สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ กลับมาพบกันหลังจากเงียบหายไปสองสัปดาห์ติดๆ คิดว่าหลายท่านก็ได้เริ่มกลับมาทำงานหลังปีใหม่แล้ว บางท่านก็ยังหยุดยาวอยู่ ที่ญี่ปุ่นเองก็หยุดปีใหม่กันยาวๆ เหมือนกัน ตัวผมก็เขียนงานชิ้นนี้ในช่วงหยุดยาวนี่ล่ะครับ และแน่นอนว่าในช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่นเองก็มีธรรมเนียมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการไปไหว้เจ้าครั้งแรก การทานอาหารโอเซจิ ทานโมจิปีใหม่ สารพัดสารพัน และที่ขาดไม่ได้ในสังคมญี่ปุ่นก็คือ การส่ง ส.ค.ส. แบบญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า เน็งกะโจ (Nengajou – 年賀状) นั่นเองครับ
จริงๆ การส่ง ส.ค.ส. ก็ไม่ได้เป็นธรรมเนียมเฉพาะญี่ปุ่นอะไร เพราะหลายๆ ชาติก็ทำกัน ของไทยเราก็มีมาได้ระยะหนึ่งเหมือนกัน ทางยุโรปเองก็มีมานาน ส่วนของญี่ปุ่นนั้นก็จัดว่าเก่าแก่เอาเรื่องเพราะเชี่อกันว่า ส.ค.ส. ช่วงแรกของญี่ปุ่นก็คือจดหมายที่ชาววังส่งทักทายปีใหม่กันในสมัยเฮอันเลยทีเดียว แต่เน็งกะโจของญี่ปุ่นในปัจจุบัน จัดว่าเป็นธรรมเนียมที่เป็นทางก๊ารทางการสไตล์ญี่ปุ่น และมีอะไรจุกจิกมากเหมือนกัน
เน็งกะโจของญี่ปุ่นในปัจจุบัน คือกิจกรรมที่ชาวญี่ปุ่นส่งถึงกัน
เพื่อเป็นการทักทาย หรือแสดงความเคารพต่อผู้มีพระคุณต่างๆ
ซึ่งก็ต่างจากประเทศอื่นที่มักจะเลือกซื้อการ์ดปีใหม่หรือ ส.ค.ส. แบบที่ตนเองชอบแล้วเขียนส่งกันสบายๆ แต่ของญี่ปุ่นเขาเป็นระบบระเบียบคือ ใช้ไปรษณียบัตรของไปรษณีย์ญี่ปุ่นมาเขียนส่งกัน มีทั้งแบบเปล่าๆ เอามาเขียนเอง บางคนก็ซื้อมาแล้วพิมพ์ลวดลายหรือรูปที่ตัวเองออกแบบเพื่อส่งหากัน บางบริษัทก็พิมพ์ลวดลายของตัวเองขายพร้อมให้คนซื้อเอาไปแค่เขียนหรือพิมพ์ที่อยู่ของตัวเองและคนรับก็พอ ตัวอย่างก็พวกเน็งกะโจลวดลายคาแรคเตอร์ต่างๆ นั่นล่ะครับ ดังนั้น เน็งกะโจทั้งหมด แม้ลวดลายจะต่างกัน แต่ขนาดและด้านที่เป็นรายละเอียดของผู้รับและผู้ส่งก็จะเหมือนกัน ทำให้จัดการได้ง่าย และที่สำคัญคือ เน็งกะโจที่อยู่ในระบบของไปรษณีย์ จะมีตัวเลขกำกับอยู่ข้างล่าง ซึ่งก็จะมีการประกาศชิงรางวัลอีกที เป็นการกระตุ้นการส่งเน็งกะโจทางหนึ่ง (ซึ่งเริ่มเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน)
การคิดระบบการส่งเน็งกะโจที่เป็นมาตรฐาน ก็ช่วยสร้างรายรับให้กับไปรษณีย์ญี่ปุ่นมาได้เป็นอย่างดี และยังช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับการทำงานของพนักงานอีกด้วย ที่ญี่ปุ่น เน็งกะโจจะส่งถึงบ้านผู้รับในเช้าวันที่ 1 มกราคมเลย เพราะการจัดระเบียบตรงนี้ทำให้การจัดการระบบการส่งง่ายขึ้น เขาจะมัดปึกส่งเข้าตู้จดหมายแต่ละบ้านเลย และเวลาส่งเราก็หย่อนในช่องพิเศษที่จัดไว้ในตู้รับจดหมาย เขาจะได้แยกได้ง่ายๆ การเตรียมการส่งตรงนี้ก็ใช้คนเพิ่มเป็นพิเศษ รวมถึงพนักงานส่งเน็งกะโจที่จะมีการรับพนักงานพิเศษเพื่อส่งในวันปีใหม่ จะได้ทันทุกครัวเรือน
การส่งเน็งกะโจก็มีธรรมเนียมอีกว่า ปกติแล้วมักจะเป็นการส่งแบบเสมอกันคือ คนส่งและรับให้กันเป็นคู่ หากวันที่ 1 เปิดตู้เจอเน็งกะโจจากคนที่เราไม่ได้ส่งให้เข้า ก็ควรจะรีบส่งกลับเพิ่มเติมเพื่อแสดงความขอบคุณอีกด้วย ก็เป็นธรรมเนียมของญี่ปุ่นเขานั่นล่ะครับ
ตามที่บอกไปว่า เน็งกะโจคือรายรับสำคัญของไปรษณีย์ญี่ปุ่น เพราะตัวอย่างในช่วงพีคคือปี ค.ศ.2003 ที่ขายไปได้ประมาณ 44 ร้อยล้านใบ เมื่อคูณราคา 63 เยนเข้าไป ก็เรียกได้ว่าสร้างรายรับมหาศาล และกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับประโยชน์ไม่น้อย ช่วงปลายปีนี่คือช่วงที่ผู้ผลิตปริ๊นต์เตอร์ยี่ห้อต่างๆ โปรโมทปริ๊นต์เตอร์ของตัวเองโดยเสนอซอฟต์แวร์แถมที่ใช้ในการจัดการออกแบบและพิมพ์เน็งกะโจพร้อมฟังชั่นจัดการพิมพ์ที่อยู่ของผู้ส่งและผู้รับแบบอัตโนมัติ หลายคนเลือกซื้อพรินเตอร์ช่วงนี้เพราะต้องการส่งเน็งกะโจสวยๆ นี่ล่ะครับ เรียกได้ว่าช่วยกันสร้างรายได้ไป
แต่อะไรต่อมิอะไรก็ไม่ได้สวยงามตลอดไปหรอกครับ ตั้งแต่ยอดขายพีคในปี ค.ศ.2003 แล้ว ยอดขาย/พิมพ์เน็งกะโจก็ลดลงเรื่อยๆ จนปีล่าสุดนี่ยอดพิมพ์ไม่ถึงครึ่งของปี ค.ศ.2003 เลยด้วยซ้ำครับ เรียกได้ว่ารายรับของไปรษณีย์ลดฮวบ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะในปัจจุบัน คนเราก็มีทางเลือกในการส่งข้อความทักทายปีใหม่กันมากขึ้นกว่าเดิม คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้เห็นความจำเป็นตรงนี้เท่าไหร่นัก ส่ง ส.ค.ส. กันทางออนไลน์ก็ได้ ยิ่งยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กและแอพแชตต่างๆ ก็ยิ่งทำให้ความจำเป็นลดน้อยลง คนที่ส่งกัน หลายคนก็มองว่า ส่งเพราะเป็นธรรมเนียมทำตามกันมาเฉยๆ หลายคนก็บอกว่าการนั่งคิดข้อความจะส่งก็เป็นเรื่องชวนลำบาก แถมถ้าเป็นการส่งกันในบริษัทก็ยิ่งไม่เห็นความจำเป็นเพราะแค่ไม่กี่วันก็เจอกันแล้ว จะส่งทำไมให้แปลกๆ เป็นธรรมเนียมที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรอีกต่อไป และที่สำคัญคือ หลายคนมองว่า เปลืองเงิน นั่นเองครับ
การที่คนส่งเน็งกะโจน้อยลงเรื่อยๆ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อไปรษณีย์ญี่ปุ่นแน่นอน
เพราะหมายถึงรายรับที่ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ
ไม่แปลกใจที่ทางไปรษณีย์ญี่ปุ่นก็มีความต้องการที่จะขายเน็งกะโจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายก็กลายมาเป็นปัญหาเชิงการบริหารงานต่อ นั่นก็คือ การบีบให้พนักงานซื้อเน็งกะโจ
เรื่องนี้กลายเป็นที่รับรู้กันในสังคมญี่ปุ่น ว่าพนักงานของบริษัทไปรษณีย์ญี่ปุ่นมีเป้าว่าแต่ละคนต้องขายเน็งกะโจได้เท่าไหร่ ซึ่งก็กลายเป็นผลกระทบว่าคนที่ขายไม่ได้ตามเป้า สุดท้ายก็ต้องซื้อเน็งกะโจไปเอง เพื่อให้ได้ยอดตามที่หัวหน้าสั่งมา กลายเป็นปัญหาในบริษัทไปรษณีย์ต่ออีกทอด แม้บางคนจะออกจากงานแล้ว แต่กลับโดนอดีตหัวหน้างานมาขอร้องให้ช่วยรับซื้อต่อไป โดยอ้างบุญคุณเก่าที่เคยมีมา สุดท้ายยอดขายก็ตกอยู่ที่อดีตหัวหน้าอยูดี และพนักงานบางคนพอซื้อไว้เอง ก็เอาไปขายต่อที่ร้านรับซื้อตั๋วหรือบัตรต่างๆ มือสอง (พบได้ตามตัวเมืองญี่ปุ่น) ในราคาที่ถูกลง ช่วยเซฟตัวเองได้บ้าง แต่สุดท้าย พอมีเน็งกะโจหลุดไปขายในร้านแบบนี้ทีละเยอะๆ ไปรษณีย์ก็พยายายามแบนอีกเพราะเสียภาพลักษณ์ของตัวเอง การบีบให้พนักงานซื้อเน็งกะโจเองก็กลายมาเป็นที่โจษจันอีกครั้งเมื่อมีคดีที่อดีตพนักงานไปรษณีย์ตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยมีเหตุผลคือการกลั่นแกล้งในที่ทำงานและการถูกบีบให้รับซื้อเน็งกะโจไปเพราะเขาทำยอดไม่ได้
ประเด็นนี้ทำให้มีการโจมตีบริษัทไปรษณีย์หนักขึ้น และจากประสบการณ์ของผู้ที่เคยทำงานในบริษัทไปรษณีย์ ก็ชี้ให้เห็นปัญหาว่า ตั้งแต่ถูกแปรรูปเป็นบริษัทเอกชน (จากการตัดสินใจของอดีตนายกรัฐมนตรีจุนอิจิโร่ โคอิซุมิ (Junichiro Koizumi) ในปี ค.ศ.2005 ที่ยุบสภาให้ประชาชนเลือกว่าจะเอาแนวทางไหน และแปรรูปในปี ค.ศ.2007) บริษัทไปรษณีย์ก็ต้องพยายามสร้างรายได้ให้มากขึ้น ใครเข้าไปไปรษณีย์ตอนนี้ก็มักจะพบการวางขายสินค้าต่างๆ เพื่อทำรายได้ รวมไปถึงสินค้าที่สามารถสั่งจากแค็ตตาล็อกเหมือนห้างร้านต่างๆ ที่เสนอขายสินค้าส่งถึงผู้รับได้โดยตรง ใช้การการทักทายประจำฤดูกาล
แต่ปัญหาคือ เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กร ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทเอกชนที่คล่องตัวกว่าได้ หลายครั้งสินค้าที่บริษัทไปรษณีย์เลือกมาขายไม่ได้มีคุณภาพดีนัก และราคายังแพงเกิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะว่าเลือกสินค้าโดยอาศัยความสัมพันธ์ที่มีกับท้องถิ่นที่เกื้อผลประโยชน์กัน หรือหลายครั้งก็เป็นของบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอดีตพนักงานระดับสูงของบริษัทไปรษณีย์ ทำให้เลือกมาขายโดยไม่ได้ดูความต้องการของตลาด แต่พนักงานระดับปฏิบัติก็ไม่มีทางเลือกนอกจากพยายามขายตามคำสั่งไป เพราะเป็นแนวทางการสร้างรายได้ของไปรษณีย์นั่นเอง
ไม่แปลกที่ยิ่งมีข่าวเสียๆ หายๆ เกี่ยวกับบริษัทไปรษณีย์มากแค่ไหน คนก็ยิ่งถอยห่างไปอีก และยิ่งกับคนยุคปัจจุบันที่ไม่อยากจะสนับสนุนบริษัทที่เอาเปรียบพนักงานแล้ว การยัดเยียดให้พนักงานตัวเองซื้อเน็งกะโจก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้คนไม่อยากซื้อเน็งกะโจเข้าไปอีก เพราะถ้าต้องการบอกขอบคุณใคร ก็โทรหาได้ง่ายๆ หรือแค่ส่งเมลหรือข้อความก็ได้ ไม่ต้องพยายามลำบากและลงทุนอะไรขนาดนั้น และยังเหมาะกับยุคที่คนต้องประหยัดกันเสียมากกว่า
ยิ่งช่วงปลายปีที่มีกรณีที่บริษัทประกันชีวิตของบริษัทไปรษณีย์ถูกแฉเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันจนตัวผู้บริหารต้องลาออก ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ติดลบหนักขึ้น จนแม้จะพยายามเอาวง Arashi มาช่วยโปรโมทหนักแค่ไหน ก็คงทำไม่มีทางทำให้ยอดขายเพิ่มจากปีก่อนหน้าได้ง่ายๆ ครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก