ช่วงที่ผ่านมาบ้านเราก็มีประเด็นเผ็ดร้อนเรื่อง Street Food เอาเรื่องนะครับ เพราะส่วนนึงก็มองว่าต้องกำจัดออก ส่วนนึงก็มองว่าเสน่ห์ของบางกอก แถมเรายังเคยได้รับคำชมเรื่องนี้จากสื่อต่างชาติอีกด้วย
แต่ไม่ว่าจะในแง่มุมไหนผมก็เข้าใจความรู้สึกทั้งสองฝ่ายนะครับ เพราะว่าผมเองก็ใช้บริการของแผงลอยรถเข็นบ้าง และก็เข้าใจเรื่องความจำเป็นในเรื่องความสะอาด เพราะสมัยเข้ามาอยู่เมืองกรุงใหม่ๆ ทรัพย์ไม่เยอะ (ตอนนี้ก็ไม่เยอะ) ผมก็อาศัยรถเข็นแถวหอเป็นที่ฝากท้อง จนวันที่กินข้าวอยู่ริมถนน แล้วมีคนเดินมาเตะหม้อหุงข้าวขนาดใหญ่ของร้านโดยบังเอิญ แล้วหันไปพบว่ามีฝูงแมงกะจั๊วพรั่งพรูออกมาจากใต้หม้อหุงข้าวนั่นล่ะครับ ทำให้ผมค่อนข้างเข็ดขยาดกับการใช้บริการ แถมพอเดินถนนมากๆ เข้าก็พบว่ากีดขวางทางเดินและทำให้ผิวถนนเสื่อมสภาพได้
คิดแล้วก็มองย้อนกลับไปบ้านหลังที่สองอย่างญี่ปุ่นว่าเขาเองก็มีวัฒนธรรมแผงลอยรถเข็นเหมือนกัน เลยอยากเอามาเล่าสู่กันฟังครับ
ก่อนอื่นคงต้องเล่าไปถึงอดีตก่อน แน่นอนว่าภาพลักษณ์ญี่ปุ่นในทุกวันนี้อาจจะเป็นประเทศที่มีระบบระเบียบจัด แต่จริงๆ แล้วแต่ก่อนเขาก็ไม่ได้จุกจิกอะไรขนาดทุกวันนี้หรอกครับ และคนค้าขายในญี่ปุ่นแต่เดิมก็มีคนแบกสินค้าเดินขายไปมาอยู่ตลอด แต่กำเนิดของแผงลอยของเขา คาดกันว่าเกิดขึ้นมาใน ‘สมัยเอโดะ’ นี่เองครับ เพราะยุคนั้นเอโดะก็เป็นเมืองใหญ่ มีประชากรมาก และที่สำคัญคือประชากรชายที่ไม่มีครอบครัวก็เข้ามาอยู่ในเอโดะเยอะมากตามไปด้วย เพราะระบบการบังคับให้เจ้าเมืองต่างๆ ต้องมาประจำการอยู่ในเอโดะสลับกัน เพื่อป้องกันไม่ให้สร้างฐานอำนาจกระด้างกระเดื่องในถิ่นตัวเองมาทาบบารมีตระกูลโตกุกาวะ เหล่าเจ้าเมืองก็ต้องลากเอาลูกน้องของตัวเองมาอยู่ด้วยไม่น้อย มีซามูไรต้องตามนายมา รวมไปถึงคนมาหางานทำในเอโดะ ทำให้เขาเหล่านี้ต้องฝากท้องไว้กับอาหารราคาถูกหากินง่าย ซึ่ง’ยะไต (屋台)’ แผงขายของกินข้างทางที่ซื้อแล้วยืนกินได้เลย ไม่ว่าจะเป็นอาหารเส้น หรือซูชิที่ก็เกิดในยุคนี้ และทำให้วัฒนธรรมการกินอาหารแบบแผงลอยฝังรากในสังคมญี่ปุ่นมาตลอดครับ
แต่พอสังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แผงลอยหรือรถเข็นตามถนนหนทางก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ ตามสภาพ ที่เห็นได้บ่อยคือร้านแผงลอยที่ออกร้านตามงานเทศกาลเสียมากกว่า เหตุผลหลักๆ ก็คือ การพยายามกำจัดแผงลอยรถเข็นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในช่วงพัฒนาประเทศ (ยุคเตรียมโอลิมปิกปี 1964) และเพื่อกำจัดปัญหากลุ่มอิทธิพลคอยเรียกเก็บเงินค่าคุ้มครองจากร้านแผงลอยเหล่านี้ จึงใช้มาตรการหลายอย่างในการกดดัน เช่น กฎหมายการคมนาคม การควบคุมสุขอนามัย อัคคีภัย ทำให้หลายคนเลิกขายไป หรือถ้าจะขาย \ก็ต้องขอใบอนุญาตหลายต่อหลายใบจนเป็นเรื่องน่ารำคาญ ดังนั้น ร้านแผงลอยรถเข็นในปัจจุบันหลายร้านจึงเปิดโดยผิดกฎหมาย ก็เลยไม่แปลกใจว่าทำไมหาได้น้อย สมัยผมเรียนก็ได้เจอบ้างครับ พวกรถขายราเม็งหน้าสถานีรถไฟในเมืองรอบนอกตอนกลางคืน แต่ถ้าในตัวเมืองนี่เรียกว่าหายากครับ
แต่ถึงจะว่างั้น ก็ยังมีเมืองหนึ่งในญี่ปุ่นที่เขาเอาแผงลอยมาเป็นจุดขายนะครับ นั่นคือฟุคุโอกะ
ที่วัฒนธรรมการกินเที่ยวแผงลอยของเขากลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ขนาดที่ว่าจำนวนแผงลอยในฟุคุโอกะที่เดียวก็นับเป็นหนึ่งในสี่ของทั้งประเทศแล้ว และที่อยู่ได้มาถึงทุกวันนี้ก็เพราะความพยายามปรับเปลี่ยนหลายต่อหลายจุดแม้กฎหมายจะเข้มงวด ทำให้พวกเขายังมีที่ยืนในสังคมครับ
เงื่อนไขในการตั้งแผงลอยในฟุคุโอกะจัดว่าจุกจิกมากครับ เขาไม่ปล่อยให้ขายตามสบาย ต้องระบุจุดที่ตั้งร้านชัดเจน อยู่ในโซนที่ได้รับอนุญาต และเปิดขายในระยะเวลาที่กำหนด ขนาดพื้นที่ของร้านก็ต้องชัดเจน หน้ากว้าง 3 เมตร ลึก 2.5 เมตรเท่านั้น ห้ามวางโต๊ะ เก้าอี้ หรือลังเบียร์ให้คนนั่งเลยออกมา และตัวร้านก็มักจะดัดแปลงมาจากรถเทียมหลังให้เป็นร้านขายของ ดังนั้นเวลาจะเปิดร้าน ก็ต้องจ้าง ‘ฮิคิยะ’ รถยนต์หรือจักรยานยนต์ที่คอยรับลากแผงลอยพวกนี้ จากจุดที่จอดเก็บ ไปที่จุดขายของตัวเอง ไฟฟ้านี่อาจจะมีให้ น้ำก็ต่อจากตึกแถวนั้นโดยทำสัญญา ขายได้แค่ห้าโมงเย็นถึงตีสี่ นอกนั้นก็ต้องเก็บร้านไป
ฟังดูดีนะครับ ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน รักษาจุดขายไว้ได้ แต่ที่น่าเศร้าหน่อยคือหลายๆ อย่างก็อยู่ใน ‘โซนสีเทา’ อยู่ดี
เพราะตัวท้องถิ่นก็อยากเก็บไว้เป็นจุดขายการท่องเที่ยว แต่ทางการอีกฝ่ายก็ต้องการควบคุมเพื่อความเรียบร้อย เลยเป็นการงัดกันไปกันมา บางทีท้องถิ่นก็พยายามหยวนๆ ให้ พอทางการมาเจอเข้าก็เป็นเรื่องอีก ทำให้ยื้อกันไปยื้อกันมาแบบนี้ล่ะครับ ตัวอย่างหนึ่งในการจัดการควบคุมแผงลอยในฟุคุโอกะที่ผมมองว่าเข้มงวดมากก็คือ ใบอนุญาตในการตั้งแผงลอยนี่มีจำนวนจำกัดนะครับ ไม่มีเพิ่ม และมีแต่จะลดลง เพราะใบอนุญาตเปลี่ยนมือไม่ได้ครับ ต่อให้อยากขายอยากซื้อก็ทำไม่ได้ (ใบอนุญาตอาบอบนวดบ้านเรามีเท่าเดิม ใครอยากเปิดก็ต้องไปซื้อจากคนที่อยากขาย) กรณีเดียวที่เปลี่ยนมือได้คือ ให้สมาชิกในครอบครัวเดียวกันเท่านั้น และยังมีเงื่อนไขต่ออีกว่า ถ้าคนที่รับช่วงใบอนุญาตต่อมีรายรับทางอื่นนอกจากการขายของแผงลอยก็ไม่ได้อีก จะขายแผงลอยก็ต้องทำอย่างเดียวไปเลย พอเป็นแบบนี้ก็ทำให้ใบอนุญาตมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ (แต่ก็แก้ปัญหาการขายต่อใบอนุญาตในราคาแพงๆ ได้)