ถ้าให้พูดชื่อของ ‘ผี’ ที่รู้จัก (เอาชื่อของผี ในฐานะที่เป็นปัจเจกชนนะครับ ไม่ใช่ประเภทแบบ ซอมบี้, มัมมี่, แวมไพร์ ฯลฯ) ใครหลายคนก็คงนึกถึงชื่อของ แดร็กคูล่า, แฟรงเกนสไตน์, ตุ๊กตาแอนนา เบลล์ ไปจนกระทั่งถึงผีวีดีโอเทปอย่าง ซาดาโกะ
แต่ผมอยากให้ลองนึกกันเล่นๆ ดูว่า ผี ที่ในบัตรประชาชนระบุว่าถือ ‘สัญชาติไทย’ ตนไหนที่คุณนึกชื่อออกเป็นตนแรก เริ่ม 1, 2, 3 หมดเวลา!
และไม่ว่าใครจะนึกถึงชื่อ คุณยายวรนารถ ผีอีแพง หรือปอบหยิบ แต่เชื่อว่าทุกคนก็คงไม่ลืมที่จะนึกถึง ผีแม่นาก
ก็ขนาดบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังเคยตรัสเล่าไว้ในที่ใดที่หนึ่งเลยว่า เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงเคยลองสอบถามผู้คนที่เดินเข้าออกประตูวัดพระแก้วฯ ดูว่า รู้จักชื่อใครบ้าง ปรากฏว่าชื่อที่ผู้คนรู้จักกันมากที่สุดคือชื่อของ ‘นางนากพระโขนง’ เหมือนกันนี่แหละ
ที่จริงแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงเล่าไว้ด้วยว่า พระองค์ถึงกับทรงพระงง จนไก่ก็น่าจะตาไม่แตกเท่ากับพระองค์เลยเหอะ เพราะเมื่อแรกที่ทรงคิดจะทำ ‘โพล’ หรือ ‘การวิจัยเชิงสำรวจ’ ในครั้งนั้น ทรงประเมินเอาไว้ก่อนว่า ผู้คนน่าจะตอบว่า ‘พระเจ้าอยู่หัว’ มากที่สุด
ประมาณเวลาที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทำโพลอย่างไม่เป็นทางการครั้งนั้นไว้ก็คงอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4-ต้นรัชกาลที่ 5 ช่วงเวลาประมาณเดียวกันนั้นที่ครูแจ้ง แห่งวัดระฆัง (มีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3-ต้นรัชกาลที่ 5) ครูเสภาระดับเซเลบริตี้ร่วมสมัยกับสุนทรภู่ (แต่เด็กกว่าหน่อย) ก็ได้แต่งบทเสภาเรื่องหนึ่ง ที่มีการเอ่ยถึง ‘ผีนางนาก’ ชาวบางพระโขนง ตายทั้งกลม และมีลูกเป็นผู้ชาย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าก็คือ ผีนางนาก ของครูแจ้ง และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็คือผีนางนากตนเดียวที่กันกับที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันนั่นเอง
ใช่ครับใช่ ‘แม่นาก’ นับเป็นผีไทยตนแรกที่มีความเป็นปัจเจกชน คือมีตัวมีตนเป็นการเฉพาะเจาะจง เรียกได้ว่าเป็นผีเซเล็บฯ ที่มีออร่าของความเป็นซุป’ตาร์ เปล่งประกายออกมา ต่างจากผีไทยตนอื่นๆ ที่มีมาก่อน
และใช่ครับใช่ เพราะผีไทยแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็น กระสือ กระหัง สมิง ผีฉมบ ผีกะ ปอบ ผีพราย นางตะเคียน นางตานี ผีกองกอย ฯลฯ ไม่ได้มีความเป็นปัจเจกเฉพาะบุคคลเลยสักนิด คนไทยเราไม่เคยมีกระสือยายนู่น กระหังตานี่ เป็นการชี้เฉพาะมาก่อนที่คนในบางกอก ยุคต้นกรุงเทพฯ จะได้รู้จักกับผีแม่นากอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็น ปอบหยิบ, คุณยายวรนารถ หรือผีอีแพง นี่ถือเป็นผีซุป’ตาร์รุ่นเหลนของแม่นากเธอทั้งนั้น (แถมรัศมีความเป็นเซเล็บฯ ก็ยังไม่เปล่งประกายเท่าผีรุ่นยายทวดอย่างนางนาก แห่งบางพระโขนง เสียด้วยซ้ำ)
ว่าแต่ทำไมอยู่ๆ ผีไทยซึ่งไม่เคยมีตัวตนหรือความเป็นปัจเจก จึงกลายเป็นมีที่ มีทางสำหรับความเป็นผีอย่างมี ‘identity’ (คำนี้มีแปลเป็นไทย ด้วยศัพท์แขกอินเดียว่า ‘อัตลักษณ์’) มันเสียอย่างนั้น?
แน่นอนว่า ปัจจัยที่เอื้อเป็นอย่างมากก็คือสภาพสังคมในช่วงนั้น ที่เปิดทางให้กับอะไรที่เรียกว่าความเป็นปัจเจก ซึ่งก็หมายรวมถึงความเป็นปัจเจกของ ‘ไพร่’ ไว้ด้วย ลักษณะอย่างนี้เริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงตอนปลายของสมัยอยุธยา และเห็นได้ชัดยิ่งกว่ามากในช่วงรัชกาลที่ 3 แห่งยุคกรุงเทพฯ เป็นต้นมา
เรื่องหลอนๆ จากความเฮี้ยนของผีนางนาก ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็คือผีของไพร่ที่ตายไปนั้น จึงมีที่มีทางมากกว่าที่เคย และต้องอย่าลืมนะครับว่า เรื่องปัจเจกอย่างนี้มักจะเป็นเรื่องบอกเก้า แต่เล่าไปซะสิบ (ที่มาของคำว่า ‘บอกเก้าเล่าสิบ’ แต่ในปัจจุบันพูดเพี้ยนกันเป็น ‘บอกเล่าเก้าสิบ’ ไปแบบงงๆ ว่าทำไมต้อง 90 ด้วย?) โดยเฉพาะเรื่องผีๆ ถ้าจะให้หลอนนอกจากจะบอกเก้า เล่าไปสิบแล้ว จะโม้เพิ่มไปอีกสักเก้าสิบเก้าเลยก็ยิ่งดี 😛
และหลักฐานบางอย่างก็บอกกับเราว่า ผีนางนาก เองก็เป็นเรื่องบอกเก้าเล่าสิบ แล้วโม้เพิ่มไปอีกเฉียดร้อยนี่แหละ
หลักฐานที่ว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ในยุคก่อน พ.ศ. 2500 นักหนังสือพิมพ์ก็มักจะเป็นฝ่ายหัวก้าวหน้าอยู่แล้ว ใครที่ได้ชื่อเป็นนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าท่าน ‘ล้ำ’ ขนาดไหน!) เป็นผู้ไปสืบหาข้อมูลมาให้
เรื่องของเรื่องก็คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้ตอบจดหมายของแฟนหนังสือสยามประเภท (ซึ่งก็คือหนังสือพิมพ์ของท่านเอง) ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2442 ที่เขียนมาถามเกี่ยวกับเรื่อง ผีนางนาก เอาไว้ว่า เมื่อครั้งยังมีชีวิตแม่นาก หรืออำแดงนาก เป็นลูกของขุนศรีนายอำเภอ (ขั้นกว่าของลูกสาวกำนัน) บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง และเป็นเมียนายชุ่ม (อ้าว! แล้วพ่อมากล่ะ?)
ต่อมาอำแดงนากคลอดลูกตาย นายชุ่มจึงเอาศพไปฝังไว้ที่วัดมหาบุศย์ จากนั้นก็มีผีนางนากออกอาละวาด แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผีนางนากที่เที่ยวหลอกหลอนผู้คนกลับเป็นลูกนายชุ่มนี่เองที่แกล้งปลอมเป็นผีแม่นาก คอยปาก้อนหินใส่เรือของผู้คนที่สัญจรไปมาในยามค่ำคืน เพราะไม่อยากให้พ่อของตนมีเมียใหม่มันซะอย่างนั้น!
ที่ลูกนายชุ่มไม่อยากให้พ่อของตนเองไปมีเมียใหม่ ไม่ใช่เพราะความรักแม่อะไรหรอกนะครับ แต่เป็นเพราะการที่นางนากเป็นลูกสาวนายอำเภอนี่แหละ พูดง่ายๆ ว่ามีสมบัติมาก แต่นายชุ่มเองก็ไม่ใช่คนตัวเปล่าเล่าเปลือย แต่เป็นถึงนักแสดงโขน ตัวทศกัณฐ์ ในพระเจ้าบรมเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ซึ่งว่ากันว่าเป็นคาสโนว่าหนุ่มคนหนึ่ง ลูกชายจึงกลัวว่า พ่อจะไปมีเมียใหม่แล้วเอาสมบัติของแม่ไปให้ลูกเมียใหม่มันเสียหมด (ถ้ายังนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึง ดาราหนุ่มช่องเจ็ดสี ไปแต่งงานกับไฮโซสาว อยู่กินจนมีลูกกัน ต่อมาน้องไฮโซคนนั้นท้องอีกทีแล้วเกิดตายท้องกลมขึ้นมา ดาราที่ยังหนุ่มอยู่ หล่ออยู่ แถมรวยด้วย จะไปมีสาวใหม่ก็ไม่เห็นจะแปลก)
ถ้า ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่ ‘กุ’ เรื่องขึ้นมาเอง (ก็คำว่า ‘กุ’ ที่มีความหมายคล้ายๆ การมโนอะไรขึ้นมาลอยๆ เป็นคำที่รัชกาลที่ 5 ทรงประดิษฐ์ขึ้นโดยหมายจะเสียดสี ก.ศ.ร. กุหลาบว่าชอบมโนเรื่องโน่นนี่ขึ้นมานั่นแหละ) ข้อมูลนี้ก็น่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก เพราะความตอนนี้ได้มาจากปากคำที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สอบปากคำลูกชายของนายชุ่ม ที่ชื่อ ‘นายแบน’ ซึ่งก็คือเด็กคนที่ปลอมเป็นผีนางนาก แล้วมาบวชเป็นพระอยู่ที่วัดโพธิ์เองเลยทีเดียว
ดังนั้นจึงไม่มีหรอกนะครับทั้งผัวที่ชื่อ ‘พ่อมาก’ เพราะเป็นชื่อที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตั้งขึ้นเอาตามพระทัยชอบเพื่อใช้ใน บทละครร้องเรื่องอีนากพระโขนง เมื่อปี พ.ศ. 2454 (ใช่ครับใช่ นี่คือ แม่นาก the musical เวอร์ชั่นแรกสุด!), ลูกที่ชื่อไอ้แดง, การยืดมือไปเก็บมะนาวที่ใต้ถุนนี่ก็มาจากละครเวที และอีกสารพัด
สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ คลองพระโขนง ที่นางนากอาศัยอยู่ เพราะคำว่า ‘โขนง’ หรือคำว่า ‘ขนง’ เป็นคำเขมร แปลว่า ‘คิ้ว’ อย่างที่ไทยเราเอามาใช้เป็นคำราชาศัพท์ว่า ‘พระขนง’ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนักเพราะคลองเส้นที่ว่านี่โค้งอย่างกับคิ้วจริงๆ นั่นแหละ
เพราะฉะนั้นชื่อของคลองก็บอกอยู่แล้วนะครับว่าแถวนั้นใครคุม? ซ้ำชาว ‘เขมร’ เองก็มีตำนานเรื่องผีบรรพบุรุษ หรือผีผู้หญิง ทำนองผีเจ้าที่ ที่เรียกว่า ‘นางนาก’ กันออกจะให้เพียบในแต่ละถิ่นที่อยู่ของพวกเขา ถ้าอำแดงนากเคยมีชีวิตอยู่จริงเผลอๆ จะมีเชื้อเขมร หนักเข้าหน่อยถ้าเรื่องนี้มโนกันมาตั้งแต่ สามเณรแบน (ลูกอำแดงนากที่ไปบวชอยู่วัดโพธิ์) หรือ กุขึ้นโดย ก.ศ.ร. กุหลาบ ผีนางนากก็อาจจะเป็นนิทานดั้งเดิมของชาวเขมร ที่แพร่หลายมาถึงแถวบางพระโขนง แล้ว hot! ขึ้นมาได้ด้วยสภาพสังคมที่เปิดพื้นที่ให้ความเป็นปัจเจกมากขึ้นกว่าที่เคยมีมา ในยุครัชกาลที่ 3