แทบจะทุกปีหลังช่วงลอยกระทง (ซึ่งก็คือช่วงนี้แหละครับ) ผมจะต้องมีเรื่องหงุดหงิดใจทุกครั้งไปกับข่าวเกี่ยวกับ ‘โคมลอย’ ที่มักลอยกันไปทั่วภาคเหนือในช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะหลังเทศกาลลอยกระทง ซึ่งก็มีข่าวให้เห็นทุกปีว่ามีคนบ้านไฟไหม้ กระทั่งตายก็มี และแน่นอนว่าในปีนี้ แม้จะเพิ่งเริ่มต้นเทศกาลลอยโคม ก็ไม่ทำให้ผมผิดหวังจริงๆ สร้างความหงุดหงิดจนอดเอามาพูดถึงไม่ได้ (หงิดแรงแซงเรื่อง D&G กับจีนไปเลย)
เรื่องในครั้งนี้เริ่มมาจากที่มีผู้โดยสารถ่ายรูปขณะที่อยู่บนเครื่องบินครับ แล้วจากหน้าต่างตรงที่นั่งผู้โดยสาร พบโคมจำนวนมากลอยมาเป็นแพเลย ระดับความสูงจะโดนเครื่องบินเอาได้ง่ายๆ ทางเพจ ‘บินดีอยู่ดี’[1] จึงนำภาพมาโพสต์ แล้วอธิบายถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ตัวผมเองมาเห็นจากการแชร์โพสต์นี้โดยเพจ ‘วิวาทะ V.2’[2] ต่ออีกที และเมื่อเข้าไปอ่านคอมเมนต์แล้วก็ได้แต่หงุดหงิดเพลียใจเป็นการหนัก ด้วยคอมเมนต์ที่ว่าไว้ประมาณว่า
“โคมลอยเป็นประเพณีที่มีมานานดั้งเดิม มีก่อนเครื่องบนอีกนะคะ แล้วปีนึงก็มีเทศกาลลอยกระทง แค่ปีบะ หน แต่เครื่องบินแม่งบินทุกวัน วันละกี่รอบ แค่นี่อะลุ่มอะร่วยกันไม่ได้เลยหรอ คะ ถ้าไม่รู้จักคำว่าวัฒนธรรมประเพณี มึงก็อย่าออกไปลอยกระทงนะอยู่แต่น่าคีบอดของมึงไปคะ” เป็นต้น
มีความคิดเห็นในลักษณะนี้อีกเยอะนะครับ และดูจะได้รับเสียงเชียร์ไม่น้อยทีเดียว อ่านแล้วผมก็ได้แต่ท้อใจว่า เออ ประเทศนี้มันยังต้องคุยกับกะอีแค่เรื่องพื้นฐานมากๆๆๆๆๆๆๆ แบบนี้จริงๆ สินะ เพราะฉะนั้นแล้ว ผมจะพยายามแตกประเด็นแล้วตอบชัดๆ ทุกจุดเท่าที่จะทำได้ที่สุดนะครับ
เริ่มด้วยประเด็นแรกก่อน ที่เหล่าคนอ้างความดีงามของวัฒนธรรมชอบยกขึ้นมาก็คือ ‘วัฒนธรรม (ที่ตนกำลังปกป้อง) มีมาก่อน’ (เครื่องบิน/ประชาธิปไตย/สิทธิมนุษยชน/ฯลฯ ตามแต่จะอ้าง) ซึ่งในจุดนี้เราสมมติให้จริงก่อนนะครับว่า สมมติว่ามีมากก่อนจริงๆ (แม้ว่าผมจะไม่เชื่อโดยเด็ดขาดว่า ประเทศไทยมีประเพณีลอยโคมมาตั้งแต่ ค.ศ. 1789 หรือ พ.ศ. 2332 แล้วก็ตาม – นี่ผมนับแบบอย่างช้าให้นะครับ คือปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ได้นับ Bill of Rights ของอังกฤษ) การมีมาก่อนมันมากำหนดค่าความชอบธรรมอะไรได้?
หากการมาก่อน หรือมีอยู่ก่อนเป็นคุณค่าแกนกลางจริงๆ เช่นนั้น ‘การเปลี่ยนแปลงใดๆ’ ก็เกิดขึ้นไม่ได้หรอกครับ
การเกิดขึ้นของการเมืองแบบประชาธิปไตย คุณค่าแบบเสรีนิยม ระบบรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับประชาชนเป็นใหญ่ และเป็นเจ้าของชีวิตและประชารัฐของตนนั้น คุณเชื่อจริงๆ หรือว่ามันเกิดขึ้นมาได้ “โดยไม่ได้มีการทำลายหรือเลิกล้มวัฒนธรรม, โครงสร้างทางสังคม, หรือกระทั่งชุดความคิดที่มีมาก่อนหน้ามัน?” ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง มันคือการปะทะสังสรรคันนำไปสู่ ‘การคัดเลือกผู้อยู่รอดในทางสังคมวัฒนธรรม’ ทั้งนั้นแหละครับ ไม่งั้นกล้องฟิล์มมันคงไม่เจ๊งเมื่อเกิดกล้องดิจิทัลขึ้นมา (เพราะกล้องฟิล์มมีมาก่อน) ไม่งั้นระบบการล้างแค้นตามใจชอบก็คงยังมีอยู่ ไม่เช่นนั้นระบบการลงโทษคนผิดตามดวงตามความอึดในการกลั้นหายใจก็คงจะดำเนินต่อไป ‘หากสิ่งใหม่ต้องหลีกทางให้สิ่งที่มีอยู่ก่อนเสมอ’
อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้เขียนมาเพื่อจะบอกว่าเมื่อของใหม่มา ของเก่าต้องโยนทิ้งทั้งหมดนะครับ เปล่าเลย หากจะต้องพูดบนฐานของ ‘ใครต้องหลีกให้ใคร’ ในเชิงสังคมแล้ว ของเก่าเสียด้วยซ้ำที่ต้องหลีกทางให้กับของใหม่ คือ อย่างงี้นะครับ มันแทบไม่มีประเทศไหนในโลกหรอกครับที่เกิดมาแล้วก็พร้อมเลยกับการเป็นประชาธิปไตย การเคารพในความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเชิดชูคุณค่าและชีวิตของเพื่อนมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด บลาๆๆ เพราะทุกสังคมมันมี ‘เชื้อมูลก่อนความเป็นประชาธิปไตย’ แทบทั้งนั้นครับ ที่รวมทั้งคติความเชื่อ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ต่างๆ ของชุมชนการเมืองนั้นๆ ไว้ และนี่เองที่เป็นเหตุผลให้ประชาธิปไตยไม่ได้สร้างได้ในวันเดียว ทั้งพร้อมๆ กันไป มันเป็นเหตุผลในการคงไว้ซึ่งระบอบและหลักคิดที่ว่านี้ด้วย
ที่ผมพูดเช่นนี้ก็เพราะว่า เมื่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยถูกเลือก หรือถูกยอมรับให้เป็นแนวทางหลักในการปกครองประเทศ และกำกับระเบียบโลก ก็ต้องมาไล่ดูกันว่า “ไอ้เชื้อมูลเดิมก่อนความเป็นประชาธิปไตยอันใด ที่มันส่งผลในการทำลายแก่นของตัวระบอบนี้ได้ โดยเฉพาะในทางปฏิบัติ” (คือ อะไรที่อยู่ในระดับความนึกคิด หรือข้อเรียกร้องทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบในทางปฏิบัตินั้น ก็ยังสามารถถกเถียงกันต่อไปได้ว่าทำได้ไหมตามฐานคิดประชาธิปไตย ซึ่งจุดนี้แล้วแต่มุมมองมากๆ ครับ) เช่น ในระบอบประชาธิปไตย ที่เชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันและคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นแกน เชื้อมูลเดิมอย่างการลงโทษประหารชีวิตอย่างสุดแสนทรมาณและทำลายความเป็นมนุษย์ก็ต้องยุติไป (และหากจะเอาให้ถูกก็คือ ต้องยกเว้นโทษประหารชีวิตทั้งหมดด้วย) หรือ การกำหนดบทลงโทษโดยอิงกับดวง อย่างในกฎหมายตราสามดวง หรือ การอยากสั่งประหารหรือลงโทษคนในปกครองอย่างไรก็ได้ตามแต่ใจและอารมณ์ของผู้เป็นนายจะเห็นดีเห็นงาม อย่างในยุคไพร่-ทาสในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้คือ เชื้อมูลที่มีมาก่อน ‘ประชาธิปไตยและคุณค่าของความเป็นคน’ ทั้งสิ้นครับ แต่มันมีผลที่ทำลายคุณค่าอันเป็นแก่นกลางหลักของ ‘สิ่งที่มาใหม่แต่กลายเป็นจุดยืนร่วมหลักของสังคม’ แบบในทางปฏิบัติเลย คือ มีคนที่ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องได้รับความไม่เป็นธรรมจาก ‘เชื้อมูลเหล่านี้โดยตรง’ ฉะนั้นเชื้อมูลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามแต่ วัฒนธรรมหรือชุดความคิดก็ตาม ก็ต้องถูก ‘ละทิ้งไป’ เพื่อให้คุณค่าแบบใหม่เข้ามาแทน เพราะฉะนั้นกรณีแบบอีการลอยโคมเนี่ยนะครับ มันไม่ใช่เรื่องที่จะอ้างการมาก่อน แล้วต้องได้รับพื้นที่ก่อนได้เลย ไม่เพียงเท่านั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วประเด็นแกนหลักของมันนั้น ‘ไม่ใช่เรื่องว่าการลอยโคมมีมาก่อนเครื่องบิน’ (ซึ่งก็ไม่ไม่น่าจะจริงอีก แต่สมมติว่าจริงละกัน) ฉะนั้นเครื่องบินจึงควรต้องหลีกทางให้โคมด้วยครับ ที่เขาอยากให้หยุดการลอยโคมโดยไร้การควบคุมแบบนี้ ก็เพราะมันคือเรื่องของ “การมีโอกาสทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิตได้ เพียงเพื่อสนองความสนุกชั่ววูบของตน” ที่มันขัดกับหลักการพื้นฐานมากๆ ของสิทธิมนุษยชนที่ว่า “มนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง โดยผู้ใดจะมาพรากไปมิได้”
เรื่องง่ายๆ พื้นฐานมากๆ แค่นี้เลยครับ ไม่ใช่เรื่องว่า เอาความสุขของคนรวยมาสำคัญกว่าความสุขของคนเดินดินกินข้าวแกงเลย! มันคือเรื่องของ “ความสุขของคนบางคนชั่วแวบหนึ่ง vs ความเสี่ยงต่อชีวิตทั้งชีวิตของอีกคนหนึ่ง” น่ะครับ ฉะนั้นอย่าพยายามอ้างเรื่องชนชั้นมาเบี่ยงเบนประเด็นเลย
นอกจากนี้ ตะกี้นี้ผมยังบอกอีกว่านอกจากการมาใหม่ของประชาธิปไตยนำมาซึ่งการ “ละทิ้งประเพณีวัฒนธรรมที่มีมาก่อนและไม่ไปตามครรลองของวิถีคิดของระบอบใหม่นี้” แล้ว ประชาธิปไตยยังเป็นเหตุผลให้กับคนที่อยากจะรักษาประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ของตนเอาไว้ด้วย เพราะ “หลังจากที่คัดเอาประเพณีวัฒนธรรมที่มันขัดกับทิศทางของตัวระบอบอย่างแรงออกไปแล้ว” นั้น ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองจริงๆ จังๆ แบบเดียวนี่แหละครับ ที่โดยตัวกลไกมันเองเลย อนุญาตให้ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมสามารถดำเนินต่อไปได้ ใครใคร่เชื่อแบบไหน อยากทำแบบไหนก็เชิญเชื่อไป โดยไม่ต้องมาฆ่ากันตีกันตายนั่นเอง ฉะนั้นในแง่นี้ ประชาธิปไตยเองเสียด้วยซ้ำที่เปิดช่องให้วัฒนธรรมสารพัดแบบทั้งเก่าและใหม่ มีโอกาสหลุดรอดไปได้ในระยะยาว
ในการเมืองระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือศาสนจักร หรือฟาสซิสต์ หรือคอมมิวนิสต์ก็ตามที หากมีแนวคิดอะไรที่ไม่ถูกใจพวกเขา แม้จะเป็นการส่วนตัว ก็สามารถถูกสั่งหรือทำให้กลายเป็นของต้องห้าม หนังสือถูกนำมาเผาทิ้งทำลายนั้นเกิดขึ้นได้หมดนะครับ และทุกอย่างขึ้นกับการตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว แต่ในกลไกของระบอบประชาธิปไตยนั้น มันป้องกันสิ่งเหล่านี้อยู่ และก็ไม่ได้เลือดเย็นกับของเดิมที่ถูกตัดทิ้งออกอย่างในระบอบเผด็จการที่คิดจะเผาก็เผาด้วย หากท่านสามารถประยุกต์ หาวิธีพลิกแพลงให้การมีอยู่และดำเนินไปของประเพณีนั้นๆ วางอยู่บนฐานที่ไปได้กับครรลองของระบอบคิดแบบประชาธิปไตยแล้ว ระบอบนี้ก็พร้อมจะอ้าแขนรับวัฒนธรรมเก่าแก่นั้นมาได้อีกครับ
โดยสรุปแบบชัดๆ เลยก็คือ การอ้างเรื่องความเก่าแก่ไม่สามารถนำมาใช้อ้างใน ‘ชั้นใดๆ’ ของตรรกะเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เลยครับ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าหยุดเถอะครับวิธีคิดแบบนี้ ที่มักง่ายเห็นแก่ ‘ความเคยชิน ความชอบส่วนตัวของตนในช่วงเวลาสั้นๆ’ แต่ไปทำให้คนอีกมากเสี่ยงได้
ต่อให้ไม่มีเครื่องบิน ท่านจะมั่นใจได้อย่างไรว่าโคมที่ท่านลอยจะไม่ไปตกใส่หัวหรือบ้านใคร? และเมื่อมันเกิดเรื่องมา ก็ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบอีก เพราะไม่รู้เป็นโคมของใคร การลอยโคมเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งสำนึกรับผิดชอบ (Accountability)ในทุกมิติจริงๆ ครับ ซึ่งไปไม่ได้เลยกับวิถีชีวิตที่นับถือสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง และระบบตรรกะหลักของสังคมประชาธิปไตยที่มีกฎหมายเป็นใหญ่นั้น ก็ทำงานผ่านการมี ‘ความเชื่อใจ’ (trust) เป็นที่ตั้ง
ความเชื่อใจที่ว่านี้คืออะไร มันก็คือ การที่เรารู้สึกว่าการกระทำทุกอย่างมันวางฐานอยู่บนตรรกะว่า ‘การกระทำย่อมมาพร้อมความรับผิดชอบเสมอ’ (Action comes with accountability) ฉะนั้นเราจึงเดินถนนทุกวันได้ โดยไม่ต้องรู้สึกหวาดระแวงเกินเหตุว่าจะมีใครวิ่งเข้ามาแทง หรือลากไปข่มขืน เพราะเราเชื่อว่ามันมีกฎหมายและบทลงโทษกำกับอยู่ หากใครจะทำอะไรแบบนั้น พวกเขาก็ต้อง ‘รับผิดชอบจากการกระทำของพวกเขา’ คือ หากทำลงไปแล้วก็จะโดนลงโทษได้ ฉะนั้นแม้อาจจะมีคนอยากทำแบบนั้น เค้าก็จะไม่ทำ เพราะกลัวผลพวงจากความต้องรับผิดชอบจากการกระทำของตนนั่นเอง และนี่แหละครับคือ ‘ฐานของความเชื่อใจ’ ที่สังคมในระบอบประชาธิปไตยที่กฎหมายเป็นใหญ่มีอยู่ และแน่นอนว่า ‘การลอยโคมไม่เข้าขอบข่ายใดๆ เลย’ คุณจะลอยโคมไปโดนหัวใครตายก็ได้ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใดๆ เลย ความกลัวต่อความสูญเสียในชีวิตตกไปอยู่กับผู้อื่นล้วนๆ ฝ่ายเดียว ซึ่งผมคิดว่าจุดนี้เป็นเรื่องที่ ‘ยอมรับไม่ได้โดยเด็ดขาด’ บนฐานคิดแบบประชาธิปไตยครับ
นี่ผมยังยกมาแต่คอมเมนต์ที่ ‘เบาๆ’ แล้วนะครับ บางคอมเมนต์นี่ถึงขนาดแช่งให้ลองมีคนตายสัก 200-300 คน ดูสักทีให้รู้แล้วรู้รอดไปก็มี ซึ่งกรณีนี้ผมคิดว่าเข้าขั้น beneath contempt หรือเกินกว่าจะสรรหาคำมาด่าได้แล้วน่ะนะครับ หรือที่ตลกๆ หน่อยแบบการบอกว่านี่เป็นแผนที่จะทำลายการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ดิสเครดิตประเพณียอดนิยมในช่วงท่องเที่ยวของภาคเหนือ และพร้อมๆ กันไปก็เสนอว่า สายการบินน่ะควรจะหลบจัดเวลาบินใหม่ให้ไม่ตรงกับการลอยโคม… โวะ
ตลกมั้ยครับ ปากก็บอกอยากส่งเสริมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ แต่พาลไปไล่ให้เค้ายกเลิกเที่ยวบิน หรือเปลี่ยนเที่ยวบินตามใจตัวเองเล่นๆ ไปซะงั้นเว้ย!
ผมอยากบอกแบบชัดๆ ตรงนี้เลยนะครับว่า หากหยุดลอยโคมแล้วคนมันจะเลิกไปเชียงใหม่กันจริงๆ หากเชียงใหม่หรือภาคเหนือไทยมันมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวกับอีแค่การลอยโคมนี่จริงๆ ล่ะก็ ก็ปล่อยมันเจ๊งไปเถอะครับ ถ้าจะมีดีแค่นี้! ที่ผมพูดแบบนี้เพราะผมพูดในฐานะคนคนหนึ่งที่ชอบไปเที่ยวเชียงใหม่ ผมตกหลุมรักในร้านอาหารหลายร้านในเชียงใหม่ ที่เที่ยวหลายที่ เพื่อนฝูงคนรู้จักไม่น้อยก็อยู่ที่นั่น ไม่นับภาคเหนือส่วนอื่นๆ ด้วย พวกคุณมี ‘ของดีๆ ที่ไม่ทำร้ายใคร’ อีกมากมายที่ขายได้ ทรงคุณค่า ไม่ใช่ว่าขาดไร้ซึ่งการลอยโคมนี่ไปแล้ว เชียงใหม่จะล่มสลายลงตรงหน้าเสียปะไร! หยุดเห็นแก่ตัว เห็นแก่โคม แล้วเห็นแก่ ‘ความเป็นคน’ บ้างเถอะครับ
นี่ผมเขียนถึงเชียงใหม่นี่ไม่เคยนึกถึงการลอยโคมอะไรเลยนะครับ ในหัวมีแต่ภาพอาหารที่เจริญสวนแอก, จิ้นตุ๊บป้าแดง, ข้าวซอยแม่มณีลอยมาก่อนเลย นี่ขนาดผมไม่ใช่คนเชียงใหม่นะ เป็นแค่คนชอบอะไรหลายๆ อย่างในเชียงใหม่เท่านั้น ฉะนั้นพวกท่านคนเชียงใหม่เอง ก็อย่าดูถูก และลดรูปความดีงามทั้งหลายแหล่ของเมืองท่านเอง ราวกับว่าเหลืออยู่แต่เพียงโคมนี่เลยครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.facebook.com
[2] โปรดดู www.facebook.com/quoteV2