หนึ่งในคำถามที่ผมมักจะได้รับเสมอในฐานะผู้ที่เป็นอาจารย์มากว่า 25 ปี คือ “เด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปมากหรือไม่? เปลี่ยนแปลงไปในทางใด?” ซึ่งในคำถามที่สอง มักมีนัยยะว่า เปลี่ยนแปลงไปในทางบวกหรือทางลบ
ผมขอตอบว่าผู้เรียนเปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างที่นึกไม่ถึงเลยครับ และไม่ต้องเทียบกับ 25 ปีก่อน แค่เทียบกับ 5 ปีที่แล้ว เด็กๆ ก็เปลี่ยนไปมาก และยังคงเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องครับ
ส่วนเปลี่ยนแปลงไปในทางใด? ขอตอบว่า เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นไปตามเหตุและปัจจัย สำหรับผม การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีนัยยะในทางดีหรือทางร้าย
เพราะมันจะดีหรือร้ายก็ขึ้นอยู่กับว่า
เราผู้สอนจะเข้าใจและจะปรับตัวหรือตอบสนอง
ต่อความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรมากกว่า
เหตุและปัจจัยที่ผมคิดว่ามีบทบาทสำคัญต่อรูปแบบหรือพฤติกรรมการเรียนรู้ของน้องๆ รุ่นใหม่มากที่สุดคือ การมีตัวเลือกมากขึ้น (เช่นการค้นหาข้อมูลจากกูเกิ้ลแทนการอ่านหนังสือในห้องสมุด การดูยูทูปแทนการดูทีวี) การได้ลองเลือก ลองลงมือทำ และรับรู้ผลจากการเลือกหรือการทำด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว (เช่น การเล่นเกม) การได้เห็นความสำเร็จในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน (เช่น การพัฒนาเฟซบุ๊ก การขายออนไลน์ การโพสต์หรืออัพโหลดวิดีโอที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์)
ผมสังเกตว่าเหตุและปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การเรียนรู้ของน้องรุ่นใหม่ๆ จะให้ความสำคัญกับคำ 4 คำต่อไปนี้มากขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก
‘น่าสนใจ’
ด้วยความคุ้นเคยในการเลือกสิ่งที่สนใจที่สุดภายใต้เวลาที่มีจำกัดของตน ความน่าสนใจจึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเรียนรู้ของน้องๆ และอาจกลายเป็นยาขมของผู้อำนวยการเรียนรู้เช่นผม เพราะหากน้องๆ รู้สึกว่าไม่น่าสนใจ ก็พร้อมจะละความสนใจทันที
ดังนั้น ผู้อำนวยการเรียนรู้สำหรับเด็กรุ่นใหม่จึงต้องทำการบ้านมาอย่างดีพอสมควร ว่าประเด็นใดจะสร้างความน่าสนใจให้กับน้องๆ ได้ ซึ่งจากประสบการณ์ของผม แนวทางหนึ่งที่จะสร้าง ‘ความน่าสนใจ’ ให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ได้ ก็อยู่ในคำ 3 คำที่กำลังจะอธิบายตามมา
‘ลงมือทำ’
น้องๆ รุ่นใหม่มีความคุ้นเคยกับการแสวงหาแนวทางลงมือทำด้วยตนเองมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ทราบแนวทางใดๆ เลย แต่ถ้าโจทย์นั้นมีความท้าทาย พวกเขาก็มักจะอยากหาทางลองทำดู และอยากรับรู้ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นด้วยตัวเอง (ซึ่งไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว)
แต่รูปแบบการเรียนรู้ในห้องเรียนของเรายังไม่เอื้อให้พวกเขาลงมือทำมากพอ หรือมิฉะนั้น เราก็มักมีคำตอบสำเร็จรูปรออยู่แล้ว ซึ่งเจ้า ‘คำตอบสำเร็จรูป’ ที่มีอยู่แล้วนี่แหละ ที่ผมรู้สึกว่า มันขัดกับธรรมชาติการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก
‘ใช้การได้’
ผมสังเกตว่าน้องๆ รุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับคำว่าใช้การได้ (หรือที่เรียกง่ายๆว่า ‘เวิร์ก’) มากกว่าคำว่า ‘ถูกต้อง’ สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะคำว่า ‘ใช้การได้’ สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท ตามกลุ่มเป้าหมาย และตามรูปแบบการทดสอบ และพวกเขาก็อยากทราบว่า สิ่งที่ตัวเองคิดและทำ มันใช้การได้จริงหรือไม่ ใช้การได้สำหรับใคร ในเงื่อนไขใด
แต่ปัญหาที่ผมพบก็คือ การทดสอบในห้องเรียนของเรายังพึ่งประสบการณ์และวิจารณญาณของครูผู้สอนเช่นผม มากกว่าการเอื้อโอกาสให้พวกน้องๆ ได้ทดสอบว่า สิ่งที่ทำนั้นมันเวิร์กสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้จริงหรือไม่ พวกเขาจึงไม่ค่อยได้มีโอกาส ‘วิมังสา’ หรือใคร่ครวญด้วยตัวเอง
‘ท้าทาย’
ในขณะที่คนทั่วไป มักจะพูดกันว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีความอดทน โดยไม่ค่อยมีคำขยายความต่อท้ายว่า อดทนต่ออะไร? หรืออดทนเพื่ออะไร? แต่จากประสบการณ์ของผม ผมกลับเห็นว่าความมุ่งมั่นของน้องๆ รุ่นใหม่ไม่ได้ลดน้อยลงจากคนรุ่นก่อนๆ เลย หากพวกเขามีเป้าหมายที่ชัดเจนและรู้สึก (ด้วยตนเอง) ว่าเป็นเป้าหมายที่ ‘ท้าทาย’ มากพอ
เพียงแต่ด้วยข้อจำกัดที่เรามี (เช่น หลักสูตร หรือเวลาผู้สอน) ซึ่งไม่มีเวลาเพียงพอที่จะให้น้องๆ ค้นหา หรือพัฒนาเป้าหมายที่ท้าทายขึ้นมาในใจของตัวเอง เราจึงมักตั้งเป้าหมายให้น้องต้องบรรลุ หรือกำหนด ‘กรอบ’ หรือ ‘เวลา’ ขึ้นมาให้ แล้วเราก็รู้สึกภายหลังว่าพวกเขาไม่ค่อยมีความอดทนต่อ ‘เป้าหมาย’ ที่เรามอบให้
โดยสรุป ผมว่าเราในฐานะผู้สอนหรือผู้อำนวยการเรียนรู้ อาจทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายของเราไม่มากพอ เราจึงไม่ได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และเราก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของเราได้เร็วพอ เมื่อเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงของบริบทที่อยู่รอบตัวของเราและของผู้เรียน
และด้วย ‘ความแข็งตัว’ ของการเรียนรู้ ‘ในระบบ’ ของเรา จึงเกิดเป็น ‘ความไม่ลงตัว’ ระหว่างรูปแบบการเรียนการสอน (หรือตัวผู้สอน) กับผู้เรียนรู้เอง
ผมเองยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูปกับรูปแบบการเรียนรู้ในห้องเรียนของผมเช่นกัน แต่ผมจะพยายามให้ห้องเรียนของผมมีพื้นที่สำหรับคำสี่คำด้านบนนี้ให้มากขึ้น
ซึ่งนั้นแปลว่าผมจะต้องพยายาม
เป็น ‘ผู้เรียนรู้’ ในตัว ‘ผู้เรียนรู้’ ของผมเองด้วย