1
ก่อนอื่น ไม่ต้องเถียงกันนะครับว่ามะเขือเทศเป็นผักหรือผลไม้ เพราะศาลสูงสหรัฐอเมริกาเคยตัดสินมาแล้วว่ามันคือผัก
หา! ศาลสูงหรือ Supreme Court อันทรงเกียรติเนี่ยนะ ต้องมาตัดสินว่ามะเขือเทศเป็นผักหรือผลไม้ด้วย!
ใช่ครับ เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่ง ‘การท่าฯ’ (Port Authority) แห่งนิวยอร์ค ได้จัดประเภทเอาไว้ว่า มะเขือเทศเป็นผัก ซึ่งเวลานำเข้าจะต้องเสียภาษี 10% พวกพ่อค้าอิมพอร์ตก็เลยคัดค้านด้วยการยื่นต่อศาลว่า ที่จริงแล้วมะเขือเทศเป็นผลไม้ต่างหาก และผลไม้ก็ไม่ต้องเสียงภาษี 10%
จริงอยู่ ในทางวิทยาศาสตร์ ลูกมะเขือเทศคือ ‘ผล’ (หรือ Fruit) ของต้นมะเขือเทศ แต่ศาลสูงบอกว่าต้องแยกแยะระหว่างความเป็นวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวัน เพราะคนเราไม่ได้เอามะเขือเทศมากินกันแบบผลไม้ แต่ในชีวิตประจำวัน เราเอามาต้มผัดแกงทอด ซึ่งเป็น ‘วิธีบริโภค’ ที่ไม่เหมือนผลไม้ (ที่นิยมกินสดๆ) มะเขือเทศจึงไม่ใช่ผลไม้ แต่ให้จัดประเภทเป็นผัก
สรุปก็คือ มะเขือเทศต้องเจอภาษี 10% และถูกมองว่าเป็น ‘ผัก’ ตั้งแต่นั้นมา
คำถามก็คือ นี่เป็นเรื่อง ‘การเมืองของมะเขือเทศ’ หรือเปล่า?
2
ในสังคมไทย มะเขือเทศสีแดงๆ ลูกเล็กลูกใหญ่ทั้งหลายแหล่นี่ ไม่ค่อยถูกมองว่าน่ารังเกียจหรือเป็นพิษเป็นภัยสักเท่าไหร่ใช่ไหมครับ แต่ในสังคมตะวันตกนี่สิครับ นับตั้งแต่มะเขือเทศไป ‘ขึ้นฝั่ง’ ที่ยุโรป ในราวศตวรรษที่ 16 (ซึ่งต้องขอกระซิบบอกศาลสูงสหรัฐฯ กันหน่อยนะครับ ว่าตอนนั้นผู้คนเห็นว่ามะเขือเทศเป็น ‘ผลไม้’ นะครับ ไม่ใช่ผัก) มันก็ถูกมองว่าเป็น ‘ตัวร้าย’ มาโดยตลอด
ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ใช่ความผิดของมะเขือเทศเลยแม้แต่น้อย!
ว่าแต่ว่า มะเขือเทศถูกมองว่าเป็นตัวร้ายยังไงบ้าง?
คุณคงรู้นะครับ ว่าในยุคศตวรรษที่ 14-17 ยุโรปนั้นเต็มไปด้วย ‘แม่มด’ (หรือคนที่ฝึกฝนในศาสตร์ที่เรียกว่า Witchcraft) และเมื่อมีแม่มด ก็ย่อมมีพวก ‘ล่าแม่มด’ เป็นธรรมดาสามัญ
ดร. โรนัลด์ ฮัตตัน (Ronald Hutton) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ประมาณแบบ ‘น้อยที่สุด’ เอาไว้ว่า ในช่วงปี 1300 ถึง 1650 มีคนที่ถูก ‘ล่าแม่มด’ โดยทั้งรัฐ องค์กรศาสนา และชุมชน จนต้องสังเวยชีวิต เช่น ถูกเผาทั้งเป็น อยู่ในราว 35,184 ถึง 63,850 คน ซึ่งต่อให้คิดเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี ก็ยังเป็นตัวเลขที่สูงมากอยู่ดี โดยตัวเลขนี้ยังไม่รวมคนที่ถูกล่าแม่มดจนสูญหายไปแบบไม่เป็นทางการอีกนะครับ เฉพาะในเยอรมนี พบว่าคนที่ถูกล่าแม่มดจนตายมีอยู่อย่างน้อย 17,000 คนเข้าไปแล้ว นักสังคมวิทยาบางคน อย่างเช่น นัคมาน เบน-เยฮูดา (Nachman Ben-Yehuda) ประมาณเอาไว้ว่าถ้านับรวมๆ เป็นไปได้เลยว่าจะมีคนถูกฆ่าเพราะเป็นแม่มดมากถึงราว 500,00 คน ซึ่งเป็นตัวเลขมหาศาล และนั่นแสดงให้เราเห็นถึงปริมาณ ‘ความกลัว’ แม่มดที่มหึมา
แล้วทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องอะไรกับมะเขือเทศล่ะครับ?
คำตอบก็คือ คนในยุคนั้นเชื่อกันว่า ถ้าหากจะบินได้ (โดยใช้ไม้กวาด) พวกแม่มดจะต้องเอาขี้ผึ้งพิเศษมาทาถูที่ไม้กวาดของตัวเองเสียก่อน เจ้าขี้ผึ้งที่ว่านี้ทำมาจากพืชร้ายกาจหลายชนิด คือ เฮมล็อค (เป็นยาพิษที่โสคราติสดื่มจนตาย) ไนต์เฉด (Nightshade), เฮนเบน (Henbane) และแมนเดรค (Mandrake) ซึ่งสามชนิดหลังนี้ เป็นพืชที่มีความใกล้ชิดกับมะเขือเทศเป็นอันมาก
ตัวอย่างเช่น แมนเดรค (ที่มีรากเป็นรูปคล้ายๆ คน เลยเชื่อกันว่าเอามาทำพิธีต่างๆได้) จะมีผลที่เหมือนกันกับมะเขือเทศอย่างกับแกะ (เพียงแต่จะมีสีเหลือง เหมือนมะเขือเทศที่ยังไม่สุกเท่านั้น) แต่ลูกแมนเดรคนี่ถ้ากินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการประสาทหลอนได้
ตอนที่มะเขือเทศมาถึงยุโรปในศตวรรษที่ 16 นั้น ความ ‘กลัว’ แม่มดกำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด แต่เหตุผลที่คนชิงชังรังเกียจมะเขือเทศ ไม่ได้หยุดอยู่แค่เพราะมันมีลักษณะคล้ายแมนเดรคเท่านั้น ทว่ายังเกิดจาก ‘อวิชชา’ ที่ซับซ้อนอีกหลายเรื่องด้วย
อย่างหนึ่งก็คือ ไอ้เจ้าขี้ผึ้งที่แม่มดใช้ทาถูไม้กวาดนั้น ยังเชื่อกันอีกนะครับว่าพวกแม่มดเอามาทาถูตัวเองด้วย แต่ไม่ได้ทาถูเพื่อให้บินได้นะครับ ทว่าทาถูเพื่อให้ ‘แม่มด’ สามารถ ‘แปลงร่าง’ ไปเป็น ‘มนุษย์หมาป่า’ (หรือ werewolf) ได้
นักล่าแม่มดอย่าง เฮนรี โบเกต (Herny Boguet) บันทึกไว้ว่า แม่มดชอบแปลงร่างเป็นมนุษย์หมาป่าเพื่อจะล่าเด็กเล็กๆ แล้วพอแปลงร่างเป็นมนุษย์หมาป่าแล้ว แม่มดสามารถทำให้พืชผลที่ปลูกอยู่เหี่ยวเน่าเสียหายได้ด้วย
แล้วมนุษย์หมาป่าเกี่ยวอะไรกับมะเขือเทศ?
เรื่องนี้สนุกมากนะครับ เพราะต้องเล่าย้อนกลับไปหานักปราชญ์ยุคโรมันโบราณคนหนึ่งเสียก่อน เขามีชื่อว่า กาเลน (ชื่อจริงๆคือ Aelius Galenus หรือ Claudius Galenus ได้ฉายาว่า กาเลนแห่งเพอร์กามอน) เขาเป็นทั้งแพทย์ นักพฤกษศาสตร์ และนักปรัชญา กาเลนเขียนตำราเล่าถึงพืชพรรณต่างๆ ในโลกหล้านี้เอาไว้ทั้งหมด โดยแบ่งพืชไว้เป็นประเภทต่างๆ และอรรถาธิบายในรายละเอียดไว้อย่างพิสดาร
แต่ก็อย่างที่รู้นั่นแหละนะครับ แม้กาเลนจะเก่งกาจขนาดไหน แต่โลกนี้กว้างใหญ่กว่าที่กาเลนเคยพบประสบเจอเยอะ ดังนั้นเมื่อโลก ‘เปิด’ หรือเชื่อมโยงถึงกันผ่านการค้นพบทวีปใหม่ของโคลัมบัส ก็เกิดการนำเข้าพืชผลใหม่ๆ ประหลาดๆ จากอเมริกามากมาย เช่น ข้าวโพด บลูเบอรี หรือผลโกโก้ (และรวมถึงมะเขือเทศของเราด้วย)
ทีนี้พอมีผลไม้ใหม่ๆ เกิดขึ้น ผู้คนก็ต้องวิ่งแจ้นกลับไปเปิดตำราของกาเลน เพื่อดูว่าไอ้เจ้าผลไม้ใหม่ๆ พวกนี้มันคืออะไร เข้าแก๊ปกับที่กาเลนเคยบอกเอาไว้หรือเปล่า
ผลไม้ใหม่ๆ (จะเรียกว่าผลไม้ประหลาดก็คงได้) เหล่านี้ ทำให้เกิดกระแสตระหนกตกใจกันไปทั่วเลยนะครับ เพราะเดิมทีเดียวเชื่อกันว่ากาเลนบอกทุกอย่างเอาไว้แล้ว แต่เมื่อมีอะไร ‘นอกคอก’ ไม่เป็นไปตามที่กาเลนเคยบอกไว้ ก็แปลว่ากาเลนไม่ได้ ‘รู้จริง’
แต่สำหรับคนสมัยนั้น การจะยอมรับว่ากาเลนผู้เป็นนักปราชญ์โบราณไม่ได้ ‘รู้จริง’ หรือรู้ไม่ครบถ้วน ก็เหมือนกับโลกทั้งใบสั่นคลอน เหมือนการท้าทายว่าบรรพบุรุษผู้เก่งกาจไม่ได้รู้ทุกเรื่อง โลกนี้เป็นโลกที่ unknowable หรือไม่สามารถจะรู้ให้หมดได้ แต่แนวคิดแบบนี้ไปขัดแย้งกับเรื่องราวในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะบทปฐมกาลที่บอกไว้ว่า อดัมได้ ‘ตั้งชื่อ’ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก (หรือในสวนอีเดน) เอาไว้แล้ว นั่นแปลว่าโลกไม่ควรมีอะไรที่ไม่ unknowable ดังนั้น การค้นพบสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ จึงน่าขนพองสยองเกล้าเป็นที่ยิ่ง เพราะมันแปลว่าพระคัมภีร์ผิด!
มะเขือเทศก็เป็นแบบนั้นแหละครับ!
เมื่อมะเขือเทศแพร่เข้ามาในยุโรป และเริ่มแยกแยะกันได้แล้วว่ามันไม่ใช่แมนเดรคหรือไนต์เฉด (แม้จะคล้ายกัน) ผู้คนก็เลยไปค้นตำราของกาเลน เพื่ออธิบายว่ามันคืออะไร ปรากฏว่ากาเลนเคยพูดถึงพืชชนิดหนึ่งเอาไว้ มีชื่อเป็นภาษาโรมันว่า λῠκο-πέρσιον ซึ่งเอาเข้าจริงแปลว่า Wolf อะไรสักอย่าง (wolf-something) คนก็เลยร่ำลือกันว่า มันคือผลไม้ที่กาเลนบอกว่าเป็น Wolf Peach หรือลูกพีชหมาป่า
เสร็จแล้วก็จับโยงมะเขือเทศ (หรือลูกพีชหมาป่า) เข้ากับแม่มดในทันที!
อย่างไรก็ตาม คนในยุโรปบางพื้นที่ไม่ได้มองมะเขือเทศว่าเป็นตัวร้ายเสมอไป คนที่อยู่ในเขตร้อนกว่า (เช่น แคริบเบียน สเปน หรืออิตาลี) เห็นว่ามะเขือเทศมีฤทธิ์เย็น กินเวลาร้อนๆ แล้วจะชื่นฉ่ำชื่นใจ แต่พอคนอังกฤษซึ่งอยู่ในเขตหนาวและชื้นหวังจะกินมะเขือเทศเพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกดี ก็พบว่ามะเขือเทศทำให้ยิ่งแย่ เพราะจะเกิดฤทธิ์ในทางตรงข้าม คือทำให้หนาวเข้าไปใหญ่ ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยนะครับว่าสูตรอาหารทางใต้ (เช่นในแถบเมดิเตอร์เรเนียน) จะมีมะเขือเทศเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในขณะที่ยุโรปเหนือจะไม่ค่อยกินมะเขือเทศกันสักเท่าไหร่ (อีกเหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะปลูกยากด้วย)
ทีนี้เมื่อความเชื่อของคนอังกฤษที่ว่ามะเขือเทศไม่ได้ดีต่อร่างกายไปผนวกรวมเข้ากับชื่อเสีย (ง) เดิมของมะเขือเทศที่เกี่ยวข้องกับแม่มดและมนุษย์หมาป่า คนอังกฤษยุคนั้นก็เลยไม่ค่อยชอบมะเขือเทศกันนัก เมื่อมีการอพยพไปอยู่อเมริกา (หรือนิวอิงแลนด์) ลูกหลานที่ย้ายดินแดนไปแล้วก็ยังคงมองมะเขือเทศในแง่ร้ายกาจอยู่เหมือนเดิม
ในหนังสือ The Tomato in America ของ Andrew Smith เล่าถึงความชิงชังมะเขือเทศเอาไว้หลายเรื่องนะครับ เช่นเรื่องของแพทย์จากฮาร์วาร์ดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 19 ที่ต่อต้านมะเขือเทศทุกวิถีทาง โดยบอกว่ามะเขือเทศเป็นต้นเหตุของอาการเลือดออกในร่างกาย (คงเพราะมันมีสีแดง) ตั้งแต่ลักปิดลักเปิดจนถึงริดสีดวงทวาร
นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่า มะเขือเทศทำให้เกิดโรคพิษตะกั่ว (ทั้งที่จริงๆ แล้วเกิดจากภาชนะประเภทพิวเตอร์มากกว่า) เลยเคยมีเรื่องร่ำลือกันว่า มีผู้จะลอบสังหาร จอร์จ วอชิงตัน ด้วยการใช้มะเขือเทศวางยาพิษ ซึ่งฟังดูในสมัยนี้ก็ตลกดี แต่ในยุคนั้นคนไม่เห็นเป็นเรื่องขำขันกันหรอกนะครับ
อย่างไรก็ตาม ตอนหลังๆ เริ่มมีคนคิดว่ามะเขือเทศไม่ได้เลวร้ายเป็นพิษขนาดนั้น เลยเกิดการทดสอบขึ้น โดยกระทาชายนายหนึ่งกินมะเขือเทศหนึ่งตะกร้าต่อหน้าผู้คนเพื่อดูว่ากินแล้วจะตายหรือเปล่า แน่นอน-เขาไม่ตาย อยู่รอดปลอดภัยสบายดี แต่ที่ ‘ย้อนแย้ง’ มากก็คือ การทดลองนี้เกิดข้ึนในเมืองซาเล็ม (Salem) ในนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประวัติการล่าแม่มดเข้มข้น
ที่น่าสนใจไปอีกขั้นก็คือ มีการค้นพบว่า ในแมสซาชูเสตส์ เคยมีกฎหมายเก่าแก่ที่ห้ามปลูกมะเขือเทศในสวนหลังบ้านด้วย มีการวิเคราะห์ว่า กฎหมายห้ามปลูกมะเขือเทศนั้นเกี่ยวโยงลึกซึ้งไปถึงการ ‘เหยียดเชื้อชาติ’ ของคนอิตาลี ซึ่งอย่างที่บอกไว้ข้างต้นนะครับ ว่าคนอิตาลีนิยมกินมะเขือเทศกัน ในตอนนั้น คนอิตาลีเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาในอเมริกา (โดยเฉพาะในนิวยอร์ค) และถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาหลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดชุมชนแออัด ก่ออาชญากรรม ตั้งแก๊งมาเฟีย เพราะฉะนั้น การ ‘เหยียด’ คนอิตาลี จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแพร่หลาย และปรากฏเป็นร่องรอยอยู่ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องเลยไปถึงเรื่องของอาหารการกินอย่างมะเขือเทศ เช่น มีการห้ามใส่มะเขือเทศลงไปในซุปโชว์เดอร์ เป็นต้น
3
หลายคนอาจรู้สึกว่า ความเชื่อเรื่องมะเขือเทศพวกนี้เหลวไหลเป็นบ้า คนสมัยก่อนเชื่อเข้าไปได้ยังไงว่ามะเขือเทศมีพิษร้ายหรือเกี่ยวข้องกับแม่มดหรือมนุษย์หมาป่า
จะบ้าเหรอ!
คนสมัยนี้คิดแบบนั้นก็เพราะเรารู้แล้วว่า-มะเขือเทศนั้นไม่ได้มีพิษมีภัย แถมกินแล้วยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย
แต่กระนั้น ‘ประวัติศาสตร์’ ของมะเขือเทศ ก็ได้แสดงให้เราเห็นถึงเรื่องราวของ ‘อำนาจ’ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังผลไม้ (ที่กลายมาเป็น ‘ผัก’) สีแดงๆ ชนิดนี้
เราจะเห็นว่า แค่กับมะเขือเทศ ก็มี ‘อำนาจ’ หลายอย่างยื่นมือเข้ามายุ่มย่ามกับมัน ตั้งแต่อำนาจของศาสนา (ผ่านการผูกโยงมะเขือเทศเข้ากับแม่มด) อำนาจของความรู้ (ผ่านการ ‘ท้าทาย’ นักปราชญ์โบราณอย่างกาเลน) อำนาจของความเกลียดชัง (ผ่านการเหยียดเชื้อชาติ) และกระทั่งอำนาจรัฐและอำนาจทางเศรษฐกิจ (ผ่านการ ‘สั่ง’ ให้มะเขือเทศเป็น ‘ผัก’ ไม่ใช่ ‘ผลไม้’ เพื่อจะได้เก็บภาษีได้)
อำนาจบางอย่างทำให้คนมองมะเขือเทศสีแดงก่ำฉ่ำสดด้วยสายตาหวาดระแวง ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว คนยุคนั้นไม่ได้ ‘รู้จัก’ มะเขือเทศอย่างถ่องแท้
แต่ก็นั่นแหละครับ สังคมยุคกลางอันเป็น ‘ยุคมืดทางปัญญา’ ก็ย่อมไร้ความสามารถในการสาดแสงสว่างเข้าไปตรวจสอบ ‘ความเชื่อ’ ของตัวเองกันแบบนี้แหละครับ สังคมแบบนี้เป็นสังคมที่เต็มไปด้วย ‘ความเชื่อ’ และใช้ ‘ความเชื่อ’ เดิมๆ ของตัวเองมาหล่อหลอมผลิตซ้ำ ‘ความเชื่อ’ ใหม่ๆ โดยค้อมหัวยอมตัวอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอำนาจแบบเดิม
สังคมแบบนี้ เมื่อมีอะไรใหม่ๆ มา ‘ท้าทาย’ (เช่น ‘มะเขือเทศ’) ย่อมอดไม่ได้ที่จะด่วน ‘พิพากษา’ โดยนำสำนึกเดิมๆ ของตัวเองไปตัดสินสิ่งที่ไม่รู้จัก และผลักสิ่งนั้นไปอยู่ในเขตแดนต้องห้ามของบาปผิดและความเลวร้าย
ผลลัพธ์อย่างเบาะๆ ก็คือ คนยุโรปยุคกลางต้องพลาดการกินมะเขือเทศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางอาหารเป็นเวลานานหลายร้อยปี
มะเขือเทศจึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากตัวแทนของ ‘สิ่งใหม่’ ที่พุ่งเข้ามาปะทะกับ ‘อำนาจเก่าๆ’ และต้องเผชิญหน้ากับการโต้ตอบที่เลวร้าย ประวัติศาสตร์ของมะเขือเทศจึงมีการเมืองซ่อนอยู่หลายต่อหลายชั้นนัก
คำถามก็คือ เวลากินมะเขือเทศ เรามองเห็น ‘การเมือง’ และ ‘อำนาจ’ ที่ซ่อนอยู่นี้หรือเปล่า
คำถามก็คือ ในโลกยุคใหม่นี้ โลกที่เราคิดว่าตัวเองศิวิไลซ์ ทันสมัย เปี่ยมศีลธรรม เรา ‘รู้ตัว’ ไหม ว่าอะไรคือ ‘มะเขือเทศ’ ที่กำลังพุ่งเข้ามาปะทะเราอยู่
คำถามก็คือ เรากำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนอำนาจเก่า กำลังถือตำราล้าสมัยของกาเลนอยู่ในมือ และกำลังปฏิเสธมะเขือเทศในยุคสมัยของเราอยู่หรือเปล่า