ในการเป็นพลเมืองประเทศหนึ่งๆ เราทุกคนล้วนแล้วแต่เคยได้ลิ้มรสการถูกปกครองโดยผู้นำไม่ว่าจะภายใต้ระบอบใด มากพอกับการสูดหายใจเอาออกซิเจนเข้าออกปอดตั้งแต่ลืมตาออกมาดูโลก ซึ่งการปกครองจะเป็นไปในทิศทางหนึ่งและมีสิทธิ์ที่จะทั้งเหมือน คลับคล้ายคลับคลา และแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แต่ลองจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรหากกาแล็กซีถูกรวมเป็น ‘จักรวรรดิกาแล็กติก’ หนึ่งเดียว และจะเป็นอย่างไรหากจักรวรรดินั้นปกครองโดยไม่ใช่แค่เพียงจักรพรรดิ 1 องค์ แต่เป็น ‘1 องค์ 3 ร่างโคลน’ และพวกเขาโคลนตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด?
นี่คือพอยต์หลักและเป็นแค่หนึ่งในจุดที่น่าสนใจของซีรีส์ Foundation หรือชื่อไทย ‘สถาบันสถาปนา’ ของช่อง Apple TV+ ที่เพิ่งออนแอร์จบไปหมาดๆ
ซีรีส์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนึ่งในนิยายไซไฟที่ดีที่สุดตลอดกาลของนักเขียนนิยายไซไฟชื่อดัง ไอแซก อาซิมอฟ (Isaac Isimov) ที่แทบไม่อยากจะเชื่อว่าไอเดียต่างๆนานา ทั้งปรัชญา ความล้ำยุคล้ำสมัย และการเมืองที่เข้มข้นน่าสนใจจะยังมีความเป็นอมตะเหนือกาลเวลา (Timeless) แม้ว่าจะตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1951 หรือผ่านไป 70 ปีแล้วก็ตาม
อีกสิ่งที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีความกล้าหาญไม่ใช่แค่เนื้อหาและการเล่าเรื่องที่กินคาบระยะเวลาไปเป็นพันปีแบบโฟกัสไปที่เหตุการณ์และเรื่องราวมากกว่าตัวละคร ในขณะเดียวกันซีรีส์ที่อำนวยการสร้างโดย เดวิด เอส. โกเยอร์ (David S. Goyer) เองก็มีความกล้าไม่แพ้กัน เขาเลือกที่จะหยิบจับเอาวัตถุดิบต่างๆ ที่มีในนิยายมาตีความให้ร่วมสมัยและปรับให้เข้ากับยุคสมัยและการเล่าเรื่องในแบบฉบับซีรีส์ แล้วโฟกัสไปที่ตัวละครแทนจนเสียงแตกเป็นสองฝั่งในหมู่คนดู
บ้างก็ว่าไม่เคารพต้นฉบับอย่างรุนแรง ด้วยการเปลี่ยนเนื้อหา เปลี่ยนเพศตัวละคร แถมยังเอาเหตุการณ์และตัวละครมาใช้เล่าเรื่องผสมรวมกันแบบไม่เรียงลำดับ แต่บ้างก็ว่าสร้างสรรค์ เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ซีรีส์ทำทำออกมาได้น่าสนใจกว่าหนังสือ และในภาพรวมแล้ว สิ่งเหล่านั้นที่ซีรีส์ทำได้ดีน่านำมาถกเถียงหรือพูดถึงเป็นอย่างยิ่ง
(เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยข้อมูลสำคัญของซีรีส์ Foundation)
“ตั้งแต่เด็กฉันได้ยินเรื่องเล่าเสมอมาว่าจักรพรรดิคลีออนสามารถทั้งสร้างหรือทำลายดวงดาวดั่งใจนึก เขาเอาชนะกระทั่งความตายและมีชีวิตอยู่เป็นอมตะ และเมื่อฉันมองเข้าไปในตา ฉันรู้ได้ทันทีว่าจักรพรรดิไม่เคยรู้จักคำว่า ‘สงสัยเคลือบแคลง’ กระทั่งเขาได้พบกับชายที่ชื่อ ฮาริ เซลดอน”
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นด้วยเพียงหนึ่งคำทำนายของ ฮาริ เซลดอน ชายธรรมดาผู้เป็นนักวิชาการด้านคณิตศาสตร์ เขาประดิษฐ์เครื่องจักรที่สามารถทำนายอนาคตได้ด้วยการประมวลผลจากสมการและข้อมูลแห่งคณิตประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ ที่บ่งบอกว่าจักรวรรดิที่มีมาเป็นหมื่นๆ ปีกำลังจะล่มสลายภายในระยะเวลา 500 ปี และจะมีคนตาย เกิดความสูญเสีย ความอดอยากจากสงครามระดับกาแล็กซีที่กินระยะเวลายาวถึง 30,000 ปี
แต่… เขาเว้น แม้นี่เป็นสิ่งที่หยุดยั้งไม่ได้ แต่สงครามนี้สามารถเร่งกระบวนการให้มันเกิดเร็วขึ้นได้และจบลงได้อย่างรวดเร็วภายใน 1,000 ปี ด้วยการก่อตั้งอาณานิคมสถาบันสถาปนาเพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘สารานุกรมกาแล็กติก’ หรือ บิ๊ก เดต้า ระดับกาแล็กซี เพื่อที่คนที่ถูกเลือกจะอาศัยอยู่และทำการขนย้ายจัดเก็บภูมิปัญญาความรู้ เรื่องราว ข้อมูล และอารยธรรมเดิมให้คงอยู่ต่อไป
ประโยคที่ว่า ‘ข้อมูลความรู้คืออำนาจ’ จึงเป็นคำที่ไม่เคยเก่าอย่างแท้จริง และอีกสิ่งที่เชื่อมโยงกันกับข้อมูลคือ ‘ประวัติศาสตร์’ ในซีรีส์เรื่องนี้มีคำพูดว่า “อะไรคือสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ล้ำค่าที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สิ่งนั้นคือ ‘ประวัติศาสตร์’ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ความเป็นจริง มันคือเรื่องเล่า ภายใต้น้ำหมึกและแผ่นจารึกที่ใช่ วายร้ายกลายเป็นฮีโร่ คำโกหกกลายเป็นความจริง”
จริงๆ พอมานั่งคิดดู ‘ข้อมูล’ กับ ‘ประวัติศาสตร์’ นับว่าเป็นอย่างเดียวกัน คณิตประวัติศาสตร์ คือสิ่งที่เอาประวัติศาสตร์และร่องรอยการกระทำของมนุษย์มาประมวลผลถึงโอกาสเกิดซ้ำของเหตุการณ์และคำนวนแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้มองไปที่ตัวบุคคลแต่มองมนุษย์ในฐานะกลุ่มก้อน สังคมแบบรวมหมู่ หรือการกระทำอันเกิดจากคนหลายคนที่มากพอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ นั่นเท่ากับอัลกอริทึมพฤติกรรมมนุษย์ที่แสนจะซับซ้อนนั้นอยู่ที่ตัวบุคคล เมื่อมองในระดับที่กว้างกว่าแล้ว ‘มนุษย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง’ และคาดได้ (predictable) มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
เราอาจเปลี่ยนเสื้อผ้าหน้าผม สำเนียง สถานที่ วิธีการสู้รบและก่อสงครามในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ จิตวิทยา คำพูด และแข่งขัน แต่อันที่จริงมันอยู่ในรูปแบบที่มักจะเกิดขึ้นแล้วเสมอ
เรามักวางแผนกำหนดชะตากรรมของอะไรซักอย่างด้วยข้อมูล และวิธีการวางแผนหรือวิเคราะห์ข้อมูลเองก็มาจากการบันทึกจัดเก็บข้อมูลที่ค้นพบหรือ ‘มีมาก่อน’ เช่นกัน เพราะเมื่อมองเครื่องจักรจัดเก็บข้อมูลที่ดั้งเดิมและใกล้ตัวสุดอย่าง ‘มนุษย์’ จะพบว่าเราทำสิ่งที่เราทำจากประสบการณ์หรือความทรงจำ และเราเคลื่อนไหวแบบที่เราเคลื่อนไหวจากการเรียนรู้ ว่าแบบนี้ต้องหยิบจับต้องโอบรับ แบบนี้ต้องถอย แบบนี้ต้องตั้งการ์ด
ทุกข้อมูลแม้กระทั่งบทความที่กำลังอ่านอยู่แบบเรียลไทม์นี้ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ทันทีที่อ่านจบหรือเพิ่งจะอ่านเลยไปแม้ 0.1 ไมโครวิที่ผ่านมา
และด้วยความสามารถของเครื่องจักรที่เก็บเอาภูมิปัญญาและสิ่งที่เกิดขึ้นไว้ในที่เดียวกัน ข้อมูลเหล่านั้นจะสามารถเอาไปใช้ได้ทั้งในการพัฒนาอารยธรรม คิดค้นสิ่งใหม่ๆ และป้องกันสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็น่ากลัวเช่นกันว่าหากข้อมูลในแหล่งเดียวถูกทำลาย นั่นจะหมายถึงทุกอย่างล่มสลายไม่ต่างจากเดิม ไหนจะผู้ควบคุมการเข้าถึงหรือการบุกช่วงชิงเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลเหล่านั้นอีก
อย่างไรก็ตาม ฮาริ เซลดอน ได้รับความไว้วางใจในเชิงที่ว่า ‘ลองดูก็ไม่เสียหายอะไรนี่’ จากจักรพรรดิ แผนการสร้างสถาบันสถาปนาจึงเริ่มต้นขึ้น ฮาริและเหล่านักวิชาการกับเด็กๆรุ่นใหม่ที่ถูกเทรนให้โตเพื่อที่จะไปเป็น ถูกส่งไปยังดาวเทอร์มินัส (Terminus) ดาวที่อยู่ไกลสุดขอบจักรวาลเพื่อทำการก่อตั้งสถาบันสถาปนา และยังเป็นสถานที่ที่จะมีการเกิดวิกฤตแรก (First Crisis) ของชุดวิกฤตที่จะตามมาอีกมากที่เรียกว่า ‘วิกฤตเซลดอน (Sheldon Crisis)’ อีกด้วย
หลังจากการพลีชีพก่อวินาศกรรมระเบิด สตาร์บริดจ์ (Star Bridge) สถานีขนส่งหรือลิฟต์แนวตั้งที่สูงจากพื้นไปถึงข้างบนนอกดาวแทรนทอร์ (Trantor) ที่เป็นดาวศูนย์กลางของกาแล็กซีและมีผู้อาศัยอยู่นับพันล้านคนโดยคนไม่กี่คนที่เป็นชาวอนาครีออน (Anacreon) และชาวเธสพิน (Thespin) จักรพรรดิคลีออน (Cleon) ก็ได้สั่งให้กระหน่ำยิงไปที่ดาวทั้งสองแบบเรียลไทม์พร้อมไลฟ์สดภาพโฮโลแกรมโชว์ สาเหตุที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะภาพลักษณ์ของจักรพรรดิและราชวงศ์จะดูอ่อนแอมีจุดอ่อนไม่ได้
ดาวแทรนทอร์อาจมีผู้เสียชีวิตเป็นพันล้าน แต่ประชากรสองดาวเสียชีวิตจากการสังหารหมู่ครั้งนี้มากกว่านั้นหลายเท่า จักรพรรดิทำแบบนั้นโดยหารู้ไม่ว่าความพยายามที่จะไม่ให้บัลลังก์ตัวเองสั่นคลอนและปกครองกับสั่งสอนผู้คนด้วยความกลัว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่วิกฤตแรก
ในจักรวาลของซีรีส์ Foundation กาแล็กซีถูกปกครองโดย 3 จักรพรรดิแห่งราชวงศ์สุดท้ายที่ถูกเรียกหรือนิยามว่าเป็น ‘ราชวงศ์สายโลหิต (Genetic Dynasty)’ ด้วยเอกลักษณ์ที่เริ่มต้นจากคลีออน ที่ 1 ที่ต้องการให้ตัวเองสืบทอดอำนาจภายในสายเลือดเพื่อให้กาแล็กซีดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้โคลนตัวเองให้มาปกครองพร้อมกัน 3 ร่างต่อกันไปเรื่อยๆ ได้แก่ ร่างเด็ก ร่างผู้ใหญ่ และร่างชรา ที่จะถูกนับเป็นพ่อของกันและกัน แต่เรียกกันว่า ‘ภราดา’ หรือ ‘พี่น้อง’
ที่จะไล่จาก ภราดาอรุณา (Brother Dawn), ภราดาทิวา (Brother Day) ไปถึงภราดาสนทยา (Brother Dusk) ตามลำดับ รวมไปถึงภราดาราตรี (Brother Darkness) ที่เป็นภราดาที่แก่และถึงเวลาปลดประจำการแล้ว โดยมีคนที่มีสิทธิ์มีเสียงและอำนาจตัดสินใจมากที่สุดคือ ‘ทิวา’ ผู้อยู่ในวัยหนุ่มแน่นและอยู่กึ่งกลางระหว่างทั้งสองวัย ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
ทั้งหมดนี้ที่พูดไปไม่ได้มีในหนังสือ แต่กลับเป็นจุดดึงดูดหลักและเรื่องราว (story arc) ที่ทำให้หลายคนสนใจดูซีรีส์เรื่องนี้ และได้กลายเป็นจุดหนึ่งที่ดีที่สุดกับเด่นสำคัญที่ทำให้เรื่องราวน่าสนใจขึ้นไปอีก รวมถึง เดเมอร์เซล (Demerzel) ข้ารับใช้ผู้เป็นแอนดรอยด์ที่รับใช้มาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคลีออนที่ 1 เช่นกัน เธอมีบทบาทกับเนื้อเรื่อง และความสำคัญในการหล่อหลอมจักรพรรดิมากกว่าในหนังสือ
สาเหตุที่ต้องเป็นสามช่วงวัยที่ซีรีส์ไม่ได้บอกตรงๆ แต่มองเห็นได้ชัด ก็เพราะ
วัยเด็ก-วัยรุ่น เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ที่เพิ่งขึ้น แดดอ่อนๆ ยังด้อยประสบการณ์ ไร้เดียงสา และเรียนรู้อะไรอีกมาก ยังต้องดูผู้ที่มาก่อนเป็นตัวอย่าง แต่บางครั้งก็มีมุมมองกับการตั้งคำถามที่คิดน้อยแต่อาจได้ผลหรือก่อให้เกิดความคิดที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เวิร์คเช่นกัน เพราะสิ่งที่พูดที่ทำมาจากสัญชาติญาณล้วนๆ
กลางคน เปรียบเสมือนพระอาทิตย์เที่ยงวัน ร้อนจ้า ไฟแรง น่าเกรงขาม กระฉับกระเฉง มีเรี่ยวแรงและกำลัง คิดเร็วทำเร็ว เฉียบแหลม กระตือรือร้น ในการที่จะขับเคลื่อนหรือทำบางสิ่งสุดในบรรดา 3 วัย วัยนี้ได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ที่ผ่านมามากพอควรจากการศึกษา ลองผิดลองถูก รู้พลั้งรู้พลาด แยกแยะได้ ทั้งยังสามารถสอนสั่งหรือดูแลผู้มาก่อนและผู้มาทีหลังได้ด้วย
วัยชรา เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ตกดินก่อนจะไปสู่การดับสูญหรือค่ำคืนราตรี เป็นวัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมามากที่สุด สั่งสมข้อมูล ความรู้ ความทรงจำ ประสบการณ์มาอย่างสุกงอม ตัดสินใจด้วยสิ่งที่มี และสามารถตักเตือน ชี้แนะชี้นำผู้ที่มาก่อนทั้งสองได้ รวมไปถึงความนิ่งสงบไม่ยินดียินร้าย อินกับสิ่งต่างๆน้อยกว่าอีกสอง มืออาชีพกว่า
หากเป็นมนุษย์ปกติอย่างเราๆ แม้ว่าทุกคนจะต้องได้ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นหรือมีตัวตนพร้อมๆกันจาก 1 ไป 1,2 และ 1,2,3 ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงก็จะเป็นได้เพียงหนึ่ง ทำให้มีจุดที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง กับอีกสองจุดที่ยิ่งแหวกยืดออกไปทางซ้ายทางขวา ก็ยิ่งต้องการการดูแลคุ้มกัน
แต่ทั้งสามที่ต้องนั่งอยู่บัลลังก์ที่สูงสุดเหนือทุกคนในกาแล็กซีดูแลกันและกัน มีกันและกัน และสร้างวงจรชีวิตที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นพร้อมกันในนาม ‘คลีออน’ หนึ่งเดียว
จึงไม่มีอะไรผูกขาดไปกว่านี้อีกแล้ว ผูกขาดอำนาจในการใช้ชีวิตและอยู่ยงคงกระพัน ฝืนธรรมชาติ และทำลายวลีที่ว่ากันว่า “ไม่มีอะไรน่าหวาดกลัวเท่ากับกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว” ได้อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังสามารถตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 2 ต่อ 1 และมีการปรึกษาหารือกันเองอย่างรอบคอบถี่ถ้วนอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีจุตน่าสังเกตว่าทั้งสามอาจสร้างมาจากไอเดียตรีเอกานุภาพ (Trinity) ของศาสนาคริสต์ด้วยเช่นกัน อันได้แก่ พระบิดา พระบุตร และพระจิต
ภราดาทุกคนมีถูกนิยามให้บริสุทธิ์ไร้ที่ติจากการพันธุวิศวกรรม (genetic engineering)
ทุกคนคิดเหมือนกัน การพูดและการเคลื่อนไหวยังซิงค์กัน อีกทั้งการที่ห้ามมีความรัก การที่กำเนิดมาเองโดยไม่มีมารดา กับการที่แต่ละคนมีตัวสำรองแทนตัวเองทุกช่วงวัยที่จะขึ้นมาแทนได้ทุกเมื่อเมื่อเกิดอะไรขึ้นกับจักรพรรดิวัยนั้นๆ ทั้งหมดก็เพื่อไม่ให้ผู้คนสงสัยหรือกังขาในความเพอร์เฟ็กต์ของราชวงศ์สายเลือด รวมไปถึงการตัดสินใจและการกระทำของจักรพรรดิ ยิ่งไปกว่านั้นคือเพื่อให้ผู้คนเชื่อว่าทุกๆ ย่างก้าวของคลีออนเป็นก้าวที่ถูกต้องและดีที่สุดเพื่อกาแล็กซีแล้ว
มันคือ ‘ความเป็นหนึ่งเดียวอันไม่อาจหาเทียบได้’
และอีกจุดนึงที่ทำให้ Foundation ฉบับซีรีส์แตกต่างไม่เหมือนชาวบ้านเค้าและสะท้อนถึงอำนาจอันล้นพ้นได้ดีคือการเรียกจักพรรดิคลีออนว่า ‘จักรวรรดิ (Empire)’ แทนที่จะเรียกว่า ‘จักรพรรดิ (Emperor)’ หรือเป็นการมองว่าจักรพรรดิ = ตัวแทนผู้มีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของของจักรวรรดิเลย ยิ่งกว่านั้นคือทั้งสองเป็นหนึ่ง เมื่อพูดถึง จักร ทั้ง ‘พรรดิ’ ทั้ง ‘วรรดิ’ เป็นสิ่งเดียวกัน ผู้คนไม่สามารถคิดเป็นอื่นหรือแทนที่ได้ นั่นทำให้ราชวงศ์สายเลือดเป็นราชวงศ์สุดท้าย ด้วยการ shape ทุกอย่างให้ตัวเองเป็นท้ายสุด
แล้วจักรวรรดิที่ว่านั้นมีพื้นที่ขนาดไหน? ใช่แล้ว มีพื้นที่ทั้งกาแล็กซีหรือทั้งหมดที่มนุษย์สามารถเดินทางไปถึงรวมถึงอาณาเขตที่ยังไปไม่ถึงด้วยนั่นแหละ ทุกที่ทาง ทุกแห่งหน เป็นของจักรพรรดิ และอยู่ภายใต้กฎของจักรพรรดิ และกองกำลังของจักรพรรดิ จึงไม่แปลกใจนักที่ทำไมถึงเรียกแทนแบบนั้นไปเลย มันจะเป็นของใครได้อีก
ต่อมาพูดถึงความผูกขาดของจักรพรรดิคลีออน ที่เห็นได้ชัดนอกจากกองกำลังและอาวุธ คือชาวแทรนทอร์ต้องอาศัยอยู่ภายใต้โดมครอบที่ทำให้พวกเขาไม่ได้ลิ้มรสสัมผัสของแสงอาทิตย์และภาพจริงที่อยู่นอกดวงดาว แต่เป็นภาพฉายแทน ฉะนั้นโลกของประชากรดาวแทรนทอร์จึงมีแค่นั้น พวกเขาเห็นในสิ่งที่จักรวรรดิต้องการให้เห็น หรืออนุญาตให้เห็น นี่คือการผูกขาดด้านวิสัยทัศน์อย่างแท้จริง ในขณะที่วิวของจริงถูกสงวนไว้ให้แค่อาณาเขตที่พำนักของคลีออนทั้งสามและที่ทั้งสามมองเห็นด้วยตาจนสุดขอบได้
“หลังจากออกจากห้องนี้ พวกเราจะถูกล้างความทรงจำ
สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องนี้จะเป็นความทรงจำขององค์จักรพรรดิแต่เพียงผู้เดียว”
นอกจากนี้ธรรมเนียมการลบความทรงจำนางสนม (Concubine) หรือนางบำเรอที่เข้ามาให้บริการส่วนตัวถึงห้องของจักรพรรดิเองก็บ่งบอกว่า แม้แต่ความทรงจำแห่งความรื่นเริงบันเทิงใจ (และกาย) ของตัวจักรพรรดิกับนางสนมเองยังถูกผูกขาดไว้เป็นขององค์จักรพรรดิแต่เพียงผู้เดียว นั่นก็เพื่อไม่ให้ใครสามารถติฉินนินทาว่าร้ายให้ตัวจักรพรรดิผู้สูงส่งเกิดมลทิน หรือถูกนำชื่อไปพูดถึงในแง่ไหน ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ก็ตาม
นอกจากคำพูดของ ฮาริ เซลดอน จะสั่นคลอนบังลังก์ราชวงศ์โลหิตแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจคือการเกิดขึ้นของตัวละครภราดาอรุณาที่มี ‘ข้อบกพร่อง’
ในซีรีส์มีฉากที่บอกว่า ‘ภราดาผู้ที่บกพร่องต้องถูกกำจัดทิ้งและถูกแทนที่เพื่อไม่ให้ผู้ใดเคลือบแคลงในราชวงศ์เป็นอันขาด’ แต่คำถามที่น่าคิดสำหรับกรณีนี้คืออะไรคือความบกพร่องกันแน่? การเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีหัวอกหัวใจ ความเห็นอกเห็นใจ มีความรู้สึกนึกคิด มีความเป็นปัจเจก มีนิสัยลักษณะเป็นของตัวเอง คิดต่างได้ หรือสิ่งมีชีวิตที่ทำการตัดสินใจอย่างไร้หัวอกหัวใจ ไร้มนุษย์ธรรม สั่งสังหารได้ไม่ลังเล แต่ข้างในกลับว่างเปล่า ใช้ชีวิตโดยมีแค่จุดประสงค์เดียวคือรับใช้จุดประสงค์ของผู้อื่น (ซึ่งก็คือคลีออนที่ 1) ?
อะไรคือความมีตัวตนและไม่มี? ฉากหนึ่งที่ดูเจ็บปวดแทนคือการที่อรุณาพูดกับอีกสองคนว่า “ท่านไม่ใช่พ่อของเราด้วยซ้ำ และท่านก็ไม่ใช่พี่ชายเราด้วย” ที่อรุณาพูดแบบนี้เพราะพวกเขาเป็นคนเดียวกันแต่เป็นแต่ละคนกันนั่นเอง
ความบกพร่องของภราดาอรุณาคนนี้ทำให้เขามีความรัก และความรักคือจุดอ่อนของเหล่าภราดา สุดท้ายก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ อรุณาถูกหลอกลวงและถูกช่วงชิงตัวโดยกองกำลังต่อต้านจนเกือบ (จริงๆ ก็ไม่เกือบแล้ว) นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์
ฉะนั้นจากที่พูดมาทั้งหมด ถ้าพูดให้ถูกคือทางที่ราชวงศ์คลีออนจะอยู่เหนือทุกสรรพสิ่งและทรงพลังอำนาจสูงสุด พวกเขาจะต้องไม่เป็น ‘มนุษย์’ และปราศจาก ‘เงื่อนไขความเป็นมนุษย์’ อย่างสิ้นเชิง ซึ่งการ ‘สูญเสียจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์’ มันคือสิ่งที่ผู้นำบางคนที่หวงแหนและหลงไหลในอำนาจในโลกแห่งความจริงทำ
อีกจุดที่สำคัญไม่แพ้ประเด็นจักรพรรดิและคำทำนาย คือเรื่องของศาสนาและความเชื่อที่สอดแทรกอยู่ประมาณช่วงกลางเรื่อง
ศาสนาลูมินิสม์ (Luminism) เป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในกาแล็กซีด้วยจำนวนถึง 3 ล้านล้านคน และเมื่อผู้นำศาสนาคนเก่าจากไป ก็เกิดแคนดิเดตขึ้น และตัวเก็งแบบขาดลอยนำโด่งในเวทีนี้คือ เซเฟอร์ ฮาลิมา (Zephyr Halima) หญิงผิวดำที่ผู้คนต่างก็ศรัทธาด้วยคำพูดและทัศนคติ แน่นอนอำนาจศาสนานั้นทรงพลังและน่าสะพรึง จักรพรรดิคลีออนถึงกับหวาดกลัวอิทธิพลของเธอถึงขั้นลงทุนเดินทางข้ามอวกาศด้วยตัวเองไปหา ไปประเมินด้วยตา เพื่อที่จะควบคุมจับตาดู
แต่เซเฟอร์หาได้เกรงกลัวอำนาจจักรพรรดิ ซ้ำยังเรียกเขาว่า ‘คลีออน’ เฉยๆ และด่าว่าเขาเป็นแค่เสียงของคนที่ตายไปแล้ว คลีออนทิวาจึงได้ตัดสินใจเดินจาริกวงเวียนสังขาร 170 กิโลแบบไม่ดื่มน้ำ ไม่กินข้าว ไม่พักผ่อน เพื่อไปถึงปลายทางแล้วรับเอาภาพนิมิตรที่ได้ในถ้ำมาทำนายความหมาย
ท้ายที่สุดเขานำนิมิตรรูปดอกไม้ที่ได้มาให้นักบวชหญิงทำนาย และกลายเป็นผู้ห้ามแตะต้อง หรือเรียกได้ว่าได้รับเอาพลังอำนาจของศาสนาเข้ามาด้วย การเดินทางมาไกลและระยะไกลอันเหนื่อยล้านั้นดูจะได้ผล หากแต่สิ่งที่คลีออนต้องคิดคือนั่นเป็นความจริงหรือไม่? และมันกลายเป็นว่าคลีออนโกหกเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจตรงนั้นมา แต่เขาไม่สามารถโกหกตัวเองได้ว่าในความเป็นจริงนั้นจิตใจเขาว่างเปล่า และไม่มีค่าพอที่จะเห็นนิมิตใดใดเลย
เดเมอร์เซลพูดไว้หลังการทำนายว่า “ดีที่ท่านมองเห็น เพราะข้ามองเห็น (ใช่แล้ว แอนดรอย์ยังเห็นนิมิตได้) แต่คนที่มองไม่เห็นข้าไม่อาจนึกเลยว่าจิตใจของเขานั้นดำมืดสนิทและปราศจากสิ่งใดที่ก้นบึ้งของหัวใจขนาดไหน” คลีออนถึงกับจุกเมื่อในความเป็นจริงนั้น เขาไปที่ถ้ำเหมือนในภาพนี้ แต่ต่างตรงที่ไม่มี CGI ไม่มีสีสว่าง ไม่เห็นอะไรเลย เป็นแค่ถ้ำมืดๆเงียบๆ เหมือนข้างในจิตใจของเขา
ซึ่งพอต้องพูดรวมถึงเรื่องศาสนากับความเป็นมนุษย์ก่อนหน้านี้ สิ่งที่น่าค้นหาและดูมีความเป็นมนุษย์คือตัวละครแอนดรอยด์ผู้ดูแลที่ชื่อเดเมอร์เซลตนนี้
เดเมอร์เซลที่เป็นหุ่นดรอยด์ที่ดูแลคลีออนมาตั้งแต่รุ่นหนึ่ง และมีชีวิตอยู่มามากกว่าหมื่นปีแล้ว เธอดูจะไร้เจตจำนงเสรีและถูกระบุในโค้ดไว้ว่า “ห้ามทำอันตรายจักรพรรดิคลีออนและราชวงศ์ และการทำตามคำสั่งกับความภักดีคือเป้าหมายสูงสุดของการมีตัวตนอยู่” แต่เธอยังนับถือศาสนาลูมินิสม์ เธอถึงขั้นก้มลงคำนับเซเฟอร์ตอนที่เธอพูดได้โดนใจ ซึ่งนั่นทำให้คลีออนไม่พอใจเป็นอย่างมาก และเธอก็ได้สวนกลับอย่างมีพอยต์
“ข้าสั่งไม่ให้เจ้านั่งคุกเข่าต่อหน้าเธอ”
“ถ้าข้าคุกเข่า มันจะเป็นภัยต่อท่านหรือ?”
“มันทำให้ข้าไม่พอใจ”
“ถ้าข้าคุกเข่าไม่ได้ นั่นแปลว่าข้าจะเป็นภัยต่อท่านหลังจากคุกเข่าให้เธอ แต่ถ้าข้าคุกเข่าได้ นั่นแสดงว่าการคุกเข่านี้ไม่ได้เป็นภัยต่อท่านแต่อย่างใด”
หลังจากการเดินจาริก คลีออนได้ใช้ให้เดเมอร์เซลไปสังหารเซเฟอร์ทั้งที่เธอไม่ต้องการเนื่องจากเธอเคารพเซเฟอร์และศาสนาลูมินิสม์ แต่การสังหารก็เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และคลีออนดูเหมือนจะสะใจ พูดตอกย้ำว่าเธอเกิดมาเพื่อภักดี ต้องอย่าลืมซะล่ะ ซึ่งเดเมอร์เซลได้แต่ร้องไห้เสียใจ
แต่เรื่องสะเทือนใจกลับเกิดขึ้นหลังจากที่ทิวากลับมาที่แทรนทอร์และต้องตัดสินว่าจะทำอย่างไรกับอรุณา
การเดิน คำพูดของทิวา และเหตุผลที่แตกต่าง กับคำพูดของเดเมอร์เซลฝังอยู่ในหัวของเขา ทำให้ทิวาคิดไม่ตก และตัดสินใจว่าจะไว้ชีวิตอรุณา การมีการบิดงอกฏที่ต้องกำจัดผู้บกพร่องทิ้งบ้างก็เป็นสิ่งที่ไม่เสียหาย แต่กลายเป็นเดเมอร์เซลที่มองว่าคลีออนบกพร่องเป็นภัยไม่ควรค่าแก่การเป็นคลีออน และหักคออรุณาตายตาคาที่จนทำเอาภราดาทั้งสองและคนดูช็อคไปตามๆ กัน นั่นเป็นการตอกหน้าทิวาอย่างเจ็บแสบโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ
การทำเช่นนี้ทำให้เธอเจ็บปวดอย่างมาก การที่มีหัวจิตหัวใจ แต่เลือกหรือเลือกที่จะไม่เลือกอะไรไม่ได้เลย จนถึงกับกระชากหน้าตัวเองออกมา
นอกจากนี้ความช็อคกว่าอยู่ตรงที่ หลังจากตัดสินและการตายของทิวา ยังนำไปสู่การสอบสวนและการค้นพบว่าแท้จริงแล้วพวกคลีออนต่างก็ถูกบ่อนทำลายดีเอ็นเอจนทำให้มีข้อบกพร่องกันทุกคน อยู่ที่จะน้อยจะมาก ทางใดทางหนึ่งก็เท่านั้น การตายของอรุณาคนนี้เลยสูญเปล่า และยิ่งทำให้ทิวาทั้งเจ็บปวดและหวาดกลัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเขารู้ว่าเขาไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่คิด และทำลายความเชื่อที่มีต่อตัวเองและราชวงศ์สายโลหิตไปโดยทันที
กลับมาเรื่องของฮาริ เซลดอน หลังจากที่เขาก่อตั้งสถาบันสถาปนา เขาได้เสียชีวิตลงด้วยน้ำมือของ เรย์ช ฟอสส์ (Raych Foss) ลูกศิษย์และลูกเลี้ยงของตัวเอง ทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน โดยมี ซัลวอร์ ฮาร์เดน (Salvoe Harden) เป็นผู้ดูแลอาณานิคมที่ดาวเทอร์มินัส
เรื่องราวทั้งหมดมาขมวดปมในช่วงท้ายตรงที่ ชาวอนาครีออนคิดก่อกบฏล้มล้างจักรวรรดิ (ผลพวงของการที่คลีออนสั่งระดมยิงดาวในตอนแรก) จึงได้ทำการยึดยานที่มีอำนาจทำลายล้างสูงที่เคยเป็นของจักรวรรดิมาก่อน แล้วทำการบุกมาที่เทอร์มินัส นั่นทำให้ชาวเธสพิสที่เป็นศัตรูมารวมกัน พร้อมกับซัลวอร์ที่สามารถไขปริศนาของภัณฑาคาร (The Vault) ปริศนาที่อยู่ที่ดาวตั้งแต่ก่อนสร้างอาณานิคมได้
จู่ๆ ฮาริ เซลดอน ในรูปของโฮโลแกรมก็ได้เดินออกมาจากภัณฑาคารดื้อๆ แล้วเผยว่า แท้จริงแล้วเจตนาของการก่อตั้งสถาบันสถาปนาไม่ใช่รวบรวมองค์ความรู้ แต่เป็นการรวมผู้คนที่เป็นทั้งมิตรและศัตรูกับเหยื่อสงครามและการกดขี่ของจักรวรรดิมาอยู่ในที่เดียวกัน ณ ช่วงเวลาที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุด เพื่อพร้อมแต่การก่อกบฏและล้มลางจักรวรรดิ ปลดแอกผู้คน และนั่นคือ ‘วิกฤตแรก’ ที่เครื่องจักรคณิตประวัติศาสตร์ของเขาได้ทำนายไว้
ทำให้อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าหากไม่ใช่เพราะความกลัวสูญเสียอำนาจเข้ากระดูของจักพรรดิเอง เรื่องราวจะมาถึงตรงนี้มั้ย?
หรือทุกคนจะมาอยู่ที่นี่ ตรงนี้ แล้วก่อเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านเขาหรือไม่หากไม่ใช่เพราะคำทำนายของ ฮาริ เซลดอน?
ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวนี้มีฮาริเซลดอนเป็นผู้บงการ (mastermind) ที่อยู่เบื้องหลังทุกเหตุการณ์ มันจึงวกกลับมาเรื่องที่ว่า ผู้ใช้ข้อมูลคือผู้กุมพลังอำนาจ และผู้ใช้มันอย่างฉลาดจะทำสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวที่แม้แต่ตัวเขาเองยังไม่อาจคาดคิดได้ว่าจะสำเร็จ หรือเป็นจริงได้ กลายเป็นว่าการเฟคการตายของตัวเขาเองกลับเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ และกลับทำให้แผนการสำเร็จตามที่วางไว้
ทั้งหมดมาจากเจตนารมณ์ของชายคนหนึ่งที่ตัวตายแต่ไอเดียและสิ่งที่ก่อร่างสร้างไว้ยังคงอยู่ ถูกสานต่อ ภารกิจระยะยาวที่ทำให้คนสามคน (เดียวกัน) ต้องหวาดกลัว เจตนารมณ์ vs ตัวตนกับอำนาจ
และทั้งหมดของ Foundation คือเรื่องราวของกาแล็กซีและบัลลังก์ของผู้เป็นเจ้าของมันต้องสั่นสะเทือนเพราะคนๆเดียวอย่างแท้จริง