นับเป็นข่าวดีสำหรับคอหนังบ้านเรา ที่ The French Dispatch (2021) หรือในชื่อเต็มว่า The French Dispatch of the Liberty, Kansas Evening Sun ผลงานล่าสุดของผู้กำกับสุดแนวชาวอเมริกันขวัญใจคอหนังอินดี้หนังอาร์ต อย่าง เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ที่เป็นเสมือนจดหมายรักของเขาที่มอบให้แก่วงการสื่อสิ่งพิมพ์ เข้ามาฉายในระบบสตรีมมิ่งในบ้านเราแล้ว
The French Dispatch เล่าเรื่องราวของทีมงานหนังสือพิมพ์สมมติสัญชาติอเมริกัน ณ เมืองสมมติในชนบทของฝรั่งเศสอย่าง อองนุย-เซือร์-บลาเซ่ (Ennui-sur-Blasé แปลเป็นไทยประมาณ “ความเบื่อหน่ายอันน่าเฉื่อยชา”) ภายใต้การนำทีมของบรรณาธิการ อาเธอร์ โฮวิตเซอร์ จูเนียร์ (บิล เมอร์เรย์) ที่ร่วมกันทำนิตยสาร The French Dispatch ฉบับล่าสุดออกมา
เรื่องราวในหนังถูกแบ่งออกเป็นสี่ตอน โดยเล่าด้วยรูปแบบของบทความในคอลัมน์นิตยสารหัวข้อต่างๆ อย่าง ‘สีสันท้องถิ่น’, ‘ศิลปะและศิลปิน’, ‘การเมือง/กวี’ และ ‘รสและกลิ่น’ (อาหาร) คงไม่ต้องบอกให้เสียเวลาว่าตอนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับโอตาคุศิลปะอย่างเรา ย่อมต้องเป็นตอนที่อยู่ในคอลัมน์ ‘ศิลปะและศิลปิน’ เป็นแม่นมั่น
โดยในตอนที่ว่านี้มีชื่อบทความว่า ‘The Concrete Masterpiece’ เขียนโดย เจ.เค.แอล. บีเรนเซน (รับบทโดย ทิลดา สวินตัน) โดยตัวละครของเธอได้แรงบันดาลใจจากนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันชื่อดัง โรซามันด์ เบอร์เนียร์ (Rosamund Bernier) ตัวบทความถูกนำเสนอในรูปของเลกเชอร์ของเธอ เกี่ยวกับชีวิตและผลงานของ โมเสส โรเซนธาเลอร์ (รับบทโดย โทนี เรฟโวโลรี ในวัยหนุ่มน้อย และ เบนิซิโอ เดล โตโร ในวัยหนุ่มใหญ่) ศิลปินระดับตำนานผู้ถูกจำคุกในเรือนจำจากข้อหาฆาตกรรม
ในขณะที่ถูกคุมขังอยู่ โมเสสสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายชิ้นในคุก โดยเฉพาะผลงานภาพวาดนามธรรมชิ้นเยี่ยม Simone Naked, Cell Block J Hobby Room ที่ได้แรงบันดาลใจจาก ซิโมน (เลอา เซย์ดูซ์) ผู้คุมสาว ผู้เป็นทั้งนางแบบ(เปลือย), เทพธิดาบันดาลใจ (Muse) และชู้รักของเขา ประจวบกับการที่ จูเลียน คาดาซิโอ (เอเดรียน โบรดี) นายหน้าค้างานศิลปะชื่อดังที่บังเอิญถูกจำคุกในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีในเรือนจำเดียวกัน เมื่อเขาได้มาเห็นผลงานของโมเสสเข้า ก็เกิดโดนใจอย่างแรง จนดั้นด้นไปขอซื้องานทั้งหมดจากเขาถึงห้องกรง แถมยังหมายมั่นจะปั้นโมเสสให้กลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ในโลกศิลปะทั้งๆ ที่เขายังคงต้องโทษจองจำอยู่ในคุก จนกลายเป็นที่มาของผลงานชิ้นเอกของโมเสสอย่างภาพ The Concrete Masterpiece หรือในชื่อเต็มว่า Ten Reinforced Cement Aggregate Load-Bearing Murals ชุดภาพวาดนามธรรมขนาดมหึมา 10 ชิ้น ที่นอกจากจะก่อให้เกิดความโกลาหลอลเวงครื้นเครงตามสไตล์ เวส แอนเดอร์สัน ยังจิกกัดเสียดสีแวดวงศิลปะสมัยใหม่อย่างสุดแสบสันคันคะเยออีกด้วย
นอกจากการแสดงอันหลุดโลกแต่เปี่ยมเสน่ห์ของทัพนักแสดงชั้นนำมากหน้าหลายตา กับฉากและงานสร้างอันประณีตงดงามเปี่ยมสีสันอย่างน่าทึ่งในสไตล์ เวส แอนเดอร์สัน องค์ประกอบอันโดดเด่นโดนใจอีกอย่างในเรื่องนี้ก็คือผลงานภาพวาดทั้งหลายที่ตัวละครโมเสสทำขึ้นในเรือนจำตามท้องเรื่องในหนัง ทั้งภาพวาดแบบเหมือนจริงในสไตล์เดียวกับศิลปินสัจนิยม (realism) อย่าง กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) และศิลปินโมเดิร์นนิสต์ชาวสวิส-ฝรั่งเศส เฟลิกซ์ วัลล็อตตั้น (Félix Vallotton) หรือภาพวาดหุ่นนิ่งและทิวทัศน์ในสไตล์เดียวกับศิลปิน post-impressionism อย่าง ปอล เซซาน (Paul Cézanne) และ วินเซนต์ แวน โกะห์ (Vincent van Gogh) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพวาดนามธรรมสีสันสดใส ฝีแปรงรุนแรงเปี่ยมพลังความเคลื่อนไหว ที่ในหนังอุปโลกน์ว่าเป็นต้นธารของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบนามธรรมอย่าง The French Splatter-school Action-group อันเลื่องชื่อฤาชาในยุคโมเดิร์นของฝรั่งเศส
และศิลปินตัวจริงเสียงจริงผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานในหนังเรื่องนี้ก็คือ ซานโดร คอปป์ (Sandro Kopp) ศิลปินชาวเยอรมนี-นิวซีแลนด์ ผลงานของเขามีแนวคิดเกี่ยวกับการสำรวจจุดตัดระหว่างงานจิตรกรรมคลาสสิกและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสื่อกลางในสังคมสมัยใหม่
คอปป์เป็นศิลปินที่ทำงานได้อย่างอิสระเลื่อนไหลทั้งในแนวทางของงานศิลปะแบบรูปลักษณ์ (figurative art) และศิลปะนามธรรม (abstract art) ก่อนหน้านี้เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานชุด Skype Portraits ที่วาดภาพพอร์เทรตของผู้คนผ่านโปรแกรมสื่อสารออนไลน์อย่าง Skype และจับเอาความบกพร่องไม่สมบูรณ์ของภาพที่ถูกบิดเบือนความชัดเจนจากการส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายการสื่อสารออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายละเอียดของความเป็นนามธรรมให้ใบหน้าเหล่านั้น
อันที่จริงคอปป์เองก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล หากแต่เป็นคู่รักคนปัจจุบันของ ทิลดา สวินตัน นักแสดงนำในตอนนี้ แถมก่อนหน้านี้คอปป์ยังเคยวาดภาพให้หนังที่ทิลดาเล่นอีกเรื่องอย่าง Okja (2017) ของ บง จุนโฮ อีกด้วย
เควิน ทิมอน ฮิล (Kevin Timon Hill) ผู้กำกับศิลป์ของ The French Dispatch กล่าวถึงผลงานภาพวาดชิ้นเด่นในหนังเรื่องนี้ว่า
“ตามท้องเรื่อง ภาพวาดนี้ต้องเป็นผลงานที่จะเปลี่ยนโลกศิลปะ ดังนั้นมันต้องเป็นผลงานที่ทรงพลังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา และทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงพลังที่จะเปลี่ยนแปลงวงการในผลงานชิ้นนี้ได้”
นอกจากศิลปินหลักอย่างคอปป์แล้ว เขายังชักชวนศิลปินผู้ช่วยที่เปี่ยมพรสวรรค์อย่าง ฌอน สมิท (Sian Smith) และ อีดิท บาแดรนด์ (Edith Baudrand) มาร่วมด้วยช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเบื้องหลังในหนังกันอย่างขะมักขะเม้นเป็นเวลานับเดือน ในสตูดิโอที่ดัดแปลงจากโรงงานกระดาษร้างในเมืองอ็องกูแลม (Angoulême) ประเทศฝรั่งเศส โดยหยิบเอาสไตล์การทำงานของศิลปินระดับตำนานอย่าง วิลเลิม เดอ คูนนิง (Willem De Kooning), แฟรงก์ เอาว์บัก (Frank Auerbach), อันเซล์ม คีเฟอร์ (Anselm Kiefer) และ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเบื้องหลังในหนังเรื่องนี้
ที่น่าสนุกก็คือ หลังจากทำงานให้หนังเรื่องนี้เสร็จแล้ว คอปป์ยังถือโอกาสหยิบฉวยเอาเทคนิกและแนวคิดที่เขาใช้ในการทำงานศิลปะเบื้องหลังในหนังมาต่อยอดให้กลายเป็นงานของเขาเองเสียเลย
“ผมรู้สึกว่าภาพวาดในหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นผลงานของผม ผมเลยทำงานต่อยอดจากกระบวนการที่ทำให้หนัง ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้จับใจผมอย่างมาก เรื่องราวในหนังช่างสวยงามและเขียนขึ้นอย่างหมดจดงดงาม และเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกลึกๆ และความหมายที่แท้จริงของผมในการเป็นศิลปิน”
นอกจากผลงานภาพวาดของคอปป์และทีมงานจะถูกนำเสนออย่างเฉิดฉายในหนังแล้ว ภาพวาดตัวจริงยังถูกนำไปจัดแสดงร่วมกับฉาก เครื่องแต่งกาย และบรรดาอุปกรณ์ประกอบฉากในหนัง The French Dispatch ในนิทรรศการ WES ANDERSON: THE FRENCH DISPATCH ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม 180 The Strand ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.2021 ที่ผ่านมา
แถมล่าสุด ศิลปินเบื้องหลังอย่าง ซานโดร คอปป์ เองก็ยังมีนิทรรศการชื่อ Rosenthaler Suite ที่จัดแสดงผลงานของเขา (ที่ทำในนามของ โมเสส โรเซนธาเลอร์) จำนวนนับไม่ถ้วนที่ไม่ได้ถูกนำมาแสดงในหนัง รวมถึงผลงานที่ทำขึ้นภายหลัง ในหอศิลป์ Ebensperger ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ – 13 มีนาคม ค.ศ.2022 นี้อีกด้วย ใครสนใจก็ตามไปชมกันได้ตามอัธยาศัยที่ ebensperger.net หรือเข้าไปชมผลงานของ คอปป์ ทางออนไลน์ได้ในอินสตาแกรม instagram.com และเว็บไซต์ sandrokopp.com สามารถชมภาพยนตร์ The French Dispatch ได้ทาง Disney+ Hotstar Thailand
อ้างอิงข้อมูลจาก