(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญหลายส่วนของอนิเมะ Attack on Titan)
“ไรเนอร์ ไอ้คนทรยศ”
คำพูดนี้ออกมาจากความโกรธแค้นผสมน้ำตาแห่งความผิดหวังเศร้าโศกเสียใจของตัวเอกอย่าง ‘เอเรน เยเกอร์’ ที่มีต่อตัวละคร ‘ไรเนอร์ บราวน์’ หลังจากที่ได้ค้นพบว่าไรเนอร์กับแบร์โทลท์ สองสหายร่วมกองกำลังทหารฝึกหัดที่ 104 ที่ร่วมเป็น ร่วมตาย นอนที่เดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน และเผชิญอะไรมาตั้งมากตั้งมายด้วยกัน กลับกลายเป็นว่าสองคนนี้คือไททันเกราะและไททันมหึมา หรือสองไททันที่บุกโจมตีกะทันหันเมื่อหลายปีก่อน จนเป็นเหตุให้แม่ของเขาเสียชีวิต บ้านเกิดพังพินาศ และชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล
การทรยศสุด twist ของไรเนอร์กับแบร์โทลท์ ที่เฉลยอย่างทรงพลัง ทั้งภาพและเพลงประกอบที่บิ้วท์อารมณ์ได้ยอดเยี่ยมอย่าง ‘YouSeeBIGGIRL/T:T’ ทำให้หากมีการพูดถึง top 10 anime betrayal แล้ว มักจะต้องมีฉากนี้ติดอันดับเสมอ
เอเรนทั้งโกรธแค้นและไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมแม่เขาถึงต้องตาย และทำไมไททันถึงต้องทำแบบนี้ ซึ่งคนดูอย่างเราก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก เต็มไปด้วยทั้งคำถามและความสงสัยไม่น้อยไปกว่าเอเรน ว่าทำไมทั้งสองถึงต้องทำแบบนี้? รู้สึกผิดบ้างมั้ย? และทำไปเพื่ออะไร?
การที่ไรเนอร์ทรยศทุกคนเป็นเรื่องจริง แต่อะไรกันแน่คือความจริงนอกเหนือจากนี้ที่อยู่เบื้องหลังการทรยศนี้? บทความนี้จะเป็นการตอบคำถามทั้งหมดในเชิงวิเคราะห์ รวมถึงตอบคำถามยอดฮิตที่ว่า “ทำไมเขาถึงเป็นตัวละครที่ตายยากตายเย็นขนาดนี้?”
ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวใน Attack on Titan ฉากที่เขาพังกำแพงเข้ามาจวบจนกระทั่งฉากนี้ เราได้รับมุมมองด้านเดียวมาตลอด คือการเล่าเรื่องผ่านสามสหายอย่าง เอเรน มิคาสะ และอาร์มิน พร้อมได้รับรู้ความเป็นไปของเรื่องราวรวมถึงความลับและการค้นพบต่างๆ ไปพร้อมๆ กับตัวละครทั้งสาม หน่วยสำรวจ และชาวกำแพง ในขณะที่เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับไททันและไรเนอร์ แบร์โทลท์ กับแอนนี่เลย
และเมื่อถึงเวลาสมควรหลังจากรอคอยมาเนิ่นนาน อนิเมะเรื่องนี้ก็ได้เผยความลับกับอดีตและเรื่องจริงที่เกิดขึ้น จนเราได้เห็นภาพรวม ทั้งเรื่องของเกาะสวรรค์นี้ กำแพง มาร์เลย์ เอลเดีย สิ่งที่บรรพบุรุษเอลเดียทำ พลังไททัน ความบาดหมางระหว่างสองชาติพันธุ์ และทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่แค่ข้อมูล แต่เป็นสิ่งที่เด็กนักรบทั้งสามคน โดยเฉพาะ ‘ไรเนอร์’ แบกมันไว้บนหลังมาโดยตลอด
“ฉันมันเป็นเพียงแค่เด็กที่ไม่รู้อะไรเลย”
“ฉันเข้าใจนะ ตอนนั้นนายก็เป็นเพียงแค่เด็ก”
ประโยคนี้ที่ไรเนอร์กับเอเรนพูดเหมือนกัน บ่งบอกถึงสิ่งที่ไรเนอร์เป็นและสิ่งที่เขาเผชิญมาได้เป็นอย่างดี แม้ว่าร่างไททันเกราะของไรเนอร์จะมีลักษณะบึกบึน สูงใหญ่ ทรงพลัง แข็งแกร่ง แต่ภายในต้นคอยังมีร่างมนุษย์ของเขา และภายในร่างมนุษย์ลึกลงไปในจิตใจนั้นก็คือเด็กคนนี้ เด็กคนที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้สืบทอดพลังไททัน เป็นนักรบแห่งมาเลย์ในนามชาวเอลเดีย เพื่อให้ตัวเขาเองและครอบครัวได้รับการยอมรับ และได้อยู่พร้อมหน้ากันแบบพ่อแม่ลูกซักที
ในตอนที่ 62 ‘The Door of Hope’ เผยว่าเด็กรุ่นของไรเนอร์และประชาชนต่างก็ถูกรัฐบาลใช้ propaganda ใส่อย่างสม่ำเสมอให้เกลียดชาวเกาะสวรรค์ และทุกอย่างที่เขาทำลงไปก็เพราะความจำเป็น ความจำเป็นนี้คือการได้เป็น ‘มนุษย์’ ที่ฐานะเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในที่ที่เขาถือกำเนิดมา และทุกครั้งที่เขากลับบ้าน ไรเนอร์จะเห็นสีหน้าอันเศร้าสลดของแม่ กับการที่แม่เอาแต่พร่ำบอกว่า “เราคือสายเลือดของบรรพบุรุษผู้ชั่วร้าย” ทำให้ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไร ไรเนอร์จะต้องพ้นจากข้อกล่าวหาตรงนี้
ในที่สุด ไรเนอร์ก็ได้สืบทอดพลังแห่งไททันเกราะ
แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น เป็น ‘มาร์แซล แกลเลียร์ด’ ที่ต้องการปกป้องน้องชาย จึงทำการพูดชมไรเนอร์บ่อยๆ ให้เขาได้เป็นไททันเกราะแทนที่จะเป็นพอร์โก้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกว่า นั่นทำให้ไรเนอร์ตระหนักทันที แม้ว่าจะไม่อยากเชื่อก็ตาม ว่า ‘หากไม่ใช่เพราะการเป็นห่วงน้องชายของมาร์แซล เขาคงเป็นแค่ขี้แพ้คนหนึ่งเท่านั้น’ และในช่วงเวลาที่ได้รับรู้ความจริงนั้น มาร์แซลก็ได้ปกป้องชีวิตเขาไว้จากยูมีร์ที่ตอนนั้นเป็นไททันไร้สติปัญญา
สิ่งที่มาร์แซลทิ้งไว้ให้กับไรเนอร์ก่อนตาย คือสองอย่าง และสองอย่างนี้ส่งผลกระทบต่อทิศทางและการตัดสินใจของไรเนอร์อย่างมาก นั่นก็คือ ความรู้สึกว่าตัวเองไม่สมควรมายืนอยู่ตรงนี้พร้อมกับพลังของไททันเกราะ จึงต้องการการพิสูจน์ตัวเอง กับความรู้สึกผิดที่คนไร้ค่าแบบเขาถูกผู้นำกลุ่มหรือผู้นำภารกิจสำคัญนี้อย่างมาร์แซลช่วยไว้
สองอย่างนี้ เป็นตัวทำให้ไรเนอร์รู้สึกว่า เขาไม่มีทางกลับไปได้อีกแล้ว หากทำไม่สำเร็จ กลับไปมือเปล่า วันนั้นที่เขาวาดฝันไว้ว่าเขากับแม่จะได้รับการยอมรับ และครอบครัวจะได้อยู่กันพร้อมหน้า จะหายกลายเป็นฝุ่น ทำให้เมื่ออีกสองคนต้องการจะกลับ กลับเป็นไรเนอร์ที่ต้องการสานต่อภารกิจซะเอง และเขาเองจะเป็นผู้นำแทนมาร์แซล เพื่อไม่ให้มาร์แซลสละชีวิตอย่างเสียเปล่า
การตัดสินครั้งนั้น ทำให้ไรเนอร์ต้องแบกรับความรู้สึกผิดบาปในใจเอาไว้คนเดียว ทั้งความรู้สึกที่ต้องจากบ้านเกิดมาไกล ความรู้สึกที่ต้องมาอยู่ร่วมกับศัตรูและค้นพบว่าพวกเขาไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คนที่บ้านเกิดของเขาเข้าใจมาโดยตลอดแต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถเลิกล้มภารกิจได้
ความรู้สึกผิดที่พรากชีวิตคนจำนวนมาก ความรู้สึกผิดที่เขาใจอ่อนและมองว่าศัตรูร่วมเป็นร่วมตายในกองฝึกเป็น ‘เพื่อน’ จนสั่นคลอนอุดมการณ์และความตั้งใจที่ทำให้เขาต้องมาอยู่ที่นี่ รวมถึงความรู้สึกที่ต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จไม่ว่าจะแลกมาด้วยอะไรก็ตาม
มีสามฉากที่เป็นฉากสำคัญที่สะท้อนถึงเรื่องราวของ ไรเนอร์ บราวน์ ได้ดี
ฉากแรกคือ ฉากที่ครอบครัวบราวน์กินข้าวในตอนที่ 61 หลังจากที่แม่ของไรเนอร์ก่นด่าชาวเอลเดียและถูกญาติๆ ถามว่า ไปที่นั่นต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และชั่วร้ายแค่ไหน เขาก็ได้เล่าว่า
“พวกนั้นนี่ปีศาจชัดๆ มีแต่พวกเหี้ยมโหดผิดมนุษย์มนา”
“ในพิธีเข้าประจำการทหารใหม่ มีคนเอามันฝรั่งมากินกลางพิธีเฉยเลย พอโดนครูฝึกตำหนิเข้าก็ตอบกลับไปโดยไม่มีท่าทีสำนึกผิดซักนิด บอกแค่ว่า ‘อร่อยดีก็เลยฉกมา’ ชั่วช้าขนาดนั้นแย่พอแล้ว ยังจะแบ่งให้ครึ่งนึงอีก แต่ดูยังไงก็ไม่ถึงครึ่งเลย”
“มีไอ้บ้าที่เข้าห้องน้ำแล้วจำไม่ได้ว่าตัวเองมาฉี่หรือมาอึ”
“มีพวกที่ไม่เอาการเอางานไม่คิดถึงเรื่องตัวเอง เอาแต่เครียดเรื่องของคนอื่น”
“คนที่ในหัวเอาแต่จะทำตามเป้าหมายท่าเดียว กับพวกไม่มีสมองที่เอาแต่จะทำตามหมอนั่น”
นี่คือสิ่งที่ไรเนอร์นึกออก สิ่งที่เขาพูดมาทั้งหมดมันเป็นการตอกย้ำสิ่งที่ตัวเองรู้ดีว่า “ไม่ใช่เลย พวกเขาไม่ได้ชั่วร้ายอย่างนั้นเลย”
ฉากที่สองคือ ฉากคู่ขนานของฝั่งมาร์เลย์และเอลเดีย เป็นอีกหนึ่งฉากที่สะท้อนความอยู่คนละฟากฝั่งได้อย่างทรงพลัง แม้จะมาแค่สั้นๆ ก่อน opening credits ขึ้น แต่นั่นก็เพียงพอต่อการพูดถึงความจริงที่ว่า ภายในดินแดนที่ห่างไกลและมีกำแพงสูงขวางกั้นวิสัยทัศน์ อิสรภาพ วิสัยทัศน์ และทางเลือกชีวิตนั้น มีกลุ่มเด็กที่จะโตไปเป็นผู้ใหญ่หรืออนาคตของชาติ อีกทั้งเด็กเหล่านั้นจ้องมองไปยังท้องฟ้าผืนเดียวกัน และอยู่ภายในโลกเดียวกัน
และฉากที่สามคือ ฉากที่สรุปความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเอเรนและภารกิจนี้อย่างเรียบง่ายแต่เห็นภาพชัดเจน คือฉากที่เอเรนพูดกับเขาว่า “พวกมันฆ่าแม่ของฉัน ฉันจะฆ่าพวกไททันให้หมดไม่ให้เหลือ” ส่วนไรเนอร์เมื่อถูกถามถึงว่าเขาต้องการอะไร ก็ได้ตอบกลับไปว่า “ทั้งหมดที่ฉันต้องการ ก็แค่กลับบ้านเกิด”
ฉากนี้เป็นการบอกว่า ไรเนอร์ต้องทำในสิ่งที่เขาต้องทำ ส่วนสิ่งที่เขาต้องทำนั้น ได้ให้กำเนิดปีศาจผู้เคียดแค้นที่ชื่อ ‘เอเรน’ ขึ้นมาเช่นกัน เขาทราบดี แต่ก็ได้แต่พูดไปในฐานะเพื่อน ด้วยความจริงใจว่า “ฉันขอให้ได้ทำสิ่งที่นายตั้งใจให้ได้” แม้รู้ว่านั่นหมายถึงการกำจัดเขานั่นเอง
การได้รับรู้เรื่องราวของไรเนอร์
อาจไม่ได้ทำให้คนดูชอบเขามากขึ้น
แต่เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเข้าใจเขามากกว่าที่เคย
และไม่สามารถที่จะเกลียดเขาได้เลยหลังจากนี้
แต่แม้ว่าเราจะยังไม่ได้รู้ ตลอดเวลาจนถึงฉากแปลงร่างครั้งแรกของเขา คนดูจะได้เห็นว่า เขาเป็นคนเดียวในกลุ่มสามคนที่มาด้วยกัน ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ารู้สึกสับสนลังเลกับการทำภารกิจครั้งนี้ ซึ่งแม้ว่าในตอนแรกเราจะไม่เข้าใจไรเนอร์กับสาเหตุที่เขาต้องลักพาตัวเอเรนไปที่ไหนซักที่ แต่ตรงนี้ก็มากพอที่ทำให้เรารู้ว่าเขาเป็นมนุษย์ และที่สำคัญ ไรเนอร์ไม่ใช่คนที่เลวร้ายโดยกำเนิด แต่อะไรบางอย่าง เหตุผลบางเหตุผล ทำให้เขาต้องทำแบบนี้
การมีชีวิต แต่เหมือนตายทั้งเป็นของไรเนอร์
เมื่อได้กลับไปบ้านเกิดสมใจในฐานะผู้รอดชีวิตหนึ่งเดียว ตลอดเวลาที่ไรเนอร์อยู่ที่มาเลย์หลังจากกลับมาจากเกาะ เขาไม่เคยมีความสุขจริงๆ เลยเราจะเห็นได้ว่า เขายังคงต้องพบกับฝันร้ายและมีอาการซึมๆ เงียบๆ อยู่เสมอ ทั้งยังมีอาการ Post-traumatic stress disorder (PTSD) ที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวที่เขาได้เผชิญตลอดช่วงเวลาผ่านมากระทบกระเทือนจิตใจของเขาเป็นอย่างมาก
ในซีซั่นสุดท้ายนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไรเนอร์ไร้แรงปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป
มีหลายสิ่งที่บ่งบอก ไม่ว่าจะเป็น การเอากระบอกปืนมาจ่อปาก หวังฆ่าตัวตาย, การคุกเข่าต่อหน้าเอเรนและขอร้องให้เอเรนฆ่าเขาซะ พร้อมกับทำการสารภาพ โดยที่ไม่ได้ต้องการให้เอเรนให้อภัยแต่แค่ต้องการระบายความในใจออกมา เพื่อสื่อว่าเขาไม่สามารถมีชีวิตอยู่โดยแบกรับอะไรเหล่านั้นได้อีกต่อไป
การเป็น ‘ไททันเปราะ’ หรือไททันเกราะที่ไม่ได้ทรงพลัง อึด op เหมือนเดิม (ที่ไม่ว่าจะเกี่ยวกับจิตใจหรือไม่ และแม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับฝ่ายตรงข้ามที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ล้ำหน้าขึ้น แต่นั่นแสดงถึงความอ่อนแอของไรเนอร์ทางด้านเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี)
และการแปลงร่างเป็นมือหุ้มเกราะ ที่ทำเพื่อปกป้องฟัลโก้ให้ปลอดภัยจากการแปลงร่างของเอเรนเพียงอย่างเดียว เพราะหากไม่มีฟัลโก้อยู่ตรงนั้น ไรเนอร์คงปล่อยให้ตัวเองเผชิญทุกชะตากรรมที่จะเกิดขึ้น แม้ว่ามันจะหมายถึง ‘การตาย’ ของเขาก็ตาม
อย่างที่ฟัลโก้พูดไว้ว่า “โดยปกติแล้ว ผู้ถือครองพลังไททันจะฟื้นตัวและรักษาบาดแผล หากพวกเขามีความมุ่นมั่นอย่างแรงกล้าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ” ทำให้เราได้ทราบทันทีว่าหลังจากการเดินทางอันยาวนาน ไรเนอร์ต้องการพักผ่อน ซึ่งฟัลโก้ก็เข้าใจเขาดีถึงขนาดห้ามกาบิด้วยการบอกว่า “ปล่อยคุณไรเนอร์ไว้อย่างนั้นเถอะ” แล้วก็อย่างที่เห็น กาบิตะโกนปลุกไรเนอร์ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อปกป้องไททันกรามจากการถูกเอเรนชิงพลัง
จนไรเนอร์ถึงกับคิดในใจว่า “หนวกหูจริง ทำไมไม่ปล่อยให้ฉันไปอย่างสงบๆ นะ”
สุดท้ายสิ่งที่เขาทำคือลุกขึ้นมาด้วยสภาพที่แปลงร่างอย่างไม่สมบูรณ์นัก (ที่สื่อถึงความอ่อนแอด้านจิตใจได้ดี) และทำหน้าที่สำคัญเพียงแค่คว้าพอร์โก้มาจากเอเรนตามคำขอของเด็กๆ โดยไร้ความ้องการที่จะสู้ และมีชีวิตต่ออีกต่อไป
มาถึงคำถามที่หลายคนสงสัยมากที่สุด “ทำไมไรเนอร์ถึงเป็นตัวละครที่อยู่นานและตายยากตายเย็นเช่นนี้?”
ต้องลองมาดูสถิติทวนกันหน่อยว่าไรเนอร์เกือบตายกี่รอบ และรอดกี่รอบ
- ตอน 32 เกือบโดนเอเรนจัดการ แต่แบร์โทลท์มางาบเอเรนไปได้ซะก่อน
- ตอน 37 เกือบตายแต่ยูมีร์ มาช่วย
- ตอน 55 เกือบโดนฮันจิฆ่า แต่ไททันเกวียนมางาบไปซะก่อน
- ตอน 62 เกือบยิงปืนกรอกปากฆ่าตัวตาย แต่ฟัลโก้ดันมาทุบกำแพงขัดจังหวะ
- ตอน 66 เกือบได้หมดพลังใจ ตายอย่างสงบ แต่ก็โดนขัดจังหวะ
จะเห็นได้ว่าตัวละครไรเนอร์รอดถึง 5 ครั้ง 5 คราด้วยกัน
ประโยค “หนวกหู” นี้และการที่ไรเนอร์จะตายแต่ก็ไม่ตายจนถูกผู้อ่านและผู้ชมล้อว่าเป็น ‘ลูกรักของอ.อิซายามะ’ บ้าง ไม่ก็ ‘Plot Armored Titan’ บ้าง กับตั้งคำถามว่า “ทำไมตัวละครนี้ตายยากตายเย็นอย่างดูจงใจเช่นนี้” อาจดูเป็นเรื่องขำขัน แต่มันสื่อถึงบางอย่างที่เชื่อว่าเป็นความตั้งใจของอ.อิซายามะเอง นั่นก็คือการตอบคำถามว่า อะไรคือบทลงโทษที่โหดร้ายที่สุด สำหรับคนที่ทำสิ่งที่พวกเขาเสียใจ?” และคำตอบที่ได้ก็คือ ‘การมีชีวิตอยู่’ นั่นเอง
ตัวละครไรเนอร์ เป็นตัวละครตัวแทนของทหาร ผู้รบในสงคราม ผู้สังหาร ผู้เกิดมาพร้อมกับความเกลียดชัง ผู้โป้ปด และผู้ทรยศ
การที่จะให้คนคนหนึ่งที่เผชิญอะไรมากมายขนาดนี้และทำเรื่องแย่ๆ ไปขนาดนั้น (แม้ว่าจะรู้สึกผิดแค่ไหน) จากไปอย่างรวดเร็ว หายไปจากโลกใบนี้โดยไม่รู้สึกรู้สา ไม่รับรู้อะไรต่อจากนั้นแล้ว ดูจะเป็นความปรานีไปหน่อย เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าชาติหน้ามีจริงหรือไม่ บาปและกรรมเป็นระบบที่เกิดขึ้นอย่างครบวงจรเหมือนการนำเงินไปซื้อของและต้องได้ของรึเปล่า
แต่สิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือ ‘การมีชีวิตอยู่’ คือสิ่งที่เห็นผลมากที่สุด ที่แม้ว่าคนคนหนึ่งอาจจะไม่ได้รับการตอนแทนแบบเดียวกัน แต่ความทุกข์ระทมในใจกับสิ่งที่ได้ทำไปที่หลายๆคนเรียกมันว่า ‘บาป’ นั้น จะยังคงอยู่กับพวกเขาไปเสมอ
และมันเป็นสิ่งที่คอยทำลายกัดกินข้างในจิตใจไรเนอร์จนเป็นโพรง มีอานุภาพทำลายล้างยิ่งกว่ากระสุนเจาะเกราะหรืออาวุธไหนๆ เหมือนที่เค้าพูดๆ กันว่า “ร่างกายถูกทำลาย ยังไม่เท่าจิตใจถูกทำลาย”
ฉะนั้นอาจพูดได้ว่า ไรเนอร์ไม่ได้รอดเพราะเป็นลูกรักของ อ.อิซายามะเลยเสียดายไม่กล้าฆ่าตัวละครอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้ว่าเขาจะเคยออกมาบอกว่าชอบตัวละครนี้มากๆ ก็ตาม แต่ที่ชอบ คงไม่ใช่เพราะชอบที่รูปลักษณ์เฉยๆ แต่คงเหมือนคนดูในภายหลัง ที่ชอบในมิติและแบ็คกราวด์ของตัวละคร ชอบความสีเทา การมีสตอรี่ที่น่าเห็นใจ กับชอบในการเป็นเป็นทั้งผู้ร้ายและเหยื่อผู้น่าสงสารในคนเดียวกันของไรเนอร์ อะไรเหล่านี้คือสาเหตุที่ตัวละครไรเนอร์ถือเป็น ‘ตัวละครที่ดี’ ตัวหนึ่งใน Attack on Titan