ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ
เชื่อว่าใครหลายคนอาจจะคุ้นหูกับบทกลอนข้างต้นกันพอสมควร บทกลอนนี้มีจุดมุ่งหมายให้ชายและหญิงรู้จักพึ่งพาอาศัยกันและสามัคคีกันไว้ โดยใช้สุภาษิตอย่าง ‘ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสาร มาใช้เปรียบเปรยให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชายหญิงในสังคมไทย ว่าชายนั้นเปรียบเสมือนข้าวเปลือก ตกไปที่ไหนก็สามารถเจริญงอกงามได้ แต่หญิงกลับเป็นเพียงข้าวสาร ที่ไม่อาจงอกงามบนพื้นดินได้อีก และมักถูกใช้เพื่อสอนให้หญิงไทยทั้งหลายรู้จักรักนวลสงวนตัวอยู่ร่ำไป
เสียงพร่ำร้องของหญิงไทยจำนวนหนึ่ง ‘ท่านแม่ ข้าอยากออกเรือนยิ่งนัก’ ได้แต่ดังกึกก้องอยู่ในใจ เหตุไฉนหญิงอย่างเราจะต้องถูกสอนให้รักนวลสงวนตัวแต่เพียงฝ่ายเดียว ในเมื่อชายทั้งหลายกลับสามารถกระทำได้ตามอำเภอใจ แต่ก่อนที่เราจะถกเถียงถึงความแตกต่างระหว่างชายหญิงในสังคมไทยไปมากกว่านี้ เราเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าทำไมเวลานึกถึงความเป็นหญิงหรือความเป็นชายทีไร มักจะมีคำบางคำติดมาเหมือนเงาตามตัว อย่างผู้หญิงจะต้องคู่กับเรียบร้อยอ่อนหวาน หรือผู้ชายจะต้องคู่กับความเป็นผู้นำเสมอ ทำไมเราถึงคิดแบบนี้? ทุกคนคิดแบบเดียวกับเราหรือเปล่า? และอะไรคือที่มาของความคิดแบบนี้กันแน่?
บทกลอนข้างต้นที่เรากล่าวถึงไปนั้น นำมาจาก “อิศรญาณภาษิต” ในหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน วิชาภาษาไทย “วรรณคดีวิจักษ์” ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลักสูตรปีการศึกษา 2544 อาจช่วยให้เราเดาคำตอบของเรื่องนี้กันได้ บทกลอนบทนี้เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างรูปธรรมอีกมากมายของ การครอบงำทางความคิดของแนวคิดปิตาธิปไตย (Patriarchy) ผ่านแบบเรียนภาคการศึกษาบังคับของไทย อาจกล่าวได้ว่าพวกเราล้วนเติบโตและซึมซับแนวคิดชายเป็นใหญ่มาตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือออกกันเลยทีเดียว
นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเป็นครั้งแรกในปี 2503 เรื่อยมาจนปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการได้ผูกขาดการจัดทำแบบเรียน และบังคับให้สถานศึกษาทั่วประเทศนำแบบเรียนที่ได้รับอนุญาตจากทางกระทรวงไปใช้ทำการเรียนการสอนในสถานศึกษาเท่านั้น เนื้อหาที่ถูกเลือกสรรมาให้เราได้นั่งเรียนกันหลังคดหลังแข็ง ล้วนเป็นการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรูปแบบการผูกขาดทางความคิดนี้สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีวิพากษ์สังคมทุนนิยมอย่าง ‘การครอบงำเชิงวัฒนธรรม’ (Cultural Hegemony) ของ Antonio Gramsci นักคิดสายมาร์กซ์ชาวอิตาเลียนผู้โด่งดัง
‘การครอบงำเชิงวัฒนธรรม’ ทฤษฎีว่าด้วยความพยายามคงสถานะอำนาจนำของชนชั้นปกครองผ่านการผลิตซ้ำทางอุดมการณ์ ความเชื่อ และค่านิยมบางอย่าง จนก่อให้เกิดความยินยอมพร้อมใจในชนชั้นถูกปกครอง (consent) นำไปสู่ความชอบธรรมทางความคิดที่เอื้อต่อสถานะทางอำนาจนำของชนชั้นปกครองอย่างไร้ข้อกังขา ซึ่งอาจมาในรูปแบบของประเพณี กฎหมาย หรือวรรณกรรม อย่างไรก็ดี หนังสือแบบเรียนภาคการศึกษาบังคับของไทยจึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดของความพยายามของชนชั้นปกครองไทย โดยสะท้อนออกมาจากบทเรียนต่างๆ การยกย่องเชิดชูความเป็นชายมากกว่าความเป็นหญิง การกดขี่ความเป็นหญิงให้อยู่ภายใต้อำนาจของชาย หรือการผลิตความสวยงามในอุดมคติของหญิงไทย
แน่นอนว่าชนชั้นปกครองตระหนักถึงประสิทธิภาพของการกล่อมเกลาทางความคิดนี้ เพราะผลลัพธ์ของมันนำมาสู่การยอมรับสถานะตนเองของฝ่ายหญิงอย่างไร้ข้อถกเถียง ทั้งในบริบทความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างสามี-ภรรยา หรือพ่อ-แม่-ลูก และบริบทความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การงานอาชีพ และการแสดงออกในที่สาธารณะ
เพื่อไม่เป็นการเสียเวลานั่งย้อนรำลึกถึงบทเรียนสมัยวัยกระเตาะ เราได้นำตัวอย่างจากแบบเรียนเขรอะฝุ่นที่คุณแม่อุตส่าห์เก็บไว้อย่างดีมาแบ่งปันให้ดูกัน (ผู้เขียนเติบโตมาในช่วงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 อาจทำให้คลาดเคลื่อนกับผู้อ่านบางท่าน) เริ่มที่หนังสือเรียน แม่บทมาตรฐาน สุขศึกษาและพลศึกษา ป.6 บทที่ 2 เพศศึกษา ได้มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
เป็นที่น่าสังเกตว่าคำจำพวก ‘อ่อนโยน’ ‘เรียบร้อย’ ‘เข้มแข็ง’ ‘เป็นผู้นำ’ ล้วนถูกทำให้ผูกติดกับความเป็นหญิงและชายอย่างแตกต่างชัดเจน และส่งผลต่อความเข้าใจ (perception) ของเราในเวลาต่อมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ คำเหล่านี้ได้ฉายภาพความอ่อนแอของฝ่ายหญิงทั้งเชิงกายภาพและอารมณ์จิตใจ ซึ่งกลายเป็นข้อด้อยที่ฝ่ายชายมองว่าต้องเข้าไปจัดการและควบคุม จนนำไปสู่สภาวะหญิงด้อยกว่าชาย (male-dominated culture) ยิ่งไปกว่านั้นความเข้าใจที่มีต่อสถานะชายและหญิงของเราที่ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่ยังเล็กนี้ ได้ช่วยเกื้อหนุนระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทยให้สมบูรณ์แบบตามที่ชนชั้นปกครองต้องการ
โดยเฉพาะบริบทความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งถือเป็นหน่วยทางสังคมที่เล็กและสำคัญที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา ถูกวางไว้ภายใต้กรอบสภาวะหญิงด้อยกว่าชายอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังให้ฝ่ายชายเป็นผู้นำของครอบครัว เป็นผู้กุมอำนาจการตัดสินใจ และได้รับการยกย่องทางอาชีพการงานมากกว่าฝ่ายหญิง จึงทำให้ฝ่ายชายทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้อง และดูแลเลี้ยงดูทุกคนภายในครอบครัว แต่กลับกันกับฝ่ายหญิงถูกคาดหวังให้เพียงแค่เชื่อฟังสามี เลี้ยงดูบุตร ดูแลงานบ้าน และตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยของฝ่ายชายด้วยการปรนนิบัติรับใช้สามีอย่างเต็มที่ แม้แต่ในหนังสือเรียนคณิตศาสตร์พื้นฐานจากชั้นใดก็ตามมักจะปรากฎโจทย์ปัญหาที่สวมบทบาทให้ฝ่ายหญิงเป็นแม่บ้านคอยจับจ่ายซื้อของในตลาดอยู่เป็นประจำ ซึ่งความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ ได้ปิดโอกาสให้ฝ่ายหญิงไม่สามารถโต้เถียงหรือปฏิเสธฝ่ายชายได้ เมื่อใดที่ฝ่ายหญิงบกพร่องหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง พวกเธอจะถูกกล่าวหาได้ว่าพวกเธอขาดคุณสมบัติของการเป็นภรรยาที่ดี และกลายเป็นหนึ่งในข้ออ้างของฝ่ายชายในการมีภรรยาน้อย
แม้แต่ความงามของฝ่ายหญิงก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดระบบความสัมพันธ์นี้ด้วยเช่นกัน ดั่งตัวอย่างของนางผีเสื้อสมุทรจากเรื่องพระอภัยมณี ผู้มีกายาใหญ่โต หน้าตาน่าเกลียด แถมพูดจาไม่มีสัมมาคารวะ ซึ่งลักษณะของนางนั้นขัดกับความงามของหญิงไทยในอุดมคติอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นเหตุให้พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทรไปหานางเงือกได้โดยที่ผู้อ่านไม่ได้รู้สึกถึงการกดขี่ทางเพศเลย แต่กลับกลายเป็นว่าเรามองเห็นแต่ความผิดของนางผีเสื้อสมุทรที่ไม่สามารถปรนนิบัติสามีในฐานะภรรยาในอุดมคติได้นั้นเอง
นอกจากนี้ความเข้าใจต่อสถานะความเป็นหญิงและชาย ยังส่งผลให้เราต่อมุมมองหน้าที่การงานเช่นกัน ด้วยความเข้มแข็งและสภาวะความเป็นผู้นำของฝ่ายชาย จึงทำให้ฝ่ายชายได้รับความไว้วางใจมากกว่าฝ่ายหญิงในหน้าที่การงานที่ต้องใช้เหตุผลและการตัดสินใจที่เด็ดขาด ตรงกับข้ามกับฝ่ายหญิงที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่มักใช้อารมณ์และชอบดูแลเอาใจใส่ อาชีพต่างๆ ในปัจจุบันจึงมีการเหมารวม (stereotype) ทางภาพลักษณ์อย่างชัดเจน เช่น วิศวะ แพทย์ นักบิน ทนายความ เป็นอาชีพของผู้ชาย หรือ ครู พยาบาล พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็นอาชีพของผู้หญิง เป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบันนี้เราสามารถพบเห็นทั้งสองฝ่ายประกอบอาชีพเหล่านี้มากขึ้น แต่ก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องความเท่าเทียมทางรายได้ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงให้เห็นอยู่ดี
อย่างไรก็ดี ปัญหาจากการหล่อหลอมแนวคิดปิตาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด คือ ปัญหาภัยคุกคามทางเพศหรือความรุนแรงทางเพศ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นภัยที่เกิดจากคนใกล้ตัวหรือบุคคลแปลกหน้าก็ตาม เนื่องจากการเรียนรู้และซึมซับการมีอำนาจนำของฝ่ายชาย รวมทั้งการยินยอมต่อสภาวะที่อ่อนด้อยกว่าของฝ่ายหญิง ทำให้การล่วงละเมิดทางเพศฝ่ายหญิงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย บทเรียนว่าด้วยการสั่งสอนให้ผู้หญิงรู้จักรักนวลสงวนตัวและแต่งตัวให้เรียบร้อยจึงถูกพบได้ทั่วไปในแบบเรียนไทย เช่นบทบรรยายในหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน วิชาภาษาไทย ‘วิวิธภาษา’ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หน้าที่ 16 ดังต่อไปนี้
หรือในหนังสือเรียนชุดภาษาเพื่อชีวิต ‘วรรณคดีลำนำ’ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บทที่ 4 อย่าชิงสุกก่อนห่ามไม่งามดี ปรากฎบทสนทนาที่น่าสนใจว่า
การสั่งสอนให้ผู้หญิงปฏิบัติตนให้เหมาะสม ไม่ปล่อยเนื้อปล่อยตัว รักษาความบริสุทธิ์จนกระทั่งแต่งงาน เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นสตรีที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เปี่ยมไปด้วยคุณค่าน่าถะนุถนอม สะท้อนการกดขี่และทำให้ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ (Sexual objectification) ของผู้ชายได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมามากที่สุด และที่น่าสนใจคือบทเรียนเหล่านี้ถูกยกออกมาสั่งสอนภายนอกสถานศึกษาด้วยเช่นกัน เรามักจะได้ยินคำตักเตือนเรื่องการแต่งตัวจากสังคมรอบข้าง โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์คุกคามทางเพศเมื่อใด สื่อมักจะนำเสนอในมุมที่ว่าฝ่ายหญิงแต่งตัวไม่เหมาะสมเกือบทุกครั้งไป ตอกย้ำการเป็นวัตถุทางเพศของฝ่ายหญิง และทำให้สังคมเคยชินกับการความไม่เท่าเทียมกันในประเด็นการแสดงออกในที่สาธารณะระหว่างชายและหญิงนี้
นอกจากนี้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) ก็ถือเป็นผลผลิตจากแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน จากสถิติพบว่า ส่วนใหญ่สามีเป็นคนลงมือทำร้ายภรรยาเพราะความหึงหวง และภรรยาเองก็ยอมรับการกระทำที่รุนแรงได้ เนื่องจากมองว่าฝ่ายชายมีสิทธิในร่างกายของตนเองและรู้สึกอับอายเมื่อต้องแจ้งความ มากไปกว่านั้นความรุนแรงในรูปแบบของสามีและภรรยานั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว จึงมีแนวโน้มที่ฝ่ายหญิงจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันท่วงที นั่นทำให้ฝ่ายชายรู้สึกมีอำนาจเหนือฝ่ายหญิงมากยิ่งขึ้น และกระทำความรุนแรงซ้ำอีก
แม้ว่าในอนาคตอาจจะมีการแก้ไขเนื้อหาในบทเรียนให้มีความเป็นกลางทางเพศมากขึ้น ทั้งในเรื่องคุณค่าและสิทธิในตนเอง เพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แนวคิดปิตาธิปไตยนั้นได้แทรกซึมตัวเองอยู่ในทุกบริบทความสัมพันธ์เชิงอำนาจของไทยอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะในบริบทความสัมพันธ์ของครอบครัว อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนแนวคิดและกระบวนการขัดเกลาทางสังคมตั้งแต่ในสถานศึกษา จะช่วยตัดตอนการผลิตซ้ำแนวคิดปิตาธิปไตยและลดปัญหาจากแนวคิดนี้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
อ้างอิงข้อมูลจาก
ณรงค์กรรณ รอดทรัพย์. (2555). ปิตาธิปไตย : ภาพสะท้อนแห่งความไม่เสมอภาพระหว่างชายหญิงในสังคมเอเชีย. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, 4(2), 30-46.
ปารณีย์ ชะหงส์รัมย์, ธวัช ทันโตภาส, กนกวรรณ มโนรมย์, และ ศรันย์ สุดใจ. (2556). การผลิตซ้ำทางอุดมการณ์ “ปิตาธิปไตย” ในหนังสือเรียนภาคการศึกษภาคบังคับของกระทรวงศึกษาธิการ. วารสารศรีวนาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, 3(5), 11-27.
มติชนออนไลน์. (3 ตุลาคม 2560). เปิดสถิติความรุนแรง ภัยร้าย ฆ่า ครอบครัว. https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_683535
Antonio Gramsci. (1999). Selections from the Prison Notebooks, trans. Quentin Hoare and Geoffrey. London : ElecBook.
Content by Ploykamol Suwantawit
Illustration by Sainamthip Janyachotiwong