีส์เรื่องนี้ และซีรีส์ก็เล่าเรื่องภายใต้กรอบที่ไม่มีกรอบของเส้นเชือกดังกล่าว ที่ไม่ได้จำกัดแค่ 3 คำ เพราะมันเป็นเพียงจักรวาลของสิ่งที่ย่อยกว่า เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นได้ว่าสามารถต่อยอด จินตนาการ และสร้างเรื่องราวได้อีกเป็นจำนวนมาก ที่แม้แต่ละตอนจะพูดถึงเรื่องที่ดูจะไปไกลแค่ไหน หรืออาจดูไม่เกี่ยวข้อง สุดท้ายถ้าพิจารณาดีๆ ก็จะพบว่า ยังวกกลับมาชื่อเรื่องอยู่ดี และคำว่ารัก คำว่าความตาย และคำว่าหุ่นยนต์เองก็ไม่จำเป็นจะต้องมีความหมายตรงตัว 1 คำ 1 ความหมายตามดิกชันนารีเสมอไป
Love = ความรักในคนอื่น, ความรักในตัวเอง, รักในเพื่อน,รักพี่น้อง, รักในคนที่เรารัก และรักข้ามสายพันธุ์
เช่น ‘Shape-Shifters’ ที่เกี่ยวกับมนุษย์หมาป่าที่ถูกใช้เป็นอาวุธของกองทัพทหาร แต่ถูกรังเกียจ ไม่เห็นคุณค่า และถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ (แม้จะมีคำว่าหมาป่าตามหลังก็ตาม), ‘Good Hunting’ ความรักของเด็กชายกับปีศาจจิ้งจอก, ‘Pop Squad’ ตำรวจในโลกอนาคตที่ทุกคนเป็นอมตะและการมีลูกเป็นสิ่งต้องห้าม ที่ได้เข้าใจความหมายของคำว่าการมีชีวิตที่แท้จริง หรือ ‘Ice’ ทริปดูปลาวาฬเรืองแสงของพี่ชายคนธรรมดากับน้องชายมนุษย์ดัดแปลงบนดาวน้ำแข็งที่มีสภาพอากาศโหดร้าย
Death = ชีวิต, ความตาย, ความเฉียดตาย, การดิ้นรนกับสัญชาติญาณการเอาชีวิตรอด, การหันไปมองชีวิตก่อนตาย, สัจธรรม และวงจรชีวิต
เช่น ‘The Drowned Giant’ การพรรณนาและเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อซากศพมนุษย์ยักษ์ที่ถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาด, ‘The Tall Grass’ ชายที่หลงในหญ้าสูงมิดที่หัวถูกสัตว์ประหลาดจ้องเอาชีวิต เป็นตอนที่ใช้รถไฟและหญ้าสะท้อนถึงการเดินทางและอุปสรรคกับปัญหาระหว่างการมีชีวิตและเติบโตเดินทางไปข้างหน้า, ‘Life Hutch’ ชายผู้ติดกับอยู่กับหุ่นยนต์ระบบการทำงานผิดพลาดที่ฆ่าเขาได้ทุกเมื่อ, ‘Snow in the Desert’ มนุษย์อมตะฆ่าไม่ตาย และ ‘The Witness’ การเป็นพยาน การฆ่า และการผลัดการฆ่าแบบวนลูป หรือ ‘Ice Age’ วัฏจักรชีวิตและอารยธรรมนุษย์โลกแบบมินิในตู้เย็นห้องเช่า
and Robots = หุ่นยนต์, เทคโนโลยี, วิวัฒนาการ, ความก้าวหน้าล้ำสมัย, การปฏิวัติ, จิตวิญญาณ และอนาคต
เช่น ‘Three Robots’ อีพีแรกที่เล่าเรื่องถึงหุ่นยนต์สามตัวที่มาท่องเที่ยวในเมืองมนุษย์หลังโลกและเผ่าพันธุ์มนุษย์ล่มสลายแล้ว กับ ‘Zima Blue’ ที่ถูกยกให้เป็นตอนที่ดีที่สุดของซีรีส์เรื่องนี้ เล่าถึงศิลปินเอก Zima Blue ที่โด่งดังทั่วโลกจากภาพวาดที่มีการใช้สีฟ้าเสมอและไม่มีใครเคยรู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน การเปิดเผยที่มาของเขาทำให้คนดูและตัวละครในเรื่องต้องอึ้ง และอินกับความดีพไปตามๆ กัน
จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียวที่จะแบ่งแยกประเภทของแต่ละตอนของ Love, Death + Robots ให้ชัดเจน เพราะเนื้อหาใน 1 เรื่องราวนอกจากจะโยงไปยังคำใดคำหนึ่งในสามคำของชื่อเรื่องแล้ว มีสิทธิ์ที่จะมากกว่าหนึ่ง หรือกินควบทั้งสามคำเช่นกัน และในส่วนของความยาวก็ไม่ได้คงที่ตายตัว บางตอนยาวแค่ 6 นาทีไม่ทันอะไรก็จบแล้ว บางตอนเกือบ 20 นาที แต่ส่วนมากจะเฉลี่ยอยู่ที่ 10 เป็นส่วนใหญ่
การเล่าเรื่องด้วยเรต R เองก็มีผลต่อการถ่ายทอดเนื้อหาเป็นอย่างมาก จะมีบางเรื่องที่ใช้ความจัดจ้านของเรตที่มักว่ากันว่าเป็น ‘เรตที่ไม่มีเรต’ อย่างไม่คุ้มค่า หรือใช้เพียงแค่ให้เลือดสาด เซ็กซ์ หรือคำหยาบ แต่นั่นไม่ใช่กับเรื่องนี้
อีกส่วนที่ควรพูดถึงคือเนื้อหาของแต่ละตอน ที่แบ่งเป็นเรื่องราวประเภทตั้งแต่ดูเอามันดูเอาสนุกอย่างเดียว สั้นๆ แต่ได้ใจความ ดูแล้วได้ข้อคิดทันที ไปจนถึงมีความเป็นปรัชญา (philosophical) ให้เก็บมานั่งทำท่าเท้าคางขบคิดแบบรูปปั้น The Thinker ให้ตกตะกอนอยู่พักใหญ่ ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาประเภทไหน หรือขณะดูและดูจบทันทีรู้สึกว่าได้อะไรจากมันหรือไม่ เมื่อกลับมามองอีกรอบ (ไม่ว่าจะเพื่อเขียนรีวิวหรือบอกต่อให้เพื่อนฟัง) ก็จะเห็นประเด็นอะไรบางอย่างจากตอนนั้นๆ เสมอ
อีกหนึ่งลูกเล่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ของ Love, Death + Robots คือการขึ้นไอคอน 3 ไอคอนหลังโชว์ชื่อเรื่อง เพื่อเป็นการบอกใบ้ว่า ในตอนนั้น เรากำลังดูอะไรประมาณไหน ทำให้เราเกิดกิจกรรมคาดเดาสนุกๆ ก่อนดู และรอดูว่าจะตรงกับที่เดาไว้หรือไม่ และเรื่องนั้นๆ จะเชื่อมโยงไปยังไอคอนพวกนั้นได้ยังไง
นอกจากนี้ยังมีการสลับลำดับตอน ทำให้พอดูจบแล้วอยากมาคุยกับเพื่อน จึงค่อนข้างงงเป็นไก่ตาแตกว่า ตกลงไอ่ตอน…ที่เรากำลังพูดถึงเนี่ย เป็นตอนเดียวกันเรื่องเดียวกันมั้ย ซึ่งถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือน่างงพอๆ กับผลสำรวจบางอย่างที่ผลออกมาราวกับอยู่คนละจักรวาลคู่ขนานกับเรานั่นเอง
ตรงนี้ไม่ว่าจุดประสงค์คืออะไร จะเป็นแค่การสลับเพื่อสร้างจุดเด่น หรือสลับเพราะความต้องการบางอย่างของโปรดิวเซอร์ ดูเหมือนว่ามันจะได้ผลในเวย์ที่คนดูเกิดการจำชื่อเรื่องและเนื้อหาได้ดี เนื่องจากไม่สามารถพูดเลขตอนกับเพื่อนๆ ของพวกเขาได้
ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปคืออัตลักษณ์และการสร้างภาพจำของ Love, Death + Robots ที่ทำได้แบบเดียวกับซีรีส์แนวเดียวกัน The Twilight Zone หรือ Black Mirror การดูเรื่องนี้เราไม่ได้มองว่าหรือดูเพราะตอนใดตอนหนึ่งเป็นพิเศษ (นั่นเป็นเรื่องหลังดูแล้ว) แต่เราดูเพราะเรามองตัวซีรีส์เป็นกลุ่มก้อนของชุดอาหารที่ประกอบไปด้วยเมนูหลากหลาย รสชาติไม่ซ้ำ กินแล้วไม่เบื่อ
ความน่าสนุกของหนังหรือซีรีส์ประเภทที่พาคนดูหลุดโลกไปกับการจินตนาการอย่าง ‘ไซไฟ’ หรือ ‘แฟนตาซี’ คือการไม่รู้เลยว่าเราจะถูกนำพาไปพบเจอกับอะไรบ้าง และไม่ว่าเนื้อหาจะมีการอ้างอิงโลกแห่งความเป็นจริงแค่ไหน นั่นคือโลกอีกใบที่ต้องมีการสร้างเงื่อนไขและได้รับการอธิบายโลกนั้นๆ ใหม่ไม่มากก็น้อย ส่วนความน่าสนใจของเรื่องสั้นคืออิสระเสรีในการสร้างสรรค์ ที่ไม่ต้องคำนึงหรือผูกโยงมันกับเรื่องราวที่อยู่ก่อนอยู่หลังอยู่ซ้ายอยู่ขวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตระกูลของไซไฟแล้ว เป็นอะไรที่ไร้กฎเกณฑ์อย่างยิ่ง