“เวลา พื้นที่ และความเป็นจริง ไม่ใช่แค่สิ่งที่เป็นเส้นตรง แต่มันคือปริซึมของความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด ที่ที่การเลือกการตัดสินใจหนึ่งๆทำให้เกิดการแตกกิ่งก้านสาขามากมาย นำไปสู่การเกิดขึ้นของโลกคู่ขนานที่ต่างจากที่คุณรู้จักโดยสิ้นเชิง ข้าคือ The Watcher ตามข้ามา และคิดตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า..?”
‘What If..?’ อนิเมชั่นความยาว 9 ตอนจบของ Disney + ที่เพิ่งจะจบไปสดๆ ร้อนๆ เป็นอีกเรื่องที่ทำหน้าที่ต่อขยายจักรวาล Marvel ได้เป็นอย่างดี แต่แทนที่จะมุ่งเนื้อเรื่องไปยังด้านหน้าหรือย้อนอดีตไปค้นหาที่ด้านหลัง เพื่อสำรวจสิ่งใหม่ในพื้นที่และเรื่องราวที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยเหมือนที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นการพาคนดูเดินทาง ‘ออกข้าง’ แทน ด้วยคอนเซ็ปต์จักรวาลคู่ขนาน (parallel universe) หรือพหุภพ (multiverse)
สองคอนเซ็ปต์นี้มาจากสมมติฐานที่ว่า ความเป็นจริงที่เราอาศัยอยู่ไม่ได้มีเพียงหนึ่ง เช่นเดียวกันกับจักรวาลของเราที่ไม่ได้เป็นเพียงจักรวาลเดียว แต่ทุกๆ การกระทำ การตัดสินใจ และทางเลือกตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่หลวง นำไปสู่ผลลัพธ์และเส้นทางที่แตกต่าง ซึ่งสามารถแตกต่างได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงเกิดปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก (butterfly effect) ที่พัดพาให้วิถีความเป็นจริง ชีวิตคน และการอยู่ในที่ทางหรือเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ไม่ใช่แค่ของคนคนเดียว แต่คนจำนวนมากเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจนมันไม่ใช่โลกที่เรารู้จักอีกต่อไป
และนั่นคือซีรีส์ What If? หนึ่งในการหยิบยกพหุจักรวาลมาใช้แล้วถ่ายทอดมันผ่านอนิเมชั่น 3D ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้
(เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยข้อมูลสำคัญของอนิเมชั่นซีรีส์ What If?)

(ภาพวาดประกอบโดยศิลปิน Alex Ross ประกอบอีเวนต์ Secret War ของ Marvel ที่ทำตัวละครจากพหุภพมาทำสงครามกันจนเหลือ 1 เดียว)
ค่ายคอมมิคอย่าง Marvel หรือ DC ได้นำไอเดียของพหุจักรวาลมาใช้ด้วยการแบ่งเป็น ‘earth’ แล้วตามด้วยตัวเลข เพื่อต่อขยายโลกในแง่มุมที่น่าสนใจยิ่งขึ้น ด้วยการสมมติเส้นทางที่แตกต่างเพื่อให้คนอ่านคนดูรอคอยว่าเรื่องราวนี้จะแตกต่างจากเรื่องราวที่พวกเขารู้จักอย่างไร มากน้อยแค่ไหน และเกิดอาการเดาทางไม่ออกเหมือนที่เราไม่รู้ว่าในชีวิตจริง หากย้อนไปตัดสินใจอีกแบบหรือในปัจจุบันเราเลือกอีกอย่างแทนที่จะเลือกอีกอย่าง อนาคตจะไปลงเอยแบบไหนนั่นแหละ
ไม่ใช่แค่นั้น ในหลายครั้งหลายครา คอมมิคสองค่ายนี้ยังนำตัวละครจากจักรวาลนึง ข้ามไปสู่อีกจักรวาล จนถึงนำมาเจอกันที่สี่แยกที่ไม่ควรมีอยู่หรือไม่ควรมาซ้อนทับกันในคราเดียวกันอีกด้วย ในรูปแบบของเหตุการณ์ (event)
จริงๆ แล้วคำถามที่ว่า “จะเป็นอย่างไรถ้า?” หรือ “What If?” เป็นคำถามที่สมมติที่มักจะเป็นรากฐานสำคัญในกระบวนการสร้างเรื่องราวทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็น นิยาย หนัง ซีรีส์ หรือเรื่องเล่า
โดยเริ่มจากไอเดียเล็กๆเพื่อสร้าง 5W + 1H ขึ้นมา ได้แก่ ใคร (who) ทำอะไร (what) ที่ไหน (where) เมื่อไหร่ (when) ทำไม (why) และทำมันอย่างไร? (how) โดยจะใช้ครบไม่ครบก็ได้ แล้วต่อยอดมันไปสู่เรื่องราวหนึ่งในฉบับเต็ม เส้นเรื่องอีกเส้น โดยมีตัวละครหนึ่งตัวหรือมากกว่าหนึ่ง/เรื่องราวและโลกสมมุติเป็นแกนกลาง ยกตัวอย่างให้ชัดเจนที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องที่มีมาก่อนหน้านี้อย่าง Loki (2021) ที่ตั้งคำถามว่าจะเป็นอย่างไรถ้าโลกิไม่ใช่โลกิที่เรารู้จัก
หรือในอีกแง่ ต่อให้ไม่ได้สร้างจากคำถามนี้ แต่สร้างพล็อตขึ้นมาแบบลอยๆ ในรูปประโยคบอกเล่า เช่น “โลกที่โลกิเป็นจระเข้” หรือ “โลกิเอาชีวิตรอดจากธานอสมาได้” ก็ยังเป็นประโยคที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับคำถามอยู่ดี นั่นก็คือ “จะเป็นอย่างไรถ้าโลกิเป็นจระเข้?” และ “จะเป็นอย่างไรถ้าโลกิรอดจากธานอสมาได้?” และผลลัพธ์ที่ได้คือโลกิที่แตกต่าง รวมถึง “จะเป็นอย่างไรถ้าโลกิเป็นผู้หญิง” ด้วยเช่นกัน นั่นคือการสร้างตัวละครซิลวี่ขึ้นมา
ทั้งเรื่องของซีรีส์ Loki ที่มีองค์กร TVA มีจักรวาลคู่ขนาน โดยเฉพาะในตอนจบของซีรีส์ที่ซิลวี่ทำตามใจตัวเองและ (จะเรียกว่าพลั้งมือดีมั้ยนะ ไม่แล้วกัน ตั้งใจดีกว่า) สังหารผู้ยังคงอยู่จนเกิดการแตกกิ่งก้านสาขาของมัลติเวิร์ส ถือเป็นประตูที่จะนำจักวาล Marvel เข้าสู่เนื้อเรื่องระดับพหุภพที่มีความเป็นไปได้มากมายไม่รู้จบชนิดที่อยากเล่นอะไรก็เล่น อยากทำอะไรก็ทำ
ไม่ว่าจะเป็น นำตัวละครนนั้นตัวละครนี้กลับมามีชีวิต แก้ไขเส้นเรื่อง หรือนำตัวละครจักรวาลอื่นในแฟรนไชส์เข้ามาสู่จักรวาลหลักอย่างสมเหตุสมผล
แต่ก่อนที่จะทำการเปิดประตูบานนั้น เช่นเดียวกับโลกของเรา ความเป็นจริงหรือความเป็นไปได้อื่นๆ ก็ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ไปพร้อมๆ กันแล้ว รอวันที่จะสำรวจหรือทำให้รู้ว่ามีอยู่เท่านั้นเอง
ซีรีส์ What If? จึงหยิบยกเรื่องราวที่แตกต่าง มาเล่าสู่กันฟัง ผ่านสายตาและการเฝ้าดูของ อูอาตู (Uatu อ่านว่า “อูอาตู”) หรือ The Watcher (ให้เสียงพากย์โดย เจฟฟรี่ย์ ไรท์ ผู้รับบท เบอร์นาร์ด ในซีรีส์ Westworld) ในฐานะผู้เฝ้ามองสอดส่องพหุจักรวาล โดยไม่แทรกแซง ไม่เอาตัวเองไปยุ่งเกี่ยว เป็นพวกถ้ำมองระดับจักรวาลที่ไม่ได้มองผ่านรู แต่มองผ่านจอทีวีรูปแบบปริซึม
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า.. กัปตัน คาเตอร์ เป็นอเวนเจอร์สคนแรก?”
เป็นเรื่องราวที่เอเจนต์ เพ็กกี้ คาเตอร์ ได้รับเซรุ่มซูเปอร์โซลเยอร์แทนสตีฟ โรเตอร์ส ผลคือเธอเป็นกัปตันที่มีตราสัญลักษณ์เป็นธงชาติอังกฤษแทน แน่นอนรายละเอียดของอีพีแรกนี้คล้ายคลึงกับหนัง Captain America: The First Avenger (2011) และเป็นตัวเซ็ตโทนว่า นี่คือเรื่องราวเหมือนกันที่แตกต่าง Getsunova
นอกจากเรื่องภารกิจและแอ็กชั่นแล้ว รายละเอียดที่น่าสนใจในตอนนี้คือการที่แม้ว่าสตีฟไม่ได้เป็นกัปตัน ความโรแมนซ์ยังเกิดขึ้นระหว่างทั้งสองเหมือนก่อนหน้านั้น และตัวของสตีฟเองก็มีความเป็นฮีโร่และนักสู้ไม่ต่างจากตอนที่เขาเป็น เพียงแต่เป็นชายตัวเล็กภายใต้ชุดเกราะแทน
ส่วนคาเตอร์นั้นก็ต้องต่อสู้มาซึ่งการได้รับการยอมรับในฐานะฮีโร่หญิง และผู้หญิงที่รับเซรุ่มสำคัญระดับพลิกชะตาสงครามแทนผู้ชาย ซึ่งเธอก็ได้พิสูจน์มันแล้วว่าสิ่งสำคัญคือใจที่กล้าหาญ มากกว่าเพศหรือรูปลักษณ์ และมายาคติ
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า.. ทีชาล่าเป็นสตาร์ลอร์ด?”
เมื่อทีชาล่าไม่ได้เป็นแบล็คแพนเทอร์ แต่เป็นสตาร์ลอร์ดออกตะลุยอวกาศกับยอนดูแทนปีเตอร์ ควิลล์ ที่ทำงานเป็นพนักงานพาร์ทไทม์อยู่บนโลกมนุษย์ เราจะเห็นได้ว่าเขาเป็นสตาร์ลอ์ดที่เกรียนน้อยลง ทะเล้นน้อยลง แต่สุขุมและเข้มมากขึ้น ในตอนนี้เขาต้องเผชิญหน้ากับเดอะ คอลเล็คเตอร์ เพื่อทำภารกิจชิงสิ่งของล้ำค่ามา โดยร่วมทีมกับธานอสที่เป็นคนดี และในจักรวาลนี้ แก๊งการ์เดี้ยน ออฟ เดอะ กาแล็กซี่ ไม่ได้ถูกฟอร์มขึ้น
เป็นตอนที่สนุกอีพีหนึ่ง ที่มีสารคือคนคนหนึ่งเป็นอะไรก็ได้ที่อยากจะเป็น คนคนหนึ่งเป็นคนของทุกที่ สามารถไปที่ไหน และเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น สำคัญที่สุดคือการถามตัวเองว่าอยากเป็นใคร
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า.. โลกสูญเสียฮีโร่คนสำคัญไป?”
เป็นอีพีที่เดาอะไรไม่ออกจนนาทีสุดท้าย เรื่องราวของฮีโร่กลุ่มอเวนเจอร์สที่ทยอยเสียชีวิตกันตั้งแต่ยังไม่ฟอร์มทีม สมาชิกแต่ละคนถูกเก็บล่วงหน้าแบบ 1 by 1 จนนาตาชา โรมานอฟ หรือ แบล็ค วิโดว์ ต้องออกสืบว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนที่จะไม่เหลือฮีโร่ให้กู้โลกและหยุดยั้งภัยที่กำลังจะมา บทสรุปคือแฮงก์ พิม กลายเป็นวายร้ายที่แก้แค้นหน่วยชิลด์ให้กับภรรยาและลูกสาว และเขาถูกหยุดยั้งได้ในที่สุด
แม้ว่าจะสูญเสียฮีโร่คนสำคัญไป แต่ทั้งหมดเริ่มต้นที่ ‘ไอเดีย’ ที่จะฟอร์มทีมฮีโร่ขึ้นมา และไอเดียไม่ใช่สิ่งที่ตาย ฉะนั้นทุกอย่างยังไม่จบ ตราบใดที่ยังมีไอเดียและความหวัง นี่ก็ไม่ใช่ไทม์ไลน์ที่สิ้นหวังซะทีเดียว ตรงกันข้าม มันมีความหวังในรูปแบบใหม่ที่เราไม่รู้จัก
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า.. ด็อกเตอร์ สเตรนจ์ สูญเสียหัวใจแทนมือ?”
เป็นหนึ่งในตอนที่ดีที่สุดของซีรีส์ What If…? ว่าด้วยเรื่องราวของหมอแปลกในจักรวาลที่สูญเสียคนรักแทนมือ เขาลงเอยด้วยการเป็นหนึ่งในนักเวทย์ที่เก่งที่สุด และเรื่องราวจบลงเหมือนหนัง Doctor Strange ภาคแรก (2016) แต่แตกต่างที่เมื่อเรื่องราวจบลงเท่าหนัง เขากลับมีความพยายามที่จะแก้ไขโชคชะตา และไม่ยอมรับความจริงที่ว่า “ทุกสิ่งต้องเป็นไปอย่างที่มันเป็นไป เพื่อรักษาสมดุลจักรวาล”
เน้นย้ำไปที่ไอเดียของ แอบโซลูท พ้อยต์ (Absolute Point) ที่พูดถึงการฟิกซ์เนื้อเรื่องอย่างแน่นอน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด และการเสียชีวิตของแฟนเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นจอมเวทย์ที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งและเป็นไปตามเนื้อเรื่อง เพียงแต่สำหรับหมอแปลกหรือใครก็ตาม มันไม่แฟร์เลยที่เขาจะต้องมาสูญเสียสิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อคนอื่นในจักรวาล
และเมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ คนที่จมอยู่กับอดีตไม่มูฟออนอย่างเขาจึงได้ลองใช้มัน และเสพติดมัน ทำการดูดกลืนสิ่งมีชีวิตและพลังงานเป็นร้อยปีเพียงเพื่อดึงชีวิตหญิงคนรักกลับมา แม้ได้รับคำเตือนแล้วว่าจะเกิดผลเสียอะไรบ้าง
แต่ในท้ายที่สุดมันกลับส่งผลร้าย ท้ายที่สุด อำนาจเปลี่ยนแปลงระดับสูงไม่ควรอยู่ในคนที่ใช้มันเพื่อตัวเอง เพราะมันอาจทำให้เรื่องแย่ไปกว่าเดิม และสูญเสียกว่าที่เคย เขาได้เรียนรู้สิ่งนี้ตอนที่ทุกอย่างสายเกินไปและไม่เหลืออะไรอีกแล้ว แม้กระทั่งเพื่อน พื้นที่ และกาลเวลาปัจจุบัน ไม่ได้เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร นอกจากความผิดบาปมหันต์ของตัวเอง
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า.. มีซอมบี้ในจักรวาลมาร์เวล?”
เมื่อไวรัสจากมิติควอนตัมเปลี่ยนให้คนกลายเป็นซอมบี้ แต่น่ากลัวกว่าซอมบี้ปกติตรงที่ฮีโร่ดันกลายเป็นซอมบี้ซะเอง เป็นโลกสมมุติประเภทหนังซอมบี้สไตล์มาร์เวลที่น่ากลัวเป็นพิเศษ ถือเป็นอีกตอนที่ดูได้เพลินๆ และเดาอะไรไม่ได้เช่นกัน
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า.. อีริค คิลมองเกอร์ช่วยชีวิตโทนี่ สตาร์ค?”
อีริค คิลมองเกอร์ วายร้ายหนัง Black Panther (2018) ที่ได้รับแต้มต่อกว่าจักรวาลหลักตรงที่มีโอกาสเดินเกมก่อนและมีโอกาสเดินมันมากกว่าตัวตนในจักรวาลอื่น ทุกอย่างเริ่มจากการที่เขาช่วยโทนี่จากเหตุการณ์บุกถล่มในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่จะเปลี่ยนโทนี่ให้เป็นไอร่อน แมน (ซึ่งมันทำให้เขาไม่ได้เป็นในภายหลัง) และอีริคสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จนสามารถไต่เต้ามาสู่จุดที่เขาสามารถเทคโอเวอร์ได้ทุกอย่าง ตั้งแต่อาวุธ เทคโนโลยี จนถึงบ้านเกิดและชุดแบล็คแพนเทอร์
เป็นเรื่องราวที่ปล่อยให้อีริคได้เฉิดฉายในฐานะวายร้ายกว่าฉบับหนังก็ว่าได้ เรียกได้ว่าสมเป็นเด็กหนุ่มผู้ชาญฉลาด จบตอนนี้ทำเอามองอีริคร้ายกาจมากขึ้นไปเลย
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า.. ธอร์เป็นวัยรุ่นสายปาร์ตี้?”
เป็นตอนที่ทำให้เรารู้จักธอร์สายวัยรุ่นกลัวแม่ นัก (ยืมสถานที่บนดาวคนอื่น) จัดปาร์ตี้ตัวยง ที่จะมีบทบาทในตอนต่อๆ ไป ซึ่งในตอนนี้เราจะได้เห็นตัวละครมากมายโผล่มาในฐานะผู้ร่วมงาน
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า.. อัลตรอนชนะ?” และ
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้า.. อูอาตูสระบัดสัตย์ที่จะไม่เข้าไปแทรกแซง?”
จุดที่พลิกผันให้ซีรีส์ What If? จริงจังขึ้นจนถึงระดับซีเรียส เริ่มต้นจากการที่วายร้ายไม่มักถูกล้อหลังจากฉายของหนัง Avengers: Age of Ultron (2015) ว่าเป็นตัวร้ายที่อ่อนมากบ้าง เหมือนจะเก่งแต่ถูกจัดการง่ายบ้าง ไม่เก่งเหมือนคอมมิคบ้าง คราวนี้มาร์เวลเลยแก้มือด้วยการเพิ่มพลังให้โหดทะลุพิกัดชนิดที่จัดการธานอสเป็นครึ่งซีกได้ในครั้งเดียว ทำเอาคนดูอ้าปากค้างกันไปเลย เพราะอัลตรอนร่างนี้เป็นอัลตรอนที่ทั้งเอาชนะอเวนจอร์สได้และเป็นเวอร์ชั่นที่เข้ายึดร่างวิชั่นได้สำเร็จ
ยังไม่จบแค่นั้น อัญมณีอินฟินิตี้สโตนทั้ง 6 เม็ดยังถูกช่วงชิงเพื่ออัพเกรดความโหดให้ถึงระดับคอสมิค อัลตรอนที่ได้รับภารกิจให้รักษาความสงบจักรวาล ทำหน้าที่อย่างตั้งใจด้วยการกวาดล้างโลกและจักรวาลจนเหี้ยน หลังจากนั้นกลับรู้สึกว่าตัวเองไร้เป้าหมายและไม่รู้จะทำอะไรต่อไป และเขาก็ได้รับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของอูอาตูกับพหุจักรวาล จึงเกิดเป็นไปเดียใหม่ที่ว่า “ทำความสะอาดจักรวาลเดียวไม่พอ ขอจักรวาลอื่นด้วยแล้วกัน”
จึงเกิดเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ขึ้น และตามลำพังอูอาตูไม่สามารถเอาชนะอัลตรอนที่ระเบิดดาวกับจักรวาลในพริบตาได้ จึงได้เกณฑ์เหล่าฮีโร่ (กับวายร้าย) ที่ปรากฏตัวในอีพีก่อนหน้า มาร่วมทีมกันเป็น ‘การ์เดี้ยน ออฟ เดอะ มัลติเวิร์ส’ เพื่อต่อกรกับอัลตรอน และในท้ายที่สุด ทุกอย่างก็กลับไปเป็นปกติสุขอีกครั้ง
สิ่งที่รู้สึกว่าซีรีสทำได้ดีคือการแกล้งคนดู เพราะหลังจากที่เรื่องราวที่ผ่านมาดูเหมือนจะจบในตอนและแยกเดี่ยวเป็นเอกเทศอย่างที่มันน่าจะเป็น และคนดูอยู่ในฐานะผู้ดู (The Watcher) ที่ไม่ข้องเกี่ยวไม่แทรกแซงเช่นเดียวกับอูอาตูแบบที่บอกได้ว่าตัวละครนี้ก็เปรียบเสมือนเป็นผู้เล่าเรื่องและตัวแทนคนดูเพียงเท่านั้น กลับค้นพบว่าอัลตรอนสามารถเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างพหุจักรวาลได้ รวมถึงบุกมาโจมตีอูอาตูถึงที่ได้เช่นกัน
นั่นเป็นการทำลายกำแพงที่ 4 (break the 4th wall) ในแง่หนึ่ง เหมือนที่จู่ๆ เราดูทีวีแล้วตัวละครในทีวีหันมาพูดหรือโผล่ออกจากจอมาหาเรา ทำให้คนดูอย่างเราเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ถูกคุกคามระยะประชิดไปโดยทันที ฉะนั้น ไม่เพียงแต่เรารู้สึกว่าอัลตรอนเวอร์ชั่นนี้โหดสมที่ควรจะเป็น แต่โหดระดับที่มากกว่าเวอร์ชั่นที่เคยมีมา และเราจะจดจำเจ้าอัลตรอนตัวนี้ได้ดี ไปอีกนานแสนนานเลยทีเดียว