เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนของนักคิดในระดับเปลี่ยนโลก นอกจากมาร์กซแล้ว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ยังเป็นวันเกิดของซิกมุนด์ ฟรอยด์ นักคิดชาวเยอรมันผู้ที่ชวนเรา ‘กลับไปดูข้างใน’ ไปสู่ดินแดนที่อยู่นอกเหนือการ ‘ตระหนักรู้’ ของเรา
ฟรอยด์ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน เป็นนักคิดที่เปลี่ยนวิธีคิดของโลกตะวันตก ยุคหนึ่งมนุษย์เชื่อเรื่องการคิด เรื่องการใช้เหตุผล เรอเน เดการ์ตบอกว่า “เราคิด เราถึงมีอยู่” (“Cogito, ergo sum”) แต่พอถึงจุดหนึ่งฟรอยด์กลับบอกว่า สิ่งสำคัญที่ส่งอิทธิพลกับตัวตนของเรากลับไม่ได้อยู่ในดินแดนของ ‘การคิด’ หรือการ ‘กระหนักรู้’ (conscious) แต่กลับเป็นสิ่งที่หลับไหลอยู่ในตัวเราในโลกของจิตไร้สำนึก (unconscious) ต่างหาก
นึกภาพภูเขาน้ำแข็งของฟรอยด์ ส่วนที่ตระหนักรู้เป็นเพียงยอดของน้ำแข็งที่พ้นน้ำ ฟรอยด์บอกว่าจิตใจของเราสัมพันธ์กับส่วนที่เรา ‘ไม่ตระหนักรู้’ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน ความคิด ตัวตน การกระทำ ไปถึงอาการต่างๆ ของจิตใจล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับส่วนลึกภายในจิตใจอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนทั้งสิ้น อดีต ความทรงจำ และความฝัน ถึงเป็นพื้นที่ที่ฟรอยด์ชวนเรากลับไปทำความเข้าใจ ปัญหาและตัวตนของเราบางครั้งจึงอยู่ภายใน ไม่ใช่ภายนอก
ฟรอยด์เป็นเจ้าพ่อสำนักคิดแนวจิตวิเคราะห์ วิธีคิดและการใช้ทฤษฎี (practice) ของฟรอยด์ถูกขบคิดและยังคงมีนักคิดที่สืบทอด พัฒนาเพื่อขบคิด ‘จิตใจ’ – พื้นที่ที่ใกล้ตัวที่สุด แต่กลับเข้าใจได้ยากที่เย็นที่สุด ฟรอยด์ยังคงส่งผลต่อความคิดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จากซิกมุนด์ ฟรอยด์ เจ้าพ่อแห่งความฝันและปมอันมืดมิด เช่นปมเอดิปุส ถึงคาร์ล กุสตาฟ จุง จิตแพทย์ร่วมสำนักและลูกศิษที่ต่อมาพัฒนาแนวคิดจิตวิเคราะห์ไปในแนวทางของตนเอง หลังจากนั้นแนวคิดแบบจิตวิเคราะห์ก็ยังส่งอิทธิพลต่อจนถึงนักคิดยุคถัดมา ฌาคส์ ลากอง นักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศสที่ได้ผสมผสานแนวคิดจิตวิเคราะห์เข้ากับความซับซ้อนของภาษา และลากองก็กลายเป็นแนวการวิเคราะห์ต่อเนื่อง เช่นที่ชิเชคที่ใช้กรอบคิดแบบลากองมาอธิบายวัฒนธรรมร่วมสมัยในหนังฮอลลีวูด
The Interpretation of Dreams, Sigmund Freud
‘ความฝัน’ เป็นพื้นที่สำคัญที่ฟรอยด์จะพาเรา ‘กลับไปข้างใน’ เพื่อทำความเข้าใจทั้งปัญหาและความปรารถนาที่เรากลบฝังมันไว้ในใจ The Interpretation of Dreams จึงเป็นหนังสือสำคัญเล่มแรกๆ ที่เราจะนึกถึงเมื่อพูดถึงฟรอยด์ งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ขึ้นในปี 1899 ถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่ฟรอยด์เสนอแนวคิดเรื่อง ‘จิตไร้สำนึก’ (unconscious) ผ่านการสำรวจ เก็บข้อมูล และวิเคราะห์สัญลักษณ์ต่างๆ ในความฝัน สิ่งที่ถูกวิเคราะห์ในงานต่อมากลายเป็นสิ่งที่เรารู้จักกันในนามปมเอดิปุส อีกหนึ่งไอเดียสำคัญของฟรอยด์ งานเขียนชิ้นนี้ถือหัวใจหนึ่งของฟรอยด์ The Interpretation of Dreams เป็นงานเขียนเชิงวิชาการที่ยาว ยาก และค่อนข้างซับซ้อน ต่อมาฟรอยด์จึงเขียนหนังสืออีกเล่มเป็นฉบับย่อยแล้วชื่อ On Dreams
Totem and Taboo, Sigmund Freud
‘ข้อห้าม’ (taboo) เป็นประเด็นสำคัญที่ฟรอยด์ให้ความสนใจ Totem and Taboo เป็นอีกงานสำคัญที่ฟรอยด์ใช้วิธีคิดแบบจิตวิเคราะห์ผสานเข้ากับแขนงวิชาทางมานุษยวิทยา ในงานเขียนชิ้นนี้รวม 4 บทความสำคัญที่ลงไปศึกษาวัฒนธรรมชนเผ่า งานเขียนนี้พูดถึงแนวคิดสำคัญของข้อห้ามสำคัญในการสร้างสังคมมนุษย์ เช่นข้อกำหนดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัว (incest) ตรงนี้เองที่นักคิดยุคหลังมองว่าจุดที่ฟรอยด์เสนอถือเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมและอารยธรรม (civilization)
Civilization and Its Discontents, Sigmund Freud
Civilization and Its Discontents เป็นงานสำคัญชิ้นท้ายๆ ของฟรอยด์ และถือว่าเป็นอีกหนึ่งชิ้นที่ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อสานุชนคนรุ่นหลัง งานชิ้นของฟรอยด์ว่าด้วย ‘อารยธรรม’ ในแง่ของความขัดแย้ง (conflict-tension) ระหว่างบุคคลและสังคม ฟรอยด์พูดถึงว่า แน่ล่ะว่าคนเรามีแรงปรารถนาบางอย่าง แต่การรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นสังคม คือการที่เราต้องกลายเป็นคนที่มีอารยะ (civilized) คือการที่เรารู้จักกดข่มสัญชาตญาณของเราไว้ ในทางกลับกันฟรอยด์ก็บอกว่า ดังนี้เอง สังคมอารยะของเราก็ขับเคลื่อนด้วยความรุนแรงด้วย งานเขียนนี้ของฟรอยด์จึงเป็นการถกเถียงว่าด้วยอิทธิพลของสังคมที่มีต่อจิตใจและตัวตนของเรา ในแง่ของการพัฒนา superego เพื่อกำกับและควบคุมความปรารถนาลึกๆ ของมนุษย์
The Archetypes and the Collective Unconscious, Carl Gustav Jung
คาร์ล กุสตาฟ จุง เป็นทั้งคนหนุ่มที่เข้ามาร่วมงานกับฟรอยด์ และถือกันว่ามีฟรอยด์เป็นผู้ชี้นำทางความคิดและทางอาชีพ ระยะหลังจุงเริ่มเห็นต่างจากฟรอยด์ และตัวจุงเองหันความสนใจไปที่ดินแดนของจินตนาการและความฝันของมวลมนุษย์ แนวคิดสำคัญของจุงสองอย่างคือจิตไร้สำนึกร่วม (collective cnconscious) และ The Archetypes จุงสนใจว่าทำไมมนุษย์เราถึงเล่าเรื่องที่มีรูปแบบซ้ำๆ กัน การเรื่องเล่าตำนานทั้งหลายสะท้อนถึงจิตนาการร่วมของมนุษยชาติอย่างไร งานของจุงส่งอิทธิต่อการศึกษาตำนาน วรรณกรรม ในยุคต่อๆ มา The Archetypes and The Collective Unconscious ถือเป็นงานที่รวมบทความที่สรุปรวบยอดความคิดของจุง
The Red Book, Carl Gustav Jung
The Red Book หรือหนังสือปกแดงของจุงถือเป็นคัมภีร์จากการรวบรวมประสบการณ์และข้อมูลเรื่องจิตใจ ตั้งแต่ปี 1914-1930 จุงเรียกหนังสือชุดนี้ของตัวเองว่า Liber Novus (แปลว่า New Book ในภาษาละติน) จุงทำงานร่วมและเห็นพ้องกับฟรอยด์ จนกระทั่งจุดหนึ่งจุงบอกว่า จิตใจของเราอาจไม่ต้องเกี่ยวกับการกดข่มความรู้สึกที่ดำมืดแต่อย่างเดียว หนังสือปกแดงของจุงเป็นงานที่ดูจะเต็มไปด้วยมนต์ขลัง ยุงแตกต่างจากฟรอยด์ตรงที่เขาสนใจเรื่องเล่า ตำนาน เรื่องราวมหากาพย์วีรบุรุษวีรสตรี ไปจนถึงมิติทางศาสนา งานเขียนชิ้นนี้ถือเป็นหัวใจของทฤษฎีของจุง แต่จุงเลื่อนการเผยแพร่มาจนกระทั่ง 50 ปี หลังจากเขาตาย งานเขียนชิ้นนี้ถึงได้ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อปี 2009 นี้เอง
The Seminars of Jacques Lacan, Jacques Lacan
ฌาคส์ ลากองเป็นจิตแพทย์และนักคิดที่นำเอาความคิดจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ผสานเข้ากับกรอบความคิดแบบหลังโครงสร้างนิยม ลากองพูดถึงการก่อร่างและการรับรู้ตัวตน (self) ผ่านกระบวนอันซับซ้อนในวัยเด็ก ทฤษฎีเรื่องกระจก (mirror stage) เป็นกระบวนการที่ลากองเสนอว่าเรารับรู้ตัวตนผ่านภาพสะท้อนของตัวเอง นึกภาพการเป็นเด็กน้อยที่ไม่สามารถขยับตัวเองได้อย่างเสรี แต่ตัวตนที่เรารับรู้คือภาพสะท้อนที่อยู่ตรงหน้ากลับมีความสมบูรณ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวและมีความเป็นอุดมคติ (ideal) หลักๆ แล้วลากองพูดถึงการรับรู้ตัวตนมิติทางจินตนาการทั้งในแง่ภาพและในทางสัญลักษณ์ (ระบบภาษา) แนวคิดของลากองส่วนใหญ่เผยแพร่ผ่านการบรรยายที่ปารีสในช่วงปี 1952-1980 ภายหลังจึงได้มีการรวบรวมการบรรยายดังกล่าวเป็นเล่ม
Enjoy Your Symptom!: Jacques Lacan in Hollywood and Out, Slavoj Zizek
ชิเชคถือเป็นร็อคสตาร์ของวงการปรัชญาร่วมสมัย ชิเชคเป็นนักคิดที่ใช้กรอบความคิดจิตวิเคราะห์ของลากองเพื่อวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมร่วมสมัยและระบบทุนนิยม แน่ล่ะว่ากรอบความคิดของลากองให้ความสำคัญกับภาพ (visual) ดังนั้นในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยภาพและการเนรมิตภาพบนจอ (screen) ชิเชคจึงถือโอกาสใช้วิธีวิเคราะห์ของลากองมาวิเคราะห์ภาพยนตร์ Enjoy Your Symptom!: Jacques Lacan in Hollywood and Out ถือเป็นภาคปฏิบัติสำคัญของการเอาจิตวิเคราะห์มาจับหนังฮอลลีวูดที่เราดูกันเป็นประจำ ชิเชคแบ่งหนังสือออกเป็นห้าส่วน ครอบคลุมแกนสำคัญของจิตวิเคราะห์ของลาก็อง ได้แก่ Letter, Fantasy, Woman, Repetition, Phallus และ Father
อ้างอิงข้อมูลจาก