เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวล่ามาแรงสำหรับมิตรรักแฟนศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนๆ ศิลปะกราฟิตี้และสตรีทอาร์ต ว่ากำลังจะมีนิทรรศการจัดแสดงผลงานของ แบงก์ซี (Banksy) ศิลปินกราฟิตี้และสตรีทอาร์ตนิรนามชาวอังกฤษที่ร้อนแรงที่สุดในยุคปัจจุบันในประเทศไทย แต่ยังไม่ทันไร ก็มีกระแสดราม่าออกมากันให้แซ่ด
ก่อนหน้าที่จะได้ชมนิทรรศการของแบงก์ซีในประเทศไทย ตัวผมเองมีโอกาสได้เดินทางไปดูงานศิลปะที่ประเทศสเปนเสียก่อน แถมวันแรกที่เดินทางไปถึงเมืองบาร์เซโลนา ก็บังเอิญได้ปะเข้ากับพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ พิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้มีชื่อว่า Moco Museum ซึ่งมีงานของแบงก์ซีสะสมอยู่หลายชิ้นเสียด้วย หนึ่งในจำนวนนั้น คือผลงานของแบงก์ซีที่ผมโปรดปรานที่สุดชิ้นหนึ่งอย่าง Home Sweet Home (2006) เหตุผลที่โปรดปรานงานชิ้นนี้ก็เพราะมันเป็นงานที่แบงก์ซีโชว์ความห่ามซ่า ก๋ากั่น ด้วยการซื้อภาพวาดทิวทัศน์สไตล์คลาสิคแบบประเพณีของศิลปะตะวันตก ของศิลปินคนอื่น มาบอมบ์ในสไตล์กราฟิตี้ โดยปาดป้ายตัวหนังสือสีขาวไหลย้อยเป็นข้อความว่า “Home Sweet Home” (บ้านที่แสนอบอุ่น) ทับลงไปตรงกลางภาพเผงเข้าให้
ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะแสดงการเสียดสีภาพฝันอันแสนหวานแต่กลวงเปล่าของเหล่าบรรดาชนชั้นกลางทั้งหลายแล้ว ยังแสดงการวิพากษ์วิจารณ์ถึงบ้านเกิดของเขา อย่างเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ ที่มั่งคั่งจากลัทธิล่าอาณานิคม ธุรกิจการค้าทาส และอุตสาหกรรมยาสูบอีกด้วย ภาพวาดนี้แสดงให้เห็นถึงความห้าวห่ามแหกคอกของศิลปินหัวขบถอย่างแบงก์ซี ที่สามารถเปลี่ยนการทำลายหรือความมือบอนธรรมดาๆ ให้กลายเป็นงานศิลปะไปได้อย่างแสบสันแหลมคม ทำให้เราอดทึ่งในใจไม่ได้ว่า “แบงก์ซี นายนี่มันโคตรซ่าจริงๆ อะไรจริง!”
แต่เมื่อได้เดินทางไปดูงานในพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งในบาร์เซโลนาในวันถัดๆ มา ความทึ่งนั้นก็ลดน้อยลงไปกว่าครึ่ง เพราะเราได้พบว่า ความจริงแล้วในโลกศิลปะเองก็มีศิลปินที่ทำอะไรห่ามๆ ซ่าๆ แบบนี้อยู่ด้วยเหมือนกัน แถมทำมาก่อนแบงก์ซีกว่า 40 ปีด้วยซ้ำไป! ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
ฆวน มิโร (Joan Miró)
จิตรกร, ประติมากร, ศิลปินเซรามิกชาวกาตาลัน ประเทศสเปน ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในโลกศิลปะ จากผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยการทดลองอันน่าตื่นตา และการเล่นกับรูปทรงอันแปลกประหลาดที่ไม่อาจระบุที่มา ผลงานของเขาเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของจิตใต้สำนึก ที่แสดงออกถึงความปรารถนาอันแรงกล้าและไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ด้วยภาพวาดที่เต็มไปด้วยภาพสัญลักษณ์ รูปทรงชีวภาพที่คล้ายกับสิงมีชีวิตที่ไม่อาจระบุสายพันธุ์ รูปทรงเรขาคณิต รูปทรงนามธรรมและกึ่งนามธรรม นอกจากภาพวาดแล้วเขายังทำงานในหลากสื่อหลายแขนง ทั้งเซรามิก ภาพพิมพ์ หรือแม้แต่ประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ เขามักเสาะแสวงหาการทดลองใหม่ๆ ทางศิลปะอย่างไม่เกรงกลัวความล้มเหลวเลยแม้แต่น้อย
สไตล์การทำงานอันแหวกแนว ล้ำยุคสมัยอย่างรุนแรงของมิโร สร้างแรงขับเคลื่อนอย่างมากให้กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อพัฒนาการของศิลปะนามธรรม เขายังเป็นศิลปินที่อยู่ร่วมในขบวนการศิลปะที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษนั้นอย่าง เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) โดยในปี 1924 เมื่อ อองเดร เบรอตง (André Breton) เจ้าลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ ประกาศแถลงการณ์ของเซอร์เรียลลิสม์ที่ปารีส และกล่าวว่า “มิโรคือจิตรกรผู้มีความเป็นเซอร์เรียลลิสม์ที่สุดในหมู่จิตรกรทุกคน” ผลงานของมิโรภาพเป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงพลังของจิตไร้สำนึกที่ถ่ายทอดความเป็นไปได้ทางศิลปะในการสื่อสารด้วยการวาดภาพแบบอัตโนมัติ และการเชื่อมโยงอย่างอิสระกับจินตนาการที่ปลดปล่อยออกมาอย่างไร้ขีดจำกัดของศิลปะเซอร์เรียลลิสต์
ผลงานของมิโรส่งอิทธิพลให้ศิลปินรุ่นหลังอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินในกระแสเคลื่อนไหว แอ็บสแตรกต์ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Abstract Expressionists) และ คัลเลอร์-ฟิลด์ เพนติง (Color Field painting) เขายังคงเป็นศิลปินสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยากจะหาใครเสมอเหมือนจวบจนทุกวันนี้
การทำลายในนิยามความของสร้างสรรค์
ถึงแม้จะเป็นศิลปินผู้ใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ เรียบร้อย รักครอบครัว ไร้เรื่องอื้อฉาวให้ซุบซิบนินทา ผลงานหรือก็บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา สุดแสนจะสดใส น่ารัก ผิดกับศิลปินในกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์คนอื่นๆ อย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ที่สุดแสนจะเฮี้ยว ห่าม ซ่า ก๋ากั่น ทั้งผลงานและไลฟ์สไตล์ แต่ในทางกลับกัน มิโรก็เป็นศิลปินผู้มุ่งมั่นที่จะค้นหาหนทางใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะไม่ยิ่งหย่อนกว่าใคร เขาเคยกล่าวว่า
“ผมวาดภาพอย่างบ้าคลั่งรุนแรง เพื่อให้ผู้คนรู้ว่าผมยังมีชีวิตและกำลังหายใจอยู่ เพราะผมยังมีเส้นทางที่ต้องไปต่อ และมุ่งหน้าหาเส้นทางใหม่ๆ เหล่านั้นอยู่เสมอ” (ตอนที่พูดเขาอายุ 85 ปี อะนะ)
ครั้งหนึ่งมิโรยังเคยกล่าวเอาไว้ว่า “I want to assassinate painting.” (ผมต้องการฆ่างานจิตรกรรม) การฆ่าหรือทำลายงานจิตรกรรมที่ว่านี้ของมิโร ไม่ใช่อะไรที่เก๋ไก๋แบบการใช้เทคนิคสลายรูปทรง เปลี่ยนจากภาพเหมือนจริงให้เป็นภาพนามธรรม หรือการทำงานแหวกขนบประเพณีเดิมๆ ของงานจิตรกรรมเท่านั้น หากแต่เป็นการทำลายงานจิตรกรรมจริงๆ ตรงตามตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นในช่วงยุค 1960 – 1970 ที่เขาซื้อภาพวาดของศิลปินคนอื่นมาวาดทับ ราวกับเป็นพ่อของแบงก์ซีที่มาก่อนกาลยังไงยังงั้น!
ด้วยผลงานชุดนี้ มิโรท้าทายงานจิตรกรรมแบบประเพณี ด้วยการซื้อผลงานภาพวาดสไตล์คลาสสิก ทั้งภาพทิวทัศน์ ภาพนักเต้นบัลเล่ต์ หรือภาพม้าควบตามท้องทุ่ง (ที่ดูเหมือนภาพที่วางขายตามตลาดนัด)อมาบอมบ์ทับ (สมัยนั้นยังไม่น่าจะมีศัพท์นี้ แต่เอาน่ะ!) ด้วยกิริยาท่าทีอันห้าวห่ามเช่นนี้ เขาจงใจบิดเบือนภาพแบบดั้งเดิมด้วยการวาดรูปทรงสีสันอันอิสระ ไร้กฎเกณฑ์ทับลงไป บางครั้งก็ปล่อยให้สีไหลย้อยทะลุผืนผ้าใบหยดออกมาเปรอะเปื้อนกรอบรูป ราวกับจะเป็นการประกาศการแหกคอกอย่างตรงตามตัวอักษร
แต่อย่านึกว่ามิโรจะกระทำย่ำยีแต่งานของศิลปินของคนอื่น เพราะผลงานของตัวเองเขาก็ยังไม่วายเว้น ในช่วงยุค 70s มิโรในวัย 80 ปี กระทำปฏิบัติการทางศิลปะด้วยการเผางานของตัวเองที่วาดเสร็จแล้วจนไหม้เกรียมแหว่งโหว่เป็นรูใหญ่ หรือกรีดผืนผ้าใบภาพวาดของตัวเองจนกลายเป็นรอยขาดเบ้อเร้อ
ที่เขาทำเช่นนี้ก็เพื่อแสดงออกถึงสุนทรียะแห่งความบกพร่องเว้าแหว่ง เพราะนอกจากการเผาทำลายงานจะแสดงสัญลักษณ์ถึงการต่อต้านค่านิยมทางสุนทรียะของชนชั้นนายทุนที่ทำให้ศิลปะกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางการตลาดและปั่นผลงานศิลปะให้มีราคาสูงลิบลิ่วแล้ว เขายังต้องการแสดงออกถึงการใฝ่หาเสรีภาพภายหลังการถูกกดขี่อันยาวนานภายใต้การปกครองของจอมเผด็จการ ฟรานซิสโก ฟรังโก อีกด้วย
ผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว มิโรไม่ใช่ศิลปินติ๋มๆ หงิม ผู้สร้างงานน่ารักจุ๋มจิ๋มอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นศิลปินหัวขบถที่แสบซ่าก๋ากั่นไม่แพ้ศิลปินกราฟิตี้สุดแสบอย่างแบงก์ซีเลยก็ว่าได้
ผลงานในชุดกระทำย่ำยีศิลปะของทั้งตัวเองและคนอื่นให้กลายเป็นงานสร้างสรรค์ของมิโร ถูกสะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Foundation of Joan Miró ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดมีโอกาสเดินทางไปที่นั่น ก็ไปชมกันได้ตามอัธยาศัย
อ้างอิงจาก
หนังสือ Catalog Miró. His Most Intimate Legacy,