Biodiversity เคล็ดลับการผสมผสานธรรมชาติกับแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ โปรเจกต์คืนธรรมชาติสู่เมืองของประเทศญี่ปุ่น
ความเจริญเป็นคำที่น่าสงสาร เพราะมันจะถูกตีความใหม่อยู่ตลอด ไม่มีความเจริญไหนเป็นความเจริญที่แท้จริง
เมื่อก่อน อาคารสูง เขตธุรกิจ รถไฟฟ้า หรือถนนกว้างอาจเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจจะไม่ใช่อีกแล้ว ในบางประเทศ บางเมือง ความเจริญก็ไม่เหมือนกันอีก เป็นความซับซ้อนที่ขึ้นอยู่กับว่าเมืองที่ว่าให้ความสำคัญกับอะไร และให้ความสำคัญไปเพื่ออะไร
AP Thailand ชวน The MATTER ไปเดินเล่นที่ Marunouchi ย่านธุรกิจที่สำคัญที่สุดในประเทศญี่ปุ่นและในโลกแห่งหนึ่ง เพื่อไปดูคอนเซปต์การพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มต้นด้วยการให้ความสำคัญกับ…นกและแมลง
มนุษย์รวมตัว
ในเขต Marunouchi มีพื้นที่จำนวนไม่น้อยอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท Misubitshi Estate บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น เนื้อที่มากกว่า 750 ไร่ ในบริเวณนี้มีอาคารมากกว่า 100 อาคาร มีผู้คนสัญจรอยู่ในบริเวณนี้มากกว่า 2 แสนคน เป็นของ Mitsubishi Estate มากกว่า 30 อาคาร รวมถึงเป็นผู้จัดการบริหารอาคารอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะรวบรวมสมาชิกที่เป็นเจ้าของบริษัทต่างๆ กว่า 4,000 บริษัทในเขต Marunouchi เพื่อริเริ่มโครงการหลายๆ อย่าง ที่สามารถใช้เขตที่สำคัญทางเศรษฐกิจแห่งนี้เป็นที่ทดลองได้ (นอกจากในเขตนี้แล้วก็ยังมีละแวกใกล้เคียงคือ Otemachi และย่าน Yurakucho ทั้งหมด)
ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2008 มีการรวมตัวกันระหว่างแบรนด์ต่างๆ ทั่วประเทศ โครงการยักษ์โครงการหนึ่งคือ ‘Japan Business Intiative for Biodiversity’ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวครั้งใหญ่ มีหลายต่อหลายพันธกิจ ที่พวกเขาตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นในปี 2050 โดยเน้นไปที่เป้าหมายคือสร้าง low-carbon society ให้สำเร็จและสร้างสรรพสิ่งให้มนุษย์และธรรมชาติเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นกว่าเดิม และ ‘ยั่งยืน’ อย่างที่ควรจะเป็น
ที่น่าสนใจคือในเฟสที่หนึ่งของ Green Environment Management ที่วางแผนจะเสร็จทั้งหมดในปี 2030 เป็นเฟสที่เน้นเรื่อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ (ส่วนในปี 2050 จะเน้นพลังงานหมุนเวียน และการสื่อสารระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนสำเร็จของปี 2030 นั่นแหละ)
ความหลากหลายทางชีวภาพ
ที่สำนักงาน Mitsubitshi Estate คุณ Ryo Matsumoto ตัวแทนของบริษัท อธิบายให้ฟังว่า เมื่อมนุษย์เข้าถึง และเริ่มลงหลักปักความเจริญในแบบของตัวเองใส่ลงไปในเขตที่ตัวเองเดินทางไปถึง ผลกระทบตกอยู่กับสรรพสิ่งที่อยู่ในบริเวณนั้น ดินที่เคยอาศัย ป่าที่เคยอยู่ พื้นที่เคยเดิน สิ่งมีชีวิตนานาชนิดจะต้องหลบหลีกไปหาทางเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ถ้าไม่ตายไปจนหมดเสียก่อน การมีอยู่ก็จะกระทบต่อกันไปเป็นลูกโซ่ วัฏจักรของธรรมชาติสั่นคลอนไปหมด
สิ่งที่ Mitsubishi Estate ทำก็คือการจัดการเรื่อง Biodiversity ซึ่งต้องใช้ความถนัดหลายด้านมาประยุกต์เข้าหากัน โดยมีเป้าหมายคือให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ผ่านการออกแบบที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นกิจการและพันธกิจหลักของบริษัท
พวกเขาคิดโครงการที่เรียกว่า BIO NET intiative ที่สามารถสรุปสั้นๆ อย่างได้ใจความว่า “ทำให้แหล่งที่อยู่ของคน เหมาะสมกับการเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่น เพื่อพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” และใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญในการเชื่อมมนุษย์ให้เข้าถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของตัวเอง ทำให้ผู้อาศัยนี่แหละให้ ‘อิน’ ไปกับธรรมชาติที่ตัวเองพึงจะได้รับจากเขตและบริเวณที่ตัวเองอยู่จริง ไม่ใช่ถูกประดิษฐ์หรือจะต้องไปหาเอาในป่าเขาหรือสวนสัตว์ ไม่ใช่เป็นแค่การรณรงค์ห้ามนู่นห้ามนี่ จนกลายเป็นกำแพงในการสื่อสารความสำคัญไป
ระยะเดินของคน
อย่างที่รู้กัน Mitsubishi Estate เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่มากในญี่ปุ่น จึงไม่แปลกที่โครงการของพวกเขาจะใช้ที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือในการริเริ่มอะไรต่อมิอะไร อย่างในโครงการนี้ พวกเขาตั้งใจสื่อสารให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบสิ่งแวดล้อมใหม่ให้กับตัวเอง ให้ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังและใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิม ตั้งแต่การออกแบบทางเท้า ไปจนถึงรั้วบ้าน ซึ่งในรายละเอียดเหล่านี้มีมาตรฐานที่ในแต่ละบริษัทจะต้องทำตาม คือมาตรฐานของ ABINC (Association for Business. Innovation in harmony with Nature and Community) ซึ่งมีข้อกำหนดหลากหลายและครอบคลุมทุกองค์ประกอบ
เราสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวในสิ่งนี้ก็คือความสวยงามของถนนและอาคารในบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อาคารใหม่ หรือการอนุรักษ์อาคารเก่า ที่ดูแล้วจะเน้นความเป็น ‘ห้องนั่งเล่น’ มากกว่าเป็นห้องทำงาน บนถนนที่มีงานศิลปะตั้งอยู่ประปราย ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนเด่นอย่างไม่เคอะเขิน คอยให้กำลังใจ เชียร์อัพคนทำงานในละแวกนี้ได้อย่างเป็นมืออาชีพ
ทางเท้าที่จะได้เห็นตามเขต Marunouchi ที่ในบางส่วนก็เป็นพื้นที่การจัดการของของรัฐ และในบางพื้นที่ก็เป็นการจัดการของเอกชน แต่แทบทุกสัดส่วนจะคิดถึงผลประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตเป็นสำคัญ ระยะห่างของร่องกระเบื้องเพื่อให้แมลงสามารถเดินทางไกลได้โดยไม่ต้องขึ้นมาเหนือปูน หรือการจำกัดทางรถ หรือกระทั่งทางคนเดิน เพื่อไม่ให้ดินแน่นเกินไปจนทำให้แมลงไม่สามารถเจาะหรือไชดินลงไปได้ และไม่เป็นยางมะตอยอย่างถนนทั่วไป แต่ทำจากหิน ฯลฯ
ขอบรั้วก็เช่นเดียวกัน ระยะห่างเพียงมิลลิเมตรของมนุษย์อาจไม่มีความหมาย แต่กับสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วนั้นนั่นคือถนนอันสะดวกสบาย รายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้ล้วนอยู่ในหลืบเล็กจิ๋ว ที่นอกจากในเขต Marunouchi แล้วก็ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัทและองค์กรมากมาย ตั้งแต่ด้านการออกแบบสถาปัตย์ทั้งอาคารและภูมิทัศน์ ด้านวิศวกรรม รวมถึงบริษัทด้านการสร้างแบรนดิ้ง การสื่อสาร ที่รวมตัวกันเพื่อโครงการนี้ จึงทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์มากมายทั่วประเทศญี่ปุ่นก็ได้ใช้แนวคิดนี้เพื่อพัฒนาโครงการของตัวเอง และพัฒนาสิ่งแวดล้อมในแต่ละเขตที่มีโครงการอยู่ไปด้วยได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่ๆ อย่างบ้านจัดสรรหลายร้อยหลัง คอนโดใหญ่โต 700 กว่าหลัง หรือกระทั่งอะพาร์ตเมนต์เล็กๆ แค่ 8 ชั้น มีห้องไม่กี่ยูนิตที่อยู่ในเมือง
ในแต่ละที่ที่ร่วมมือกับโครงการนี้ ผู้ซื้อจะได้รับคู่มือการจัดการสิ่งแวดล้อมฉบับ ‘บ้านฉันเอง’ ไปด้วยเสมอ และมีผู้ให้คำปรึกษาอยู่ตลอด มีกิจกรรมสำหรับติดตามผล คอยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา
ระยะบินของนก
ในโครงการ BIO NET Intiative นั้นแบ่งความสำคัญออกเป็น 5 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือ ‘เชื่อมต่อ’ ออกแบบและสร้าง Network ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่าง ‘แมลง’ หรือ ‘นก’ เพื่อให้พวกมันสามารถบินไปพักในจุดที่ปลอดภัย และเอื้อต่อการใช้ชีวิตได้จริงโดยไม่เดือดร้อนและเป็นอันตราย
ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงมาจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัทอสังหาริมทรัพย์และนักออกแบบต่างๆ ตามย่อหน้าบนนั่นเอง ที่ทำให้เกิดพื้นที่เล็กๆ ที่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ จะสามารถอาศัยอยู่ได้จริงได้กระจายไปทั่วเมือง อย่างเช่น The Parkhouse ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีหลายจุด บางจุดกว้างกว่า 1,900 ตรม. แต่ที่เหมือนกันทุกจุดก็มีสิ่งที่ทำตามคู่มือออกแบบสิ่งแวดล้อมเหมือนกันหมด
เป็นปัญหาหนึ่งสำหรับเมืองที่เข้าใจ “นี่ไง ฉันมีพื้นที่สีเขียวแล้ว สิ่งมีชีวิตก็สามารถดำรงอยู่ได้แล้วสิ เฮ” แต่อันที่จริง สัตว์อย่างนก หรือแมลงทุกชนิด ไม่ได้มีเรี่ยวแรงมากพอที่จะบินจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งโดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกหรือแมลงขนาดเล็ก ที่จะบินได้เพียง 100 เมตรแล้วก็ต้องหยุดพัก และจุดที่พักก็ควรจะเป็นจุดที่ปลอดภัย ดังนั้นการมีพื้นที่สีเขียวเล็กๆ น้อยๆ กระจายอยู่ทั่วเมืองจึงเป็นประโยชน์มากกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เหล่านี้
สิ่งนี้เป็นแนวคิดในการชวนให้สร้างความเข้าใจใหม่ในแต่ละพื้นที่ การมองไปถึงรากของพื้นที่ และเรียนรู้ว่าอะไรคือราก อะไรคือสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น และควรจะปกป้องเอาไว้ การดูแลเอาไว้ทั้งหมด อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขนั้นอาจไปเป็นไม่ได้ เป็นที่มาของความสำคัญที่สอง ‘ปกป้อง’
เพราะในบางพื้นที่ ก็มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ (Alien specie) ซึ่งไม่ได้เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่น และทำให้วัฏจักรในบริเวณนั้นเสียไปอย่างรุนแรง อย่างในไทยเองก็เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้หลายต่อหลายครั้งอย่างที่เคยได้ยินตามข่าว เช่น การแพร่พันธุ์ของกบสายพันธุ์อเมริกาเหนือ (North American Bullfrog) ที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนหนูและแมลงในบริเวณนั้นๆ จนทำให้เกิดผลกระทบมากมาย ในญี่ปุ่นเองก็เหมือนกัน รวมถึงพืชพรรณที่ ‘ควรจะ’ ต้องมีอยู่ในบริเวณเดิมนี้ ก็มีโครงการที่จะค่อยๆ ฟื้นฟูมาให้เป็นแบบเดิมเช่นกัน
ความสำคัญที่สามและสี่ ‘ลด’ และ ‘ใช้’ คือตลอดมาที่เราคิดว่ามนุษย์จะต้องเข้าไปควบคุมทุกอย่างให้เรียบร้อยในแบบของตัวเอง ก็ควรจะลดความสำคัญของตัวเองลงตรงนั้นไป ไม่ต้องถางหญ้าจนเหี้ยนเกรียน แต่ให้ธรรมชาติออกแบบตัวมันเองเสียบ้าง ใช้พืชดูแลพืชกันเองเพื่อที่ให้พืชไปดูแลสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ต่อกันเองต่อไป นอกจากจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแล้ว ก็ยังจะทำให้มนุษย์ตาดำๆ อย่างเรานั้นประหยัดต้นทุนในการดูแลไปได้อีกเพียบ จากนั้นก็ไปสู่ความสำคัญสุดท้าย คือ ‘สืบทอด เติบโต’ ที่จะทำให้ทุกสิ่งที่ว่ามานั้นยั่งยืน เป็นพื้นที่ที่มนุษย์ได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์
AP กับการทดลอง จุดเริ่มต้นของความยั่งยืน
Mitsubishi Estate และ AP บริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ขยันหา innovation และเคลื่อนไหวในด้านการอยู่อาศัยมาตลอด เป็นพาร์ตเนอร์กันมานานกว่า 6 ปี มีแนวทางและคอนเซปต์หลายๆ เคมีอย่างที่ตรงกัน และทำงานร่วมกันมาหลายต่อหลายโครงการในประเทศไทย เช่น RYTHM (เอกมัย)
AP ศึกษา และนำเอา Biodiversity กลับไปใช้ในโครงการต่างๆ ในไทยอยู่ไม่น้อย และมีเริ่มไปแล้วในบางโครงการ หวังจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เขตเมืองกรุงเทพฯ อย่างโครงการ ‘Life-Sathorn Sierra’ ที่วางตัวเป็น The Forest in the City ที่จริงจังกันมากๆ ตั้งแต่การออกแบบ ที่ต้องใช้โปรแกรม AI BIM เข้ามาจับกับการออกแบบภูมิสภาปัตย์ที่เอื้อต่อการมีอยู่ของต้นไม้หรือธรรมชาติรอบๆ โครงการ มีการร่วมมือกับองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง กรมอุทยาน และ ‘Big Tree’ เพื่อออกแบบพืชพรรณที่สามารถอยู่ในโครงการและจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนได้อย่างเหมาะสม และเป็นไปได้เท่าที่จะสามารถเป็นได้
เป็นโครงการนำร่อง และการมองหาความเป็นไปได้ที่จะทำให้ประเทศไทยนั้นได้รับประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมที่เราควรจะมี ท่ามกลางความเจริญที่เราเริ่มนิยามไม่ได้แล้วว่าเจริญจริงไหม และหลายครั้งเราเองก็มองๆ หาความเจริญอย่างอื่นไปพร้อมๆ กัน และบางทีคำตอบก็เป็นแค่การได้สูดลมหายใจสดชื่นๆ เต็มปอดสักฟอด
เว็บไซต์โดยตรงของ BIO NET Initiative https://www.mecsumai.com/bionetinitiative/
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Biodiversity ของญี่ปุ่นอย่างละเอียดขึ้นได้ที่ http://www.jbib.org/doc/JBIB_Brochure_EN201611.pdf
อ่านคู่มือสำหรับการบริหารสิ่งแวดล้อมในเขต Marunouchi ได้ที่ https://www.mec.co.jp/e/csr/ikimono/handbook2019/handbook2019/html5.html#page=1 (ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น)
บทความนี้สนับสนุนโดย AP Thailand ในฐานะที่เป็นผู้นำทางไปเปิดหูเปิดตาในแง่มุมที่หาข้อมูลและลงพื้นที่สัมผัสได้ยาก โดยไม่มีการันตีล่วงหน้าว่าจะลงบทความเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ ไม่มีกำหนดหัวข้อหรือแง่มุมที่บังคับ กระทั่งไม่มีการ Approve จากบริษัท โดยผู้เขียนได้เห็นเรื่องที่น่าสนใจตลอดระยะเวลาการเดินทางและเลือกหยิบมาเล่าต่อเองในทุกแง่มุม