ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เผยให้เห็นแนวโน้มของการใช้ความรุนแรง การคุกคาม หรืออันตรายรูปแบบต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่มักจะตามมาคู่กันนั้นก็คือ ‘การเตือน’ ซึ่งสามารถออกมาได้ในหลายลักษณะและจากหลายระนาบอำนาจ และด้วยระนาบทางอำนาจหรือความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไปนี้เองทำให้ ‘หน้าที่และลักษณะทางอำนาจ’ ของการเตือนแต่ละอย่างทำงานต่างกันไปด้วย วันนี้ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ความรุนแรงดูจะตั้งเค้าขึ้นมาครึ้มฟ้าครึ้มฝนเป็นอย่างมาก และนำมาสู่ ‘การเตือน’ ที่เป็นประเด็นโต้เถียงในสังคมไม่น้อยนั้น ผมจึงอยากจะลองพามาขบคิดถึงเรื่องนี้ดูครับ
รูปแบบแรกที่ผมอยากพูดถึงคือ กรณีของการเตือนด้วยระนาบทางอำนาจที่ผู้เตือนกับถูกเตือนนั้นมีระนาบทางอำนาจต่างกัน คือ ฝั่งหนึ่งมากกว่าอีกฝั่ง แม้จะมีลักษณะการทำงานที่หลากหลายมาก แต่ผมขอยกมาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าสำคัญเป็นหลักนะครับ (เพราะไม่มีทางอธิบายอย่างครบทั่วถ้วนได้แน่นอน) โดยหากสรุปความหลากหลายของลักษณะการทำงานออกมาด้วยปัจจัยหลักอย่างหนึ่งแล้ว ก็คงต้องอิงอยู่กับ distance of relationship หรือระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างผู้เตือนกับผู้ถูกเตือนด้วย
เพื่อให้เห็นภาพ ผมจึงขอยกกรณีที่อยู่สุดขั้วของระยะห่างที่ว่านี้มาแสดงนะครับ ฝั่งหนึ่งคือ ‘รัฐกับประชาชน’ ที่เป็นตัวสะท้อนระยะห่างของความสัมพัน์ที่มาก และอีกฝั่งคือกรณีของ ‘คนในครอบครัว’ (เช่น พ่อ/แม่ กับลูก) ที่สะท้อนระยะห่างของความสัมพันธ์ที่น้อยมาก (คือ ใกล้ชิดกันมาก) นั่นเอง
โดยปกติแล้ว รัฐนั้นไม่ได้มีบทบาทในการเตือนประชาชนของตนอะไรใดๆ นะครับ เพราะว่าโครงสร้างทางสังคมที่กำหนดสร้างขึ้นเป็นรัฐนั้น มันมีข้อตกลงที่ชัดเจนและค่อนข้างไม่ได้ยืดหยุ่นมาก (relatively inflexible) อยู่แล้ว นั่นก็คือ ข้อตกลงที่เรียกว่า ‘กฎหมาย’ ว่าอีกแบบก็คือ ภายใต้เงื่อนไขปกติ รัฐไม่มีหน้าที่และความจำเป็นใดๆ ในการเตือนประชากรของตน ในแง่นี้ความใกล้ชิดในเชิงความสัมพันธ์ (intimacy) ระหว่างประชากรกับรัฐจึงไม่ได้มากมายอะไรนัก รัฐทำหน้าที่การบริหารนโยบายองค์รวมของสังคม ประเด็นเชิงโครงสร้าง (ที่ส่งผลต่อชีวิตประชากรอีกทีหนึ่ง) แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการ ‘มายุ่ง’ ว่าประชากรคนนั้นคนนี้ควรทำอะไรอย่างไรนั่นเอง
ด้วยเหตุว่าการเตือนไม่ใช่หน้าที่หรือบทบาทปกติของรัฐนั่นเอง
การเตือนของรัฐจึงจะเกิดขึ้นเมื่อมีสภาวะพิเศษเป็นหลักเท่านั้น
ซึ่งบ่อยครั้งจะสัมพันธ์กับสภาวะวิกฤติพิเศษบางอย่าง อย่างภัยธรรมชาติ, การก่อการร้าย หรืออย่างกรณีของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า เป็นต้น ในสถานะพิเศษดังกล่าวนี้เองรัฐทำหน้าที่เฉพาะกิจในการเตือนและบอกกับประชาชนว่า ประชาชน ‘ควรจะมีท่าทีในการดำเนินชีวิตอย่างไร’ เพื่อ (1) ให้รอดปลอดภัยจากสภาวะดังกล่าวนั้น และ/หรือ (2) ไม่สร้างภาระหรือความเสี่ยงให้คนอื่นต้องประสบกับภัยดังกล่าว
สภาวะพิเศษแบบนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สภาวะยกเว้น’ (state of exception) ที่เป็นเครื่องสะท้อนการเป็นผู้ถือครองอำนาจสูงสุด ณ ช่วงเวลานั้นๆ และพร้อมๆ กันไปมันก็บอกกับเราด้วยว่า “นี่คือช่วงเวลาที่ไม่ใช่ช่วงปกตินะ” ฉะนั้นจึงอนุญาตให้รัฐเข้ามายุ่งในการกำหนดท่าทีและวิถีในการดำรงชีวิตของเราได้ นอกเหนือไปจากกติกาตามปกติในการอยู่ร่วมกันที่เรียกว่ากฎหมายนั่นเอง
ในแง่นี้เอง การเตือน มันสะท้อนให้เราเห็นว่า มันแฝงอยู่ด้วย ‘อำนาจในเชิงปกครอง’ อยู่ในนั้น โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นการเตือนจากระนาบอำนาจที่ต่างกันระหว่างฝั่งผู้เตือนและผู้ถูกเตือน แม้ว่าอาจจะไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดความถูกผิดอย่างเต็มที่แบบกฎหมายอันเป็นกติการ่วมหลักของสังคม แต่เมื่อการเตือนแบบนี้ถูกใช้งาน มันก็เสมือนได้เกิดการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ของการ ‘ควรกระทำ และไม่ควรกระทำ’ ขึ้นนั่นเอง ในขณะที่ลักษณะของกฎหมายนั้นจะระบุถึงสิ่งที่ ‘ต้องกระทำ หรือห้ามกระทำ’ ไว้
บทบาทของพื้นที่หรือท่าทีทางการกระทำที่ว่านี้เอง มีความละม้ายคล้ายกับการทำงานในการกำหนดท่าทีทางการกระทำของ ‘ศาสนา’ เหลือเกิน คือ การบอกกับผู้นับถือว่า ‘ควรประพฤติตัวเช่นไร และไม่ควรทำอะไร’ ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นสิ่งที่รัฐโลกียะจะต้องหลีกเลี่ยงบทบาทลักษณะนี้
ว่าอีกอย่างก็คือ การเตือนนั้น มันไม่ได้ลอยตัวอย่างเท้งเต้ง เป็นเพียงแค่คำพูดแนะนำเปล่าๆ ปลี้ๆ ในกรณีแบบนี้ แต่มันมีอำนาจในการควบคุมพ่วงอยู่ด้วยนั่นเอง มันขีดพรมแดนให้กับสังคมว่า ประชากรควรทำแบบนั้นแบบนี้ และหากไม่ทำก็จะเสี่ยงอันตรายได้ ทั้งตนเองและคนอื่นๆ ในสังคมด้วย การทำเช่นนี้ในระดับต่ำที่สุดจึงทำให้ การเตือนมีอำนาจในการกำหนดความแปลกแยก (alienate) ระหว่างผู้ทำตามคำเตือน (ไม่นำมาซึ่งภัยตามคำแนะนำของรัฐ) และผู้ไม่ทำตามคำเตือน (อาจนำมาซึ่งภัยต่อสังคมได้ตามคำแนะนำของรัฐ) นั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้น การเตือนในลักษณะดังกล่าว
หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำมาซึ่งปริมณฑลของ
ความหวาดกลัว (sphere of terror) ขึ้นมาด้วย
โดยเฉพาะกับพื้นที่หรือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับภัยที่ว่านั้น ด้วยเหตุนี้เองครับ การเตือนของรัฐโดยปกติแล้วจึงจะใช้เมื่อจำเป็นมากๆ จริงๆ คือ ทำทั้งๆ ที่รู้ว่ามีราคาเหล่านี้อยู่ที่ต้องจ่ายออกไป และเมื่อหมดความจำเป็นก็ต้องยุติทันที เพราะหากทำจนเป็นกิจวัตรแล้ว มันอาจนำมาซึ่งสภาวะแบบใดแบบหนึ่งได้ ระหว่างกรณีการทำให้การเตือนไร้ผลในตัวมันเอง เพราะสภาวะพิเศษถูกทำให้กลายเป็นสภาวะปกติ กับอีกกรณีหนึ่งคือการนำมาซึ่งการควบคุมพฤติกรรมประชากรด้วยการข่มขู่ หรือที่เรียกกันว่า coercive control นั่นเองครับ ว่าอีกแบบก็คือ กลไกทางอำนาจของการเตือนนั้น มันสามารถผลักให้การเตือนนั้น เข้าไปสู่เขตแดนของการ ‘ข่มขู่’ ได้ด้วยนั่นเอง
ลักษณะของการเตือนและข่มขู่ที่พร่าเลือนนี้เองที่เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงมายาวนานเวลาต้องอภิปรายกันเรื่องการเมืองของการเตือน ว่าแค่ไหนคือเตือน (ด้วยหวังดี) และพ้นจุดไหนไปจึงมีผลในเชิงการข่มขู่ เพราะหลายๆ ครั้งการเตือนในฐานะของรัฐซึ่งทำในช่วงเวลาเฉพาะนั้นก็จำเป็นจะต้องพ่วงบทลงโทษมาด้วยหากละเมิด ‘คำเตือน’ ตั้งแต่แบบพื้นฐานที่สุด อย่างการเตือนไม่ให้ขยับเมื่อมีการเข้าจับกุมผู้ร้าย ที่มักจะพ่วงบทลงโทษมาด้วยหากไม่ประพฤติตามท่าทีที่เตือนไว้ รวมไปถึงกรณีวิกฤติต่างๆ ที่หากการไม่ทำตามคำเตือนอาจจะส่งผลให้ประชากรโดยมวลรวมเป็นอันตรายตามไปได้
กล่าวอย่างถึงที่สุด ในกรณีของรัฐนั้น การตัดสินว่าการเตือนนั้นถลำเข้าสู่การข่มขู่หรือไม่ จึงมักวางฐานอยู่ที่ ‘ความจำเป็นตามกรอบการตีความแบบประชาธิปไตย’ (คือ รัฐชาติมีไว้รับใช้ประชาชน) ด้วยลักษณะนี้เอง เราจึงบอกได้ด้วยว่า ในกรณีการเตือนของรัฐบาลไทย ต่อผู้ชุมนุมที่แถมพ่วงมาด้วยการขู่ด้วยข้อหามากมายนั้น จึงเข้าข่ายของการข่มขู่อย่างชัดเจน เพราะไม่ใช่สภาวะฉุกเฉินอะไรเลย ทั้งยังไม่ได้มีความจำเป็นใดๆ ในการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวแต่แรกด้วย เว้นแต่จะตีความ ‘ความจำเป็น’ ผ่านกรอบอื่นที่ไม่ใช่ในฐานะรัฐประชาธิปไตยนั่นเองครับ
กรณีอีกแบบคือ กรณีแบบในครอบครัว อย่าง พ่อหรือแม่กับลูก กรณีแบบนี้มีลักษณะโครงสร้างทางอำนาจในลักษณะเดียวกัน แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกว่ามากระหว่างผู้เตือนและถูกเตือน ทำให้เงื่อนไขการใช้งานนั้นไม่ได้อยู่ในลักษณะเดียวกับรัฐครับ กล่าวคือ ไม่ได้จำเป็นจะต้องรอวิกฤติพิเศษขึ้นมาเพื่อใช้การเตือน แต่การเตือนในกรณีที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดและระนาบอำนาจต่างกันนั้นสามารถเกิดได้กับเรื่องธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวันด้วย
อย่างการบอกว่า ตั้งใจอ่านหนังสือหน่อยสิ เดี๋ยวก็สอบไม่ผ่าน!, กินข้าวก่อนสิลูกเดี๋ยวเย็นหมด, ฯลฯ เป็นต้น แน่นอนในกรณีแบบนี้ที่การเตือนถูกใช้จนเป็นปกติ การเตือนจึงอยู่คู่กับ passive negative หรือผลลบเชิงรับมากกว่า คือ ไม่ใช่ผลลบที่ผู้เตือน (พ่อ/แม่) จงใจจะสร้างเงื่อนไขของ ‘ผลลบ’ ขึ้นมาด้วยตนเอง แต่ผลลบที่พ่วงอยู่ด้วยนั้น เป็นเรื่องของ “เหตุ-ผล” ทั่วไป อย่าง ไม่อ่านหนังสือ นำไปสู่คะแนนที่ไม่ดี หรือ กินอาหารช้า นำไปสู่อุณหภูมิอาหารที่ต่ำลง เป็นต้น การเตือนภายใต้เงื่อนไขลักษณะนี้เองที่นำมาสู่การเคยชินกับการเตือนได้ง่าย และทำให้การเตือนไม่ได้มีสถานะที่พิเศษอะไรนักจากลักษณะความสัมพันธ์แบบนี
ด้วยเหตุนี้เอง ในกรณีของลักษณะสถานการณ์ที่การเตือนกลายเป็นสภาวะทั่วไปแล้ว ในกรณีที่จะทำให้การเตือน ‘มีลักษณะพิเศษ’ ขึ้นมาอีกครั้ง จึงมักจะมีการใช้ active negative หรือผลลบเชิงรุกเข้ามาพ่วงด้วยนั่นเอง หรือก็คือ การที่ผู้เตือนจงใจเข้ามา ‘กำหนดหรือสร้างผลลบ’ ประกอบการเตือนโดยตรง เช่น ถ้าแกไม่อ่านหนังสือ แล้วสอบไม่ผ่านนะ ฉันจะตัดค่าขนมแก หรือ ถ้าแกไปร่วมม็อบ ก็อย่าหวังจะมาได้เงินจากฉันไปส่งเสียสนับสนุนอะไรอีก เป็นต้น ลักษณะดังกล่าวนี้เองเป็นการเตือนที่ใช้ active negative เข้ามาสร้างสภาวะพิเศษให้กับการเตือน และแน่นอนนำมาซึ่งการสร้างปริมณฑลของความกลัวด้วย แบบเดียวกับกรณีของรัฐ และหากทำอย่างเข้มข้นเกินเลย (อย่างกรณีการไปร่วมม็อบในตัวอย่าง) ก็สามารถเข้าข่ายการเป็น coercive control ได้เช่นเดียวกันด้วย
แต่นั่นแหละครับ กับรัฐไทยที่ขยันเตือน ประหนึ่งเป็นคนในครอบครัว
(ทั้งที่รัฐโดยปกติจะไม่ใช้กลไกนี้) ก็อาจจะฟ้องให้เราเห็นด้วยว่า
บางทีรัฐอาจจะยังคงติดอยู่ในโลกทัศน์ยุคหลายศตวรรษก่อน ที่มองว่า
รัฐ ‘เป็นพ่อเป็นแม่’ ของประชากร ที่มีหน้าที่มาสั่งสอนหรือเตือนพร่ำเพรื่อไปเรื่อยได้นั่นเอง
รูปแบบสุดท้ายที่ผมจะยกมาในครั้งนี้ คือ การเตือนผ่านระนาบอำนาจที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกันนั่นเอง อย่างกรณีเพื่อน หรือมิตรสหายเตือนกันนั่นแหละครับ และในโลกยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ค่อนข้างจะสร้างพื้นที่ที่อนุญาตให้คนแปลกหน้าสามารถยุ่งเรื่องคนแปลกหน้าอื่นๆ ได้มากขึ้นแล้ว ก็อาจจะหมายรวมถึงการเตือนระหว่าง ‘คนแปลกหน้าต่อคนแปลกหน้า’ ไปได้ด้วยโดยปริยาย
การเตือนในรูปแบบนี้ กล่าวได้ว่ามีลักษณะของการเป็น coercive control น้อยที่สุด เพราะทั้งฝั่งผู้เตือนและผู้ถูกเตือนนั้น ต่างไม่มีใครที่มีสถานะทางอำนาจที่จะกำหนด หรือบงการอีกฝั่งได้โดยเบ็ดเสร็จครับ อย่างไรก็ดี กลไกของการเตือนในแง่ของการสร้างเส้นแบ่งระหว่าง ‘สิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ’ รวมไปถึง ‘ปริมณฑลของความหวดกลัว’ นั้นก็ยังคงพ่วงติดอยู่ด้วยเช่นเดิม เพียงแค่ในระดับความเข้มข้นที่น้อยกว่าเท่านั้นเอง
และถึงที่สุดแล้ว การเตือนโดยคนที่มีระนาบทางอำนาจใกล้เคียงกันนี้ มักจะมีความ ‘ยาก’ มากกว่าในแบบที่ระนาบทางอำนาจต่างกันที่ว่าไปในกรณีแรก (คือ ผู้เตือนอำนาจมากกว่าผู้ถูกเตือน) เพราะการเตือนโดยตัวมันเองนั้น สะท้อนให้เห็นแต่แรกแล้วถึงการไม่เห็นด้วยกับสภาวะที่เป็นอยู่ ของผู้ถูกเตือน (เช่น หากทำแบบนี้ต่อไปจะแย่เอานะ หรือ ทางที่เลือกทำอยู่มันไม่มีประโยชน์อะไรหรือเปล่ามีแต่จะทำให้ผลลัพธ์แย่กว่าเดิมนะ ฯลฯ) แต่พร้อมๆ กันไปฝั่งผู้ถูกเตือนเองนั้นไม่ได้อยู่ในสถานะที่ต้องพึ่งพา (dependent) ผู้ให้คำเตือน ฉะนั้นการเตือนจึงหมายถึงการเลือกที่จะประกาศความไม่เห็นด้วยของเราต่อท่าทีของผู้ถูกเตือนออกมาในที่แจ้งด้วยนั่นเอง
ในแง่นี้ การเตือนในลักษณะนี้จึงมีความน่านับถือในตัวเสมอ เพราะมันอาศัยความกล้า (courage) ที่จะพูดออกมามากกว่าแบบระนาบทางอำนาจต่างกันไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระดับความใกล้ชิดทางความสัมพันธ์มีแนวโน้มจะใกล้ชิดกันมากขึ้นและต่างฝ่ายต่างคาดหวังให้อีกฝั่งคิดเห็นตรงกับตนหรือเป็นพวกเดียวกับตนตลอดเวลา การอ้าปากเตือนในบริบทนี้ก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ผู้เตือน ‘ในทุกรูปแบบ’ ต้องไม่ลืมด้วยว่า สุดท้ายแล้ว
การเตือนนั้น มันหลักเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้เตือนจะสร้างหรือกำหนดคำเตือน
โดยอ้างอิงกับประสบการณ์ส่วนตัวของตน เงื่อนไขในชีวิตแบบที่ตนได้ใช้ชีวิตมา
หรือกระทั่งการประเมินความเป็นไปในอนาคตของโลกจากโลกทัศน์ส่วนบุคคลของตน ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้มันไม่จำเป็นต้อง ‘ต้องตรง’ กับสิ่งที่ผู้ถูกเตือนเค้าประสบพบเจอหรือเป็นเงื่อนไขของเค้าด้วย ฉะนั้นการเตือนจึงพึงต้องสังวรณ์กับความต่างนี้เสมอ เพราะทุกๆ ครั้งที่เกิดการเตือนขึ้น นั่นแปลว่าเรากำลังมี judgmental opinion หรือข้อคิดเห็นเชิงตัดสินถูกผิด (ควร/ไม่ควร) ที่ตัดสินคุณค่าและทิศทางของผู้ที่เราถูกเตือนเสมอ การระมัดระวังในการเตือนจึงจำเป็น คือ รัดกุมและจำกัดบริเวณของการเตือนของเราเองให้เฉพาะเจาะจงที่สุด เพื่อไม่ให้ความต่างของโลกทัศน์และเงื่อนไขที่แตกต่างกันของทั้งสองฝั่งส่งผลกระทบต่อการประเมินและตัดสินมากจนเกินไป
เพราะต้องไม่ลืมว่าต่อให้เป็นการเตือนจากคนในระนาบอำนาจเดียวกันที่แทบจะปราศจากอำนาจบังคับ แต่มันก็ยังแฝงกลไกในการสร้างเส้นแบ่งทางคุณค่าและปริมณฑลของความหวาดกลัวขึ้นได้อยู่ดี มากน้อยต่างๆ กันไป ว่าอีกแบบก็คือ มันส่งผลให้เกิดความกลัวหรือพร้อมจะถอยหลังกลับได้ ยิ่งฝั่งที่เตือนนั้นมีอิทธิผลทางการตัดสินใจ ทางความคิดต่อผู้ถูกเตือนมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์เหล่านี้ก็ยิ่งมากตามไปด้วยนั่นเองครับ
ผมขอจบการพูดคุยแต่เพียงเท่านี้ โดยผมจงใจไม่ได้พูดถึงการเตือนกันในรูปแบบที่ผู้เตือนมีระนาบทางอำนาจที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับผู้ถูกเตือน เพราะอยากให้ลองไปคิดกันดูเองว่า ลักษณะดังกล่าวนี้นั้น จะต้องอาศัยความกล้าหาญมากเพียงใด และมีความยากมากเพียงไหนที่จะแค่ออกมา ‘เอ่ยปากเตือน’ ได้ในเงื่อนไขดังกล่าว แล้วเช่นนั้น จะไม่ให้ผมนับถือผู้ชุมนุมทางการเมืองวันนี้ทุกคนได้อย่างไร ที่เอ่ยตะโกนเตือนถึงฟ้า เตือนรัฐชาติทั้งรัฐ ว่ารัฐชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นกำลังเดินทางผิดอย่างไร? นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่ายเลยจริงๆ ครับ