“แล้ววันนั้นมนุษย์ก็ได้รู้สำนึกถึงความน่ากลัวที่ต้องถูกพวกมันปกครอง และความอับอายที่ต้องถูกขังในกรง”
คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของการ์ตูนเรื่อง Attack on Titan
.
.
.
อิสรภาพคืออะไร? แล้วต้องทำอย่างไรเราถึงจะมีอิสระอย่างแท้จริง?
คำถามหลักที่ขับเคลื่อนการดำเนินเรื่องของ Attack on Titan มาโดยตลอด นับตั้งแต่ช่วงแรกที่ ‘เอเลน เยเกอร์’ ตัวละครหลักของเรื่องต้องการปลดปล่อยมนุษย์ในกำแพงจากความหวาดกลัวไททัน และได้ออกไปใช้ชีวิตนอกกำแพงอย่างอิสรเสรี ไปจนถึงการค้นพบความจริงของโลกนอกกำแพง นำไปสู่คำถามว่า แล้วอิสรภาพที่แท้จริง มีหน้าตาแบบไหนกันแน่?
แม้จะเปิดเรื่องมาด้วยความทริลเลอร์ผสมแอคชั่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งเราติดตามเรื่องราวของ Attack on Titan มากเท่าไหร่ ยิ่งค้นพบว่า การ์ตูนเรื่องนี้ คือแบบจำลองของโลกดิสโทเปีย ที่เต็มไปด้วยประเด็นทางการเมืองอันเข้มข้น และกลายเป็นประเด็นสำคัญของการ์ตูนเรื่องนี้
Attack on Titan มีชื่อภาษาไทยว่า ‘ผ่าพิภพไททัน’ เป็นผลงานของ ฮาจิเมะ อิซายามะ (Hajime Isayama) ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2009 และยังคงได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยตอนนี้ Attack on Titan มุ่งหน้าเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของเรื่องแล้ว
เราเลยอยากชวนทุกคนมาร่วมกันพูดคุยและถกเถียงถึงประเด็นทางการเมือง ในโลกของ Attack on Titan โดยสำรวจจากในฉบับมังงะ ตั้งแต่เล่ม 1-31 (ตีพิมพ์ในไทย) รวมถึง ขอชวนทุกคนไปช่วยกันหาคำตอบว่า การต่อสู้ที่วนเวียนไม่รู้จบสิ้นนี้ จะสิ้นสุดได้อย่างไร แล้วต้องทำแบบไหนถึงจะ ‘มนุษย์’ จึงจะได้อิสรภาพอย่างแท้จริง
กำแพง ปราการคุ้มกันหรือกีดกันเสรีภาพ?
เราคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี กับสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาที่เป็นกิมมิคหลักของการ์ตูนเรื่องนี้อย่าง ‘กำแพง’ ซึ่งถูกสร้างขึ้นพร้อมคำบอกเล่าว่ามีไว้เพื่อปกป้องมนุษยชาติในกำแพงจากการถูกรุกรานของเหล่าไททัน โดยมนุษย์กลุ่มนี้ คือกลุ่มสุดท้ายที่เหลือรอดจากการถูกไททันกัดกิน
กำแพงที่คุ้มครองเมืองนี้ถูกแบ่งออกเป็นสามชั้น ได้แก่ ‘มาเรีย’ กำแพงชั้นนอก ‘โรส’ กำแพงชั้นกลาง และ ‘ชีน่า’ กำแพงชั้นในสุดอันเป็นที่อยู่ของกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง โดยกำแพงเหล่านี้สูงถึง 50 เมตร ขณะที่พวกไททัน (ทั่วไป) นั้น สูงไม่เกิน 20 เมตร ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ไททันที่บุกกำแพงเข้าไปได้ (เขาว่างั้นนะ)
แต่พอเริ่มเรื่องมาปุ๊บ ก็กลายเป็นว่า มีไททันที่สูงยิ่งกว่ากำแพงโผล่ออกมาและทำลายกำแพงลง จนฝูงไททันจากนอกกำแพงสามารถเข้ามาได้ แล้วรุมกัดกินผู้คนที่อยู่ในกำแพงจนเมืองเต็มไปด้วยซากศพและความสิ้นหวัง
ยิ่งกว่านั้น เมื่อเรื่องราวเริ่มดำเนินไปเรื่อยๆ คำถามที่น่าสนใจตามมาก็คือ สรุปแล้ว หน้าที่ของกำแพงที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ แล้วมนุษย์ที่อยู่ในกำแพงเป็นกลุ่มสุดท้ายจริงๆ เหรอ? เหมือนอย่างที่เออร์วินสมัยเด็กเคยยกมือถามในห้องเรียนว่า “อาจารย์ครับ จะรู้ได้ยังไงว่าข้างนอกกำแพงไม่เหลือมนุษย์อยู่อีกแล้ว”
เมื่อความจริงที่เปิดเผยออกมา พบว่า (ย้ำอีกครั้ง สปอยล์นะ!) โลกนอกกำแพงมีมนุษย์อยู่อีกมากมาย ส่วนเหล่าผู้คนในกำแพงกลับมีเลือดเนื้อเชื้อไขที่สามารถแปลงเป็นไททันได้ และไททันที่จับคนกิน ก็คือมนุษย์แบบเราๆ เนี่ยแหละ ซึ่งครั้งหนึ่งไททันเคยมีอำนาจและกวาดล้างโลกมาแล้ว ทำให้ผู้คนหวาดกลัวเป็นอย่างมาก รวมถึง ยังเกิดสงครามครั้งใหญ่ จนราชาผู้ครองพลังไททันของเผ่าพันธุ์นี้ต้องรวบรวมคนให้ได้มากที่สุด แล้วย้ายมาเผ่าพันธุ์ของตัวเองซึ่งมีพลังที่จะกลายร่างเป็นไททันมาอาศันอยู่ในกำแพง
ยิ่งกว่านั้น กำแพงสูงตระหง่านเหล่านี้ ก็สร้างขึ้นมาจากไททันขนาดใหญ่ นั่นแปลว่า กำแพงที่ป้องกันมนุษย์จากไททันนั้น ถูกสร้างขึ้นด้วยไททันเอง ดังนั้นแล้ว สิ่งที่น่าตั้งคำถามก็คือ สรุปแล้ว กำแพงคือเกราะป้องกันมนุษยชาติ หรือเครื่องมือในการกักขังผู้คนในกำแพงกันแน่ แล้วอิสรภาพที่แท้จริงคืออะไรกันแน่?
ไททัน อาวุธสงครามจากความเกลียดชัง
ไฮไลท์หลักของเรื่องที่โผล่ออกมาทีไร ก็สร้างความอกสั่นขวัญผวาให้เราตลอด ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่โต และพฤติกรรมที่ชอบกัดกินผู้คนอยู่เสมอ แถมยังยากที่จะต่อกร เพราะต่อให้มนุษย์ยิงระเบิดใส่ไททันจนหัวกระจุย หรือตัดแขนตัดขาทิ้ง ไททันก็ยังไม่ได้ตาย ทางเดียวที่จะฆ่าไททันได้ คือการฟันเข้าที่หลังคอเท่านั้น
ในช่วงต้นของเรื่อง เรารู้กันดีแล้วว่า ‘เอเลน’ ตัวเอกของเรื่อง สามารถกลายร่างเป็นไททันได้ แต่เมื่อติดตามไปจนถึงกลางเรื่อง เราจะรู้ว่า ไม่ใช่แค่เอเลนเท่านั้นที่สามารถกลายร่างได้ แต่ยังมีคนอื่นๆ ที่สามารถกลายร่างเป็นไททันได้ พร้อมมีสติครบถ้วนด้วย โดยพลังของไททันที่พิเศษกว่าตัวอื่นๆ นั้นมีทั้งหมด 9 พลัง และยิ่งไปกว่านั้น ไททันที่คอยมาไล่จับผู้คนกินอย่างที่เราเห็นๆ กันมาตลอด แท้จริงแล้วก็คือ ‘มนุษย์’ ที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นไททัน เพื่อนำมาใช้เป็นอาวุธในสงคราม
การเปลี่ยนผู้คนให้เป็นไททันนั้น ถูกนำไปใช้หลากหลายแบบ เช่น การลงโทษของชาวเมอเร่ ที่ใช้การเปลี่ยนให้เป็นไททันนี้มาเป็นบทลงโทษชาวเอลเดียที่กระด้างกระเดื่อง และส่งไปเป็นไททันล้อมรอบกำแพงเมืองที่ชาวเอลเดียอาศัยอยู่อีกทีนึง หรือการที่ จี๊ค ชายผู้สืบสายเลือดเชื้อพระวงศ์ ซึ่งมีพลังในการเปลี่ยนคนให้เป็นไททันด้วยการให้ผู้คนดื่มน้ำจาไขสันหลังของตนเข้าไป แล้วจี๊คก็จะตะโกนกู่ร้อง เพื่อเปลี่ยนให้ผู้คนกลายเป็นไททัน และนำเอาไปใช้ในการสู้รบกับศัตรูของชาวเมอเร่
สำหรับไททันที่มีพลังพิเศษกว่าไททันทั่วไปนั้น ก็สามารถสืบทอดพลังกันได้ โดยต้องทำให้คนที่จะมาถือครองพลังนั้นกลายเป็นไททันเสียก่อน แล้วก็ให้ไททันตัวนั้นกินคนที่มีพลังนั้นเสีย เพื่อรับช่วงต่อพลังและสานต่อความทรงจำของไททันให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งชาวเมอเร่ใช้วิธีนี้ด้วยการเปิดรับให้เด็กชาวเอลเดียเข้ามาฝึกฝนเป็นนักรบ ก่อนจะเฟ้นหาคนที่ฝีมือดีที่สุด เพื่อมารับช่วงต่อพลังของไททัน แล้วนำเอาพลังนั้นไปใช้ในสงครามสู้รบให้กับชาวเมอเร่อีกที
ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนให้เป็นไททันรูปแบบไหน สิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยก็คือ การนำเอา ‘มนุษย์’ มาทำให้เป็น ‘สัตว์ประหลาด’ และมีชีวิตราวกับตายทั้งเป็น จากนั้น ก็นำไปใช้เป็นอาวุธในสงคราม หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ไททัน’ เป็นผลผลิตที่มาจากความเกลียดชังของมนุษย์นั่นเอง
กองกำลังสารวัตรทหาร หน่วยงานรักษาความสงบและปกป้องราชา
กองกำลังสารวัตรทหาร หนึ่งในหน่วยของกองกำลังทหารที่มีอยู่ในกำแพง โดยกองกำลังนี้จะได้เข้าไปประจำการอยู่ในกำแพงชีน่า ซึ่งเป็นชั้นในสุดของเมืองและปลอดภัยจากการถูกไททันที่อยู่นอกกำแพงบุกเข้ามามากที่สุด (เป็นแค่หน่วยเดียวที่ได้สิทธิ์นี้) กองกำลังสารวัตรทหาร มีหน้าที่ปกป้องรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองชั้นใน ซึ่งหมายรวมไปถึงเหล่าขุนนาง รัฐบาล และพระราชาด้วย ดังนั้นแล้ว กองกำลังนี้จึงใกล้ชิดกับพระราชามากที่สุด
สำหรับการคัดเลือกเข้าหน่วยนั้น กองกำลังสารวัตรทหารเป็นหน่วยที่เหล่าทหารฝึกหัดแก่งแย่งกันเพื่อเข้าร่วมทีมมากที่สุด ด้วยกฎที่ระบุว่า หากใครทำคะแนนได้ดี 10 อันดับแรกจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมกับกองกำลังนี้
แต่เมื่อหน่วยสำรวจค้นพบว่า เหล่าชนชั้นสูงของประเทศกุมความลับบางอย่างเกี่ยวกับกำแพงและไททันเอาไว้ พร้อมกับวางแผยเพื่อตามหาคำตอบนั้น ปรากฏว่า กองกำลังสารวัตรทหารกลับเข้าขัดขว้างการค้นหาคำตอบนั้น ด้วยสารพัดวิธีที่แลกมาด้วยชีวิตของผู้คนมากมาย พร้อมคำอ้างว่า ต้องรักษาความสงบ สร้างสันติ และควบคุมไม่ให้ใครกระด้างกระเดื่อง
ยิ่งไปกว่านั้น เหล่าทหารในกองกำลังสารวัตรทหารระดับสูงบางคน ยังเชื่อด้วยว่า สิ่งที่กองกำลังนี้ยึดถือไว้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง และต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อยกเว้น เพราะถือเป็นประสงค์ของพระราชา และเป็นการปกป้องผู้คนที่แท้จริง
หน่วยสำรวจและกองกำลังฟื้นฟูเอลเดีย กลุ่มปลดแอกผู้ใฝ่หาอิสรภาพ
ถึงการอยู่ในกำแพงจะปลอดภัยกับชีวิตมากกว่าการออกเดินทางไปข้างนอก แต่การค้นหาก็เป็นเหมือนอีกหนึ่งสิ่งที่ฝังอยู่ในมนุษยชาติ และนั่นทำให้ ‘หน่วยสำรวจ’ ถือกำเนิดขึ้นมา โดยหน่วยสำรวจเป็นหนึ่งในหน่วยของกองกำลังทหาร มีหน้าที่สำรวจโลกนอกกำแพง เพื่อหาคำตอบว่า โลกนอกกำแพงมีอะไรบ้าง นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยที่ทดลองและคอยวิจัยเพื่อหาคำตอบด้วยว่า แท้จริงแล้ว ไททันคืออะไรกันแน่
อย่างที่เรารู้กันดีว่า นอกกำแพงนั้นเต็มไปด้วยไททันมากมาย ดังนั้น หน่วยสำรวจจึงเป็นหน่วยที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในกองทหาร แต่ถึงอย่างนั้น เจตนารมณ์ที่จะตามหาอิสรภาพของหน่วยสำรวจนั้น ก็ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นให้กับมนุษย์มาโดยตลอด ด้วยคำถามต่างๆ มากมาย พร้อมวลีประจำหน่วยสำรวจอย่าง “จงอุทิศ” ซึ่งเปรียบเหมือนสัญชาตญาณของผู้คนที่ไม่ยอมจำนนอยู่แต่ในกำแพง
เหมือนอย่างที่ เอเลน ตัวเอกของเรื่องซึ่งได้เข้ามาอยู่ในหน่วยสำรวจ เคยถูกอาร์มิน เพื่อนสนิทของเขาถามว่า ทำไมถึงยังคิดจะออกไปยังโลกภายนอก ทั้งที่รู้ว่ามันโหดร้าย แล้วเอเลนก็ตอบว่า เพราะว่าเขา เกิดมาบนโลกใบนี้ ซึ่งแปลความได้ว่า เอเลน มองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประชากรของโลก ดังนั้น จึงไม่ควรจะอยู่แต่ในกำแพงเท่านั้น
อีกทั้ง หน่วยสำรวจยังช่วยค้นหาความจริงจนนำไปสู่คำตอบว่า มีอะไรอยู่นอกกำแพง และไททันคืออะไร ซึ่งนั่นทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริง หลังจากถูกพระราชาใช้พลังบิดเบือนความทรงจำและปกปิดความลับมาโดยตลอด เทียบได้ว่า เป็นหน่วยที่ช่วยเปิดหูเปิดตาให้ประชาชนตาสว่างได้นั่นเอง
อีกด้านหนึ่ง ข้ามฝั่งทะเลไปยังแผ่นดินใหญ่ ก็มี ‘กองกำลังฟื้นฟูเอลเดีย’ ซึ่งเป็นขบวนการที่แอบขับเคลื่อนกันอย่างลับๆ โดยชาวเอลเดียที่ต้องการปลดแอกตัวเองออกจากการถูกกดขี่โดยชาวเมอเร่ ซึ่ง กริชา เยเกอร์ พ่อของเอเลนก็เคยเข้าร่วมกับขบวนการนี้ หลังจากที่เขาได้รู้ความจริงว่า น้องสาวของตัวเองถูกเจ้าหน้าที่ชาวเมอเร่ทารุณจนตาย และยังลอยนวลจากความผิดของตัวเองไปได้
กองกำลังฟื้นฟูเอลเดีย มีเป้าหมายที่จะปลดปล่อยชาวเอลเดียที่ต้องอยู่ในกำแพง ด้วยการซ้อนแผนชาวเมอเร่ ลักลอบเข้าไปชิงไททันบรรพบุรุษแรกเริ่มให้มาอยู่ฝั่งเดียวกับชาวเอลเดียนอกกำแพง เพื่อมาทวงคืนอำนาจจากชาวเมอเร่ และทำให้ชาวเอลเดียทั้งหมดจะได้พบกับอิสรภาพเสียที
ทั้งหน่วยสำรวจ และกองกำลังฟื้นฟูเอลเดีย ต่างสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะปลดแอกมนุษยชาติจากสิ่งที่กดขี่พวกเขาไว้ ไม่ว่าจะเป็นกำแพง ค่ายกักกัน หรือมนุษย์ด้วยกันเองก็ตาม เพื่อให้พวกเขาได้พบเจอกับโลกแห่งอิสรภาพตามที่ปรารถนาเสียที
รัฐบาล ศูนย์กลางอำนาจในกำแพง
ไม่ว่าจะในโลกแห่งความเป็นจริง หรือโลกการ์ตูน รัฐบาลก็เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการนำพาบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ ซึ่งรัฐบาลในเรื่อง Attack on Titan นั้น มีพระราชาเป็นประมุขสูงสุดของการปกครอง แต่การคงอยู่ของพระราชา ก็เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เท่านั้น เพราะผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจจริงๆ คือเหล่าขุนนางที่อยู่รายล้อมรอบกษัตริย์ต่างหาก
แต่เมื่อไททันบุกเข้าโจมตีเมือง ก็จะเห็นอยู่หลายครั้งว่า รัฐบาลในกำแพงไม่ได้ให้ความสำคัญกับชีวิตของประชาชนเท่าไหร่หนัก กลับมุ่งความสนใจไปที่การปกป้องตัวเมืองชั้นในและราชวงศ์เป็นหลัก จนเมื่อฝ่ายทหารที่เตรียมการก่อการกบฏกันอยู่ออกอุบายว่า มีไททันบุกเข้าในกำแพงโรส ต้องอพยพชาวเมืองหนีเข้ามาภายใน รัฐบาลกลับรีบปฏิเสธทันที ทำให้กองทหารตัดสินใจก่อการรัฐประหารทันที
หลังก่อรัฐประหาร ทหารก็กลายเป็นอีกขั้วอำนาจที่ขึ้นมาปกครองเมือง ซึ่งชาวเมืองเองก็เคลือบแคลงในการยึดอำนาจนี้ จนเหล่าทหารต้องรีบเร่งให้ราชวงศ์ที่แท้จริงขึ้นปกครองเมืองแทน
ถึงอย่างนั้น ราชินีที่ครองบัลลังก์ ก็ยังเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการปกครองเหมือนเดิม แล้วอำนาจในการตัดสินใจนำพาชาวเมืองไปในทิศทางต่างๆ ก็อยู่ภายใต้เหล่าทหาร ผู้ถือครองอำนาจการปกครองเอาไว้ในมือของพวกเขาอยู่ดี ซึ่งตามท้องเรื่องก็จะเห็นว่า เหล่าทหารมีความตั้งใจจะช่วยเหลือมนุษยชาติจริงๆ นั่นแหละ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกนะว่านี่เป็นปกครองที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางแต่เพียงจุดเดียวเท่านั้น
ประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ที่ถูกเล่าต่างมุมมอง
หลายคนที่ติดตามอ่านเรื่องนี้ คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความสามารถอย่างหนึ่งของไททันบรรพบุรุษแรกเริ่ม ก็คือการควบคุมความทรงจำของคน นั่นเป็นที่มาที่ทำให้ผู้คนหลงเชื่อกันว่า พวกเขาเป็นประชากรกลุ่มสุดท้ายที่เหลือรอดอยู่บนโลก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พระราชาองค์แรกของกำแพงเป็นคนพาผู้คนย้ายเข้ามาอยู่บนเกาะแห่งนี้ เพื่อกักขังตัวเองเอาไว้ต่างหาก
ไม่เพียงแต่การบิดเบือนความทรงจำเท่านั้น แต่การปลูกฝังความรู้ในห้องเรียนเอง ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเชื่ออย่างสุดซึ้งว่า พวกเขาเป็นประชากรกลุ่มเดียวบนโลก โดยการเรียนการสอนในห้องเรียนจะไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ตั้งคำถาม หรือจินตนาการถึงโลกนอกกำแพงที่แตกต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิมอย่างที่สืบทอดต่อกันมาเป็นร้อยปีเลย และหากครูเผลอสอนหรือยกทฤษฎีความเป็นไปได้ว่าผู้คนในกำแพงไม่ใช่ประชากรกลุ่มสุดท้ายบนโลกขึ้นมา เขาก็จะถูกทำให้เสียชีวิตทันที
เมื่อการตั้งคำถามกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประวัติศาสตร์จะถูกมองเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และหากใครนำเรื่องเล่าที่แตกต่างจากนี้มาพูด จะถือเป็นการบิดเบือน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกำแพงเท่านั้น แต่กับโลกนอกกำแพง (ซึ่งมีมนุษย์อาศัยอยู่จริงๆ) ผู้คนที่อยู่ใน ‘เมอเร่’ ดินแดนที่เรียกได้ว่าเป็นขั้วอำนาจของโลกก็คอยกำจัดการศึกษาประวัติศาสตร์นอกกระแสเช่นเดียวกัน
ดินแดนคู่ขัดแย้งกับเมอเร่ ก็คือ ‘เอลเดีย’ ซึ่งครั้งหนึ่ง ชาวเอลเดียเคยครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก เนื่องจากเป็นบุคคลที่สามารถ ‘ถูกเปลี่ยน’ ให้เป็นไททันได้ จากการที่บรรพบุรุษของชาวเอลเดียทำสัญญากับปีศาจไว้ พวกเขาจึงมีอิทธิพลและกดขี่ผู้คนเชื้อชาติอื่นๆ ให้อยู่ใต้อานัติมาหลายพันปี
จนเมื่อขั้วอำนาจถูกเปลี่ยนให้มาอยู่ในมือของชาวเมอเร่แทน พวกเขาก็ใช้สิทธิของผู้มีอำนาจในการกำหนดมุมมองทางประวัติศาสตร์ให้บอกเล่าผ่านมุมมองของตัวเองซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ และสร้างความชอบธรรมในการกดขี่ข่มเหงชาวเอลเดียที่ยังหลงเหลืออยู่บนแผ่นดินใหญ่ (ซึ่งตอนหลังกลายเป็นพวกไม่มีแผ่นดิน) พร้อมปลูกฝังความเชื่อว่าชาวเอลเดียไม่ใช่มนุษย์เท่าเทียมกับชาวเมอเร่หรือชาติอื่นๆ รวมถึงความเชื่อว่า ชาวเอลเดียที่หนีไปอยู่ในกำแพง คือพวกเห็นแก่ตัว ควรค่าแก่การกำจัดทิ้ง
พอเล่ามาถึงตรงนี้ ก็อยากชวนทุกคนหวนคิดไปถึงมุมมองของชาวเอลเดีย ที่มองว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกจำกัดเสรีภาพ ซ้ำร้ายยังถูกโลกภายนอกมองว่าเป็นปีศาจร้าย ไม่ควรมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก และมุมมองของชาวเมอเร่ ซึ่งยกความเป็นผู้ถูกกระทำ มาเป็นความชอบธรรมในการลดทอดชีวิตคนอื่น ซึ่งเรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ เป็นผลมาจากการอนุญาตให้ผู้คนรับรู้ประวัติศาสตร์แค่เพียงด้านเดียว ห้ามบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไปจากนั้น และเมื่อเรื่องราวในประวัติศาสตร์นี้ขาดการตีความจากหลากหลายมุมมอง ก็นำไปสู่ความไม่เข้าอกเข้าใจกัน ความขัดแย้ง และศึกสงครามที่วนลูป ไม่จบสิ้นเสียที
สื่อมวลชน พลังแห่งการรายงานข้อเท็จจริง
อาจไม่ใช่หน่วยงานที่โดดเด่นมากนัก เมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ในเรื่อง เป็นเพียงองค์ประกอบอย่างหนึ่งของสังคมเท่านั้น แต่การทำงานของ ‘สื่อ’ ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญในโลกของ Attack on Titan เหมือนกันนะ
เราจะเห็นว่า สื่อในกำแพง มักจะตีพิมพ์หรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่กองกำลังสารวัตรทหารระบุไว้ โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นๆ เพิ่มเติม เป็นเพียงการตีพิมพ์เรื่องราวตามคำบอกเล่าเท่านั้น และผลจากการกระทำนั้น ทำให้สังคมไม่ได้รับรู้ความจริงที่เกิดขึ้น และมองว่าหน่วยสำรวจ ซึ่งกำลังพยายามตามหาความจริงของกำแพง เป็นพวกกบฏที่คิดร้ายกับบ้านเมือง
แต่เพื่อพิสูจน์ความจริง หน่วยสำรวจต้องอาศัยพลังของสื่อในการช่วยบอกต่อเรื่องราวที่แท้จริงให้สังคมได้รับรู้ ฮันซี่ แม่ทัพของกองทหารทีมสำรวจ จึงขอให้สื่อช่วยรายงานข้อเท็จจริง ซึ่งตอนแรกสื่อไม่ยอมรายงาน เพราะถูกข่มขู่จากผู้มีอำนาจในสังคมมาตลอด ผนวกกับความกังวลว่า หากเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์ที่แท้จริง โลกนอกกำแพง ตัวตนของไททัน และสิ่งที่หน่วยสำรวจทำอยู่ จะทำให้ผู้คนแตกตื่นและบ้านเมืองเกิดความโกลาหลได้ แต่ฮันซี่ก็ย้ำว่า “ประชาชนผู้เสียภาษีมีสิทธิที่จะรับรู้ความจริง” นั่นทำให้สื่อยอมเผยแพร่ข้อเท็จจริงทั้งหมดให้กับสังคม
แม้ว่า หลังจากข้อเท็จจริงต่างๆ ถูกเปิดเผยออกไปแล้ว ผู้คนจะแตกตื่นกันอย่างหนัก บ้างก็มองว่าเป็นเรื่องที่ถูกกุขึ้นมากเท่านั้น แต่อย่างน้อย สื่อในกำแพงก็ได้เลือกที่จะรายงานข้อมูลออกไปให้ประชาชนได้มีสิทธิรับรู้ข้อมูล ไม่ใช่การปิดหูปิดตาผู้คนด้วยข้อมูลตามที่ชนชั้นนำต้องการให้สังคมรับรู้เหมือนดั่งที่ผ่านมา
นอกจากเรื่องของการรายงานข้อเท็จจริงแล้ว อีกด้านหนึ่งของโลกนอกกำแพง สื่อในประเทศเมอเร่ก็กลายเป็นเรื่องมือผลิตซ้ำโฆษณาชวนเชื่อให้กับเมอเร่เช่นกัน ข้อมูลที่สื่อของเมอเร่เผยแพร่ออกมานั้น ทำให้ผู้คนเชื่อกันว่า ชาวเมอเร่คือผู้ผดุงธรรม และชาวเอลเดียในประเทศเมอเร่ก็เป็นเพียงเครื่องมือในศึกสงครามสำหรับชาวเมอเร่เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังตอกย้ำความเชื่อให้สังคมมองชาวเอลเดียที่อยู่ในกำแพงเป็นปีศาจร้าย เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำสงครามให้กับพวกของตัวเองอีกด้วย
สื่อมวลชนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องราวนี้ เพราะสามารถกำหนดทิศทางความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจของสังคมได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในเรื่องนี้ สื่อมวลชนอาจไม่ได้โผล่หน้ามาให้เราเห็นกันมากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลังของสื่อมวลชนสำคัญและมีอิทธิพลกับสังคมอย่างที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
ค่ายกักกัน สถานที่ลดทอนความเป็นมนุษย์
ต้องสวมปลอกแขนตลอดเวลา ไปไหนมาไหนได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนด หากจะเดินออกนอกเขตต้องมีใบอนุญาตทุกครั้ง และถ้าถูกฆ่าตาย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไม่ได้รับความเป็นธรรม .. นี่คือชีวิตของชาวเอลเดียที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่ เพราะหลังจากที่อำนาจถูกเปลี่ยนผ่านไปอยู่ในกำมือของชาวเมอเร่ เอลเดียก็กลายเป็นชนชาติที่ไร้แผ่นดิน ต้องกระจายตัวกันไปอาศัยใน ‘ค่ายกักกัน’ ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
นอกจากกฎระเบียบที่กดขี่แล้ว การจะได้กินอาหารอร่อยๆ ก็หาไม่ได้จากในพื้นที่นี้เช่นกัน สังเกตได้จากฉากที่กาบี้ ฟาลโก้ และผองเพื่อนชาวเอลเดียที่ต้องอยู่ในค่ายกักกันมาตลอด ต่างพากันตื่นตาตื่นใจ เมื่อมีร้านขายอาหารอร่อยๆ เข้ามาในพื้นที่เขตกักกัน (เข้ามาเพราะจะมีงานเทศกาล) ซึ่งนี่สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่โอกาสที่จะมีความสุขเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังถูกพรากไปจากชาวเอลเดียที่ต้องอยู่ในค่ายกักกัน
ผู้คนส่วนใหญ่มองว่า เป็นเรื่องสมควรแล้วที่ชาวเอลเดียจะต้องอยู่ในค่ายกักกัน เพราะบรรพบุรุษของเชื้อชาตินี้ก่อความวิบัติกับชนชาติอื่นเอาไว้มากมาย ทั้งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กวาดต้อนทำลายร้างบ้านเมือง และข่มขืนผู้คนเพื่อให้ตนได้สืบเชื้อสายวงศ์ตระกูลต่อไป แม้ว่าในเรื่องจะแอบเผยให้เห็นว่า มีนักสิทธิมนุษยชนช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวเอลเดียอยู่บ้าง แต่เสียงของพวกเขาก็แผ่วเบาเหลือเกิน เมื่อเทียบกับความเกลียดชังที่ผู้คนส่วนใหญ่มีต่อชาวเอลเดีย
ยิ่งไปกว่านั้น ชาวเอลด้วยกันเอง ก็มองว่า การถูกกักขังเอาไว้ในค่ายกักกันนี้ เป็นความกรุณาอย่างมากจากชนชาติอื่นๆ และพวกเขาต้องคอยทำตัวให้เป็นประโยชน์กับประเทศที่ยอมให้พวกเขามีที่ซุกหัวนอน เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณและชดเชยความผิดบาปของตัวเอง นี่จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การมีอยู่ของค่ายกักกันได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของชาวเอลเดียไปอย่างรุนแรง