ปลายปี ค.ศ.1945 คือช่วงเวลาแห่งการชำระแค้น
หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการทั่วโลกในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 ทางด้านฝ่ายสัมพันธมิตรฝั่งยุโรปก็ได้นำอาชญากรสงครามนาซีที่ยังมีชีวิตอยู่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ศาลทหารระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นมาพิเศษ ในเมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ที่เรียกว่า “Nuremberg trials” หรือ “การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก”
การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก คือการพิจารณาคดีทางทหารที่ฝ่ายสัมพันธมิตร—ผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่สองเป็นผู้จัดขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1945–1949 จำเลยได้แก่เจ้าหน้าที่ของพรรคนาซี นายทหารระดับสูง เจ้าของโรงอุตสาหกรรม นักกฎหมาย และแพทย์ พวกเขาเหล่านี้ทั้งหมดเป็นชาวเยอรมัน และถูกฟ้องในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ตั้งแต่การเถลิงอำนาจของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีเมื่อปี ค.ศ.1933 ฮิตเลอร์และรัฐบาลนาซีได้เริ่มก่อร่างสร้างนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อข่มเหงชาวเยอรมัน-ยิว และศัตรูอื่นๆ ของรัฐและพรรคนาซีโดยเฉพาะ หนึ่งทศวรรษถัดมานโยบายเหล่านี้เริ่มรุนแรงและทำการปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1939–1945) รัฐบาลของฮิตเลอร์ได้ทำการสังหารชาวยิวในยุโรปราว 6 ล้านคนอย่างเป็นระบบ และมีความมุ่งมั่นที่จะทำลายล้างเผ่าพันธุ์ที่มิใช่ชาวอารยันตามทรรศนะแนวคิดของฮิตเลอร์ผู้ฆ่าตัวตายก่อนสงครามสิ้นสุดลงที่ว่า
“มนุษย์เราไม่เท่าเทียมกันตามชาติกำเนิด และชาวเยอรมันที่มีเลือดอารยันคือมนุษย์ผู้สูงส่งที่สุด”
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เขียนหนังสือ Mein Kampf หรือชื่อไทยว่า การต่อสู้ของข้าพเจ้า ขึ้นระหว่างถูกคุมขังในคุก Landsberg ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ.1925 หนึ่งในข้อความบนหนังสือที่บ่งบอกชัดเจนถึงสาเหตุการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฮิตเลอร์กล่าวว่า
“เราแบ่งเชื้อชาติของมนุษย์ออกเป็นสามพวก คือ พวกเริ่มสร้าง, พวกรักษาไว้, และพวกทำลายวัฒนธรรม และชาวอารยันเท่านั้นที่ตามประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าเป็นเชื้อชาติที่อยู่ในประเภทแรกประเภทเดียว”
ฮิตเลอร์มองชาวยิวว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่ต่ำที่สุดในมนุษย์ และมันก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ทุกเพศทุกวัยกว่า 6 ล้านคนโดยมิได้กระทำผิดอันใด
เดือนธันวาคม ค.ศ.1942 ผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรของบริเตนใหญ่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกเกี่ยวกับเรื่องราวการสังหารหมู่ชาวยิวในยุโรป และพวกเขากล่าวว่าจะดำเนินคดีกับบุคคลทั้งหมดที่รับผิดชอบในการเข่นฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์เหล่านี้
โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียต เสนอให้ประหารชีวิตเจ้าหน้าที่ชาวเยอรมันราว 50,000 ถึง 100,000 นาย ส่วน วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เสนอให้ทำการประหารชีวิตเจ้าหน้าที่นาซีระดับสูงโดยไม่มีการพิจารณาคดี แต่สุดท้ายแล้ว แฮร์รี เอส. ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและกลุ่มผู้นำทางทหารสหรัฐอเมริกาก็พยายามเกลี้ยกล่อมกลุ่มคนที่เสนอแนวคิดการประหารเลยทันทีเหล่านี้ ว่าการนำผู้กระทำผิดสู่พิจารณาคดีอาญานั้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่า และยังลดข้อกังขาได้ในอนาคต เพราะการดำเนินคดีอาญานั้นจะต้องมีเอกสารประกอบที่ละเอียดและแน่ชัดในการกล่าวหาจำเลย มันสามารถป้องกันการกล่าวหาได้ในภายหลังว่าจะไม่มีผู้ใดที่ถูกลงโทษโดยไม่มีหลักฐาน
แต่การพิจารณาคดีผู้กระทำผิดบนบรรทัดฐานที่มาจากหลายประเทศแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก พวกเขาต้องเริ่มจากศูนย์ในการแก้ปัญหาทางกฎหมายและขั้นตอนพิจารณาคดีมากมายก่อนการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กจะเริ่มต้นขึ้น
ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีการพิจารณาคดีอาชญากรรมในสงครามที่ใกล้เคียงกัน เช่น การประหารชีวิต เฮนรี่ ไวรซ์ นายทหารสมาพันธรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1865 จากการฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณต่อเชลยศึกในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา หรือศาลทหารที่จัดขึ้นโดยประเทศตุรกีในปี ค.ศ.1919 เพื่อลงโทษผู้ที่สั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อาร์เมเนียในปี ค.ศ.1915 แต่การพิจารณาคดีเหล่านี้เป็นการดำเนินการตามกฎหมายของประเทศเดียว การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กจะเป็นครั้งแรกที่ดำเนินตามกฏหมายของกลุ่มอำนาจ 4 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศทั้งหมดนี้มีประเพณีและการปฏิบัติทางกฎหมายที่ต่างกัน
8 สิงหาคม ค.ศ.1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้กำหนดกฎหมายและขั้นตอนสำหรับการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กขึ้นมา ชื่อว่า ”กฎบัตรลอนดอนว่าด้วยคณะตุลาการทหารระหว่างประเทศ” (London Charter of the International Military Tribunal) มักเรียกสั้นๆ ว่า “กฎบัตรลอนดอน” (London Charter) มันเป็นกฤษฎีกาที่ออกมาเพื่อกำหนดระเบียบและวิธีพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กโดยเฉพาะ
(กฎบัตร หมายถึง ตราสาร หรือเอกสารสิทธิ์ที่จัดตั้ง จัดระเบียบ และกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์การ)
กฎบัตรลอนดอนนี้ได้กำหนดอาชญากรรมไว้สามประเภท ได้แก่
- อาชญากรรมต่อสันติภาพ : ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำการวางแผน ทำการเตรียมการ ทำการรุกราน หรือทำสงคราม ที่เป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศ
- อาชญากรรมสงคราม : ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ละเมิดประเพณีหรือกฎหมายในสงคราม ไปจนถึงผู้ที่ปฏิบัติต่อพลเรือนและเชลยศึกอย่างไม่เหมาะสม
- อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ : ได้แก่ผู้ที่ทำการฆาตกรรม ทำให้บุคคลเป็นทาส หรือทำการเนรเทศพลเรือน หรือทำการประหัตประหารผู้คนด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา หรือเชื้อชาติ
เมืองนูเรมเบิร์ก ในรัฐบาวาเรียของเยอรมนีได้รับเลือกให้เป็นสถานที่พิจารณาคดี เนื่องจากพระราชวังแห่งความยุติธรรม (Nuremberg Palace of Justice) ในเมืองแห่งนี้ไม่เสียหายจากสงครามและยังมีพื้นที่เรือนจำขนาดใหญ่อีกด้วย (พระราชวังแห่งความยุติธรรม เป็นชื่อเรียกของที่ตั้งฝ่ายพิจารณาคดีและศาลต่างๆ)
การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กจะประกอบไปด้วยสองช่วงด้วยกัน ได้แก่ การพิจารณาคดีของอาชญากรสงครามรายใหญ่ (ค.ศ.1945–1946) และการพิจารณาคดีของอาชญากรสงครามรายย่อย (ค.ศ.1946–1949) แต่ที่พูดถึงกันมากที่สุด คือการพิจารณาคดีของอาชญากรสงครามรายใหญ่ เพราะจำเลยเต็มไปด้วยชื่อของเจ้าหน้าที่นาซีระดับสูงที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง แฮร์มัน เกอริง หรือ ฮันส์ ฟรังค์
การพิจารณาคดีอาชญากรสงครามรายใหญ่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1945 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1946 รูปแบบของการพิจารณาคดีเป็นการผสมผสานระหว่างประเพณีทางกฎหมายของกลุ่มอำนาจผู้ชนะทั้ง 4 ประเทศ มีอัยการและทนายฝ่ายจำเลยเป็นไปตามกฎหมายของประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แต่การตัดสินใจและการตัดสินจะถูกกำหนดโดยศาลซึ่งเป็นคณะผู้พิพากษา แทนที่จะเป็นผู้พิพากษาหนึ่งคนและคณะลูกขุน และประเทศผู้ชนะทั้ง 4 ยังต้องจัดหาผู้พิพากษาประเทศละ 2 คน ได้แก่ผู้พิพากษาหลักและผู้พิพากษาสำรอง ส่วนหัวหน้าอัยการกำหนดให้ชาวเป็นอเมริกันนามว่าโรเบิร์ต แจ็คสัน ผู้พิพากษาสมทบของศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา
เริ่มต้นการพิจารณาคดีของอาชญากรสงครามรายใหญ่
บุคคล 24 รายถูกตั้งข้อหา หนึ่งในนั้นถูกแพทย์พิจารณาว่าไม่เหมาะสมที่จะเข้ารับการพิจารณาคดี และ 2 คนในนั้นก็ฆ่าตัวตายก่อนที่การพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้น ได้แก่ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ มือขวาของฮิตเลอร์หนึ่งในผู้นำพรรคนาซี ผู้คุมกำลังวัฟเฟิน-เอ็สเอ็ส ผู้รับผิดชอบโดยตรงในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกว่าหกล้านคน และ โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ แกนนำคนสำคัญฝ่ายพลเรือนของพรรคนาซี มือซ้ายของฮิตเลอร์ ทั้งสองคนฆ่าตัวตายในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ.1945 ทำให้เหลือจำเลยเพียงแค่ 22 คน
ก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นศาล จำเลยจะได้รับอนุญาตให้เลือกทนายความของตนเอง และกลยุทธ์ส่วนใหญ่ของทนายฝ่ายจำเลยเหล่านั้นในการต่อสู้ในชั้นศาลคือ “กฎบัตรลอนดอนเป็นกฎที่ตั้งขึ้นมาหลังจากที่กระทำความผิดทางอาญาไปแล้ว ฉะนั้นมันจึงไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่เป็นจำเลย เสมือนว่าเขียนกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามที่ฝ่ายตนเองต้องการ” และอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดกันในชั้นศาลบ่อยครั้งคือ “ฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังใช้มาตรฐานที่รุนแรงกับอาชญากรรมที่ชาวเยอรมันก่อขึ้น แต่กลับการผ่อนปรนต่ออาชญากรรมที่กระทำโดยทหารของพวกเขาเอง มันคือการกระทำสองมาตรฐานโดยผู้ชนะอย่างชัดเจน”
ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ถูกกล่าวหา ทนาย และผู้พิพากษา ต่างพูดภาษาถึงสี่ภาษา แล้วทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหานี้ได้? ไอบีเอ็มซึ่งในขณะนั้นเป็นบริษัทสารสนเทศในประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดทำเทคโนโลยีการพูดคุยกันหลายภาษาขึ้น ด้วยการคัดเลือกผู้ชายและผู้หญิงที่ฟังและพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซีย มาเป็นล่ามแปลภาษาพูดผ่านหูฟังของแต่ละชาติที่เข้าร่วมฟัง เทคโนโลยีนี้กลับกลายเป็นที่ได้รับการยอมรับและยังคงใช้กันจนถึงปัจจุบัน
ในท้ายที่สุด 12 คนโดนโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ 7 คนโดนโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ไปจนถึงตลอดชีวิต และ 3 คนพ้นผิด หนึ่งในนั้นได้ทำการฆ่าตัวตายระหว่างการพิจารณาคดี นั่นคือ แฮร์มัน เกอริง ผู้นำนาซีอันดับสูงสุดที่รอดชีวิตจากสงคราม ผู้ก่อตั้งตำรวจลับเกสตาโป และผู้บัญชาการกองทัพลุฟต์วัฟเฟอ
คืนวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ.1946 เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเวลาประหารชีวิตของ แฮร์มัน เกอริง เขาสวมชุดนอนผ้าไหม เขียนจดหมายสั่งลาถึงภรรยาของเขา และกินแคปซูลโพแทสเซียมไซยาไนด์ที่ลักลอบเข้ามาในคุกจนเสียชีวิต
ในจดหมาย แฮร์มัน เกอริงเขียนว่าเขาเต็มใจที่จะถูกประหารด้วยการถูกยิงแบบชายชาติทหาร ไม่ใช่มาถูกแขวนคอที่ไม่สุภาพและไม่ให้เกียรติกันแบบนี้
“ฉันตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง เพราะเกรงว่าจะถูกศัตรูประหารอย่างเลวร้าย” เกอริงเขียนในจดหมายสุดท้ายของเขา
หลังจากการฆ่าตัวตายของเกอริง ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้สั่งให้นักโทษที่เหลือใส่กุญแจมือเอาไว้และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนเฝ้าตลอดเวลาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย
ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1946 นักโทษประหารที่เหลือถูกส่งไปหาบาทหลวงเพื่อทำพิธีเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นอาชญากรสงครามจึงถูกแขวนคอทีละคนจากนั่งร้านที่สร้างขึ้นในโรงยิมของเรือนจำ
“ฉันหวังว่าการประหารชีวิตครั้งนี้จะเป็นฉากสุดท้ายของโศกนาฏกรรมในสงครามโลกครั้งที่ 2” อาร์เธอร์ ไซส์-อินควอร์ต ชายคนสุดท้ายที่ถูกแขวนคอ กล่าวในขณะที่เขาถูกพาไปยังที่ตะแลงแกง
การประหารชีวิตซึ่งใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงกว่าจะเสร็จสิ้น ซึ่งดำเนินการโดยจ่าสิบเอกจอห์น ซี. วูดส์ เพชฌฆาตของกองทัพสหรัฐอเมริกา ผู้ดูแลการแขวนคอเกือบ 350 ครั้งในตลอดอาชีพกว่า 15 ปี
“มุมมองของฉันต่องานแขวนคอครั้งนี้ คือยังไงก็ต้องมีสักคนที่ต้องทำมัน ฉันต้องแขวนคอคน 10 คนในเวลาเพียง 103 นาที มันเป็นงานที่รวดเร็ว” จอห์น ซี. วูดส์ บอกกับนักข่าวจากนิตยสาร Time ด้วยความภาคภูมิใจกับงานของเขา
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้อยู่ในเหตุการณ์ประหารรายงานว่า การประหารชีวิตในครั้งนี้ผิดพลาดอย่างโหดร้าย เนื่องจากเชือกที่สั้นเกินไป และประตูกลที่เล็กเกินไป (ประตูที่อยู่ใต้เท้าและเปิดเพื่อให้ผู้ถูกประหารลอยจากพื้นดิน) มันส่งผลให้มีการบีบรัดคออย่างช้าๆ พวกเขาต้องตายอย่างทรมานและยาวนาน ภายหลังกองทัพสหรัฐอเมริกาได้ปฏิเสธรายงานดังกล่าว
การพิจารณาคดีของอาชญากรสงครามรายย่อย
ภายหลังการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามรายใหญ่ มีการพิจารณาคดีเพิ่มเติมอีก 12 ครั้งโดยจัดขึ้นที่นูเรมเบิร์กเช่นเดิม กินเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.1946 จนถึงเดือนเมษายน ค.ศ.1949 แต่การพิจารณาคดีครั้งนี้ต่างจากครั้งแรกตรงที่พวกเขาต้องดำเนินการต่อหน้าศาลทหารสหรัฐอเมริกามากกว่าศาลระหว่างประเทศ เนื่องจากมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรรวมถึงสหภาพโซเวียตเริ่มที่จะมีความเห็นหลายๆ ด้านที่แตกต่างกัน หลายประเทศเริ่มที่จะมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกัน มันคือช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น
การพิจารณาคดีของอาชญากรสงครามรายย่อยได้แก่ การพิจารณาคดีของแพทย์ 23 คน ผู้ถูกตั้งข้อหาว่าทำการทดลองทางการแพทย์ที่ไร้มนุษยธรรมแก่เชลยศึก, การพิจารณาคดีของผู้พิพากษาและนักกฎหมาย 16 คน ผู้ถูกตั้งข้อหาว่าส่งเสริมแผนของนาซีเพื่อการสร้างความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติ และการพิจารณาคดีอื่นๆ ยิบย่อย เช่นนักอุตสาหกรรมชาวเยอรมันที่ถูกตั้งข้อหาว่าใช้แรงงานทาสและปล้นสะดมประเทศที่ถูกยึดครอง หรือนายทหารระดับสูงที่ถูกตั้งข้อหาว่าทารุณต่อเชลยศึก และเจ้าหน้าที่ SS ที่ถูกตั้งข้อหาว่าใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องขังในค่ายกักกัน
จากผู้ต้องหา 185 รายในการการพิจารณาคดีของอาชญากรสงครามรายย่อย จำเลย 12 คนได้รับโทษประหารชีวิต อีก 8 คนได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต และอีก 77 คนได้รับโทษจำคุกตามระยะเวลาแตกต่างกันไป
การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กยังคงเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบันถึงความยุติธรรมที่คลุมเครือ ฮาร์ลาน สโตน หัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐในขณะนั้น กล่าวถึงกระบวนการนี้ว่าเป็น “การฉ้อโกงที่มีศีลธรรม” ส่วน วิลเลียม โอ. ดักลาส ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐ กล่าวว่าฝ่ายสัมพันธมิตร “ใช้อำนาจแทนหลักการ”
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพิจารณาคดีในนูเรมเบิร์กถือเป็นก้าวสำคัญในการจัดตั้งศาลระหว่างประเทศ และเป็นแบบอย่างที่สำคัญสำหรับการจัดการกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมอื่นๆ ที่พวกมีอำนาจทำกับกับมนุษยชาติได้ในภายหลัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ การต่อสู้ของข้าพเจ้า : MEIN KAMPF โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์