มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The Verge ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่องเป้าหมายใหม่ของเฟสบุ๊คในการเป็น ‘metaverse company’ เพื่อที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ ‘มีตัวตน’ ผสมผสานระหว่างโลกของความจริงกับโลกเสมือนให้มากกว่าที่เคยเป็นมาก่อน
แน่นอนว่าหลังจากที่ข่าวนี้มีการแพร่กระจายออกไปคนก็เริ่มตั้งคำถามกันว่าแล้วอะไรล่ะคือ ‘metaverse’ มันเหมือนคำศัพท์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดความสนใจ สร้างประเด็นเพื่อให้สื่อเอาไปเขียนเป็นข่าวรึเปล่า แต่ที่จริงแล้วแผนการที่ซักเคอร์เบิร์กคิดและวางไว้สำหรับเรื่องนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก แนวคิดของ metaverse มีประโยชน์และน่าจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะหนึ่ง การทำความเข้าใจว่ามันคืออะไรจะช่วยทำให้เรารับมือกับมันได้ง่ายขึ้น เพราะเรียกได้ว่าถ้าเขาทำสำเร็จ เราคงมีโอกาสเห็นโลกที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากตอนนี้และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
Metaverse คืออะไร?
ที่จริงแล้วไอเดียของ metaverse นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกของนิยายไซไฟหรือโลกของเกม แต่สำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่หรือประชากรในกลุ่มอื่นที่ไม่ได้มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่แรกก็อาจจะยังไม่คุ้นสักเท่าไหร่
คำว่า ‘metaverse’ ถูกพูดถึงอย่างมากจากหนังสือเรื่อง Snow Crash ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1992 โดยนักเขียนชื่อว่า นีล สตีเฟนสัน (Neal Stephenson) เขาให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Vanity Fair ว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่เขาแต่งขึ้นมาเฉยๆ เพื่อนิยายที่ตัวเองเขียน แต่สิ่งที่เขาเขียนกลับกลายเป็นแรงบันดาลใจ และกลายเป็นความเชื่อว่านั่นคืออนาคตที่จะมาถึงจริงๆ ยกตัวอย่าง Avi Bar-Zeev ผู้สร้าง Google Earth เคยบอกว่าวิสัยทัศน์ของสตีเฟนสันคือสิ่งที่จุดประกายในการออกแบบของเขาเลย นอกจากนี้หลายต่อหลายคนเรียกสตีเฟนสันว่านอสตราดามุสแห่งโลกเทคโนโลยี เพราะเขาได้เคยทำนายไว้ถึงการเสพติดเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่ติดตัวเราไปตลอด ไปจนถึงโลกที่ทุกอย่างกลายเป็นดิจิทัลทั้งหมด
อย่างที่เราทราบกันดีว่ามนุษย์ได้สร้างเทคโนโลยีมากมายเพื่อใช้กับประสาทสัมผัสต่างๆ ของเรา ตั้งแต่ลำโพง โทรทัศน์ วีดีโอเกม ไปจนถึงโลกเสมือน และต่อไปในอนาคตเราก็คงได้เห็นเทคโนโลยีที่มาพร้อมกลิ่นและสัมผัสด้วย แต่เรามันก็ยังไม่มีคำที่จะอธิบายถึงการเชื่อมต่อกันระหว่างโลกแบบเดิมที่เราอยู่ในปัจจุบันกับโลกเสมือนที่เป็นส่วนขยายที่ถูกสร้างขึ้นมาบนอินเทอร์เน็ต
metaverse คือคำที่ถูกใช้เพื่ออธิบายสิ่งนี้ มันเป็นพื้นที่เสมือนที่มนุษย์ (ในโลกความจริง) สามารถเข้าไปอยู่ในนั้นได้โดยใช้ตัวตนแบบดิจิทัล มีตัวตนอยู่ทั้งในโลกของความจริงและโลกเสมือนในเวลาเดียวกัน จนอาจจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้ว่าอันไหนคือความจริงและอันไหนที่ไม่ใช่
สำหรับคนที่เป็นคอภาพยนต์อาจจะคุ้นเคยกับคอนเซปต์นี้อยู่บ้างเพราะมันถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานของหนังเรื่องดังอย่าง Ready Player One กับ The Matrix
ซึ่งไอเดียของ metaverse ถูกนำมาใช้บ้างแล้วในบางรูปแบบของโลกของเกมอย่าง Animal Crossing และ Roblox หรืออย่าง Fortnite ก็เพิ่งได้รับเงินทุนก้อนไปในช่วงเดือนเมษายนเพื่อจะสนับสนุนแนวคิดในการพัฒนา metaverse และสร้างประสบการณ์ของผู้เล่นให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น แถมในเกมเหล่านี้ก็ยังมีการใช้เทคโนโลยีอย่าง blockchain เพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนไอเทมหรือบริการดิจิทัลในโลกเสมือนด้วย
สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นและเฟซบุ๊กจะใช้มันยังไง?
ในบทความของ The Wired เขียนเอาไว้ว่า เรื่องราวในนิยายหรือหนังที่เราเห็นเกี่ยวกับ metaverse นั้นล้วนแต่เกิดขึ้นเนื่องจากคนอยากหนีออกจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง (อย่างเช่นตอนนี้) เป็นโลกที่ไม่น่าอยู่ มีการกดขี่ข่มเหง เข่นฆ่า เอารัดเอาเปรียบ ความแตกแยก สงคราม โรคระบาด ฯลฯ เป็นโลกที่อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น metaverse เลยกลายเป็นที่ต้องการ เป็นสถานที่แห่งการหลบหนีไปสู่ความสบายใจ หลีกหนีความเป็นจริงไปสู่โลกออนไลน์
ในช่วงเวลาอย่างเช่นตอนนี้ที่โรคระบาดยังคงคุกคามชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่แล้วจะต้องพึ่งพาการใช้ชีวิตออนไลน์มากขึ้น (ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่) และห่างจากการปฏิสัมพันธ์แบบออฟไลน์เหมือนที่เราเคยเป็นมาเมื่อสองสามปีก่อน โลกที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ความไม่เท่าเทียมกันของสังคม สิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่โดนเอาเปรียบ การเมืองที่เหมือนทางตันไม่มีทางแก้ เศรษฐกิจที่พร้อมจะล่มสลายได้วันนี้พรุ่งนี้ ฯลฯ
พอมองแบบนี้การหนีไปยัง metaverse ก็ดูจะน่าดึงดูดไม่น้อย
นักลงทุนชื่อ Matthew Ball ได้แชร์ความเห็นของเขาในบทความออนไลน์เกี่ยวกับเรื่อง Metaverse แบบละเอียดยิบ (ใครสนใจอยากให้ลองเข้าไปอ่าน ‘The Metaverse Primer’ — MatthewBall.vc นะครับ เพราะเขาแยกเป็นประเด็นๆ อ่านสนุกมาก) เขาเชื่อว่าต่อไปเราจะได้เห็นโลกอีกใบหนึ่งจริงๆ ที่มาพร้อมกับระบบเศรษฐกิจที่เต็มรูปแบบ เวลาที่เดินไปพร้อมๆ กับโลกจริง ความเป็นเจ้าของอย่างพวกที่ดิน บ้าน รถ เสื้อผ้า ผ่านแพลตฟอร์มหลายๆ แห่งที่เชื่อมต่อกัน พูดแบบให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นก็คือเป็นเหมือนเกมที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลาที่เราสามารถเข้ามาเล่นได้ พบเจอคนอื่นได้ ทำธุรกิจในนั้นได้ เป็นเจ้าของบางส่วนหรือบางอย่างของพื้นที่โลกเสมือนที่สร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์
ในบทสัมภาษณ์ของซักเคอร์เบิร์กบอกว่าบริษัทจะลงทุนหลายพันล้านเหรียญเพื่อผลักให้พวกเขาเป็นผู้นำใน metaverse ให้ได้ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นหลายร้อยตำแหน่งในส่วนของ Metaverse Product Group แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการสร้างเฟซบุ๊กให้เป็นพื้นที่ที่เราสามารถเข้ามารับประสบการณ์และแชร์สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกเสมือนอย่างเต็มที่ ให้คนสามารถล็อกอินเข้ามาแล้วใช้เวลาด้วยกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน พูดคุย ประดิษฐ์สิ่งของ เล่นเกม อาจจะเดินทางไปเที่ยวที่ต่างๆ ทำงาน หรือแม้แต่นั่งทำงานในออฟฟิศเสมือนก็มีโอกาสเป็นไปได้
อุปกรณ์แว่นตา VR อย่าง Oculus และโลกเสมือน Facebook Horizons (ที่ตอนนี้เปิดให้คนมาลองเล่นแล้วแบบ invite-only) ก็จะได้รับการสนับสนุ้นมากขึ้นจากเฟซบุ๊กอย่างแน่นอน (แม้ว่าตั้งแต่เฟซบุ๊กซื้อบริษัท Oculus เมื่อเจ็ดปีก่อนจนถึงตอนนี้จะยังไม่สามารถทำคาดหวังเอาไว้ก็ตาม)
มันยากที่จะบอกว่าต่อไป metaverse จะออกมาในรูปแบบไหน แต่สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ metaverse จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างผลประโยชน์ในการสร้างรายได้ (ให้กับตัวเองและบริษัทต่างๆ) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าที่ไหนก็ตามที่มนุษย์ไปใช้เวลาตรงนั้น ที่นั่นก็จะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ไอเทมในเกม ป้ายโฆษณา ทำกิจกรรม คอนเสิร์ตแบบเสมือน ขายงานดิจิทัล แลกเปลี่ยนที่ดินหรือสินค้าดิจิทัล ซึ่งก็คงมีการใช้คริปโตเคอร์เรนซีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีนี้จะมีความเชี่ยวชาญและใช้มันเพื่อเชื่อมต่อพวกเขากับคนอื่นๆ อาจจะเป็นการทำงานร่วมกัน เรียนรู้ประเด็นสำคัญ สื่อสารแลกเปลี่ยนและแสดงออกในความคิดต่างๆ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าในเมื่อ metaverse จะกลายเป็นโลกเสมือนที่เราเข้าไปใช้เวลาในนั้น ทุกอย่างควรจะเชื่อมต่อกันเหมือนอย่างที่โลกแห่งความจริงเชื่อมต่อกันรึเปล่า ยกตัวอย่าง สมมติว่าตัวละครหนึ่งที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กจะไปโผล่ในแพลตฟอร์มของกูเกิลได้ไหม ‘ถ้าได้’ บริษัทเหล่านี้จะต้องร่วมมือกันสร้าง metaverse ขึ้นมาภายใต้กฎหมายควบคุมแบบไหน หรือมีใครเป็นคนดูแลสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกเสมือนรึเปล่า (มีตำรวจไหม?) หรือ ‘ถ้าไม่ได้’ ประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะถูกตีกรอบด้วยคนที่เราเชื่อมต่อภายในสภาพแวดล้อมเหล่านั้น ก็ไม่ได้แตกต่างจากการต้องเข้าๆ ออกๆ จากเกมหนึ่งไปยังอีกเกมหนึ่ง ซึ่งก็อาจจะดูไม่ได้ดึงดูดเท่าไหร่นัก
ไอเดียของ metaverse อาจจะทำให้เรารู้สึกโลกเสมือนสามารถก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดของโลกแห่งความจริงได้ เราเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น ทำกิจกรรมด้วยกันได้มากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วเราก็ยังถูกจำกัดโดยคนที่สร้าง metaverse ขึ้นมาอยู่ดีว่าจะทำอะไรได้บ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Who Will Win the Metaverse? Not MArk Zuckerberg or Facebook – Bloomberg
Facebook Wants to Expand Into the Metaverse. No One Knows What It Is.
Neal Stephenson Explains Silicon Valley’s Latest Obsession | Vanity Fair
Why is ‘metaverse’ the hottest tech buzzword? Apple has something to do with it – MarketWatch
Mark Zuckerberg is betting Facebook’s future on the metaverse – The Verge
What Is the Metaverse? – The New York Times
‘The Metaverse Primer’ — MatthewBall.vc
Evolving User + Business Behaviors and the Metaverse — MatthewBall.vc
Zuckerberg Says Facebook Will Eventually Become ‘a Metaverse Company’