ไม่กี่วันก่อน ผมคุยกับมาดากิฟุ หรือภรรยาของผม ถึงเรื่องสมัยเรียนที่ผมต้องเปลี่ยนโรงเรียนตอนอยู่ชั้นประถม 5 เพราะพี่สาวเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนนั้น แล้วพ่อเห็นว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ ขับรถไปส่งทีเดียวจบ ไม่ต้องเสียเวลา ทำให้ผมกลายเป็นนักเรียนใหม่ ย้ายจากเพื่อนเก่าไปแบบดื้อๆ แต่สิ่งที่เธอถามกลับคือ ประถมมัธยมนี่ให้ที่บ้านขับรถไปส่งเหรอ ทำไมคุณหนูจัง…
ส่วนหนึ่งก็อ้างได้ว่าเพราะการคมนาคมในขอนแก่นยุคนั้นมันไม่ได้เพียบพร้อมอะไรมาก แต่มองกลับกัน การเดินทางไปกลับโรงเรียนเองตั้งแต่เรียนประถมในญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะในตัวเมืองหรือต่างจังหวัด กลายเป็นว่า ชาวต่างชาติทั้งหัวดำหัวทองเมื่อได้ไปญี่ปุ่นต่างก็อึ้งที่เห็นเด็กประถมตัวเล็กนิดเดียว แบกกระเป๋านักเรียน เดินกลับบ้าน บางคนขึ้นรถไฟกลับบ้านคนเดียว กลายเป็นเรื่องน่าทึ่งขนาดที่รายการทีวีต่างประเทศยังมาทำสกูปกันเลยทีเดียว
น่าสนใจนะครับ เพราะขนาดในประเทศที่พัฒนาแล้วเหมือนกันกลับไม่ค่อยพบอะไรแบบนี้ได้มากเท่าสังคมญี่ปุ่น แถมบางกรณีผู้ปกครองอาจจะโดนแจ้งเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ข้อหาไม่ดูแลเด็ก แต่ในญี่ปุ่น ดูเหมือนมุมมองจะต่างกันออกไป
ส่วนใหญ่แล้วเขาไม่ได้มองว่าควรจะต้องดูแลเด็กขนาดนั้น แต่มักจะฝึกให้ทำอะไรต่อมิอะไรด้วยตัวองได้มากกว่า นอกจากการเดินทางไปโรงเรียนเองแล้ว ยังรวมไปถึงโรงเรียนที่สอนให้เด็กต้องทำงานต่างๆ ด้วยตัวเอง มีเวรทำความสะอาด แจกชีทประกอบการเรียน ดูแลสัตว์เลี้ยงประจำห้อง แบ่งหน้าที่กัน โรงเรียนส่วนใหญ่เลยไม่มีภารโรงประจำ และในครอบครัวเองก็มักจะฝึกให้เด็กช่วยงานบ้าน เช่นออกไปซื้อของที่แม่ฝากให้ซื้อ จนเคยมีรายการตามไปถ่ายดูว่าเด็กแต่ละบ้านทำหน้าที่นี้ในครั้งแรกได้รึเปล่า
กลับมาที่เรื่องการเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง ถ้าถามว่าทำไมเขาทำได้ ก็ตอบแบบทื่อๆ ว่า ก็เพราะประเทศเขาปลอดภัยกว่า อัตราการเกิดอาชญกรรมต่ำกว่า ซึ่งก็ทื่อจริงๆ นั่นล่ะครับ เพราะเอาจริงๆ ที่ผ่านมาก็ใช่ว่าจะไม่มีอาชญกรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กเล็กในสังคมญี่ปุ่น แม้จะอยู่ในอัตราที่น้อยกว่า และบางครั้งก็เป็นคดีสะเทือนขวัญ แต่สุดท้ายแล้ว โดยรวมก็ยังปลอดภัยกว่าในอีกหลายสังคมอยู่ดี แต่ที่สำคัญกว่าคือ ญี่ปุ่นทำอย่างไร สังคมเขาถึงได้ปลอดภัยขนาดให้เด็กเดินกลับบ้านเองได้
อย่างแรกเลย ต้องดูตรงระบบการแบ่งพื้นที่การศึกษาของเขาก่อนครับ สำหรับการศึกษาภาคบังคับ คือตั้งแต่ประถมถึงมัธยมต้น ทางรัฐบาลจะจัดให้มีโรงเรียนของรัฐแบ่งตามเขตการศึกษา และให้เด็กที่อยู่ในเขตการศึกษาเข้าเรียนในโรงเรียนตามเขตนั้นๆ ทำให้เด็กอยู่ในระยะไม่ไกลจากโรงเรียนนัก จนสามารถเดินทางไปโรงเรียนเองได้เป็นเรื่องปกติ ตรงนี้คงต้องชมการรักษามาตรฐานการศึกษาให้ไม่ต่างกันเกินไป เทียบกับบ้านเราแล้วก็ต่างกันมาก เพราะอย่างผมเองเรียนประถมในโรงเรียนรัฐ ก็มีโรงเรียนอีกแห่งตั้งอยู่ติดกัน ขนาดในเมืองเดียวกันยังมีโรงเรียนรัฐหลายแห่ง แต่ใครก็อยากเรียนที่ดีๆ แม้จะไกลจากบ้านแค่ไหนก็ยอม ส่วนในกรุงเทพฯ นี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยครับ ข้ามโซนกันเป็นเรื่องปกติ ทำให้เด็กไม่สะดวกเดินทางไปเรียนเองเท่าไหร่นัก (แน่นอนการการคมนาคมสาธารณะก็มีส่วนสำคัญด้วย)
ส่วนโรงเรียนเอกชนที่มักจะจัดว่าดีกว่า ไฮโซกว่า ก็ไม่เหมือนกับโรงเรียนรัฐตรงที่ไปเรียนข้ามพื้นที่ได้ ทำให้เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ต้องเดินทางด้วยรถไฟเพื่อไปโรงเรียน ต่างกับโรงเรียนรัฐที่ส่วนใหญ่เดินหรือปั่นจักรยานไปได้ เพื่อความปลอดภัยเลยยิ่งต้องรอบคอบมากขึ้น แล้วสังคมญี่ปุ่นเตรียมการอย่างไรเพื่อให้เด็กๆ ที่ไปโรงเรียนเองได้
หน่วยงานแรกที่มีความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของเด็กๆ คือตำรวจ ญี่ปุ่นมีระบบ ‘โคบัง’ หรือป้อมตำรวจเล็กอยู่ตามชุมชน คอยให้บริการต่างๆ ตั้งแต่รับแจ้งของหาย ตรวจตราความปลอดภัย กระทั่งมีที่สูบลมจักรยานให้ยืม (เพื่อชุมชนจริงๆ) และเป็นตำรวจประจำโคบังเหล่านี้เองที่จะทำหน้าที่เดินตรวจความปลอดภัยในช่วงเวลาที่เด็กเดินทางไปกลับโรงเรียน รวมไปถึงตัวผู้ปกครองเองก็มักจะเลือกเส้นทางเดินไปโรงเรียนให้ผ่านโคบัง และฝึกให้ลูกทักทายกับคุณตำรวจประจำโคบังไว้ เพื่อช่วยเสริมความปลอดภัย และผู้ปกครองก็สามารถสมัครรับเมลแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินจากตำรวจในแต่ละพื้นที่ เผื่อว่าหากเกิดอะไรขึ้นจะได้รู้ตัวและป้องกันได้ล่วงหน้า
หลังจากที่ยุค 90 เริ่มมีปัญหาเด็กกลายเป็นเป้าอาญกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ตำรวจและท้องถิ่นเริ่มโครงการ บ้าน 110 สำหรับเด็ก (110 ของญี่ปุ่นก็เหมือน 191 ของบ้านเรา) โดยให้ร้านค้าหรือกระทั่งบ้านของประชาชนที่อยู่ในเส้นทางที่นักเรียนเดินทางไปโรงเรียนช่วยทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาช่วยตำรวจ ซึ่งละท้องถิ่นติดจะมีป้ายที่ออกแบบเองติดเอาไว้ หลักๆ จะเป็นพื้นสีเหลืองและตัวเลข 110 สีแดง พร้อมตราท้องถิ่นให้เห็นได้ชัด เด็กจะได้รับการอบรมว่าถ้าหากมีอะไรให้ไปขอความช่วยเหลือจากบ้านที่มีป้ายเหล่านี้ นอกจากนี้ในบางกรณี สถานีรถไฟหรือบริษัทแท็กซี่ก็ช่วยทำหน้าที่นี้อีกแรงด้วย (และยังแนะนำให้เด็กฝึกทักทายกับนายสถานีเป็นประจำด้วย)
สำหรับสถานศึกษา นอกจากอาจารย์จะช่วยเป็นหูเป็นตาเวลาเด็กเดินทาง บางกรณีก็ช่วยเดินทางเป็นเพื่อนในช่วงแรกๆ และยังมีการจัดอบรมฝึกสอนเรื่องความปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยให้ครอบครัวเข้าร่วมด้วยเพื่อฝึกให้เด็กระวังตัวเองให้มากขึ้น และแต่ละครอบครัวก็สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลความปลอดภัยในท้องถิ่นให้กันได้ด้วย
มาถึงในหน่วยที่เล็กสุดซึ่งก็คือครอบครัว แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ปล่อยให้เด็กเดินดุ่มๆ ไปเรียนเองเช่นกัน หลายครอบครัวเลือกที่จะเดินไปกับลูกสักระยะเพื่อให้เด็กชินกับเส้นทาง และระหว่างนั้นก็คอยสำรวจเลือกเส้นทางที่เหมาะสม บางครอบครัวถึงกับกำหนดกว่าถ้าจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำ ให้เข้าที่ไหนได้บ้าง เพื่อฝึกให้เด็กมีวินัยและไม่ออกนอกเส้นทาง รวมไปถึงการฝึกนิสัยให้เด็กไม่ตามคนแปลกหน้าไป หรือสอนให้เด็กมีโค้ดที่ใช้กันในครอบครัวเพื่อความปลอดภัย และปัจจุบันก็เพิ่มความปลอดภัยด้วยการให้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือแบบพื้นฐานรวมถึงการใช้ GPS ติดตามตัวเด็กอีกด้วย จากเดิมที่นิยมพกอุปกรณ์ส่งเสียงดังขอความช่วยเหลือด้วยการดึงสายหรือกดสวิตช์
การที่เด็กสามารถเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง แน่นอนว่าเกิดจากความปลอดภัยในสังคม แต่ความปลอดภัยในสังคมก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มาจากความพยายายามเอาใจใส่และร่วมกันปกป้องของคนในสังคม พร้อมทั้งภาครัฐที่คอยหามาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างจริงจัง ช่วยลดความเป็นห่วงของครอบครัวและฝึกฝนให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ก็ใช่ว่าจะดีทั้งหมด เพราะถึงอย่างไรก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดีนั่นล่ะครับ แต่อย่างน้อย ความพยายามในการสร้างสังคมที่ปลอดภัย ก็น่าจะเป็นเรื่องดีกว่าที่ปล่อยจะให้แต่ละครอบครัวดูแลกันเองไม่ใช่เหรอครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก