แน่อยู่แล้ว ที่เราจะรู้จัก หนุ่ม—โตมร ศุขปรีชา ในฐานะนักเขียนผู้มีผลงานออกมาถี่ยิบตลอดทุกฤดูกาล ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ล่าสุดนี้เขาก็เพิ่งออกหนังสือเล่มใหม่ในชื่อ POWERISM ที่เป็นการรวมคอลัมน์รสแซ่บจาก The Matter ว่าด้วยอำนาจรูปแบบต่างๆ และมิติอันหลากหลายของมัน ซึ่งกระทบกับชีวิตคนเราอยู่ตลอดเวลา
แน่นอนอีกข้อ เมื่อพูดถึงงานเขียนของโตมร เรามักจะเห็นภาพบทความที่บรรจุคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ หนักแน่นด้วยเหตุผลรองรับ ไม่ว่าจะในทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือมนุษย์ศาสตร์ แต่การพูดคุยกับเขาในคราวนี้กลับพาเราเลี้ยวออกไปหาศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย อย่างเช่นละครเวที ดนตรี หรือกระทั่งการดูไพ่ทาโรต์ ซึ่งทำให้เราพบว่าการเป็นโตมร ศุขปรีชานั้นสุขดีเหลือเกิน
—การไม่เป็นโตมร ศุขปรีชา ก็แสนสนุกเช่นกัน เมื่อบางครั้งตัวของเขาเองก็กระทำบางอย่างโดยโยนการคิดใคร่ครวญทิ้งไป กลายเป็นการตัดสินใจในแบบที่ไม่ใช่ตัวเขาเลย แต่ห้วงเวลาแบบนั้นเองที่เขาจะเป็นอิสระจากตัวตนและอำนาจที่พัวพันอยู่กับตัวตนนั้นอย่างสลัดไม่หลุด
แต่ก่อนอื่น น่าจะต้องเริ่มจากคำถามที่เราสงสัยที่สุดตลอดมา…
Life MATTERS : เรื่องที่ไร้สาระที่สุดที่คุณเคยทำคืออะไร
โตมร : (นิ่งคิดสักพัก) ก็เยอะแยะนะ… แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เสี่ยงอันตรายโดยไม่ได้คิดมากที่สุด ก็คือการไปกระโดดร่มที่สวิตเซอร์แลนด์ ตอนนั้นมีแบรนด์นาฬิกาที่ใช้บนเครื่องบินเชิญไป เราก็จะได้ไปนั่งบนปีกเครื่องบินโดยมีการผูกตัวเราเซฟเอาไว้ แล้วก็มีกิจกรรมหลายอย่างที่ดูเสี่ยงอันตราย ซึ่งเราก็เลือกกระโดดร่ม
ตอนนั้นเครื่องบินบินขึ้นไปกว่า 10 กิโลเมตร เท่ากับที่เครื่องบินโดยสารบินกัน มองลงมาก็แทบจะเห็นทั้งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วตอนที่เรากระโดดก็มีครูฝึกขึ้นไปด้วย เขาจะคอยอยู่ด้านหลังเราเพื่อดึงเชือก แล้วกระตุกร่มให้กางหลังจากที่เราดิ่งลงมาได้ระยะหนึ่ง
ซึ่งหลังจากที่ร่มกางเราก็ควรจะล่องลอยสวยงามใช่ไหม แต่ทีนี้ครูฝึกเขาเป็นคนเยอรมันซึ่งพูดภาษาอังกฤษงูๆ ปลาๆ เขาก็ถามอะไรสักอย่างกับเราในขณะที่ลมก็ตี ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่อง ก็ได้แต่พยักหน้าไป ซึ่งเรามารู้ทีหลังว่าเขาถามว่าเราจะควงสว่านลงมาไหม? (หัวเราะ) เราพยักหน้ารับ ก็เลยต้องหมุนควงลงมาแบบนั้น แทบจะอ้วก
ความที่เราเป็นความดันสูง ลำพังแค่กระโดดร่มลงมาแบบธรรมดาความดันก็คงกระฉูดแล้ว แล้วไอ้การควงสว่านลงมาเนี่ย เรารู้เลยว่าเราตายได้ และก่อนที่จะขึ้นไปเขาก็ให้เราเซ็นไว้ด้วย ว่าทั้งหมดจะเป็นการตัดสินใจของเราเอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจะไม่ใช่ความรับผิดชอบของเขา
เหตุการณ์นั้นเรียกว่าดูไร้สาระไหม ก็อาจจะไม่นะ แต่มันดูบ้า ดูไม่ใช่เรา เราไม่ใช่คนที่จะทำอะไรแบบนั้น แต่ตอนนั้นคิดแค่ว่าถ้าไม่ทำสิ่งนี้เราอาจจะไม่ได้ทำมันอีกแล้วก็ได้
Life MATTERS : ระหว่างที่หมุนคว้างอยู่บนฟ้า คุณคิดอะไรอยู่ในหัว
โตมร : มันคิดอะไรไม่ได้เลย เราทำได้แค่ตะโกนว่า ไม่ ไม่ ไม่ แต่คิดว่าเขาก็คงไม่รู้เรื่องเหมือนกัน พอลงมาถึงเขาก็ยิ้มๆ มาถามว่า เป็นไง ดีมั้ย เราก็ได้แต่บอกว่าจะอ้วกแล้ว
Life MATTERS : การทำสิ่งที่ไม่ใช่ตัวคุณเลยโดยสิ้นเชิง เป็นประสบการณ์ประเภทไหนสำหรับคุณ
โตมร : มันเป็นสิ่งที่ดีนะ การได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำเลย นึกถึงตอนไปประกวดร้องเพลงตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เริ่มจากที่เราอยากประกวดเฉยๆ ไม่คิดว่าจะได้รางวัล แต่ก็ชนะ (ยิ้ม)
Life MATTERS : ตอนนั้นคุณใช้เพลงอะไรในการประกวด
โตมร : เก่ามาก ชื่อเพลง I Who Have Nothing เพลงที่นันทิดา แก้วบัวสายใช้ประกวดเป็นนักร้องยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย นั่นแหละ พอชนะเราก็เลยได้เป็นนักร้องของวง แล้วก็รักการร้องเพลงมาจนถึงทุกวันนี้
Life MATTERS : นอกจากร้องเพลงแล้ว คุณชอบเล่นดนตรีด้วยเหมือนกัน?
โตมร : ใช่ เริ่มจากตอนประถม ที่โรงเรียนจะให้เล่นขลุ่ยรีคอร์เดอร์ (recorder) ซึ่งทำให้เราเข้าใจการอ่านโน้ตอยู่พอสมควร แล้วพ่อเราก็เห็นว่าเราเล่นได้ เลยพาไปสมัครเรียนดนตรีต่อ ก็ต้องเลือกระหว่างเปียโนกับอิเล็กโทน ตอนนั้นเราคิดว่าอิเล็กโทนทำเสียงเปียโนได้ด้วยใช่ไหม ดังนั้นการเล่นอิเล็กโทนก็ถือว่าเล่นเปียโนได้ด้วย จะได้ประหยัด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่มันคนละเรื่องกันเลย มันแค่ทำเสียงได้ แต่วิธีเล่นต่างกัน
สำหรับอิเล็กโทน คีย์บอร์ดจะสั้นกว่า แล้วต้องใช้เท้าเล่นเสียงเบสด้วย มือซ้ายเล่นแต่คอร์ด มือขวาเล่นเมโลดี้ ในขณะที่เปียโนเราใช้แค่สองมือ ดังนั้นเวลาฝึกอิเล็กโทนมาแล้วต้องไปเล่นเปียโนมันก็จะค่อนข้างติดขัด เพราะเราไม่ได้ฝึกที่จะเล่นแบบสองมือกระโดดไปกระโดดมา
Life MATTERS : คุณสามารถเล่นดนตรีโดยไม่ยึดกับทฤษฎีใดๆ ใช้เพียงสัญชาตญาณได้ไหม
โตมร : ไม่ได้ หมายถึงว่าเราเล่นไม่ได้ถ้าหากว่าเอาโน้ตมาวางแล้วให้เราเล่นไปเลย เหมือนอย่าง fakebook ของพวกที่เล่นแจ๊ซ ซึ่งในนั้นจะมีแค่เมโลดี้กับคอร์ด นอกนั้นให้เราอิมโพรไวส์ ซึ่งเราก็อิมโพรไวส์ได้แหละ เราเล่นได้ แต่มันจะไม่ใช่แจ๊ซที่ดีงาม
เพราะเพลงที่เล่นสมัยโน้นส่วนใหญ่จะเป็นฟิวชั่นแจ๊ซ จะเป็นแจ๊ซที่ประหลาดนิดหนึ่ง มันไม่ใช่แจ๊ซแบบใช้ความคิด แต่ใช้ความจำแทน คือจะมีการ arrange มาแล้วเรียบร้อย ว่าเราจะอิมโพรไวส์ยังไงแล้วให้เราเล่นตามนั้น เราเลยถนัดแบบนั้นไป
Life MATTERS : ทุกวันนี้คุณเล่นดนตรีในวาระไหนบ้าง
โตมร : เล่นที่บ้าน ไม่ค่อยได้ออกไปเล่นที่ไหนเลย แต่ก่อนเราเคยไปเล่นที่ร้าน Hemlock นะ คือไปขอเค้าเล่นแล้วเค้าก็ให้เล่นด้วย ก็เล่นประจำวันละชั่วโมง แต่ความที่เราต้องย้ายบ้านไปอยู่อีกที่หนึ่งซึ่งไกลจากร้าน การเดินทางเพื่อไปเล่นหนึ่งชั่วโมงมันเหนื่อย เลยหยุดไป
Life MATTERS : เมื่อต้องแสดงต่อหน้าคนอื่น คุณเคยมีปัญหาเรื่องความมั่นใจในตัวเองไหม
โตมร : มีตลอด มานึกๆ ดู ตอนที่ไปเล่นที่ Hemlock ก็ยังคิดว่าเป็นบ้าอะไรวะ คือแค่อยากไปก็ไป แต่จริงๆ เราเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองเลย แต่เป็นคนขี้อายที่ชอบท้าทายตัวเอง อย่างตอนเรียนมัธยมต้นก็จะมีการโต้วาทีของโรงเรียน ด้วยความที่เราเป็นเด็กเรียนเก่งครูก็เลยส่งขึ้นไป ก็เริ่มจากการเป็นลูกทีมก่อน แล้วเราก็ห่วยมาก สั่นไปทั้งตัว พูดจาไม่ได้เรื่อง แต่เราอยากท้าทายตัวเองว่าจะทำได้หรือเปล่า และพอเห็นเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เขาพูดเก่ง เราก็รู้สึกว่า ไม่ได้ว่ะ เราต้องทำให้ได้
ก็เลยไปฝึกตัวเอง ในที่สุดก็กลายเป็นหนึ่งในคนที่โต้วาทีได้ดีในจังหวัดลำปาง แล้วก็ต่อเนื่องมาถึงมหาวิทยาลัย เราอยู่คณะวิทยาศาสตร์ซึ่งจะมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่โต้วาทีเก่งพอกัน แต่ทางฝ่ายวิศวะจะมีความดิบๆ เถื่อนๆ กว่าหน่อย เวลาโต้กันก็จะมีทีมเชียร์ที่โห่ป่าเสียงดังๆ ปรากฏว่าตอนปีหนึ่งที่เราเข้าไป เราไม่กลัวเลย ในขณะที่พี่ปีสี่ก็ยังสั่นๆ กันอยู่ สรุปที่แข่งตอนนั้นคณะวิทยาศาสตร์แพ้วิศวกรรม แต่คณะกรรมการเดินมาหาเราแล้วบอกว่า สำหรับคะแนนรายคน เราได้สูงสุดในผู้แข่งขันทั้งหมดเลย ซึ่งเราก็ภูมิใจ
Life MATTERS : ความมั่นใจนั้นมาจากประสบการณ์ หรือชุดตรรกะที่คุณพกมาด้วย
โตมร : น่าจะเพราะความอยากท้าทายด้วยแหละ เพราะเราจะโกรธกับการที่มีคนมาเยอะๆ แล้วใช้วิธีโห่ข่มกัน เรารู้สึกว่า ก็ลองดูสิ มาสิ เราไม่กลัว
เรื่องผีก็เช่นกัน ถ้าผีมาหลอก เราจะโกรธมากที่มาหลอกกันโดยไม่มีเหตุผล จะมาขอส่วนบุญก็มาขอ แต่ถ้าไม่มีเหตุผลเราจะโมโห สมมติอย่างเรื่องเพื่อนที่ระลึกเนี่ย จะโกรธเพื่อนคนนี้มาก ที่ตามมาจองเวรกันโดยไม่ดูเหตุผลเลย เพราะคนเรามันเปลี่ยนใจกันในวินาทีสุดท้ายได้สิ แล้วคิดดูนะ ถ้าเราตายไปเป็นผี มีฤทธิ์อำนาจเหมือนกัน เราจะเจอกันในนรก อย่าลืม
Life MATTERS : แบบนี้แปลว่าคุณเชื่อเรื่องผีด้วยไหม
โตมร : (หัวเราะ) ก็เชื่อว่าคงมีอะไรบางอย่างที่เราไม่รู้อยู่ อาจจะเรียกว่าผีหรืออะไรก็ไม่รู้แหละ แต่คิดว่าคนเราติดอยู่ในร่างกายที่มีผัสสะหรือการรับรู้ที่จำกัด เรารับรู้ได้แค่ผ่านหู ตา จมูก ปาก ผิวหนัง แต่มันน่าจะมีอะไรที่เลยพ้นสัมผัสเหล่านี้ไปอีก
ซึ่งเราสนใจเรื่องลายมือและไพ่ทาโรต์นะ คือพูดไปแล้วมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์เลย มันจะมีความเชื่อว่าไพ่จะสะท้อนจิตใจของคนที่มาดู แล้วเท่าที่สัมผัสก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เช่น เคยมีแม่บ้านที่ออฟฟิศคนหนึ่งมาดูไพ่กับเรา เราไม่เคยรู้จักพื้นเพเขาเลยแต่ไพ่มันออกมาแบบนั้น เราก็อ่านไปตามไพ่ แล้วเขาร้องไห้ บอกว่ามันตรงมาก
Life MATTERS : บางอย่างในโหราศาสตร์สั่นคลอนความคิดด้านวิทยาศาสตร์ของคุณหรือเปล่า
โตมร : เราเอง ปกติก็ไม่ดูไพ่ แต่ครั้งหนึ่งจะต้องไปอิตาลี ก็ตะหงิดใจหรือสังหรณ์อะไรสักอย่าง เลยดูไพ่ก่อนไป แล้วมันขึ้นไพ่ Death มา พอดูซ้ำมันก็ยังขึ้นมาอีก เลยตัดสินใจว่าไม่ไป บ้ามั้ย ทำไมถึงไม่ไปวะ (หัวเราะ) วีซ่าก็ทำแล้ว แล้วมันเป็นการไปทำงาน ไปถ่ายแฟชั่น เราก็ไปยืนยันกับบรรณาธิการว่าจะไม่ไป ก็ถูกด่า แต่เขาก็ยอม ปรากฏว่าในช่วงวันที่คณะเดินทางไป เราเป็นไส้ติ่ง ต้องผ่าตัด ซึ่งถ้าหากว่าเราไส้ติ่งอักเสบที่อิตาลี ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อนที่ไปอิตาลีแทนเราก็ถูกขโมยกล้องด้วย มันก็แม่นเหมือนกันนะ เออ อันนี้ดูงมงายเนอะ (หัวเราะ)
อีกครั้งหนึ่งเราต้องขับรถทางไกล แล้วไพ่ Death ขึ้นมาอีก ซึ่งคราวนี้เราคิดว่าเราขับเองเราครองสติเอง มันจะเกิดอุบัติเหตุได้ยังไง ก็เลยกระทำการของเรา ด้วยการเอาไพ่สำรับนั้นมาเหยียบ แล้วบอกว่าจะทำให้ดู ว่ามันไม่มีทางเกิดอุบัติเหตุอะไรทั้งนั้น และแล้วมันก็ไม่มีอะไร เพียงแต่เวลาขับเราก็จะระวัง มีสติมากกว่าปกติ ก็กลายเป็นว่ามันเตือนเรา แต่ทั้งนี้เราจะไม่ได้ใช้การดูไพ่ในการตัดสินใจสำคัญๆ เลยนะ ไม่เคยเลย
จริงๆ คนเรามันมีหลายตัวตนเนอะ ดูสิ เขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรียนก็เรียนวิทยาศาสตร์มา แต่มานั่งดูไพ่ ซึ่งในศาสตร์ของไพ่เอง มันก็จะมีความเชื่อตามตำราว่ามือซ้ายเป็นมือของสิ่งที่ถูกกำหนดมา ส่วนมือขวาเป็นมือของสิ่งที่เราทำเอง หากคนที่ถนัดซ้ายก็จะสลับด้านกัน
ซึ่งตรงนี้มันก็เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกันนะ เช่นทางการแพทย์ เราเกิดมากับยีนส์แบบนี้เราอาจจะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ แต่อีกส่วนมันก็มีการกระทำไปเกี่ยวด้วย ถ้าพูดด้วยศัพท์ทางสังคมวิทยามันก็จะเป็น elementalism กับ constructionism คือมีสิ่งที่เป็นฐานอยู่แล้วกับสิ่งที่เราประกอบสร้างขึ้นมาทีหลังอีกทีหนึ่ง
Life MATTERS : คุณทนได้ไหม กับการไร้คำอธิบายสำหรับบางสิ่ง
โตมร : ทนได้สิ ทนได้ สมมติตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่ามีมนุษย์ต่างดาวจริงหรือเปล่า เราก็รู้สึกว่า ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร วันหนึ่งเราอาจจะรู้ก็ได้ หรืออาจจะไม่รู้เลยก็ได้ คือตอนเด็กๆ เราอาจจะเป็นแบบนั้นนะ เคยรู้สึกว่าอยากเป็นประธานาธิบดีอเมริกาจังเลย จะได้ไปดูแฟ้มลับของเขา แต่พอโตขึ้นก็พบว่ายังมีเรื่องอีกเยอะมากที่เราไม่มีทางจะรู้
Life MATTERS : แปลว่านักคิดก็รู้จักต้องปล่อยวาง?
โตมร : นักคิดอาจจะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่นักคิดอาจจะเป็นนักปรัชญา ที่ใช้วิธีอนุมานว่าเมื่อสิ่งนี้เป็นแบบนี้แล้ว สิ่งนี้ก็น่าจะเป็นแบบนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์จะใช้วิธีทดลอง เช่นนักปรัชญาคิดว่าถ้าเราดันแก้วไปเรื่อยๆ สุดขอบโต๊ะแล้วมันต้องตก เพราะอย่างอื่นมันก็ตก แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องทดลองว่าแก้วมันจะตกจริงหรือเปล่า ด้วยการผลักมันไปจนสุดขอบจริงๆ ทีนี้มันก็เลยมีบางเรื่องที่แค่คิดมันหาคำตอบไม่ได้ ทดลองก็ไม่ได้ เลยต้องทิ้งๆ มันไปบ้าง
Life MATTERS : ไม่นานมานี้ คุณเพิ่งรับบทบาทในฐานะ ‘นักแสดง’ ด้วยเช่นกัน
โตมร : ใช่ คือเรื่อง ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ ซึ่งอยู่ๆ เกิดอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ รู้สึกว่าเราอยากเล่นละครเวที เพราะเคยเล่นมาครั้งหนึ่งตอนเรียนปีหนึ่ง เริ่มจากมีเพื่อนชวนไปเป็นเพื่อน try out ละครเรื่องราโชมอน พอเห็นเพื่อนลองทำเราก็อยากลองดูด้วย เขาก็ให้เล่นโมโนล็อก อะไรต่อมิอะไร ก็บังเอิญว่าผ่านทั้งคู่ เลยได้เล่นด้วยกัน
หลังจากนั้นเราพบว่าโลกของละครเวทีมันใหญ่มาก มีผลกับชีวิตค่อนข้างมาก เพราะก่อนหน้านั้นเราเป็นเด็กที่เรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันทำให้เราเห็นโลกในเชิงประจักษ์นิยม เห็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล แต่เรื่องความละเอียดอ่อน การมองสีหน้าของคน การจับความรู้สึกของเขาที่มากระทบกับเรา ท่าทีการเคาะนิ้วของคน การนั่งแบบนี้ การยิ้มแบบนี้ ขมวดคิ้วตรงนี้ มีความหมายยังไง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาเพื่อนำมาสร้างบุคลิกของตัวเองในละครเวที
ซึ่งนี่ไม่ใช่การทำเพื่อเล่นละครเฉยๆ แต่ทำแล้วมันได้เห็นว่าเราจะสามารถรับความรู้สึกของคนได้ยังไงบ้าง เราเข้าใจคนมากขึ้นยังไง สังเกตคนได้มากขึ้นยังไง แต่หลังจากที่เล่นเรื่องราโชมอนเมื่อตอนนั้น เราก็ไม่ได้แตะต้องละครเวทีอีกเลย เพราะเราผันไปร้องเพลงในวงของมหาวิทยาลัยอย่างที่เล่าไป
จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว เพื่อนเราได้เล่นละครเวที เราเองก็ได้ดูละครเวทีหลายๆ เรื่อง เลยทำให้รู้สึกอยากกลับไปในโลกใบนั้นอีกครั้งหนึ่ง เลยป่าวประกาศไปทั่วว่าอยากเล่นละครเวที ปรากฏว่า น้องเบสท์ (วิชย อาทมาท) ที่เป็นผู้กำกับของเรื่องก็มาชวนเราไปเล่น ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ เลยได้กลับไปเล่นละครเวทีอีกครั้งหลังจากที่ผ่านไปกว่าสามสิบปี
Life MATTERS : ยากไหม ในการกลับไปสู่ศาสตร์ที่ห่างหายมานานเหลือเกิน
โตมร : ละครเรื่องนี้ คนที่ร่วมเล่นด้วยกันล้วนแต่อายุ 40 ขึ้นไป แล้วทุกคนเป็นมืออาชีพในด้านละครเวที ทุกคนเก่งมาก แล้วเราเป็นคนที่ไม่ได้เล่นเลย เรารู้เลยว่าตัวเองอ่อนด้อยในทุกด้าน วอร์มอัพเรายังทำไม่เป็นเลย แต่พวกเขาก็ช่วยอุ้มเรา
ละครเรื่องนี้มันบ้าบอคอแตก ถูกตัดเป็นริ้วๆ เป็น fragmented เต็มไปหมด ดังนั้นในแต่ละช่วงอาจไม่ได้ต่อเนื่องกัน ทุกครั้งที่เราเล่นจึงสามารถเล่นใหม่ได้หมดเลย แล้วบางที กับตัวละครบางคนที่อยู่ด้วยกันก็จะเล่นไม่เคยเหมือนกันเลยสักรอบ บางทีเล่นขำ บางทีเล่นเครียด บางทีเล่นเศร้า มันเลยสนุกมาก เพราะการรับส่งแต่ละวันไม่เหมือนกัน แล้วผู้กำกับก็เปิดโอกาสให้เราสามารถเล่นยังไงก็ได้ ตีความยังไงก็ได้
Life MATTERS : ทำไมถึงเว้นระยะมาตั้งสามสิบปี
โตมร : คงเพราะไม่กล้ามั้ง จริงๆ ที่ผ่านมาเราก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับละครเวทีอยู่สองสามครั้งนะ แต่เป็นการไปเขียนบทละครเล็กๆ ให้เพื่อน ไม่ได้เล่นเอง ย้อนไปตอนที่เราเข้ามากรุงเทพฯ ใหม่ ๆ เรารู้สึกว่าโอ้โห มียอดฝีมือเต็มไปหมด แล้วเราก็มีสำนึกว่าเราคงไม่เก่งเท่าเขา เราทำอย่างอื่นให้เขาดีกว่า แต่ตอนหลังก็คิดว่าลองดูเถอะ
Life MATTERS : ความรู้สึกที่ว่าเราไม่เก่งเท่าเขา จัดการได้ยากไหม สำหรับคุณ
โตมร : ความรู้สึกทำนองนี้เรามีกับการเขียนมากกว่า เวลาเราเห็นว่าคนนี้เขียนเก่งจังเลย แล้วเราว่าเราก็เขียนได้ เราจะทำภาษาให้สวยแบบที่เขาทำ หรือทำตรรกะความคิดให้ดีแบบที่เขาทำ เราก็ทำได้ แต่ในการเขียนเอง ถึงแม้เราจะมองว่าเราก็ทำได้เทียมกันหรืออย่างไรก็ตาม เราก็ชื่นชมเขา มันไม่ใช่ความคิดที่ต้องเอาชนะหรือเข่นฆ่ากัน จะเป็นแรงบันดาลใจกันมากกว่า
แต่สำหรับละคร เรามองว่าไม่สามารถเทียบคนเหล่านั้นได้เลย มันเป็นความเจียมตัวแล้วชื่นชมเขา พอต้องมาเล่นเองเราไม่รู้เหมือนกันว่าออกมาแล้วมันดีแค่ไหน ถ้ามองตัวเองก็คิดว่าคงไม่ได้ดีมาก เพราะมันไม่ได้ผ่านการเคี่ยวกรำมาตั้งแต่สมัยก่อน แต่ด้วยความที่คนอื่นๆ โอบอุ้มเราเอาไว้ มันเลยเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก
ตอนแรกคิดว่าเวลาต้องเข้าไปในวงนี้แล้วเราคงจะรู้สึกเป็นคนนอก เพราะทุกคนรู้จักกันหมด แต่ไม่เลย พอเข้าไปแล้วเรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของคนทั้งหมดในเวลาอันรวดเร็วมาก ทั้งที่ปกติเราไม่ใช่คนแบบนั้น
Life MATTERS : ความรู้สึกยินดีที่จะทำ มันคล้ายคลึงกับ ‘อำนาจที่มองไม่เห็น’ ที่คุณเขียนถึงในคำนำของ POWERISM ไหม
โตมร : มันไม่ใช่อำนาจที่บังคับให้เราทำเนอะ แต่เราชอบ อยากทดลอง แล้วเราก็ต้องทำงานหนักมาก เพราะต้องซ้อมเยอะมาก ใช้เวลาตั้งแต่หกโมงถึงสี่ทุ่มเกือบทุกวัน ยิ่งช่วงหลังคือทุกวัน แต่เราเต็มใจ ดังนั้นนี่ไม่ใช่อำนาจในแง่ลบ แต่มันคือความยินยอมพร้อมใจ
แต่ถ้าพูดถึงวิธีกำกับของผู้กำกับเอง ก็คงเป็นวิธีการใช้อำนาจที่ซอฟต์มากๆ คือผู้กำกับบางคนอาจจะกำกับในแบบตายตัว คุณต้องเล่นแบบนี้ ขยับแบบนี้ ล็อกแบบนี้เป๊ะๆ แต่สำหรับเบสท์ เขาเปิดโอกาสให้เราตีความยังไงก็ได้ แล้วใช้อำนาจอยู่ห่างๆ เวลาซ้อมจึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างตัวบท ผู้กำกับ และนักแสดง ที่จะดัดแปลงบทไปด้วยกัน
Life MATTERS : อำนาจแรกในชีวิต ที่คุณตระหนักได้คืออะไร
โตมร : อาจจะไม่ได้เรียกว่าอำนาจเต็มปากเต็มคำ แต่มันจะมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ เช่นการที่เราถูกควบคุมให้ทำโน่นทำนี่ หรือไม่ทำโน่นทำนี่ ถ้านึกย้อนกลับไป ก็จำได้ว่าเราเคยถูกแม่ตี แต่จำไม่ได้ว่าเหตุผลที่ถูกตีคืออะไร ตอนนั้นเราร้องไห้ แล้วบอกว่า แม่บ้า มาตีเราทำไม
นั่นน่าจะเป็นอำนาจแรกๆ แต่มันเป็นอำนาจที่จำเป็นสำหรับเรา พ่อแม่ก็ต้องใช้อำนาจกับลูกเพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นมาได้ สมมติว่าเราไปเล่นน้ำในคลองแล้วแม่ไม่ห้าม เราอาจจะจมน้ำตายก็ได้ นี่จึงเป็นการใช้อำนาจแบบหนึ่งเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่รอด
Life MATTERS : ครั้งแรกๆ ที่เริ่มอึดอัดกับการใช้อำนาจล่ะ?
โตมร : เรานึกถึงอีกเหตุการณ์หนึ่ง จริงๆ ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกหรอกว่ามันคืออำนาจ เพียงแต่รู้สึกว่ามันแปลกๆ คือตอนนั้นเราอยู่ในบ้านที่มีลูกพี่ลูกน้องอยู่ด้วย พอตกเย็นเด็กๆ ก็จะออกมาวิ่งเล่นกัน ส่วนเรากำลังอ่านหนังสือติดพันอยู่ คือเราไม่ได้ตั้งใจว่าจะไม่เล่นหรอก เพียงแต่เรายังอ่านไม่จบ จนมีลุงคนหนึ่งมาบอกว่า เฮ้ย ทำไมไม่ออกไปวิ่งเล่นเหมือนคนอื่นเขา
นั่นทำให้เรารู้สึกแปลกๆ ว่าทำไมเราต้องออกไปวิ่งเล่นเพียงเพื่อให้เหมือนกับคนอื่นเขา ซึ่งเราเองตั้งใจไว้ว่าจะอ่านให้จบก่อน แล้วค่อยออกไปเล่น แต่ทั้งนี้ถ้าเราอ่านจบมันก็อาจจะมืดเกินกว่าที่จะเล่นก็ได้ ยังไงก็ตาม เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นคือการควบคุมที่ค่อนข้างย้อนแย้ง คือปกติแล้วคนเราจะควบคุมให้เด็กอ่านหนังสือแทนที่จะเล่น แต่นี่คือการใช้อำนาจอีกแบบหนึ่งคือให้เด็กไปเล่นแทนอ่านหนังสือ แล้วในนั้นก็จะมีอีกหลายอย่างที่รวมอยู่ เช่นความเป็นผู้ชาย
ภาพคือ เด็กผู้ชายควรจะต้องวิ่งเล่น ปั่นจักรยาน หรือเล่นกีฬา ส่วนการนั่งอ่านหนังสือ มันไม่ใช่ภาพของความแข็งแรงแบบนั้น ซึ่งนี่คืออำนาจที่มองไม่เห็น ที่ซ่อนอยู่ภายใต้การควบคุมที่มากับความหวังดี โดยที่ผู้ใช้อำนาจเองเขาก็อาจไม่รู้ตัวหรอกว่ากำลังควบคุมเรา เขาอาจแค่สงสัยว่าทำไมถึงไม่ออกไปวิ่งเล่น ‘เหมือนคนอื่น’ ซึ่งคำว่าเหมือนคนอื่นเนี่ย มันทำให้เราต้องไป conform อยู่ในกรอบโมเดลความเป็นเด็กแบบที่คนอื่นเขาเป็นกัน
Life MATTERS : เมื่อการรู้สึกถึงอำนาจทำให้เราอึดอัด แล้วการเพิกเฉยเสีย จะใกล้เคียงความสุขกว่าไหม
โตมร : สำหรับบางคนก็อยู่ในกรอบนั้นอยู่แล้ว เขาไม่เดือดร้อนอะไรกับการถูกบอกว่า เฮ้ย ออกไปวิ่งสิ เพราะเขาโตมาในกรอบวิธีคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่ เขาก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่จะไปบอกว่าเขา ignorant รึเปล่า ก็อาจไม่ใช่ เขาอาจจะมีปัญหาเวลาเขาต้องไปอยู่ในวิชาเย็บปักถักร้อยก็ได้ เมื่อมันดึงเขาออกจากกรอบที่เขาคุ้นเคย นั่นอาจทำให้เขารู้สึกว่าถูกบีบคั้นบังคับ สุดท้ายมันก็กลับไปสู่เรื่องหลักสูตรการศึกษา ว่าทำไมถึงต้องบังคับให้คนต้องทำโน่นทำนี่ ในรูปแบบของการเรียน
Life MATTERS : ตัวคุณเอง เมื่อเติบโตขึ้นเคยมีแนวโน้มที่จะเสพติดอำนาจไหม
โตมร : เราชอบพิจารณาตัวเองว่าเราเป็นเผด็จการหรือเปล่า ก็คิดว่าเป็นเป็นเผด็จการในบางเรื่องนะ เช่นเดียวกับทุกคนนั่นแหละ แต่เราจะเผด็จการในพื้นที่ที่รู้ว่าเราทำได้ เช่นในบ้าน ของที่โต๊ะทำงานมันจะต้องอยู่แบบนี้ ห้ามคนมายุ่ง แบบนี้ถือว่าเสพติดอำนาจไหมนะ? มันก็เป็นอำนาจในพื้นที่เล็กๆ ของตัวเองเนอะ
เวลาเราเขียนงานก็จะมีคนพูดว่าเรามี power ในการชี้นำสังคม ชี้นำให้เยาวชนคิดแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งเราคิดว่าเราไม่ได้ไม่ชี้นำ คือเราชี้นำแน่ๆ เพื่อจะบอกว่าเราคิดแบบนี้ แต่ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องมาเชื่อหรือมาคิดแบบเรา แต่ถ้าเราไม่สามารถแม้แต่จะบอกออกไปว่าเราคิดแบบนี้ เพราะกลัวจะถูกหาว่าชี้นำ แบบนี้เราก็คงพูดอะไรไม่ได้เลย นอกจากสิ่งที่อยู่ภายใต้กรอบการชี้นำอันใหญ่มาก ที่บอกว่าทุกคนต้องพูดไปในทางเดียวกัน ซึ่งการบอกว่าต้องไม่ชี้นำนี่เอง มันคือการชี้นำใหญ่เลยล่ะ
Life MATTERS : ความสุขในช่วงอายุ 40 ปีของคุณคืออะไร
โตมร : น่าจะเป็นการได้กลับไป 30 ใหม่ ตอนนี้เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นคนที่อายุจะ 50 ก่อนหน้านี้อาจจะรู้สึกเหนื่อยล้า แต่ตอนนี้รู้สึกว่าชีวิตมันโอเค ไม่ได้มีความกังวลใจในชีวิต ถ้าจะมีก็มีแค่คำถามที่ว่า สังคมนี้ เราจะอยู่กันไปแบบนี้ใช่ไหม แต่มันก็ใหญ่เกินกว่าจะเปลี่ยนโดยเรา เราก็ทำเท่าที่จะทำได้
เพื่อนรุ่นเดียวกันอาจจะไปสู่สเต็ปอื่น บางคนคิดว่าต้องวางมือ ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ หรือบางคนเป็นผู้บริหาร แต่เราเองไม่อยากเป็นบรรณาธิการบริหารที่ต้องทำแต่หน้าที่บริหาร เรายังอยากเขียนหนังสืออยู่เสมอ อยากไปหาข้อมูล ไปคุยกับคน หาความรู้ใหม่ๆ ใส่เข้ามา แต่ก็ไม่แน่ อีก 2 ปี พออายุ 50 แล้วอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้
Life MATTERS : เคยมีความรู้สึกที่ว่าไม่เข้าใจเด็กสมัยนี้บ้างไหม
โตมร : ไม่มี มีแต่ความไม่เข้าใจผู้ใหญ่สมัยนี้บางคน ว่าเขาไม่เคยเป็นเด็กหรือยังไง การที่เด็กจะไม่เข้าใจผู้ใหญ่เป็นเรื่องปกติมาก เพราะเด็กไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจเด็กนี่สิ เราว่าผิดปกติ ทำไมยิ่งแก่ขึ้นไปก็ยิ่ง conservative มากขึ้น
Life MATTERS : คุณกลัวการแก่เฒ่าหรือเปล่า
โตมร : น่าจะกลัวนะ ไม่อยากแก่ เดี๋ยวอาจจะไปทำหน้า (หัวเราะ) ไม่หรอก เราแค่กลัวว่าร่างกายมันจะไม่ไหวแล้ว เดี๋ยวนี้ก็เริ่มเป็น อ่านอะไรก็จำไม่ได้ทั้งหมดเหมือนเมื่อก่อน บางเรื่องบางทีก็ยัดไม่เข้า ก็ต้องมานั่งท่อง พยายามจำให้ได้ ถ้าจะกลัวก็เป็นแง่นั้นแหละ กลัวว่าสมองจะไม่โอบรับสิ่งใหม่ๆ เหมือนที่เคยเป็น
อีกอย่างก็คือเรื่องร่างกาย กลัวว่าจะไปเดินเขาไม่ได้แล้วเพราะข้อเข่าเสื่อม ซึ่งการป่วยครั้งล่าสุดที่เราเป็นบ้านหมุน ทำให้รู้เลยว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของร่างกาย อยู่ๆ บ้านจะหมุนรุนแรงขึ้นมา มันก็เป็น
Life MATTERS : กิจกรรมต่างๆ เช่นการไปเดินเขา หรือกระทั่งละครเวที ดนตรี และสิ่งต่างๆ ที่คุณทำ มีส่วนให้คุณรู้สึกหลุดออกจากอำนาจบางอย่างไปได้ไหม
โตมร : ก็อาจจะนะ เช่นเวลาร้องเพลง เราได้เปล่งเสียงดังๆ ออกมา มันก็ช่วยปลดปล่อยบางอย่าง หลังจากที่เราถูกขังอยู่ในกรอบอำนาจบางอย่างอยู่ตลอดเวลา ช่วงเวลาที่เราได้ทำอะไรบางอย่างที่ทำให้เราไม่ได้คิดอะไร หรือลืมตัวตนของเราไป มันทำให้เราหลุดพ้นจากอำนาจ ซึ่งเวลาร้องเพลง เล่นละคร หรือกระโดดร่ม ก็ทำให้เราเป็นแบบนั้น เพราะเราไม่ได้เป็นตัวเอง
คือคนเราจะหลุดพ้นจากอำนาจไม่ได้ นอกจากเราจะไม่มีตัวตนอยู่เพื่อให้อำนาจมาครอบงำ เมื่อไหร่ที่เรามีตัวตนก็จะมีทุกอย่างมากระทำกับเราอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันตัวตนนั้นก็ไปกระทำคนอื่นด้วยเหมือนกัน ดังนั้นอำนาจไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นทำกับเราเท่านั้น แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
ดังนั้น ช่วงเวลาที่เราจะหลุดจากการทำงานของอำนาจได้ ก็คือชั่วขณะที่เราพ้นไปจากตัวตนของเรานั่นเอง
Photos by Adidet Chaiwattanakul