จงเติมคำในช่องว่าง “คอร์รัปชั่น เท่ากับ __________ ?”
คุณเลือกคำว่าอะไรใส่ลงไปในช่องว่างนั้น การกิน การโกง การลอก ปีศาจ เชื้อโรค หรือเรื่องธรรมดา แล้วคุณรู้ไหมว่า คำที่คุณเลือกนั้นมีผลต่อการรับรู้ เข้าใจ และแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมเราด้วย
“อะไรที่เป็นนามธรรมเข้าใจยาก สมองจะวิ่งหาสิ่งที่เป็นรูปธรรมก่อน เมื่อพูดถึงคำว่า ’คอร์รัปชั่น’ ก็เหมือนกัน” ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองของจุฬาฯ อธิบายในงาน Knowledge Farm Talk เป็นงานที่ SIAM Lab ทีมที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นสังคมไทย หยิบเอาการทดลองสนุกๆ เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นในเมืองไทยมาเล่าให้ฟัง แต่ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมงานก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองด้วย!
ก่อนเข้างาน ผู้เข้าร่วมจะได้รับโจทย์สั้นๆ เป็นคำอธิบายเปรียบเทียบคอร์รัปชั่นพร้อมถามแนวทางการแก้ปัญหา แต่ว่าโจทย์ของกลุ่มหนึ่งเปรียบคอร์รัปชั่นเป็น ‘เชื้อโรค’ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเปรียบเป็น ‘ปีศาจ’
ปรากฏว่าคำตอบของผู้เข้าร่วมมีลักษณะต่างกัน ทั้งที่ถูกถามด้วยคำถามเดียวกัน
– คำตอบของกลุ่มที่ได้โจทย์ ‘เชื้อโรค’ จะเน้นไปที่การหาสาเหตุ และเสนอแนวทางแก้ปัญหาในเชิงสังคม เป็นการแก้ไขแบบร่วมมือกันและมีความยินดีปฏิรูปสังคมมากกว่า
– ขณะที่กลุ่มที่ได้โจทย์ ‘ปีศาจ’ จะเน้นไปที่ปลายเหตุ เน้นการกำจัดและปราบปรามมากกว่า มองการแก้ปัญหาไปที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคล
นี่เป็นตัวอย่างการทดลองเพื่ออธิบายผลของการเลือกใช้คำเพื่ออธิบาย ‘คอร์รัปชั่น’ อาจารย์ธานียังบอกอีกว่า ประเทศไทยยังผูกคอร์รัปชั่นเข้ากับวัฒนธรรมการกิน (Eating Culture) เราใช้คำว่า ‘กิน’ เพื่ออธิบายสิ่งนี้ ทำให้เรามองมันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ขณะที่บางประเทศเปรียบ ‘คอร์รัปชั่น’ เป็นสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์มีพิษ ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่ความคิดที่ต่างกันไป จึงน่าทบทวนให้ดีว่าวัฒนธรรมที่เราสร้างขึ้นมา มีส่วนให้คอร์รัปชั่นมันดำรงอยู่ไหม
อีกหนึ่งการทดลองที่ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค เล่าให้ฟังในงานนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงข้อสันนิษฐานเรื่องการใช้ภาษากับปัญหาคอร์รัปชั่น อาจาย์ได้ใช้ Data Mining สำรวจคำที่พูดถึงคอร์รัปชั่นใน Bangkok Post ย้อนหลังไป 10 ปี (2550-2560) พบว่าคำที่สื่อไทยใช้เปรียบเทียบเพื่อพูดถึงการคอร์รัปชั่นบ่อยๆ คือ สงคราม / กองทัพ / อาวุธ / การกิน / ความตาย / สีเหลือง / สีแดง / หลากสี / ยานพาหนะ / รถเมล์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำที่กระตุ้นให้เกิดดราม่า ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าพอเป็นดราม่า ก็กลายเป็นเรื่องที่เกิดไวแล้วหายไป แต่ระบบหรือปัญหาจริงๆ ไม่ได้ถูกแก้ไข
เมื่อลองเทียบกับสื่ออินโดนีเซียอย่าง Jakarta Post ซึ่งเป็นประเทศที่มีพัฒนาการในการต้านคอร์รัปชั่นอย่างเห็นได้ชัด ในสื่ออินโดฯ ใช้คำว่า กฎหมาย / ระเบียบ / เสียหาย / ทำลาย / การมีส่วนร่วม / ผิดจริยธรรม ซึ่งเป็นคำเชิงระบบมากกว่า และกระตุ้นให้เกิดการตระหนักและแก้ปัญหามากกว่าด้วย
อาจารย์บอกว่าจะทดลองขยายการทดลองต่อไปในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก และหวังจะสร้าง ‘คู่มือการสื่อสารเรื่องคอร์รัปชั่น’ ได้
อีกหนึ่งเรื่องที่สนุกในงานนี้คือการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ที่ ผศ.ดร. ธนะพงษ์ โพธิปิติ ได้ลองศึกษาเรื่อง ‘คอร์รัปชั่น’ ที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น (และเชื่อว่าหลายคนต้องเคยผ่านโมเมนต์นี้มาแล้ว) นั่นก็คือเรื่องการโกงข้อสอบ โดยโจทย์ของการทดลองคือ อยากรู้ว่าเวลาสอบเด็กโกงกันแค่ไหน และถ้านั่งสอบข้างเพื่อนสนิท จะมีแนวโน้มโกงมากขึ้นไหม
การทดลองนี้ให้เด็กทำข้อสอบบวกเลขง่ายๆ ไม่ได้วัดความรู้ แต่เน้นความเร็ว โดยที่สิ่งตอบแทนไม่ใช่คะแนน แต่เป็นเงิน และนั่นคือแรงจูงใจของการโกง ว่ายิ่งทำได้มากข้อ ก็ยิ่งได้เงินมาก โดยเปิดช่องให้เกิดการโกงสองทาง
หนึ่ง คือโกงจากการโกหก คือให้ตรวจข้อสอบเอง
สอง คือโกงจากการลอก คือให้นั่งใกล้เพื่อน แล้วข้อสอบก็มีรูปแบบที่ลอกง่ายแสนง่าย
ผลที่ออกมาคือ
– กลุ่มที่ตรวจข้อสอบเอง โกงถึง 41.7% โดยจะให้คะแนนตัวเองเยอะกว่าความเป็นจริงประมาณ 3.2 คะแนน (ซึ่งตีเป็นรางวัลในการทดลองนั้นก็คือเงิน 30 บาท)
– คนจะเลือกวิธีโกงที่ซับซ้อนน้อยกว่า โดยเริ่มจากตัวเอง คือคนที่ตรวจข้อสอบเอง โกหกผลได้ จะไม่ลอกเพื่อน แต่ถ้าโกหกไม่ได้ ถึงจะลอก แล้วการนั่งติดกับเพื่อนก็ทำให้เกิดการลอกเพิ่มขึ้นจริงๆ
นอกจากนี้ ยังมีการใส่ปัจจัยเข้าไปในการทดลองอีกสองอัน คือเรื่อง ‘ศีลธรรม’ และ ‘การแข่งขัน’
– ในส่วนของศีลธรรม มีโมเดลมาจากสหรัฐฯ ที่ให้เด็กเขียนบัญญัติ 10 ประการ แล้วทำให้การโกงข้อสอบลดลง การทดลองนี้เลยให้เด็กเขียนศีล 5 ก่อนทำข้อสอบ แต่ปรากฏว่าไม่มีผล ไม่ได้ช่วยลดการโกง แถมกลุ่มที่เขียนศีล 5 ยังมีการโกงมากกว่าเล็กน้อยด้วยซ้ำ (แต่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญขนาดเอามาพิจารณาเป็นปัจจัยได้)
– อีกอย่างคือสร้างการแข่งขัน ว่าไม่ได้รางวัลตามคะแนน แต่ได้รางวันตามอับดับที่จัด ไม่ได้เงินจากความเก่งของตัวเอง แต่ต้องเทียบกับเพื่อน ก็พบว่าเมื่อมีการจัดอันอับ ก็มีการโกงมากกว่าเล็กน้อย
นอกจากนี้ ในงานยังมีการพูดถึงผลวิจัยของ SIAM Lab ที่น่าสนใจ อย่างเช่นว่า เคยทำการสำรวจว่าถ้าเป็นหมอซึ่งที่พ่อแม่ป่วย แล้วขโมยยาไปช่วยรักษาได้ จะทำไหม คนส่วนใหญ่ก็บอกว่าทำ เพราะคนไทยแยกเรื่องการ ‘ทำดี’ ออกจากการเป็น ‘คนดี’ แยกเรื่องความ ‘ซื่อสัตย์’ ออกจากความ ‘กตัญญู’ และยังมีฟังก์ชั่นของการทำบุญเพื่อชดเชยความรู้สึกผิด ที่หล่อหลอมในจิตในใจกันมานานด้วย
อ้าว ไหนลองใหม่ซิ จงเติมคำในช่องว่าง “คอร์รัปชั่น เท่ากับ __________ ?”