“เพราะเราต่างขาดพร่อง เราจึงเป็นมนุษย์ผู้ปรารถนามาตั้งแต่แรก เพราะเราต่างขาดพร่อง เราจึงจินตนาการถึงความสมบูรณ์เติมเต็ม”
ข้างต้นคือประโยคส่วนหนึ่งจาก เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์ หนังสือเล่มใหม่ของ สรวิศ ชัยนาม ศาสตราจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หนังสือเล่มนี้ถกเถียงต่อมาในเชิงจิตวิเคราะห์ว่า หลายสิ่งอย่างในทางการเมือง เช่น ชาตินิยม ทุนนิยม หรือแม้แต่การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (identity politics) มักให้สัญญาว่าจะมาเติมเต็มความขาดพร่อง และทำให้สมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ตามมาจากโครงการทางการเมืองเหล่านี้ ก็คือการกีดกันคนบางกลุ่มออกไป เช่น ชาตินิยมที่กีดกันคนที่ไม่ใช่สมาชิกของชาติ หรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่กีดกันกลุ่มที่มีอัตลักษณ์อื่นๆ ออกไป
สำหรับสรวิศ หนทางของการเมืองที่ก้าวหน้าจึงเป็นการโอบรับความขาดพร่อง (lack) ตรงนั้น และยอมรับว่า เราต่างมีความไม่เข้าพวก (non-belonging) เพื่อเปิดทางไปสู่การกอปรสร้างการเมืองหรือการอยู่ร่วมกันของสังคม บนพื้นฐานของความเป็นสากล (universality) ที่ไม่กีดกันได้ในท้ายที่สุด
ในหนังสือเล่มนี้ เขาใช้แนวคิดในศาสตร์จิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) อาทิ เรื่องของเอนจอยเมนต์ (enjoyment) ซึ่งมีที่มาจากนักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศส ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan) เพื่องัดแงะปมปัญหาของบางสิ่งบางอย่าง ที่ดูเหมือนจะไปกันได้ดีกับโลกของฝ่ายขวา อย่างเช่น ทำไมเราถึง ‘เอนจอย’ ชาตินิยมได้?
ที่ร้านหนังสือ Books & Belongings เรานัดพบกับสรวิศเพื่ออภิปรายเรื่องเหล่านี้
แม้เรื่องราวทั้งหมดอาจฟังดูสับสนเสียเล็กน้อย แต่ในโลกที่กลับหัวกลับหางอยู่แล้ว การมีทฤษฎีที่สลับซับซ้อนก็อาจจำเป็นเพื่อทำความเข้าใจสังคมการเมือง ที่เข้ามาควบคุมบงการแม้กระทั่งในระดับจิตใจ และสร้างความเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด
The MATTER ชวนคลายปมไปพร้อมๆ กัน – เริ่มตั้งแต่ศาสตร์ของจิตวิเคราะห์ และย้อนกลับไปมองการเมืองโลก
ก่อนอื่น จิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) คืออะไร
จริงๆ มันคงไม่มีคำตอบที่ตายตัว เพราะบ้างก็บอกว่า จิตวิเคราะห์เป็นสับเซต (subset) ของจิตวิทยา บ้างก็บอกว่า จิตวิเคราะห์เป็นสิ่งที่เดินคู่ขนาน และบางทีก็ตบตี กับจิตวิทยา
แต่เวลาพูดถึงจิตวิเคราะห์ ก็คงต้องเอ่ยชื่อ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ผู้ค้นพบ-ก่อตั้งวิชาศาสตร์นี้ จิตวิเคราะห์ในที่นี้ก็จะมี 2 ส่วน ที่สุดท้ายมันก็คงจะแยกออกจากกันไม่ได้ แต่ก็จะมีส่วนของฝั่งทฤษฎี และมีฝั่งคลินิก ส่วนของการรักษา เป็น theory และ practice
ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ก็คงเป็นเรื่องของ ‘จิตไร้สำนึก’ (unconscious) ที่แทบจะเป็นการปฏิวัติก็ว่าได้
คุณอาจจะเคยได้ยินว่า มันมีปฏิวัติแบบโคเปอร์นิคัส (Copernicus) ที่ทำลายความเป็นศูนย์กลางของโลก ไม่ใช่ทุกอย่างหมุนรอบโลก แต่กลายเป็นโลกและดวงดาวหมุนรอบดวงอาทิตย์ และการปฏิวัติของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ที่ทำลายความเป็นศูนย์กลางของพระเจ้า ไม่ใช่พระเจ้าที่สร้างโลก และสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาใน 7 วันตามพระคัมภีร์เดิม แต่มันเป็นการวิวัฒนาการ
ฟรอยด์เองก็ค้นพบสิ่งที่เรียกว่าจิตไร้สำนึก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติเหมือนกัน เพราะมันทำลายความเป็นศูนย์กลางของอีโก้ (ego) ประโยคเด็ดของฟรอยด์ “อีโก้ไม่ใช่เจ้านายในบ้านของตัวมันเอง” (“The ego is not the master of his own house.”) ก็คือ แม้แต่อีโก้เองก็ไม่ใช่องค์อธิปัตย์ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือจิตของตัวเอง มันมีอะไรบางอย่างที่แทรกซึมเข้ามา ที่มีอิทธิพล แต่แน่นอน เราอาจจะไม่เห็นมัน และไม่ได้นึกถึงมัน แต่มันก็ทำลายความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ในฐานะตัวแสดงที่มีเหตุผลตลอดเวลา ที่คำนึงผลประโยชน์ตัวเองตลอดเวลา อันนี้ก็เป็นส่วนที่สำคัญ
แต่ในจิตวิเคราะห์เอง ฟรอยด์ก็มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และมีเพื่อนร่วมงานมากมายด้วยซ้ำ ทุกคนอาจจะบอกว่าได้รับอิทธิพลมาจากฟรอยด์ แต่คราวนี้มันก็เริ่มแตกเป็นหลายสาย ไม่ว่าจะเป็นสายของ เมลานี ไคลน์ (Melanie Klein) สายของ โดนัลด์ วินนิค็อตต์ (Donald Winnicott) และแม้แต่ลูกสาวอย่าง แอนนา ฟรอด์ (Anna Freud) ก็จะมีโรงเรียนเล็กๆ ของตัวเอง มีแนวทางการตีความเป็นของตัวเอง ซึ่งแต่ละสายก็อาจจะมีจุดที่ทับซ้อนกัน และจุดที่แตกต่างกันและเข้ากันไม่ได้ด้วยซ้ำ ซึ่งแน่นอน มันก็มีสายของ ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan)
จริงๆ ทุกสายย่อยที่ว่ากันว่ามาจากรากเดียวกันคือฟรอยด์ ก็ต่างตีกันเอง หมายความว่า แม้แต่สายลากองเอง ก็ไม่ได้เออออห่อหมก เข้าใจกันทุกเรื่อง และตีความไม่เหมือนกัน มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน
อาจารย์บอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายซ้ายที่เป็นสายลากอง (Lacanian Left)?
ผมเป็นซ้ายแบบลากอง ก็คงต้องเอ่ยชื่อ สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) ที่อาจจะเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่บุกเบิกในแนวทางนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีทั้งคนที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน และคนที่ได้รับอิทธิพล สหาย เพื่อนร่วมงานมากมายของชิเชค ก็จะมาเป็นซ้ายแบบลากอง อย่างสำนักสโลวีเนีย (Slovene School) ที่มี ชิเชค, มลาเดน โดลาร์ (Mladen Dolar) และ อเล็นกา ซูพานชิช (Alenka Zupančič) ก็อยู่ในกรอบของ เฮเกล (Hegel) มาร์กซ์ (Marx) และลากอง
หลักๆ คือ ซ้ายแบบลากองพยายามเอาลากองหรือจิตวิเคราะห์แบบลากองมาบวกกับแนวคิดของฝั่งซ้าย จะเป็นมาร์กซ์ก็ตาม จะเป็นเฮเกลก็ตาม หรือจะกว้างๆ หน่อย เอาแนวคิดของลากองมาบวกกับทฤษฎีเชิงวิพากษ์ (critical theory) เท่าที่มันจะไปกันได้ แต่ก็เป็นไปเพื่อการเมืองเพื่อการปลดปล่อย (emancipatory politics)
ในหนังสือเล่มใหม่ เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์ ทำไมอาจารย์ถึงหยิบยกเรื่อง ‘เอนจอยเมนต์’ (enjoyment) มาอภิปราย
ทำไมต้องเอนจอยเมนต์ ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า jouissance ผมคิดว่าอันนี้ก็คือความแตกต่างของจิตวิเคราะห์นะ สิ่งที่ขับเคลื่อนมนุษย์คือแรงปรารถนา (desire) กับเอนจอยเมนต์ ซึ่งความเห็นแก่ตัว ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือความหิวโหยอำนาจไม่ใช่สิ่งที่ขับเคลื่อนมนุษย์ หากคือความปรารถนากับเอนจอยเมนต์ต่างหาก หรือหากมองในกรอบของฟรอยด์มันคือความใคร่ (libido)
มีโควตของ จอห์น ฟอร์เรสเตอร์ (John Forrester) เป็นฟรอยเดียน (Freudian) คนสำคัญที่เสียชีวิตไปแล้ว จากหนังสือ Freud and Psychoanalysis: Six Introductory Lectures
“นี่คือพื้นฐานของการมองโลกแบบฟรอยด์ โลกที่ประกอบมาจากแรงปรารถนา สำหรับฟรอยด์ ความปรารถนา แรงปรารถนา หรือสิ่งที่เขาเรียกว่าความใคร่ คือแรงขับเคลื่อนชีวิตของเรา กิจกรรมทางวัฒนธรรมของเรา และสถาบันของเรา ลองเปรียบเทียบเรื่องนี้กับปรัชญาการเมืองแบบอื่นๆ ดูสิ สำหรับฟรอยด์ ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่อำนาจ ไม่ใช่เหตุผลทางเศรษฐกิจ ที่เป็นพื้นฐานของชีวิตทางสังคมและการเมือง หากแต่เป็นการแสวงหาความพึงพอใจ”
ฉะนั้น สิ่งที่ยึดโยงสังคมด้วยกัน สิ่งที่ขับเคลื่อนสังคม ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การแสวงหาอำนาจ แต่เป็นเรื่องของแรงปรารถนาและความใคร่ ซึ่งลากองจะบวกคำว่าเอนจอยเมนต์เข้ามา
ถ้าเราตั้งเช่นนี้แล้ว ทุกๆ สังคมต้องพยายามควบคุม (regulate) เอนจอยเมนต์ และแรงปรารถนา เอนจอยเมนต์จึงกลายเป็นเรื่องการเมือง เพราะคุณไม่สามารถปล่อยวางมันได้ อำนาจไม่สามารถปล่อยวางมันได้ มันต้องมีการพยายามผลิตซ้ำ ควบคุม เอนจอยเมนต์และแรงปรารถนาของผู้คน
จริงๆ แนวคิดนี้ก็มีมาตั้งแต่หนังสือเล่มสำคัญของฟรอยด์ Civilization and Its Discontents ที่แน่นอน พูดถึงความขัดแย้งระหว่างอีรอส (eros) กับทานาทอส (thanatos) – อีรอสกับแรงขับแห่งความตาย (death drive หรือภาษาเยอรมัน Todestrieb) ซึ่งฟรอยด์เองก็บอกว่า มันทรงพลังทั้งคู่ และเรายังบอกไม่ได้ว่ามันจะออกหัวออกก้อยในลักษณะใด ฉะนั้ สังคมเอง การเมืองเอง ก็เป็นเรื่องของการพยายามจะควบคุมสองสิ่งนี้ และสองสิ่งนี้ก็จะมากำหนดทิศทางของสังคม แนวทางการเมือง
ในลากองก็มีคล้ายแบบนี้ ถ้านึกเร็วๆ ก็คงเป็นสัมมนาครั้งที่ 6 (Seminar VI) ของลากอง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 1959 ระบุว่า
“ปัญหาเรื่องแรงปรารถนายังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้มีอำนาจหมกมุ่น ผมหมายความว่า มันต้องมีวิธีในทางสังคมร่วมกันในการจัดการบริหารแรงปรารถนา”
ฉะนั้น ผู้ที่มีอำนาจหมกมุ่น (obsessed) เกี่ยวกับเรื่องของแรงปรารถนากับเอนจอยเมนต์เป็นเรื่องที่สังคมต้องควบคุม ถ้าคุณต้องการจะอยู่ในอำนาจ คุณต้องมีหนทางควบคุมสองสิ่งนี้ของผู้คน นี่คือบริบทว่าทำไมการเมืองเองต้องมาสนใจเอนจอยเมนต์ ต้องมาสนใจแรงปรารถนา
แล้วเอนจอยเมนต์คืออะไรกันแน่
ก่อนอื่น เอนจอยเมนต์ไม่ใช่อะไรก่อนแล้วกัน เอนจอยเมนต์ไม่ใช่ความพึงพอใจ (pleasure) ไม่ใช่ความสุขสำราญ เพลิดเพลินใจ
เพระถ้ารวบยอด อาจจะสรุปเกินไปหน่อย ความพึงพอใจมักจะเป็นสิ่งที่เราตั้งเป้าปรารถนาอย่างรู้ตัว ความพึงพอใจมักจะดีกับเรา กินอาหารที่ดี ออกกำลังกาย ดูหนัง ทำสิ่งต่างๆ ที่ดีกับตัวเรา กับสุขภาพของเรา ความพึงพอใจก็มักจะเป็นสิ่งที่รักษาสมดุลให้กับตัวเรา และเราวางแผนได้ นี่คือเรื่องของจิตสำนึกรู้ตัว (consciousness) เลยแหละ เราพยายามทำสิ่งที่ดีกับเรา
แต่เอนจอยเมนต์ไม่ใช่ความพึงพอใจ เพราะเอนจอยเมนต์มักจะได้รับอิทธิพลโดยจิตไร้สำนึก และมันก็ไม่ค่อยจะดีสำหรับเราเสียทีเดียว มันรบกวนชีวิตเรา มันจะทำให้เราเสียดุล เช่นการตกหลุมรักก็เป็นเอนจอยเมนต์ได้ เพราะมันรบกวนชีวิตเรา มันทำให้เราสูญเสียความสมดุล มันทำให้เราว้าวุ้นใจ
อีกด้านหนึ่ง ในหนังสือของผม อยากรู้แต่ไม่อยากถาม: ทุกสิ่งอย่างเรื่องการเมืองโลกกับ Lacan หมอมีน—ปฐมพงศ์ กวางทอง แปลเอนจอยเมนต์ว่า ‘ลงใจ’ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษมันคือ psychic investment หมายถึงคุณไปลงทุนลงใจกับอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะคน ไอเดีย วิถีชีวิต อะไรก็ได้ และเมื่อคุณลงใจไปแล้ว มันถอนตัวไม่ได้ ถึงคุณจะรู้ดีว่า มันเริ่มส่งผลเสียต่อคุณแล้วนะ แต่คุณก็ไม่ยอมทิ้งมัน
เอนจอยเมนต์มักจะมากับการยึดติด (attachment) หรือการยึดติดอย่างแรงกล้า (passionate attachment) คุณไม่สามารถสะบัดมันทิ้งได้อย่างง่ายดาย มันก็เลยมีคนกล่าวว่า “We are what we enjoy.” เราก็เป็นสิ่งที่เราเอนจอยนั่นแหละ เพราะว่าเราไม่ยอมทิ้งมัน มันไม่ค่อยดีต่อเรา แต่เราก็ไม่ยอมทิ้งมันอีกเหมือนกัน
แต่คราวนี้ เวลาบอกว่าเอนจอยเมนต์ไม่ค่อยดีกับเรา สิ่งนี้ทำให้เราเห็นได้ว่ามนุษย์ หรือธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ค่อยเป็นไปตามธรรมชาติ และไม่ค่อยเป็นไปตามสังคมด้วยซ้ำ
ในทางสังคมศาสตร์ทั่วๆ ไป จะบอกว่า มนุษย์ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ หรือ ไม่มนุษย์ถูกขัดเกลาโดยสังคม เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมและสังคม แต่ในจิตวิเคราะห์ มันคืออีกทางเลือกหนึ่งเลยว่า มันไม่ใช่ทั้งธรรมชาติและไม่ใช่ทั้งสังคม เพราะว่าเราสามารถปฏิเสธได้ในทั้ง 2 ระดับ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าแบบวัตถุนิยม (materialism) หน่อยๆ ก็คงจะบอกว่า ธรรมชาติของมนุษย์คือธรรมชาติที่ขัดแย้งในตัวเอง ที่ทำให้มนุษย์นั้นไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นไปตามธรรมชาติได้ตลอดเวลาและทุกครั้งไป ทำให้ขัดกับผลประโยชน์ของตัวเองทางธรรมชาติด้วยซ้ำ เช่น การดำรงอยู่ และการอยู่รอด
ในขณะเดียวกัน ด้วยธรรมชาติเช่นนี้ มนุษย์จึงสร้างสังคมขึ้นมา สังคมวัฒนธรรมก็ไม่ใช่ธรรมชาติด้วยแหละ เพราะถ้าเดินตามวิถีธรรมชาติ ก็ไม่ต้องไปสร้างสังคมหรอก ก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติไป แต่เมื่อมีเสรีภาพอันนี้ว่าเราไม่ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ และเราขัดแย้งในตัวเอง เพราะเราไม่ต้องถูกธรรมชาติกำหนดในทุกๆ เรื่องเสมอไป เราก็เลยสามารถสร้างสังคมขึ้นมา เสรีภาพนี้มันก็ทำให้เราขัดกับสังคมได้อีกทีหนึ่ง
เอนจอยเมนต์ก็เกิดขึ้นเมื่อเราไม่ค่อยเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเราไม่ค่อยเป็นไปตามสังคม เมื่อเราขัดกับปทัสถานทั่วไปของสังคม วัฒนธรรมดั้งเดิม และเมื่อเราสามารถปฏิเสธค่านิยมกลาดเกลื่อนของสังคมได้
ในด้านหนึ่ง มันก็ไม่เป็นผลดีกับเรา ถ้าคุณอยากมีชีวิตที่สมดุล ความพึงพอใจ กินอิ่ม นอนหลับ สะดวกสบาย คุณจะไปวิจารณ์สังคมทำไม คุณจะไปต่อสู้กับผู้มีอำนาจทำไม คุณจะไปเรียกร้องเสรีภาพทำไม คุณก็อยู่ของคุณไป อันนั้นก็อาจจะทำให้คุณกินอิ่มนอนหลับได้ในระดับใหญ่ๆ ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่น
เอนจอยเมนต์มาจากไหน และทำไมเราถึง ‘เอนจอย’ แม้มันอาจไม่ดีกับตัวเรา
เอนจอยเมนต์กับความพึงพอใจต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว เราไม่สามารถเอนจอยได้โดยตรง เพราะ เอนจอยเมนต์มักจะเป็นเรื่องของจิตไร้สำนึก เราไม่สามารถตั้งใจที่จะเอนจอยได้ ฉะนั้น หลายๆ ครั้งมันต้องทำงานผ่านความพึงพอใจ มันต้องล่อเราก่อนว่า คุณทำสิ่งนี้สิ มันดีสำหรับคุณนะ มันต้องล่อเราก่อนด้วยความพึงพอใจ เสร็จแล้วมันจะซ่อนอยู่ใต้ความพึงพอใจอีกทีหนึ่ง บางทีเรานึกว่าเรากำลังทำอะไรเพื่อตัวเราเอง มันดีสำหรับเรา แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนมันอาจจะไม่ใช่ด้วยซ้ำ อาจจะเป็นเรื่องของเอนจอยเมนต์
ตัวอย่างเร็วๆ – การจัดปาร์ตี้ที่บ้าน เพื่อนมา ดื่มเหล้า เฮฮา สังสรรค์ สนุก แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่จะสนุก สายสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนฝูง อาหารอร่อย แต่มันอาจจะเป็นเอนจอยเมนต์ ซึ่งไม่ดีกับตัวเอง ของการทำความสะอาดบ้านหลังจากงาน เก็บจาน ล้างจาน ถูบ้าน ขัดโซฟา ขัดส้วม อะไรมากมาย แต่อย่างหลังเราไม่สามารถเอนจอยโดยตรงได้ มันก็เลยต้องผ่านความพึงพอใจ
แต่เวลาบอกว่า เอนจอยเมนต์ไม่ดีสำหรับตัวเอง บางทีสิ่งที่ดีสำหรับเราก็ไม่จำเป็นจะต้องดีสำหรับเรา ถ้าพูดแบบภาษากำกวมหน่อยก็คือ เอนจอยเมนต์ไม่ดีสำหรับเรา แต่เพราะเราเอนจอย เราก็เลยจะมีชีวิตที่สร้างสรรค์ได้ เพราะเราไม่ต้องเป็นไปตามปทัสถานมากมาย เพราะเราไม่ต้องถูกกำหนดโดยความอยู่รอดอย่างเดียว เราก็สร้างสรรค์ได้
เอนจอยเมนต์ไม่ดีกับเรา แต่มันเปิดประสบการณ์ มันเป็นพลังที่สร้างสรรค์ได้ เปิดประสบการณ์มากมายให้กับเราได้ และเบื้องต้นที่สุดคือความรัก เป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ถ้าเราไม่สามารถเอนจอยได้ เราจะไม่สามารถตกหลุมรักใครได้เลยนะ เพราะว่าการตกหลุมรักโคตรสุ่มเสี่ยงเลยที่จะถูกปฏิเสธ มันไม่เป็นผลดีกับคุณด้วยซ้ำ
แต่ถ้ามันไม่เปิดโอกาส ถ้าเราไม่สามารถเป็นมนุษย์ที่เอนจอย และแสวงหาความพึงพอใจอย่างเดียวได้ สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยนะ ความสร้างสรรค์มากมายจะหายไปด้วย และเราก็จะไม่มีการเมืองเพื่อการปลดปล่อยด้วย เพราะเราก็จะต้องการแต่กินอิ่มนอนหลับ อยู่รอดปลอดภัย และง่ายที่สุดก็คือ รักษาโลกที่เป็นอยู่ต่อไป
อีกแนวคิดหนึ่งที่มาเคียงคู่กัน คือเรื่องของ ‘ความขาดพร่อง’ (lack)?
ผมจะอธิบายในกรอบนี้แล้วกัน ทำให้มันยากขึ้นมาหน่อย จริงๆ จะปรากฏในปกหนังสือที่ พี่โย—กิตติพล สรัคคานนท์ ออกแบบ คือ สมการ A ≠ A ซึ่งจริงๆ สมการนี้มันขัดหลักตรรกะของอริสโตเติล (Aristotle) ในโลกของอริสโตเติล A ต้องเท่ากับ A สิ A ไม่สามารถไม่เท่ากับ A ได้
A ≠ A มาจากเฮเกล ในหนังสือ Science of Logic ที่เฮเกลพูดจากวนตีน เขียนแบบกวนตีน เขาไม่ใช่นักเขียนที่ดี แต่เฮเกลก็เขียนแบบภาษากำกวมของเขาว่า “Identity is the identity of identity and non-identity.” อัตลักษณ์ (identity) คือ อัตลักษณ์ของอัตลักษณ์ กับสิ่งที่ตรงกันข้ามของมัน ฉะนั้น A ≠ A นะ ถ้า A คืออัตลักษณ์ A ก็ไม่เท่ากับ A เพราะมันต้องรวมสิ่งที่ไม่ใช่มันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน หรืออยู่ในตัวมันด้วย
แล้วพอเอาแนวคิดทำนองนี้มาใช้ในลากอง มันก็โยงเข้าได้กับ ‘ความขาดพร่อง’ (lack) เข้ากับ ‘ความแปลกแยก’ (alienation) เวลาเราบอกว่า A ≠ A มันหมายความว่าเราขาดพร่อง เพราะแม้แต่ตัว A เอง มันยังไม่สามารถเป็นองค์รวมได้เลย เพราะมันมีความขาดพร่องในตัวมัน และเพราะเราขาดพร่อง เราก็เลยมีแรงปรารถนา แรงปรารถนากับความขาดพร่องคือคำที่ใช้ทดแทนกันได้
ฉะนั้น ด้านหนึ่ง A ≠ A เพราะเราขาดพร่อง เราไม่สมบูรณ์ มันเหมือนกับมีรูข้างในเรา เราเลยไม่เต็ม เราเลยไม่เท่ากับตัวเราเอง อีกด้านหนึ่งคือความแปลกแยก เราแปลกแยกจากตัวเราเอง A ≠ A ก็คือ เราไม่สามารถเป็นตัวเราเองได้ด้วยซ้ำ
ความขาดพร่องก็จะเปิดบทสนทนาให้เราพูดถึงการเมืองของความเป็นสากล (universality) ได้ ซึ่งเป็นจุดต่างของฝ่ายซ้ายและขวา?
อาจจะเป็นปัญหาอันหนึ่งของฝ่ายซ้าย คือการขจัดความแปลกแยก ซึ่งเราควรจะมองว่า ความแปลกแยก – ในที่นี้ คือความแปลกแยกในระดับของการดำรงอยู่ (existence) – ไม่สามารถขจัดไปได้ เวลาฝ่ายซ้ายพูดว่า เราสร้างความแปลกแยก ต้องขจัดความแปลกแยก เขากำลังสัญญาว่า A จะเท่ากับ A หรือเปล่า?
A ≠ A ก็มองว่า ความแปลกแยกอาจจะไม่ใช่ปัญหาเสียขนาดนั้น บางทีเราอาจจะต้องยอมรับมันเหมือนกับยอมรับความขาดพร่องด้วยซ้ำ
แต่คราวนี้ พูดเป็นข้อถกเถียงก่อนแล้วกันว่า จิตวิเคราะห์ฝ่ายซ้ายแบบลากองก็พยายามจะบอกว่า ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ยอมรับว่า A ≠ A ปัญหาจะเกิดขึ้นมากมาย หลากหลายมิติ เมื่อเราบอกว่า A = A และเราจะยึดมั่นให้ A = A ให้ได้ เช่น ทุนนิยมก็สัญญาว่า A จะเท่ากับ A คุณไม่ขาดพร่องนะ สินค้าตัวใหม่กำลังจะมา ไลฟ์สไตล์แบบใหม่ วิถีชีวิตแบบใหม่ ไลฟ์โค้ชมากมายที่จะทำให้คุณเต็มและสมบูรณ์ และทุนนิยมก็อยู่ได้ด้วยคำสัญญานี้ว่า A จะเท่ากับ A
การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (identity politics) ก็สัญญาว่า A จะเท่ากับ A เราก็แค่ต้องเป็นสมาชิกของกลุ่ม เราต้องหาอัตลักษณ์เราให้เจอ ถ้าไปไกลหน่อย ชาตินิยมก็สัญญาว่า A ก็เท่ากับ A ได้ ชาติก็คือ A เพียงแต่เรากำจัดศัตรูออกไป นักการเมืองที่คอร์รัปชั่นออกไป ศัตรูภายนอกที่มารบกวนเรา ทุกอย่างก็จะเต็มสมบูรณ์
แต่สำหรับผม และจริงๆ ก็มีตั้งแต่ชิเชค, ท็อดด์ แม็คโกแวน (Todd McGowan) ที่ผมอ้างในหนังสือ ซึ่งได้อินไซต์ (insight) มาจากเฮเกลและลากอง ก็จะบอกว่าว่า เฮ้ย A ไม่เท่ากับ A และมันไม่ควรจะมองว่ามันเป็นปัญหา เราควรจะโอบรับมันด้วยซ้ำว่า นี่แหละ มันน่าจะสามารถเป็นหนทางสู่การดำรงอยู่ร่วมกัน การจัดระเบียบสังคมและการเมืองที่ก้าวหน้ากว่า ที่ปลดปล่อยกว่า ที่เป็นสากลได้
A ≠ A นั้นหมายความว่า ในความพร่องในระดับของการดำรงอยู่ ทุกคนมีรูขนาดใหญ่อยู่ใจกลางตัวตนที่ไม่สามารถเติมเต็มได้ และสิ่งที่เรามีร่วมกันไม่ใช่คุณสมบัติเชิงบวก (positive characteristics) ไม่ใช่ความเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือความพร่อง ทุกคนพร่องเหมือนกันหมด ทุกคนขาดเหมือนกันหมด ทุกคนไม่สามารถเติมเต็มได้เหมือนกันหมด
ซึ่งเวลาพร่องมันเป็นอะไรที่มีความเป็นลบ (negative) เมื่อเป็นลบ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามันคืออะไร มันก็เลยไม่ต้องกีดกัน ถ้าแก่นของการอยู่ร่วมกันคือความพร่อง เราไม่มีอะไรเหมือนกันเลย และความพร่องไม่ใช่อะไรที่จับต้องได้ มันก็จะเป็นชุมชนที่ไม่ต้องกีดกันหรือเปล่า ชุมชนที่ไม่ต้องแบ่งแยก ในความหมายที่ว่า มันจะตัดข้ามความแตกต่างของอัตลักษณ์ได้
ถ้าทุกคนพร่องเหมือนกัน ถ้าทุกคนแปลกแยกกับตัวเองเหมือนกัน ทุกคนไม่สามารถเป็นสมาชิกกลุ่มใดได้เลยโดยสนิทใจ ทุกคนสุ่มเสี่ยงที่จะถูกอัปเปหิ ถูกเตะออกจากกลุ่มทุกกลุ่มที่ตัวเองเป็นสมาชิกอยู่ได้ ฉะนั้น ฐานของการเมืองที่เป็นสากล ฐานของชุมชนที่ไม่กีดกัน ก็คงเป็นศัพท์ของแม็กโกแวนที่ใช้คำว่า ‘การไม่เข้าพวก’ (non-belonging) ซึ่งสามารถเป็นฐานของการอยู่ร่วมกันของสังคม ของชุมชนที่ไม่กีดกันได้ ที่ไม่ได้อิงกับอัตลักษณ์ได้ ความแตกต่างทางอัตลักษณ์จะไม่ได้ถูกกดขี่และกดทับนะ เพียงแต่จะไม่ได้เป็นเกณฑ์สำคัญว่า คุณจะมีสิทธิเข้าร่วมหรือเปล่า
ตัวอย่างง่ายๆ ที่ดี ก็คงเป็นพื้นที่สาธารณะ ความหมายของพื้นที่สาธารณะ คือ หนึ่ง มันไม่กีดกันคน ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้ สอง ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย มันเป็นสาธารณะ ดังนั้น มันไม่มีคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ สุดท้าย อัตลักษณ์ของคุณจะไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ได้หมายความว่าจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่มันไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าคุณจะใช้พื้นที่ได้หรือใช้ไม่ได้ อยู่ในพื้นที่ได้หรืออยู่ไม่ได้
แล้วความแตกต่างหากหลายไม่เพียงพอหรือ ทำไมการเมืองถึงต้องมีความเป็นสากล
ตรงนี้มันก็มีหลายปม หลายประเด็นที่พันๆ อยู่
เวลาเราพูดถึงการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ คำที่เขาชูมาก็คือคำว่า ‘แตกต่าง’ (difference) ‘หลากหลาย’ (diversity) บางทีก็ใช้คำว่า ‘การมีส่วนร่วม’ (inclusion) อีกคำหนึ่งก็จะเป็นคำว่า ‘การอดกลั้น’ (tolerance) แต่ในสายธุรกิจหรือในสายสหประชาชาติก็จะมี ‘ความแตกต่าง ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม’ (diversity, equity, and inclusion) เป็นคำสำคัญ
แต่โจทย์แรก ความแตกต่างหลากหลาย ในคุณค่าและหลักการในตัวของมันเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ก้าวหน้าเลยนะ ทำไมเรามองว่า คนที่ชูความแตกต่างหลากหลายกลายเป็นคนก้าวหน้า ไม่ใช่ อันนี้ลองไปอ่านได้ในทางประวัติศาสตร์ หนังสือชื่อ Europe against Revolution: Conservatism, Enlightenment, and the Making of the Past ฝ่ายอนุรักษนิยมยุโรป นักคิดอนุรักษนิยมยุโรป ในหลากหลายประเทศ มีปฏิกิริยาต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศสที่มีแนวคิดเป็นสากล เขาจะเป็นนักอนุรักษนิยมที่เชิดชูความเป็นยุโรป อัตลักษณ์ที่มีความเฉพาะ แทนที่ความเป็นสากล แต่อย่าลืมว่า ยุโรปนั้นหลากหลายและแตกต่างนะ เขาขายความหลากหลายและแตกต่างภายในยุโรปเอง และบอกว่านี่แหละคือความเฉพาะตัว (unique) ของยุโรป ไม่ต้องเป็นสากล
ฉะนั้น พวกเขาก็จะเป็นพวกแรกๆ เลยในทางประวัติศาสตร์ ที่เคลือบอนุรักษนิยมด้วยภาษาของความหลากหลายและแตกต่าง เพื่อเอาไว้ต้านความเป็นสากล ฉะนั้น ในทางประวัติศาสตร์เอง เราก็พอเห็นได้ว่า หลากหลายและแตกต่างไม่จำเป็นต้องก้าวหน้า มันถูกใช้สร้างความชอบธรรมให้กับอนุรักษนิยมได้ เพราะอนุรักษนิยมบอกว่า อ้าว พวกกูก็หลากหลายและแตกต่าง มึงจะยังไง ถ้ามึงเคารพความหลากหลายและแตกต่าง มึงก็ต้องเคารพพวกกูสิ!
สอง ตรรกะบางอย่างของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์จะเน้นด้านการอดกลั้น ด้านการเคารพ แต่คราวนี้ เวลามาพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในโลกทุนนิยม สิ่งที่คนจนต้องการคือการให้มหาเศรษฐี ชนชั้นนายทุนมากมายที่กดขี่พวกเขา มาอดกลั้นพวกเขา หรือยอมรับพวกเขาเหรอ? ต้องการเศรษฐีที่มานั่งกินข้าวเหนียวกับคุณ คุณต้องการแค่นั้นเหรอ? หรือคุณต้องการสิทธิในแรงงาน คุณต้องการสหภาพ คุณต้องการสวัสดิการทางสังคม? เราไม่ได้ต้องการให้เศรษฐีมาอดกลั้นเราหรือเปล่า แต่เราต้องการอำนาจต่อรอง เราต้องการสิทธิมากมาย เป็นต้น
ฉะนั้น การยอมรับความแตกต่างที่บอกว่า เราจะกลายเป็นสังคมไม่มีชนชั้น มีแค่ชนชั้นที่หลากหลาย มันประหลาดแล้วล่ะ ถ้าคุณบอกว่าชนชั้นที่หลากหลาย นี่มันคือระบบวรรณะในอินเดียนะ เป็นวรรณะที่หลากหลาย มี 4 วรรณะ บวกไปอีก 1 และภายในแต่ละวรรณะก็ซอยย่อยอีกเป็นพัน นี่คือความหลากหลาย แต่ฉิบหาย! มันเป็นพีระมิดนะเว้ย
โจทย์ก็คงเป็นว่า เวลาเราเชิดชูความหลากหลายและแตกต่าง เราอยู่ในสังคมที่เหลื่อมล้ำสุดๆ ได้นะ เพราะเวลาคนเหล่านี้ประโคมเรื่องการมีส่วนร่วม ความหลากหลายแตกต่าง เขาแค่หมายความว่า ขอให้บนยอดพีระมิดและชั้นบนๆ มีคนผิวสีเพิ่มขึ้นนะ มีผู้หญิงเพิ่มขึ้นนะ มี LGBTQIAN+ เพิ่มขึ้นนะ ต่างๆ นานา ภายใต้สังคมที่เหลื่อมล้ำมากๆ แค่ขอให้ชั้นบนๆ 1% หรือ 10% บนยอด ให้มีกลุ่มที่หลากหลาย แต่มันก็ยังเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำสุดๆ และกดขี่สุดๆ อยู่ดี
ที่สำคัญก็คือ ผมแค่รู้สึกว่า หลากหลายแตกต่างสามารถไปได้กับอนุรักษนิยมนะ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่คัดง้าง ต่อต้านอนุรักษนิยมเลยนะ
เพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่งบอกว่า เฮ้ย นี่คือมิติใหม่ของพรรคอนุรักษนิยมในอังกฤษ ที่มี ริชิ ซูนัค (Rishi Sunak) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประวัติศาสตร์ประเทศที่มีเชื้อสายอินเดีย อย่างแรกก็คงต้องบอกว่า แล้วไงวะ? อนุรักษนิยมต้องเหยียดเพศ เหยียดสีผิวตลอดเวลาเหรอ? อนุรักษนิยมสามารถเล่นกับเกมของความหลากหลายและแตกต่างได้ และได้ดีด้วยซ้ำ
สองคือ ซูนัคคือหนึ่งในมหาเศรษฐีของอังกฤษนะเว้ย ภรรยาของเขาก็รวยมากๆ ตัวเขาก็รวยมากๆ และเขาก็คือเด็กอังกฤษ 1% บนยอดด้วยซ้ำ แทบจะไม่ได้ต่างจากเด็กผิวขาวอังกฤษ คือเรียนโรงเรียนชั้นสูง เรียนอ็อกซ์ฟอร์ด สำเนียงก็ใช้ได้เลย และที่สำคัญ ซูนัคก็เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกคนสำคัญของชนชั้นนายทุนที่กดขี่แรงงาน คือพูดง่ายๆ ว่า ทำไมคุณจะเป็นคนอังกฤษเชื้อสายอินเดียที่กดขี่แรงงานไม่ได้วะ
สุดท้าย การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ไม่ใช่ความเป็นสากล การเมืองเรื่องอัตลักษณ์มันก็แบ่งมนุษย์ไปตามกลุ่มต่างๆ จับทุกคนแบ่งไปตามเลน การเมืองเรื่องอัตลักษณ์แค่บอกว่า คุณอยู่ในเลนของคุณนะ คุณห้ามล้ำเส้น คุณเคารพเลนเรา เราเคารพเลนคุณ แล้วเราก็เดินกันไป นี่ไม่ใช่ความเป็นสากล
และที่ยิ่งน่าตกใจกว่านั้นก็คือ ตรรกะของความคิดการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็มาจากวัฒนธรรม (culture) การแบ่งคนตามวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมก็คือเชื้อชาติ (race) วัฒนธรรมมันคือ ‘the new race’ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มันไม่สามารถใช้คำว่า ‘race’ ได้ ‘culture’ ก็ทำหน้าที่นี้ในการแบ่งมนุษย์
แต่การมองโลกที่แบ่งว่ามนุษย์ไม่ใช่หนึ่งเดียว มองว่ามนุษย์แบ่งไปตามอัตลักษณ์ต่างๆ จะเรียกว่าวัฒนธรรม เรียกว่าอารยธรรม อะไรก็ตาม อันนี้ก็คือการมองโลกแบบฝ่ายขวาหรือเปล่า ปัญหาก็คงอยู่ตรงนี้ว่า การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่ดูเหมือนจะก้าวหน้า โดยเฉพาะที่อิงกับวัฒนธรรม แต่กรอบในการมอง ในการแบ่ง (categorize) มนุษย์ต่างๆ มันก็เป็นกรอบที่ไปได้ด้วยดีกับอนุรักษนิยมหรือเปล่า และเผลอๆ มันอาจจะเป็นกรอบเดียวกับที่อนุรักษนิยมใช้มองหรือเปล่า
อาจารย์บอกว่า ฝ่ายขวาจำเป็นต้องมีศัตรู แต่ศัตรูของฝ่ายซ้ายอาจไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง – ประเด็นนี้หมายความว่าอย่างไร
ถ้าคำสัญญาของคุณคือ A = A เป็นไปได้ คุณสามารถไม่แปลกแยกได้ ไม่ขัดแย้งในตัวเองได้ วิธีหนึ่งที่ง่ายสุดที่จะรักษาคำสัญญานี้ และรักษาแฟนตาซี (fantasy) นี้ไว้ ก็คือการมีศัตรู – มันเป็นเพราะศัตรู เราเลยไม่เต็มและสมบูรณ์สักที มันเป็นเพราะศัตรู A เลยไม่เท่ากับ A สักที เพราะมีใครมาขัดอยู่ มีอะไรมาขัดขวางอยู่ตลอดเวลา มีมารมาผจญตลอดเวลา
หน้าที่ของศัตรูก็คือ เพื่อรักษาสัญญาว่า A = A แฟนตาซีว่า A = A เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ การมีอยู่ของศัตรูจะทำให้เรามองไม่เห็นถึงความแปลกแยก ความขัดแย้งในตัวเรา และในสังคม และมองว่า ความขัดแย้งและความแปลกแยกทั้งหลายไม่ได้เกิดขึ้นภายใน แต่มันเกิดขึ้นจากภายนอก พูดง่ายๆ ว่า โทษศัตรูนั้นง่ายกว่าพิจารณาตัวเอง
ส่วนฝ่ายซ้าย ถ้าโอบรับแนวคิดว่า A ≠ A ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก็เลยไม่ต้องการศัตรู และนอกจากไม่ต้องการ ก็มีไม่ได้ด้วยซ้ำ
ถ้าอย่างนั้นแล้ว จุดร่วมของฝ่ายซ้ายคืออะไร
ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายที่ยอมรับว่า A ≠ A ก็หมายความว่า สิ่งที่เรามีร่วมกันคือความพร่อง และสิ่งที่เรามีร่วมกันก็คือ การไม่เข้าพวกใดพวกหนึ่งเลย เราไม่สามารถเป็นสมาชิกโดยสนิทใจได้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลย และอัตลักษณ์เฉพาะอันไหนก็ไม่ใช่สักอย่าง นั่นก็เลยหมายความว่า ทางออกก็ต้องเป็นทางออกที่เป็นสากล สากลในที่นี้ก็คือ สำหรับทุกคน โดยไม่กีดกัน ซึ่งในที่นี้พยายามเน้นไปที่ระบบ สถาบัน โครงสร้างทั้งหลาย ที่มีผลกระทบต่อผู้คนมากมาย เช่น ทุนนิยมโลก มันจะดีกว่า
ถ้าเราตั้งว่า ทุกแห่งหน เราไม่มีเสรีภาพเหมือนกัน – ซึ่งในรายละเอียดมันจะแตกต่างกันนะ – ทุกแห่งหนเราไม่มีความเสมอภาคเหมือนกัน ดังนั้น เราจะสามารถร่วมมือกันได้ ถึงข้อเรียกร้องเราจะแตกต่างกันในความเฉพาะ ในรายละเอียดข้อเรียกร้อง แต่เราก็จะอยู่ในร่มเดียวกัน เราก็อยู่ในสายธารเดียวกันของการต่อสู้ เราจะไม่มองว่า สิ่งที่คุณเรียกร้องขัดกับเราอยู่ หรือเราจะเรียกร้องแค่เรื่องของเรา ซึ่งก็จะมีทรงแบบการเมืองเรื่องอัตลักษณ์
การเมืองฝ่ายซ้ายก็เลยต้องแสวงหาสหายมากมาย เลยต้องมาคอยบอกว่า เมื่อไม่มีศัตรูนั้นหมายความว่า คุณกลับใจมารบกับเราไหม คุณกลับใจมาอยู่ฝั่งเราไหม คุณกลับใจมาต่อสู้เพื่อเราทุกคนกันไหม แน่นอน มันก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่กระทำความผิดจะไม่ต้องรับผิดนะ เพียงแต่ว่าสุดท้าย ถึงขจัดศัตรูไป ปัญหาเราก็ยังไม่จบนะ ถึงขจัดศัตรูไป เราจะไม่เต็มและสมบูรณ์นะ
การเมืองที่เน้นการขจัดศัตรูมันสามารถประกาศชัยชนะได้อย่างค่อนข้างง่ายและรวดเร็ว ดูสิ เราชนะการเลือกตั้งแล้ว จบแล้ว ชนะแล้ว ดูสิ เราล้มจอมเผด็จการไปได้แล้ว จบแล้ว ชนะแล้ว ก็ไปดูได้ ในอาหรับสปริง (Arab Spring) ล้มเผด็จการได้แล้วแต่ยังไงต่อ? มันก็ไม่ได้นำไปสู่อะไรที่ดีขึ้นเลย หรือดีขึ้นนิดเดียว แต่ในปัจจุบันอาจจะเลวร้าย หรือเทียบเท่าเดิม เป็นต้น
ในที่นี้ก็คงต้องมองว่า ในด้านการเมือง มันก็คงต้องวางระยะเฉพาะหน้า กลาง และไกลด้วยซ้ำ แต่เวลาเรามีศัตรู มันอาจจะทำให้เราสนใจแค่ในระยะเฉพาะหน้าที่สุด ชนะแล้ว จบแล้ว หรือแม้แต่ ก้าวไกลชนะแล้ว โอ้ ประเทศไทยชนะแล้ว! สมมติอย่างนี้ มันก็ยังไม่ใช่หรือเปล่า
การคิดเรื่องเอนจอยเมนต์ทำให้เราเข้าใจเรื่องชาตินิยม และวิธีต่อสู้กับมันได้ด้วย เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร
ประเด็นผมอยู่ตรงนี้ ในโลกซึ่งมีเทรนด์มาอย่างน้อย 30-40 ปี ว่าเป้าหมายของผู้ที่มีอำนาจ เป้าหมายของการเมือง ก็คือการควบคุม จัดการบริหารแรงปรารถนากับเอนจอยเมนต์ แล้วแบบไหนล่ะที่จะต้องถูกปลุกปั่น ถูกผลิตซ้ำ ถูกสร้างมามากมาย? ก็ต้องเป็นแรงปรารถนากับเอนจอยเมนต์แบบฝ่ายขวา มันจะไปได้ดีกับโลกแบบนี้ หรือชาตินิยม ซึ่งในไทยก็อาจจะเป็นชาตินิยมราชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งทุนนิยมก็ตาม คำสัญญาอย่าง A จะเท่ากับ A เราจะเติมให้เต็ม เราจะสมบูรณ์ มันก็เป็นแรงปรารถนาฝ่ายขวา เป็นเอนจอยเมนต์แบบฝ่ายขวา
เช่นนี้แล้ว ก็ต้องพยายามเปิดมณฑลของการต่อสู้ในด้านนี้ด้วย การต่อต้านฝ่ายขวาก็มีบางเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว เช่น เปิดโปงข้อเท็จจริง หรือในทางประวัติศาสตร์ ก็แน่นอน ต้องชำระประวัติศาสตร์ เขียนประวัติศาสตร์ไม่ให้ชาตินิยมมอมเมา เป็นต้น สิ่งนี้ก็ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่มันยังไม่สามารถสั่นคลอนเอนจอยเมนต์ได้
เราต้องถามว่า ทำไมชาติมันน่าดึงดูด ทำไมคนลงใจกับชาติ หลายๆ ครั้ง ทั้งที่รู้ดีว่าจะเกิดอะไรด้วยซ้ำ ทำไมคนถึงลงใจกับชาติ การที่คุณให้ความรู้ไปทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ลงใจ คุณให้ความรู้ไปมากมาย เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ใหม่ เปลี่ยนบทเรียนทั้งหมด ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะหันหลังให้กับชาตินิยมนะ เขาจะไม่ปรารถนาชาติต่อไป เขาจะไม่มองว่าชาติมันไม่น่าลงใจนะ เพราะชาติมันเสพติดได้ เพราะมันน่าลงใจ
ในด้านหนึ่ง ถ้าในมณฑลนี้ แพสชั่น (passion) ต้องถูกต่อสู้ด้วยแพสชั่น แพสชั่นแบบฝ่ายขวาต้องถูกต่อสู้ด้วยแพสชั่นแบบฝ่ายซ้าย ไม่ใช่เอาความรู้มาต่อสู้กับแพสชั่น มันยากมากๆ ที่ความรู้จะชนะแพสชั่นได้
ตัวอย่างที่ผมชอบใช้ พูดมา 2-3 เวทีแล้ว คือผมก็เข้าใจชาตินิยมดี ผมมองว่าตัวเองเป็นฝ่ายซ้าย ผมต่อต้านชาตินิยมด้วยซ้ำ ผมเห็นว่าความเป็นสากลสำคัญกว่าด้วยซ้ำ แต่คราวนี้ ใน 2-3 กรณี ผมจับตัวเองได้ว่าผมกำลังเอนจอยชาติอยู่ การเอนจอยชาติ คือ แน่นอน การเอนจอยการมีศัตรู หรือการเอนจอยการกีดกัน เพราะถ้าชาติเป็นของทุกคน ชาติจะไม่มีคุณค่าเลย ชาติมันต้องเป็นของสมาชิกเท่านั้นสิ ฉะนั้น เราเอนจอยผ่านการกีดกันคนมากมาย
ประเด็นคือ ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปต่างประเทศ ผมได้ใช้ประตูอิเล็กทรอนิกส์ คนอื่นต้องเข้าคิว ถ้าเป็นต่างชาติต้องเข้าคิว ต่อ ตม.คิวยาว ผมแม่ง 5-10 วินาที ผ่านแล้ว เข้าประเทศก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้รู้สึกจะเปิดให้ต่างชาติใช้แล้วนะ แต่ช่วงหลายๆ ปีมานี้ ก็คือ ทุกครั้งที่ผมออกและเข้าประเทศ ผมรู้สึกภาคภูมิใจ ใช้คำว่า ‘ภาคภูมิใจ’ ในเครื่องหมายคำพูดแล้วกันว่า ผมเป็นไทย เพราะผมได้กีดกันคนอีกมโหฬารเลย ที่ต้องต่อคิว แต่ผมเข้าออกอย่างรวดเร็วเลย นี่สิ การตอบแทนที่ดีของการเป็นคนไทย ถึงมันจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกแค่ 5-10 วินาทีก็ตาม
อีกโมเมนต์หนึ่งคือ เมื่อหลายปีก่อน ช่วง COVID-19 แถวที่ผมอาศัยอยู่ มันจะมีคดีวิ่งราว ปล้นกัน ช่วงเย็นๆ เลย 5-6 โมงเย็น จนถึง 1-2 ทุ่ม นั่นก็เป็นช่วงที่จะเริ่มเห็นสายตรวจ ขับรอบเป็นหลายกิโลฯ ขับรอบหลายซอย มีวันหนึ่ง ผมก็เดินอยู่ในซอยแถวที่พัก แล้วผมก็เห็นข้างหน้า สายตรวจถามแรงงานเพื่อนบ้าน ขอเช็ค เราก็เห็นแต่ไกล อืม สงสัยแรงงานเพื่อนบ้านโดนซิวว่ะ เราโชคดีนะ เราเป็นคนไทย
เสร็จแล้วผมก็เดินผ่านไป พอผมผ่านแรงงานเพื่อนบ้านไปแป๊บเดียว ตำรวจพูดภาษาอังกฤษกับผม Hello! Where you go? แล้วก็ขอตรวจ ขอดูบัตร ตรวจสอบในย่ามมีอะไร ในโมเมนต์นั้น ผมรู้สึกเอนจอยชาติขึ้นมา เพราะด้านหนึ่ง ตอนแรกผมรู้สึกปลอดภัย ผมไม่ต้องโดนสภาพนี้ แต่เสร็จแล้วผมโดนเอง ผมก็กลับเอนจอยชาติอีกว่า ถ้าผมเป็นสมาชิกชาติ ผมก็จะรอด
ฉะนั้น ถึงความรู้เราจะท่วมหัวและดีแค่ไหน เราก็สามารถเอนจอยชาติได้ เพราะมันเป็นเรื่องของแพสชั่น ประเด็นก็อยู่ตรงนี้ว่า มันทำให้การต่อสู้ฝ่ายขวานั้นยากขึ้นไปอีก มันไม่ได้ง่ายดายขนาดแค่ให้ความรู้ เขียนหนังสือที่ดี ซึ่งต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่มันก็ไม่พอ เพราะสิ่งที่ทำให้คนลงใจกับชาติ และเป็นนักชาตินิยมในหลากหลายเฉด ไม่ใช่เรื่องของความรู้ที่ผิดแต่เพียงอย่างเดียว
ทั้งหมดที่เราพูดกันมา – จิตวิเคราะห์ เอนจอยเมนต์ หรือความขาดพร่อง ที่นำไปสู่ความเป็นสากลก็ตาม – จะเป็นเครื่องมือของผู้ที่อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง
มันอาจจะทำให้เราเลิกพูดถึง หรือเลิกหมกหมุ่นว่า มันคือเรื่องของความรู้ที่ผิดพลาด จิตสำนึกที่ผิดพลาด และเลิกเถียงกันว่า ไอ้นี่ไม่มีความรู้ มันโง่ อย่างเวลาฝ่ายที่ก้าวหน้าในไทยวิจารณ์ สว.รุ่นใหม่ ว่า จบปริญญาอะไรมา ไม่มีความรู้ ทำงานอะไรมา เป็นต้น มันก็ลงล็อกฝ่ายขวา กลับเป็นฝ่ายขวาอย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ออกมาปกป้องว่า คุณไปปรามาส ด้อยค่างานได้ไง ด้อยค่าคนเหล่านี้ได้ไง มันกลายเป็นฝ่ายขวาที่ปกป้องคนธรรมดาอยู่ และกลับกลายเป็นฝ่ายก้าวหน้าที่ดูยโส อีลิต (elite) ดูถูกคนเพราะไม่มีความรู้
ฉะนั้น ต้องระวังให้ดี
แต่ในการต่อต้านฝ่ายขวา ภารกิจมันจะยากขึ้น และต้องเป็นภารกิจที่เพิ่มไปมากกว่าการให้ความรู้ เปิดโปงความจริง ซึ่งแน่นอนต้องทำอยู่แล้ว แต่มันต้องไปมากกว่านั้น ต้องพยายามรบกวนแฟนตาซีที่หล่อเลี้ยงเอนจอยเมนต์ของสังคมนั้นๆ
พูดง่ายๆ ว่า มันเปิดพื้นที่ของการต่อต้าน ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใหม่ เราเห็นมาตั้งแต่พวกลัทธิฟรอยด์-มาร์กซ์ (Freudo-Marxism) ในช่วงศตวรรษที่ 20 แล้วล่ะ แต่มันก็อาจจะเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายซ้ายลืมและทอดทิ้งไป
และสิ่งที่สำคัญก็คือ เวลาวิเคราะห์แนวคิดและหลักการของฝ่ายขวา ในการต่อต้านมัน เราต้องพยายามเข้าใจมันให้ได้ว่า ทำไมมันน่าดึงดูด เพราะกรอบในปัจจุบัน ก็มักจะมองว่า คนไม่รู้ คนโง่ คนไม่มีความรู้ คนไม่มีข้อมูล ถ้าให้ข้อมูลที่ถูกต้องไป คนก็จะรู้แจ้ง และจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การกระทำของตัวเอง ก็จะกลายเป็นพวกเราที่ก้าวหน้า ซึ่งไม่จริงเลย
ทำไมการเหยียดสีผิวมันน่าดึงดูด ทำไมการเหยียดเชื้อชาติมันน่าดึงดูด เฮ้ย มันน่าดึงดูดนะ จริงๆ ชาตินิยมกับการเหยียดสีผิวทำงานเหมือนกัน เพียงแต่ในการเหยียดสีผิว ศัตรูมากับสีผิวที่แตกต่าง ในชาตินิยม มันก็คือศัตรูของชาติที่มีได้หลากหลายแบบ เป็นต้น แต่มันก็แบ่งแยกเหมือนกัน มันก็กีดกันเหมือนกัน
ถ้าเช่นนี้ มันจะเปิดพื้นที่ของการต่อต้านได้มากขึ้น แต่อย่างที่บอกว่า มันยากมากๆ เราต้องพยายามรบกวนเอนจอยเมนต์ของสังคม แฟนตาซีที่หล่อเลี้ยงเอนจอยเมนต์ฝ่ายขวา ที่มันสัญญาว่าจะเติมเต็ม เราต้องพยายามรบกวนมันให้ได้
ก็จะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนคำถาม และเปลี่ยนแท็กติก วิธีการต่อสู้ ต้องเป็นพื้นที่ใหม่ มณฑลใหม่ และเครื่องมือใหม่ และอย่าลดทอน ปรามาสฝ่ายขวาว่าไม่น่าดึงดูด เป็นแค่ผู้ที่ไม่รู้ ผู้ที่ไม่มีการศึกษา หรืออะไรก็ตาม
ถ้าเราเข้าใจว่า มันเล่นกับแรงปรารถนาอย่างไร เล่นกับการลงใจของเราอย่างไร เราอาจจะต่อสู้กับมันได้ง่ายขึ้น ได้มากขึ้น