เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีข่าวฮือฮาในโลกศิลปะ เมื่อผลงานของ แบงก์ซี (Banksy) ถูกบริษัทธุรกิจดิจิทัล Blockchain ประมูลไป และทำการเผาจนไม่เหลือซาก โดยถ่ายทอดสดการเผางานศิลปะทางแอคเคาท์ทวิตเตอร์ชื่อ BurntBansky ให้เห็นกันจะจะ
พวกเขากล่าวว่าเหตุผลที่พวกเขาทำเช่นนี้ ก็เพราะผลงานชิ้นนี้ถูกนำไปเข้ารหัสและเก็บรักษาเป็นข้อมูลดิจิทัลในระบบเทคโนโลยีที่เรียกว่า NFT (Non-Fungible Tokens) หรือการแปรเปลี่ยนผลงานศิลปะให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกเข้ารหัสให้มีลักษณะเฉพาะตัวจนไม่สามารถถูกทำซ้ำหรือคัดลอกได้ ทำให้ผลงานชิ้นนั้นกลายเป็นผลงานชิ้นเดียวในโลก ไม่ต้องกังวลในเรื่องการถูกปลอมแปลงผลงานหรือละเมิดลิขสิทธิ์ และผลงานศิลปะที่อยู่ในระบบดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่า Crypto Art ที่ว่านี้ก็สามารถคงอยู่ได้อย่างยาวนานโดยไม่เสื่อมสลายเหมือนงานศิลปะในโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้นผลงานต้นฉบับที่เป็นวัตถุที่จับต้องได้จึงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป (ก็เลยเผาทิ้งแม่มเลย!)
ไม่เพียงแต่การเผาผลงานของแบงก์ซี แต่กระแส NFT เป็นที่ฮือฮาในวงการศิลปะและวงการสร้างสรรค์ในแขนงต่างๆ ศิลปินมากหน้าหลายตาต่างเฮโลเข้าไปขายผลงานในรูปแบบ NFT และ Crypto Art กันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ในวงการดนตรี, ภาพยนตร์ หรือวงการเกมด้วยแต่ในตอนนี้เราไม่ได้จะกล่าวถึง NFT หรือ Crypto Art แต่อย่างใด (อ้าว!) เพราะตัวผมเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจระบบของมันสักเท่าไหร่ เขียนมากไปเดี๋ยวจะขายหน้าเสียเปล่าๆ ในคราวนี้เลยจะขอเล่าถึงงานศิลปะที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับอะไรเทือกนี้แทนก็แล้วกันความจริงในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา มีรูปแบบของการทำงานศิลปะที่ไม่ให้ความสำคัญกับตัวงานศิลปะที่เป็นวัตถุที่จับต้องได้อยู่ งานศิลปะประเภทนั้นมีชื่อว่า ‘คอนเซ็ปต์ชวลอาร์ต’ (Conceptual art)ด้วยความที่คอนเซ็ปต์ชวลอาร์ต เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ให้ความสำคัญกับความคิด มากกว่าสุนทรียะและความงาม หรือแม้แต่รูปแบบหรือองค์ประกอบทางสายตาของงานศิลปะ และปฏิเสธแนวทางและขนบธรรมเนียมเดิมๆ ของศิลปะอย่างสิ้นเชิง พวกเขามองว่าความคิดนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดและพอเพียงแล้วสำหรับศิลปะ ส่วนสิ่งอื่นอย่างความงาม สุนทรียะ ทักษะ ฝีมือของศิลปิน การแสดงออกทางอารมณ์ หรือแม้แต่มูลค่าทางการตลาด เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลยแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้คนส่วนใหญ่อาจมองว่าคอนเซ็ปต์ชวลอาร์ต ‘ไม่ใช่ศิลปะ’ เลยด้วยซ้ำไป ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับคอนเซ็ปต์ชวลอาร์ต การทำงานศิลปะไม่จำเป็นต้องเป็นการสร้างสรรค์เสมอไป การทำลายก็สามารถเป็นศิลปะได้เหมือนกัน
ดังเช่นในช่วงต้นทศวรรษ 1970 จอห์น บัลเดสซารี่ (John Baldessari) ศิลปินอเมริกันผู้ได้รับการยกให้เป็น “เจ้าพ่อแห่งศิลปะคอนเซ็ปต์ชวล” (Godfather of Conceptual Art) ทำการจุดไฟเผาผลงานศิลปะที่เขาเคยทำมาในช่วงก่อนปี 1967 ทิ้งเกือบทั้งหมด ในโครงการศิลปะที่มีชื่อว่า Cremation Project และเก็บขี้เถ้าของผลงานที่ถูกเผาเอาไว้เป็นงานศิลปะของเขาในรูปแบบต่างๆ หรือในปี 1953 ศิลปินอเมริกัน โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg) ที่ของานวาดเส้นของศิลปินแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์รุ่นใหญ่อย่าง วิลเลียม เดอ คูนนิง (Willem de Kooning) มาลบทิ้งจนเหี้ยน แล้วเอาไปใส่กรอบเป็นงานศิลปะของตัวเองซะงั้น หรือกลุ่มศิลปินคอนเซ็ปชวลรุ่นหลังอย่าง MSCHF ที่ซื้อผลงานของศิลปินคอนเซ็ปชวลอาร์ตตัวพ่อชาวอังกฤษผู้โด่งดังคับโลกอย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ มาตัดแบ่งขายทีละชิ้นในโครงการศิลปะของพวกเขาเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาด้วยเหตุที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความคิด’ มากกว่าตัวศิลปะที่เป็นวัตถุ ศิลปินคอนเซ็ปชวลบางคนจึงทำงานด้วยการเริ่มต้นแค่เพียงความคิด และส่งต่อความคิดนั้นให้พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ (หรือแม้แต่คนดู) เป็นผู้สานต่องานชิ้นนั้นให้เสร็จสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องส่งตัวงานจริงๆ ไปเลยด้วยซ้ำ ดังเช่นในผลงานของศิลปินชาวอเมริกัน โจเซฟ โคซุธ อย่าง One and Three Chairs (1965) ผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วย เก้าอี้ธรรมดาๆ หนึ่งตัว ภาพถ่ายเก้าอี้ตัวนั้นขนาดเท่าจริง กระดาษถ่ายสำเนาขนาดใหญ่ที่พิมพ์ความหมายของคำว่า ‘เก้าอี้’ จากพจนานุกรมลงไป ซึ่งภาพถ่ายที่ว่าเป็นภาพถ่ายของเก้าอี้ที่ตั้งอยู่ในห้องแสดงงาน และทั้งเก้าอี้และภาพถ่ายจะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่เปลี่ยนสถานที่แสดงงาน ถึงแม้ตัวเก้าอี้จะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่คงอยู่เหมือนเดิมทุกครั้งก็คือกระดาษสำเนาที่พิมพ์ความหมายของคำว่า ‘เก้าอี้’ จากพจนานุกรม แผนผังและคำสั่งในการติดตั้งงานของโคซุธด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ถูกส่งต่อเพื่อนำไปจัดแสดงในที่สถานที่ต่างๆ จึงไม่ใช่ตัววัตถุอย่างผลงานศิลปะ (เก้าอี้) หากแต่เป็น ‘ความคิด’ ของโคซุธต่างหาก พูดง่ายๆ ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องขนเก้าอี้หรือตัวงานอะไรไปแสดงที่ไหนให้เมื่อยตุ้ม หากแต่ส่งต่อ ‘ความคิด’ ของเขาไปแสดงมากกว่า และความคิดย่อมเสียค่าขนส่งถูกกว่าเก้าอี้เป็นไหนๆ จริงไหม?ไม่ใช่แค่ไม่ให้ความสำคัญกับวัตถุ บางครั้งคอนเซ็ปต์ชวลอาร์ตก็ไม่จำเป็นต้องมีตัวงานให้เห็นเลยก็ได้ ดังเช่นในข้อเขียนของศิลปินชาวอเมริกัน โซล เลวิตต์ (Sol LeWitt) อย่าง ‘Paragraphs on Conceptual Art’ (ที่หลายคนยกให้เป็นแถลงการณ์ของคอนเซ็ปชวลอาร์ต) ที่ว่า”สำหรับคอนเซ็ปชวลอาร์ต ความคิด (Idea) หรือ มโนทัศน์ (Concept) เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำงานศิลปะ เมื่อศิลปินทำงานศิลปะในแบบคอนเซ็ปต์ชวล นั่นหมายความว่าการวางแผนและการตัดสินใจทั้งหมดได้ถูกทำขึ้นล่วงหน้าไปแล้ว (ในความคิด) การสร้างตัวงานออกมา เป็นเพียงกิจที่ทำพอเป็นพิธีเท่านั้น”สำหรับศิลปินคอนเซ็ปต์ชวล ลำพังความคิดเพียงอย่างเดียว ก็สามารถเป็นผลงานศิลปะด้วยตัวมันเอง เป็นเครือข่ายโยงใยของความเป็นไปได้ที่อาจกลายเป็นรูปเป็นร่างในที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกๆ ความคิดจำเป็นต้องกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเสมอไปดังตัวอย่างเช่นผลงาน Buried Cube Containing an Object of Importance but Little Value (1968) ของ โซล เลวิตต์ ที่ประกอบกิจกรรมทางศิลปะด้วยการฝังกล่องสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ที่สวนในชนบทแห่งหนึ่ง กิจกรรมนี้ทำขึ้นโดยที่ไม่มีผู้ชมร่วมรู้เห็น ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่ามีอะไรอยู่ในกล่อง มีเพียงภาพถ่ายเป็นหลักฐานว่าเขาประกอบกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นเท่านั้นกิจกรรมทางศิลปะครั้งนี้ของเขาทำขึ้นภายใต้แนวคิดที่ปฏิเสธค่านิยมที่ศิลปินเป็นผู้มีอำนาจสั่งการและเป็นผู้ควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่องานศิลปะ ด้วยกิจกรรมทางศิลปะครั้งนี้ เขาปลดเปลื้องตัวเองเป็นอิสระจากผลงาน ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีความตายของประพันธกร (Death of the Author) ของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส โรลอง บาร์ตส (Roland Barthes) ดังที่ปรากฏในคำกล่าวของเลวิตต์ ที่ว่า”เมื่อศิลปินทำผลงานเสร็จและนำออกสู่สาธารณะแล้ว พวกเขาก็ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมหรือบงการการรับรู้ของผู้ชมได้อีกต่อไป เพราะคนแต่ละคนก็จะมีความรับรู้และความเข้าใจต่อผลงานชิ้นนั้นๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป”ตัวอย่างอันเด่นชัดของการปฏิเสธอำนาจและความเป็นผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียวของศิลปินในผลงานของโซล เลวิตต์ ปรากฏชัดเจนในผลงานหลายชิ้นที่ทำขึ้นหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นผลงานของเขา แต่เขาก็ไม่ได้เป็นผู้ลงมือทำขึ้นมาเองที่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากที่ โซล เลวิตต์ เสียชีวิตลงในปี 2007 ผลงานภาพร่างความคิดสำหรับงานประติมากรรมและจิตรกรรมหลายต่อหลายชิ้นของเขาที่ยังไม่เคยมีใครเห็น ก็มีทีมงาน ผู้ช่วย หรือแม้แต่ศิลปินรุ่นหลัง สร้างสรรค์ออกมาใหม่ได้เรื่อยๆ แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่อยู่ในโลกนี้แล้วก็ตามหรือ do it โครงการศิลปะแบบ DIY ที่ริเริ่มโดยภัณฑารักษ์ชาวสวิส ฮานส์-อุลริช โอบริสต์ (Hans Ulrich Obrist) กับศิลปินชาวฝรั่งเศส คริสเตียง โบลตองสกี้ (Christian Boltanski) และ แบร์กตง ลาเวียร์ (Bertrand Lavier) โดยขอให้เหล่าบรรดาศิลปินมากหน้าหลายตา สร้างคู่มือแนะนำการทำงานศิลปะสำหรับให้ผู้ชมทำงานศิลปะขึ้นมาด้วยตัวเอง และบรรจุลงในหนังสือส่งไปหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยด้วยการให้ความสำคัญกับความคิดมากกว่าตัวงานที่เป็นวัตถุนี่เอง ที่ทำให้ผลงานของศิลปินคอนเซ็ปต์ชวลบางคนดูเหมือนทำไม่เสร็จ นั่นเพราะพวกเขาไม่มุ่งเน้นที่ความเสร็จสมบูรณ์แบบของตัวงาน หากแต่แสวงหาความเป็นไปได้อันไม่รู้จบทางความคิดมากกว่า ศิลปินคอนเซ็ปชวลบางคนถึงกับประกาศว่าจะหยุดทำผลงานศิลปะออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเขาคิดว่า เมื่องานศิลปะได้ถูกสร้างในความคิดไปแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างมันออกมาจริงๆ อีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การเผางานก็อาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นด้วยซ้ำไป เพราะในเมื่อไม่มีตัวงานถูกทำออกมาตั้งแต่แรก แล้วเราจะเผาอะไรอีก?ยิ่งไปกว่านั้น ความคิดเองก็เป็นสิ่งที่สามารถคงอยู่ได้อย่างยาวนานโดยไม่เสื่อมสลายไปเช่นเดียวกัน เผลอๆ จะยาวนานกว่าข้อมูลดิจิทัลด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างเช่นแนวความคิดทางปรัชญาหรือศาสนาที่ยังคงสืบทอดต่อมาถึงปัจจุบันถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายพันปีก็ตามในทางกลับกัน สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง NFT หรือ Crypto Art คือแนวคิดเกี่ยวกับการเผยแพร่ผลงาน เพราะในขณะที่ NFT มุ่งเน้นในการทำให้งานศิลปะกลายเป็นข้อมูลดิจิทัลที่ถูกเข้ารหัสเพื่อให้ผลงานนั้นกลายเป็นผลงานชิ้นเดียวในโลกที่ไม่สามารถถูกทำซ้ำหรือคัดลอกได้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและมูลค่าทางการตลาด ในขณะเดียวกัน ศิลปินคอนเซ็ปชวลอาร์ตโดยส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยแยแสธุรกิจ (ถึงแม้ผลงานบางคนจะถูกนำไปประมูลขายในราคามหาศาลก็ตามที) และมุ่งเน้นในการเผยแพร่ผลงานให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้โดยทั่วกันยกตัวอย่างเช่นผลงานของ อราม บาร์ธอลล์ (Aram Bartholl) คือศิลปินคอนเซ็ปต์ชวลชาวเยอรมัน ผู้เป็นที่รู้จักจากการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างโลกดิจิทัลกับโลกกายภาพได้อย่างลุ่มลึกและท้าทายอย่าง Dead Drops (2010) ที่เขาสร้างเครือข่ายแชร์ไฟล์อย่างเสรี ด้วยการใช้แท่ง USB ฝังไว้ตามพื้นที่สาธารณะให้คนเอาโน๊ตบุ๊กมาดาวน์โหลดไฟล์ผลงานของเขาไปได้ตามใจชอบ โครงการนี้ขยายตัวจากนิวยอร์กไปทั่วโลก ทั้งแอฟริกาใต้, กาน่า, เยอรมนี, อิหร่าน และรัสเซีย และยังคงถูกทำต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้แนวคิดของโครงการนี้ขยายตัวไปเป็นงานศิลปะจัดวาง DVD Dead Drop (2012) ที่เขาเอาเครื่องไรท์แผ่นดีวีดีซ่อนไว้ในผนังด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ Museum of the Moving Image ในนิวยอร์ก ให้คนที่พบเห็น เอาแผ่นดีวีดีเปล่ามาเสียบเพื่อไรท์เอาข้อมูล, ภาพนิทรรศการศิลปะดิจิทัล, สื่อและเนื้อหาหรือผลงานศิลปะต่างๆ ที่เขาคัดสรรกลับไปได้อย่างเสรีทั้งวันทั้งคืนตลอด 24 ชั่วโมง ที่บาร์ธอลล์ทำเช่นนี้ก็เพราะเขามองว่ากฎหมายลิขสิทธิ์สากลและการกุมอำนาจทางข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกนั้นทำให้ผู้คนขาดเสรีภาพ โดยเขากล่าวว่า”สิ่งสำคัญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเครือข่ายออนไลน์ก็คือความมีอิสระเสรี เมื่อผมถ่ายรูปดิจิทัลแล้วส่งให้คุณ คุณอาจเอาไปโพสต์ลงวิกิพีเดีย ที่ทุกคนก็สามารถใช้ได้ นั่นแปลว่ารูปและข้อมูลเหล่านี้สามารถคัดลอก, ส่งต่อ และเผยแพร่ความรู้ได้ ซึ่งเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมและมีประโยชน์มาก แต่เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ทำงานสร้างสรรค์ก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน การแบ่งปันภาพและข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีลิขสิทธิ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะอันที่จริงความเจริญก้าวหน้าทางศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ ที่ผ่านมา ก็เกิดจากการคัดลอก ดัดแปลง และการได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจมากจากสิ่งเก่าๆ น่าตลกตรงที่ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่กฎหมายกลับกดดันให้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกให้น้อยลง ในอนาคตกฏหมายลิขสิทธิ์อาจทำให้เราไม่สามารถส่งต่อภาพหรือข้อมูลให้กันได้อีกต่อไป ซึ่งทางการตลาดเป็นอะไรที่ดี แต่สำหรับการแบ่งปันข้อมูลความรู้อย่างเสรีนั้นเป็นอะไรที่เลวร้ายเอามากๆ”บาร์ธอลล์ยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มศิลปินในโลกอินเทอร์เน็ตอย่าง Free Art and Technology Lab (F.A.T) ที่มีเป้าหมายในการหลอมรวมวัฒนธรรมป๊อปเข้ากับเทคโนโลยีโอเพนซอร์สที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าถึงได้อย่างเสรี และวิพากษ์วิจารณ์กฏหมายลิขสิทธิ์สากลที่ปิดกั้นผู้คนจากการเข้าถึงแหล่งความรู้ (ถึงแม้กลุ่มนี้จะปิดตัวไปในปี 2015 ก็ตาม) หรือผลงานของศิลปินคอนเซ็ปชวลชาวเยอรมัน ฮิโต สไตเยิร์ล (Hito Steyerl) อย่าง Actual RealityOS (2019) ผลงานศิลปะที่ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented reality) ผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริงเข้าด้วยกันผ่านแอปพลิเคชันในระบบโอเพนซอร์สที่ ผู้ชมสามารถดาวน์โหลดไปใช้ในสมาร์ทโฟนหรือแทปเล็ตกันได้ฟรีๆท้ายที่สุด ในความเข้าใจของผม ศิลปะคือเครื่องมือในการสื่อสารไม่ต่างกับภาษา เพราะฉะนั้น ไม่ว่ามันจะถูกทำลงบนสื่อแบบไหน จะเป็นการวาดสีจากเปลือกไม้บนผนังถ้ำ เขียนหมึกลงบนหนังสัตว์ วาดสีน้ำบนกระดาษ และสีน้ำมันผืนผ้าใบ หรือถูกแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลอัพโหลดข้อมูลขึ้นไปบนโลกออนไลน์และไซเบอร์สเปซ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็ยังคงเป็น ‘สาร’ ที่ถูกส่งผ่านมาถึงผู้ชมอยู่ดี.
ข้อมูลtheartstory.orgen.wikipedia.orgtheartstory.orgบทสัมภาษณ์ศิลปิน อราม บาร์ธอลล์ โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์arambartholl.comen.wikipedia.orgหนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ, INSIDE ART, OUTSIDE ART ข้างนอก ข้างใน อะไร (แม่ง) ก็ศิลปะ ผู้เขียน: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, สำนักพิมพ์: Salmon Books