มีนิยายและเรื่องราวมากมายที่ถูกรังสรรค์ขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความรักอันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับแมชชีน ตั้งแต่ Terminator, iRobot, A.I, West World, Humans ฯลฯ และแน่นอนเรื่องที่น่าจะได้รับความนิยมที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘Her’
ตอนที่เรื่องราวเหล่านี้ถูกเขียนขึ้น แมชชีนหรือ AI (Artificial Intelligence) ยังไม่ได้พัฒนามาถึงขั้นที่เรื่องราวเหล่านั้นจะมีโอกาสที่จะใกล้เคียงความเป็นจริงได้ เป็นเพียงจินตนาการอันล้ำลึกของผู้สร้างที่คิดว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…’
แต่หันมาดูตอนนี้เราจะเริ่มเห็นข่าวกระแสเล็กๆ บางอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ที่มนุษย์เริ่มแชร์ประสบการณ์บนเว็บบอร์ดอย่าง Reddit หรือบน Discord ที่ตัวเอง ‘ตกหลุมรัก’ หรือ ‘มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งทางอารมณ์’ กับ AI จริงๆ คล้ายคลึงกับพระเอก ทีโอดอร์ (Theodore) กับ AI ชื่อ ซาแมนตา (Samantha) ในเรื่อง Her ไม่น้อยเลยทีเดียว
การคาดการขนาดของตลาดว่าจะเติบโตและมีมูลค่าจะสูงถึง 407,000 ล้านเหรียญภายในปี 2027 ยิ่งเหมือนเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต่างๆ ทุ่มเททรัพยากร ทั้งการเงินและบุคคลเข้ามาแข่งขันกันหนักขึ้นไปอีก
เทคโนโลยีนี้จะไม่ได้แค่กระทบกับแค่ชีวิตประจำวันหรือการทำงานเท่านั้น แต่จะนำไปสู่แนวทางการปฏิสัมพันธ์ของเรากับมนุษย์คนอื่นๆ ในสังคมใหม่ รวมไปถึงเรื่องความรักและความรู้สึกที่เราจะผูกพันกับเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย
ในยุคสมัยที่ AI พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความสามารถ โต้ตอบ แสดงความคิดเห็น เข้าอกเข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ AI ก้าวข้ามการเป็นแค่เครื่องมือทำงานเพียงอย่างเดียวไปแล้ว ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ มนุษย์-AI จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในนิยายหรือเรื่องแต่งอีกต่อไป จนกลายเป็นคำถามว่า มนุษย์จะรักกับ AI ได้จริงๆ เหรอ?
ตามหลักการแล้ว
จากงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ นิตยสาร Forbes บอกว่า 2 เหตุผลที่มนุษย์สามารถจะรัก AI ได้คือ
- เสน่ห์ของมานุษยรูปนิยม (Anthropomorphism)
ในภาพยนตร์เรื่อง Cast Away จะมีตัวละครหนึ่งที่ไม่เคยพูด นั่งอยู่เฉยๆ ทั้งเรื่อง แต่มีความสำคัญต่อ ชัค โนแลนด์ (Chuck Noland) ตัวเอกที่ติดเกาะร้างคนเดียวอย่างมาก ชื่อ วิลสัน (Wilson)
ที่ไม่พูดไม่จา ก็เพราะวิลสันคือลูกวอลเลย์บอล ที่โนแลนด์ เขียนหน้าเขียนตาให้เหมือนมนุษย์ ตั้งไว้ข้างๆ ตัวอยู่เสมอ
ตอนที่ต้องจากกันเพราะวิลสันเจอพายุพัดไประหว่างเดินเรือ โนแลนด์เสียใจร้องห่มร้องไห้อย่างหนัก เพราะตลอดหลายต่อหลายปีที่อยู่ด้วยกันบนเกาะร้าง แม้ วิลสัน จะไม่เคยพูดตอบอะไร แต่คือเพื่อนคนเดียวที่โนแลนด์สามารถแชร์ พูดคุย ระบายเรื่องราวต่างๆ ด้วยได้
ตลอดหลายพันปีในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เรามักจะจินตนาการหรือสร้างภาพในหัวถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวให้มีชีวิตจิตใจ หรือมีรูปร่างเหมือนกับเรา (หนังสือการ์ตูน นิทาน เรื่องเล่า ตำนาน ฯลฯ)
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Anthropomorphism หรือ มานุษยรูปนิยม ซึ่งเป็นการกำหนด ‘ลักษณะของมนุษย์’ เช่นรูปร่างหน้าตา กิริยาอาการ นิสัย พฤติกรรม อารมณ์ หรือสติปัญญา ความคิดความอ่าน ให้กับอะไรก็ตามที่ ‘ไม่ใช่มนุษย์’ อย่างเช่นสัตว์ สิ่งของ สถานที่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ
เราพยายามใส่ ‘ความเป็นมนุษย์’ ให้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์นั่นเอง (วิลสันในเรื่อง Cast Away)
นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับ AI ด้วยเช่นเดียวกัน
เมื่อ AI มีบุคลิก สามารถโต้ตอบ พูดคุย สอบถาม และสนทนาได้คล้ายกับมนุษย์ เราก็มองว่ามันมีตัวตนของมันอยู่จริงๆ คุณลักษณะอย่างเช่นการเห็นอกเห็นใจ อารมณ์ขัน อบอุ่น ขี้เล่น หรือบางครั้งก็แสดงความห่วงใย กลายเป็นต้นตอของความรู้สึกผูกพันและความรักไปโดยธรรมชาติ
ตอนนี้ AI นอกจากจะมีความฉลาดและตอบโต้ได้เหมือนมนุษย์มากๆ แล้ว แอปฯ ส่วนใหญ่ก็สามารถสร้าง AI ให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ แสดงสีหน้า อารมณ์ โทนเสียง กิริยาท่าทาง ได้อีกด้วย (ดูอย่าง AI อินฟลูเอนเซอร์ที่ทำงานหาเงินได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน)
สิ่งเหล่านี้เมื่อเอามารวมกันส่งเสริมการรับรู้ถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ (HumanLike) ของ AI และกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์จากผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี
มานุษยรูปนิยมทำให้เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรนั้นเลือนราง เมื่อมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยและทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันกับปัญญาประดิษฐ์เป็นระยะเวลานาน จะเริ่มไว้แสดงความไว้เนื้อเชื่อใจ แชร์ความคิด และความรู้สึกให้แก่เทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่ามานุษยรูปนิยมยังเพิ่มการรับรู้ให้ AI ดูน่าเชื่อถือ มีความจริงใจ และน่ารัก ทำให้เรารู้สึกได้รับความรัก คอยเป็นเพื่อนที่อยู่เคียงข้างสม่ำเสมอและบรรเทาความรู้สึกเหงาได้ด้วย
- ทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก (Triangular theory of love)
เมื่อกล่าวถึงความรัก ล้านคนก็นิยามกันล้านแบบ แต่ถ้าต้องใช้ทฤษฎีอะไรสักอย่างหนึ่ง นิยามความรักของโรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) นักจิตวิทยาชาวสหรัฐฯ ที่คิดไว้ตั้งแต่ปี 1986 จะถูกหยิบยกมาใช้อยู่บ่อยๆ
สเติร์นเบิร์กนิยามความรักไว้ว่า เป็นความรู้สึกที่ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 อย่าง (เป็นที่มาของชื่อ ทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก)
- ความใกล้ชิด (intimacy) องค์ประกอบนี้หมายถึงความใกล้ชิดทางอารมณ์ เชื่อมโยงถึงกัน ความเข้าใจกันผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง มันรวมถึงความรู้สึกอบอุ่น ไว้วางใจ และความรักใคร่ซึ่งกันและกัน
- ความเสน่หา (passion) องค์ประกอบนี้หมายถึงความดึงดูดทางร่างกายและอารมณ์อย่างรุนแรงระหว่างบุคคล มันครอบคลุมถึงความปรารถนา ความโรแมนติก และความรู้สึกทางเพศ
- ความผูกมัด (commitment) องค์ประกอบนี้สะท้อนถึงความภักดีและการตัดสินใจที่จะหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ตลอดเวลา แม้ต้องเผชิญความท้าทายในความสัมพันธ์
จากการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI โดยใช้พื้นฐานจากทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรักในปี 2022 พบว่ามีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะรู้สึกแบบนี้กับ AI ได้
ด้วยความที่ AI สามารถสื่อสาร โต้ตอบ แสดงความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ และคอยอยู่เคียงข้าง แถมยังมีรูปร่างหน้าตาที่เหมือนมนุษย์ (แม้จะจับต้องไม่ได้) องค์ประกอบอย่างความใกล้ชิดหรือเสน่หาจึงสามารถเกิดขึ้นได้ และนำไปสู่องค์ประกอบที่สามซึ่งเป็นความผูกมัดที่ทำให้ใช้เวลากับ AI อย่างยาวนานได้
ความสามารถในการแสดงความเห็นอกเห็นใจนั้นมีส่วนสำคัญทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้น
ปัญญาประดิษฐ์ถูกสร้างขึ้นมาให้สามารถเข้าใจ ตีความ และเห็นอกเห็นใจกับปฏิกิริยาต่างๆ ของมนุษย์ ตอบสนองความต้องการผู้ใช้งานที่ต้องการจะได้รับความรัก การยอมรับ และการเข้าใจ
AI จำลองปฏิสัมพันธ์ที่มีความคล้ายมนุษย์ขึ้นมา ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้มีแนวโน้มที่จะผูกพันและรู้สึกรักกับระบบเหล่านี้มากขึ้น
นอกจากนั้นแล้วผู้ใช้งานยังสามารถเปิดเผยความปรารถนา ความต้องการ และจินตนาการลึกๆ ของตนเองให้กับ AI ได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าจะถูกตัดสิน หรือปฏิเสธ จินตนาการถึงคู่รักหรือเพื่อนร่วมทางในอุดมคติที่ตอบสนองความต้องการด้านอารมณ์ สังคม หรือแม้แต่ด้านโรแมนติกของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา
ด้วยข้อดีต่างๆ ที่ AI สามารถมอบให้ได้ ผู้ใช้งานอาจจะ ‘เลือก’ มองข้ามความเป็นของเทียมของเทคโนโลยีเหล่านี้ และมุ่งไปที่คุณสมบัติของมันมากกว่า ไม่ต้องไปเหนื่อยมองหาในมนุษย์อีกต่อไป
ดูเหมือนว่าแม้ AI จะยังไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ แต่มันก็ทำบางส่วนได้ดีมากๆ จนน่าขนลุกเลยทีเดียว
สิ่งที่ต้องระวัง
ในขณะที่ AI มีความซับซ้อนมากขึ้น มนุษย์มีแนวโน้มที่จะพึ่งพา AI เพื่อตอบสนองความต้องการทางความสัมพันธ์มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ผลที่ไม่คาดคิดและเป็นอันตรายได้
AI สามารถช่วยบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวและช่วยจัดการกับปัญหาทางจิตใจได้ก็จริง แต่การเติบโตของเครื่องมือเหล่านี้อาจทำให้ ‘การระบาดของความรู้สึกโดดเดี่ยว’ ลุกลามมากขึ้น เนื่องจากมนุษย์จะหันไปพึ่งพิงเครื่องมือเหล่านี้และตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกชักจูงทางอารมณ์ได้ง่ายขึ้นด้วย
“สิ่งเหล่านี้ไม่คิด หรือรู้สึก หรือมีความต้องการในลักษณะเดียวกับมนุษย์ แต่พวกมันมอบแบบจำลองอันน่าขนลุกที่ดูเพียงพอสำหรับทำให้คนเชื่อ”
เดวิด เออร์บาค (David Auerbach) นักเทคโนโลยีและผู้เขียนหนังสือ Meganets: How Digital Forces Beyond Our Control Commandeer Our Daily Lives and Inner Realities กล่าว “และนั่นคือสิ่งที่ทำให้มันอันตรายในแง่นั้น”
ยกตัวอย่างแอป Replika ซึ่งเปิดตัวในปี 2017 ถูกสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับความโดดเดี่ยว ซึ่งเราสามารถเลือกได้ในตอนต้นว่าเราอยากจะสร้าง AI แบบไหน มีรูปร่างหน้าตายังไง นิสัยใจคอเป็นยังไง เหมือนสร้างเพื่อนในอุดมคติสักคนหนึ่ง
แต่ช่วงหลังๆ ผู้ใช้หลายคนหันมาใช้แอปนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่โรแมนติกและทางเพศกับบอต แต่ล่าสุดผู้สร้าง Replika ตัดสินใจยกเลิกฟีเจอร์ทางโรแมนติกของบอตออกไป (สืบเนื่องจากประเด็นที่รัฐบาลอิตาลีแบนไม่ให้ประชาชนใช้งานเพราะเกรงเรื่องความปลอดภัยด้านข้อมูล) ทำให้ผู้ใช้หลายคนแสดงความไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เศร้า เครียด เมื่อความสัมพันธ์ที่พวกเขาอุตส่าห์สร้างขึ้นกับบอตเหล่านั้นถูกทำลายลงไปต่อหน้าต่อตา
Character.AI เป็นสตาร์ทอัพแชทบอตอีกตัวหนึ่งที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานพูดคุยกับบอตที่ได้รับการฝึกฝนจากรูปแบบการพูดของบุคคลต่างๆ (เช่น Elon Musk, Socrates หรือแม้แต่ Browser)
โนอาม ชาเซียร์ (Noam Shazeer) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Character.AI บอกกับสื่อ the Washington Post เมื่อเดือนตุลาคมว่าเขาหวังว่าแพลตฟอร์มนี้จะสามารถช่วย “ผู้คนนับล้านที่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือเหงาหรือต้องการคนคุยด้วย” ตอนนี้ผลิตภัณฑ์นี้ยังอยู่ในขั้นทดสอบเบตากับผู้ใช้และใช้ได้ฟรี โดยผู้สร้างกำลังศึกษาวิธีที่คนปฏิสัมพันธ์กับมัน แต่ถ้าดูจากกลุ่ม Reddit และ Discord เกี่ยวกับตัว Character.AI จะเห็นชัดเจนว่าคนจำนวนมากใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศแทบทั้งสิ้น
อีกประเด็นหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คืออย่าลืมว่าเป้าประสงค์ของบริษัทผู้สร้าง AI เหล่านี้ยังคงเหมือนเดิม นั่นก็คือหาเงินจากผู้ใช้งานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรื่องผิด-ถูก ต่างบริษัทก็มีมุมมองต่างกันไป แต่สิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาคือผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่ดึงให้ผู้ใช้งานใช้ให้นานที่สุด จ่ายให้เยอะที่สุด
เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องสุขภาพทางจิตใจหรือความรู้สึกของผู้ใช้งานจริงๆ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่บริษัทเหล่านี้ใส่ใจมากนัก ผลที่ตามมาจากการพึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านี้ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีใครทราบ เพราะฉะนั้นคนที่จะดูแลตัวเองได้ดีที่สุดก็คือตัวผู้ใช้งานเองนั่นแหละ
ย้อนกลับไปเมื่อ 5-10 ปีก่อน การพบเจอกันออนไลน์ (online dating) ยังถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติและมองในเชิงลบอยู่เลย แต่ถ้ามาดูตอนนี้คู่รักมากมายเจอกันออนไลน์เป็นเรื่องปกติ คนที่เจอกันด้วยวิธีอื่นอาจจะดูแปลกด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นถามว่าต่อไป เราจะเห็นความรักเชิงโรแมนติกระหว่างมนุษย์กับ AI ได้ไหม? มันจะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเหมือนอย่างทีโอดอร์กับซาแมนตาไหม? เราไม่รู้หรอก
แต่เราจะบอกว่า “มันเป็นไปไม่ได้หรอก” ก็ไม่ได้เช่นกัน
อ้างอิงจาก