1.08 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 37 ล้านบาทไทย เป็นมูลค่าการประมูลงานจากหุ่นยนต์ AI ที่จบลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา ในเมืองนิวยอร์ก
งานโดยหุ่นยนต์ AI นี้ เป็นภาพเหมือนของบิดาแห่งคอมพิวเตอร์อย่าง อลัน ทัวริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์ และอัจฉริยะผู้ไขรหัสนาซีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายคนอาจเรียกว่าเขาเป็นต้อตอผู้ให้กำเนิดปัญญาประดิษฐ์หรือ AI อีกด้วย
ความพิเศษของภาพเหมือนนี้ คือการป็นผลงานที่สร้างขึ้นโดย Ai-Da หุ่นยนต์ AI ที่พูดคุยโต้ตอบได้เหมือนกับมนุษย์ รวมถึงสร้างงานชิ้นงานขึ้นมาได้เอง
ภาพเหมือนขนาด 2.2 เมตรนี้ มีชื่อว่า A.I. God. Portrait of Alan Turing แต่เดิมได้คาดการณ์มูลค่าการประมูลอยู่ที่ระหว่าง 120,000 ถึง 180,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.1 ล้านบาทไทย ถึง 6.2 ล้านบาทไทย) จัดการประมูลโดย Sotheby’s บริษัทประมูลผลงานศิลปะจากสหราชอาณาจักร โดย Sotheby’s เปิดเผยว่า มีผู้เสนอราคาประมูลผลงานชิ้นนี้จำนวน 27 ราย
Sotheby’s กล่าวว่า การประมูลครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ “ถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย และสะท้อนให้เห็นถึงจุดเชื่อมโยงที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และตลาดศิลปะโลก”
Ai-Da ซึ่งใช้ภาษา AI ขั้นสูงในการพูดโต้ตอบ กล่าวว่า “คุณค่าสำคัญของผลงานของฉัน คือความสามารถในการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ”
เธออธิบายเสริมว่า “ผลงานนี้ได้เชิญชวนให้ผู้ชมไตร่ตรองถึงธรรมชาติที่เหมือนพระเจ้าของปัญญาประดิษฐ์และการคำนวณ โดยพิจารณาถึงผลกระทบทางจริยธรรมและสังคมจากความก้าวหน้าเหล่านี้ […] อลัน ทัวริงตระหนักถึงศักยภาพนี้ และจ้องมองมาที่เรา ขณะที่เรามุ่งหน้าสู่อนาคตนี้”
Ai-Da ถือเป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก โดยได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเหมือนผู้หญิง และตั้งชื่อตาม เอดา เลิฟเลซ (Ada Lovelace) โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก
Ai-Da ถูกคิดค้นขึ้นโดย ไอดัน เมลเลอร์ (Aidan Meller) ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย เขาเป็นผู้นำทีมที่สร้าง Ai-Da โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเบอร์มิงแฮม
ในกระบวนการสร้างงานชิ้นนี้ Ai-Da สร้างสรรค์แนวคิดผ่านการสนทนากับสมาชิกของสตูดิโอ เธอเสนอให้สร้างภาพของทัวริงระหว่างการอภิปรายเกี่ยวกับ ‘AI for good’ (หมายถึง AI ชั่วนิรันดร์)
จากนั้น Ai-Da ถูกถามว่า จะใช้รูปแบบ สี เนื้อหา โทน และพื้นผิวแบบใด ก่อนจะใช้กล้องส่องดวงตา เพื่อให้เธอดูภาพของทัวริง แล้วจึงสร้างภาพวาดขึ้นมา
เมลเลอร์อธิบายสิ่งที่ Ai-Da วาวด่า โทนสีที่นุ่มนวล และระนาบใบหน้าที่หักของงานชิ้นนี้ ดูเหมือนจะสื่อถึง การต่อสู้ที่ทัวริงเตือนว่าเราจะเผชิญ เมื่อต้องจัดการกับปัญญาประดิษฐ์ พร้อมบอกว่า ผลงานของ Ai-Da นั้นล่องลอย และชวนหลอน “ยังคงต้องตั้งคำถามว่าพลังของปัญญาประดิษฐ์จะพาเราไปที่ใด และติดตามถึงการแข่งขันแย่งชิงในระดับโลก เพื่อควบคุมพลังของมัน”
ประเด็นนี้ ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงความก้าวหน้าไปอีกขั้นของ AI และน่าติดตามต่อไปว่า ข้อถกเถียงเรื่องชิ้นงานที่ถูกสร้างโดย AI จะเป็นอย่างไรต่อไป และจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใดๆ ที่เราควรเตรียมรับมืออีก
อ้างอิงจาก