ด้วยความที่โตมาในภาคอีสานในยุคที่คนไทยออกไปขายแรงงานในต่างแดนมากมาย ผมก็คุ้นชินกับเรื่องเล่าของแรงงานในประเทศตะวันออกกลางที่โดนหลอกใช้แรงงานผ่านทางสื่อต่างๆ ไม่น้อย จนเรียกได้ว่าชิน แต่พอได้ไปอยู่ที่ญี่ปุ่น ก็พบว่ามีเรื่องถูกหลอกมาทำงานในญี่ปุ่นไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นชาวไทยหลอกกันเอง (โดยมียากูซ่าอยู่เบื้องหลังอีกที)
แต่ใครจะคิดว่าปัจจุบันแรงงานต่างชาติหลายคนที่หวังมาทำงานตามคำเชื้อเชิญจากรัฐบาลญี่ปุ่น กลับพบว่าปลายทางไม่ใช่ความฝันที่แสนหวาน แต่กลายเป็นการทำงานหนักแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ที่สภาพการทำงานเลวร้ายจนหลายคนประณามว่า “นี่คือการค้ามนุษย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐชัดๆ”
การเชื้อเชิญแรงงานที่ว่า มาในชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Technical Intern Training Program’ แต่ถ้าแปลจากชื่อญี่ปุ่น 外国人研修制度 ก็จะแปลได้ว่า ‘โครงการฝึกงานชาวต่างชาติ’ ซึ่งฟังดูก็เหมือนจะดีจังเลย โอ๊ย ให้ชาวต่างชาติมาพัฒนาทักษะที่ญี่ปุ่น สะสมประสบการณ์ แล้วกลับไปพัฒนาประเทศตัวเองต่อ ซึ่งดำเนินงานโดย JITCO หรือ Japan International Training Cooperation Organization ซึ่งก็อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงถึง 5 กระทรวงด้วยกัน เรียกได้ว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่แน่นอน
แต่โลกนี้มันไม่ได้สวยงามขนาดนั้นสิครับ
และที่สำคัญ โลกนี้ไม่มีอะไรฟรีด้วยสิ
ก่อนอื่น ต้องย้อนไปดูสภาพสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหา ‘สภาวะสังคมสูงอายุแบบรุนแรง’ และจำนวนประชากรก็เริ่มหดตัวลงแล้วครับ เหตุเพราะ ในขณะที่คนชรามีอายุยืนยาว แต่กลับมีอัตราการเกิดต่ำเตี้ยเรี่ยดิน จนกลายเป็นว่า ไม่มีประชากรรุ่นใหม่เพียงพอที่จะเข้ามาเลี้ยงระบบที่เคยรุ่งเรืองในยุคหลังสงครามโลก หลักฐานที่ชัดเจนคือ การปิดตัวของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะไม่มีนักเรียนใหม่เข้ามาในระบบนั่นเอง ซึ่งก็ส่งผลให้ระดับการว่างงานของญี่ปุ่นจัดว่าต่ำมากในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว นั่นคือ แค่ 3.0 ในปี 2016 ซึ่งก็เป็นจุดต่ำสุดในรอบหลายปี หลังจากอัตราการว่างงานลดลงมาเรื่อยๆ ลองเทียบกับฝรั่งเศสที่อัตราการว่างงานสูงถึง 9.9 หรือ ของอเมริกาและอังกฤษที่ 4.8 สิครับ
ถึงจะมีปริมาณงานที่รอรับคนเข้าไปทำงานมากมาย แต่ชาวญี่ปุ่นก็มักจะหลีกเลี่ยงงานประเภทที่เรียกว่า 3K หรืองานที่มีสามลักษณะนี้คือ ‘Kitsui ลำบาก’ ‘Kiken อันตราย’ และ ‘Kitanai สกปรก’ แม้งานประเภทนี้จะต้องการคนเข้าไปทำจำนวนมาก แต่ชาวญี่ปุ่นหลายคนก็ยังเลือกที่จะว่างงาน แล้วหางานใหม่ไปเรื่อยๆ ดีกว่าจะต้องไปทำงาน 3K
แล้วใครจะเข้ามาทำงานตรงนี้ล่ะ?
คำตอบที่ดีที่สุดคือ ‘ชาวต่างชาติ’ นั่นเอง
ดังนั้น โครงการฝึกงานชาวต่างชาติ ที่ชื่อฟังดูแสนดี๊แสนดีนั้น ก็กลายเป็นช่องทางให้หลายต่อหลายองค์กร ดึงเอาแรงงานต่างชาติไร้ทักษะเข้ามาทำงานตรงนี้ ครบปีก็ส่งกลับประเทศไป หาคนใหม่เข้ามาทำ แล้วก็ส่งกลับประเทศไป วนเป็นลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มโครงการนี้มาในปี 1993 นั่นล่ะครับท่านผู้ชม
ที่ต้องอาศัยชื่อโครงการแบบนี้ เพราะหลักๆ แล้ว ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีระบบการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ไม่ได้มีประเภทวีซ่าเพื่อการนี้ จะเข้ามาทำงานก็ต้องวีซ่าธุรกิจเท่านั้น แล้วถ้าจะเพิ่มรูปแบบวีซ่าทำงานเพื่อแรงงานไร้ทักษะก็คงจะดูไม่งาม เหมือนปล่อยให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศ แย่งงานคนญี่ปุ่น งั้นก็เอาแบบนี้แล้วกัน ใช้ระบบฝึกงานให้ชาวต่างชาติ ฟังดูหรูหราดีจริง แถมไม่ต้องไปแตะระบบเดิมที่มีมาอีก (เหมือนกะว่าถ้าสุดท้ายแล้วมีปัญหามากๆ ก็แค่ยกเลิกโครงการไป)
พอได้ยินคำหวาน ชาวต่างชาติหลายต่อหลายราย
โดยเฉพาะชาวจีน ก็มุ่งมาที่ญี่ปุ่น เพื่ออนาคตที่ดีกว่า
ได้ทำงานที่ญี่ปุ่น ฝึกทักษะ
เป็นพอร์ตเอาไว้เวลากลับไปทำงานที่ประเทศตัวเองได้
แต่ความเป็นจริงน่ะเหรอครับ แรงงานชาวต่างชาติทั้งหลายต้องมาทำงานที่แทบไม่ต้องการทักษะอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นงานเกษตรกรรม งานกรรมกรก่อสร้าง งานในโรงงาน บางคนก็ได้แค่แกะหอยนางรมไปวันๆ เท่านั้น แล้วนี่มันฝึกงานอะไรล่ะครับ
นอกจากงานที่ไม่ได้เพิ่มทักษะอะไรแล้ว สภาพการทำงานยังเลวร้ายสุดขีด หลายโรงงานจ่ายค่าแรงให้พนักงานแค่ชั่วโมงละ 300 เยน ทั้งๆ ที่ค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยของญี่ปุ่นอยู่ที่ 764 เยนต่อชั่วโมง ซึ่งก็ยังดีกว่าบางที่ที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้แรงงานต่างชาติเหล่านี้ด้วยซ้ำ แค่ให้ที่ซุกหัวนอนและอาหารเท่านั้นเอง หนำซ้ำยังยึดหนังสือเดินทางและสมุดบัญชีไป
ยิ่งถ้าเป็นแรงงานหญิงสถานการณ์ยิ่งเลวร้าย บางคนถูกห้ามไม่ให้พบคนนอกบริษัท และถูกขู่ส่งกลับประเทศหากเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา บางส่วนก็ต้องเจอกับการล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้จ้างโดยไม่มีทางทำอะไรได้
นอกจากสภาพการทำงานที่เลวร้ายแล้ว ระยะเวลาของการทำงานยังจัดได้ว่าเลวร้ายเช่นกัน แรงงานชาวต่างชาติบางคน ทำงานล่วงเวลารวมในแต่ละเดือนเกิน 100 ชั่วโมง ทำจนตายเพราะทำงานหนักเกินไป (คะโรชิ) หลายต่อหลายราย ซึ่งพอระบุสาเหตุการตายว่าเป็นเพราะอาการทางสมองหรือหัวใจ ก็ทำให้ JITCO ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา อ้างว่าไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าตายเพราะทำงานหนัก
แต่ที่แน่ๆ คือตั้งแต่เริ่มโครงการมา
ก็มีแรงงานชาวต่างชาติในโครงการฆ่าตัวตายไปแล้ว 29 คน
จะเรียกว่าบังเอิญมาฆ่าตัวตายที่ญี่ปุ่นไหมล่ะครับทีนี้
แล้วมาลองคิดอีกทีว่า ในยุคที่ข้อมูลสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ทำไมยังมีคนยอมมาทำงานแบบนี้อยู่อีก แน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็เชื่อคำหวานของคนที่ชวนมา แต่อีกส่วนหนึ่งมองเห็นโอกาสและช่องทางใหม่ๆ นั่นเองครับ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ แรงงานต่างชาติที่มาฝึกทักษะในญี่ปุ่น หายตัวไปถึง 5,803 คนในปี 2015 กว่าครึ่งเป็นชาวจีน 1 ใน 4 เป็นชาวเวียดนาม นอกนั้นก็เป็นชาวพม่า อินโดนีเซีย และเนปาล ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ก็คงไปหาช่องทางทำงานในตลาดมืดญี่ปุ่นต่อไปนั่นเอง ซึ่งถ้ามองเป็นเปอร์เซ็นต์ก็อาจจะไม่ได้มาก เมื่อเทียบกับจำนวนชาวต่างชาติที่มาฝึกงานในปีเดียวกันถึง 192,000 คน
แต่ประเด็นคือ ปริมาณแรงงานที่เข้ามามีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หมายความว่าในแต่ละปีก็จะมีคนหายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
การใช้ชีวิตของแรงงานต่างชาติในสังคมญี่ปุ่นมักจะมาพร้อมกับสายตาที่จับจ้องด้วยความหวาดระแวง หลายครั้งก็นำไปสู่การเหยียดชาติโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ หนึ่งในหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการพาแรงงานต่างชาติมาฝึกงานที่ญี่ปุ่นในจังหวัดคานากาวะ ที่แปลชื่อเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า ‘Cooperative Association for International Operation Research’ ก็ได้นำเสนอข้อมูลการ ‘ประเมินคุณภาพ’ ของแรงงานฝึกงานจากชาติต่างๆ 6 ชาติ นั่นคือ ไทย เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ แล้วให้คะแนนในหมวดต่างๆ เช่น ศาสนา การปรับตัวเข้ากับสังคมญี่ปุ่น ทักษะภาษา และ ศีลธรรม เพื่อให้ผู้จ้างแรงงานได้ตัดสินใจได้ง่าย ซึ่งพอเป็นข่าวก็โดนถล่มไปทันทีว่าเป็นการเหมารวมและเหยียดชาติ ซึ่งทางองค์กรก็รีบออกมาขอโทษและลบข้อมูลออกจากเว็บไซต์ทันที แต่ที่แน่ๆ คือ หลายคนก็ได้เข้าใจวิธีคิดของผู้ว่าจ้างและตัวแทนชาวญี่ปุ่นแล้วล่ะครับ
หลังจากตัวโครงการมีปัญหาและถูกโจมตีจากหลายๆ ด้านมาตลอด รัฐบาลญี่ปุ่นทำอย่างไรเหรอครับ? ก็เปิดรับเพิ่มเข้าไปอีกสิครับ เพราะรัฐบาลยอมรับเลยว่าแรงงานต่างชาติเหล่านี้จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ต้องการพนักงานดูแลผู้ป่วยและคนชรามากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่อยากทำงานนี้
ก็ได้แต่หวังว่าจะมีการเข้าจัดการดูแลเพื่อให้แรงงาน
ได้รับค่าตอบแทนและสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมเสียที
ในอีกไม่กี่ปี โตเกียวโอลิมปิก 2020 ก็จะเริ่มขึ้น โตเกียวก็จะเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ที่จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการแข่งขัน และเป็นอนุสรณ์ให้ผู้คนได้จดจำ แต่จะมีกี่คนที่มองไปที่สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นแล้วคิดว่ากว่าจะสร้างขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยแรงงานชาวต่างด้าวที่เข้ามากับโครงการฝึกงานชาวต่างชาติไม่รู้กี่คนต่อกี่คน เพื่อสร้างสถานแข่งขันกีฬาเพื่อมวลมนุษยชาติ โดยพวกเขาอาจจะไม่ได้มีความสุขกับมหกรรมครั้งนั้นด้วยซ้ำ
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.japantimes.co.jp 1 2 3 4 5