หลายๆ ท่านคงเคยได้ยิน หรือได้ชิม ได้กินเนื้อวัวญี่ปุ่น (วากิว) กันมาบ้าง แต่พอจะรู้กันไหมครับว่าเนื้อวัวญี่ปุ่นที่บริโภคกันแทบทั้งหมดนั้น มาจากวัวสายพันธุ์เดียวกันนั่นคือ วัวขนดำ หรือคุโระเกะกิวครับ ชื่อแบรนด์ที่แตกต่างกันไปนั้น มาจากชื่อเมืองหรือพื้นที่ที่ทำการเลี้ยงวัวพันธุ์เดียวกันนี้ แต่มีวิธีการเลี้ยง อาหาร และมุมมองความคาดหวังที่มีต่อเนื้อวัวที่แตกต่างกันออกไปครับ และอาจรวมไปถึง ‘เรื่องเล่า’ ที่ผูกติดกับแบรนด์นั้นๆ ด้วย การจะกลายมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างนั้นอาศัยปัจจัยจากหลายภาคส่วน และยิ่งเป็นตลาดเนื้อวัวญี่ปุ่นที่จุดตั้งต้นมาจากวัวชนิดเดียวกันด้วยแล้ว การแข่งขันหาความแตกต่าง และจุดขาย ที่หลายๆ ครั้งมาจากความแตกต่างระดับละเอียดยิบย่อยจึงตามมา
เวลาที่นึกถึงชื่อเนื้อวัวชั้นดีของญี่ปุ่น ผมคิดว่าชื่อแรกๆ ที่โผล่มาในหัวของเรานั้นก็คงจะหนีไม่พ้น 3 แบรนด์ดังคือ โกเบ มัตสึซากะ และโอมิ แต่เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้ไปดูงานด้านนโยบายและการพัฒนาทางอุตสาหกรรมเกษตรของญี่ปุ่น กับทางสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) แล้วก็ได้พบความน่าสนใจว่า แบรนด์วัวดังเหล่านี้ เพิ่งแพ้การประกวดในแง่คุณภาพและความอร่อยของเนื้อวัวให้กับแบรนด์วัวน้องใหม่ที่แทบจะไม่มีใครรู้จักชื่อเลยอย่าง คาเมะโอกะ
ต้องบอกก่อนว่า ตัวผมเองเป็นคนหนึ่งที่ติดตามเรื่องอาหารมากพอสมควร และรู้จักแบรนด์เนื้อวัวดังๆ หลากหลายของญี่ปุ่นไม่น้อย นอกเหนือไปจาก 3 แบรนด์ดังที่เอ่ยไป เช่น ฮิดะ ซากะ คาโกชิม่า อะคิตะ เอฟ-1 และอื่นๆ แต่ผมเองไม่เคยได้ยินชื่อเนื้อคาเมะโอกะมาก่อนเลย กระทั่งคนญี่ปุ่นที่ผมรู้จักด้วยเองก็ยังไม่รู้จักแบรนด์เนื้อวัวนี้กันเลย ฉะนั้นที่ออกตัวไปแต่ต้นว่า ‘เนื้อวัวที่คนไม่เคยรู้’ ก็นับรวมกระทั่งคนญี่ปุ่นเองด้วย ผมเลยอยากเริ่มต้นจากการแนะนำให้รู้จักเนื้อคาเมะโอกะนี้ก่อนว่ามายังไง ทำไมจู่ๆ โผล่มาฟัดและแข่งชนะกับเบอร์ใหญ่แบรนด์รุ่นพี่ได้
แบรนด์ที่เหมือนจะเป็นน้องใหม่อย่างคาเมะโอกะนี้ จริงๆ จุดเริ่มต้นก็ไม่ได้ใหม่อะไรขนาดนั้น ในอดีตวัวของเมืองนี้มีการขายแอบๆ แทรกไปกับแบรนด์วัวโกเบอยู่บ้าง แต่คนในเมืองเองแทบไม่กินเนื้อวัวเลย จนกระทั่งมีงานเทศกาลที่จัดขึ้นในปี 1985 คนในเมืองตกลงปลงใจ ลองเอาวัวมาทำกินดู ปรากฏพบว่าอร่อยมาก จึงเริ่มต้นทดลอง ลองผิดลองถูกในการเลี้ยงวัวเพื่อบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่การเลี้ยงวัวเพื่อใช้ในการทำการเกษตรหรือทำฟาร์มวัวนม
ชะตากรรมของการเลี้ยงวัวเนื้อนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นภาระของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวดูแลกันเอง ลองผิดลองถูกกันเองเรื่อยมา แล้วก็ค่อยๆ ขยายตัวขึ้นมาเรื่อยๆ ทีละน้อย จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 2001 จุดเปลี่ยนนี้เกิดจากตัวแสดงที่สำคัญ 2 ฝั่ง นอกเหนือไปจากเกษตรกรผู้ผลิตที่เป็นตัวแสดงหลักเสมอมา นั่นคือ ทางที่ว่าการอำเภอคาเมะโอกะ และคุณคิโสะ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมผู้ค้าเนื้อวัวคาเมะโอกะ ที่เดี๋ยวผมจะพูดถึงต่อไปครับ
ปี 2001 มีความสำคัญอย่างไร?
มันคือปีที่ทางการที่เริ่มมีการปรับมาตรการควบคุมทางกฎหมายด้านสุขอนามัยทางอาหาร และโรงเชือด/แล่เนื้อเก่าของเมืองคาเมะโอกะนั้นอาจไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานชุดใหม่ที่กำหนดขึ้น อย่างไรก็ดีทางที่ว่าการอำเภอคาเมะโอกะเล็งเห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับทางฝั่งเกษตรการ เพราะฉะนั้นทางอำเภอจึงได้ลงทุนสร้างโรงเชือดใหม่ที่ได้มาตรฐานตามมาตรการควบคุมทางสุขอนามัยชุดใหม่ขึ้น แล้วก็ให้คุณคิโสะซึ่งเป็นตัวแทนสมาคมผู้ค้าเนื้อซึ่งเชี่ยวชาญในการแล่ ชำแหละ และจำหน่ายเนื้อวัวมากกว่าเข้ามาบริหาร (แต่ทางอำเภอยังคงเป็นเจ้าของอยู่) โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายหรือหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น (คือรายได้ของโรงเชือดทั้งหมด ยกให้กับสมาคมผู้ค้าเนื้อวัวที่ดูแลบริหารเลย) และจุดนี้เองครับคือจุดกำเนิดของแบรนด์เนื้อคาเมะโอกะที่แท้จริง คือเฉพาะเนื้อที่ผ่านการเชือดที่โรงเชือดนี้ จึงจะได้ชื่อแบรนด์นี้ไป
จุดนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่เราเห็นได้ถึงความแตกต่างที่มีนัยสำคัญกับสภาพการณ์ในประเทศไทย
- ในเบื้องต้นเลย เราจะเห็นถึงบทบาทในการ ‘กระจายทรัพยากร’ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการกระจายรายได้) ให้สู่ส่วนท้องถิ่น โดยอำนาจในการบริหารจัดการของทางท้องถิ่นเอง
- เมื่อมีการประกาศมาตรการ ข้อบังคับ หรือกฎหมายใหม่ขึ้นมา เราไม่สามารถคิดแค่เรื่อง ‘การบังคับใช้’ โดยไม่คำนึงถึงเรื่อง ‘การชดเชย’ อย่างจริงจังได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่จะเสียหายจากข้อบังคับใหม่ๆ นั้น (ซึ่งการชดเชยไม่ได้จำเป็นจะต้องจบอยู่ที่แค่รูปแบบการเวนคืนตามวิธีคิดรัฐรวมศูนย์มักจะเป็น) อย่างกรณีนี้ การเกิดขึ้นของข้อบังคับใหม่ ไม่เพียงแต่ได้รับการชดเชย แต่ยังถูกใช้เป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มระดับการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกด้วย
- ถึงที่สุดแล้ว เราต้องยอมรับว่านี่คือ ‘การลงทุนโดยส่วนท้องถิ่นเอง’ ซึ่งย่อมแปลว่ามีความเสี่ยงและมีโอกาสผิดพลาดได้ กล่าวอีกอย่างก็คือ ในการจะไล่กวดเจ้าตลาดให้ทันและเพิ่มการเจริญเติบโตให้กับท้องถิ่นเล็กๆ ได้นั้น ฝั่งทางการเองต้องมีความกล้าที่จะทดลองทำในสิ่งใหม่ๆ และอยู่ในระบบโครงสร้างที่ยอมรับให้เกิดความผิดพลาดเชิงนโยบายนี้ได้บ้าง เพียงแค่ว่าต้องมีมาตรการตรวจจับตรวจวัดที่ดีและเข้มแข็งพอ ในการเช็คว่าสิ่งที่ลงทุนไว้จะงอกเงยหรือล้มเหลว ถ้าล้มเหลวก็จะถอนตัวได้เร็ว และควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนลักษณะนี้บ้าง เผื่อสำเร็จและเผื่อล้มเหลว หรือเพื่อเทียบเคียงความสำเร็จโดยเปรียบเทียบว่าผลิตภัณฑ์ใดควรสนับสนุนมากกว่า เป็นต้น อย่างที่คาเมะโอกะเอง ก็ไม่ได้ทำเฉพาะกับเรื่องเนื้อวัว แต่ยังให้การสนับสนุนด้านผักชื่อดังของเมืองด้วย โดยเฉพาะต้นหอม (Negi) และไช้เท้ากลม ซึ่งเป็นผักขึ้นชื่อของเมือง แต่ตอนนี้การเติบโตดูจะยังไม่มากเท่ากับเนื้อวัว
การเข้าช่วยเหลือเชิงนโยบายของฝั่งทางการท้องถิ่นคาเมะโอกะนั้นไม่ได้จบอยู่แค่การสร้างโรงเชือด และให้ผู้ที่ชำนาญการกว่าในพื้นที่เข้าบริหารเท่านั้น แต่การชดเชยและเชิญชวน (compensation and incentive) นั้นถูกคิดอย่างรอบด้านมากครับ เริ่มจากการกลับไปดูที่ข้อบังคับใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งควบคุมวิธีการแล่เนื้อด้วย ว่าง่ายๆ คือ ‘แล่ยากขึ้น’ นั่นหมายความว่า เกษตรกรต้องเสียเวลาในการแล่มากขึ้นต่อตัว และเกิดส่วนเศษเนื้อ (loss) มากขึ้นจากเดิมด้วย ส่วนนี้เองคือความเสียหายเช่นกันที่ทางการเข้ามาชดเชยให้ โดยชดเชยค่าเสียหายให้แก่เกษตรกรราวๆ 4,000 เยน ต่อ 1 ตัว การชดเชยอย่างเป็นระบบและรอบด้านนี้เอง ทำให้เกษตรกรไม่ ‘ขยาด’ ในการดำเนินอุตสาหกรรมนี้ต่อ หรือกระทั่งเกิดเกษตรกรหน้าใหม่ขึ้นในอุตสาหกรรม
นอกจากเงินชดเชยดังกล่าวแล้ว ในส่วนของการแล่นี้ ทางการฝั่งอำเภอคาเมะโอกะเองยังได้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดทำเวิร์กช็อปการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรทั้งเก่าและใหม่ เพื่อได้เรียนรู้วิธีการแล่เนื้อใหม่ให้ถูกต้องตามหลัก เข้าเกณฑ์การแล่เนื้อใหม่นี้ด้วย ซึ่งช่วยยกระดับความชำนาญการให้กับผู้แล่ จะเห็นได้จากที่เดิมสามารถแล่วัวได้ประมาณวันละ 6 ตัว ในปัจจุบันนั้นขยับเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10 ตัวแล้ว รวมไปถึงคุณภาพของการแล่ก็เข้าตาตลาดมากขึ้นด้วย ทำให้เกษตรกรมีกำไรต่อตัววัวเพิ่มมากขึ้นอีกทอดหนึ่ง
ไม่เพียงเท่านี้ หากท่านเป็นเกษตรกรของคาเมะโอกะที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ดี เข้าตากรรมการ และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกอันเข้มงวดมาได้ การช่วยเหลือเพื่อลงทุนขยายตัวเพิ่มเติมนั้น ก็ได้รับการช่วยเหลือโดยภาครัฐเช่นเดียวกัน โดยหากผ่านเกณฑ์ดังว่าแล้ว รัฐบาลกลางจะช่วยออกทุนสำหรับการขยายตัวให้ 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด และทางที่ว่าการอำเภอยังจะช่วยอีก 20% ของเงินลงทุนทั้งหมด นั่นแปลว่า ฝั่งเกษตรเองจะต้องออกเพิ่มเองเพียง 30% ในการลงทุนขยายการผลิตของตน โดยได้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แบบเงินต้นคงที่ (flat rate) อีกด้วย แน่นอนว่านี่คือการที่รัฐลงทุนเพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย/กลาง ซึ่งเป็นปัจเจก แต่เป้าหมายสำคัญของการช่วยเหลือนี้ คือ การสร้างการเติบโต (growth) ของท้องถิ่นให้ได้ ผ่านตัวขับเคลื่อนการเติบโต (growth engine) ที่มีประสิทธิภาพของท้องที่นั้นๆ นั่นเอง เพราะฝั่งรัฐเองไม่ได้และไม่สามารถแสวงหากำไรอยู่แล้ว เป้าหมายหลักจึงอยู่เพียงแค่ ‘เมืองของตนได้โตขึ้น’ นั่นเอง
ทางฝั่งผู้ผลิตเองก็คอนเฟิร์มกับผมและคณะนักวิจัย STIPI ว่ามีการช่วยเหลือนี้อยู่จริงๆ คือเราได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ฟาร์มวัวของคุณฮิโตมิ ซึ่งเป็นเกษตรผู้เลี้ยงวัวเนื้อซึ่งไปคว้ารางวัลแชมป์มาได้จากการประกวด คุณฮิโตมิยืนยันว่า เขาได้รับการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อขยายขนาดฟาร์มและความสามารถในการผลิตให้มากขึ้น แต่ก็ยังบอกอีกว่า ขั้นตอนการตรวจสอบนั้น เข้มงวดดุเดือดมากๆ ทีเดียว ซึ่งตอนนี้ฟาร์มแห่งนี้ (ซึ่งใช้กำลังคนแค่ 3 คน) กำลังขยายตัวจากฟาร์มที่เลี้ยงวัวขนาด 220-250 ตัว ไปสู่การเป็นฟาร์มที่เลี้ยงวัวได้ 350 ตัว
นอกจากการไปพูดคุยกับฟาร์มแชมป์ของคุณฮิโตมิแล้ว เรายังได้ไปพูดคุยกับฟาร์มของคุณนิชิคาวะซึ่งได้รองแชมป์มาด้วย และทั้ง 2 ท่านนี้นับได้ว่าเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเนื้อรุ่นใหม่เพียง 2 คนของเมืองคาเมะโอกะอีกด้วย คุณนิชิคาวะบอกกับเราว่า ตลาดวัวเนื้อคาเมะโอกะกำลังเติบโตขึ้นจริงๆ จากรุ่นคุณปู่ เมื่อ 40 ปีก่อนที่เลี้ยงวัวเนื้อเพียง 5 ตัว ได้ขยายมาเป็นฟาร์มขนาด 350 ตัวในรุ่นของคุณนิชิคาวะ คุณนิชิคาวะเองยังได้เสนอให้เห็นอีกว่า การจัดวางยุทธศาสตร์ทางการผลิตของฝั่งผู้ผลิต (supply chain) อย่างคุณนิชิคาวะนั้น อิงอยู่กับความต้องการของตลาดมาก (demand-driven) ซึ่งฝั่งพวกเขาจะรับรู้ความต้องการของตลาดว่าเป็นอย่างไร ก็คือผ่านทางสมาคมผู้ค้าเนื้อคาเมะโอกะ ซึ่งอยู่ในการดูแลของคุณคิโสะที่เอ่ยถึงไปก่อนหน้านี้ และอีกด้านหนึ่งก็รับรู้จากทางสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่นอย่าง JA
เมื่อเราได้ฟังมาแล้วว่าอุตสาหกรรมนี้กำหนดยุทธศาสตร์ทางการผลิตอิงตามความต้องการของตลาด และหนึ่งในคนซึ่งเป็นศูนย์กลางหลักที่รับเอาความต้องการของตลาดมาแจ้งให้กับผู้ผลิตนี้ก็คือ สมาคมผู้จัดจำหน่ายเนื้อวัวคาเมะโอกะ ซึ่งมีคุณคิโสะเป็นผู้ดูแล ก็ถึงคราวที่เราจะต้องมาฟังเรื่องราวจากตัวละครหลักท่านนี้ ผู้ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นตัวกลางส่งผ่านความต้องการของตลาดไปยังฝั่งผู้ผลิตนะครับ แต่ยังเป็นคนที่ดูแลโรงเชือดและแล่เนื้อที่ทางการอำเภอคาเมะโอกะจัดสร้างขึ้นมาด้วย ทำให้ตัวคุณคิโสะหรือสมาคมฯ เป็นผู้ดูแลเกณฑ์ข้อกำหนดเนื้อคาเมะโอกะและกำหนดราคาเนื้อไปด้วยกลายๆ ด้วย เรียกได้ว่าคุณคิโสะกับสมาคมนี้คือจุดตั้งต้นของเนื้อคาเมะโอกะเลยก็ว่าได้ และทั้งฝั่งสมาคมผู้ค้าเนื้อกับฝั่งผู้ผลิตก็ทำงานร่วมกันด้วยระบบความเชื่อใจกัน เพราะทั้งสองฝั่งต่างต้องพึ่งพากัน จะแตกกันก็พาลจะลำบากไปทั้งคู่นั่นเองครับ
หลังจากที่ทางที่ว่าการอำเภอนำเสนอให้เราได้เห็นถึงนวัตกรรมเชิงนโยบายที่เข้าช่วยเหลือเกษตรกร คุณคิโสะฉายให้เห็นภาพอีกมุมหนึ่งในฐานะ ‘ผู้ขาย’ ที่ต้องการตอบสนองกับตลาด ด้วยการมองหาลักษณะข้อดีต่างๆ ของเนื้อวัวที่ตลาดต้องการ แล้วนำมาขยายผลให้ไปได้ไกลขึ้น ในราคาที่ถูกลง คุณสมบัติบวกที่ตลาดต้องการก็เช่น เนื้อวัวที่มีไขมันแทรกมากขึ้น (เฉพาะเกรด A4 ขึ้นไปถึงได้แปะแบรนด์) รสเนื้อเข้มข้นขึ้น หวานมากขึ้น ตัวเนื้อละเอียดมากขึ้น ในราคาที่ถูกลง สิ่งเหล่านี้เองได้กลายมาเป็นคาแร็กเตอร์หลักของวัวคาเมะโอกะ ที่ต้องคิดค้นวิธีการและข้อบังคับสำหรับวัวเนื้อที่จะได้แปะแบรนด์นี้ได้ครับ อย่างแรกเลย วัวที่เลี้ยงนั้นจะต้องถูกเลี้ยงในคาเมะโอกะ เป็นเวลาอย่างน้อย 14 เดือน (และเชือดในโรงเชือดคาเมะโอกะ) โดยวัวที่รับมาเลี้ยงนั้นมักจะเป็นลูกวัว อย่างไรก็ดี วัวฟาร์มแชมป์อย่างของคุณฮิโตมิและนิชิคาวะนั้นเลี้ยงวัวนานถึง 30-35 เดือน ซึ่งถือว่านานเป็นพิเศษ (ตามที่ตลาดต้องการ) และได้กลายมาเป็นคาแร็กเตอร์หลักอย่างหนึ่งของเนื้อวัวคาเมะโอกะ
การเลี้ยงวัวนานเป็นพิเศษนี้ จะส่งผลให้เนื้อวัวละเอียดมากขึ้น รสเนื้อมากขึ้น ไขมันสะสมเพิ่มขึ้น (เพราะมีเวลาสะสมไขมันมากขึ้น) สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นปัจจัยแก่นกลางของความอร่อยของเนื้อวัวญี่ปุ่น โดยเฉพาะมันที่แทรกระหว่างตัวเนื้อ (intermuscular fat)[1] ปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่ ‘ความรู้สึกที่ผู้ขายรู้สึกเอาเอง’ แต่ได้รับการวัดค่าต่างๆ ทั้งสารให้ความหวานตามธรรมชาติในเนื้อวัวและในมันวัว ปริมาณอัตราเนื้อกับมัน และอื่นๆ อย่างเป็นวัตถุวิสัยผ่านเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์กันเลย อย่างไรก็ดี การเลี้ยงวัวที่นานขึ้นนี้ไม่ได้มีแต่ข้อดีนะครับ ไม่เช่นนั้นทุกคนคงทำแบบนี้หมดแล้ว ปัญหาหลักเลยคือ ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นมาก เพราะต้องเลี้ยงวัวนานขึ้น และวัวก็กินอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเติบโตขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นความเสี่ยงที่ตามมาคือ สุขภาพของวัวที่เมื่อขุนจนตัวโตมากๆ ก็อาจจะทำให้ไขข้อขาวัวไม่ดีได้ เพราะฉะนั้นทางเกษตรกรผู้เลี้ยงก็ต้องมีความชำนาญการและดูวัวเป็นตัวๆ ไปได้ว่าตัวไหนโตได้มากเท่าไหร่ เลี้ยงได้นานเพียงใดนั่นเอง
ภายใต้เงื่อนไขของต้นทุนการเลี้ยงดูที่มากขึ้นและความเสี่ยงต่อการสูญเสียวัวที่ลงทุนไปที่เพิ่มขึ้นนี้ รวมไปถึงรางวัลแชมป์การันตีอีกต่างหาก วัวคาเมะโอกะกลับขายสู่ตลาดในราคาที่ถูกกว่าวัวแบรนด์อื่นๆ โดยเฉพาะแบรนด์ดังที่คนรู้จักไปทั่ว เพื่อให้ตนเองสามารถกระจายไปสู่ตลาดวงกว้างได้มากขึ้น คนจำภาพ (มี visibility) มากขึ้นได้ กวดไล่ทันแบรนด์ดังๆ ได้นั่นเอง แต่แน่นอนว่าราคาขายดังกล่าวนั้น เกษตรกรก็ยังต้องได้กำไรคุ้มค่ามากพออยู่ ทั้งยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้อีกด้วย
หากมองคร่าวๆ แล้ว นี่อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องของการมุ่งเน้นไปที่ความแม่นยำในการสร้างเนื้อวัวให้ไปในทิศทางที่ตลาดต้องการ มากกว่าการเป็นนโยบายการไล่กวดวัวแบรนด์ดัง แต่หากมองเปรียบเทียบในภาพที่กว้างขึ้นกว่าจากแค่วัวแล้ว ผมคิดว่านี่คือ นโยบายไล่กวดที่น่าสนใจที่เห็นได้บ่อยๆ ในโลกเทคโนโลยีนวัตกรรมเลยครับ ไม่ว่าจะรถยนต์ หรือโทรศัพท์มือถือ อย่างแบรนด์ Xiaomi ที่เริ่มต้นจากการจัดสเป็กอัดเต็มไม่แพ้แบรนด์เจ้าตลาด แต่ตั้งราคาต่ำมากๆ (มีช่วงหนึ่งส่วนต่างกำไรของโทรศัพท์มือถือแบรนด์นี้ อยู่ที่ราวๆ 3-5% เท่านั้น) นโยบายนี้มีขึ้นเพื่อสร้าง visibility ให้กับทางแบรนด์ Xiaomi เอง ดึงผู้ใช้เข้าสู่จักรวาลเครื่องใช้ต่างๆ ของ Xiaomi (ซึ่งนโยบายทิศทางนี้เองก็เผยให้เห็นกับกรณีของคาเมะโอกะผ่านระบบภาษีเมืองด้วยครับ หากมีโอกาสจะเล่าให้ฟังต่อไป) และอื่นๆ จนในปัจจุบัน Xiaomi ไล่กวดขึ้นมาเป็นแบรนด์มือถือที่มียอดขายเป็นอันดับ 3 ของโลกได้แล้ว
จากทิศทางเดียวกันนี้เอง ผมก็คิดว่าแบรนด์เนื้อวัวคาเมะโอกะที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งระดับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และภาครัฐของผสานร่วมมือกันนี้ ก็น่าจับตามองมากทีเดียวครับ ในฐานะผลิตภัณฑ์ไล่กวดรุ่นพี่แบรนด์ดัง และทั้งในฐานะตัวอย่างการพัฒนาสำหรับเราเอง
[1] ไขมันกลุ่มนี้มีจุดเดือด/หลอมละลายต่ำ คือ เท่าๆ กับอุณหภูมิร่างกายมนุษย์ ฉะนั้นเมื่อเข้าปากเราแล้วจึงได้สัมผัสของการละลายในปาก ซึ่งเป็นจุดขายหลักของคุโรเกะกิวหรือวัวขนดำของญี่ปุ่นนั่นเอง