วันนี้องค์กร Transparency International ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นระดับนานาชาติ ได้ประกาศคะแนน Corruption Perceptions Index 2016 หรือดัชนีการคอร์รัปชั่นประจำปี 2016 ที่ผ่านมา พบว่า จาก 100 คะแนนเต็ม (คอร์รัปชั่นน้อยที่สุด) ไทยได้คะแนนเพียง 35 คะแนน
คะแนน 35 คะแนนของไทยนั้นเท่ากับประเทศอย่างกาบอน ไนเจอร์ เปรู ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต ตรินิแดดและโทบาโก โดยเป็นคะแนนที่ลดลงมาจากปีก่อนๆ
โดยในปี 2012 ไทยได้คะแนน 37 คะแนน, 2013 35 คะแนน, 2014 38 คะแนน, 2015 38 คะแนน และลดลงมาเป็น 35 คะแนนในปี 2016 (เท่ากับคะแนนปี 2013)
ประเทศที่มีคะแนน CPI สูงที่สุด (คอร์รัปชั่นน้อย) คือประเทศเดนมาร์ก (90 คะแนน) นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา
ส่วนสหราชอาณาจักร ได้ 81 คะแนน เท่าๆ กับเยอรมนี, สหรัฐอเมริกาได้ 74 คะแนน, ญี่ปุ่นได้ 72 คะแนน, จีน 40 คะแนน
ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เวียดนามได้ 33 คะแนน, ลาวได้ 30 คะแนน, เมียนม่าร์ 28 คะแนน, มาเลเซีย 49 คะแนน กัมพูชา 21 คะแนน อินโดนีเซีย 37 คะแนน
คะแนน CPI น้อยที่สุด (คอร์รัปชั่นสูงสุด) คือประเทศโซมาเลีย รองมาด้วยเซาธ์ซูดาน เกาหลีเหนือ ซีเรีย เยเมน ลีเบีย อัฟกานิสถาน เป็นต้น
วันนี้นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ บอกว่าตกใจกับอันดับของไทยในปีนี้ แต่ก็คาดการณ์ว่าที่คะแนนของไทยตำ่ลงเพราะว่ามีการใช้ “ข้อมูลความเป็นประชาธิปไตย” เข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เดิมที คาดการณ์ว่าจะได้มากกว่า 38 คะแนน
แล้วคะแนน CPI ดังกล่าวใช้อะไรวัด?
เว็บไซต์ของ Transparency International บอกว่า ประเทศที่ได้คะแนนน้อยๆ นั้นมีองค์กรรัฐที่ทำงานไม่ดี และไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งรวมไปถึงองค์กรรัฐอย่างเช่นตำรวจ หรือตุลาการด้วย ประเทศเหล่านี้ถึงจะมีกฎต่อต้านการคอร์รัปชั่น ก็มักจะไม่ค่อยได้ปฏิบัติตาม และมีการติดสินบน หรือเรียกค่าต๋งกันมากมาย ส่วนประเทศที่ได้คะแนนมากๆ นั้นมีสิทธิเสรีภาพสื่อ มีอิสรภาพในการเข้าถึงข้อมูล และเจ้าหน้าที่รัฐมีมาตรฐาน รวมถึงมีระบบตุลาการที่ดำเนินการอย่างอิสระ แต่องค์กรเองก็บอกว่า ไม่อาจชมประเทศที่มีคะแนนสูงๆ ได้อย่างเต็มปากเช่นกัน เพราะว่าถึงแม้ว่าการคอร์รัปชั่นในระดับประชาชนอาจจะเกิดขึ้นน้อยกว่า แต่ว่าในระดับการตกลงกันระหว่างองค์กร หรือรัฐกับองค์กร ก็มีการเล่นเล่ห์ตุกติกในหลายระดับ
ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก Transparency International วิจารณ์ว่า ประเทศส่วนใหญ่ตกอยู่ในครึ่งที่คะแนนแย่ในดัชนี CPI ปีนี้ เพราะมีรัฐบาลที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีการดูแล และมีพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมน้อยลงทุกที ทำให้มีการคอร์รัปชั่นกันสูงขึ้น
ดัชนี CPI ในปีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการคอร์รัปชั่นกับความไม่เท่าเทียมด้วย ยิ่งไม่เท่าเทียม ก็ยิ่งคอร์รัปชั่นมากขึ้น และยิ่งคอร์รัปชั่น ก็ยิ่งไม่เท่าเทียมมากขึ้น เพราะทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เท่ากันในสังคม ผู้ที่มีอำนาจมากก็จะได้รับผลตอบแทน มีความมั่งคั่งมากตาม
ตามเอกสารจาก Transparency International อธิบาย CPI ไว้ว่า CPI เป็นคะแนนที่ใช้วัดประเทศโดยดูว่าองค์กรรัฐ องค์กรสาธารณะนั้นๆ “ดูจะ” (perceived) คอร์รัปชั่นมากแค่ไหน โดยเป็นการประเมินทั้งจากการสำรวจ และการวัดค่าต่างๆ คำนวณจากสถาบันที่เชื่อถือได้ และเป็นดัชนีที่เป็นที่ใช้อ้างในเรื่องคอร์รัปชั่นมากที่สุดในโลก
ทำไมต้องใช้การ “ดูเหมือน” (perception) ในการวัดคอร์รัปชั่น เพราะว่าคอร์รัปชั่นเป็นกิจกรรมผิดกฎหมายที่มักจะถูกซ่อนจากสายตาสาธารณะและจะถูกเปิดเผยก็ต่อเมื่อมีการไต่สวน มีเรื่องอื้อฉาวหรือมีคดีความเท่านั้น ไม่มีวิธีใดๆ ที่จะวัดการคอร์รัปชั่นได้โดยใช้หลักฐานที่เห็นได้ โดยมีความพยายามวัดมาแล้ว อย่างเช่น วัดจากจำนวนคดีที่มีการรายงาน เป็นต้น แต่ว่าข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะนำมาใช้อ้างได้ เพราะว่ามันเป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของสื่อ ของศาล หรือของเจ้าพนักงานที่จะสอบสวนในประเทศนั้นๆ เท่านั้นเอง ดังนั้นองค์กรจึงเห็นว่าการจับเอามุมมองเรื่องการคอร์รัปชั่นมาชี้วัดจึงเป็นวิธีที่สมเหตุสมผลที่สุด
โดยในปีนี้มีการอ้างอิงเนื้อหาจากแหล่งตามนี้ (ไม่ทุกประเทศจะใช้ทุกแหล่ง แต่ต้องใช้อย่างน้อยสามแหล่งประกอบเป็นคะแนน)
- African Development Bank Governance Ratings 2015
- Bertelsmann Foundation Sustainable Governance Indicators 2016
- Bertelsmann Foundation Transformation Index 2016
- Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings 2016
- Freedom House Nations in Transit 2016
- Global Insight Country Risk Ratings 2015
- IMD World Competitiveness Yearbook 2016
- Political and Economic Risk Consultancy Asian Intelligence 2016
- Political Risk Services International Country Risk Guide 2016
- World Bank – Country Policy and Institutional Assessment 2015
- World Economic Forum Executive Opinion Survey (EOS) 2016
- World Justice Project Rule of Law Index 2016
- Varieties of Democracy (VDEM) Project 2016
อ้างอิงจาก
http://www.matichon.co.th/news/440210
https://www.transparency.org/news/feature/corruption_perceptions_index_2016