กิจกรรมวันแม่และวันแม่ผ่านมาแล้ว แล้วมันก็จะผ่านไป แล้วเราก็จะเลิกพูดถึงปัญหากิจกรรมโรงเรียน พาแม่มากราบหน้าเสาธงในหอประชุม
ตอนเด็กๆ ตลอดที่ผ่านการศึกษาระดับประถมหกปี แม่ก็ไม่เคยไปงานวันแม่เหมือนกันนะ ทำมาหากิน เพราะต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงลูก พวงมาลัยที่ลูกเอามากราบก็เงินแม่ค่ะ ไม่ได้ถูกๆ ด้วยนะ (เหมือนค่าพานไหว้ครู) อีกอย่างก็คิดมาตลอดว่า ทำไม่ต้องขนแม่มาบอกรักที่โรงเรียนด้วย ก็เจอกันที่บ้านตลอด ไปทำที่บ้านก็ได้ ทำไมต้องมาทำต่อหน้าเพื่อนๆ คุณครูประจำชั้นด้วย
เอาเป็นว่า… ปีหน้าค่อยเคลื่อนไหวกันใหม่เนอะ การเคลื่อนไหวที่เป็นวาระในตัวของมันเองจึงเฉียดๆ กับคำว่า ‘ดราม่า’ ยังไงพิกลไม่รู้ เหมือนกิจกรรมรับน้อง พิธีไหว้ครู หรือข่าวครูเฆี่ยนเด็กน่ะแหละ
ส่วนงานวันพ่อที่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นการ romanticize สถาบันกษัตริย์ รื้อฟื้นระบอบราชาธิปไตยมากกว่าจะมาซาบซึ้งเรื่องของผู้ชายเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า
แต่ถึงอย่างไรวันแม่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัมพันธ์กับระบอบการเมืองการปกครอง ในฐานะที่จะเป็นอีก ‘วันแห่งชาติ’ ที่หมุดหมายสักวันสำหรับคนทั้งรัฐโดยรัฐ มันก็ไม่พ้นหรอกกับเรื่องการเมือง
ด้วยเหตุนี้เราจึงมีวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม
เดิมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรต้องการยกระดับให้ประเทศศิวิไลซ์ ปกครองประชาธิปไตย และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าตอนอยู่ระบอบเก่า เพราะระบอบใหม่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของรัฐประชาชาติ ขณะเดียวกันก็เร่งซ่อมแซมสุขภาพประชาชน สร้างความรู้สมัยใหม่และเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์กับประชาชนให้สมกับระบอบประชาธิปไตย
และด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ร่างกายของผู้หญิงก็ถูกพุ่งให้เป็นเป้าหมายสำคัญตามโลกทัศน์สมัยนั้น เหมือนกับรัฐประชาชาติเพิ่งเกิดใหม่หลังปฏิวัติทั่วๆ ไป ที่พยายามให้ประเทศเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ โดยให้ประชาชนชายต้องแข็งแกร่งเป็นพลังของชาติ ประชาชนหญิงเป็นแม่บ้านให้กำเนิดประชากรป้อนแก่ชาติของเรา กลายเป็นแบ่งแรงงานกันทำระหว่างชายหญิงในยุคแรกสร้างชาติ
เพราะการเร่งเพิ่มประชากรผู้เป็นเจ้าของประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาเป็นแรงงานและอนาคตของชาติ แต่ประชากรจะมีคุณภาพได้ก็ต้องมีสาธารณสุขที่ดี ไม่แท้งตาย ไม่ตายระหว่างคลอด หรือคลอดออกมาปลอดภัยแข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญและสร้างความมั่นคงของรัฐได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีตั้งเป้าไว้ให้ประชากรเกิน 40 ล้านคน หากแต่จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากรในปี พ.ศ. 2480 พบว่ามีประชากร 14,464,105 คน[1]
ปัญหาสาธารณสุขและอาหารการกินเป็นปัญหาแรกๆ ที่คณะราษฎรเริ่มแก้ไข มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและเสนอโครงการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 และจัดตั้งกองส่งเสริมอาหารในปี พ.ศ. 2481 เพื่อส่งเสริมโภชนาการใหม่ตามหลักบริโภคศาสตร์[2] เร่งเปิดโอกาสให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น ดูแลจัดการผลประโยชน์ของตนเองด้วยการขยายระบบเทศบาล ยกระดับสุขาภิบาลเป็นเทศบาล[3]
งานสาธารณสุขและอนามัยเจริญพันธุ์ของรัฐบาลจึงได้รับการเร่งพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระจายสู่ท้องถิ่นมากขึ้นโดยรัฐบาลคณะราษฎร กรมสาธารณสุขที่เคยอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 ก็ได้ตั้งเป็นกระทรวงในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2485
และแม่กลายเป็นประเด็นสำคัญของงานด้านสาธารณสุข เพราะไม่เพียงเป็นผู้ให้กำเนิด แต่ยังต้องมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบงานบ้านเรือนเลี้ยงดูเด็กให้เติบโต ทำให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพลเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น ให้มีร่างกายแข็งแรง เป็นกำลังให้การสร้างชาติ และเพื่อเผยแพร่ความรู้อนามัยแม่และเด็ก จึงได้จัดงานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกในสวนอัมพร ในวันที่ 10 มีนาคม ปี พ.ศ. 2486 ซึ่งเป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ที่ตั้งขึ้นได้ครบหนึ่งปีพอดี และให้มีการจัดงานวันแม่ในจังหวัดต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ มีการแจกคู่มือตำราการเลี้ยงลูกให้ถูกทาง
ตำราที่กระทรวงสาธารณสุขทำมาแจกในงานวันแม่ครั้งแรก เป็นไปเพื่อให้ความรู้คู่สมรสเรื่องการแพทย์ สุขอนามัยในชีวิตประจำวัน แนะนำจริยธรรมชีวิตสมรส ครอบครัว เริ่มอธิบายตั้งแต่อายุที่เหมาะแก่การแต่งงาน การตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันโรคพันธุกรรม ทารกตายจากการแท้ง คลอดมาตาย หรือทุพพลภาพ การอาบน้ำทำความสะอาด การจัดระเบียบที่อยู่อาศัย การกินนอน เลี้ยงลูก เพศสัมพันธ์ แต่งกายและร่างกายพลเมือง ทำจิตใจเบิกบาน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การหย่านม โภชนาการอาหารสำหรับเด็กเล็ก จิตวิทยาการควบคุมความประพฤติและนิสัยเพื่อไม่ให้ลูกเลียนแบบ วิธีอบรมสั่งสอนเด็ก สุขนิสัย ป้องกันรักษาโรคติดต่อ ความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บและพยาบาล นิสัยที่ควรอบรมและควรกำจัดหรือห้ามปราม ส่วนสูงน้ำหนักมาตรฐานในแต่ละช่วงวัยของคน มีแม้กระทั่งการติดต่อกับหน่วยงานราชการให้ช่วยเหลือดูแล พาไปโรงพยาบาล ตรวจร่างกายและฝากครรภ์[4]
และเนื่องจากความรู้ของการเป็นแม่เป็นความรู้สมัยใหม่ที่อิงกับวิชาการทางการแพทย์ จึงสอนให้ล้มเลิกความเชื่อดั้งเดิมบางประการ เช่น สอนว่าหญิงตั้งครรภ์ก็สามารถทำสวนครัวได้ ทำงานบ้านงานครัว ทลายความเชื่อเดิมที่ผู้หญิงมีครรภ์ควรอยู่เฉยๆ ไม่ทำงาน[5] ในตำรายังกล่าวอีกว่า
“อย่าได้หลงเชื่อฟังคำแนะนำของผู้อื่นที่ไม่เคยได้รับการศึกษาเรื่องการแพทย์แผนปัจจุบันเลยเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เข้าใจผิดและปฏิบัติตนไปในทางที่ผิด”[6]
และ
“อย่าได้เชื่อความนิยมเชื่อถือหรือคำบอกเล่าบางอย่างที่เพื่อนบ้านบอกว่า ไม่ควรเตรียมเสื้อผ้าเครื่องใช้ให้พร้อมก่อนเด็กคลอด เพราะอ้างว่าจะเป็นเหตุให้ลูกออกยาก และมักจะได้รับคำแนะนำว่าให้เตรียมเมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว ความเข้าใจผิดชนิดนี้ควรเลิกได้ เพราะไม่มีมูลความจริงเลยแม้แต่น้อย นอกจากนั้นยังจะทำให้เกิดโกลาหลและความไม่เป็นระเบียบขึ้นได้มากมายเมื่อลูกจะคลอด และเครื่องใช้ก็ต้องหามาใช้ในเวลาเดียวกันด้วย เมื่อเป็นดังเช่นนี้แล้วก็จะมีเครื่องใช้เสื้อผ้าที่สมบูรณ์ไม่ได้ ย่อมเกิดความบกพร่องแน่นอน ฉะนั้นวิธีนี้ควรเลิกอย่างเด็ดขาด”[7]
เมื่อแรกมีวันแม่และกิจกรรมวันแม่จึงไม่ได้กระจุกในโรงเรียนเป็นเรื่องระหว่างนักเรียนกับแม่ของนักเรียน หากแต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน รวมทั้งคุณพ่อด้วย วันแม่จึงเป็นงานที่เปิดสาธารณะมากกว่า แถมยังมีกิจกรรมประกวดคุณแม่สุขภาพดี เพื่อหาตัวอย่างของแม่ที่ดีในเรื่องของอนามัยโภชนาการ
เมื่อประเทศเริ่มมีประชาธิปไตยไม่นานก็ดันเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่แม้ไทยจะเข้าฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ต้องการให้หญิงไทยแต่งงานกับชายชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาในประเทศและมีอิทธิพล ผู้หญิงไทยหลายคนสมัครงานในบริษัทธุรกิจของชาวญี่ปุ่นมากขึ้นรวมทั้งแต่งานกับชาวญี่ปุ่น สร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลอย่างมากว่าจะถูกกลืนชาติ[8] ถึงขั้นอ้อนวอนและติเตียนผ่านวิทยุว่าแม้จะเลือกคู่ครองได้เองก็ให้คำนึงถึงประเทศชาติบ้าง ให้มีผัวไทย ลูกไทย[9] และให้คำนึงถึงลูกของตนที่เกิดมา จะได้เรียกตนเองว่า’“แม่’ ไม่ใช่เรียกตนเองเป็นภาษาอื่น[10] และงานวันแม่ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่สร้างลัทธิชาตินิยมกับการเป็นแม่ของชาติ
หากยังไม่เชื่อว่าวันแม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เราก็เชื่อได้ว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับวันแม่ หลังมีเหตุบ้านการณ์เมืองต่างๆ นานา รวมถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่หยุดไปจนกระทั่งกลับมาจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2493
การกลับมาของวันแม่ในทศวรรษ 2490 นี้ เกิดขึ้นโดย “สโมสรวัฒนธรรมหญิง” อันเป็นหน่วยงานสตรีของกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่สวนอัมพร[11] ที่ย้ายวันแทนวันที่ 10 มีนาคม เพราะเห็นว่าเป็นวันหยุดยาว ได้อยู่กับครอบครัว ก็ควรให้เป็นอีกวันที่รำลึกถึงผู้หญิงที่เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวผู้อุทิศตนเองเพื่อครอบครัว หลังจากนั้นสโมสรวัฒนธรรมหญิงก็เป็นเจ้าภาพเรื่อยมา 15 เมษายนก็กลายเป็นวันแม่แห่งชาติ
งานวันแม่เป็นงานใหญ่ประจำปี นอกจากมีนักเรียนเข้ามาจัดกิจกรรมต่างๆ ประชาชนก็เข้ามามีส่วนร่วม มีการจัดรายการวิทยุกระจายเสียงในงานเพื่อให้ความรู้เสียงตามสาย หน่วยงานของรัฐก็ออกงานต่างๆ กระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีการประกวดบทประพันธ์คำขวัญระลึกถึงพระคุณแม่ในโรงเรียนต่างๆ กระทรวงมหาดไทยจัดประกวดแม่แห่งชาติประจำปี กระทรวงสาธารณสุขบริการตรวจโรคและสุขภาพอนามัยแม่และลูก รักษาพยาบาลแม่ที่เจ็บป่วย ให้คำแนะนำสุขภาพอนามัย นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ให้บรรดาคุณแม่ในจังหวัดต่างๆ ร้องทุกข์และช่วยเหลือตามที่ร้องขอ และจัดเวทีประกวดแม่ประจำจังหวัดในแต่ละปีเพื่อเฟ้นหาแม่ที่ต้องตามอุดมคตินโยบายของรัฐ
หนังสือที่ระลึก วันแม่ ประจำปียังคงรวบรวมบทความวิชาการโดยปัญญาชนหญิงสมัยใหม่ในขณะนั้น เพื่อให้ความรู้ในวิชาแม่บ้านแม่เรือนไปพร้อมกับสร้างความซาบซึ้งในพระคุณของแม่ มีการสอนการเลี้ยงลูกตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงวัยรุ่น เพศศึกษา การจัดสรรรายรับรายจ่ายภายในครัวเรือน โภชนาการของแม่ที่ตั้งครรภ์และแม่ลูกอ่อนให้นม การปลูกผักสวนครัวบริโภคเองหรือเพื่อขายสร้างรายได้ ทำขนมไว้บริโภคเองและเพื่อขาย และให้ลูกช่วยขายเพื่อฝึกหัดลูกหารายได้ ไปจนถึงการเลือกผัวของผู้หญิง เพื่อหาพ่อที่ดีให้กับลูก เพราะสมัยนี้ผู้หญิงมีเสรีภาพในการเลือกแต่งงานแล้ว การหาผัวดีๆ ย่อมส่งผลต่อการได้พ่อดีให้กับลูกของเรา[12]
หนังสือยังย้ำเตือนอีกด้วยว่า การเลี้ยงลูกไม่ใช่การใช้สัญชาตญาณความเป็นแม่ หากแต่เป็นวิชาการเรียนรู้ และการฝึกหัด
และเพื่อให้ผู้หญิงดูเหมือนว่ามีส่วนร่วมทางการเมืองของระบอบการปกครองใหม่ ‘แม่’ จึงถูกนำมาเน้นย้ำว่าเป็นช่องทางในการที่พลเมืองหญิงจะมีส่วนร่วมในการปกครองใหม่นี้ ภายใต้สถาบันทางการเมืองต่างๆ ที่ยังผูกขาดโดยผู้ชาย แม่จึงกลายเป็นหน้าที่ของลูกผู้หญิงที่พึงมีต่อชาติ เหมือนกับที่รัฐบอกว่าการเป็นทหารเป็นหน้าที่ที่พึงมีของผู้ชาย เพราะผู้หญิงก็ต้องเป็นแม่คนที่เหนื่อยยากลำบากไม่ต่างอะไรกับการฝึกทหาร[13]
และเนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะทศวรรษที่ 2490 รัฐบาลยังคงดำเนินการบริการสาธารณสุขไปพร้อมกับแก้ไขปัญหาสภาพความเป็นอยู่หลังสงคราม เช่น ขาดแคลนยารักษาโรค การควบคุมโรคระบาด อีกทั้งยังต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา[14] อันเป็นรูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศเล็กๆ ต้องไปสังกัดและพึ่งพิงขอความช่วยเหลือประเทศใหญ่กว่า ตลอดทศวรรษ 2490 มีองค์กรขององค์การสหประชาชาติ เข้ามาสนับสนุนงานสังคมสงเคราะห์แม่และเด็ก และการผดุงครรภ์มากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อไทยเป็นประเทศในค่ายโลกเสรี งานวันแม่ก็เริ่มสัมพันธ์กับ Americanization มากขึ้น เริ่มมีการให้ความรู้เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันของแม่ชาวอเมริกัน และสมาคมสโมสรการกุศลที่เกี่ยวข้องกับบทบาทแม่จากสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามามีบทบาทขึ้น[15] การประกวดแม่แห่งชาติประจำปี ที่เฟ้นหาแม่ดีเด่นแม่ตัวอย่างของประเทศ ที่เริ่มจากการคัดเลือกจากบรรดาแม่ประจำจังหวัดมาเป็นแม่ประจำภาค แล้วส่งมาประกวดแม่ประจำชาติที่กรุงเทพ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของงาน และแม่ที่ได้รับตำแหน่งแม่ประจำปีแห่งชาติ จะถูกส่งนามและประวัติไปยังคณะกรรมการแม่ของมูลนิธิ Golden Rule Foundation ได้รับเชิญไปอเมริการ่วมรับประทานอาหารกับแม่ของชาติอเมริกันและชาติอื่นๆ ที่นิวยอร์ก
คล้ายๆ การประกวด Miss Universe หากแต่นี่เป็น Mama Universe แทน
ทว่าเมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2500 นำไปสู่ความตั้งใจทำลายมรดกคณะราษฎรแบบไม่หลงเหลือไปพร้อมกับเชิดชูวัฒนธรรมแบบราชาธิปไตย มหกรรมรื่นเริงเพื่อประชาชนก็ซบเซาลง หากแต่เพิ่มพระราชพิธีมากขึ้นแทน
ประเพณีวันแม่ถูกเว้นว่างไป จนมาถึงช่วงสงครามเย็นที่เกิดการปลุกลัทธิราชาชาตินิยม สร้างความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์และปลุกระดมให้ต่อต้านและกำจัดนักศึกษามหาลัยที่มีหัวเสรีประชาธิปไตย วันแม่ก็ถูกย้ายมาเป็น 12 สิงหาคม ในปี พ.ศ. 2519
ขณะเดียวกันงานวันแม่ ก็ถูกเปลี่ยนคุณค่าความหมายเรื่อยๆ นอกจากจะกลายเป็นเรื่องวัฒนธรรมกษัตริย์นิยม จากความหมายของแม่ในฐานะหญิงเก่งหญิงแกร่ง อุทิศตนเองเพื่อบ้านและชาติ และประชาชน ยังกลายเป็นเรื่องยกย่องแม่ในรูปแบบความศักดิ์สิทธิ์และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ให้เป็นดั่งพระและพรหม ยิ่งสร้างช่องว่างให้กับความสัมพันธ์ฉันท์แม่ลูก ประกอบกับการสร้างพิธีกรรมและความเป็นทางการ จนต้องเอาความรักแม่และความกตัญญูไปบูชายัญในปะรำพิธี แทนที่จะทำให้ตระหนักได้ว่าแม่ก็เป็นมนุษย์ทั่วๆ ไปเหมือนกัน มีถูกผิดมีพลาดบ้าง แต่ก็เป็นผู้ที่อุทิศตนเองให้กับลูกได้อย่างมหาศาล ต้องดำรงชีวิตในแต่ละวันไปพร้อมกับแบกท้องโย้ๆ ลำพังเดินตัวเปล่ารอขึ้นรถเมล์ไปเบียดเสียดฝูงชนก็เหนื่อยจะแย่ ไหนจะต้องเอาพลังงานจากไหนในแต่ละวันมาเลี้ยงลูกมาเป็นเวลายาวนานจนกว่าจะโตมีวุฒิภาวะจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ชาวเอเชีย
และเมื่อเรามองประวัติศาสตร์ความหมายของแม่และวันแม่จากปัจจุบันแล้ว ก็จะเข้าใจว่าแม่เป็นวัฒนธรรมและสิ่งประกอบสร้างที่สามารถผันแปรได้ตามบริบทสังคม เพศสัมพันธ์อาจนำไปสู่การตั้งครรภ์และกลายเป็นแม่ได้ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง แต่แม่ไม่ใช่เพศ มันไม่มี ‘เพศแม่’ หรอก หากแต่เพศหญิงมีโอกาสเป็นแม่ได้ ซึ่งก็ควรจะเป็นความสมัครใจ (ถ้าไม่สมัครใจพวกเธอก็ควรมีโอกาสยุติการตั้งครรภ์) และไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะอยากเป็นแม่ หรือพวกเธอทุกคนจะต้องมี ‘ความเป็นแม่’ ติดตัวแต่กำเนิด เพราะถ้าผู้หญิงทุกคนมีสัญชาตญาณความเป็นแม่ ก็คงเบ่งลูกออกมาเองกัดสายสะดือเอง เลี้ยงเองโดยไม่ต้องพึ่งแพทย์ ไม่ต้องอ่านคู่มือตำราใดๆ และเมื่อแม่เป็นวัฒนธรรมไม่ใช่ธรรมชาติ ก็ไม่มีภาวะความจำเป็นใดที่ผู้หญิงทุกคนต้องเป็นแม่
อ้างอิงข้มูลจาก
[1] การสำรวจสำมะโนครัวทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2480 ประชากร ยอดรวมทั่วราชอาณาจักร. พระนคร, กองทะเบียน กรมมหาดไทp, 2484.
[2] ชาติชาย มุกสง. รัฐโภชนาการใหม่กับการเปลี่ยนแปลงวิถีการกินในสังคมไทย พ.ศ. 2482-2517. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556, น. 62-66.
[3] ศราวุฒิ วิสาพรม. ประวัติศาสตร์สามัญชนในสังคมไทยสมัยแรกเริ่มรัฐประชาชาติ พ.ศ. 2475-2490. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2557, น. 269.
[4] สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง. คู่มือสมรส. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2498.
[5] เรื่องเดียวกัน.
[6] เรื่องเดียวกัน.
[7] เรื่องเดียวกัน.
[8] ปิยวรรณ อัศวราชันย์. ความคิดของผู้นำและกิจกรรมของหญิงไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้เงากองทัพญี่ปุ่น. วารสารเครือข่ายญี่ปุ่นศึกษา 2 (1), 2555, น. 1-19.
[9] เรื่องเดียวกัน.
[10] เรื่องเดียวกัน.
[11] กรมศิลปากร. กองจดหมายเหตุแห่งชาติพระนคร,บันทึกผลงานของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2491-2499. ศิวพร, 2500 น. 200.
[12] สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง. วันแม่. พระนคร : ภักดีประดิษฐ, 2496.
[13] เรื่องเดียวกัน.
[14]ชาติชาย มุกสง. วาทกรรมทางการแพทย์กับนโยบายการสร้างชาติ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม. สังคมศาสตร์ 17(1), 2548, น. 45-89.
[15]สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง. วันแม่. พระนคร : ภักดีประดิษฐ, 2498.