เช้าวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สังคมญี่ปุ่นต้องพบกับข่าวน่าสะพรึงกลัวอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุชายคนหนึ่งถือมีดเข้าไปทำร้ายกลุ่มเด็กนักเรียนประถมที่กำลังรอรถบัสโรงเรียน ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 3 คน คือเด็กนักเรียนหญิง 1 คน พ่อของเด็กนักเรียน 1 คน และตัวคนร้ายเองก็ฆ่าตัวตายในที่เกิดเหตุ (แต่ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล) และยังมีเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บอีก 17 คน จนกลายเป็นข่าวน่าสลด เพราะการทำร้ายนักเรียนจำนวนมากแบบนี้ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี หลังจากเกิดเหตุอดีตภารโรงของโรงเรียนในโอซาก้าเข้าไปทำร้ายนักเรียนประถมในโรงเรียนเสียชีวิต 8 รายในปีค.ศ. 2001
เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่นักเรียนประถมของโรงเรียนประถม Caritas โรงเรียนเอกชนคริสเตียน ในเมืองคาวาซากิ จังหวัดคานากาวะ กำลังเตรียมขึ้นรถโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ กับสถานีโนโบริโตะ เพื่อไปโรงเรียน ในตอนนั้นเอง คนร้ายซึ่งก็คือนาย Iwasaki Ryuichi อายุ 51 ได้เดินมาเงียบๆ พร้อมถือมีดยาวประมาณ 30 เซนติเมตรไว้ทั้งสองมือ แล้วเข้าไปทำร้ายนักเรียนที่ตั้งแถวอยู่ โดยเหยื่อรายแรกคือนาย Oyama Satoshi ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่า เป็นผู้ปกครองของนักเรียนที่รอรถอยู่ แล้วก็ค่อยๆ เดินไล่แทงและฟันทั้งนักเรียนและผู้ใหญ่ที่อยู่ตรงนั้น โดยที่อาจารย์นั้นยืนอยู่ที่หัวแถวทำให้ไม่ทันเห็นพฤติกรรมมีพิรุจของนาย Iwasaki เลยทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 19 คน ซึ่งนาย Oyama ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตอีกรายคือ Kuribayashi Hanako นักเรียนประถมหญิงของโรงเรียนนี้
เมื่อเริ่มมีเสียงกรีดร้อง และคนขับรถบัสเห็นเหตุการณ์ ก็มีการตะโกนใส่คนร้าย ซึ่งพอคนร้ายรู้ตัว ก็วิ่งหนีจากที่เกิดเหตุออกไปไม่ไกลนัก แล้วใช้มีดแทงคอตัวเอง ต่อมาก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในภายหลัง นอกจากความน่าสะพรึงกลัวแล้ว ก็ทำให้คนสงสัยว่า อะไรคือแรงจูงใจของคนร้าย และถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมเป็นจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้ว เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ไม่ถึง 20 วินาทีเท่านั้น แต่เป็น 20 วินาทีที่เปลี่ยนชีวิตจำนวนมากไปตลอดกาล รวมถึงทำให้ต้องมาตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในสังคมญี่ปุ่นอีกครั้ง กับคดี Toorima (通り魔) หรือที่แปลว่า มารร้ายที่ผ่านทาง หรือการฆ่าคนแบบไม่เลือก
แน่นอนว่าในส่วนของรายละเอียดข่าวแบบละเอียดยิบ คงหาอ่านได้หลายที่ เพราะกว่าบทความนี้จะลง ก็คงมีสื่ออื่นรายงานกันไปเยอะแล้ว แต่ส่วนที่อยากจะพูดถึงในครั้งนี้คือ ความปลอดภัยของเด็ก ผลกระทบต่อสังคมญี่ปุ่น และรวมถึงตัวคนร้ายด้วย
หลายครั้งที่สังคมญี่ปุ่นทำให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกทึ่งเมื่อได้เห็นเด็กประถมญี่ปุ่นขึ้นรถไฟ หรือเดินไปโรงเรียนด้วยตัวเองเพียงคนเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว ความปลอดภัยของสังคมญี่ปุ่นก็จัดว่าสูงพอที่จะทำให้ครอบครัวและโรงเรียนปล่อยให้เด็กไปโรงเรียนเองได้ ขนาดที่ในยุคเศรษฐกิจรุ่งๆ แล้ว พ่อกับแม่ออกไปทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ก็ยังปล่อยให้เด็กถือกุญแจกลับบ้านเองคนเดียวจนมีคำศัพท์ว่า คะงิโกะ (カギっ子) หรือ เด็กกุญแจ เป็นคำที่แม้จะไม่ได้มีความหมายดีมาก (คือ พ่อแม่ปล่อยให้เด็กดูแลตัวเอง) แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยของสังคมญี่ปุ่นได้ในระดับหนึ่ง แต่ถึงแม้ความเสี่ยงจะต่ำ แต่ก็ใช่ว่าในญี่ปุ่นจะไม่มีเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับเด็กเลย
เพราะอีกด้านหนึ่งของเหรียญ
แม้สังคมจะปลอดภัยจนเด็กกลับบ้านคนเดียวได้
แต่ขณะเดียวกัน ก็เปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีหาประโยชน์จากจุดนี้ได้
แม้จะไม่ได้มีบ่อยมาก แต่เมื่อมีคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็ก ก็เป็นเรื่องน่าหดหู่เสมอ กรณีที่ผมจำได้ดีคือ สมัยเรียนที่ญี่ปุ่น มีข่าวใหญ่เมื่อชาวเปรูเชื้อสายญี่ปุ่น ได้วีซ่ามาทำงานในญี่ปุ่นแต่เข้ากับสังคมไม่ได้ จึงก่อคดีฆ่าเด็กหญิงแล้วยัดกล่องทิ้งไว้ข้างถนน กลายเป็นคดีน่ากลัวอีกคดีหนึ่งในสังคมญี่ปุ่น หลังจากนั้นก็มีคดีแบบนี้ประปรายบ้าง และด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่จัดว่า ‘ปลอดภัย’ พอมีคดีแบบนี้ที ก็เลยเป็นข่าวน่าสะพรึงกลัว รวมไปถึงคดีที่โอซาก้าที่ทำให้โรงเรียนประถมต้องคิดเรื่องความปลอดภัยของเด็กใหม่อีกครั้ง
ตั้งแต่มีคดีที่โอซาก้าเกิดขึ้น โรงเรียนหลายๆ แห่งในญี่ปุ่นก็พยายามหามาตรการต่างๆ ในการป้องกันความปลอดภัยของเด็กในการเดินทางไปโรงเรียน ซึ่งผมเองก็เคยเขียนไปแล้วทีหนึ่ง (อ่านได้ที่ : ไม่ต้องให้พ่อแม่คอยไปรับไปส่ง สังคมญี่ปุ่นกับการให้เด็กๆ เดินทางไปโรงเรียนเองได้) นอกจากการที่เด็กส่วนใหญ่สามารถเรียนโรงเรียนในละแวกบ้านตัวเองได้ ก็มีการวางระบบต่างๆ คอยเป็นหูเป็นตา เช่น บ้าน 110 ที่คอยช่วยเหลือเวลาเด็กมีอะไร และระบบโคบัง ป้อมตำรวจขนาดเล็กที่คอยช่วยเป็นจุดสอดส่งอีกจุดหนึ่ง พูดง่ายๆ ก็คือ ให้สังคมช่วยกันนั่นล่ะครับ และอีกหนึ่งวิธีการก็คือ การให้กลับบ้านเป็นกลุ่ม และการนั่งรถบัสกลับบ้าน
แต่จากคดีครั้งนี้ ก็กลายเป็นประเด็นที่ต้องถกกันอีกครั้ง
เมื่อทั้งการกลับบ้านเป็นกลุ่ม และการนั่งรถบัส
ก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้
การเดินกลับบ้านเป็นกลุ่มมีข้อดีคือช่วยไม่ให้เด็กเป็นเป้าหมายของคนร้ายได้ง่าย แต่ถ้าคนร้ายไม่ได้สนใจถึงผลของการกระทำของตัวเองแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เช่นเดียวกันกับการขึ้นรถบัส ที่สุดท้ายจุดขึ้นรถบัสก็กลายเป็นเป้านิ่งได้ แน่นอนว่าก็อาจจะมีผู้ใหญ่คอยดูแลอยู่แล้ว แต่กับคนร้ายที่เข้ามาเงียบๆ แบบนี้ และใช้เวลาก่อคดีเพียงแค่ไม่ถึง 20 วินาที ก็อาจต้องลองทบทวนกันใหม่
เท่าที่ดูการถกกันในรายการเล่าข่าวญี่ปุ่น แนวทางต่างๆ ที่พยายามใช้ในตอนนี้ เรียกได้ว่า พยายามกันเต็มที่แล้ว แน่นอนว่าไม่มีอะไรจะรับประกันความปลอดภัยได้ 100% ซึ่งก็มีการยกตัวอย่างวิธีการของเมืองหรือโรงเรียนต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ตั้งแต่การแจกอุปกรณ์เตือนภัยให้เด็ก ที่เมื่อดึงสายออกแล้วจะส่งเสียงดัง ทำให้คนประสงค์ร้ายผงะ และเรียกความสนใจจากรอบข้างได้ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถือของเด็กที่เพิ่มระบบติดตามตัว รวมถึงระบบการแจ้งเตือนหากมีอะไรเกิดขึ้น ก็จะส่งสัญญาณไปยังเน็ตเวิร์กของตำรวจและกลุ่มผู้ปกครอง รวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ยังมีการเสนอให้เพิ่มจำนวนตำรวจที่ช่วยดูแลเวลานักเรียนมาและกลับจากโรงเรียน รวมไปถึงเครือข่ายผู้ปกครอง และอาสาสมัครมาช่วย ซึ่งหลายคนก็ลงความเห็นว่า แม้จะต้องใช้งบประมาณรัฐ ก็เป็นเรื่องจำเป็น และควรสอนเรื่องความปลอดภัยให้กับเด็กด้วย เช่น ถ้าหากมีอะไรเกิดขึ้นก็ให้เข้าไปหลบในที่ปลอดภัย หรือที่ที่มีคนอื่นอยู่ อย่างร้านสะดวกซื้อ แต่ก็เหมือนกับที่ผู้ปกครองเด็กในเมืองคาวาซากิพูดเมื่อถูกนักข่าวถามนั่นล่ะครับว่า ตอนนี้เรื่องเพิ่งเกิด ทุกคนก็เกร็งกันเลยพยายามเต็มที่ แต่พอผ่านไปแล้วคนเริ่มลืม คดีแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกตอนไหนก็ได้ (ในบ่ายวันเดียวกันมีคนร้ายในจังหวัดไซตามะพยายามก่อคดีคล้ายกัน โดยพุ่งเข้าโจมตีตำรวจ แต่ตำรวจสามารถวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายได้ก่อน)
จะเห็นได้ว่าหนึ่งในตัวอย่างของการตอบสนองอย่างกะทันหันต่อคดีนี้คือ การเสนอการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามา ไม่ใช่แค่กล้องวงจรปิด แต่ยังมีระบบที่สามารถตรวจจับสภาพอารมณ์ของคนที่เดินผ่านไปมา สามารถเพิ่มความระแวดระวังได้ แต่การจะนำระบบเช่นนี้มาใช้ ก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัว และสังคมจะกลายเป็นสังคมภายใต้การสอดส่องตลอดหรือไม่ รวมไปถึงว่า จะได้ผลแค่ไหน ซึ่งก็คงต้องถกเถียงกันต่อไปว่า แต่ละวิธีการนั้นได้ผลไหม และคุ้มกับการเสียความเป็นส่วนตัวแค่ไหน หรือมีทางเลือกอื่นหรือไม่ ขณะเดียวกัน อีกคำถามที่ควรมองคือ
ในครั้งนี้ การมองไปที่การป้องกันเด็กเพียงอย่างเดียว
อาจจะไม่ใช่ทางออกทั้งหมด
โดยเฉพาะเมื่อหันไปมองทางฝั่งคนร้ายที่ก่อคดี
ตัวคนร้ายนาย Iwasaki เป็นคนมีลักษณะเก็บตัว หรือที่สังคมเรียกว่า ฮิคิโคโมริ (引きこもり) โดยเขาอาศัยอยู่กับครอบครัวของน้า (หรืออา หรือลุง หรือป้า ตรงนี้ไม่ค่อยชัดครับ เพราะเขาไม่ได้ระบุชัด หรือผมอาจจะยังหาข้อมูลไม่เจอ) หลังจากที่พ่อแม่หย่าร้างกันตั้งแต่เขาอยู่ชั้นประถมต้น แม้จะเคยออกไปอยู่ด้วยตนเองมาแล้ว แต่สุดท้ายก็กลับมาและเก็บตัวอยู่ในบ้านของน้าซึ่งเป็นคู่สามีภรรยาที่ปัจจุบันอายุ 80 กว่าปีแล้ว และยังมีลูกชายและลูกสาว ซึ่งก็นับเป็นลูกพี่ลูกน้องของนาย Iwasaki นั่นเอง แต่ทั้งสองก็ย้ายออกไปมีครอบครัวของตนเองแล้ว นาย Iwasaki ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในครอบครัวเท่าไหร่นัก เพราะมีการวางระบบเวลาอาบน้ำและกิจกรรมอื่นๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเจอกันแม้จะอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และเขาก็ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เพราะเคยโวยวายใส่เพื่อนบ้านจนหลังจากนั้นเพื่อนบ้านก็ไม่ยุ่งอะไร ปกติมีคนเห็นแค่ออกนอกบ้านตอนกลางคืนแล้วกลับเข้ามาตอนเช้าๆ
แต่ในเช้าวันเกิดเหตุ นาย Iwasaki กลับออกจากบ้านตอนเช้า ใส่เสื้อสีดำ แบกเป้ และใส่ถุงมือช่าง และทักทายเพื่อบ้านว่า อรุณสวัสดิ์ ก่อนที่จะเดินออกจากบ้านไปกิโลกว่าๆ ขึ้นรถไปที่สถานี Yomiuri Land Mae ไปลงที่สถานี Noborito ก่อนจะก่อคดีดังกล่าว และทิ้งปริศนาไว้ว่า ทำไมถึงทำเช่นนั้น รวมถึงกระเป๋าเป้ที่มีมีดอีกสองเล่ม
ทำไมนาย Iwasaki ถึงมีความพยายามและเตรียมพร้อมในการก่อคดีขนาดนั้น? เมื่อตัวคนร้ายเสียชีวิตไปแล้ว ก็คงจะได้แต่คาดการณ์กันว่าทำไม ซึ่งเมื่อไล่สืบประวัติไปแล้วก็ดูจะได้อะไรมากขึ้น เพราะตัวนาย Iwasaki เคยขู่จะฆ่าตัวตายดัวยการกระโดดจากระเบียงโรงเรียนเมื่อตอนเรียนมัธยมต้นแล้ว และการต้องมาอาศัยอยู่กับครอบครัวญาติ ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะจากการสอบถามคนในละแวกบ้าน ร้านตัดผมก็บอกว่า เคยตัดผมให้ครอบครัวนี้ในสมัยเด็ก โดยลูกชายของน้า น้าที่เป็นผู้หญิงก็จะบอกช่างว่า ให้ตัดออกมาให้ดูดี ขณะที่บอกให้ไถให้นาย Iwasakiให้หัวโล้นก็พอ และตัวนาย Iwasaki ก็ได้เรียนโรงเรียนรัฐของท้องถิ่น แต่ลูกชายและลูกสาวของน้าก็ได้เรียนที่โรงเรียน Caritas ที่นาย Iwasaki ก่อคดีนั่นเอง (เป็นเพียงข้อมูลจากเพื่อนบ้าน ยังไม่ได้รับการยืนยันจากการสอบสวนของตำรวจ) ซึ่งตรงจุดนี้ก็ยังไม่ทราบว่า เป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจของนาย Iwasaki หรือไม่
แต่ที่น่าวิเคราะห์ยิ่งกว่าคือ ประวัติในตอนโตของนาย Iwasaki เพราะว่า หลังจากเขาจบมัธยมต้นก็ไม่ค่อยมีใครทราบรายละเอียดว่าเขาไปทำอะไร คบกับใคร ราวกับว่ากลายเป็นคนไร้ตัวตน รูปถ่ายที่เห็นในสื่อก็มีแค่รูปสมัยมัธยมต้นเท่านั้น ครอบครัวที่ดูแลก็ราวกับเป็นคนอื่น เพราะตามที่บอกไปว่า แทบไม่ได้พบกัน ขนาดจะปรึกษาอะไรก็ต้องเขียนจดหมายไปทิ้งไว้ แต่ก่อนเกิดเหตุ ครอบครัวน้าก็เริ่มปรึกษากันเรื่องการหาคนมาช่วยดูแลตนเอง เพราะอายุก็ 80 ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งอาจจะไปกระตุ้นอะไรในตัวนาย Iwasaki ก็ได้ และจริงๆ แล้ว ตัวครอบครัวก็เคยปรึกษาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหลายครั้งเรื่องการหาคนช่วยดูแล และเรื่องนาย Iwasaki แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาอะไรนัก จนเกิดเรื่องในครั้งนี้ ก็ทำเอาตอบคำถามสื่อได้ลำบากไม่น้อย
เมื่อดูประวัติที่ผ่านมา รวมถึงพฤติกรรมในวันเกิดเหตุของนาย Iwasaki แล้ว ก็ดูเหมือนกับว่า เขาก็เป็นอีกหนึ่งในคนจำนวนไม่น้อยในสังคมญี่ปุ่น ที่กลายเป็นคนไม่มีตัวตน หรือพูดอีกอย่างคือ ไม่ได้เข้าสังคมกับคนรอบข้าง จนกลายเป็นสิ่งที่สะสมในตัวของเขา จนกระทั่งวันเกิดเหตุที่ดูเหมือนเขาจะเตรียมการ และ ‘เตรียมใจ’ มาเป็นอย่างดี จนเหมือนกับมันเป็นการปลดเปลื้องอะไรบางอย่างออกจากใจเขาได้ และสามารถสัมผัสถึงตัวตนของตนเองได้ ถึงได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเช่น ทักทายเพื่อนบ้าน และออกไปก่อคดีโดยมีเจตนาชัดเจน ไม่ใช่แค่อยากจะฆ่าใครที่ผ่านมา แต่เป้าหมายคือนักเรียนของโรงเรียน Caritas
ถ้าเรามองย้อนในสังคมญี่ปุ่นแล้ว
ปัญหาของฮิคิโคโมริ ก็ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ
ยังมีคนจำนวนอีกไม่น้อยที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ และกลายเป็นคนนอกของสังคมไป สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ดี ถ้าคุณสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเขาได้ดีพอ แต่เมื่อคุณไม่สามารถทำตามระบบได้ คุณก็อาจจะหลุดไปจากระบบและกลายเป็นคนไร้ตัวตนไปเลยก็ได้ ปัญหาคนสะสมขยะในบ้านเพราะไม่สามารถทิ้งขยะตามระบบได้ ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆ อีกตัวอย่างหนึ่ง ในกรณีของนาย Iwasaki เราก็ไม่แน่ใจว่า ความอิจฉา หรือสิ่งที่สะสมมาตลอดคือแรงผลักดันในการก่อคดีครั้งนี้ไหม เราไม่ยังไม่รู้แน่ชัดด้วยซ้ำว่า เขามีอาการทางจิตหรือทางสมองหรือไม่ เพราะหลายครั้งที่สมาชิกครอบครัวที่มีอาการทางจิต ก็กลับกลายเป็นความอับอายของครอบครัว ครอบครัวจึงพยายามเลี่ยงที่จะเผชิญปัญหานี้ตรงๆ แต่ปล่อยให้ใช้ชีวิตประจำวันไปตามที่เจ้าตัวชอบมากกว่า
แน่นอนว่า คดีน่าเศร้าที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็จะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเรื่องความปลอดภัยของเด็กในสังคมญี่ปุ่น แต่การจะคิดเรื่องป้องกันเด็กอย่างเดียวคงไม่พอ สิ่งที่สำคัญคือ จะสร้างสังคมอย่างไรที่ลดโอกาสที่จะเกิดคนแบบนาย Iwasaki ที่พร้อมจะก่อคดีโดยไม่ได้สนอะไร เพราะตัวเขาเองก็ไม่เคยรู้สึกถึงคุณค่าของตนเองมาก่อน การที่จัดการกับปัญหาเหล่านี้ คงต้องอาศัยการแก้ปัญหาทั้งสองทางควบคู่กันไปครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก