จะมีอะไรดีไปกว่า การทำให้ ‘ความหลากหลาย’ เป็นเรื่องธรรมดา
ทำให้เห็นว่าก็ไม่เห็นแปลกอะไรที่เด็กผู้ชายจะแต่งเป็นผู้หญิง ไม่เห็นแปลกอะไรที่ครอบครัวจะมีพ่อสองคน ไม่เห็นแปลกอะไรที่บางคนอาจจะแปลกประหลาดกว่าคนอื่น
การที่เราได้เห็น ‘ภาพ’ ของความหลากหลายบ่อยๆ ทำให้สังคมคุ้นเคยและมองสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดา นึกภาพเวลาที่เราดูหนังหรือละคร เราได้รับรู้ภาพของคนที่มีรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย เห็นครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องมีพ่อแม่ลูก เห็นคนจากหลายชาติพันธุ์ที่ในที่สุดแล้วต่างก็มีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างอะไรกัน
ดังนั้น หนังสือสำหรับเด็กจึงเป็นจุดเริ่มที่ดีที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายตั้งแต่แรกเริ่ม ในปี 1970 นักเขียนและนักวาด Arnold Lobel เขียนหนังสือเด็กเรื่อง Frog and Toad หนึ่งในหนังสือสำหรับเด็กระดับคลาสสิก ตัวเรื่องดูเผินๆ พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างกบและคางคกหนุ่ม สอนเรื่องการทำดีและการมองหาความหมายของชีวิตร่วมกัน ความสัมพันธ์ในเรื่องถูกนิยามว่าทั้งสองเป็นเพื่อนกัน แต่ก็มีหลายจุดที่ทั้งเจ้ากบและคางคกมีความชิดใกล้กัน สี่ปีหลังจากหนังสือวางจำหน่าย ผู้เขียนคัมเอาท์กับครอบครัวว่าเป็นเกย์ ดังนั้น เรื่องราวความสัมพันธ์ของเจ้ากบและคางคกจึงดูจะสามารถตีความถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน
ถ้าเราดูเส้นทางจาก Frog and Toad หลังจากนั้นนักเขียนเองก็พยายามเล่าเรื่องราวของความแตกต่างหลากหลาย เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดที่สอดคล้องกับทิศทางของสังคม จากความเปิดกว้างทางเพศ การสร้างความครอบครัวที่หลากหลาย การไม่ยึดติดกับกรอบทางเพศ ไปจนถึงการสร้างความเข้าใจเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ
Frog and Toad (1970), Arnold Lobel
Frog and Toad เป็นหนังสือเด็กที่ออกมาหลายภาคและเป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบัน ด้วยความที่ปี 1970 ความเข้าใจเรื่องเพศอาจจะยังไม่เปิดกว้างเท่าไหร่ ในตัวเรื่องจึงเล่าในเชิงมิตรภาพเป็นหลัก แต่ในเชิงความสัมพันธ์ เราก็จะเห็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างลึกซึ้งของเจ้ากบและคางคก บางฉากมีการใช้เวลาช่วงคริสต์มาสร่วมกันและพูดถึงความรู้สึกดีๆ ในชีวิตจริง หลังจากออกหนังสือเรื่องนี้ ผู้เขียนก็ได้คัมเอาท์กับครอบครัวว่าตัวเองเป็นเกย์ หนังสือเรื่องนี้จึงมีนัยที่พูดถึงความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันที่มีความพิเศษขึ้นกว่าปกติ
Heather Has Two Mommies (1989) – Leslea Newman (Author), Laura Cornell (Illustrator)
Heather Has Two Mommies ถือเป็นอีกหนึ่งงานเขียนก้าวหน้า คือเป็นหนังสือภาพพูดถึงเลสเบี้ยนที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเล่มแรก ตัวเรื่องพูดถึงเด็กหญิงที่ได้รับการเลี้ยงดูขึ้นโดยคู่รักเลสเบี้ยน (จริงๆ เล่มนี้เป็นเล่มที่สองที่หนังสือภาพมีตัวละครเลสเบี้ยน เล่มแรกคือ When Megan Went Away ตีพิมพ์สิบปีก่อนหน้า) คือปี 1989 มีหนังสือภาพว่าด้วยครอบครัวเลสเบี้ยนที่เลี้ยงดูเด็กเป็นครอบครัวแล้ว ภาพแบบนี้บ้านเราในปี 2018 ยังแอบรู้สึกว่าเป็นเรื่องประหลาดอยู่เลย หลังจากนั้น Leslea Newman ก็เขียนหนังสือเด็กว่าด้วยครอบครัวเกย์ทั้งแบบคู่รักชายและคู่รักหญิงออกมาอีกคือ Daddy, Papa, and Me และ Mommy, Mama, and Me
Everybody Cooks Rice (1992) – Norah Dooley (Author), Peter J. Thornton (Illustrator)
Everybody Cooks Rice ใครๆ ก็หุงข้าว ว่าด้วยประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลาย ในเรื่องพูดถึงเด็กหญิงที่ออกไปตามหาน้องชายมากินข้าวเย็น ในขณะที่เธอเดินเตร่ไปย่านเพื่อนบ้าน เธอก็พบว่าแต่ละบ้านต่างมาจากหลายชาติพันธุ์ และแต่ละครอบครัวนั้นก็มีวิธีหุงข้าวและมีประวัติศาสตร์แตกต่างกันออกไป เธอได้พบคุณยายชาวเปอร์โตรีโก ครอบครัวชาวจีน ไปจนถึงชาวเฮติ ที่ทั้งหมดต่างหุงข้าวเหมือนกัน แต่กลับมีลักษณะรายละเอียดที่ต่างกันออกไป เรื่องนี้ดูจะเข้ากับพวกมุกล้อเรื่องการกินข้าวของคนชาติตะวันออก ที่กลับไปทำให้เห็นรายละเอียดและรากเหง้าที่เฉพาะตัว
We’ll Paint the Octopus Red (1998), Stephanie Stuve-Bodeen (Author), Pam Devito (Illustrator)
We’ll Paint the Octopus Red เป็นอีกหนึ่งหนังสือภาพก้าวหน้าว่าด้วยการใช้ชีวิตกับเด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม ในเรื่องพูดถึงพี่สาววัย 6 ขวบที่กำลังจะมีน้องชาย แต่น้องของเธอมีภาวะดาวน์ซินโดรม พ่อของเธอบอกว่าครอบครัวต้องใจเย็นๆ และคอยช่วยเหลือสมาชิกคนใหม่ตามที่เด็กน้อยต้องการ ตัวเรื่องแสดงให้เห็นถึงการดูแล และผลกระทบของการมีสมาชิกในครอบครัวที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม
Families, Families, Families! (2015) – Suzanne Lang (Author), Max Lang (Illustrator)
ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็เป็นครอบครัว Families, Families, Families! เป็นอีกหนึ่งหนังสือสำหรับเด็กวัยก่อนเข้าเรียนที่พูดถึงความหลากหลายของครอบครัว ในเรื่องใช้สัตว์ต่างๆ เพื่อสื่อถึงครอบครัวในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวอุปการะ ครอบครัวที่ปู่ย่าเป็นคนเลี้ยง ไปจนถึงความสัมพันธ์ของพี่น้องต่างสายเลือด สุดท้ายเรื่องราวก็สรุปว่า ไม่ว่าอย่างไรถ้าเรามีความรักความผูกพันให้แก่กัน เราก็เป็นครอบครัวได้ ไม่จำเป็นต้องมีแค่พ่อแม่ลูก ในทางกลับกัน เด็กๆ จากภูมิหลังครอบครัวที่หลากหลายก็จะได้เข้าใจและไม่รู้สึกแปลกแยกด้วย
Julián Is a Mermaid (2018), Jessica Love
เด็กผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ถ้าไม่แล้วจะถูกล้อเลียนและกล่าวหา Julián Is a Mermaid ว่าด้วยการยอมรับ ความมั่นใจ และการเลือกแสดงออกในสิ่งตัวเองต้องการ ตัวเรื่องพูดถึง Julián หนุ่มน้อยที่ไปเห็นผู้หญิงแต่งตัวเป็นนางเงือก เด็กหนุ่มตัดสินใจกลับไปบ้านและทำชุดของตัวเอง ตัวเรื่องพูดถึงความกังวลที่เด็กหนุ่มจะไปเป็นเงือก จนในที่สุดนำไปสู่ความเข้าใจ และการยอมรับตัวตนมากกว่าการให้ค่าตามบรรทัดฐานที่สังคมวางไว้
On Our Street: Our First Talk About Poverty (2018) – Dr. Jillian Roberts (Author), Jaime Casap (Author), Jane Heinrichs (Illustrator)
ประเด็นเรื่องความยากจนเป็นประเด็นซับซ้อน ความยากจนสัมพันธ์กับการเข้าถึงโอกาส ความเสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากร ในแง่หนึ่ง On Our Street: Our First Talk About Poverty อาจจะไม่ใช่งานเขียนที่พาไปเข้าใจอคติและความซับซ้อนของความยากจนได้ขนาดนั้น แต่ก็ถือว่าเป็นงานหนังสือภาพที่จะเริ่มแนะนำให้เด็กมองเห็นความแตกต่างที่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ
อ้างอิงข้อมูลจาก