“And so I enter into evidences,
My tarnished coat of arms
My muses acquired like bruises,
My talismans and charms
The tick
tick
tick
of love bombs
My veins of pitch black ink”
ส่วนหนึ่งของบทกวีโปรยก่อนเปิดตัว ‘The Tortured Poets Department’ อัลบั้มล่าสุดของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) พอจะทำให้แฟนคลับต่างรู้ว่า อัลบั้มนี้จะเปิดเปลือยรสหวานของความสมหวัง และรสขมของความระทมทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตรักของเทย์เลอร์ ผู้เป็นหัวหน้า ‘แผนกกวีชีช้ำ’ ที่เขียนชีวิตด้วยหมึกดำอันเจือด้วยโลหิตแห่งความเจ็บปวดที่พึงใจ
เพราะในวันที่ชีวิตไม่เป็นใจ มีความทุกข์มากมายถาโถมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการงานติดขัด การเงินลำบาก ความรักพังไม่เป็นท่า หรือแม้กระทั่งชีวิตที่เคยอยู่บนจุดสูงสุด ความทุกข์โศกเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ก่อให้เกิดน้ำตาและความเจ็บปวด หากแต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กวีสร้างงานจนกลายมาเป็นชื่ออัลบั้มนี้ หรือแม้กระทั่งคำกล่าวที่ว่า ‘หากคุณอยากมีชีวิตอยู่ตลอดกาล จงหักอกกวี’
The MATTER จึงชวนส่องหาเหตุผลว่า ทำไมพิษช้ำในชีวิตจึงกลายเป็นวัตถุดิบงานเขียนในความทรงจำของคนนับล้านในโลก และกลายมาเป็นคอนเซ็ปต์ของอัลบั้มล่าสุดของเทย์เลอร์ สวิฟต์ที่แมสติดชาร์ตอยู่ตอนนี้
เพราะกวีคือ ‘ผู้มีผัสสะละเอียดอ่อน’
หากเรามองเผินๆ ความทุกข์โศกในชีวิตอาจนำพาความยากลำบาก ความทรมานที่บีบคั้นจนสาหัส ไปจนถึงความเจ็บปวดรุนแรงระดับน้ำตาก็ไม่อาจเยียวยาใจ ทว่าหากมองให้ลึกลงไปแล้ว ความชอกช้ำที่เกิดขึ้นก็อาจจุดประกายให้เกิดบทกวีหลายต่อหลายบทที่นำไปสู่การเข้าใจความหมายของชีวิต
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 ผู้คนเพิ่งเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การใช้แรงงานและการกดขี่เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมสู่ชีวิตของผู้คนจนทำให้รู้สึกสิ้นหวัง แนวคิดจินตนิยม (Romanticism) จึงเกิดขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงธรรมชาติว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าใจชีวิตมนุษย์ กวีจึงมีฐานะเป็นผู้สื่อความให้มนุษย์สามารถเข้าถึงธรรมชาติเพื่อเข้าถึงจิตใจของมนุษย์เอง
วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth) กวีและนักปรัชญาคนสำคัญของแนวคิดจินตนิยมเคยกล่าวไว้ว่า กวีจำเป็นต้องเป็น ‘ผู้มีผัสสะละเอียดอ่อน’ เพื่อเข้าถึงธรรมชาติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แล้วส่องสะท้อนออกมาเป็นบทกวีเพื่อทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริง และอุดมคติที่ว่า สิ่งใด ‘สำคัญ’ ต่อชีวิตมนุษย์ และยิ่งถ่ายทอดออกมาได้ละเอียดลึกซึ้งเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตเท่านั้น
บทกวีจึงไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของความงามทางวรรณศิลป์ แต่ยังมีอีกบทบาทคือการสะท้อนตัวตน ประสบการณ์ รวมถึงความรู้สึกของกวีที่มีต่อสิ่งสิ่งหนึ่งหรือเรื่องเรื่องหนึ่งอย่างชัดเจน และในเมื่อความชอกช้ำคือประสบการณ์ที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ กวีจึงกลั่นเอาความทุกข์ออกมาฉายให้ผู้คนเห็นอย่างงดงามและชัดเจน
ตัวอย่างหนึ่งของการสร้างบทกวีจากประสบการณ์ของตนคือ ‘สุนทรภู่’ หรือชื่อตำแหน่งจริงคือ ‘พระสุนทรโวหาร (ภู่)’ ซึ่งมักกล่าวถึงความชอกช้ำในชีวิตผ่านนิราศเรื่องต่างๆ ในช่วงเวลาที่บวชเป็นพระภิกษุ ความชอกช้ำเหล่านั้นเกิดขึ้นและผ่านการกลั่นกรองจากกวีเอกคนนี้
ไม่ว่าจะเป็นการที่พ่อกับแม่แยกทางกันในขณะที่สุนทรภู่ยังเด็ก ซ้ำด้วยชีวิตราชการที่เคยรุ่งเรืองสุดๆ ในสมัยรัชกาลที่ 2 แต่เมื่อพระองค์สวรรคต สุนทรภู่ก็ได้ตัดสินใจออกจากราชการ ว่ากันว่าเป็นเพราะครั้งหนึ่ง สุนทรภู่เคยหักหน้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ผู้ซึ่งต่อมาได้ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 ต่อหน้ารัชกาลที่ 2 เขาจึงตัดสินใจออกบวชและจาริกไปยังที่ต่างๆ และเคยตัดพ้อถึงชีวิตตัวเองว่าเคยเป็นเหมือน ‘บายศรี’ สิ่งที่มีค่าที่สุดในพิธีมงคลต่างๆ แต่เมื่อหมดวาสนา ก็ถูกทิ้งไม่ต่างกับใบตองธรรมดาๆ
‘เหมือนบายศรีมีงานท่านถนอม
เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา
พอเสร็จงานท่านทิ้งลงในคงคา
ก็ลอยไปลอยมาเหมือนใบตอง’
หรือหากข้ามไปอีกซีกโลก ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน (Hans Christian Anderson) นักเขียนนิทานคนสำคัญของโลก ผู้แต่งนิทาน ‘เงือกน้อย’ (The Little Mermaid) และอื่นๆ ซึ่งกว่าเขาจะกลายเป็นนักเขียนชื่อก้องโลก เขาก็ประสบความชีช้ำในชีวิตไม่น้อย
แอนเดอร์สันเกิดในครอบครัวในสลัม ถูกล้อเลียน และถูกกีดกันจากงานแสดงละคร เพราะรูปร่างหน้าตาของเขาไม่ตรงตามมาตรฐานความงาม ซ้ำยังช้ำรักหลายต่อหลายครั้ง ทว่าความรักในนิทานและการอ่านได้ผลักดันให้เขาเป็นนักเขียน ที่แม้จะถูกปฏิเสธต้นฉบับหลายต่อหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ จนกลายเป็นนักเขียนนิทานที่มีชื่อเสียงในที่สุด และว่ากันว่า นิทานเรื่อง ‘ลูกเป็ดขี้เหร่’ กลั่นออกมาจากการถูกล้อเลียนและถูกกีดกันในวัยเยาว์ของเขาเอง
เพราะแบบนั้นผัสสะอันละเอียดอ่อนของกวีและนักเขียนจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การหยิบจับเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ มาบอกเล่าให้สวยงามจับใจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการหยิบเอาเรื่องราวความชีช้ำในชีวิตมาร้อยเรียงให้เห็นแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะตัดพ้อในโชคชะตา หรือบอกกล่าวว่าหลังพายุฝนฟ้ากระหน่ำมีชีวิตที่สวยงามรออยู่เสมอ
เพราะเรื่องเศร้าทำให้เรา ‘สะเทือนใจ’
ถ้าคุณรับรู้เรื่องเศร้าของคนรอบตัว คุณจะรู้สึกอย่างไร?
ไม่ว่าจะเป็นความเสียดาย ความเสียใจ หรือความสะเทือนใจ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความทุกข์ทำงานกับหัวใจคนเราได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งเรื่องของคนอื่น ยิ่งโศกเศร้ารุนแรงเท่าไร ก็ยิ่งสะเทือนใจมากเท่านั้น
บทละครประเภทโศกนาฏกรรม (Tragedy) อย่างอีดิปุส (Oedipus) แฮมเลต (Hamlet) หรือโรเมโอและจูเลียต (Romeo and Juliet) อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่พอจะบอกถึงความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่าแห่งความทุกข์เศร้าชีช้ำได้เป็นอย่างดี เพราะแนวคิดหลักของโศกนาฏกรรมคือ การเปิดเผยให้เห็น ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ของชีวิตมนุษย์
และแม้เรารู้กันดีว่าความเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ทว่าสิ่งที่ทำให้บทละครโศกนาฏกรรมเหล่านี้โดดเด่นขึ้นมาคือการขับเน้นเหตุการณ์ในโครงเรื่อง โศกนาฏกรรมจึงถูกเขียนออกมาอย่างละเอียดเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเหตุและผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง เพื่อให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนที่สุด
ยกตัวอย่างจากบทละครโศกนาฏกรรมตลอดกาลอย่าง ‘อีดิปุส’ ที่ผู้แต่งหยิบยกเอาตำนานมาเล่าว่า มีพระราชาองค์หนึ่งได้รับคำทำนายว่าลูกชายจะฆ่าตนเอง พระราชาจึงสั่งให้ทหารนำ ‘อีดิปุส’ ลูกชายของตนไปฆ่าทิ้ง แต่อีดิปุสก็รอดชีวิตมาได้ และมีครอบครัวกษัตริย์อีกเมืองรับไปเลี้ยงดูอย่าง ทว่าเมื่อเติบโตขึ้น อีดิปุสรู้คำทำนายว่าตนจะกระทำปิตุฆาต จึงหนีออกมาจากเมืองนั้น และไปฆ่าพระราชาของเมืองหนึ่งโดยบังเอิญ อีดิปุสจึงกลายเป็นพระราชาของเมืองนั้น และแต่งงานกับราชินีองค์ก่อน ก่อนจะรู้ความจริงว่าอีดิปุสแต่งงานกับแม่ของตัวเอง และพระราชาที่เขาฆ่าคือพ่อของตน ด้วยความเสียใจ อีดิปุสจึงแทงตาตัวเองสองคนจนบอดสนิท
แน่นอนว่าในบทละครดังกล่าวมีการวางรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนในการไม่ให้ผู้อ่านรู้ว่าอีดิปุสเป็นบุตรของราชาที่เขาสังหาร เพื่อเปิดโปงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างพลิกผันในชะตาชีวิตของตัวละคร จนก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจรุนแรง จนกลายเป็นการชำระจิตใจให้สะอาดที่เรียกว่า ‘Catharsis’ และก่อให้เกิดความตระหนักเกี่ยวกับความพลิกผันของชีวิตมนุษย์
แม้ชีวิตจริงอาจยิ่งกว่านิยาย แต่ด้วยบทบาทของความเป็นบทละคร กวีผู้แต่งโศกนาฏกรรมจึงมีหน้าที่ในการสะท้อนความเป็นจริงของชีวิต แม้จะเป็นความเป็นจริงที่ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของผู้อื่นก็ตาม เพื่อสิ่งสำคัญที่สุดคือการส่งสารจากละครไปให้ผู้ชมตระหนักได้ถึงต้นเหตุของความชีช้ำของตัวละคร และย้อนกลับมามองชีวิตของตนเองในที่สุด และเมื่อเป็นแบบนั้นความชีช้ำที่ถูกถ่ายทอดอย่างยิ่งใหญ่ จึงกลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญที่กวีจะร้อยเรียงให้เราเห็นทุกข์จนรู้สึกสะเทือนใจในที่สุด
เพราะความชีช้ำมาจากสังคม
บ่อยครั้งที่ชีวิตเราดูจะเป็นสุข แต่กลับทุกข์เพราะถูกมาตรฐานบีบคั้น ความทุกข์ของคนในสังคมจึงไม่ได้มีแต่เพียงชะตาชีวิตที่ร้ายใส่ แต่อาจมาจากปัจจัยรอบตัวที่เราอาจไม่คิดว่าผลกระทบของมันร้ายแรงสาหัส
หนึ่งในนั้นอาจเพราะมาตรฐานทางสังคมที่กำหนดชีวิต ตีเส้นให้เราดำเนินตาม และเบียดขับคนที่แตกต่างออกไป ความชีช้ำของผู้ที่อยู่นอกมาตรฐานของสังคมจึงเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่นอกสายตาของคนส่วนใหญ่ กระนั้น ก็ไม่มีอะไรบอกว่าความชีช้ำของคนเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง
บทกวีจึงเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ ‘เสียง’ ของผู้ที่ถูกกดทับมีที่ทาง ตั้งคำถามกับมาตรฐานที่เป็นเหมือนภาพลวง และให้ความสำคัญกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ตลอดจนจิตใจของแต่ละคนที่จะเป็นไปอย่างเสรี โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ที่เราอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นคู่สังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน และถูกกีดกันด้วยมาตรฐานของสังคม
ย้อนกลับไปในสมัยกรีก มีกวีหญิงนางหนึ่งนามว่า ‘แซฟโฟ (Sappho)’ นางเป็นลูกสาวเศรษฐีแห่งเกาะเลสบอส (Lesbos) ด้วยความที่นางมีฐานะร่ำรวย นางจึงได้เรียนหนังสือจนแตกฉาน สามารถเขียนอ่านกวีนิพนธ์ได้ ความสามารถนี้เองที่ทำให้เธอกลายเป็นครู ผู้สอนวรรณกรรมแก่สตรีโสด เพื่อเตรียมตัวเป็นภรรยาผู้ปราดเปรื่องเพียบพร้อมในสังคมกรีก
ทว่าชีวิตรักของแซฟโฟอาจไม่ตรงตามขนบที่เธอต้องรับใช้ เพราะจากบทกวีที่เหลือสมบูรณ์ของเธอได้สะท้อนให้เห็นแรงปรารถนาที่เธอมีต่อสตรีเช่นเดียวกับเธอ โดยได้อ้อนวอนขอให้อะโฟรไดตี เทวีแห่งความรักดลใจให้สมปรารถนาในรักกับสตรีผู้งดงามอีกคนหนึ่ง
‘If she runs now she’ll follow later,
If she refuses gifts she’ll give them.
If she loves not, now, she’ll soon
Love against her will.’
แต่ว่ากันว่า เธอเองก็มิอาจฉีกขนบของความเป็นหญิงในสังคมไปได้ เพราะเธออาจเคยเข้าพิธีแต่งงานกับชายชั้นสูงเช่นกัน ชีวิตอันคลุมเครือของแซฟโฟจบลงอย่างไรไม่แน่ชัดนัก แต่ว่ากันว่า เธอตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงมาจากที่สูง ซ้ำด้วยเวลาต่อมา บทกวีของแซฟโฟถูกทำลายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ ทำให้ผลงานของแซฟโฟหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก จนเป็นช่องว่างให้กวีและศิลปินหลายคนเติมแต่งเรื่องราวให้เธอ และชื่อของเธอและเกาะที่เธออาศัยก็ได้กลายมาเป็นที่มาของคำเรียกหญิงรักหญิงอย่าง ‘แซฟฟิก (Sapphic)’ และ ‘เลสเบี้ยน’ ที่ใช้กันอย่างเป็นสากลมาจนปัจจุบัน
หรือหากจะมีกวีคนใดที่โศกตรมชอกช้ำจากสังคม ชื่อของ ‘ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde)’ เจ้าของผลงานอมตะอย่าง ‘The Picture of Dorian Gray’ คงเป็นชื่อที่จารึกในทำเนียบแผนกกวีชีช้ำได้ไม่ยากจากความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา
ไวลด์ถือเป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญในยุควิกตอเรียน ด้วยฝีปากคมคาย ความคิดที่เปิดเผยแง่มุมที่ยอกย้อนของชีวิตมนุษย์ และแนวคิด ‘ศิลปะเพื่อศิลปะ’ ที่สะท้อนให้เห็นผ่านความงามของภาษาอย่างชัดเจน อย่างวรรคทองจาก ‘The Ballad of Reading Gaol’ บทนี้ที่พูดถึงความจริงในชีวิตว่า เราอาจพรากจากสิ่งที่รักได้หลากหลายวิถีทางเหลือเกิน
‘Yet each man kills the thing he loves
By each let this be heard
Some do it with a bitter look
Some with a flattering word
The coward does it with a kiss
The brave man with a sword’
ออสการ์เขียนกวีนิพนธ์บทนี้ขึ้นขณะอยู่ที่ฝรั่งเศส ที่พำนักสุดท้ายในชีวิตของเขา หลังจากที่เขาถูกจำคุกในข้อหามีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่าออสการ์คบหากับอัลเฟรด ดักลาส (Alfred Douglas) เพื่อนสนิทร่วมวงการของเขา และหลังจากพ้นโทษ เขาประสบภาวะล้มละลายจนทำให้ต้องย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส และเขียนกวีนิพนธ์นี้เพื่อบอกเล่าชะตากรรมที่เขาต้องพบเจอในคุกจากสิ่งที่เขาไม่ควรจะต้องถูกตั้งข้อกล่าวหา
กวีนิพนธ์จึงทำหน้าที่เป็นสิ่งที่สะท้อนความอยุติธรรมในสังคม ผ่านชีวิตของกวีที่เป็นปริศนา ชะตาชีวิตที่พลิกผันเพียงเพราะไม่ตรงกับมาตรฐานของสังคม หรือแม้กระทั่งเป็นเครื่องยืนยันเสรีภาพในความคิดและความรู้สึกที่ไม่ทำให้เดือดร้อนใคร และกลายมาเป็นไอคอนสำคัญที่ทำให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงพลังและอิสระของตนไปด้วย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวกวีเอง เรื่องของผู้อื่น หรือแม้แต่บทละครก็ตาม ความชีช้ำที่ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาและปลายปากกาของกวีจึงไม่เพียงแต่ทำให้เราเห็นความเจ็บปวดจากความทุกข์และเรื่องเลวร้ายในชีวิตเท่านั้น ทว่ายังทำให้เราเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกันและกัน ตระหนักถึงความจริงในชีวิตว่าความทุกข์คือส่วนผสมหนึ่งในชีวิตที่ไม่อาจแยกขาดออกไปได้ ความชีช้ำอันงดงามเหล่านี้จึงถูกกลั่นและกรองให้เป็นกวีนิพนธ์อันงดงาม ส่งต่อสุนทรียะให้ผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเรียนรู้ส่วนสำคัญแห่งความเป็นจริงของชีวิตตลอดมา
อ้างอิงจาก