เหตุการณ์ ‘ไฟไหม้ไรชส์ทาค’ คือเปลวเพลิงที่ไม่เพียงแต่ลุกลามอาคารรัฐสภา แต่มันยังเป็นไฟร้อนระอุที่เผาไหม้ระบอบการปกครองของประเทศเยอรมนีจนผลิกโฉมกลายเป็นมหันตภัยร้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ที่นำไฟดวงนี้เป็นข้ออ้างสู่การขึ้นจุดสูงสุดของประเทศ
ไฟที่กล่าวอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์ที่จะล้มล้างรัฐบาล … อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น จึงได้ใช้ไฟเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จในเยอรมนี และปูทางสำหรับความรุ่งโรจน์ในระบอบนาซี มันคือการรวบอำนาจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศในฐานะสาธารณรัฐ
และหากจะให้เข้าใจเหตุการณ์ที่พูดถึงนี้อย่างชัดเจน คงจะต้องขอย้อนไปในช่วงเวลาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิเยอรมันล่มสลายลงหลังจากพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สาธารณรัฐไวมาร์’ (Weimarer Republik) ที่ตั้งตามชื่อเมืองไวมาร์ ในประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ.1918 ค่าเงินมาร์คทองถูกระงับ และประเทศถูกบังคับให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามด้วยการกู้ยืมแทน รัฐสภาได้ประชุมกันเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา และ ฟรีดริช เอเบิร์ท (Friedrich Ebert) นักการเมืองแห่งพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนีได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกในปี ค.ศ.1919 เขาอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งเสียชีวิตขณะทำงานอยู่ในสำนักงานเมื่อปีค.ศ.1925 ทำให้ พอล ฟอน ฮินเดนเบิร์ก (Paul von Hindenburg) อดีตผู้บัญชาการกองทัพบกเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 แห่งสาธารณรัฐไวมาร์ต่อจากเขา
ในช่วงปลายทศวรรษ 1920 ชื่อของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมันของเขา หรือที่เรียกกันว่า พรรคนาซี เริ่มมีชื่อเสียงและเข้มแข็งขึ้น ประชาชนเริ่มไม่พอใจนโยบายของสาธารณรัฐไวมาร์รวมถึงผู้ปกครองรัฐ จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่กระทบไปทั่วโลก การว่างงานในประเทศเพิ่มขึ้นสูงขึ้น ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาล และความนิยมของประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กเริ่มตกลงเรื่อยๆ
พรรคนาซีเป็นพรรคที่มีแนวคิดต่อต้านการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมถึงต่อต้านระบอบประชาธิปไตยในรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ พรรคนาซีสนับสนุนลัทธิชาตินิยมอย่างสุดโต่งและต้องการรวมกลุ่มเยอรมันให้เป็นปึกแผ่นเดียวกัน
ในปี ค.ศ. 1932 ประธานาธิบดี พอล ฟอน ฮินเดนเบิร์ก ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ 84 ปี ฮินเดนเบิร์กมีร่างกายที่ชราภาพและเหนื่อยล้าได้ง่าย แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ถึงแม้จะสูญเสียเสียงส่วนหนึ่งที่เคยเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมให้กับพรรคนาซี ผู้ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีต้องการให้ฮินเดนเบิร์กมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฮิตเลอร์และคนในพรรคนาซี ถึงแม้ฮินเดนเบิร์กจะเคยดูหมิ่นเรื่องการไม่เคารพกฎหมายของพวกนาซีก็ตาม ในท้ายที่สุดฮินเดนเบิร์กทำตามคำขอด้วยการขับไล่ ไฮน์ริช บรูนิง (Heinrich Brüning) นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นออกจากตำแหน่ง และยกตำแหน่งให้กับ ฟรานซ์ ฟอน พาเพน (Franz von Papen) ผู้ที่พร้อมเอาใจพรรคนาซีมากกว่าแทน พาเพนคือผู้ที่เห็นด้วยกับพรรคนาซีไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการแบนคนในพรรคนาซี รวมไปถึงการยกเลิกจ่ายค่าชดเชยค่าปฏิกรรมสงครามของเยอรมนีตามสนธิสัญญาแวร์ซายที่เยอรมนีทำไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
แต่ถึงกระนั้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในฐานะหัวหน้าพรรคนาซี ก็ยังไม่พอใจในสิ่งที่ประธานาธิบดีทำเพื่อเอาใจเขา สิ่งที่ฮิตเลอร์ต้องการคือการยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับเขา ฮิตเลอร์กล่าวว่านโยบายของพาเพนนั้นล้มเหลว และบอกว่าการปกครองแบบระบอบอำนาจนิยมของพาเพนนั้นทำให้ผู้สนับสนุนของเขาเริ่มที่จะแตกแยก พาเพนผู้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่เดือนจึงถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง และแทนที่ด้วย เคิร์ท ฟอน ชไลเชอร์ (Kurt Von Schleicher)
พาเพนและฮิตเลอร์เข้าไปพบประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กเพื่อขอให้แต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ส่วนพาเพนจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กเกรงว่าการกระทำของฮิตเลอร์ในตอนนี้คือการพยายามรวบอำนาจและยึดอำนาจเบ็ดเสร็จสู่ฮิตเลอร์เพียงคนเดียว พาเพนจึงสัญญากับประธานาธิบดีว่าเขาจะหยุดยั้งแนวโน้มที่จะเอนเอียงไปยังสิ่งเลวร้ายนี้และจะปรับคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ให้เป็นคนกลุ่มที่ไม่ใช่พวกนาซี
ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กไม่มีทางเลือกเนื่องจาก เคิร์ท ฟอน ชไลเชอร์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไม่สามารถสร้างเสียงข้างมากได้ในไรชส์ทาค (Reichstag : รัฐสภา) อีกต่อไป อีกทั้งฮิตเลอร์นั้นสามารถรวบรวมกลุ่มมวลชนทั้งอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมให้เป็นพันธมิตรที่เป็นปึกแผ่นเดียวกันได้ ต่อมา เคิร์ท ฟอน ชไลเชอร์ นายกรัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่ไม่ถึงสองเดือนจึงถูกกดดันให้ลาออกและเอ่ยปากเต็มใจที่จะให้ฮิตเลอร์มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่เขา
ความวิบัติทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในช่วงเวลานั้นทำให้รัฐบาลเกิดความโกลาหลมากขึ้น ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหลายคนภายในระยะเวลาอันสั้นจึงไม่มีทางเลือก ปลายเดือนมกราคม ค.ศ.1933 ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กในสภาพไม่เต็มใจจึงได้ขอให้ฮิตเลอร์ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหวังว่าการเป็นพันธมิตรกับนาซีจะทำให้การเมืองมีความเสถียรภาพมากขึ้น
ในเดือนมกราคมปี ค.ศ.1933 ฮิตเลอร์จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี และนั่นก็ยังคงไม่เพียงพอสำหรับฮิตเลอร์อีกเช่นกัน ฮิตเลอร์พยายามหาช่องโหว่ทุกวิธีทางเพื่อให้ฝันของเขานั้นกลายเป็นความจริงขึ้นมา และเหตุการณ์หนึ่งก็ได้เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงประเทศจนส่งผลไปถึงการเถลิงอำนาจของฮิตเลอร์นำไปสู่การก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พลิกโฉมโลกทั้งใบไปตลอดกาล
นั่นคือเหตุการณ์ ‘ไฟไหม้ไรชส์ทาค’
ค่ำคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1933 ที่กรุงเบอร์ลิน ผู้คนที่เดินผ่านไปมาอาคารรัฐสภา (Reichstag) ได้ยินเสียงกระจกแตกจากด้านในอาคาร และไม่นานหลังจากนั้นก็มีเปลวไฟปะทุขึ้นจากอาคาร ไฟได้ทำลายโดมทองของรัฐสภารวมถึงห้องหลักของอาคาร และกว่านักดับเพลิงจะสามารถดับไฟได้มันก็สร้างความเสียหายไปแล้วเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านดอลลาร์
ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้คนหนึ่งนามว่า มารีนัส ฟาน เดอร์ ลูบ (Marinus van der Lubbe) คนงานชาวดัตช์วัย 24 ปี ต่อมา มารีนัส ฟาน เดอร์ ลูบ สารภาพว่าเป็นผู้จุดไฟ โดยกล่าวว่าเขาทำเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐและจุดชนวนการต่อต้านนาซีขึ้น แต่เขายืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับคอมมิวนิสต์
ต่อมาผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ ทยอยถูกจับกุม ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกคอมมิวนิสต์สากลชาวบัลแกเรีย 3 คนและผู้นำคอมมิวนิสต์ชาวเยอรมัน 1 คน แต่ต่อมา มารีนัส ฟาน เดอร์ ลูบ กลับเป็นคนเดียวที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกประหารด้วยการตัดศีรษะในเดือนมกราคม ค.ศ.1934
ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดไฟไหม้ไรชส์ทาค โฆษณาชวนเชื่อของนาซีเริ่มแพร่กระจายทันที นาซีกล่าวว่าเพลิงครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ พวกเขาปลุกประชาชนให้หวาดกลัวคอมมิวนิสต์มากขึ้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 1 เดือนพยายามโน้มน้าวประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กให้ใช้มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญไวมาร์ ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีใช้มาตรการทางทหารจัดการกับเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงและอนุญาตให้ออกกฎหมายกับรัฐในดินแดนทั้งหมดของเยอรมนี
ฮิตเลอร์และคณะรัฐมนตรีได้ร่างกฤษฎีกาอย่างรวดเร็ว อ้างว่าเพื่อคุ้มครองประชาชนและรัฐ นามว่า ‘กฤษฎีกาไฟไหม้ไรชส์ทาค’ (Reichstag Fire Decree) ซึ่งระงับสิทธิในการชุมนุมของประชาชนทุกประเภท ระงับเสรีภาพสื่อ และระงับเสรีภาพในการพูด
กฤษฎีกายังได้ยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดในการสืบสวนของตำรวจ ทำให้พวกเขาสามารถจับกุมกวาดล้าง และจำคุกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองได้ทันทีตามอำเภอใจ
ในคืนนั้น Sturmabteilung หรือกองกำลังพายุ (มีชื่อย่อว่า SA) หน่วยกองกำลังกึ่งทหารของพรรคนาซีสามารถจับกุมผู้คนได้ราว 4,000 คน พวกเขาถูกนำตัวไปทรมานและคุมขังจากการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ การกระทำที่โหดร้ายและรวดเร็วที่มีต่อไฟไหม้ไรชส์ทาคนี้ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของฮิตเลอร์ให้กลายเป็นผู้กอบกู้ชาติเยอรมนีอันเข้มแข็งทันที โดยหารู้ไม่ว่ามันคือแผนกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของฮิตเลอร์เพื่อการเลือกตั้งที่จะถึงในอีกไม่ถึงเดือนข้างหน้า
วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1933 รัฐสภาได้ผ่านบัญญัติการให้อำนาจเต็มที่แก่ฮิตเลอร์ พร้อมกับชัยชนะอันล้นหลามของนาซีในการเลือกตั้งช่วงเดือนมีนาคมและพฤศจิกายน ค.ศ.1933 ยิ่งตามมาด้วยการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดของประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์กในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1933 ส่งผลให้ฮิตเลอร์กลายเป็นผู้นำสูงสุดของเยอรมนีทันที บัดนี้ยุคสาธารณรัฐไวมาร์จึงได้สิ้นสุดลง ระบอบประชาธิปไตยล่มสลาย ประเทศกลายเป็นรัฐที่มีพรรคเดียวและเป็นจุดเริ่มต้นของยุคนาซี
แล้วใครอยู่เบื้องหลังที่แท้จริงของการวางเพลิงที่ไรชส์ทาค?
คำถามที่ว่านี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้บันทึกการสอบสวนและตัดสินของนาซีในตอนนั้นจะกล่าวว่าเป็นการกระทำของคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่าการกระทำแบบนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายเกินไปสำหรับคอมมิวนิสต์ในเวลานั้นที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วงเดือด ในขณะเดียวกัน นักการทูต นักข่าวต่างประเทศ และนักเสรีนิยมในเยอรมนีบางคนให้ความเห็นว่าพวกนาซีนั่นแหละที่เป็นตัวการของได้จุดไฟเผาตัวเองเพื่อเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจอย่างเด็ดขาด
Willi Münzenberg ชาวเยอรมันคอมมิวนิสต์ผู้ร่วมเขียนหนังสือ The Brown Book of the Hitler Terror and the Burning of the Reichstag ที่ตีพิมพ์ในปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีค.ศ.1933 และกลายเป็นหนังสือขายดี กล่าวว่า มารีนัส ฟาน เดอร์ ลูบ ผู้ก่อเหตุเผาแท้จริงแล้วเป็นเบี้ยของนาซี
เบนจามิน เฮตต์ นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ Burning the Reichstag ในปี ค.ศ.2013 ได้กล่าวอ้างถึงเหตุการณ์นี้ว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าชาวดัตช์ผู้วางเพลิงคนนี้ไม่สามารถกระทำการตามลำพังได้ เมื่อพิจารณาจากขอบเขตของไฟและเวลาทั้งหมดที่เขาใช้ในอาคารรัฐสภา เฮตต์ยังกล่าวต่อว่าในช่วงสงครามเย็นสหภาพโซเวียตที่ยึดครองบางส่วนของเยอรมันได้ทำการรื้อคดีนี้ขึ้นมาสอบสวน พวกเขากล่าวว่าอดีตนาซีทุกคนพยายามปกปิดเรื่องที่แท้จริงของเหตุการณ์นี้เพื่อหลบหลีกข้อหาอาชญากรรม
สุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะเป็นต้นเหตุของไฟไหม้ไรชส์ทาค ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์นี้มีความสำคัญต่อการช่วยเหลือฮิตเลอร์ในการนำพรรคนาซีและตนเองขึ้นสู่อำนาจเบ็ดเสร็จในเยอรมนี
หลายปีที่ต่อมานับตั้งแต่เหตุการณ์สำคัญครั้งนั้น วลี ‘Reichstag Fire’ จึงกลายเป็นคำที่ใช้กันในการเมืองสมัยใหม่ที่อธิบายถึง “วิกฤตที่นักการเมืองหรือรัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อหว่านความกลัวในที่สาธารณะ โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะได้รับอำนาจมากขึ้นหรือบรรลุจุดจบทางการเมืองที่พวกเขาต้องการ”
ประวัติศาสตร์ทุกตอนมักมีความหมายและสามารถเป็นบทเรียนให้กับทุกกาลเวลา ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตภายภาคหน้าเราอาจจะพบกับเหตุการณ์ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานพยายามสร้างสถานการณ์บางอย่างให้มีความรุนแรงมากกว่าที่ควรก็เป็นได้ การพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้านอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อในสิ่งนั้น เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นดั่งเช่นวลี ‘Reichstag Fire’ ก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก