หลายปีที่ผ่านมา Facebook ถือว่าเผชิญหน้ากับพายุและข่าวร้ายต่างๆ มามากมาย ทั้งเรื่องของสิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัว การโปรโมตความรุนแรงผ่านสื่อ ข่าวปลอม อิทธิพลต่อการเมืองและเลือกตั้ง ประชาธิปไตย และอีกมากมาย ส่วนใหญ่แล้วที่ผ่านมาเหตุการณ์เหล่านี้มักจะจบลงที่ข่าวเงียบหายไป หรืออย่างมาก มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของบริษัทก็ออกมาชี้แจงเล็กๆ น้อยๆ และสัญญาว่าจะทำให้โซเชียลมีเดียแห่งนี้ดีขึ้น และทุกอย่างก็วนลูปใหม่อีกครั้งหนึ่ง
สัญญาเหล่านี้หลายครั้งดูมีความจริงใจ สิ่งที่ผู้ใช้งานคาดคิดในหัวก็คือว่า “พวกเขาคงพยายามแก้อยู่ ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือปล่อยปละละเลยหรอก” แล้วก็หวังว่าทุกอย่างจะถูกดำเนินการและแก้ให้ดีขึ้น แต่ความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะช่วงเดือนที่ผ่านมาตามหลักฐานชิ้นใหม่ที่ถูกเปิดเผยบนเว็บไซต์ The Wall Street Journal บ่งบอกว่าสิ่งที่พวกเขาและแรงจูงใจเบื้องหลังนั้นนอกจากจะเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการตัดสินใจของผู้นำที่พวกเขารู้เห็นเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วนานหลายปี แต่ยังปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไปโดยไม่ทำอะไรเลย
มีหลายเรื่องที่รายงานใน The Wall Street Journal กล่าวถึง แต่เรื่องหนึ่งที่อยากยกมาพูดคือ ‘อันตรายต่อสุขภาพจิต’ ของผู้ใช้งานวัยรุ่นใน Instagram (ที่อยู่ภายใต้ Facebook) โดยเฉพาะกับวัยรุ่นผู้หญิง เอกสารงานวิจัยของ Instagram บอกว่า 1 ใน 3 ของเด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่รู้สึกแย่เกี่ยวกับร่างกายของตัวเองนั้น การใช้งาน Instagram ยิ่งทำให้รู้สึกแย่ลงไปอีก (ซึ่งน่าจะเป็นผลจากระบบการจัดอันดับเนื้อหาที่อิงตามการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน) แถมยังรู้สึกว่า Instagram ทำให้กระวนกระวายและซึมเศร้ามากขึ้น และที่สำคัญ คือ ในกลุ่มของผู้ใช้งานเด็กวัยรุ่นที่มีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายโดย 13% เป็นชาวอังกฤษ และ 6% เป็นชาวอเมริกัน บอกว่า ความรู้สึกนี้สามารถไล่ย้อนกลับไปหา Instagram ที่สัมพันธ์กับปัญหาดังกล่าวได้
ตัวเลขเหล่านี้มาจากรายงานงานวิจัยของ Instagram เอง แน่นอนว่า ทุกอย่างนั้น Facebook มีส่วนรู้เห็นและถือข้อมูลไว้ในมือ มีการเปิดเผยและโต้แย้งกลับจากทาง Facebook ที่นำเอาหลักฐานและรายงานมาหักล้างประเด็นดังกล่าว ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันต่อว่า The Wall Street Journal อาจจะทำให้เรื่องนี้บิดเบือนและเลือกชูแค่บางประเด็นที่อาจจะไม่ใช่ภาพรวมของทั้งหมดรึเปล่า นิก เคลกก์ (Nick Clegg) รองประธานฝ่ายกิจการระดับโลกของ Facebook ได้กล่าวว่า ข้อกล่าวหาของ The Wall Street Journal นั้น “ไม่ถูกต้องเลย” เขาบอกว่า
“เราปฏิเสธการนำเสนองานของเราที่ผิดเพี้ยนและขัดต่อแรงจูงใจของบริษัท” เขาบอกต่อว่า “จุดประสงค์ของการวิจัยภายในของ Facebook ‘คือการสะท้อนสิ่งที่เราทำและถามคำถามที่ยาก’ ปัญหาที่ซับซ้อนดังกล่าวมักไม่ได้มาพร้อมกับคำตอบง่ายๆ”
แต่ประเด็นเรื่องของผลกระทบทางสุขภาพจิตของเด็กวัยรุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในรายงานของ Facebook ปี ค.ศ.2017 ก็บ่งบอกเช่นกันว่าแพลตฟอร์มของพวกเขาอาจจะส่งผลเสียต่อผู้ใช้งานขึ้นอยู่กับว่าใช้งานมันยังไง
ผลกระทบที่อาจไม่ดีนัก
ในบทความของสำนักข่าว BBC รายงานเกี่ยวกับงานวิจัยของสถาบันนโยบายการศึกษา (EPI) และ The Prince’s Trust (องค์กรการกุศลเพื่อเด็กที่มีความเสี่ยงในอังกฤษ) ที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปี ค.ศ.2021 ว่า จากการสอบถามเด็กวัยรุ่นกว่า 5,000 คนในอังกฤษ พบว่าความมั่นใจและสภาพจิตใจของเด็กจะไม่แตกต่างกันมากในวัยประถม แต่เมื่ออายุประมาณ 14 ปี สุขภาพจิตจะเริ่มแย่ลงโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ชัดเจนกว่ามาก จากการศึกษา เด็กผู้หญิง 1 ใน 3 ไม่พอใจกับรูปร่างหน้าตาของตัวเองเมื่ออายุ 14 ปี เทียบกับเพียง 1 ใน 7 เท่านั้นตอนจบชั้นประถมศึกษา สิ่งที่พบต่อมาก็คือ ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างการใช้โซเชียลมีเดียอย่างหนักตั้งแต่อายุ 14 ปี และความมั่นใจในตัวเองที่น้อยลง บวกกับความเครียดทางสภาพจิตใจที่สูงขึ้นเมื่ออายุได้ 17 ปี
นักวิจัยของ EPI ยังพบอีกว่า จำนวนคนหนุ่มสาวที่มีแนวโน้มอาการป่วยทางจิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 6 ในปี ค.ศ.2021 จาก 1 ใน 9 ในปี ค.ศ.2017 และในรายงานยังกล่าวต่อว่า
“การใช้โซเชียลมีเดียอย่างหนักถูกเชื่อมโยงกับสุขภาพจิตในทางลบและความมั่นใจในตัวเอง โดยมากเป็นผู้หญิงที่รู้สึกซึมเศร้าและสิ้นหวัง”
หนึ่งในรายงานของ The Wall Street Journal บอกว่า Facebook มีการแชร์ข้อมูลที่สรุปคล้ายกันจากงานวิจัยในเดือนมีนาคม ค.ศ.2020 บอกว่า “การเปรียบเทียบบน Instagram นั้นสามารถเปลี่ยนมุมมองของผู้หญิงวัยรุ่นที่มองตัวและบรรยายตัวเองได้” และทำให้ 1 ใน 3 ของเด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่รู้สึกแย่เกี่ยวกับร่างกายของตัวเองนั้น Instagram ยิ่งทำให้รู้สึกแย่ลงไปอีก
ในบทความบทเว็บไซต์ The Conversation ที่เขียนโดยนักวิจัยจาก University of Melbourne’s National Centre of Excellence in Youth Mental Health ได้มีการเตือนเกี่ยวกับเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียและผลกระทบทางด้านลบที่ตามมาอย่างความเครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เรื่องโภชนาการและความเสี่ยงฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นด้วย เหตุผลที่ยกมามีตั้งแต่การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (cyberbullying) การเปรียบเทียบกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นความจริง (comparisons to unrealistic portrayals) และคอนเทนต์ที่ส่งเสริมการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย (suicide and self-harm content)
มีการศึกษาชิ้นหนึ่งจาก University of Missouri พบว่า ‘ความรู้สึกอิจฉาคนอื่นหรือรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ’ เกิดมากขึ้นเมื่อใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ที่ทำให้ผู้ใช้งานเห็นว่า “คนที่เขารู้จักนั้นมีชีวิตที่ดี มีความสุขในความสัมพันธ์ สิ่งที่ทำให้คนอื่นอิจฉาได้ การใช้งานเว็บไซต์เหล่านี้จะทำให้เกิดความรู้สึกซึมเศร้าได้”
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลกระทบในทางลบเหล่านี้จะทำให้เรารู้สึกว่าโซเชียลมีเดียนั้นก่อให้เกิดแต่ปัญหา แต่ในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะด่วนสรุปแบบนั้นไม่ได้ การจะบอกว่าการใช้โซเชียลมีเดียนั้น ‘ส่งผลโดยตรง’ ให้สุขภาพจิตใจของเราแย่ลงนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะงานวิจัยหรือการศึกษาทั้งหลายนั้นล้วนบ่งบอกไม่ได้ว่า ‘การใช้โซเชียลมีเดียนั้นทำให้เกิดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล หรือว่า เมื่อคนป่วยเป็นซึมเศร้าหรือวิตกกังวลจึงใช้โซเชียลมีเดียมากยิ่งขึ้น’ เพราะอาการป่วยทางจิตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายแบบ มีปัจจัยมากมายที่อาจจะส่งผลกระทบ เพราะฉะนั้นการจะบอกว่าปัญหาสุขภาพจิตมาจากปัจจัยของการใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างเดียวก็ดูจะเป็นการด่วนสรุปมากเกินไป
ผลกระทบในอีกทางหนึ่ง
เราจะบอกว่าโซเชียลมีเดียนั้นไม่มีเรื่องดีเลยก็คงไม่แฟร์เท่าไหร่ เพราะโซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่ให้เราได้เชื่อมต่อถึงเพื่อนฝูง ครอบครัว และคนที่คุณสนใจอยากติดตาม มันเป็นสังคมที่เราเข้าไปใช้ชีวิต มีปฏิสัมพันธ์ สร้างเพื่อนใหม่ๆ มิตรภาพ หางาน หาความรู้ สร้างรายได้ ติดตามข่าวสารมากมาย เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไม่มีประโยชน์เลยก็คงไม่ถูกนัก
ในงานวิจัยฉบับเดียวกันของ University of Missouri ที่เพิ่งพูดถึงไปก็พบว่า สำหรับคนที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเชื่อมต่อกับคนอื่นนั้น แทบไม่มีผลทางลบเลยด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้วสิ่งที่พบกลับตรงกันข้าม ถ้ามันไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉาหรือรู้สึกแย่ Facebook กลับเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีและสร้างผลกระทบทางด้านบวกกับผู้ใช้งานอีกด้วย
มีหลักฐานอีกชิ้นที่น่าสนใจ และบ่งบอกว่าโซเชียลมีเดียนั้นส่งผลดีกับคนที่กำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ โดยการเข้าไปอยู่ในกลุ่มสังคมออนไลน์ที่ช่วยเหลือ ให้ข้อมูล และมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลปัญหาไปด้วยกัน องค์กร Mental Health Foundation ในอังกฤษบอกว่ามัน ‘ปฏิเสธไม่ได้’ เลยว่าเทคโนโลยีออนไลน์นั้นสามารถทำให้พวกเขาเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ และกลุ่มคนที่ไม่ยอมเข้ามารักษาเพราะกังวลการตัดสินจากสังคมที่พวกเขาอยู่ด้วย โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับคนที่มีปัญหาทางสุขภาพ มันทำให้พวกเขารู้ว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มีคนที่เคยผ่านโรคร้ายมาและตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว โซเชียลมีเดียเป็นสังคมที่เขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งได้ ไม่รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว เป็นความรู้สึกที่พวกเขาไม่สามารถไปหาที่ไหนได้ง่าย ๆ เลย
เด็กวัยรุ่นคือกลุ่มคนที่ยังต้องเอาใจใส่
ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) บอกในรายงานของปี ค.ศ.2019 ว่าจากกลุ่มนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลายของไทยกว่า 15,000 คน พบว่า 31.1% เคยมีประสบการณ์ในการถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ และที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นคือ 33.6% เคยกลั่นแกล้งผู้อื่นออนไลน์ โดยตัวเลขที่ยิ่งน่าเป็นห่วงหนักเลยคือ 48.5% ของเด็กที่เป็นเพศทางเลือก (เกือบ 1 ใน 2) มักจะถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์เสมอ เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งทั้งหมด 40.4% เลือกที่จะเก็บเงียบและไม่บอกใคร
เรื่องความกดดันของสังคมและเพื่อนฝูงออนไลน์ก็ยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง แม้ว่าโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จะพยายามออกฟีเจอร์เพื่อป้องกันการใช้งานที่มากเกินไป การตั้งเวลาการใช้งาน หรือ parental-control (จัดการโดยผู้ปกครอง) ก็พอช่วยได้ แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด การสื่อสารจากพ่อแม่เองและสถาบันการศึกษาต้องให้ความร่วมมือและพยายามเข้าใจเด็กๆ ในรุ่นต่อไปให้มากขึ้น การใช้โซเชียลมีเดียแบบ active เช่นการส่งข้อความไปคุยกับเพื่อนหรือทำงานนั้นส่งผลทางบวกให้กับการใช้งาน แต่ถ้าเป็นการใช้แบบ passive เช่นนั่งไถ Instagram กลับพบว่าทำให้รู้สึกเครียดและซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งผลกระทบของมันก็มากน้อยต่างกันไปในแต่ละบุคคลอีกด้วย
แน่นอนว่าสิ่งที่เราคาดหวังจากผู้สร้างแพลตฟอร์มอย่าง Facebook หรือ Instagram นั้นจะพยายามทำให้พื้นที่ออนไลน์เหล่านี้มีประโยชน์มากกว่าโทษ และไม่ได้เห็นผู้ใช้งานเป็นเพียงเครื่องผลิตเงินให้กับบริษัทเท่านั้น พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่าง ‘แท้จริง’ (สักที) แต่ที่สำคัญก็คือว่าเราเองต้องรู้ถึงความเสี่ยง ผลกระทบ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายของการใช้งานในพื้นที่โซเชียลมีเดียด้วย เราจะโทษทุกอย่างที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมว่ามาจากโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้ แต่จะปฎิเสธว่ามันไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ผู้ปกครอง องค์กรที่ดูแลเรื่องของสุขภาพจิต โรงเรียน มหาวิทยาลัย และเด็กๆ วัยรุ่นทั้งหลาย มีบทบาทหน้าที่ของตัวเองที่จะต้องทำเพื่อให้ความเสี่ยงเหล่านี้ลดลงให้เหลือน้อยที่สุด เพราะความจริงอย่างหนึ่งก็คือว่า การใช้งานโซเชียลมีเดียไม่มีทางหายไป แม้ Facebook หรือ Instagram วันหนึ่งจะตายหายไป ก็จะมีโซเชียลมีเดียใหม่ๆ โผล่เพิ่มขึ้นมา ซับซ้อนมากขึ้น และอาจจะอันตรายมากขึ้นด้วย เราต้องจัดการความเสี่ยงและผลกระทบเหล่านี้ด้วยกัน ขณะเดียวกันก็เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากมันให้เต็มที่เพื่อเด็กในรุ่นต่อๆ ไปด้วยเช่นเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart