สัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องของนักเรียนต่างชาติที่หายตัวไปในสังคมญี่ปุ่น ส่วนสัปดาห์นี้ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษา และนโยบายการรับคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น นั่นก็คือ เรื่องของการสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุด ญี่ปุ่นเขาก็มีการจัดสอบวัดระดับทักษะภาษาญี่ปุ่นตัวใหม่ ที่มีเป้าหมายเฉพาะทางสำหรับวัดทักษะคนที่ต้องการมาทำงานเฉพาะทางในญี่ปุ่น ตามนโยบายการเพิ่มปริมาณแรงงานต่างชาติของรัฐบาลญี่ปุ่นนั่นเอง
ที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่ศึกษาภาษาญี่ปุ่น ก็คงจะรู้จัก ‘การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น’ หรือ Japanese Language Proficiency Test (JLPT) ที่โด่งดัง และโหดหินสำหรับคนเรียนภาษานี้ ที่ผ่านมา ระบบการสอบนี้เป็นเกณฑ์ในการวัดคุณภาพภาษาญี่ปุ่นของผู้เรียนภาษา เพื่อนำไปใช้ในด้านอื่นๆ เช่น พิจารณารับเข้าทำงาน (ซึ่งถ้าอยากจะได้งานระดับสูง ก็ควรมีระดับ N2 ขึ้นไป) หรือรับพิจารณาเข้าศึกษาในการศึกษาระดับสูง เช่นบางมหาวิทยาลัยก็ยื่นเงื่อนไขว่า ถ้าอยากจะเข้าเรียนปริญญาตรี ก็ต้องมีระดับ N1 (ซึ่งเป็นระดับสูงสุด) หรือปริญญาโทต้องมีระดับ N2 (อันนี้ก็อาจจะชวนงง แต่จริงๆ คือ ปริญญาโท ไม่จำเป็นต้องอ่านตำราภาษาญี่ปุ่นหรือเข้าฟังเลคเชอร์บ่อยเหมือนปริญญาตรี)
นอกจากนี้ยังใช้เป็นหลักฐานในการคัดเลือกคนที่สนใจจะไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นต่อ ถ้าหากมีผลสอบ JLPT แม้จะเป็นระดับต่ำสุดคือ N5 ก็สามารถเพิ่มโอกาสในการยื่นขอวีซ่าเพื่อไปศึกษาในโรงเรียนภาษาได้ง่ายขึ้น เพราะทางฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองก็จะพิจารณาว่า มีความตั้งใจที่จะศึกษาภาษาญี่ปุ่นจริงๆ
เพียงแต่ว่า การสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นแบบที่ผ่านมา ก็มีปัญหาในตัวมันเองเช่นกัน อย่างแรกสุดคือ ความถี่ในการจัดสอบ เพราะปัจจุบันการสอบ JLPT ก็จัดแค่ปีละ 2 ครั้ง แถมในอดีต (สมัยผมเรียนสิบกว่าปีก่อน) ยังจัดสอบแค่ปีละครั้ง ถ้าพลาดก็ต้องรอสอบครั้งต่อไป ที่สำคัญคือ วิธีการเลือกระดับ ซึ่งเราต้องประเมินตัวเองว่าจะสอบระดับไหน หรือเลือกระดับที่เราจำเป็นต้องใช้ แล้วสมัครสอบ หลังจากนั้นผลที่ประกาศจะบอกเพียงว่า ‘ผ่าน’ หรือ ‘ไม่ผ่าน’ แค่นั้นครับ
คุณอาจจะทำคะแนนไม่พอคะแนนเดียวในการสอบ N1 แต่ความรู้คุณอาจจะสูงกว่าคนที่สอบผ่าน N2 แต่ปัญหาคือ ถึงจะเป็นอย่างนั้น คุณก็จะไม่มีใบรับรองอะไรเลยเวลากรอกใบสมัครต่างๆ ถ้าอยากมีใบ ก็ต้องรอสอบรอบต่อไปเท่านั้น ถ้าเป็นการสอบปีละครั้งแบบเดิม ก็คือคุณอาจจะเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ต้องรอสอบปีหน้า ถ้าเทียบกับการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษแบบ TOEIC ที่ไม่ว่าอย่างไร คุณก็ได้คะแนนมาแสดงเป็นหลักฐาน แถมยังสอบได้เรื่อยๆ วันนี้ไม่ดี ก็ลองสอบใหม่ได้
การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นมันเลยดูเป็นความยุ่งยากแบบญี่ปุ่น
เพราะไม่ใช่แค่รอบสอบน้อยเท่านั้น แต่ยังต้องสอบพร้อมกันทั่วโลกอีกด้วย เพราะใช้ข้อสอบเดียวกันทั่วโลก เพิ่มความยุ่งยากในการจัดการเข้าไปใหญ่ และก็อาจจะส่งผลให้การจัดการเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น เพราะทุกอย่างต้องทำพร้อมๆ กันทั่วโลก
ที่สำคัญคือ การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น เป็นการสอบเพื่อวัดทักษะภาษาญี่ปุ่น เอาจริงๆ ระดับต้นๆ ก็เป็นเรื่องของการใช้ศัพท์ในชีวิตประจำวัน แต่พอระดับสูงขึ้นไป ก็กลายเป็นความเชี่ยวชาญทางภาษาชนิดที่บางครั้งคนญี่ปุ่นเองก็ยังใช้ผิดประจำ จนอาจจะไม่ได้ตรงเป้าหมายกับการทำงานแต่ละประเภทเท่าไหร่ แถมปีนึงจัดสอบแค่สองครั้ง ถ้าจะต้องการรับคนงานกันจริงจัง ก็คงไม่ทันกินพอดีล่ะครับ ส่วนการสอบภาษาญี่ปุ่นเชิงธุรกิจ ก็ดูจะเป็นการสอบเพื่อการทำงานเฉพาะทางไปอีก ไม่ได้เหมาะสมกับการคัดเลือกคนเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน ก็เลยกลายเป็นที่มาของไอเดียการจัดการสอบวัดทักษะระดับภาษาใหม่
เป้าหมายของเขาก็คือ จัดสอบเพื่อรับรองระดับทักษะภาษาของคนที่จะเข้าไปทำงานในภาคแรงงานเฉพาะทาง เพื่อทดแทนแรงงานส่วนที่ขาดแคลน โดยวัดทักษะภาษาให้มีทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวันและเข้าใจคำศัพท์ที่จำเป็นต่อการทำงานประเภทต่างๆ เพื่อที่จะได้แรงงานที่พร้อมมาเริ่มงานในภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ ในทันที ตามเป้าหมายคือเพิ่มแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน โดยต้องทำให้ได้ประมาณ 345,150 คนภายในเวลา 5 ปี
เป็นที่รู้กันว่า ประชากรญี่ปุ่นกำลังหดตัว
ในภาคอุตสหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน
ก็คือภาคอุตสาหกรรมที่คนญี่ปุ่นเองก็ไม่อยากทำ
หลายงานก็ได้ชื่อว่าเป็นงานประเภท 3K คือ งานที่หนัก สกปรก และ อันตราย จึงต้องอาศัยแรงงานต่างชาติ แต่ที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้มีท่าทีอยากจะรับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานมากนัก จนเมื่อถึงเวลาจวนตัวก็ต้องหาแนวทางในการรับแรงงานโดยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมตัวเองให้น้อยที่สุดด้วยการคัดคุณภาพแบบนี้
ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานเข้าไปเสริมก็มี 14 อุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่พัก ดูแลผู้สูงอายุ ก่อสร้าง และเกษตกรรม ซึ่งมีเป้าหมายคือ การรับแรงงานจากชาติต่างๆ ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา เนปาล และ มองโกเลีย ซึ่งการเปิดสอบก็จะสอบทั้งในศูนย์สอบที่ประเทศญี่ปุ่น และในประเทศต่างๆ เหล่านี้ด้วย ซึ่งในการสอบครั้งแรกเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีคนเข้าสอบสามร้อยกว่าคนในประเทศญี่ปุ่น และก็มีการจัดสอบที่กรุงมะนิลาอีกด้วย ซึ่งผู้ที่เข้าสอบบางส่วนก็เป็นนักเรียนภาษาที่เรียนอยู่ที่ญี่ปุ่นและหวังจะเข้าทำงานในภาคการโรงแรมของญี่ปุ่นต่อไป
แต่ที่น่าห่วงหน่อยก็คือ กว่าผลจะออกก็ปลายเดือนพฤษภาคม และก็อีกหลายเดือนกว่าทางการจะให้วีซ่าในการทำงานได้ ก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าเกิดตัวผู้สมัครที่อยู่ในญี่ปุ่น วีซ่านักเรียนหมดอายุก่อน แล้วจะทำอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่านตรงนี้ อาจต้องมีมาตรการมาเสริมอีก นอกจากนี้ ยังน่าเสียดายว่า ทีแรกที่ตั้งใจให้มีการทดสอบทักษะทั้งสี่คือ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน แต่สุดท้ายก็เหลือแค่ ฟังและอ่าน เหมือนกับ JLPT เท่านั้น
เมื่อมามองนโยบายนี้ ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจดี
เพราะมีการคัดคุณภาพของคนที่จะเข้าไปทำงานในประเทศก่อน
ทำให้ได้แรงงานที่พร้อมจะทำงานเลย
ก็อาจจะเหมาะกับประเทศญี่ปุ่นที่นิยมความเป็นหนึ่งเดียวของสังคม ซึ่งมักจะมองชาวต่างชาติที่สื่อสารไม่ได้ด้วยสายตาแปลกๆ (โดยเฉพาะชาวเอเชียด้วยกัน) อย่างน้อยถ้าได้คนที่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ในระดับหนึ่งเข้าไป ก็คงช่วยให้ความคลางแคลงใจตรงนี้ลดลงได้
แต่ในทางกลับกัน การที่มีมาตรการเข้มงวดแบบนี้ แม้จะช่วยรักษาความเรียบร้อยในสังคมญี่ปุ่นได้ แต่จะตอบโจทย์ความต้องการแรงงานได้จริงแค่ไหน เพราะรัฐต้องการแรงงานสามแสนกว่าคน แต่มีคนสอบแค่สามร้อยกว่า นับเป็นแค่จำนวน 0.1% เท่านั้น แม้จะสอบปีละ 4 ครั้ง แต่จะสามารถรับแรงงานได้ตามจำนวนที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนดหรือไม่ ก็คงเป็นปัญหาของชาวญี่ปุ่นที่ใจนึงก็อยากจะรับแรงงาน อีกใจนึงก็อยากจะได้แต่คนที่รู้วัฒนธรรมตัวเอง
อีกปัญหาคือ แรงงานที่อยากจะไปทำงานในญี่ปุ่นจนทุ่มเทแรงกายและเงินเพื่อศึกษาภาษาญี่ปุ่นจะมีเยอะแค่ไหน ในเมื่อยุคปัจจุบันก็มีทางเลือกอื่นที่น่าสนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเกณฑ์ข้อจำกัดหยุมหยิมของญี่ปุ่น แถมนโยบายแนวทางต่อไปก็ยังไม่ชัดเจน รวมถึง ‘ชื่อเสีย’ จากโครงการ Technical Intern ที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่า แนวคิดนี้จะช่วยให้แผนการณ์รับแรงงานของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ หรือว่ากลายเป็นปัญหาที่ต้องมาแก้กันในภายหลังอีกที ยิ่งไปกว่านี้ การใช้งบประมาณกับโครงการนี้ถึง 2,200 ล้านเยนในการจัดการสอบ ก็ชวนคิดว่า ต้องใช้เยอะขนาดนั้นเลยหรือ และจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
หรือสุดท้ายก็เป็นการหาแนวทางใช้งบประมาณ เพื่อให้ได้ชื่อว่า ‘ได้ทำงานแล้ว’ อีกทางหนึ่งเท่านั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก