ในช่วงเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1941 สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังระอุ กองทัพเยอรมันภายใต้การนำของพรรคนาซี โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ตัดสินใจทำสงครามบุกสหภาพโซเวียต นับเป็นปฏิบัติการครั้งใหญ่ของเยอรมัน และถือเป็นการยุติสนธิสัญญาที่เคยทำไว้กับโจเซฟ สตาลิน ผู้นำของโซเวียตที่จะไม่รุกรานกันและกัน
ทั้งนี้ผู้นำทั้งสองฝ่าย ต่างรู้ดีว่าสัญญานี้เป็นเพียงการประวิงเวลาเท่านั้น ไม่ว่าอย่างไรการรุกรานจะต้องเกิดขึ้นแน่ อยู่ที่ว่าใครจะเริ่มก่อนเท่านั้น เพราะพรรคนาซีอันเป็นกลุ่มขวาจัดในเยอรมนีไม่มีทางที่จะอยู่ร่วมโลกกับพรรคคอมมิวนิสต์ อันถือเป็นกลุ่มซ้ายจัดของโซเวียตได้อย่างแน่นอน
การรุกราน เริ่มต้นด้วยการที่เยอรมันควบทัพตะลุยเข้าไปในดินแดนโซเวียตแบบรุกคืบ ทหารเยอรมัน ทั้งกองทัพบก และหน่วยเอสเอส อันเป็นกองกำลังของนาซีได้ยิงเป้าจัดการคนโซเวียตเชื้อสายยิวเป็นจำนวนมาก รวมถึงเชลยศึกจำนวนมากที่ถูกเข่นฆ่าอย่างไร้ความปรานี ผู้หญิงถูกข่มขืนเป็นว่าเล่น ความเกลียดชังของทั้งสองฝ่ายมีสูงมาก และสงครามของสองประเทศนี้จะได้รับการจดจำว่าเป็นการทำสงครามที่โหดเหี้ยมรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย
ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งที่ฮิตเลอร์กล้าเปิดศึกกับโซเวียตได้ ก็เพราะดินแดนยุโรปฝั่งตะวันตก ต่างตกอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมันหมดแล้ว โดยอังกฤษในเวลานั้น ก็ไม่มีกำลังมากพอจะรุกโต้กลับได้ นั่นจึงทำให้ฮิตเลอร์กล้าดึงทหารจากแนวรบด้านตะวันตกของยุโรป ไปทุ่มบุกโซเวียตได้
อย่างไรก็ดีความพยายามต่อต้านของหมู่ผู้รักชาติในดินแดนยึดครองนั้นมีอยู่ ยิ่งกำลังทหารเยอรมันมีกำลังน้อยลง การต่อต้านยิ่งสูงขึ้น
ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 วันเดียวกับที่กองทัพญี่ปุ่นส่งฝูงบินถล่มโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ในฮาวาย อันเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกาและเป็นการนำสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มรูปแบบ
วันเดียวกันนี้ ฮิตเลอร์ได้ออกรัฐกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง ให้อำนาจกองทัพบกจัดการผู้ต่อต้าน ทั้งในประเทศและในดินแดนที่ยึดครอง จัดการลงโทษ ยิงเป้าได้อย่างทันที
พูดกันง่ายๆ ว่า
ฮิตเลอร์ออกกฎหมายให้อุ้มคนหายได้
โดยไม่ผิดกฎหมายนั่นเอง
กฎหมายฉบับนี้มีชื่อเรียกกันในเวลาต่อมา ‘รัฐกฤษฎีการาตรีและม่านหมอก’ (Night and Fog Decree)
1.
กฎหมายฉบับนี้ มีจอมพลวิลเฮ็ล์ม ไคเทล (Wilhelm Keitel) ซึ่งตอนนั้นถือเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกของเยอรมันเป็นคนเซ็นคำสั่งนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ผู้ต่อต้านเยอรมันในต่างแดน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตามจะต้องถูกยิงเป้าประหารชีวิต และทางทหารเยอรมันจะต้องจัดการเรื่องนี้อย่างทันทีทันใดด้วย จะรีรอประวิงเวลาไม่ได้ หรือหากจะให้มีการขึ้นศาล ก็ต้องขึ้นศาลทหารเท่านั้น
หากสรุปคร่าวๆ คือกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจ กองทัพเยอรมันดำเนินการเฉียบขาดต่อผู้ต่อต้านในดินแดนยึดครอง แม่ทัพในดินแดนนั้นๆ มีอำนาจเต็มในการใช้กฎหมายนี้ สาเหตุที่ฮิตเลอร์ออกกฎหมายฉบับนี้ ก็เพราะว่านาซีประสบความล้มเหลวในการจัดการผู้ต่อต้าน การจับกุมและดำเนินคดีตามปกติ ไม่ช่วยให้คนในดินแดนยึดครองนั้นยอมจำนน
อีกทั้งการจับผู้ต่อต้านเยอรมันในดินแดนยึดครองไปลงโทษโดยการให้ใช้แรงงานหนัก ถูกฮิตเลอร์มองว่าเป็นการลงโทษที่หน่อมแน้ม แถมยังแสดงถึงความอ่อนแอของอำนาจนาซี ยิ่งเยอรมันต้องเปิดฉากทำสงครามรอบทิศ
ทำให้ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย
ที่เฉียบขาดกว่านี้ในการจัดการผู้ต่อต้าน
นั่นจึงกลายเป็นที่มาของกฎหมายดังกล่าว เมื่อกฎหมายนี้บังคับใช้ มันค่อยๆ ขยายอำนาจจากกองทัพบกไปสู่หน่วยงานอื่นๆ ในการจับกุมผู้ต่อต้านที่กระทำความผิดอย่างชัดแจ้ง แทนที่จะนำตัวไปคุมไว้ หากมีหลักฐานชัดเจน ก็ให้นำตัวไปยิงเป้าทันที แต่หากจับกุมเครือข่ายฝ่ายต่อต้านได้แล้ว พวกเขาจะไม่ยิงเป้าในทันที แต่จะส่งไปไว้ในค่ายกักกันเพื่อรอประหารชีวิตในเวลาต่อมาเสียมากกว่า
นักโทษเหล่านี้จะมีแสดงสัญลักษณ์ที่เสื้อว่า NN อันเป็นคำย่อของภาษาเยอรมันของคำว่า Nacht und Nebel ที่แปลว่า ราตรีและม่านหมอก ซึ่งการทำสัญลักษณ์นี้ก็เพื่อแยกพวกเขาออกจากคนยิวที่อยู่ในค่ายกักกันนั่นเอง โดยนักโทษ NN หลายคนที่เข้าไปในค่ายกักกันแล้ว ส่วนใหญ่มักไม่รอดชีวิตกลับมา
เมื่อกฎหมายฉบับนี้มอบให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วยกองทัพบกจัดการผู้ต่อต้าน ก็ทำให้หน่วยเกสตาโป อันเป็นหน่วยงานที่มีไว้สอดส่องผู้ต่อต้านพรรคนาซีได้เข้ามาร่วมกวาดล้างคนเห็นต่างด้วย โดยในเวลาต่อมาพวกเขาค้นพบวิธีการของการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างทรงประสิทธิภาพที่สุด นั่นก็คือ การเอากำลังไปบุกจับผู้ต้องสงสัยในช่วงเวลากลางคืนแบบวิธีการซึ่งสมัยนี้เราเรียกว่าการอุ้มหาย จนกลายเป็นที่มาของชื่อเรียกกฎหมายนี้ว่า ‘ราตรีและม่านหมอก’ ซึ่งก็มาจากพฤติกรรมของหน่วยงานนาซีนี่เอง
สำหรับสาเหตุที่พวกเขาเลือกใช้วิธีนี้ ก็เพราะการอุ้มหายตัวไปนั้น ทำให้คนรู้จักผู้ถูกอุ้มอยู่ในความทุกข์ทรมาน เพราะไม่รู้ว่าผู้ถูกอุ้มจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผลกว่าการฆ่าเสียอีก
แม้สุดท้ายผู้ถูกอุ้มส่วนใหญ่จะถูกลงโทษ
ด้วยการฆ่าจริงๆ ก็ตาม
แต่ช่วงเวลารอคอยนี่แหละ คือการทำลายความหวัง ทำให้ผู้ต่อต้านหมดสิ้นกำลังในการต่อกรกับกองทัพของนาซีได้
โดยผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่ เป็นราษฎรในประเทศฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ซึ่งตอนนั้นถูกยึดครองโดยนาซี พวกเขามักจะโดนจับในตอนกลางคืน แล้วถูกส่งตัวกลับไปเยอรมัน หรือไปยังประเทศอื่น ที่นั่นพวกเขาจะถูกทรมานอย่างแสนสาหัสเพื่อเค้นความลับของฝ่ายต่อต้าน หากใครรอดชีวิตก็อาจต้องไปขึ้นศาลพิเศษ ซึ่งมีรูปแบบเหมือนศาลทหาร แต่ความพิเศษอันน่าอัปยศก็คือ ไม่มีการจัดทนายความไว้ให้ ไม่มีโอกาสได้แสดงหลักฐานความบริสุทธิ์ของตัวเอง ไม่มีสิทธิ์ที่จะซักค้านพยานที่ให้การกล่าวหา ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสที่จะเบิกพยานของตัวเองมาพิสูจน์ตัวเอง แถมกระบวนการขึ้นศาลทุกอย่างล้วนเป็นความลับอีกด้วย
ทั้งนี้เมื่อมีคำสั่งให้ยิงเป้ามายังผู้ถูกอุ้ม คนเหล่านี้ยังไม่มีแม้แต่โอกาสจะเขียนจดหมายสั่งลาแก่ครอบครัว ไม่มีโอกาสแจ้งใคร พวกเขาถูกนำตัวไปยิงทิ้ง หลังจากนั้นทางการเยอรมันไม่แม้แต่จะแจ้งข่าวไปยังครอบครัวของผู้ถูกอุ้มให้รับทราบการเสียชีวิต
ทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ ทำให้เหยื่อที่ถูกอุ้มหายกลายเป็นปริศนาไปตลอดกาล
2.
ประเมินกันว่ากฎหมายฉบับนี้ ทำให้มีผู้ถูกจับกุมประมาณ 7,000 คน โดยเกือบ 5,000 คนนั้น เป็นคนฝรั่งเศส บางคนเป็นสายลับอเมริกัน เป็นสายลับอังกฤษ พวกเขาเหล่านี้ถูกทรมานถูกส่งไปยังค่ายกักกัน นักโทษหลายคนไม่รู้เรื่องราวจากโลกภายนอกเลย อยู่ในสภาพที่ไม่รู้ว่าจะถูกสังหารลงวันไหน
อย่างไรก็ดีภายหลังที่ชาติสัมพันธมิตรเข้าถึงค่ายกักกันและปลดปล่อยประชาชนในค่าย เรื่องราวของคนยิวที่ถูกสังหารอย่างเป็นระบบได้รับการบอกเล่า รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ แม้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮิตเลอร์จะยิงตัวตาย ฮิมเลอร์ ผู้นำหน่วยเอสเอสและเกสตาโปจะกินยาตายไปแล้ว แต่จอมพลไคเทลยังมีชีวิตรอดและถูกนำตัวขึ้นศาลอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศด้วย ซึ่งจัดตั้งขึ้นที่เมืองนูเรนเบิร์ก อันเป็นเมืองที่ครั้งหนึ่งพรรคนาซีเคยแสดงแสงยานุภาพเดินขบวน และประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองหลังประสบกับชัยชนะในการยึดครองเยอรมัน
แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองนี้ได้กลายเป็นสถานที่ไต่สวนพิพากษาสมาชิกพรรคนาซีและนายทหารระดับสูงที่มีส่วนต่อการสังหารโหดมนุษยชาติ
เมื่อมีพยานผู้รอดชีวิตและเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ นั่นทำให้คณะผู้พิพากษาถือว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการตั้งข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และผู้ที่ทำตามกฎหมายนี้ถือเป็นอาชาญกรสงคราม มีโทษต้องถูกนำตัวขึ้นศาลตัดสินด้วย
จอมพลไคเทลนั้นถือเป็นขุนพลข้างกายฮิตเลอร์ด้วย ถือเป็นบุคคลที่พูดว่า ได้ครับผม เหมาะสมครับท่าน กับฮิตเลอร์อยู่เป็นประจำ แต่เมื่อฮิตเลอร์ฆ่าตัวตาย เขากลับไม่ได้ยิงตัวตายตามเหมือนนายพลคนอื่นๆ โดยจอมพลรายนี้เป็นคนลงนามข้อตกลงยอมแพ้กับสหภาพโซเวียต และถูกชาติสัมพันธมิตรจับกุมในเวลาต่อมา โดยถูกตั้งข้อหา 4 ข้อด้วยกัน นั่นก็คือ มีส่วนร่วมในการวางแผนทำสงคราม ก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพ เป็นอาชญากรสงครามและก่ออาชญากรรมต่อเพื่อนมนุษย์ ตอนแรกเขาให้การว่าไม่ผิดในทุกข้อกล่าวหา
แต่ทั้งนี้ระหว่างการไต่สวน จอมพลไคเทลได้ออกมายอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้ถือเป็นความเลวร้ายอย่างยิ่ง โดยเขายังได้แสดงความเสียใจต่อบทบาทของตัวเองในการทำสงครามกับสหภาพโซเวียตด้วย แถมบอกว่าคำสั่งของฮิตเลอร์หลายอย่างนั้นผิดกฎหมาย แต่เขาก็ต้องทำตามคำสั่ง เพราะเขาแค่ทำตามคำสั่ง อันเป็นคำสาบานที่ให้ไว้กับฮิตเลอร์ระหว่างการปฏิญาณตนของนายทหารเท่านั้น
พอถึงเวลาตัดสิน ผู้พิพากษาไม่ได้ถือว่าคำขอโทษ การยอมรับในความผิด หรือการบอกว่าเขาแค่ทำตามคำสั่ง เป็นเหตุให้บรรเทาโทษได้ จึงตัดสินให้ประหารชีวิตจอมพล ไคเทลด้วยการแขวนคอในที่สุด
นี่คือผลลัพธ์สุดท้ายของนายพล
ที่รับคำสั่งการอุ้มคนหาย
3.
การกระทำของฮิตเลอร์และผู้ติดตามที่ได้บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ได้กลายเป็นหลักสำคัญของฉันทามติร่วมกันระหว่างประเทศ ที่ถือว่า การอุ้มคนหายกลายเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงอย่างยิ่งต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
ปัจจุบันนี้ ผู้รอดชีวิตจากกฎหมายฉบับนี้บางคนได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว ผู้กระทำผิดก็ได้ถูกลงโทษตามกฎหมายไปด้วย บทเรียนจากอดีตยังคงมีอยู่ แต่การอุ้มหายกลับยังคงมีให้เห็นในทั่วทุกดินแดนของโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งในประเทศไทยเองที่มีการอุ้มคนหายตลอดหน้าประวัติศาสตร์การเมือง จนราวกับว่าเราไม่เคยเรียนรู้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ ไม่เคยตระหนักว่า ความรุนแรงของการอุ้มคนหาย คือความเลวร้ายที่เราไม่ได้มองเห็นความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นคนในตัวของผู้ถูกอุ้มและญาติสนิทมิตรสหายของเหยื่อเหล่านี้