ฮารูกิ มูราคามิ คือนักเขียนชายชาวญี่ปุ่นที่คนทั่วทั้งโลกต่างจดจำชื่อของเขาได้ ไม่ใช่จากการที่เจ้าตัวมีโอกาสเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมหลายรอบ และยังคว้ารางวัลกลับบ้านไม่ได้ แต่ผู้คนยังจดจำเขาได้จากความสามารถในการรีดความเหงาผ่านตัวอักษรให้ออกมาเป็นหนังสือมากมาย
เรื่องราวที่มูราคามิเล่ามักจะเกี่ยวกับคนเมืองที่อุดมไปด้วยความเหงา อุดมไปด้วยนัยแฝงมากมาย มีความพิสดารสอดแทรกเข้าไปอยู่เป็นนิจ และเนื้อหาส่วนใหญ่ที่มักจะจบแบบปลายเปิด กลายเป็นว่าสิ่งที่ผู้อ่านแต่ละคนได้จากการอ่านหนังสือของมูราคามิกลับแตกต่างกันออกไป ถึงขั้นที่มีคนเคยนิยามว่าเขาเป็น เจ้าพ่อวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์น
จากการคลุกคลีอยู่ในวงการน้ำหมึกมาแรมปี มูราคามิจึงมีผลงานอยู่หลายชิ้นที่หลายคนจับจ้องจะนำไปดัดแปลงเป็นงานแขนงอื่น แต่อาจจะเพราะว่างานของเขามีความเป็นปัจเจกอยู่มาก การสร้างเป็นสื่อบันเทิงแนวอื่นๆ อาจจะไม่ค่อยเป็นเรื่องบันเทิงเท่าใดนักสำหรับผู้สร้างหลายๆ คน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครอยากลองดัดแปลงผลงานของชายผู้นี้ อย่างล่าสุดก็เป็นคราวของ อีชางดง (Lee Chang-dong) ผู้กำกับและผู้เขียนบทชาวเกาหลีใต้ที่หยิบเอาเรื่องสั้นเรื่อง ‘มือเพลิง’ (Barn Burning – ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน) มาสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวกว่าสองชั่วโมงที่ใช้ชื่อสั้นๆ ว่า Burning
The MATTER จึงพาไปสำรวจว่ามีหนังสือเล่มไหนของมูราคามิที่เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วบ้าง
Burning (2018)
ดัดแปลงจากเรื่องสั้น ‘มือเพลิง’ (Barn Burning)
อีจงซู ชายหนุ่มผู้ยากไร้ผู้มีอดีตอันซับซ้อนได้ไปพบกับ ชินแฮมี หญิงสาวแปลกประหลาดที่กลายเป็นว่าเธอคืออดีตเพื่อนบ้านที่เขาห่างเหินไปนาน ทั้งสองกลับมาสานสัมพันธ์เพราะหญิงสาวอยากให้ชายหนุ่มดูแลแมวที่เธอเลี้ยงไว้ระหว่างที่เธอเดินทางไปต่างประเทศ เวลาผ่านไป ชินแฮมี เดินทางกลับมาบ้านเกิดและร้องขอให้อีจงชูมารับ แต่ครั้งนี้เธอกลับมาพร้อมกับ เบน ชายหนุ่มร่ำรวยที่หญิงสาวบอกว่าพบเจอระหว่างการเดินทาง จากจุดนี้เอง เชื้อไฟที่พร้อมจะแผดเผาความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนกับผู้หญิงอีกหนึ่งคนจึงได้ถูกจุดขึ้น
Hear The Wind Sing (1981)
ดัดแปลงจากนวนิยาย สดับลมขับขาน
ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือเล่มแรกของมูราคามิ และเป็นเล่มแรกของ ไตรภาคแห่งมุสิก (Trilogy of the Rat) เรื่องราวเล่าย้อนกลับไปในปี 1970 ในจังหวะที่ธุรกิจญี่ปุ่นยังเบิกบาน วัฒนธรรมจากอเมริกากลายเป็นความบันเทิงที่เหล่าผู้มีอันจะกินในแดนอาทิตย์อุทัยยุคนั้นเลือกเสพ ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักษาศึกษาในประเทศก็เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงไคลแมกซ์ แต่ในเรื่องนี้จะพูดถึงชีวิตของ ‘ผม’ ที่เคยเป็นนักศึกษาในโตเกียวแล้วกลับมายังเมืองบ้านเกิดในชายหาด ก่อนจะแวะเวียนไปดื่มเบียร์กับเพื่อนสนิท ‘มุสิก’ ในบาร์ชื่อ Jay’s Bar ทั้งสองบอกเล่าและพบเจอเรื่องราวเหนือความคาดหมายอยู่มาก ตั้งแต่การที่แฟนเก่าของ ‘ผม’ ฆ่าตัวตาย, การได้พบเจอสตรีเก้านิ้ว, การขับรถเฟียตไปคว่ำแต่ก็ยังปลอดภัยไร้บาดแผล ฯลฯ
ฉบับภาพยนตร์คนแสดงพยายามเดินเรื่องตามรอยพล็อตหลักของหนังสือ และใช้เทคนิคการทำหนังเพื่อคงบรรยากาศการเล่าเรื่องจากมุมมองบุคคลที่หนึ่งไว้ อย่างการให้ตัวละครพูดกับกล้องโดยตรงหลายครั้ง แต่ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนบ้างตามการโยกย้ายมายังสื่อแบบใหม่ เช่น การปรับให้มุสิกมาถ่ายหนังแปดมิลลิเมตรแทนการเขียนนิยาย รวมถึงการปรับบทบางอย่างให้เป็นการเล่าเรื่องที่มาจาก พินบอล, 1973 (Pinball, 1973) อันเป็นนิยายเล่มต่อ และมีการปรับปีที่เดินเรื่องมาจากฉบับเดิม เนื่องจากสถานที่บางอย่างในท้องเรื่องเดิมถูกบดบังทัศนียภาพด้วยไฮเวย์ไปแล้ว
Tony Takitani (2004)
ดัดแปลงจากเรื่องสั้น ‘Tony Takitani’
หนังค่อยๆ ร้อยเรียงเรื่องของ โทนี่ ทาคิทานิ ศิลปินชายชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อตัวเป็นชื่อฝรั่ง ด้วยความที่ชื่อนั้นแปลกไม่ธรรมดา จึงทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นนามปากกา แต่ความจริงแล้วคือชื่อจริงที่ได้พ่อผู้เป็นอดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่สองเป็นผู้ตั้งให้ แต่เนื่องจากแม่ของเขาตายตั้งแต่มอบชีวิตให้ ทำให้เด็กชายโทนี่ต้องอาศัยอยู่กับพ่อ ที่ภายหลังกลายเป็นนักดนตรีแจ๊ซที่ประสบความสำเร็จ ชีวิตของโทนี่ไม่มีโอกาสสัมพันธ์กับคนมากนัก เขาจึงใช้ชีวิตอยู่กับการผลิตงานศิลปะหลายชิ้น เวลาผ่านไปโทนี่ตกหลุมรักลูกค้าคนหนึ่งและขอเธอแต่งงาน แม้ว่าชีวิตคู่จะสุขสม แต่ภรรยากลับเสพติดการซื้อของจนวันหนึ่งงานอดิเรกก็เป็นสาเหตุในการพรากชีวิตเธอไป โทนี่ผู้เป็นสามีต้องอยู่กับความเปล่าเปลี่ยวอีกครั้ง เขาถึงขั้นจ้างผู้ช่วยหญิงและขอให้ใส่เสื้อผ้าของอดีตภรรยาในการทำงาน แต่สุดท้ายเขาก็เข้าใจว่าไม่มีใครมาแทนใครได้ แต่เมื่อพ่อของโทนี่เสียชีวิตไปอีกคน จะมีสิ่งใดหลงเหลืออยู่ในใจของชายชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเป็นคนต่างถิ่นคนนี้อีก
นอกจากจะเป็นการดัดแปลงผลงานของมูราคามิแล้ว หนังเรื่องนี้ยังได้ผู้กำกับที่ถนัดในการให้ฉากได้ปลดปล่อยพลังการเล่าเรื่องให้ผู้ชมอย่าง อิชิคาวะ จุน มากำกับ ทั้งยังได้นักดนตรีอย่าง ซากาโมโตะ ริวอิจิ มาช่วยเสริมความรัก ความคิดถึง ความเหงา หนังได้รับความชื่นชมในการใช้นักแสดงที่ไม่มาก (นักแสดงหลักทั้งพระเอกนางเอกรับบทเป็นตัวละครหลายตัว) กับการจัดฉากตลอดทั้งเรื่องที่ทำให้เราได้เข้าถึงความรู้สึกของตัวโทนี่ ณ ช่วงขณะนั้น
และอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นผ่านตาเกี่ยวกับรีวิวของหนังเรื่องนี้ก็คือ ข้อถกเถียงของคนดูเกี่ยวกับประเด็นแฝง ไม่ต่างอะไรกับที่คนอ่านหนังสือของมูราคามิมักจะได้อะไรกลับไปไม่เหมือนกันนั่นเอง
All God’s Children Can Dance (2008)
ดัดแปลงจากเรื่องสั้น All God’s Children Can Dance
ไม่ได้มีแค่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่อยากจะดัดแปลงผลงานของมูราคามิ แม้แต่โลกตะวันตกก็สนใจการนำหนังสือมาดัดแปลงให้หลายเป็นหนังเช่นกัน และนักทำหนังในอเมริกาส่วนหนึ่งก็ได้หยิบยกเอาเรื่องสั้น All God’s Children Can Dance มาเป็นภาพยนตร์ โดยปรับเนื้อเรื่องให้อยู่ในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา แทนที่จะอยู่ในญี่ปุ่นตามเนื้อเรื่องต้นฉบับ เนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับชายที่ถูกแม่ของเขาบอกกล่าวว่าตัวเขานั้นเป็น ‘บุตรของพระเจ้า’ วันหนึ่งเขาได้บังเอิญเดินทางไปเจอผู้ชายที่ลักษณะคล้ายกับคนที่น่าจะเป็นพ่อของตัวเอง ตัวเอกจึงสะกดรอยตายชายคนดังกล่าว และได้เจอกับเรื่องแปลกประหลาดที่กลายเป็นบททดสอบความนึกคิดชวนละเมิดศีลธรรมที่ซุกซ่อนอยู่ในใจของเขา
นอกจากสถานที่การเดินเรื่องที่เปลี่ยนไป หนังยังปรับเปลี่ยนให้ตัวละครหญิงที่ในเรื่องสั้นจากคนที่ไม่มีความสัมพันธ์กันให้มาเป็นผู้หญิงที่คบหาอยู่ แต่เหมือนว่าการปรับแก้พล็อตสำหรับหนังฉบับนี้ดูจะไม่ค่อยเวิร์กเท่าใด เพราะบทวิจารณ์เท่าที่หาพบก็ไม่ค่อยแฮปปี้กับการที่หนังพยายามจะเป็น ‘หนังหว่อง’ มากกว่า ‘หนังมูราคามิ’ และหนังใช้เวลาราวสองปีกว่าที่จะได้ไปฉายในญี่ปุ่น …การทำหนังจากหนังสือของมูราคามินั้้นไม่ใช่อะไรที่ง่ายเลย
Norwegian Wood (2010)
ดัดแปลงจากนวนิยาย ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย
สังคมญี่ปุ่นมีความเปลี่ยนแปลงมากมายในปี 1969 โทรุ วาตานาเบะ ต้องประสบกับเรื่องชวนเศร้าใจ เมื่อเพื่อนสนิทของเขาอย่าง คิซึกิ ได้ปลิดชีวิตตัวเองเพื่อพ้นทุกข์ และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ที่เขาเคยมีกับ นาโอโกะ แฟนสาวของคิซึกิที่มีปมด้านอารมณ์จากประสบการณ์ในชีวิตก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงไป เพราะจริงๆ แล้วโทรุแอบหลงรักนาโอโกะอยู่แต่ก็ไม่คิดจะกระชับความสัมพันธ์ ด้วยความที่เดิมทีพวกเขาพอใจกับภาวะรักสามเส้า แต่เมื่อเหลือกันอยู่เพียงสองคน ทั้งสองคนจึงเริ่มก่อความสัมพันธ์ และหลังจากนั้นนาโอโกะได้ตัดสินใจเดินทางไปฟื้นฟูตัวเองในสถานพักฟื้นอันห่างไกลเกินกว่าที่โทรุจะตามตัว แล้วก็เป็นช่วงนั้นเองที่โทรุได้พบกับ มิโดริ เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยที่เป็นคนสดใสตรงข้ามกับนาโอโกะ ซึ่งนั่นทำให้เขาหลงใหลมิโดริ ทำให้ภาวะรักสามเส้าชวนกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกลับมาอีกครั้ง และคราวนี้อาจจะเป็นตัวโทรุเองที่ต้องตัดสินใจว่าเขาจะเดินชีวิตไปทิศทางไหนต่อ
ด้วยความที่เป็นหนังสือที่คนรู้จักมากที่สุดของมูราคามิ ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกจับตาอยู่ไม่น้อย หนังได้ผู้กำกับชาวเวียดนาม Tran Anh Hung มากำกับ และได้รับคำชมในส่วนการนำเสนอภาพงดงามชวนเหงา แม้ว่าจะมีคนและเหตุการณ์วุ่นวายมากมายเกิดขึ้นอยู่ในฉากหลัง ด้านเนื้อหาของหนังก็ยังสอดคล้องกับนวนิยายต้นฉบับ ซึ่งทำให้มีคนติว่าหนังเป็นแค่การสรุปเนื้อเรื่องของนิยายเท่านั้น รวมไปถึงว่ามีการปรับมู้ดของตัวละครมิโดริให้โดดเด่นน้อยลงเล็กน้อย จนแฟนหนังสือบางคนอาจจะไม่พอใจนักและบอกว่าคนทำหนังไม่เข้าใจหนังสือ แต่ในทางกลับกันก็มีคนบอกว่าการปรับเปลี่ยนนี้คือการปรับปรุงให้เนื้อหาของทั้งเรื่องเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น
ซึ่งก็เป็นการยืนยันอีกครั้งว่า แม้แต่ในภาพยนตร์ ผลงานของมูราคามิก็ให้คำตอบกับคนดูได้แตกต่างกันไม่แพ้ฉบับน้ำหมึกเลย
การดัดแปลงหนังสือของมูราคามิเป็นสื่ออื่นๆ
นอกจากที่จะมีหนังยาวตามที่กล่าวถึงไปแล้ว หนังสือของฮารูกิ มูราคามิ ยังถูกดัดแปลงเป็นหนังสั้นอีกหลายครั้ง ทั้งในบ้านเกิดของตัวเองหรือในต่างประเทศ แม้แต่บ้านเราเองก็เคยมีคนทำหนังสั้นที่ได้แรงบันดาลใจหรือยกส่วนใดส่วนหนึ่งมาจากหนังสือของมูราคามิมาแล้ว นอกจากภาพยนตร์แล้วยังเคยมีการทำละครเวที วิดีโอเกม หรือแม้แต่ดนตรีที่ได้แรงบันดาลใจจากการที่มูราคามิสอดแทรกข้อมูลดนตรีแจ๊ซไว้ในหนังสือของเขาอย่างต่อเนื่อง และถ้าหลายคนคิดว่าเรื่องราวที่มูราคามิพยายามนำเสนอนั้นตีความยากเย็น ก็อย่าได้แปลกใจไปเพราะในประเทศญี่ปุ่นเองถึงขั้นมีคู่มือสำหรับการอ่านหนังสือมูราคามิในแง่มุมต่างๆ จัดจำหน่ายต่างหากอีกด้วย
เมื่องานของ ฮารูกิ มูราคามิ มีมากเหลือ แถมยังมีการพยายามตีความระดับต้องทำบทสรุปมาใช้ช่วยอ่าน Burning คงจะไม่ใช่การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายแน่นอน บางทีหนังสือของมูราคามิทุกเล่มเองก็คงรอผู้กำกับที่มีไอเดียนำเสนอเหงาๆ แปลกๆ อยู่ก็ได้นะ