กาลเวลาผ่านไปเนิ่นนาน พอจั่วหัวเรื่องผู้หญิงก็รู้สึกว่าเชยระเบิด เลิกพูดได้แล้วละมั้ง เดี๋ยวนี้ไม่มีใครมากำหนดคุณค่าหรือความก้าวหน้าโดยคำนึงว่าคนนี้เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงอีกแล้ว แถมพอมองไปก็เห็นมั้ยเล่าว่าเรามีผู้หญิงแถวหน้าที่ขึ้นสู่อำนาจให้เห็นอยู่ด้วยเหมือนกัน
ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯที่ผ่านมา การขับเคี่ยวระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเผินๆ ก็เป็นการต่อสู้ของชายและหญิง สิ่งหนึ่งที่นางฮิลลารีมักกล่าวถึงคือคำว่า ‘เพดานกระจก’ หรือ Glass ceiling คือการมีเพดานบางอย่างที่มองไม่เห็น
เพดานของความก้าวหน้าที่ผู้หญิงทะลุไปไม่ถึง ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่นางฮิลลารีใช้เพื่อเรียกร้องให้อเมริกันชนร่วมกันทลายเพดานนี้ เพื่อให้เธอได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก
อำนาจที่มีแนวโน้มพลุ่งพล่าน
ในประวัติศาสตร์หรือเรื่องเล่าโบราณ มักมีการพูดถึง ‘ผู้หญิง’ ที่สามารถขึ้นสู่อำนาจและปกครองเหล่าบุรุษได้ เช่น พระนางซูสีไทเฮา บูเช็กเทียน ส่วนใหญ่ที่เล่าๆ กันในนัยก็ถือเป็นกรณีพิเศษที่น่าสนใจ
แง่มุมที่สตรีทรงอำนาจในประวัติศาสตร์ถูกเล่า มักมีนัยบางอย่างแฝงอยู่ ประมาณว่ามักหลงไปในอำนาจและใช้อำนาจจนเกินไป
ประเด็นหนึ่งที่เป็นบ่วงผูกมัดผู้หญิงไว้คือการผูกผู้หญิงไว้กับ ‘อารมณ์’ ดังนั้น อำนาจซึ่งเป็นสิ่งที่ให้คุณก็ได้ ให้โทษก็ได้ มีอันตรายอยู่ในตัว เมื่อมีการบอกว่าอำนาจตกไปอยู่ในมือของผู้หญิงแล้วก็เลยมักพูดกันในทำนองว่า อำนาจจึงไม่ถูกควบคุมอย่างเหมาะสม อย่างที่ผู้ชาย ผู้สังกัดอยู่ฝ่ายเหตุผลสามารถกระทำได้
ในนิทานเองก็มักมีนัยทำนองนี้ ตัวร้ายที่เป็นแม่มดในแง่หนึ่งก็คือผู้หญิงที่มีอำนาจ แม่เลี้ยงใจร้ายก็คือผู้ที่มากุมอำนาจแทนหัวหน้าครอบครัว จักรพรรดินีจำนวนมากก็มักมีแนวโน้มถูกเล่าว่าใช้อำนาจปกครองจนเลยเถิดหรือนำมาซึ่งความพังพินาศในที่สุด
น่าเศร้าที่รากลึกเรื่องผู้หญิงเป็นตัวแทนของอารมณ์ ผู้ชายเป็นตัวแทนของเหตุผลยังคงฝังยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน ในแง่หนึ่งอาจจะบอกว่าอ้าว ผู้หญิงก็ใช้อารมณ์เป็นหลักจริงๆ นี่นา แต่การใช้เหตุผลหรืออารมณ์ หรือผสมปนเปกัน มันก็แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่กรรมแล้วแต่วาระ ผู้ชายเวลาซื้อเกม เล่นกีฬา ก็อาจจะใช้อารมณ์นำไปได้เหมือนกัน
กลยุทธ์ของความเป็นหญิง
การที่เราดำรงอยู่ในสังคม นักสังคมวิทยาอย่าง ปิแอร์ บูร์ดิเยอ บอกว่าเราต่างต้องดิ้นรนอยู่ในพื้นที่ของอำนาจ ในการต่อรองและเลื่อนชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ไอ้การดิ้นรนในพื้นที่ทางสังคมมันไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น เราต่างมีกลยุทธ์และเส้นทางของเราเอง ดูเหมือนว่า ความเป็นหญิง ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้ต่อรอง บอกว่าผู้หญิงเป็นแบบนี้ใช่มั้ย ก็หยิบมาใช้เป็นอาวุธซะเลย
‘ชิสุกะ’ เป็นตัวละครหญิงตัวหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและโครงสร้างของเหล่าเด็กน้อยในเรื่องโดราเอมอน โนบิตะก็ตีกับไจแอนท์ไป ซูเนโอะก็เสี้ยมไปอะไรไป ส่วนชิสุกะเองก็ใช้ความเป็นผู้หญิงของตัวเองลอยจากความขัดแย้งของพวกเด็กผู้ชาย หรือบางที เธอก็เมตตาลงมาใช้ความเป็นผู้หญิงช่วยยุติปัญหาหรือหยุดการกลั่นแกล้งโนบิตะ
สำหรับฮิลลารีเองก็ดูเหมือนจะใช้เรื่องความเป็นผู้หญิง เรื่องเพดานกระจกมาเป็นจุดแข็งในการสู้กับผู้ชายอย่างทรัมป์ แต่การใช้กลยุทธ์ก็อาจเป็นดาบสองคม คือกลายเป็นพูดเรื่องเดิมๆ จนคนก็อาจรู้สึกว่า อีกแล้วเหรอ ทำให้ก้าวไม่พ้นเรื่องนี้และนำไปสู่การบดบังประเด็นหรือความสามารถอื่นๆ
ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในพื้นที่อำนาจโลก
เรื่องเดิมๆ ที่ว่าผู้หญิงมีโอกาสแค่ไหนในพื้นที่ของอำนาจ สถิติในอังกฤษพบว่าสัดส่วนของผู้หญิงยังคงน้อยกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ สภาของสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนของผู้ชายต่อผู้หญิงถึง 4 ต่อ 1 และมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 4 ตำแหน่งจากทั้งหมด 23 ตำแหน่ง ในโลกของการเงินเองก็พบว่ามีผู้หญิงเป็นผู้นำในสัดส่วนที่น้อยนิด มีเพียง 11 เปอร์เซ็นของธนาคารอังกฤษที่มี CEO เป็นผู้หญิง
ในพื้นที่สื่อของอังกฤษเองก็พบว่า มีเพียง 5 เปอร์เซ็นที่ผู้หญิงทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ระดับชาติ และไม่มีผู้หญิงที่เป็นบรรณธิการทางการเมืองในหนังสือพิมพ์รายวันเลย
ในรายงานระดับโลกพบว่ามี 38 รัฐ ที่ผู้หญิงมีสัดส่วนในสภาน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็น ในปี 2016 พบว่ามี 4 สภาที่ไม่มีผู้หญิงเลยซักคนเดียว
รายงานในเดือนมิถุนายน ปี 2016 พบว่าในสภาประเทศต่างๆ รวมทั้งวุฒิสภาและสภาสามัญ พบสัดส่วนของผู้หญิงดังนี้ ในสภาแถบแสกนดิเนเวียนมีสัดส่วนผู้หญิง 41% อเมริกามี 19% ยุโรป (ยกเว้นกลุ่มประเทศแสกนดิเนเวีย) มี 27% และเอเชียมี 19%
โดยรวมแล้วในเชิงสถิติยังถือว่าการมีส่วนร่วมก็ยังไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่เนอะ
ดูเหมือนว่า จากประเด็นเดิมๆ ก็ยังไม่เก่าเกินไปที่จะคุยกันเท่าไหร่ ไอเดียที่ว่า มองกันในฐานะบุคคลมากกว่ามองผ่านมิติอื่นๆ เช่น เพศ ชนชั้น ชาติพันธุ์ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องน้ำเน่าน่ารำคาญ และเป็นเรื่องที่เรานำกลับมาคุยกันได้เรื่อยๆ