ในยุค Post-Truth ที่ความจริงมีหลายทางเลือก ความเท็จถูกทำให้น่าเชื่อถือมากกว่าความจริง และต่างคนต่างสถาปนาความจริงตามข้อมูลของตนเอง จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ ‘จริงในจริง’ และ ‘หลอกในหลอก’ ที่มันซับซ้อนในโลกดิจิทัล ซึ่งเมื่อข้อมูลข่าวสารที่ทั้งจริงและหลอกปะปนกันมั่วซั่วในช่วงของการตัดสินใจทางการเมือง ภาพสงครามข่าวที่ต่างคนต่างแย่งชิงพื้นที่ความจริงจึงเกิดขึ้น เพื่อเข้าไปครองใจคนในชั่วเสี้ยววินาทีที่ลงคะแนนโหวต
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ผ่านพา นอกจากจะมีปรากฏการณ์ของข่าวเท็จ ‘Fake news’ ทะยานขึ้นสูงเป็นปริมาณมากในสื่อสังคมออนไลน์แล้ว ในส่วนของผู้ลงสมัครเลือกตั้งอย่างโดนัล ทรัมป์เองก็มีส่วนในการนำเสนอข้อมูลเท็จมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อประเมินการให้ข้อมูลในช่วงเลือกตั้งของโอบาม่าเทียบกับทรัมป์จากตัวเลขที่ได้จากหน่วยงานเช็กข้อมูลทางการเมืองที่เรียกว่า ‘Politifact’ พบว่า
สัดส่วนที่โอบาม่าพูดเท็จอยู่ที่ 25.2% ในขณะที่ทรัมป์มีข้อความดราม่าโกหกอยู่ทั้งสิ้น 69.9% ของสิ่งที่เค้าพูด
โดยนาย John Oliver พิธีการชื่อดังจากรายการ Tonight Show ได้แกะรอยข่าวสารที่ทรัมป์พูดหรือนำเสนอผ่านสาธารณชนก็พบว่า ข่าวสารที่เค้าได้รับไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ประมาณว่าได้ยินได้ฟังอะไรมาก็ทวีตขึ้นทันที ซึ่งเมื่อเค้ากลายเป็นบุคคลสาธารณะของสังคมในฐานะประธานาธิบดี ข้อมูลที่เค้าทวีตก็จะถูกถ่ายทอดผ่านสื่อเป็นทอดๆ กลายเป็นห่วงโซ่ของข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนและตอกย้ำจนน่าเชื่อถือด้วยทัศนคติและกรอบคิดแบบทรัมป์ ๆ
ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงกับทฤษฎีการรับรู้ทางการเมืองของ ศ.จอร์จ ลากอฟ (George Lakoff) เจ้าของหนังสือ Political Mind ก็อธิบายได้ถึงจิตใต้สำนึกของผู้ลงคะแนนที่ถูกล้อมกรอบด้วยข้อมูลข่าวสารอันประกอบสร้างเป็น ‘วาทกรรมหลัก’ โดยชี้ว่าเรื่องการเมืองนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องของ ‘ความเชื่อมากกว่าความจริง’ แล้ว ยังเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกที่จะเชื่อของผู้คนอีกด้วย เนื่องจากแต่ละคนจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘High truth’ ที่ผูกโยงกับการยึดมั่นถือมั่นในอัตตาของตัวเอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเลือกที่จะเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุเป็นผล
ส่งผลให้แม้ในช่วงการเลือกตั้งจะมีข้อมูลเท็จไหลบ่าออกมาเป็นจำนวนมาก คนเหล่านั้นก็เลือกที่จะเชื่อมันเพราะมันตรงกับ ‘High truth’ ที่ตนยึดมั่นถือมั่นอยู่
สังคม Post-truth กำลังเผชิญหน้ากับการพิสูจน์ภูมิต้านทานในการรับรู้ข่าวสารข้อเท็จจริงของประชาชนอีกครั้งในการเลือกตั้งที่มีแล้วหรือกำลังจะมีขึ้นในปีนี้ ทั้งในฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีความพยายามอย่างหนักหน่วงที่จะไม่ทำให้ข่าวหรือข้อมูลเท็จขยายพื้นที่สร้างความสับสนให้กับผู้คนในสังคมออนไลน์
จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีข่าวเท็จที่เป็น Fake news ออกมาท้าทายข้อเท็จจริงและประกอบสร้างความเชื่อแบบ ‘High truth’ อย่างเป็นระลอก ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีเวิร์ลได้แกะรอย 5 ข่าว Fake ระดับท็อป ได้แก่
- ผู้สมัครประธานาธิบดี Emmanuel Marcon ได้รับทุนสนับสนุนการรณรงค์การเลือกตั้งจากซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นข่าวจากสำนักข่าวในเบลเยี่ยม โดยมีคนกดไลก์กว่า 10,000 ไลก์
- แผนที่แสดงจุดระเบิดและการจลาจลทั่วฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการเอาภาพเก่าจากเหตุระเบิดในปี 2005 ของสำนักข่าว Daily Telegraph มาแชร์ใหม่ โดยสร้างยอดแชร์ได้กว่า 12,500 ครั้ง
- รัฐบาลฝรั่งเศสใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านยูโรไปกับการจ่ายค่าที่พักให้กับผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นข่าวที่มีข้อมูลแบบจับแพะชนแกะจากข่าว 2 ชิ้น โดยข่าวนี้สร้างยอดไลก์ได้ถึง 10,000 ไลก์
- Marine Le Pen ผู้ลงสมัครประธานาธิบดีทวีตข้อความวิพากษ์การ์ตูนรัสเซียในประเด็นใส่ผ้าคาดหัว ซึ่งจริงๆ แล้วเจ้าตัวไม่ได้ทวีตอะไรแต่อย่างใด ข่าวนี้มียอดแชร์กว่า 17,000 ครั้ง
- รัฐบาลฝรั่งเศสปรับลดวันหยุดราชการของศาสนาคริสต์แล้วแทนที่ด้วยวันหยุดของยิวและมุสลิม ซึ่งรัฐบาลไม่เคยออกนโยบายนี้แต่อย่างใด โดยข่าวนี้ได้เสียงตอบรับจากการคลิกไลก์กว่า 6,000 ไลก์
ความน่าสนใจของ Fake news เหล่านี้อยู่ตรงที่ช่วงเวลาในการปล่อยข่าวมีความกระจุกตัวอยู่ในระยะการรณรงค์ของผู้ลงสมัครแข่งขัน คือ หากไล่เรียงการโพสต์ข่าวทั้ง 5 ชิ้นในข้างต้นจะมีการโพสต์ข่าวตามลำดับคือ 15 ก.พ. 24 ก.พ. 26 ก.พ. 12 มี.ค. และ 10 มี.ค. โดยข้อมูลเหล่านี้จะมีส่วนต่อการประกอบสร้างการรับรู้และ High truth ของผู้คนในฝรั่งเศสไม่มากก็น้อย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการเข้าคูหาเลือกตั้งที่มีขึ้นในเดือนเมษายน โดยหากตระหนักถึงการดำรงอยู่ของข่าวเหล่านี้ที่มีการแชร์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดแล้ว ก็จะพบว่าต่อให้ลบข้อความจากต้นตอข่าวเท็จไปแล้ว แต่ก็ไม่อาจกำจัดการบอกต่อกันไปได้
ล่าสุดสหภาพยุโรปได้เน้นให้การตรวจสอบ Fake news เป็นนโยบายที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสหภาพยุโรป ดังจะเห็นได้จากการก่อตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านงานข่าว 11 คนที่ชื่อว่า East Stratcom มาทำหน้าที่เช็กข่าว Fake ในทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ก และข่าวออนไลน์ ด้วยหวาดระแวงต่อกระบวนการโจมตีทางข้อมูลข่าวสารจากประเทศนอกสหภาพยุโรปที่อาจปล่อยข่าวเท็จ ยุยง และลดทอนความน่าเชื่อถือของสหภาพยุโรปอย่างเป็นระบบ ซึ่งหนึ่งในทักษะที่ทีมงานของ East Stratcom ต้องมีคือการรู้ภาษารัสเซีย ซึ่งสะท้อนนัยยะของการตั้งการ์ดรับสงครามข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ไม่ต่างจากช่วงสมัยสงครามเย็น ซึ่งต่างฝ่ายต่างใช้โฆษณาชวนเชื่อเป็นฐานสำหรับการดำเนินการสงครามจิตวิทยาด้านข้อมูลข่าวสารของคนในประเทศ