“Stand before the people you fear and speak your mind – even if your voice shakes.” Maggie Kuhn[1]
เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์นี้มีมากมายล้นเหลือ มีหลายอย่างควรพูดถึง ควรมีความกล้าที่จะพูดออกมา แต่กลับไม่อาจพูดออกมาได้ หรือต่อให้พูดได้ก็ต้องทำด้วยพฤติกรรมหลบๆ ซ่อนๆ ลับๆ ล่อๆ ผมเลยพาลนึกถึงคำพูดข้างต้นของแม็กกี้ คุห์น หนึ่งในนักสู้นักกิจกรรมการเมืองคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา ที่เรียกร้องให้เราออกมาพูดในสิ่งที่เราคิดแม้จะยืนอยู่ตรงหน้าบุคคลที่เราหวั่นเกรง แม้ว่าเสียงของเราที่เปล่งออกมานั้นจะสั่นเทิ้มก็ตาม
คิดดังนั้นก็ได้ใจฮึกเหิมขึ้นมาวูบหนึ่ง แต่ก็ต้องกลืนน้ำลายและพรมแดนความเป็นมนุษย์ของตนเองลงไปพร้อมๆ กลับเสียงสั่นเทิ้มที่คิดจะเปล่ง แต่ยังไม่ทันได้เปล่งออกมา
ผมไม่มีความกล้าหาญพอแบบแม็กกี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นผนวกกับข้อจำกัดมากมายที่แต่ละคนรวมถึงตัวผมเองมี ทั้งที่จำเป็นและทั้งที่อ้างไว้ด้วยความหวดวิตกของตัวเราเอง ผมไม่อาจจะพูดในสิ่งที่อยากจะพูดได้ในสังคมนี้ ผมไม่อาจวิจารณ์ในสิ่งที่เราคิดว่าพึงวิจารณ์ได้เพราะเราเกรงกลัว ผมยอมรับว่าผมเป็นคนขี้ขลาด หลายๆ ครั้งผมเลือกที่จะหลีกเลี่ยงหรือหุบปากแม้จะรู้ดีว่าการหุบปากคือการเพิ่มอำนาจให้กับสิ่งที่สร้างความกลัวให้กับเรา อย่างไรก็ดีภายใต้ความกลัวที่ครอบงำจนทำอะไรไม่ถูกนักอย่างตอนนี้ ในสภาพที่มีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นมากมายแต่เราไม่กล้าที่จะต่อสู้อย่างตรงไปตรงมาได้ อย่างน้อยยังมีสิ่งหนึ่งที่เรายังพอทำได้อย่างแน่นอน นั่นก็คือ การวิจารณ์ในความไม่ได้เรื่องของตนเอง ที่ยอมก้มหน้า หุบปากให้กับสังคมที่พยายามถอดถอนความสามารถในการคิดและพูดอย่างที่เป็นอยู่นี้
ในปี ค.ศ. 1962 Jergen Harbermas ได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นสำคัญชิ้นแรกของเขาขึ้นมา และต่อมาได้ในปี ค.ศ. 1989 ได้รับการแปลเป็นเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Structural Transformation of Public Sphere ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่จะสรุปเนื้อหาทั้งหมดลงมาในที่นี้ แต่สรุปโดยสั้นๆ และลดทอนความซับซ้อนลง ก็พอจะสรุปให้ฟังได้ว่า ฮาร์เบอร์มาสมองเงื่อนไขของการเกิดขึ้นของปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) ในฐานะกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดสังคมหรือชุมชนการเมืองแบบใหม่ ปริมณฑลสาธารณะที่ว่านี้คืออะไร เดิมทีมันเกิดขึ้นจากการเป็นพื้นที่ที่พ่อค้าจากที่ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมไปถึงสภาพความเป็นไปทางการเมืองกัน เพราะต้องการ ‘ข้อมูลอันเป็นจริง’ ของพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้สามารถทำการค้าได้โดยสะดวกและถูกต้องแม่นยำ
ต่อมาพื้นที่เหล่านี้ก็พัฒนามาเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน หรือเป็นเวทีที่ชนชั้นใดๆ ก็สามารถแสดงความเห็นออกมาได้ (ซึ่งโดยมากก็คือกลุ่มกระฎุมพีเป็นหลัก) โดยอิสระและเปิดเผย หากนึกเทียบกับบ้านเราอาจจะพอเทียบเคียงกับสภากาแฟในสมัยก่อนได้ ฮาร์เบอร์มาสมองว่าการเกิดขึ้นของพื้นที่ลักษณะนี้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของสื่อ หนังสือพิมพ์ และวารสารต่างๆ นั้นนอกจากทำให้เกิดกระแสความตื่นรู้ในสังคมแล้ว ยังเป็นการท้าทายกับวัฒนธรรมแบบเดิมที่มีมาในยุคฟิวดัลและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เขาเรียกว่า Representational Culture อีกด้วย
วัฒนธรรม Representational นี้มักจะเกิดจากการสร้างพื้นที่เข้ามากดขี่หรือกดทับให้ตัวผู้เข้ามาในพื้นที่หรือปริมณฑลนั้นรู้สึกด้อยกว่าหรือรู้สึกตัวหดเล็กลงนั่นเอง
ตัวอย่างหนึ่งก็เช่น การสร้างพระราชวังที่ยิ่งใหญ่หรูหราอลังการในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เป็นการสร้างพื้นที่ที่ทำให้ผู้ซึ่งเข้าไปรับรู้ได้ถึงความยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยสมบูรณาญาสิทธิย์ของผู้ครอบครอง ในขณะที่ตนเองนั้นถูกบีบให้ด้อยค่าลง เพราะฉะนั้นปริมณฑลสาธารณะที่ขยายตัวมากขึ้น จึงกลายเป็นพื้นที่โต้กลับความรู้สึกด้อยค่าในฐานะมนุษย์ในสายตาของตนเองลง ตรงกันข้ามมันกลายเป็นพื้นที่ที่ขับเน้นความรู้สึกมีสิทธิมีเสียงอย่างเท่าเทียมกันในสังคม
พื้นที่ปริมณฑลสาธารณะในปัจจุบันนั้นก็มีพัฒนาการเรื่อยมา จนมาสู่ยุคการสื่อสารมวลชนต่างๆ รวมไปถึงช่องทางในโลกออนไลน์ อย่างที่ผมเองก็เป็นส่วนร่วมเล็กๆ หนึ่งนี้ (และท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็เช่นกัน) แม้ว่าตัวฮาร์เบอร์มาสเองจะมีข้อวิพากษ์ต่อพื้นที่ของระบบสื่อสารมวลชนในปัจจุบันอยู่พอสมควรว่ากลายเป็นพื้นที่ของการค้าโฆษณาต่างๆ ตามกลไกระบบทุนนิยมบรรษัท (Corporate Capitalism) มากกว่าการเป็นปริมณฑลสาธารณะในแบบเดิมไปแล้ว (คือปริมณฑลสาธารณะในลักษณะที่สร้างยุคตื่นรู้พังทลายลงไปแล้ว) อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ได้เหมือนรูปแบบอุดมคติของฮาร์เบอร์มาสที่ประเด็นต่างๆ ของสังคมมาจากการเริ่มต้น วิพากษ์ และสรุปด้วยวิธีการของการสนทนาแลกเปลี่ยนอย่างเป็นเหตุเป็นผลกัน (Dialogic means) เสียทุกอย่าง
แต่ก็คงจะไม่ผิดนักหากเราจะพอสรุปไปว่าสื่อสารมวลชนและช่องทางการสื่อสารในโลกออนไลน์นั้นเป็น ‘ลูกหลาน’ ของปริมณฑลสาธารณะที่สร้างยุคสมัยใหม่ขึ้นมา
เพราะฉะนั้นในจุดนี้ หากเรามองตามที่ฮาร์เบอร์มาสเสนอแล้ว การเกิดขึ้นของปริมณฑลสาธารณะที่เข้ามาเป็นปริมณฑลหลัก แทนที่ Representation culture นั้นก็น่าจะพอนับได้ว่าเป็นสัญลักษณะของความเป็นสมัยใหม่ และสื่อสารมวลชนต่างๆ ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสภาพ post-production ของความเป็นสมัยใหม่ที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนอะไรกับสังคมที่เราอยู่ไหม? ผมคิดว่ามันสะท้อนไม่น้อยทีเดียว
ไม่เพียงเราจะไม่เคยมีปริมณฑลสาธารณะที่ผลักดันพื้นที่แบบเดิมได้อย่างเด็ดขาดอย่างในตะวันตก ดังที่เราเห็นได้จากการที่เราเข้าไปติดต่อธุระในส่วนราชการ ก็ต้องพินอบพิเทาแต่งตัวดูดีเรียบร้อย พูดจาไพเราะเสนาะหู รอให้ข้าราชการร่ายสารพัดระเบียบอัดใส่หน้า ด้วยหน้าตาไม่ใคร่รับแขกนัก, เข้าวัดก็ต้องก้มกราบ คลานเข่า ห้ามคิดต่าง ห้ามถามคำสอน (ถามได้แต่ความหมายหรือคำขยายความ) ห้ามขัด ห้ามแย้ง, ฯลฯ ต่างๆ อยู่นั้น ซึ่งมันเป็นการบ่งชี้กับเราว่า แม้เราจะเคยมียุคที่สามารถมีการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อนและค่อนข้างมีเสรีได้ช่วงสั้นๆ ในรัฐสภา แต่การเมืองของชุมชนในชีวิตประจำวันของเรานั้นยังไม่เคยมีช่วงที่สามารถช่วงชิงพื้นที่แบบโลกเก่าได้อย่างแท้จริงเลย
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมณฑลสาธารณะที่ไม่สู้เต็มเม็ดเต็มหน่วยของเราเท่าที่มีอยู่นั้น ก็กำลังถูกวัฒนธรรมกดทับแบบเดิมที่ทำให้ความเป็นคนของเราหดเล็กลงเข้ามาข่มอีกระลอก จนไม่อาจจะนับเป็นพื้นที่หรือปริมณฑลอะไรโดยเต็มปากเต็มคำได้อีก พื้นที่ในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดูเหมือนจะกว้างใหญ่แต่ก็เปราะบางชวนเสียวนี้ดูจะเป็นดินแดนสุดท้ายที่ ‘พื้นที่แห่งการพูดคุย’ (Dialogic space) อาจจะพอเหลือรอดได้ แม้อำนาจรัฐรวมถึงวัฒนธรรมการเมืองกดขี่แบบเก่าจะพยายามเจาะจงเข้ามาควบคุมคุกคาม และผมเองก็ทราบดีถึงความสำคัญของมัน (ในฐานะปริมณฑลสาธารณะสุดท้ายที่พอจะมีบทสนทนาอะไรได้) ว่าหากเราไม่สามารถมีปริมณฑลสาธารณะของเราได้ เราก็ไม่อาจจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่หรือมีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ได้ กระนั้นแม้ผมจะกำลังสื่อสารในพื้นที่เปราะบางสุดท้ายนี้ด้วยก็ตามผมก็ยังไม่กล้าจะอ้าปากพูดออกไปอย่างที่อยากจะพูด
ผมเป็นเพียงคนขี้ขลาดที่เลือกเอาตัวรอด โดยยอมจำนนต่อการกัดกินพื้นที่ความเป็นมนุษย์ของเรา หาก Thomas Hobbes อยู่เขาอาจจะชื่นชมผมว่ามี ‘ความมีเกียรติในฐานะคนขี้ขลาด’ (Virtue of the Cowardice) ที่การรักษาชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์สมัยใหม่ แต่หากแม็กกี้ คุห์นมาอยู่ตรงหน้าผม เธอคงจะด่าผมโดยเสียงไม่มีสั่นหรือหากสั่นก็คงไม่ใช่เพราะกลัวแต่เป็นโกรธ ฮาร์เบอร์มาสเองก็อาจจะถอนหายใจและอาจจะรู้สึกผิดหวังที่คนรุ่นผมวัยผมกลับไม่มีกึ๋นอะไรปานนี้
ไม่ว่าคุณผู้อ่านจะรู้สึกกับผมในแบบฮอบส์ที่เข้าใจถึงความขี้ขลาดนี้ หรือจะเป็นอย่างแม็กกี้ที่คงด่าผมใส่ตรงหน้า ผมอยากกล่าวด้วยความละอายว่า “ผมขอโทษ” ผมเองก็รู้สึกว่าตัวเองห่วยนะครับที่ไม่กล้าจะพูดใส่หน้าผู้หยิบยื่นความกลัวให้แม้จะด้วยเสียงสั่นๆ ผมเลือกความอยู่รอด อย่างไรก็ดีผมอยากให้ท่านเข้าใจว่า การเลือกทำตัวเป็นคนห่วยแบบผมไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ได้ร่วมแชร์ความอึดอัดต่อสภาพที่เป็นอยู่ร่วมกัน ผมเองก็รู้สึกอึดอัดและผมเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่เลือกเส้นทางเป็นคนขี้ขลาดอย่างผม ที่เขาเองก็รู้ตัวดีว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ อย่าง ‘เงียบ’ หรือ ‘ไม่กล้าที่จะพูดตรงๆ’ นั้นมันเป็นการทำให้คนที่กำลังสร้างความอึดอัดนี้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพียงแต่พวกเขารวมถึงผมเองไม่กล้าพอ ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในระดับบุคคล แต่สื่อต่างๆ ที่เคยทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของปริมณฑลสาธารณะเอง แต่กลับมาโดนข่มขู่เข้าแทรกแซงโดยตรงก็คงกำลังไม่ต่างกันมากนัก
บางที่อาจตัดสินใจที่เลือกจะเอาตัวรอดไปให้ได้ก่อน ไม่ว่าตนเองจะอยู่ในสภาพน่ารังเกียจแค่ไหน – ผมเข้าใจ ผมเองก็เช่นกัน และขอให้ผ่านไปได้ด้วยดี มีชีวิตรอดครับ
บางที่อาจเลือกที่จะยืนหยัด และเปล่งเสียงต่อไปแม้เสียงจะสั่นไหวหรือขาดตอน หรืออาจถึงขั้นโดนตัดเส้นเสียงไปตลอดกาลได้ – ผมอยากขอแสดงความนับถือ ผมอยากขอแสดงความขอบคุณ และผมอยากขอโทษในความห่วยของตัวเองครับ
ก็มีแค่นี้แหละครับ อย่างที่ว่า เมื่อเขียนวิพากษ์วิจารณ์อย่างที่ใจคิดไม่ได้ ปราการสุดท้ายที่เรายังทำได้เสมอนั่นคือ การด่าความไร้ความสามารถของตนเอง…และอย่างน้อยให้เข้าใจร่วมกันว่า ตราบใดที่ยังอึดอัดกับสภาพที่เป็นอยู่ร่วมกันได้อยู่ ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหน รอดชีวิตมาในสภาพทุลักทุเลเพียงใด ผมคิดว่าเราคือเพื่อนกันนะครับ
หมายเหตุ: ไม่ใช่จดหมายลาตายไปรบ ทำไมดราม่าจัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ที่มา www.history.pcusa.org