จากข่าวเหตุการณ์วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 สูญหายจากสถานประกอบการทางรังสี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรี ก่อนที่จะพบว่าถูกส่งต่อไปโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งในจังหวัดเดียวกัน และคาดว่าจะถูกนำไปหลอมจนหมดแล้วนั้น เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับเหตุการณ์ โคบอลต์-60 แผ่รังสี ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2543 ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 คน ผู้ป่วยหนักจนต้องพิการสูญเสียอวัยวะจำนวน 10 คน และผู้ได้รับผลกระทบอีกเป็นจำนวนมาก
วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ทำให้เรานึกไปถึงผลงานของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้หนึ่ง ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องจริงจัง ถามว่าจริงจังแค่ไหน? ก็จริงจังขนาดที่เขาเดินทางไปเก็บตัวอย่างดินปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากพื้นที่ภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะมาทำเป็นงานศิลปะกันเลยนั่นแหละ
ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ศิลปินคอนเซ็ปชวลชาวไทยผู้ผสมผสานศิลปะ วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยาเข้าไว้ด้วยกัน เขาทำงานเกี่ยวกับการค้นคว้าทางชีววิทยาที่สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมไม่ได้กระทบกับมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต พืช และสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่อยูในวัฐจักรเดียวกัน ผ่านสื่ออันแตกต่างหลากหลาย
เรืองศักดิ์เดินทางไปเป็นศิลปินพำนักในหลากหลายประเทศ เพื่อสำรวจค้นคว้าเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ ด้วยการเก็บสะสมสิ่งมีชีวิตหลากสายพันธุ์มานำเสนอเป็นผลงานศิลปะ เขามีผลงานแสดงทั้งเดี่ยวและกลุ่มในพื้นที่ทางศิลปะหลากหลายแห่งอย่าง Ver Gallery, Cartel Artspace, Whitespace, S.A.C., BACC กรุงเทพฯ, พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม เชียงใหม่, Verbeke Foudationเบลเยี่ยม, LaSalle College of Art สิงคโปร์, KFgallery เกาหลีใต้ และ Palais de Tokyo ฝรั่งเศส ฯลฯ เขายังร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะ Taipei biennial ไต้หวัน และ Bangkok Art Biennale 2018 กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา
นอกจากสิ่งมีชีวิตหลากสายพันธุ์แล้ว เรืองศักดิ์ยังเก็บสะสมวัตถุที่เป็นหลักฐานของหายนะภัยทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และสถานการณ์ต่างๆ มาทำเป็นงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นของมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม, ตะกอนและสารแขวนลอยจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย, หรือแม้แต่ดินปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ที่เกิดภัยพิบัติด้านนิวเคลียร์ครั้งที่รุนแรงที่สุดในปี 2011 เป็นรองก็แค่ภัยพิบัติเชอร์โนบิลเมื่อปี 1986 เท่านั้น
“งานชุดดินปนเปื้อนกัมมันตรังสี ผมได้อานิสงส์จากการทำงานที่ Bed Supperclub ตอนนั้นผมได้รู้จักกับ ชุน คาวาระ (Chun Kawara) ศิลปินญี่ปุ่นที่มาแสดงงานที่นั่น พอเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ เขาก็อาสาไปช่วยเก็บศพผู้เสียชีวิตและซ่อมแซมบ้านเรือนของคนที่นั่น แล้วชวนผมไปด้วย ผมเองก็อยากไปอยู่แล้ว เพราะเป็นหลักฐานของผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม ผมก็ตัดสินใจเดินทางไป
ตอนนั้นเป็นเวลา 2 ปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ ผมตั้งใจว่าจะเก็บดินปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี และต้นไม้ที่กลายพันธุ์จากสารกัมมันตรังสี อย่างต้นโคลเวอร์ที่ว่ากันว่าในจำนวนหนึ่งพันต้นจะพบใบโคลเวอร์ 4 แฉกได้เพียงใบเดียวเท่านั้น แต่ที่นั่นผมเจอใบ 5-6 แฉกเป็นไร่ๆ หรือต้นลิลลี่ที่มีลักษณะเป็นฝักแยกกับดอก แต่ผมเจอที่กลายพันธุ์เป็นทั้งฝักและดอกรวมอยู่ด้วยกัน หรือต้นไม้ไม่ทราบสายพันธุ์ 3 ต้น ที่เลื้อยไปในทางเดียวกันเหมือนงู ราวกับกำลังหลบหนีอะไรสักอย่าง ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกประหลาดมาก ผมก็เก็บดิน และต้นไม้ที่ตัดรากที่เป็นส่วนปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีสูงมากๆ ออกไป จนเหลือแต่ส่วนดอกหรือใบที่เป็นผลลัพธ์จากการกลายพันธุ์ กลับมานำเสนอเป็นผลงานศิลปะ”
เรืองศักดิ์นำพยานวัตถุจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิเหล่านั้นมาจัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยวของเขาที่หอศิลป์ 1PROJECTS ในปี 2019 ในชื่อว่า Monstrous Phenomenon ด้วยผลงานชุดนี้ เรืองศักดิ์สำรวจถึงสาเหตุและผลกระทบจากการแทรกแซงของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและผู้อยู่อาศัยในฟุกุชิมะ เพื่อท้าทายขอบเขตและความเป็นไปได้ในนิยามของความเป็นศิลปะ และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้ชม
เรืองศักดิ์ยังกล่าวถึงเหตุการณ์การหลุดรั่วของวัสดุกัมมันตรังสีที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดนี้ว่า
“นี่เป็นเหตุการณ์ที่น่าวิตกกังวลมากๆ เพราะตอนนี้ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า วัสดุกัมมันตรังสีถูกหลอมจนกลายเป็นฝุ่นที่สามารถกระจายตัวออกไปได้ แต่ถ้าคิดในแง่ดี ระยะก็น่าจะอยู่ในบริเวณ 200 – 300 เมตร รอบๆ โครงสร้างของเตาหลอม ถึงแม้ซีเซียม-137 จะเป็นธาตุที่ค่อนข้างแปรสภาพเป็นไอได้ง่าย แต่ก็ยังเป็นโลหะที่ค่อนข้างหนัก เพราะฉะนั้น ภายใน 24 ชั่วโมง ก็น่าจะตกลงไปไกลไม่น่าจะเกินประมาณ 1 กิโลเมตร แต่สิ่งที่น่าห่วงคือผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นอาจจะเกิดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบไปด้วย ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นที่ได้รับ ถ้าหายใจเข้าไป หรือสัมผัสกับวัตถุกัมมันตรังสี ก็เทียบเท่ากับคุณถูก X-ray 10 ครั้ง ในทีเดียว ซึ่งนั่นก็มากเพียงพอที่จะทำให้เซลล์ที่อ่อนไหวตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซลล์ลำไส้ เพราะฉะนั้น คนที่สัมผัสกับสารกัมมันตรังสี อาการแรกคือมักจะคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด หลังจากนั้น 3 – 7 วัน ถ้าเซลล์ที่อ่อนไหวถูกทำลาย เช่น เซลล์ในลำไส้ ระบบก็จะเริ่มพังจนอาจจะนำไปสู่ไตหรือตับวายได้ และยังเป็นอันตรายต่อระบบเลือด โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวอีกด้วย”
“เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในประเทศไทย เรามักบอกว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของเวรของกรรม นี่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจรัฐสามารถควบคุมจัดการได้ ถ้าเราตระหนักรู้ว่ามีสิ่งที่อันตรายอยู่ตรงไหนบ้าง เหมือนในบ้านเรา ถ้ามีของอันตรายเก็บเอาไว้ เราก็ควรจะรู้ว่าเราจะเอาไว้ตรงไหน เราจะไม่เอาไปไว้ในตู้เย็น หรือเอาไว้ใกล้ๆ กับที่เด็กๆ และคนที่เรารักอยู่ใช่ไหม?”
“และที่เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าว เพราะมีคนเกิดรู้จนกลายเป็นเรื่องตื่นตระหนกไปทั่ว แต่ลองคิดดูว่าน่าจะมีเคสอื่นๆ แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้บ้างไหม? ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่คนเป็นโรคมะเร็งกันเยอะมาก แล้วเป็นมะเร็งแบบแปลกๆ ตอนแรกเราคิดว่าสาเหตุเป็นเพราะอาหาร แต่บางทีอาจจะมีสาเหตุอะไรมากกว่านั้นไหม?”
“ถ้าถามผมว่าพลังงานนิวเคลียร์มีประโยชน์ และใช้งานได้คุ้มค่าไหม? มีประโยชน์คุ้มค่าจริง ถ้าผู้ที่นำมาใช้มีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานอะไรก็ตามแต่ ถ่านหิน, พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน หรืออะไรก็ได้ แต่คุณต้องมีความรับผิดชอบมากพอ และต้องมีมาตรการในการดูแลรักษา ทำทุกอย่างให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ตอนนี้เห็นชัดเลยว่าบ้านเราไม่มีความรับผิดชอบมากพอที่จะทำได้ ขนาดประเทศที่มีความรับผิดชอบสูงๆ อย่างญี่ปุ่นยังเกิดเป็นภัยพิบัติขึ้นมาได้เลย”
“จริงๆ ในปีหน้า ผมกำลังจะทำนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับเรื่องดินปนเปื้อนสารพิษในประเทศไทย นี่ก็เก็บตัวอย่างมาเยอะแล้วเหมือนกัน แต่ในกรณีนี้เสี่ยงมาก ถ้าผมกล้าไปเก็บดินจากโรงงานนั้นมาได้จริงๆ ห้องแสดงนิทรรศการก็อาจจะปนเปื้อนกัมมันตรังสี รวมถึงทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่ด้วย เพราะสารซีเซียม-137 สามารถปล่อยรังสีแกรมม่าที่มีอำนาจในการทะลุทะลวงสูงมาก ซึ่งป้องกันได้ยากมาก ถึงขนาดที่ทะลุกำแพงได้น่ะ”
“ผมคิดว่าเรื่องนี้กำลังจะเงียบหายไป เพราะไม่มีภาพของคนที่ป่วยที่ดูน่ากลัวแบบกรณี โคบอลต์-60 การแพร่กระจายและขอบเขตของการปนเปื้อนก็ไม่ชัดเจน คงต้องดูกันในระยะยาวทั้งในด้านของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับสังคมไทย พรุ่งนี้เราก็ลืมกันแล้ว”
ถ้าถามว่างานศิลปะจะสามารถแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่? เรืองศักดิ์ตอบคำถามนี้กับเราว่า
“การทำงานศิลปะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของผมคือการบอกต่อ เพราะไม่อย่างงั้นเราจะลืมเรื่องเหล่านี้ไปง่ายๆ เราต้องขุดประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาและบอกต่อไปเรื่อยๆ เพราะถ้าคุณมองไม่เห็นปัญหา แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร การทำงานศิลปะของผมคือการชี้ให้เห็นประเด็นเหล่านี้ เพื่อให้คนเอาไปพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในจุดที่ ถ้าเรามองเห็นปัญหาและช่วยกันพูดถึง(ด่า)ให้มากๆ ปัญหามักจะได้รับการแก้ไข คนทำงานศิลปะด่า นักวิชาการด่า ประชาชนช่วยกันด่า ผู้มีอำนาจก็ต้องเริ่มรู้สึกตัว และลุกขึ้นมาแก้ไข งานศิลปะของผมไม่ใช่ความสวยงาม แต่คือการด่าดีๆ นี่เอง”
“สำหรับผม งานศิลปะเป็นแนวโน้มอย่างหนึ่งไม่ต่างอะไรกับเทรนด์ต่างๆ ในโลก เหมือนภาพยนตร์ ดนตรี ถ้าคุณสามารถใช้เทรนด์นี้สร้างกระแสให้คนพูดถึงหรือทำตามได้ ก็อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นก็เป็นได้ ที่ผ่านมาเราทำงานศิลปะที่พูดถึงความสวยงาม สุนทรียะมานานแค่ไหนแล้ว ทำไมเราจะทำงานที่พูดถึงสิ่งแวดล้อมไม่ได้? ตัวผมเองมีศักยภาพอยู่เท่านี้ แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตต้องมีคนอื่นๆ ที่ผลักประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ไปต่อได้ไกลกว่านี้ ไม่ต่างอะไรกับการส่งไม้วิ่งผลัดนั่นแหละ”
ท้ายที่สุด วิกฤตการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในครั้งนี้ รวมถึงสิ่งที่ศิลปินอย่างเรืองศักดิ์พยายามแสดงให้เราเห็นผ่านผลงานศิลปะของเขาตลอดมา จะสามารถสร้างความตระหนักรู้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอย่างที่คิด หรือกว่าที่เราจะรู้ตัวทุกอย่างก็สายเกินแก้ไปแล้ว
อ้างอิงจาก
บทสัมภาษณ์ศิลปิน เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล