“Freedom of the Press, if it means anything at all, means the freedom to criticize and oppose”
― George Orwell
บ้านเราเอง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีประเด็นร้อนเรื่องการควบคุมสื่อที่ทำให้สื่อหลายเจ้าจู่ๆ ก็ตกใจนึกได้ว่าต้องรักษาสิทธิของตัวเองเพื่อรักษาสิทธิประชาชน ออกมาต่อต้านกันใหญ่แต่สุดท้ายก็ไม่นำพา ร่างกฎหมายควบคุมสื่อผ่านสภาอย่างสบายใจเฉิบ ได้แต่รับประทานจุดกันหมด
ญี่ปุ่นเองก็มีประเด็นร้อนเรื่องนี้เช่นกันครับ เพราะเมื่อปีก่อนใน ‘การจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom)’ ก็อันดับตกจากเดิมอันดับที่ 61 มาที่ 72 ในปี 2016 ซึ่งถูกประกบโดย แทนซาเนีย และ เลโซโธ ก็น่าทึ่งดีนะครับ เพราะว่าเสรีภาพของสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งในมาตรวัดพัฒนาการของประเทศนั้นได้
แต่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของโลก กลับมีเสรีภาพสื่อระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และแน่นอนว่ารั้งท้ายสุดในกลุ่มประเทศ G7
ฟังดูแล้วก็ชวนงง สำหรับประเทศเสรีประชาธิปไตย แถมสื่อยังชอบทำสกู๊ปข่าวเปิดโปงเรื่องต่างๆ รวมไปถึงเรื่องราวส่วนตัวของดาราอีกด้วย (อ่านในตอน สื่อศาล ได้ครับ) แต่ถ้าหากเป็นคนที่รู้จักญี่ปุ่นอยู่ระดับหนึ่งแล้วก็อาจจะไม่แปลกใจเลยก็ได้ เพราะประเทศญี่ปุ่นเองก็มีการควบคุมสื่อโดยรัฐอยู่เช่นกัน
แม้จะไม่ได้ออกเป็นกฎหมายออกมาแต่สิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์รัฐบาลของสื่อก็มีจำกัด ตัวอย่างที่ชัดเจนและเป็นเหตุในอันดับของญี่ปุ่นตกลงมาในปีก่อน คงเป็นอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นของรัฐบาลนายอาเบะ ชินโซะ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าจัดว่าเป็นสายอนุรักษ์นิยมและมีแนวทางเอียงขวา (จัด) และหลังจากพาพรรค LDP กลับมาชนะการเลือกตั้ง เขาก็เดินเส้นทางสายเหยี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในหัวข้อที่เกี่ยวกับบทบาทของกองกำลังป้องกันประเทศ และพอประชามติผ่านก็เหมือนเสือติดปีก กลายเป็นว่าผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลอาเบะก็ต้องพบกับจุดจบไป
พูดแล้วเหมือนสื่อโดนลอบสังหารนะครับ จริงๆ ก็ไม่ขนาดนั้น แต่เคสที่เป็นประเด็นใหญ่มากๆ คงเป็นกรณีของคุณฟุรุทะจิ อิจิโร่ แห่งรายการ Houdou Station ซึ่งเป็นรายการ ‘Wide Show’ คล้ายรายการเล่าข่าว แต่จะมีการตีความและวิพากษ์วิจารณ์จากพิธีกรและนักวิจารณ์ด้านต่างๆ และ Houdou Station ก็เป็นรายการดังรอบดึกของสถานี TV Asahi มาหลายปี ผมเองก็ดูเป็นประจำตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่นั่น เพราะเวลาดีและมักจะมาหลังรายการวาไรตี้ที่ดู เลยขี้เกียจเปลี่ยนช่องครับ (นี่คือเหตุผล?) และคุณฟุรุทะจิผู้เป็นศูนย์กลางของรายการก็มักจะรายงานข่าวและวิจารณ์ประเด็นต่างๆ อย่างเผ็ดร้อน ฟังแบบนี้อาจจะคิดว่าเขาเป็นสายเสรีนิยมนะครับ แต่จริงๆ แล้ว โทนของรายการออกมาในทางขวาไม่น้อยเลยครับ บางครั้งก็เอาเรื่องไม่เป็นเรื่องในเกาหลีเหนือมารายงานเป็นสกู๊ปใหญ่ ดูไปผมก็ได้แต่ส่ายหัวว่าไม่มีอะไรเล่นแล้วเหรอ
แต่ถึงจะ ‘ขวา’ เหมือนกันแต่ถ้าไปเหยียบเท้ารัฐบาลก็กลายเป็นเรื่องได้ครับ
เรื่องเกิดเมื่อหนึ่งในนักวิจารณ์ประจำรายการ Houdou Station วิจารณ์การจัดการกับสถานการณ์ตัวประกันในซีเรียอย่างเผ็ดร้อน ทำให้นักวิจารณ์รายนั้น (ซึ่งก็เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนด้วย) หลุดจากรายการทันที และหลังจากนั้นไม่นานนัก คุณฟุรุทะจิ ก็ประกาศว่าจะเลิกเป็นพิธีกรรายการ Houdou Station ทั้งๆ ที่เขาเป็นหน้าตาของรายการมาตลอด ทำให้สายตาจับจ้องไปที่รัฐบาลอาเบะว่าใช้อิทธิพลไปบีบสถานีหรือไม่ เพราะในช่วงเวลาเดียวกันก็มีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นในสถานีอื่น จนทำให้อันดับเสรีสื่อตกนี่ล่ะครับ
แต่เอาจริงๆ แล้ว มองอีกที ปัญหามันก็ไม่ได้มาจากการกดดันของรัฐอย่างเดียว แต่เป็นการกดดันกันเองของสื่อด้วยนี่ล่ะครับ ซึ่งในญี่ปุ่นก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Kisha Club’ หรือแปลได้ว่า ‘Reporters’ Club’ เหมือนสมาคมนักข่าวของไทยนั่นเอง แต่ที่คำว่า Kisha Club กลายเป็นที่รู้จักก็เพราะรูปแบบการทำงานของพวกเขาก็ไม่เหมือนสมาคมนักข่าวในประเทศอื่นนั่นเอง
Kisha Club แรกเริ่มเดิมทีที่ก่อตั้งในปี 1890 ก็เป็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับทางรัฐในการรายงานข่าว แต่ไปๆ มาๆ ยิ่งเวลาผ่านไป ก็กลายเป็นเหมือนสมาคมนักข่าวที่รวมตัวกันเพื่อสร้างคอนเนคชั่นกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และพร้อมที่จะกีดกันนักข่าวอิสระและนักข่าวต่างชาติออกนอกวงเสียมากกว่า สภาพในปัจจุบันของ Kisha Club เหมือนแค่ทำหน้าที่รับข่าวประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งโดยมากก็มักจะมีสำนักงานประชาสัมพันธ์อยู่ใกล้ๆ กับ Kisha Club เพื่อความสะดวกในการ ‘ส่งข่าว’ แล้วนักข่าวในสมาคมก็ค่อยรับข่าวไปเรียบเรียงใหม่อีกที ถ้าเป็นกรณีแถลงข่าวก็มักจะจัดให้นักข่าวในสมาคมได้เข้าฟังเท่านั้น มีการเตรียมถามตอบเป็นพิธี ส่วนคนนอกก็หมดสิทธิ์เข้าร่วมครับ
แม้ในญี่ปุ่นยอดตีพิมพ์หนังสือพิมพ์จะมีเป็นจำนวนมหาศาล รวมไปถึงจำนวนของหัวหนังสือพิมพ์เยอะมาก แต่สุดท้ายเราก็อาจจะไม่ได้อะไรที่แตกต่างไปมากนัก เมื่อเจ้าใหญ่ทั้งหลายสังกัด Kisha Club ซึ่งก็มีการตกลงกันว่า จะ ‘เล่น’ ข่าวไหน และ ‘เว้น’ ข่าวไหนกันแล้ว บางข่าวที่อยากจะหยั่งกระแสสังคม ก็อาจจะปล่อยให้นิตยสารรายสัปดาห์ที่เน้นขายเรื่องอื้อฉาวลองตีพิมพ์ดูก่อน ถ้ากระแสสังคมเล่นด้วยก็ค่อยไปเจาะตรงนั้น
ฟังดูแล้วก็เป็นปัญหาหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับ พวกเรา-พวกเขา ที่ลามมาถึงวงการสื่อด้วย
ส่วนแสงไฟที่ปลายอุโมงค์อย่างสื่อใหม่ อินเทอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็ดูเหมือนจะมาช่วยกอบกู้ได้บ้าง หลังจากชาวญี่ปุ่นเองก็สูญเสียความเชื่อมั่นในสื่อหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางตะวันออกเฉียงเหนือและวิกฤติโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2011 ว่ามีการควบคุมการรายงานข้อเท็จจริงของสื่อ แต่ปัญหาก็คือรัฐบาลอาเบะก็ได้ผ่านกฎหมายในช่วงปลายปี 2013 ว่าหากใครปล่อยข้อมูลความลับของทางการ ก็อาจติดคุกเป็นเวลา 10 ปีได้ มิหนำซ้ำก็เป็นประชาชนด้วยกันที่พยายามปิดปากกันเอง เพราะในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็มีผู้ใช้กลุ่มที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘Net Uyo’ หรือ ทีมขวาจัดออนไลน์ ซึ่งคอยไล่ตามบดขยี้ผู้ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลทางโลกออนไลน์ ทำให้หลายต่อหลายคนต้องเลือกที่จะอยู่เงียบๆ ดีกว่าต้องเปิดวอร์กับกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากรัฐบาลเช่นนี้
ดูเหมือนว่าระบบการปกครองของญี่ปุ่นก็ไม่ได้รับประกันเสรีภาพของสื่อเลย ในเมื่อวัฒนธรรมพื้นฐานของญี่ปุ่นเองก็ให้ความสำคัญกับความเป็นหนึ่งเดียวและความกลมกลืนจนกลายเป็น ‘การเซนเซอร์กันเอง’ ไป ก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่าเมื่อเจเนอเรชั่นที่โตมากับการส่งเสียงทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่