ถ้านึกถึง‘เกาหลีใต้’หลายคนก็นึกถึง K-Popที่เข้ามาเป็นที่นิยมอย่างมากในบ้านเรา มีแฟนคลับ แฟนเพลงมากมาย หรือแม้แต่คนไทยที่ไปเดบิวต์เป็นศิลปินในวงการนี้ด้วย แต่จริงๆ ในปัจจุบัน อิทธิพลจากเกาหลีที่เป็นกระแสในบ้านเรา ยังมีทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์ อาหาร ไปจนถึงวงการบิวตี้อย่างเครื่องสำอางด้วย
แต่ในอีกมุมนึง ที่ทำให้เกาหลีประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้าน ในการเรียน และระบบการทำงาน ก็ขึ้นชื่อว่าความตึงเครียด จึงจัง มีวัฒนธรรม บรรทัดฐานในสังคมที่เคร่งในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าคนไทยอย่างเราเข้าไปทำงานที่นั้น อาจจะต้องเจอกับคัลเจอร์ ช็อค หรือต้องปรับตัวให้อยู่ร่วมกับเขาได้
The MATTER คุยกับ พี่ปรุง ทัชระ ล่องประเสริฐ คนไทยคนแรกที่เข้าไปทำงานในค่ายเพลง S.M.Entertainmentของเกาหลี และกำลังมีผลงานเขียนหนังสือ‘Call Me Oppa’ถึงเรื่องราวการใช้ชีวิตในเกาหลี การทำงาน การปรับตัว และเรื่องราวในอุตสากรรม K-Popที่เป็นกระแสนิยมสามารถส่งออกไปทั่วโลกได้กัน
พี่ปรุงอยู่เกาหลีมากี่ปีแล้ว
อยู่เกาหลีทั้งหมดประมาณ 5 ปีแล้ว แต่ก่อนจะมาทำงานที่นี่ ก็ทำงานอะไรหลายอย่างเหมือนกัน เคยฝึกงานที่บริษัทยาในเกาหลี เคยเป็นพนักงานตามสัญญาระยะสั้นกับบริษัทสายการบิน แล้วก็เปลี่ยนงาน เป็นเหมือนการลองสนามไปเรื่อยๆ
ช่วงนั้น เกาหลีเหมือนยังไม่ใช่ตัวเลือกหลักๆ ที่คนเลือกไปเรียนต่อกัน ทำไมพี่ปรุงถึงเลือกไปเกาหลี
ตอนนั้น พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน ทั้งเพื่อน และอาจารย์พี่เองก็ถามกลับมาเหมือนกันว่าทำไมต้องเกาหลี แต่ก่อนหน้านี้ เราทำงาน Law Firm แล้วก็เปลี่ยนงานเพราะไม่ชอบ เป็นช่วงที่เรา suffer มาก เพราะอยากค้นหาตัวเอง อยากจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ทำงานอะไร ไปไกลได้เท่าไหน เลยตัดสินใจสมัครทุน สมัครผู้ประกาศข่าว สจ็วต และการแข่งขันการตลาด ทำหลายอย่างมาก แต่ในที่สุดเราได้ทุนไปเกาหลี แต่ตอนนั้นเราก็ได้การตอบรับไปเรียนที่อเมริกาแล้วด้วย ทั้งเรายังดูทุนจีนไว้เป็นตัวเลือก ทำให้ต้องมาคิดว่าจะไปเกาหลี อเมริกา หรือจีน
เรามาคิดไปคิดมาว่าตลาดที่เราไป เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จะต้องมีการแข่งขันกับกี่คน ซึ่งในเกาหลีมันก็เริ่มชัดเจนในแง่ของหนัง และละคร แต่ในแง่ของอุตสาหกรรม อย่าง Samsung หรือ Line บริษัทเหล่านั้นมันยังไม่บูมขนาดนั้น ยังมีแค่กระแสศิลปินและเพลงเกาหลี Super Junior, Girl’s Genneration บ้าง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าถ้าไปเรียนแล้วจะรอดหรือเปล่า ในแง่ของการใช้ชีวิต
พี่ได้คุยกับอาจารย์ท่านนึงซึ่งเขาอธิบายไว้ว่า ‘มันต้องดูที่การแข่งขันของตลาด เพื่อหาอัตราหรือแนวโน้มการประสบความสำเร็จ ซึ่งถ้าเราไปและประสบความสำเร็จ เราจะเป็นหนึ่งเดียวในตลาดนี้’ พี่เลยคิดถึงตลาดจีนว่า มันบูมมาก มีคนอยากไปเยอะมาก ต้องไปแข่งกับอีกหลายล้านคน ภาษาเราก็ไม่ได้ ส่วนอเมริกาเป็นเส้นทางมาตรฐานอยู่แล้ว ไปปุ๊ป เรารู้อยู่แล้วจะเป็นอย่างไร ไปเรียนจบโท กลับมาทำงานที่นี้ได้เงินเดือนปกติเหมือนเด็กจบโท
สุดท้ายเราเลือกเกาหลีเพราะคิดคำนวณดีๆ แล้ว การท้าทายของเราน่าจะมีผลลัพธ์ที่ออกมาดีที่สุด สัดส่วนการแข่งขันน้อยกว่า และหลายๆ อย่างน่าจะซัพพอร์ตเราด้วย ทั้งการใช้ชีวิต อาหาร เมือง อากาศ มันเข้ากับเรามากกว่าด้วย รวมปัจจัยหลักๆ เลยตัดสินใจไป โดยตอนแรกเราไม่ได้แม้แต่อันยองฮาเซโย ไม่อินเลยด้วย รู้จักแค่ K-pop แต่ก็ไม่อินเพราะเราเป็นคนเสพเพลงสากล ทุกวันนี้ก็ตกใจเหมือนกันว่าเราไปไกลเหมือนกัน
พอไปเริ่มต้นจากศูนย์ปรับตัวเยอะไหม
ปรับความคิดของเรามากกว่า ต้องปรับเยอะมาก จนมีหลายรอบที่ถามตัวเองเหมือนกันว่า มาทำไม มาเพื่ออะไร วนลูปแบบนี้ เพราะว่าเราได้ทุน ซึ่งไม่ใช่แค่เรียน แต่ภายใน 6 เดือน เราต้องสอบวัดระดับให้ได้ในระดับ intermediate หรือ เลเวล 3 ตามที่เขากำหนด ซึ่งถ้าไม่ผ่าน ก็จบ กลับบ้านแล้วต้องใช้ทุนคืน
เราก็เครียด เพราะต้องทำให้มันผ่าน ณ ตอนนั้นก็ถามตัวเองตลอดว่ามาทำไม ทำไมต้องทำอะไรขนาดนี้ด้วย แต่สุดท้าย เราเลือกที่จะมาแล้ว เป้าหมายที่วางไว้ตอนแรก คำมั่นสัญญาที่เราให้ไว้กับตัวเองคืออะไร เรากลับมาทวนกับตัวเอง หรือถ้าไม่ได้ แผนสำรองคืออะไร ณ ตอนนั้นก่อนเรามาเราวางแผนไว้หมดแล้ว เราก็รู้สึกว่าเรามาแล้ว ตัดสินใจมาก็ต้องทำให้เต็มที่
แรกๆ สังคมในเกาหลีที่เค้าว่าเครียด ทำให้เราเครียดไปด้วยไหม
ในด้านการเรียน พี่ชินมากกว่า เพราะเราเรียนนิติศาสตร์มา มันเครียดอยู่แล้ว เราผ่านประสบการณ์ด้านความเครียดในการอ่านหนังสือมาแล้ว ถ้าถามว่าความเครียดที่นี่เป็นอย่างไร พี่ว่ามันคือความเครียดจากสังคมรอบข้างมากกว่า ในการใช้ชีวิต เพราะการใช้ชีวิตที่นั่นเหมือนเราใช้ชีวิตเป็นคนส่วนน้อยในหมู่คนส่วนใหญ่ ที่เกาหลีเค้ามองว่า คุณเป็นส่วนน้อย คุณไม่ใช่พวกเรา ไม่เอา ก็ไปเฉพาะพวกเราสิ
เค้าจะมีคำว่า ‘อูรีกีรี’ หมายถึงเอาเฉพาะพรรคเฉพาะพวก คือจุดสำคัญอันนึงของความเป็นเกาหลีเลย ถ้าคุณทำให้เค้ายอมรับ เป็นส่วนหนึ่งกับเขาได้ อันนี้ก็จะทำให้คุณอยู่ร่วมกับสังคมเกาหลีได้อย่างสบาย แต่ถ้าครั้งหนึ่งที่เกิดทำให้คุณหรือเขานั้นไม่ลงรอยกัน หรือไม่ใช่พวกเขา ก็จะเป็นแค่มารยาทในการทักทาย แต่จะไม่ใช่พวกกัน
เพราะลำดับขั้น เลเยอร์ในสังคมเกาหลีมันเยอะมาก มันมีทั้งอายุ ซึ่งมีเรื่องอายุตำแหน่งงานเข้ามาด้วย นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของเพศในบางครั้ง ทั้งยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่จะทำให้คนๆ นึงถูกยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษา การประพฤติ ปฎิบัติตัวก็สำคัญ จะทำยังไงให้คนเกาหลีรู้สึกว่าคนคนนี้ไม่ได้มาจากโลกที่ 3 หรือต่างดาว มันก็เป็นสิ่งที่ต้องมาพิจารณาเหมือนกัน เพราะบางทีเค้าก็รู้สึกว่าคนนี้ไม่ใช่พวกเขา ไม่ใช่คนที่เขาอยู่ด้วยได้ซึ่งอยากจะให้มองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย และต้องปรับตัว เพราะการยอมรับเป็นเรื่องที่สำคัญในการต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนหลายๆ คน จะทำยังไงให้เราปรับตัวเข้ากันได้ เราต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน
ถ้าคุณไปเป็นคนเดียว ไปอยู่ในประเทศที่ไม่เคยรับต่างชาติ หรือมีต่างชาติเป็นส่วนน้อย คำถามเหล่านี้จะมาแน่นอน ใครอะ มาทำไม ใครเลือกมา มาทำอะไร วันแรกที่พี่ไปทำงาน ชื่อพี่ยาวมาก เพราะปกติชื่อคนที่นี่จะ 3 พยางค์ หัวหน้าอีกฝ่ายนึงโทรมาหาหัวหน้าพี่เลย ว่าคนนี้คือใคร มาจากประเทศไหน ทำไมชื่อแปลก เอามาทำไม เป็นปกติอยู่ที่เจอการท้าทาย แต่เราต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเราจะทำงานนี้ให้รอด ให้เหมาะสมกับที่เขาเลือกคุณมา อันนี้คือต้องปรับเพื่อให้ทำงานในสภาพแวดล้อมนั้นได้
ใช้เวลานานไหม กว่าจะทำให้เขารู้สึกว่าเป็นพวกกับเขาได้
ขึ้นอยู่กับคน แล้วปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่นสภาพล้อมด้วย อย่างถ้าอยู่ในหอต้องเจอกันทุกวัน มันก็เป็นเกณฑ์บังคับที่ต้องปรับให้ได้ อย่างพี่ปรับตัวกับเพื่อนในหอ เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย พี่ก็พูดภาษาเกาหลีไม่ได้เลย ตลกมากและเหนื่อยมาก ทุกเช้าตื่นขึ้นมาจะชวนไปกินข้าว เราต้องใช้ท่าทาง ใช้ภาษามือ ใช้ภาษากาย ใช้ภาษาอังกฤษคำง่ายๆ ทำให้เราเริ่มเปลี่ยนวิธีการคิด วิธีการพูด แล้วพอเราเริ่มเรียนภาษาเกาหลี 3 เดือน 6เดือน เราก็คุยกับเค้าได้มากขึ้น จนทุกวันนี้ก็ยังคุยกันอยู่
แต่ถ้าเป็นเรื่องทำงานจะเป็นคนละเรื่องเลย ในการปรับตัวให้เขายอมรับ เพราะคนเกาหลีมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนมากของความเป็นเพื่อนกับเพื่อนร่วมงาน หรือคนทำงาน สามารถพูดได้เลยว่า คำว่าเพื่อนในบริษัทเกาหลี จะมีก็ต่อเมื่อเป็น ‘แบดช์เดียวกัน’ ที่เข้ามาร่วมกัน เทรนด์ด้วยกัน เพราะแต่ละคนจะอยู่คนละฝ่าย ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ก็จะเจอกันบ้าง จะมีความรู้สึกเหมือนตอนเป็นเฟรชชี่ เจอเพื่อนที่เข้ามาพร้อมกัน
ต่อไปอีกสเต็ปนึงคือ ‘เพื่อนร่วมงาน’ ก็จะมีคนที่อายุแตกต่างกันบ้าง ซึ่งก็มีระดับข้างในอีก เขาก็จะมีมายเซ็ตว่า เขาจะไม่แอดโซเชียลมีเดียซึ่งกันและกัน ยกเว้นคุณจะก้าวข้ามสเต็ปของเพื่อนร่วมงานไปเป็น ‘เพื่อน’ ได้ เขาถึงจะแอด อันนี้เป็นหลักที่ทุกคนทำกันในบริษัท เขาใช้คำว่าเคารพซึ่งกันและกัน เรื่องส่วนตัวคือเรื่องส่วนตัว เรื่องทำงานคือทำงาน ไม่เอามาปนกัน เพราะเขาถือว่ามันเอามารวมกันแล้วมันทำให้งานเสีย คือคนเกาหลีมีมายเซ็ตที่ค่อนข้างชัดเจนในการแบ่งแยกค่อนข้างสูง
รวมไปถึงเรื่องน่าตกใจอีกอย่างนึงคือ ‘ยิ่งสนิท ต้องยิ่งระวัง’ ถ้าเป็นคนในบริษัทเดียวกัน ในการทำงานเขาจะไม่เอาเรื่องการขอสิทธิพิเศษเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เพราะเขาถือว่าคุณเป็นคนทำงาน ไม่ควรเอาเรื่องพวกนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นสิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ พี่ไม่เคยได้
เพราะว่าเขาทรีตว่าคุณทำงาน ก็ต้องทำงาน ต้องมีความเคารพการทำงานที่ถูกต้อง มีจรรยาบรรณที่ดี ไม่ควรเอาสิทธิพิเศษที่มีมากกว่าคนอื่นมาเอาเปรียบคนอื่น นี่คือมายเซ็ตของเขา
มีเรื่องไหนที่พี่ปรุงรู้สึกว่าเป็น ‘คัลเจอร์ช็อค’ในการทำงานของเกาหลีบ้าง
เรื่องของลำดับขั้น และการแชร์ไอเดียต่างๆ หรือว่าบรรยากาศในการทำงาน โดยคนที่อายุน้อยกว่าพี่ แต่เป็นรุ่นพี่ที่เข้ามาทำงานก่อน พี่ก็ต้องเคารพเขาเปรียบเสมือนว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ การใช้คำพูดก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ มันเป็นการทลายอีโก้สูงสุดของการทำงานในองค์กรเลย เช่น เปรียบเหมือนว่ามีคนอายุ 20 ปี แต่เป็นบอสเรา เราต้องไหว้เขา เพราะเขาเป็นหัวหน้า เราก็คงรู้สึกตะขิดตะขวง แล้วเราอายุ 29 ปี แต่มีบางคนที่เด็กกว่าเรา ที่ทำงานก่อนเรา อายุน้อยกว่าเราเยอะ ก็ยากในตอนแรก เพราะเราเองก็มีอีโก้พอสมควร เคยทำงาน Law Firm มีประสบการณ์ทำงาน เงินเดือนก็ไม่น้อย
แต่หัวหน้าทีมพี่ ก็พูดกับพี่ว่า ‘ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ไม่สำคัญ มาตรงนี้คือเริ่มใหม่หมด คุณอายุเริ่มงานคือ 0 เขาคือ 3 ปี เขาคือคนที่ประสบการณ์มากกว่าใน ณ ที่นี้ เค้ารู้ว่าต้องทำอะไร ไม่ใช่คุณ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะทำได้ คือเป็นแก้วใบใหม่ที่เทน้ำเก่าทิ้ง และรอรับน้ำใหม่’ อันนี้คือคีย์เวิร์ดที่เขาบอกว่าจะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในองค์กรเกาหลี ไม่ใช่แค่ที่บริษัทที่พี่อยู่
คือ คุณต้องเป็นแก้วใบใหม่ ที่รับน้ำใหม่ ในสังคมใหม่ให้ได้ เพราะการทำงานของเกาหลีไม่ใช่แค่การทำงานที่ร่วมกัน แต่มันเข้าใจองค์กร เข้าใจ Position และ Vision ขององค์กรว่าต้องการให้เป็นอย่างไร ถ้าคุณมีความคิดที่ต่างออกไป จะทำให้การทำงานตรงนี้ค่อนข้างยาก
นี่ก็คือความท้าทายอันนึง ที่ค่อนข้างเป็นกำแพงสำคัญของพี่เหมือนกันนั่นก็คืออีโก้ช่วงแรกๆ แต่พี่ก็ปรับมาได้ เหมือนเด็กฝึกงานคนใหม่เลย ทำใหม่ทุกอย่าง
อยู่กับสังคมที่เครียด ทำให้เราเอาความเครียดนั้นติดมาด้วยหรือเปล่า
พี่ยอมรับว่าติด พี่ทำงานกับคนเกาหลี แล้วพอมาทำกับคนไทย พี่ก็รู้ตัวว่าเราเอาบางสิ่งบางอย่างจากตรงนั้นมาเยอะพอสมควร อย่างเช่น เรื่องของเดดไลน์ ไทม์ไลน์ แพลนที่วางไว้ การแอพพรูฟงานต่างๆ พี่ก็ติดมา บางทีมันก็เป็นเรื่องที่ดีในบางส่วน แต่ในบางส่วนมันก็เป็นเรื่องที่ตึงเกินไป คนไทยก็จะรู้สึกว่าทำไมต้องตึงขนาดนี้ แต่พี่ว่าอันนี้มันเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลว่าจะมองยังไง แต่การที่การทำงานของคนเกาหลีประสบความสำเร็จขนาดนี้ เพราะว่าเขาไม่เคยหย่อนยาน เขาไม่เคยรู้สึกว่าต้องลดสแตนดาร์ดตัวเองลงมาเพื่อให้แมชต์กับคนอื่น และเขามองว่าถ้าคุณจะมาจุดนี้ให้ได้คุณต้องเพิ่มสแตนดาร์ดของตัวเอง
เราเลยมองว่าที่ติดมาเป็นข้อดีมากกว่า แต่อยู่ที่การนำไปปรับใช้กับโจทย์จะยังไง อาจจะต้องเปลี่ยนลักษณะการถ่ายทอด แม้จะมีสแตนดาร์ดเหมือนเดิม
การทำงานของเกาหลี ดูมีความตึงเครียด แต่งานเขาออกมาประสบความสำเร็จ มีข้อดีของการทำงานในเกาหลีที่ไทยควรมาปรับใช้บ้างไหม
อย่างแรก คือการเคารพตัวเอง และเพื่อนร่วมงานในแง่ของการทำงาน เคารพในแง่นี้หมายถึงว่า เค้าเซ็ตไทม์ไลน์ไว้แล้ว เซ็ตเวลา กระบวนการทำงาน แล้วทุกคนเคารพหน้าที่ตัวเอง ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด เคารพเพื่อนร่วมงาน ว่าเขาก็มีงานอื่นที่ต้องทำ ต้องรับผิดชอบ คุณจะมาเบียดเบียนเขาไม่ได้ แต่ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและส่งต่อมอบงาน ถ้าแค่นี้ ทุกอย่างจะโฟลวมากเลย ถ้าเราเคารพตัวเอง และเพื่อนร่วมงาน คุยกันให้มาก ส่งต่องานให้ดี ก็จะทำงานให้ถึงเป้าหมายได้
กับอีกอย่างนึงคือสปิริตในการทำงาน คนเกาหลีมีคำว่า ‘อูรีกีรี’ ไปด้วยกัน ทำด้วยกันตลอดเวลา พี่ไม่เคยเห็นงานไหนที่ทำกับคนเกาหลีแล้ว เค้าทิ้งกัน ถ้าเค้าถูก assign งานว่าต้องช่วยกัน เค้าจะช่วยกันตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้าคนนึงเสร็จงานของตัวเองแล้ว ก็จะมาช่วยงานคนอื่นต่อ โดยจะถามคำเดียวว่า ให้ทำอะไรบ้างบอกมา ถ้าเพื่อนบอกว่าไม่ต้อง กลับบ้านได้เลย เขาถึงจะกลับ แต่ถ้าสมมุติว่าบอกให้ช่วย ก็จะช่วยแล้วค่อยกลับ สิ่งนี้มันช่วยทำให้งานมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เข้าใจมากขึ้น รวมไปถึงเราเห็นสปิริตของเพื่อนร่วมงาน แล้วทำให้เรารู้สึกว่านี่คือทีมเวิร์ก จะไม่ค่อยเห็นภาพที่ต่างคนต่างทำงานเสร็จแล้วกลับบ้าน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ด้วยกันตั้งแต่ต้นจนจบ พี่รู้สึกว่าเป็นสปิริตการทำงานที่พี่ชื่นชอบแล้วอยากปรับใช้กับทีมเวิร์ก
เด็กรุ่นใหม่มีสิทธิมีเสียงมากขึ้นไหม ในการทำงาน
แล้วแต่องค์กร แล้วแต่ทีม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นลักษณะแบบบนลงล่าง คือสั่งจากข้างบนลงล่าง ดังนั้นเขาจะมีทาง วิธีที่จะไป หน้าที่เราคือ ต้องซัพพอร์ต จะทำยังไงให้ทางที่จะไปนั้นเห็นผล และเหมาะสม นี่คือวิธีลักษณะการทำงานทั่วไปของเกาหลี แต่เดี๋ยวนี้ก็มีหลายบริษัทที่เปิดมากขึ้น อยากจะเป็นแบบฝรั่งมากขึ้น Friendly Talk มากขึ้น เปิดให้แสดงความคิดเห็น แต่ก็ไม่ใช่ทุกบริษัท ทุกองค์กร และถึงอย่างนั้นการตัดสินใจก็ยังคงเป็นของหัวหน้าอยู่ดี
เรื่องน่าสนใจที่เจอในระบบการทำงานของเกาหลีมีอะไรบ้าง
เค้าไม่เคยมองคณะ เขาไม่สนใจว่าคุณจบอะไรมา เพราะที่นี่ไม่จำเป็นต้องจบตรงสาย แต่ขอแค่คุณผ่านเทส หรือบททดสอบก็พอ เพราะแต่ละบริษัทมีเทสของเขา เขาต้องการคนคุณลักษณะแบบนี้ ก็จะออกเทสออกมา ถ้าผ่านก็ถือว่าคุณ Qualify แล้ว ซึ่งมันเป็นข้อที่ดีนะของการทำงาน ดังนั้นมันเลยเป็นการปรับใช้มากกว่าว่าพอมาทำงานแล้วทำอะไรบ้าง จึงเลยไม่มีข้อจำกัดในการทำงาน และแปลว่าคนๆ นึงสามารถทำได้หลายงาน
อย่างคนไทย ต้องจบคณะนี้เท่านั้นถึงทำงานนี้ได้ จะกลายเป็น Specific เกินไป แล้วคนจะชอบคิดว่าพอมันเกิดขอบข่ายหน้าที่แล้ว เค้าจะไม่กล้าที่จะทำหรือกล้าที่จะรับ เพราะว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ฉันถนัด แต่คนที่นี่ต่างกัน จบกันนี้มา แต่ทำอันนี้ได้ เพราะเขาไม่สนใจ สุดท้ายเค้ามีคำพูดนึงที่หัวหน้าพี่เคยบอกว่า ทุกอย่างก็ต้องมาเรียนรู้ใหม่อยู่ดี ดังนั้นมันเลยไม่เกี่ยวว่าจบอะไรมา ขอบเขตการทำงานก็เลยกว้างขึ้น คนๆ นึงก็ต้องพร้อมที่จะรับงานมากขึ้น
พูดถึง บริษัทที่พี่ปรุงทำงาน ในค่ายเพลง S.M.Ent.บ้านเราก็มีแฟนคลับเยอะ รู้สึกยังไงที่ได้ทำงานกับศิลปิน ไอดอลเหล่านี้
จริงๆ อย่างที่บอกการทำงานในเกาหลี ต้องแยกแยะเรื่องส่วนตัว กับการทำงานให้ออก ดังนั้นพี่รู้สึกว่า พวกเขาคือคนทำงานคนหนึ่ง ที่ตั้งใจทำงาน และอยากจะส่งมอบผลงานของเขา ถ่ายทอดออกมายังสื่อที่เราเตรียมไว้ให้ แล้วส่งไปให้ถึงผู้ชม พี่จึงมองพวกเขาเป็นคนทำงานที่ต้องเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงาน เพราะในเมื่อเราทำงาน มีหน้าที่ ทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไร
มีหลายคนที่แยกแยะเรื่องการทำงานกับเรื่องส่วนตัวไม่ออก อย่างกรณีนึง ในบริษัทชื่อดัง แต่ไม่ใช่บริษัทพี่ มีพนักงานชื่นชอบศิลปินมาก และแอบถ่ายรูปไปลงโซเชียลมีเดีย บริษัทเขาไล่ออกเลย และติดแบล็กลิสต์ด้วย ดังนั้นมันเป็นเรื่องที่เราต้องแยกแยะระหว่างการทำงานอย่างมืออาชีพ
ภาพในวงการ K-Pop ก่อนและหลังที่เข้าไปทำงาน เปลี่ยนไป แตกต่างไปจากเดิมกันไหม
เรียกว่ารับรู้เพิ่มขึ้นมากกว่า เพราะพี่พอจะรู้อยู่แล้วว่าการจะเป็นตรงนี้มีระบบที่ไม่เหมือนกัน อย่างพี่เสพเพลงสากล พี่รู้ว่ามัน base on artist ทุกอย่างมาจากเขา เพลง แต่งเพลง คอนเซ็ปต์ อาร์ทไดเรคชั่นมาจากศิลปิน แต่ K-pop มันมาจากบุคลากรรอบข้างศิลปิน และพี่เป็นหนึ่งในบุคลากรที่เป็นฟันเฟือง โดยศิลปินมีหน้าที่เป็นสะพานถ่ายทอด ดังนั้นมายเซ็ตของพี่จึงต่างกัน เพราะคิดว่าศิลปินจะเป็นเหมือนกันทั่วโลก แต่ K-pop มันจะไม่ใช่ Base on artist ล้วน แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ผ่านการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ เพื่อถ่ายทอดผลงานออกมาที่ดีที่สุด
ความนิยมของ K-Pop เริ่มแพร่ขยายไปทั่วโลก พี่ปรุงมองกระแส K-Pop ในตอนนี้ยังไงบ้าง
ถ้าย้อนไปสมัยเราเด็กๆ สมัยเราอยู่ประถม มันจะเป็นกระแส J-Pop และมันก็อยู่ประมาณ 5-6 ปีและหายไป เปลี่ยนมาเป็นกระแส F4 แล้วก็อยู่แปปนึง K-pop ก็เริ่มเข้ามา สมัย Rain, Se7en และ Wonder Girls แล้วทุกวันนี้ K-pop ก็ยังอยู่ มันคืออะไร มันบอกได้ว่าการพัฒนาอยู่เสมอ การไม่หยุดที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น มันคือคีย์เวิร์ดที่ทำให้ประสบความสำเร็จของที่นี่
ดังนั้นถามว่าทิศทางในตลาดของ K-pop อย่างไร เราก็ตอบได้แล้ว เราเห็นศิลปินฝั่งตะวันตก Nicki Minaj ฟีทเจอริ่งกับวง BTS, Blackpink กับ Dua Lipta, John Legend กับ Wendy วง Red velvet ตอนนี้มันคือกระแสทั่วโลกแล้ว ใครจะไปคิดว่า วง NCT จะไปอยู่ในพรมแดง AMA หรือ BTS จะไปโชว์ที่นั่น ตลาดอเมริกาที่มันเข้าถึงยากก็เปิด ถึงเวลาที่พวกเขาได้เฉิดฉายในนั้นแล้ว มันจะเป็นคำถามต่อไปดีกว่าว่า จะเข้าถึงในคนหมู่กว้างได้มากกว่านี้ยังไง ตอนนี้มันก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ยิ่งโตมากขึ้น ไม่ใช่แค่ไหนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไปถึงตะวันตก และต่อไปคงจะขยายไปมากขึ้น แต่ตัว K-Pop มันอยู่ต่อไปยังไง และพัฒนาต่อไปยังไง เป็นคำถามที่น่าสนใจมากกว่า
เพลงในวงการ K-Pop ดูเหมือนจะมีอุปสรรคด้านภาษา ที่ไม่เหมือนอย่างเพลงของตะวันตกที่เป็นภาษาอังกฤษ เขาทำยังไงให้มันไป Worldwide ได้
อย่างถ้าเราไม่รู้ภาษาอังกฤษแต่ฟังเพลงสากล เราก็ยังรับรู้ได้ว่าเพราะหรือไม่เพราะ เราสัมผัสได้ รู้สึกได้ เหมือนกันกับเพลงเกาหลี มันก็สัมผัสได้เหมือนกัน บางทีเพลงสากลที่เรารู้สึกว่า ไม่มีอุปสรรคทางภาษา จริงๆ มันไม่ใช่ แต่เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ทุกคนยอมรับ และร่วมกันตกลงในแง่ของการยอมรับว่าเป็นภาษากลาง
อย่างเกาหลีถามว่ามันมีอุปสรรคไหมในแง่ของการฟัง มันมีแน่นอน เพราะเป็นภาษาที่เราไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเราเปิดรับมากขึ้น เหมือนเพลงสากลที่เข้ามาใหม่ๆ ทุกวันนี้สังเกตได้พวกเพลงที่เขาไปฟีทเจอริ่งกัน เขาก็ไม่ได้เปลี่ยนเนื้อให้เป็นภาษาอังกฤษ ยังคงไว้ในภาษาเกาหลีอยู่ พี่ว่ามันเป็นสิ่งที่สื่อสารกันได้ ผ่านทางเสียงเพลง
ในอุตสาหกรรมเพลง K-Pop และประเทศเกาหลีใต้ มีแนวคิดร่วมกันยังไง ให้ส่งออกวงการนี้ไปได้ทั่วโลกอย่างประสบความสำเร็จ
มันเป็นการช่วยกันระหว่างภาครัฐกับคน ทุกภาคส่วนช่วยกัน มันไม่ใช่แค่ใครคนใดคนนึงเดินเครื่อง แต่ทุกภาคส่วนช่วยกัน และส่งเสริม เขาวางกลยุทธ์ตั้งแต่ภาครัฐ วางไว้แล้วว่าจะมีเงินทุน มีองค์กรสนับสนุน มีการร่วมมือพาร์ทเนอร์ชิปกันแบบนี้ องค์กรไหนทำหน้าที่ไหน แล้วหลายๆ อย่างประสบความสำเร็จเพราะร่วมมือกันทุกภาคส่วน แล้วมันยังส่งผลไปยังถึงธุรกิจตัวอื่นๆ เช่นเครื่องสำอางค์ หรือว่าศัลยกรรม หรือเทรนด์บิวตี้
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เขาจะประสบความสำเร็จ เพราะมันไม่ใช่แค่การทำงานของภาคเอกชน แต่เป็นภาครัฐ บุคคล รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว มันเลยทำให้เห็นภาพชัดของมหภาค เป็นสิ่งที่เขาทำเป็นกลยุทธ์ส่งออก เหมือนที่ประเทศไทยทำการท่องเที่ยวเป็นกลยุทธ์ในการนำเข้าคนเข้ามา นำเงินเข้ามา แต่เขาคิดกลับกันเอาคอนเทนต์พวกนี้ ส่งออกออกไป