วันก่อน ไป ‘พูด’ ร่วมเวทีกับนักเขียนระดับศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่ง นักเขียนท่านนั้นบอกว่า ตอนนี้รางวัลเต็มบ้านไปหมด ไม่มีตู้จะใส่รางวัลแล้ว ถ้ารัฐอยากจะช่วยเหลือนักเขียนก็เอาเงินมาให้ดีกว่า
รางวัลไม่ต้อง!
ฟังแล้วเลยสงสัยว่า สังคมไทยนั้น ‘ให้คุณค่า’ กับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘นักเขียน’ มากขนาดไหน?
ถ้าไปถามใครต่อใครว่าให้คุณค่ากับนักเขียนนักคิดอะไรเทือกๆ นี้มากไหม ใครๆ ก็ต้องบอกว่า โอ๊ย! ให้คุณค่ามากสิ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่าต่อสังคมมากเลยเชียวแหละ เพราะช่วยสร้างความรู้ ความงาม ความจริง ฯลฯ ให้สังคมมากมาย เลยมีรางวัลวรรณกรรมลือชื่อเกิดขึ้นเยอะแยะเต็มไปหมดไงเล่า ไม่เห็นหรืออย่างไร
แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การ ‘ให้คุณค่า’ มันเป็นสิ่งเดียวกับการ ‘ให้ราคา’ ด้วยหรือเปล่า หรือว่าแค่ยกย่องกันไปแต่ปาก อยากทำให้เมืองหลวงเป็นเมืองหนังสือบ้างละ อยากอวดโลกว่าเราเป็นเมืองวรรณกรรม มีรากทางศิลปะวรรณกรรมอันยาวนาน มีความรุ่มรวยทางภาษาบ้างละ แต่ในความเป็นจริง-ใครๆ ก็รู้นะครับ ว่านักเขียนนั้นไส้แห้งกรอบแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับนักเขียนในสังคมตะวันตก
นั่นทำให้ผมนึกถึงเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว สมัยที่ได้เงินจากการเขียนงานต่างๆ เป็นครั้งแรก (โดยไม่ใช่เงินเดือน) แล้วต้อง ‘ยื่นภาษี’ ให้กับรัฐไทย
เวลาที่เราจะเสียภาษี ใครๆ ก็รู้ใช่ไหมครับ ว่ารัฐใจดี ให้เราเอารายได้ทั้งหมดมา ‘หักค่าใช้จ่าย’ ต่างๆ ออกไปได้ก่อน จากนั้นก็หักโน่นนั่นนี่ได้อีกตามที่รัฐกำหนด เช่น ค่าประกัน ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ ฯลฯ ซึ่งอย่างหลังนั้นต้องบอกว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ที่น่าสนใจมากก็คือ ‘ค่าใช้จ่าย’ เบื้องต้นนี่แหละครับ
ที่มันน่าสนใจก็เพราะว่า รัฐไทยได้กำหนดไว้ว่า ถ้าเรามีเงินได้แบบไหน เราจะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบไหนได้ไงครับ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐทำหน้าที่เป็น ‘เจ้าภาษีนายอากร’ ที่คอยบอกว่า เอ้า! ถ้าเอ็งได้เงินเป็นเงินเดือน ก็สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้เท่านี้ ถ้าทำอาชีพอิสระ หักไปก่อนได้เท่านี้ ถ้ารับเหมา-ก็หักได้เท่านี้ๆ ซึ่งต้องบอกว่ามีการกำหนดเอาไว้ละเอียดมากครับ
ตอนจะเสียภาษีครั้งนั้น ผมยื่นภาษีด้วยตัวเอง เลยอุตสาหะเปิดเข้าไปศึกษารายละเอียดทั้งหมด แล้วก็ให้ดีใจเป็นที่ยิ่ง เมื่อเจอรายได้ประเภทที่เรียกว่า ‘ค่าทำวรรณกรรม’ เข้าให้ เพราะ ‘คิดไปเอง’ ว่ารายได้ของตัวเองนั้น มันคือ ‘ค่าทำวรรณกรรม’ นี่นา แล้วถ้าเป็นค่าทำวรรณกรรมนี่ เราจะหักค่าใช้จ่ายได้ตั้ง 75% แน่ะครับ
พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเรามีเงินที่ได้จากค่าทำวรรณกรรมหนึ่งล้านบาท ก็หักไปเสียเจ็ดแสนห้า เหลือที่จะต้องเสียภาษีแค่สองแสนห้าเท่านั้น
รัฐไทยใจดีกับนักเขียนจังเลย!
แน่นอน-ผมจัดการกรอกรายได้ส่วนที่ได้จากการเขียนงานวรรณกรรมลงไปในค่าทำวรรณกรรมทันที
แต่แล้ว…ผมก็ต้องมารู้ภายหลัง (เมื่อถูกสรรพากรเรียก) อย่างน่าอับอายขายขี้หน้า ว่านั่นน่ะ-คือความโง่ของผมเอง เพราะจริงๆ แล้ว รายได้ที่ได้จากการรวมเล่มหรืออะไรพวกนี้ มันต้องเป็น ‘ค่าลิขสิทธิ์’ (ที่เขาเขียนว่าเป็นค่า ‘กู๊ดวิลล์’ ซึ่งก็นะ-ใครจะไปรู้ว่ามันคืออะไร) ต่างหาก ส่วนค่าทำวรรณกรรมนั้น หมายถึงต้อง ‘เขียนเอง พิมพ์เอง และขายเอง’ ซึ่งผมก็ไม่ได้ว่าอะไรหรอกนะครับ แม้จะต้องจ่ายภาษีมากขึ้นก็พอเข้าใจอยู่ว่าเป็นข้อกำหนดของรัฐ
แต่ไอ้ที่ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจอย่างยิ่ง ก็คือคำอธิบายที่เจ้าหน้าที่สรรพากรท่านนั้นอุตส่าห์เสริมมาให้ด้วยอัธยาศัยอันดี-ว่า, การที่เราเขียนเอง พิมพ์เอง แล้วก็ขายเองนั้น มันทำให้เรามี ‘ต้นทุน’ เราจึงหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า แต่การ ‘แค่เขียน’ ไม่ได้มี ‘ต้นทุน’ อะไร ก็เลยหักค่าใช้จ่ายได้น้อยกว่า เปรียบเหมือนถ้าเรารับเหมาทาสี เราจะต้องไปซื้อสีมาทา แต่ถ้าเราแค่ ‘รับจ้างทาสี’ เราไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร เพราะไม่ได้ ‘ลงทุน’ ในอะไรเลย
คำที่ก้องอยู่ในหูของผมมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ-นักเขียนไม่มีต้นทุน / นักเขียนไม่มีต้นทุน / และนักเขียนไม่มีต้นทุน, นี่แหละครับ
ตอนนั้นเถียงไปทันควันว่า ที่จริงแล้วนักเขียนมีต้นทุนนะครับ เพราะนักเขียนไม่ได้นั่งเทียนเขียน เช่นนักเขียนเรื่องท่องเที่ยว ถ้าไม่ลงทุนซื้อตั๋วเครื่องบินหรือจองโรงแรม จะเขียนเรื่องออกมาได้อย่างไร ยังไม่นับต้นทุนทางความคิด (ผ่านการอ่าน การซื้อหนังสือ การใช้เวลาเก็บเกี่ยว input ต่างๆ ซึ่งมี opportunity cost นะเฟ้ย ฯลฯ) และต้นทุนทางวัฒนธรรม-อันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ท่านนั้นอดทนอธิบายกับผมด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส จนในที่สุดก็ต้องยอมแพ้ และยอมรับมาตั้งแต่นั้นว่า การเป็นนักเขียน (เฉยๆ) ในรัฐไทย ที่ไม่ได้จัดการพิมพ์เองขายเองด้วยนั้น เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มี ‘ต้นทุน’ ในการผลิต เป็นอันจบการต่อสู้กับรัฐด้วยความพ่ายแพ้ศิโรราบอย่างสิ้นเชิง
อยากได้เงินเท่าไหร่ก็มาเอาไปเลย!
ต่อมาในระยะหลัง ผมได้รับเชิญไปพูดโน่นนั่นนี่อยู่บ่อยๆ ก็เลยสงสัยขึ้นมาอีก ว่าแล้วถ้าเป็นรายได้จากการไปพูดล่ะ มันควรจะเป็นรายได้แบบไหน ผมเลยย้อนกลับไปค้นอีกรอบ แล้วก็พบว่า ถ้าเป็นการพูดในแบบทอล์คโชว์นั้น เขาจะจัดให้อยู่ในหมวด ‘นักแสดงสาธารณะ’ ร่วมกับนักแสดงทั้งหลาย (ซึ่งมีตั้งแต่ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ไปจนถึงละครเวที) ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ (ที่ไม่ใช่ผู้ประกาศข่าวหรือโฆษก) รวมไปถึงนักกีฬาอาชีพหรือนักดนตรีด้วย
แล้ว ‘คำถาม’ ก็เกิดขึ้น ว่าระหว่างนักเขียนกับนักแสดงสาธารณะนั้น รัฐไทย ‘ให้คุณค่า’ กับอาชีพไหนมากกว่ากัน
เอาเป็นว่า ถ้าคุณเป็นนักเขียนที่ ‘ยังชีพ’ เฉพาะจากค่าลิขสิทธิ์เท่านั้น สมมุติว่าคุณมีเงินรายได้ค่าลิขสิทธิ์ในปีที่ผ่านมาเท่ากับหนึ่งล้านบาทพอดิบพอดี คุณจะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 40% ซึ่งก็ฟังดูดีนะครับ เพราะมันแปลว่าน่าจะหักค่าใช้จ่ายได้ตั้งสี่แสนบาทแน่ะ รัฐไทยใจดีอีกแล้ว!
แต่ช้าก่อน เพราะเอกสารภาษีบอกว่า 40% ไม่ได้แปลว่าคุณจะหักได้สี่แสนบาทแล้วเอาเงินไปคำนวณภาษีหกแสนบาทหรอกนะครับ เพราะเขาบอกว่าถึงจะหักได้ 40% แต่ที่สุดแล้วหักได้ไม่เกิน 60,000 บาท
ใช่แล้ว, ห ก ห มื่ น บ า ท!
พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าทำมากินด้วยการขายลิขสิทธิ์งานของตัวเอง คุณมีสิทธิ์จะเอาเงินไปใช้จ่ายโน่นนั่นนี่ได้โดยรัฐไม่มายุ่มย่าม (ไม่นับเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนะครับ) แค่ 60,000 บาทต่อปีเท่านั้น (เอ่อ-ถามว่าทุกวันนี้เงินหกหมื่นบาทนี่มันเอาไปทำอะไรได้บ้างล่ะเนี่ย!) แปลว่าเงินได้ที่ต้องเอาไปคิดภาษีเพื่อจ่ายให้รัฐก็คือ 940,000 บาท
เอาละ ช่างมันไปก่อน เพราะเป็นนักเขียนก็ต้องเจียมตัวเจียมใจ แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอลองเอาอาชีพ ‘นักเขียน’ (ที่มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์) ไปเทียบกับ ‘นักแสดงสาธารณะ’ ดูหน่อยได้ไหม
ถ้าคุณเป็นนักแสดงสาธารณะ แล้วมีรายได้จากการแสดงหนึ่งล้านบาทพอดิบพอดีเหมือนกัน คุณจะพบว่าตัวเองสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 40-60% (ดูสิ แค่นี้ก็เยอะกว่ารายได้จากค่าลิขสิทธิ์แล้วนะ) โดยเขามีข้อกำหนดเอาไว้ด้วยนะครับ ว่า ‘แต่ไม่เกิน’ 600,000 บาท
หา-อะไรนะ, ขยี้ตาดูอีกรอบได้ไหม หกเท่าไหร่นะ…
ใช่แล้ว, ห ก แ ส น บ า ท!
เอิ่ม-ใช่ครับ หกแสนบาท ซึ่งต้องอย่าลืมนะครับ ว่าถ้าเป็นนักเขียนที่มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์นั้น จะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 60,000 บาท ซึ่งคือแค่หนึ่งในสิบของหกแสนเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเป็นนักแสดงสาธารณะที่มีรายได้หนึ่งล้านบาท คุณก็จะหักค่าใช้จ่ายได้หกแสนบาทพอดิบพอดี แปลว่าคุณต้องเอาเงินไปคำนวณภาษีเพื่อเสียให้รัฐแค่ 400,000 บาทเท่านั้น
ถ้าลองเทียบกับนักเขียน (ที่มีรายได้จากลิขสิทธิ์) เราจะพบว่านักเขียนคนนี้ต้องเอาเงินไปคำนวณภาษีให้รัฐ 940,000 บาท ส่วนนักแสดงสาธารณะต้องเอาเงินไปคำนวณภาษีแค่ 400,000 บาท สมมุติดูเล่นๆ ว่าถ้าต้องเสียภาษี 20% เท่าๆ กัน ก็แปลว่านักเขียนคนนี้จะต้องเสียภาษีเท่ากับ 188,000 บาท (อ่านว่า หนึ่งแสนแปดหมื่นแปดพันบาทถ้วน) ในขณะที่นักแสดงสาธารณะเสียภาษีให้รัฐแค่ 80,000 (อ่านว่า แปดหมื่นบาทถ้วน) ซึ่งเท่ากับว่า ในรายได้ที่เท่ากัน (คือหนึ่งล้านบาท) นักเขียนคนนั้นจะต้องเสียภาษีให้กับรัฐมากกว่านักแสดงถึงแสนกว่าบาท
ใช่ครับ-แ ส น ก ว่ า บ า ท!
โอ๊ย! นี่มันอะไรกัน! เขียนกี่บทความถึงจะได้สักแสนนึงล่ะนี่!
ที่มันย้อนแย้งเจ็บแสบก็คือ เวลาเราบอกว่า คนคนนี้เป็นนักคิดนักเขียน เราจะรู้สึกว่าเขาดู ‘เหนือ’ คืออาจจะเป็นผู้นำทางความคิด ทรงภูมิ มีสติปัญญาสูงส่งอะไรก็ว่ากันไป (ซึ่งในหลายกรณีก็ไม่จริงหรอกนะครับ นักเขียนโง่ๆ ก็มีถมไป คนที่กำลังเขียนอยู่นี่ก็คนนึงแล้ว) พูดง่ายๆ ก็คือเรา ‘ให้คุณค่า’ กับนักคิดนักเขียนด้วยปากนั่นแหละครับ แต่พอไปดูการ ‘ให้ราคา’ ซึ่งเป็น ‘ตัวเลข’ ที่ ‘แสนจะเป็นจริง’ ต่อการดำรงชีวิตอยู่ เราจะพบเลยนะครับว่านักแสดงถูก ‘ให้ราคา’ โดยรัฐมากกว่า ผ่านการเรียกเก็บภาษีที่น้อยกว่า
ที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจหรอกนะครับที่เป็นอย่างนี้ เพราะเราก็คงรู้กันอยู่ว่า สังคมไทยนั้นเป็นสังคมมุขปาฐะ เราเสพการแสดงมากกว่าการอ่านอยู่แล้ว นักแสดงโดยทั่วไปจึงนอกจากจะมีรายได้มากกว่านักเขียนแล้ว ยังเสียภาษีน้อยกว่านักเขียนด้วย การกำหนดของรัฐชนิด ‘ผนึก’ มันเข้าไปไว้ในโครงสร้างภาษีนี้ จึงสะท้อนให้เราเห็นว่า-เราอยู่ในสังคมที่มีสำนึก ‘บูชา’ อะไรมากกว่ากัน ซึ่งไม่ได้มีอะไรผิดนะครับ แต่ที่ประหลาดก็คือ-เรามาทำท่าให้คุณค่ากับนักคิดเขียนไปทำไมกันครับ
เหมือนคนโง่ที่ถูกหลอกบอกว่าเป็นคนฉลาดยังไงชอบก๊ล!
การ ‘ให้คุณค่า’ ที่ไม่ได้มาพร้อมการ ‘ให้ราคา’ ด้วยนั้น น่าสงสัยนะครับว่าเป็นการให้คุณค่าที่แท้จริงหรือเปล่า