เมื่อเดือนที่ผ่านมาเราคงได้ยินคำว่า ‘metaverse’ มาแล้วพอสมควร มันคือเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่พูดถึงจนติดเทรนด์ร้อนแรงบน Google Trends มาตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ถึงแม้ metaverse จะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเพราะคอนเซปต์เองก็มีมานานแล้ว (ดูอย่างหนังเรื่อง The Matrix กับ Ready Player One หรืออย่างในเกม Second Life)
metaverse เพิ่งมาได้รับความสนใจอีกครั้งก็เพราะ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ได้ออกมาประกาศอย่างยิ่งใหญ่ว่าต่อไปบริษัท Facebook จะหันไปโฟกัสที่เทคโนโลยีโลกเสมือนที่เรียกว่า metaverse พร้อมเปลี่ยนชื่อของบริษัทแม่เป็น Meta ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย
แต่ถ้าย้อนไปก่อนปรากฏการณ์ metaverse จะมีอีกข่าวหนึ่งของ Facebook ที่เป็นกระแสนั่นก็คือ เรื่องของเอกสารภายในที่เล็ดลอดออกมา นักข่าวและผู้ใช้งานที่อยู่ทั่วโลกต่างจับจ้องไปยังประเด็นที่ว่าทำไม Facebook ถึงไม่ตัดสินใจแก้ไขอะไรเกี่ยวกับ Instagram เมื่อข้อมูลในเอกสารบ่งบอกอย่างชัดเจนว่ามันส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในเด็กผู้หญิงวัยรุ่นมากขนาดไหน และยังมีเรื่องการผลักดันโพสต์ที่ส่งเสริมความแตกแยกและข่าวปลอม (อย่างเรื่องข่าวปลอมการฉีดวัคซีน COVID-19 ที่ไม่เป็นจริง) ให้มีคนเห็นมากขึ้นเพื่อต้องการยอดการมีส่วนร่วม
จึงมีการตั้งคำถามกันว่า การประกาศเรื่องของ metaverse
เลยเป็นเหมือน ‘การบ่ายเบี่ยง’ ประเด็นให้คนเห็นไปสนใจเรื่องอื่นซะมากกว่ารึเปล่า?
หรือว่าพวกเขาตั้งใจอยากทำทุ่มเทกับการสร้างโลกเสมือนขึ้นมาจริง ๆ กันแน่?
ในวีดีโอเปิดตัว metaverse ซักเกอร์เบิร์กบอกว่า ต่อไปในอนาคตเราจะทำงาน เล่น และมาร่วมงานปาร์ตี้วันเกิดด้วยตัวคาแรคเตอร์ (ที่เรียกว่า avatar) ในโลกเสมือนที่ Facebook สร้างขึ้นมา โดยวีดีโอตัวอย่างที่เขาโชว์ เราจะเห็นตัว avatar ของซัdเกอร์เบิร์กลอยเข้ามาร่วมงานด้วยจรวดอวกาศ ในห้องเสมือนที่เหมือนอยู่นอกโลก ถูกสร้างขึ้นโดยครีเอเตอร์ในลอสแอนเจลิส ก่อนจะกดรับสายโทรศัพท์ที่ดังขึ้นจากเพื่อนของเขาเพื่อเอางานศิลปะสามมิติมาโชว์ในโลกเสมือน ต่อจากนั้นเขาก็กดซื้องานศิลปะนั้นในรูปแบบ NFT ด้วยเงินดิจิทัล เพื่อเก็บเอาไว้ไปใช้ในพื้นที่โลกเสมือนแห่งอื่นด้วย
ทิ้งโลกแห่งความจริงที่เลวร้าย
ยังไงก็ตามที ไม่ว่าซักเกอร์เบิร์กจะพยายามกลบเกลื่อนหรือเบี่ยงเบนประเด็นจริง ๆ หรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นก็คือในอนาคตที่ไม่ไกลต่อจากนี้มากนัก metaverse น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นจริงๆ โลกเสมือนจริงของเขาดูจะเป็นวิธีหนึ่งในการหลบหนีจากความเสียหายและเหตุการณ์เลวร้ายที่เขาสร้างขึ้นมาบนโลกแห่งความจริง และเป็นเรื่องที่ปฎิเสธได้ยากว่า ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง Facebook เองก็ส่งผลกับการปลุกระดมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมาร์ การระดมกลุ่มม็อบลินช์ในอินเดียและศรีลังกา ขยายลัทธิชาตินิยมผิวขาวในสหรัฐอเมริกา แถมยังให้พื้นที่ในการกระจายข่าวปลอมที่ต่อต้านวัคซีนในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลก
แทนที่จะจัดการกับความหายนะนี้ ซักเกอร์เบิร์กเลือกที่จะหันความสนใจไปโฟกัสที่โลกเสมือน เลือกจะทุ่มพลังงาน ความสามารถ ทรัพยากรเงินและบุคคลเพื่อพัฒนาโลกเสมือนที่สวยงาม ไปยังดินแดนที่เราจะเป็นใครก็ได้ เสแสร้งเป็นเพื่อนกับตัวละครอื่นๆ เพื่อไปเล่นเป็นโจรสลัด นั่งเล่นไพ่โป๊กเกอร์กับหุ่นยนต์ สามารถซื้องานศิลปะสามมิติ เสื้อผ้าดิจิทัลมาตบแต่งตัวละคร ในขณะที่โลกแห่งความจริงนั้นเต็มไปด้วยปัญหาและเลวร้ายลงทุกขณะ
ซักเกอร์เบิร์กเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลผู้นำที่มีทั้งอิทธิพลและทรัพยากรที่กำลังพยายามจะหลบหนีออกจากโลกแห่งความจริงแห่งนี้ เป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและกอบโกยไปมากมายแล้วจากโลกเวอร์ชั่น 1.0
เจฟฟ์ เบโซส์, อีลอน มัสก์, และ ริชาร์ด แบรนสัน สามมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกต่างก็หมกมุ่นกับการพยายามเดินทางออกจากโลกใบนี้เพื่อไปตั้งรกรากและสร้างอาณานิคมอยู่ที่อื่น แม้ว่าจะยังไม่มีทางเป็นไปได้ในเร็วๆ นี้ แต่ก็ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อจะเอาชนะในการแข่งขันการไปใช้ชีวิตในอวกาศ เบโซส์บอกว่า “มันถึงเวลาที่เราจะกลับไปดวงจันทร์แล้ว ครั้งนี้ไปอยู่เลย”
คำถามที่เราอาจจะสงสัยก็คือว่า “ตอนนี้คือเวลาที่สมควรรึเปล่า?” แน่นอนเรื่องธุรกิจหรือความฝันก็เรื่องหนึ่ง เพราะทุกคนก็คงต้องพยายามวิ่งตามแรงบันดาลใจของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าเครือข่ายธุรกิจของมหาเศรษฐีเหล่านี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมลภาวะให้กับโลกใบนี้ไม่น้อยด้วยเช่นเดียวกัน ทว่า ตอนนี้พวกเขากลับเลือกที่จะโฟกัสไปที่การเดินทางออกนอกโลก? โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่โลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ มลภาวะและภาวะโลกร้อนที่โหดร้าย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนหลายประเทศริมฝั่งต้องเริ่มวางแผนเผชิญหน้าการอพยพผู้คนและรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไฟป่าที่เผาไหม้รุนแรง สภาวะอากาศที่แปรปรวนตลอดทั้งปี น้ำท่วมอุทกภัยที่เลวร้ายเกิดบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ
จากรายงานของ The Guardian บอกว่ามีคนล้มตายเพราะอากาศที่ร้อนระอุทั่วโลกกว่า 5 ล้านคนในทุกปี และมีโอกาสที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น นับเป็นสถิติที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก ซึ่งยังไม่นับถึงเรื่องของการแพร่ระบาดระดับโลกของ COVID-19 ที่ยังไม่จบสิ้น
ดูเหมือนว่าถ้าเลือกได้ หลายคนก็อาจจะอยากจะหนีออกจากโลกที่โหดร้ายใบนี้กันหมด
แต่มีเพียงคนหยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่ดูเหมือนจะมีโอกาสทำอย่างนั้นได้
สิ่งที่กลุ่มมหาเศรษฐีเหล่านี้เลือกทำนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แค่มันดูเป็นภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างแย่และเห็นแก่ตัวไปสักนิด มันดูเหมือนฉากในหนังเกรดบีที่โลกกำลังจะระเบิดและคนที่ร่ำรวยมหาศาลกลุ่มหนึ่งกำลังวิ่งไปที่ยานอวกาศส่วนตัวเพื่อหนีออกนอกโลกเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งอย่างที่บอกว่ามันผิดไหมก็คงไม่ผิด แต่จะเป็นไปได้ไหม … หรือดีกว่านี้ไหม … ถ้าพวกเขา ‘เลื่อน’ โปรเจกต์ส่วนตัวเหล่านี้ออกไปอีกสักนิด ชะลอการสร้าง metaverse ชะลอการแข่งขันเพื่อจะไปตั้งรกรากบนดาวเคราะห์ดวงอื่น จนกว่าโลกใบนี้ บ้านของเราหลังนี้จะกลับคืนสู่สภาวะที่ดีขึ้นกว่านี้อีกสักหน่อย ช่วยระดมสมอง ระดมเงินทุนกันช่วยแก้ไขหาทางออกเพื่อช่วยหยุดภาวะโลกร้อน มีวัคซีนฉีดกันครบถ้วนหน้า ไม่ต้องกังวลว่าวันไหนไวรัสจะมาพรากชีวิตของตัวเองและคนที่เขารักไป ช่วยอีก 8 พันล้านชีวิตที่ยังต้องอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ก่อน
คนที่ร่ำรวยเหล่านี้ก็อาจจะมองว่านี่มันเป็นปัญหาของทั้งโลก ทั้งโลกก็ควรจะช่วยกันแก้ไม่ใช่แค่พวกเขา ทำไมต้องเป็นหน้าที่ของพวกเขาด้วยล่ะ แต่ในขณะเดียวกัน อิทธิพล ผลกระทบ ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของพวกเขาหนึ่งคนนั้นสามารถสร้างผลกระทบได้มากขนาดไหน และพวกเขาได้ใช้ประโยชน์จากโลกที่นำไปสู่ความร่ำรวยมาแล้วมากแค่ไหน
การพูดแนะนำ การทำเป็นตัวอย่าง การช่วยกันคิดหาทางออกและร่วมกันแก้ไขปัญหาของเหล่าผู้มีอิทธิพล
จะสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างมาก
metaverse ของซักเคอร์เบิร์กนั้นสร้างโลกเสมือนที่ดูสดใส ที่ Facebook ยังไม่ได้ไปบ่อนทำลาย แต่การไปนั่งเล่นไพ่โป๊กเกอร์กับเพื่อนคาแรคเตอร์คนอื่นในห้องที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยครีเอเตอร์ทั้งหลาย ตอนนี้ก็ยังเป็นเพียงแฟนตาซีในจินตนาการเท่านั้น ซึ่งไอเดียนี้ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิด มีหลายบริษัทที่ได้ลองสร้างโลกเสมือนอย่าง Second Life, Sansar หรือ High Fidelity เป็นพื้นที่สังคมออนไลน์ที่ใช้อุปกรณ์ VR เพื่อเข้าไปเล่นแต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมเพราะเทคโนโลยียังไม่รองรับ (“ของนายเป็นไงบ้าง ตอนนี้เน็ตที่บ้านห่วยมาก ไม่ได้ยินอะไรเลย”) โลกเสมือนเหล่านี้เป็นเพียงเทคโนโลยีที่จะได้รับความนิยมในกลุ่มคนเล็กๆ เพียงเท่านั้น
เกือบสองปีที่ผ่านมา เราเห็นคนทำงานจากบ้านเป็นเรื่องปกติ มีเทคโนโลยีมากมายที่พยายามสร้างโลกเสมือนเพื่อให้คนเหมือนกลับมาทำงานในออฟฟิศเหมือนเดิม แต่สุดท้ายก็มาจบที่การประชุมออนไลน์ใช้ Zoom กันอยู่ทุกวัน เพราะลองจินตนาการว่านั่งทำงานบ้านโดยใส่เฮดเซต VR เพื่อหลอกตัวเองว่านั่งอยู่ในออฟฟิศกับเพื่อนคนอื่นๆ มันดูเป็นอะไรที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพสักเท่าไหร่
งานอดิเรกของมหาเศรษฐีเหล่านี้มูลค่ามหาศาล ตั้งแต่ metaverse ไปถึงการเดินทางไปดาวอังคาร มีการทุ่มเงินเข้าไปไม่รู้เท่าไหร่เพื่อให้จินตนาการและความฝันกลายเป็นจริงขึ้นมา มันเป็นเรื่องที่น่าทึ่งสำหรับทั้ง SpaceX และ Blue Origin ที่ได้สร้างโอกาสให้มนุษย์สามารถเดินทางไปอวกาศได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความเราจะสามารถยกอุตสาหกรรมหนักที่สร้างมลภาวะไปไว้นอกอวกาศหรือไปสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารได้ในเร็ววันนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยสร้างความการเติบโตของบริษัทและผลักให้หุ้นในตลาดขยับเติบโตไปข้างหน้าเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและผู้ถือหุ้น มากกว่าแค่ความมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยี
ภาพของ metaverse ที่ซัคเคอร์เบิร์กปล่อยออกมานั้นเหมือนเป็นหนังการ์ตูนสั้นที่เขาพยายามวาดให้คนทั้งโลกเห็นว่าเขากำลังพัฒนาสิ่งที่ยอดเยี่ยม สร้างโลกใบใหม่อันงดงามที่เชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน ได้ใกล้ชิดกับคนอื่นๆ มากขึ้น เขาใช้ประโยชน์จากขุมพลังเทคโนโลยีอันทันสมัย ที่ควบคุมการใช้ชีวิตประจำวันของคนหลายพันล้านคนทั่วโลก สร้างโลกอีกใบที่เขาไม่ใช่ตัวร้าย จักรวาลใหม่ที่ทุกอย่างเปิดกว้าง ที่ทุกคนอยากเป็นอะไรก็ได้ อยากทำอะไรก็ได้ อยากสร้างอะไรก็ได้
ไม่ว่า metaverse จะสวยงามขนาดไหน ก็เป็นโลกใบใหม่ที่คนเพียงหยิบมือหนึ่งจะเข้าถึงได้ และถ้ายังไปตั้งรกรากบนดาวเคราะห์ดวงอื่นไม่ได้ ก็ควรมาช่วยกันทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นบ้านที่ดีขึ้นจะดีกว่า
เพราะความจริงสำหรับคนทั่วไปอีก 8 พันล้านคน โลกใบเดิมยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังเต็มไปด้วยมลภาวะและเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะมีโลกเสมือนที่สมบูรณ์แบบอีกกี่ใบก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan