หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ปรมาจารย์แห่งหนังไซไฟ body horror—หนังเขย่าขวัญที่แสดงความสยดสยองของการล่วงล้ำย่ำยีร่างกายมนุษย์—เดวิด โครเนนเบิร์ก (David Cronenberg) หันเหไปชิมลางกับหนังดราม่าอาชญากรรมอย่าง A History of Violence (2005), Eastern Promises (2007) หรือหนังเขย่าขวัญเชิงจิตวิทยา A Dangerous Method (2011), Cosmopolis (2012) และ Maps to the Stars (2014) ในปี ค.ศ.2022 นี้ เขากลับมาทวงบัลลังก์ความเป็นเจ้าพ่อแห่งหนังไซไฟ body horror อีกครั้ง กับหนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Crimes of the Future (2022)
Crimes of the Future เล่าเรื่องราวในโลกอนาคตอันไม่ระบุช่วงเวลา ที่มลพิษทางสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพต่อร่างกายมนุษย์ เกิดพัฒนาการทางเทคโนโลยีชีวภาพอันก้าวล้ำ อย่างการประดิษฐ์เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่อและควบคุมการทำงานของร่างกายมนุษย์ได้โดยตรง และการที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่หมอสามารถทำการผ่าตัดเองได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์แล้ว การผ่าตัดยังถูกใช้เป็นการทำงานศิลปะของเหล่าศิลปินในหนังอีกด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ซอล เทนเซอร์ (วิกโก มอร์เทนเซน) และ คาพริส (เลอา แซดู) คู่ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ที่ใช้ประโยชน์จากอาการผิดปกติทางวิวัฒนาการของซอล ที่ทำให้ร่างกายของเขาพัฒนาอวัยวะใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งคู่ทำงานศิลปะแสดงสดด้วยการผ่าตัดอวัยวะที่งอกขึ้นมาใหม่ของซอลออก แบบสดๆ ต่อหน้าผู้ชมทั้งหลาย
ในหนัง เราจะเห็นภาพลำตัวของซอลถูกผ่าเปิดออกโดยเครื่องจักรติดมีดผ่าตัดและเครื่องมือแพทย์อย่างคล่องแคล่วราวกับศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แหวกให้เห็นอวัยวะภายในของเขาต่อหน้าสายตาอันดื่มด่ำของเหล่าบรรดาผู้ชมที่ดูอยู่รายรอบ พร้อมกับที่คาพริส ศิลปินคู่หู ย่างกรายไปรอบๆ ห้อง พลางพรมนิ้วไปบนกลอุปกรณ์หน้าตานุ่มหยุ่นพิสดารเพื่อควบคุมการผ่าตัดที่ไม่ได้มีจุดประสงค์ทางการแพทย์แต่อย่างใด ในขณะที่ซอลนอนให้ชำแหละ ล้วง ควัก ตัดอวัยวะภายในออกมา กลับแสดงสีหน้าท่าทางรวดร้าวปนเปี่ยมสุขราวกับกำลังมีเซ็กซ์อยู่ยังไงยังงั้น ไม่ต่างอะไรกับที่ตัวละครอีกคนกล่าวกับซอลหลังการแสดงจบลงว่า “Surgery is the new sex.” (การผ่าตัดคือเซ็กซ์ยุคใหม่) เช่นนั้นแล้ว การที่ทั้งสองทำการแสดงสดด้วยการผ่าตัด ก็ไม่ต่างอะไรกับทั้งคู่กำลังมีเซ็กซ์ต่อหน้าผู้ชมทั้งหลายนั่นเอง
*บทความนี้อาจมีภาพที่ทำให้ไม่สบายใจ
การผ่าตัดหรือดัดแปลงร่างกายมนุษย์เป็นงานศิลปะอาจดูแปลกประหลาดพิสดารจนน่าจะเป็นแค่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การกระทำเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ศิลปะเมื่อไม่กี่ทศวรรษมาแล้วด้วยซ้ำ เช่นศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ใช้ร่างกายของตัวเองเป็นวัตถุแสดงออกทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด กรีดเฉือนเนื้อหนัง หลั่งเลือด หรือผ่านความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานทางร่างกายนานับประการ
“เมื่อยี่สิบปีก่อนที่ผมเขียนบทหนังเรื่องนี้ มีศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์มากมายหลายประเภทที่ทำงานแปลกแหวกขนบ และใช้ร่างกายตัวเองเผชิญหน้าความเจ็บปวดเพื่อท้าทายการรับรู้ของผู้ชม” เดวิด โครเนนเบิร์ก กล่าวถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังของเขาในหนังเรื่องนี้
ยกตัวอย่างเช่น ศิลปินฝรั่งเศส โอลอง (Orlan) ผู้ทำงานศิลปะด้วยการผ่าตัดทำศัลยกรรมพลาสติก รวมถึงใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพดัดแปลงองคาพยพบนใบหน้าและร่างกายให้เปลี่ยนแปลงไปเพื่อตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ทางสังคมในยุคร่วมสมัย เอกลักษณ์ประการหนึ่งของศิลปะบนใบหน้าของเธอ คือเธอทำศัลยกรรมเสริมก้อนเนื้อปูดโปนสองก้อนบนหน้าผาก ที่ยังคงมีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน (ซึ่งตัวละครคาพริสในหนัง Crimes of the Future ก็ทำศัลยกรรมในแบบที่คล้ายๆ กันบนใบหน้าตัวเอง) โอลองมักจะย้ำอย่างชัดเจนว่า โดยปกติ การทำศัลยกรรมพลาสติกคือการทำให้ร่างกายของมนุษย์สวยงามขึ้น และการดัดแปลงร่างกายของตัวเธอเองคือการสร้างเสน่ห์ในแบบของเธอเองที่ไม่ยึดโยงกับขนบหรือค่านิยมทางความงามอันใด
“การทำงานศิลปะบนร่างกายของฉันคือการแสดงออกทางการเมือง มันคือการกระทำในฐานะผู้หญิง ที่ฉันเคยเป็น กำลังเป็น และจะเป็น และผู้หญิงทุกคนที่เรียกร้องเสรีภาพที่เคยถูกริดรอนไปคืนมา ผลงานของฉันคือการต่อสู้กับธรรมชาติ, กรรมพันธุ์, ดีเอ็นเอ (ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงของศิลปินอย่างเราๆ) หรือแม้แต่พระเจ้าก็ตาม”
Crimes of the Future ยังได้แรงบันดาลใจจากการทำงานของศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ในยุคทศวรรษที่ 60-70 ที่กรีด เจาะ เย็บ และสร้างบาดแผลหรือความเจ็บปวดให้ร่างกายของตัวเองอย่าง วีโต แอกคอนซี (Vito Acconci), จางหวน (Zhang Huan) หรือแม้แต่ คริส เบอร์เดน (Chris Burden) ผู้ทำงานศิลปะด้วยการถูกยิงด้วยปืนไรเฟิล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์เฟมินิสต์ อย่าง จีนา เพน (Gina Pane) ที่ใช้เลือดเนื้อร่างกายของตัวเองเป็นสื่อในการแสดงออกทางศิลปะ เพื่อท้าทายขอบเขตความอดทนของมนุษย์ อย่างการใช้มือเท้าเปลือยดับกองไฟ, ปีนบันไดที่เต็มไปด้วยเศษโลหะแหลมคมด้วยเท้าเปล่า, เด็ดหนามกุหลาบทิ่มลงบนเนื้อหนัง, เชือดเฉือนริมฝีปาก ฝ่ามือ เปลือกตา และหน้าท้องด้วยใบมีดโกน เธอกระทำกิจกรรมอันรุนแรงเลือดสาดกับตัวเองเช่นนี้อย่างต่อเนื่องยาวนานในผลงานศิลปะแสดงสดของเธอมาตลอดยุค 1970s และ 1980s เหตุผลที่เธอทำเช่นนี้ไม่ได้เป็นเพียงการแสดงออกถึงความรุนแรงเพื่อช็อกผู้ชมไปเปล่าๆ ปลี้ๆ โดยไม่มีความหมาย หากแต่เธอต้องการแสดงปฏิกิริยาต่อต้านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทรทัศน์ ที่โปรโมตสงครามเวียดนามของรัฐบาลอเมริกัน ว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติ เธอต้องการช็อกผู้ชมเพื่อให้พวกเขารู้สึกรู้สากับการที่ผู้คนต้องบาดเจ็บล้มตายในสงครามอันไร้สาระ ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นความหวาดกลัว, สยดสยอง หรือความเห็นอกเห็นใจก็ตามที ซึ่งลักษณะเช่นนี้ในผลงานของเธอก็เป็นแรงบันดาลใจให้แก่งานศิลปะที่ปรากฏในหนัง Crimes of the Future
ความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันระหว่างคู่ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์อย่างซอลและคาพริสในหนังเองก็ทำให้เราอดนึกไปถึงความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันของ(อดีต)คู่ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในโลกแห่งความเป็นจริงอย่าง มารินา อะบราโมวิช (Marina Abramović) และ อูไลย์ (Ulay) ไม่ได้ ความผูกผันแนบชิดจนล่อแหลมในการใช้ชีวิตและทำงานศิลปะร่วมกันของซอลและคาพริส ทำให้เรานึกถึงผลงานศิลปะแสดงสดอันแนบชิดสนิทเนื้อของอะบราโมวิชและอูไลย์ อย่าง Breathing In, Breathing Out (1977) ที่พวกเขาประกบปากและผลัดกันสูดและปล่อยลมหายใจเข้าออกสู่ปากของกันและกันราวกับกำลังจูบกันอย่างดูดดื่ม)
หรือความสุ่มเสี่ยงที่ถึงแก่ชีวิตในการผ่าตัดแสดงสดของซอลและคาพริส ก็ทำให้เรานึกถึงผลงาน Rest Energy (1980) ของอะบราโมวิชและอูไลย์ ที่เล่นกับความเปราะบางระหว่างชีวิตและความตาย ด้วยการที่อะบราโมวิชและอูไลย์ยืนประจันหน้ากัน มือของเธอรั้งคันธนู ในขณะที่มือของเขาเหนี่ยวลูกธนูบนสาย โดยที่ปลายลูกธนูห่างจากหัวใจของเธอเพียงไม่กี่นิ้ว ทั้งคู่ติดไมโครโฟนเล็กๆ ไว้ที่หน้าอกเพื่อจับเสียงเต้นของหัวใจว่ามันตอบสนองต่อสถานการณ์อันหวาดเสียวเปี่ยมอันตรายเช่นนี้อย่างไร ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในการแสดงที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและความเชื่อใจของทั้งคู่ เพราะถ้าหากเขาเผลอปล่อยลูกธนูเมื่อไหร่ มันก็จะพุ่งเข้าไปเสียบหัวใจของเธอทันที
หรืออีกหนึ่งในฉากที่หลอนที่สุดใน Crimes of the Future อย่างฉากการแสดงสดของศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ผู้มีชื่อเรียกว่า ‘Ear Man’ (มนุษย์ใบหู) ที่ถูกเย็บเปลือกตาและริมฝีปากจนปิดสนิท เริงระบำด้วยร่างกายเกือบเปลือยเปล่า โดยมีใบหูปลูกถ่ายอยู่ทั่วร่าง ทั้งบนหน้าผาก หลังหัว ลำตัว และแขนขา นับได้เกือบ 30 ใบ นอกจากการเย็บปากจะทำให้เรานึกถึงผลงานของ พีเทอร์ ปาฟเลนสกี้ (Petr Pavlensky) ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวรัสเซียผู้อื้อฉาว อย่าง Stitch (2012) ที่ใช้ด้ายเย็บปากของตัวเองจนปิดสนิท เพื่อเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อรัฐบาลรัสเซียแล้ว ตัวละครมนุษย์ใบหูผู้นี้เองก็น่าจะได้แรงบันดาลใจจากศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ชาวออสเตรเลียนอย่าง สเตอลาร์ก (Stelarc) ผู้ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยดัดแปลงร่างกายของเขาเป็นงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้ชมควบคุมร่างกายของเขาจากระยะไกลโดยใช้เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือผลงานที่เป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์ใบหูในหนัง Crimes of the Future อย่าง Ear on Arm (2007) ที่ สเตอลาร์กปลูกถ่ายใบหูเทียมลงบนแขนซ้ายของเขา ซึ่งสเตอลาร์กกล่าวว่า หูนี้นอกจากจะสามารถฟังเสียงได้จริงแล้ว ยังสามารถส่งเสียงที่ได้ยินจากหูใบนี้ให้ผู้ชมฟังโดยการรับสัญญาณออนไลน์บนมือถือได้อีกด้วย สเตอลาร์กกล่าวว่าศิลปะแสดงสดครั้งนี้ของเขาเป็นการสะท้อนความเป็นร่างกายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในยุคดิจิทัล เขากล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดทางกายภาพของมนุษย์ในยุคนี้ไม่ใช่แค่อัตลักษณ์ทางร่างกาย ความคล่องตัว หรือตำแหน่งแห่งที่ของมัน หากแต่เป็นการเชื่อมต่อ และการมีส่วนต่อประสานกับเทคโนโลยีต่างหาก ใบหูเทียมบนแขนเขาจึงไม่ได้แสดงสัญลักษณ์ของความขาดแคลนอวัยวะ หากแต่เป็นส่วนเกินเสียมากกว่า”
ถึงแม้ Crimes of the Future จะไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน ดังที่ โครเนนเบิร์กให้สัมภาษณ์ในรอบปฐมทัศน์ของเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุดว่า เขาเชื่อว่าจะมีผู้ชมหลายคนลุกเดินออกจากโรงตั้งแต่ 5 นาทีแรก เพราะทนไม่ไหว (ทั้งๆ ที่ความจริงก็ไม่มีคนลุกออกจากโรงมากขนาดนั้น แถมหลังฉายจบ หนังยังได้รับการยืนปรบมือนานเกือบ 7 นาทีอีกด้วย) หรือที่เขาเคยกล่าวว่า “หมอฟันของผมเคยบอกผมว่า ผมมีปัญหามากมายในชีวิตพอแล้ว ทำไมผมต้องดูหนังของคุณด้วย” แต่สำหรับนักดูหนังผู้หลงรักความท้าทาย หลงใหลความเขย่าขวัญอันสุดพิสดารพิลึกพิลั่น และชื่นชอบผลงานศิลปะร่วมสมัยอันแปลกแหวกขนบ หนังเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่คุณไม่ควรจะพลาดกัน.
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ, Salmon Books